รง. อาหารสัตว์ เฮ ถั่วเหลือง ราคาดิ่ง อานิสงส์สงครามการค้า

ทูตพาณิชย์ จับตาสงครามการค้าจีน-สหรัฐ รอบ 3 “จีน” พร้อมสวนกลับตาต่อตา ฟันต่อฟัน เล็งเป้าหมายใช้เครื่องมือค่าเงินหยวน-ธุรกิจจีนที่ซัพพลายวัตถุดิบให้บริษัทสหรัฐ เอกชนไทยลุ้นรับอานิสงส์ส่งสินค้าเสียบแทน ล่าสุด ส.อาหารสัตว์ชี้ราคาถั่วเหลืองโลกดิ่ง หลังจีนขึ้นภาษี เล็งปรับสูตรใช้ถั่วเหลืองแทนปลาป่น

ผู้สื่อข่าว “ประชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อสัปดาห์สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา (ทูตพาณิชย์) ได้รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐ และจีน ซึ่งได้เริ่มการตอบโต้ทางการค้ารอบใหม่อีกครั้ง และหลายฝ่ายมองว่ากรณีพิพาทระหว่างสหรัฐกับจีนครั้งนี้จะก่อให้เกิดความตึงเครียดเข้าขั้นวิกฤต

ล่าสุด วันที่ 1 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดี Donald Trump ได้ประกาศแผนเพิ่มภาษีนำเข้ากับสินค้าจีน รอบ 2 มูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะนี้อยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์เพิ่มจาก 10% เป็น 25% และประกาศขู่ด้วยว่าอาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนรอบที่ 3 ซึ่งจะทำให้สินค้าจีนเกือบจะทั้งหมดที่ส่งเข้าไปยังสหรัฐมีอัตราภาษีเพิ่มขึ้น

ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์จีน ได้แถลงตอบโต้จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ 5,207 รายการ มูลค่า 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐจะถูกแบ่งออกเป็น 4 อัตรา ระหว่าง 5-25%

ส่วนวันที่กำหนดบังคับใช้อัตราภาษีครั้งใหม่ขึ้นอยู่กับทิศทางนโยบายของสหรัฐ ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดค่าเงินหยวนลงต่ำกว่าในวันที่ 2 สิงหาคม 2561 อีก 0.6% ประเด็นนี้ทำให้โฆษกสหรัฐระบุว่า แทนที่จีนจะตอบโต้สหรัฐก็ควรพิจารณาแก้ปัญหาเรื่องการค้าไม่ยุติธรรม ตามที่ผู้แทนการค้าสหรัฐระบุไว้ในรายงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา 301 ท่าทีของจีนแสดงชัดเจนว่าจะไม่ยอมตกเป็นเบี้ยล่างและพร้อมตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน แต่โอกาสที่มาตรการตอบโต้ของจีนจะสร้างความเสียหายให้สหรัฐค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจีนส่งออกไปสหรัฐมากกว่านำเข้าสินค้าจากสหรัฐเกือบ 4 เท่าตัว โดยในปี 2560 จีนส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 505,600 ล้านเหรียญ และนำเข้าจากสหรัฐ 130,400 ล้านเหรียญ

ทุบจีนซัพพลายวัตถุดิบสหรัฐ

รายงานข่าวระบุว่า การตอบโต้ของจีนจะมุ่งไปที่ธุรกิจของคนจีน ในประเทศจีนที่ทำงานให้บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐ ตั้งแต่ Apple ไปจนถึง General Motors ที่รับโอนถ่ายปฏิบัติการจำนวนมากในประเทศจีนไปดำเนินการ ให้บริษัทสหรัฐจ่ายค่าแรงคนงานในสหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงมาก ขณะที่ค่าแรงคนงานในประเทศจีนที่ประกอบสินค้าให้อยู่ในระดับต่ำมาก สร้างการแข่งขันด้านราคาให้สินค้าส่งออกจีนในตลาดต่างประเทศถูกลง และสินค้านำเข้าประเทศจีนจากต่างประเทศแพงขึ้น ด้วยการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินแข็งค่า ส่วนดอลลาร์สหรัฐลดลงเกือบ 9% และจีนวางแผนลดค่าเงินหยวนในตลาดต่างประเทศที่ไม่เข้มงวดเรื่องการค้าเงินตราระหว่างประเทศ เช่น ฮ่องกง ต่อไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐทำให้ภาคธุรกิจและภาคการเกษตรสหรัฐหลายกลุ่มแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย และมองว่าจะยิ่งทำให้ได้รับผลกระทบและเสียหายมากขึ้นอีก

ขณะที่คำมั่นสัญญาของประธานาธิบดี Trump ที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่ภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบ 12,000 ล้านเหรียญ ไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรและจากนักการเมืองสหรัฐ โดยเฉพาะถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สหรัฐผลิตได้มากที่สุดในโลก และเป็นสินค้าเกษตรส่งออกไปประเทศจีนมูลค่าสูงสุด คือ 124,000 ล้านเหรียญ

ขณะนี้เกษตรกรกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับความเสียหายจากการขึ้นภาษีนำเข้าของจีน เนื่องจากเกษตรกรสหรัฐหลายรายรวมถึงผู้ผลิตถั่วเหลืองได้ทำสัญญาขายสินค้าในระยะยาวที่มีการล็อกราคาสินค้าไว้ก่อนหน้าแล้ว ส่วนเกษตรกรที่เหลือยังไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายพืชผล หรือยังไม่ได้เก็บเกี่ยวนั้น ภายใต้ระบบที่มีเพิ่มขึ้นของตลาดโลก ประกอบกับอุปทานจากบราซิล ผู้ผลิตถั่วเหลืองรายใหญ่ อันดับ 2 ของโลก กำลังการผลิตลดต่ำลง นอกจากนี้ คาดว่าปีนี้สหรัฐจะผลิตถั่วเหลืองได้น้อยลง จะทำให้ราคาขยับสูงขึ้น

อาหารสัตว์รับอานิสงส์

สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทย นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจีนขึ้นภาษีนำเข้าธัญพืชถั่วเหลือง ข้าวฟ่างตอบโต้สหรัฐ ส่งผลให้สหรัฐไม่มีตลาด ต้องระบายถั่วเหลืองสู่ตลาดอื่นๆ ทดแทนตลาดจีน ขณะที่จีนก็หันไปนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลแทนสหรัฐ ปรากฏการณ์นี้อาจส่งผลให้ทิศทางราคาถั่วเหลืองในตลาดโลกอ่อนตัวลง โดยจะเห็นผลชัดเจนในเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป น่าจะเป็นโอกาสดีสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ เช่น น้ำมันถั่วเหลืองและอาหารสัตว์ เพราะวัตถุดิบถั่วเหลืองราคาจะถูกลง ส่วนข้าวฟ่างยังไม่เป็นที่นิยมใช้มากนัก

“หากราคาถั่วเหลืองลดลง ก็มีโอกาสที่กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์จะปรับสูตรอาหารสัตว์ นำถั่วเหลืองราคาถูกมาใช้ทดแทนปลาป่น ซึ่งปกติจะใช้ปลาป่นเป็นส่วนผสมให้สารอาหารโปรตีนเป็นหลัก ประมาณ 1 แสนตัน ต่อปี”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสั้นภาพการส่งออกจากจีนไปสหรัฐยังเพิ่มขึ้น เพราะผู้นำเข้าสั่งนำเข้าเพื่อสต๊อกวัตถุดิบล่วงหน้า เพราะมาตรการขึ้นภาษีรอบแรกเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อกรกฎาคม และล็อต 2 กำลังจะมีผลบังคับใช้เดือนนี้ หลังจากนั้น ยอดส่งออกสินค้าไทยน่าจะได้รับอานิสงส์เพิ่มขึ้น เพราะสินค้าที่ไทยถูกสหรัฐใช้มาตรการขึ้นภาษีมีเพียงกลุ่มเหล็กและอะลูมิเนียมเท่านั้น

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิก สนช. 25 คน ร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ. ข้าว ฉบับที่ พ.ศ. … ต่อที่ประชุม สนช. โดยร่าง กม. ฉบับนี้กำหนดให้มี “คณะกรรมการข้าว” หรือ คกข. โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

ตั้งบอร์ดข้าว นายกฯ เป็นประธานสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติข้าว ฉบับที่ พ.ศ. … ประกอบด้วย มาตรา 6 ให้มีคณะกรรมการข้าว (คกข.) มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกฯ เป็นประธาน มีคณะกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รมว. เกษตรและสหกรณ์ รมว. พาณิชย์ ปลัดกระทรวงการคลัง เกษตรฯ พาณิชย์ มหาดไทย อุตสาหกรรม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจฯ

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นอกจากนี้ ยังให้มีกรรมการผู้แทนเครือข่ายชาวนา ผู้แทนภาคเอกชน อาทิ ผู้ค้าข้าว ผู้รวบรวมและรับซื้อข้าวเปลือก ผู้ค้าปัจจัยการผลิตการเกษตร ผู้ส่งออกข้าว โรงสี ให้อำนาจ คกข. จัดโซนนิ่งข้าว

อำนาจหน้าที่ของ คกข. บัญญัติไว้ ในมาตรา 12 อาทิ จัดทำแผนพัฒนาข้าวและชาวนาให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวของประเทศโดยมีกรอบเวลาที่ชัดเจน ครอบคลุมด้านวิจัยและพัฒนา พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป การตลาด และส่งเสริมการส่งออกข้าวภายใต้กรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก ให้กำหนดหลักเกณฑ์จัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศ การจดทะเบียนและการพักใช้หรือเพิกถอนการจดทะเบียนพันธุ์ข้าว และผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ควบคุมและกำกับพันธุ์ข้าว การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการผลิต พัฒนา และกำหนดมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และการกระจายเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ

กำหนดมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่มีพื้นที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว ให้ปรับเปลี่ยนไปทำการเกษตรประเภทอื่นที่เหมาะสม โดยใช้กองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร หรือกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ตั้ง “สำนักงานบอร์ดข้าว”

ขณะเดียวกัน ในมาตรา 15 มีการ “ยกระดับ” หน่วยงานที่ดูแลข้าวอย่างกรมการข้าวมาเป็นสำนักงาน โดยกำหนดให้กรมการข้าวทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการข้าว โดยให้อธิบดีกรมการข้าวทำหน้าที่เป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าว มีหน้าที่ อาทิ ควบคุมและกำกับดูแลการจำหน่ายข้าวเปลือกและผลพลอยได้ ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษา วิจัย และทดลอง เพื่อสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับข้าว เทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาพันธุ์ข้าว ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว และระบบการตรวจสอบย้อนกลับด้านการผลิตข้าว

ชาวนาต้องขึ้นทะเบียน

ด้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ไปจนถึงโรงสีข้าวต้องมา “ขึ้นทะเบียน” กับสำนักงาน คกข. โดยปรากฏในมาตรา 19 ได้แก่ ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ศูนย์ข้าวชุมชน ชาวนา ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตร ผู้รับจ้างทำนา และผู้ดำเนินการรับจ้าง ฉีด พ่น หว่าน วัตถุอันตรายทางการเกษตร ปุ๋ย สารชีวภัณฑ์ สารปรับปรุงดินให้แก่ชาวนา ขณะที่มาตรา 20 กำหนดให้เครือข่ายชาวนา แหล่งรวบรวมข้าว ผู้รับซื้อข้าว และโรงสีข้าว ต้องขึ้นทะเบียนด้วย

ขณะที่ส่วนที่ 2 เรื่อง “การกำกับดูแล” ในมาตรา 21 กำหนดให้ กระทรวงเกษตรฯ จัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดให้มีการผลิตข้าวตามพันธุ์ข้าวที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ทำโซนนิ่งปลูกข้าวให้เสร็จใน 2 ปี

ขณะที่บทกำหนดโทษ บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งไม่ได้รับการรับรองตามพระราชบัญญัตินี้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ห้ามมิให้ผู้ใดจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวเสื่อมคุณภาพ หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวปลอมปน ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวอันเป็นเท็จหรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ฝ่าฝืนจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีที่มีการลักลอบนำข้าวออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ยึดและทำลายบทเฉพาะกาลมาตรา 36/1 บัญญัติว่า ในวาระเริ่มแรก ให้กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการให้มีการจัดทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศภายใน 2 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้

ทีดีอาร์ไอ จวกยับ

ขณะที่ ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เพราะจะติดขัดเรื่องขอบเขตอำนาจ คน และงบประมาณ กล่าวคือ 1) กม. ฉบับนี้ไปล่วงอำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน เพราะเรื่องข้าวไม่ใช่มีเพียงกรมการข้าว แต่ยังมีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะทำหน้าที่ดูแลกำกับการซื้อขายข้าวตาม พ.ร.บ.การค้าข้าว พ.ศ. 2498 โดยมี กม.ใหม่กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาคล้ายกับคณะกรรมการบริหารจัดการข้าว (นบข.) ให้กรมการข้าวเป็นฝ่ายเลขาฯ แต่ในทางปฏิบัติการอนุมัติงบประมาณจะให้ไปที่หน่วยงาน ไม่ใช่ให้ไปที่คณะกรรมการ เมื่อไม่มีงบประมาณก็บริหารจัดการไม่ได้

2) กฎหมายนี้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเข้าไปกำกับดูแลการซื้อข้าว โดยเฉพาะการซื้อข้าวเปลือกระหว่างโรงสีและเกษตรกร จนมีลักษณะว่า โรงสีเป็นผู้ร้าย ที่จะไปกดราคาข้าว ซึ่งในทางปฏิบัติโรงสีเป็นกลไกหนึ่งในการรับซื้อข้าวเปลือกและเป็นผู้เชี่ยวชาญด้วย หากรัฐจะไปกำกับดูแลก็ต้องมีเจ้าหน้าที่ไปนั่งประจำโรงสี แล้วคำถามคือ จะมีเจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่และประเด็นนี้อาจจะนำไปสู่การทุจริตด้านอื่น

3) การกำกับดูแลโดยกำหนด “ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าวเปลือก” จะเป็นต้นทุนทางสังคม ส่วนการกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่กดราคารับซื้อ เป็นเหมือนกฎหมายในสมัยก่อนที่มองว่า พ่อค้าเป็นผู้ร้าย ต้องเข้าใจว่า ปัจจุบัน ราคารับซื้อข้าวเปลือกปัจจุบันเป็นไปตามกลไกตลาด โรงสีมีจำนวนมากแย่งกันซื้อ หากเกษตรกรผลิตข้าวเปลือกคุณภาพดีมาขายก็จะได้ราคาสูง แต่หากข้าวเปลือกคุณภาพไม่ดี ความชื้นสูงจะได้ราคาต่ำ

อย่างไรก็ตาม ทางออกคือ ไม่จำเป็นต้องยกร่างกฎหมายใหม่ แต่ควรเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเดิมให้ประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มองค์ประกอบ นบข. ให้ตัวแทนจากทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมด้วย พร้อมทั้งต้องวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวระยะยาว

พาณิชย์ชง นบขพ. รับมือ “ข้าวโพด ปี’61/62” ทะลักกว่า 5 ล้านตัน เหตุชาวไร่แห่ปลูก เตรียมเดินหน้ามาตรการบีบโรงงานอาหารสัตว์ ช่วยซื้อ กก. ละ 8.00 บาท ด้าน ส.การค้าและผลิตพืชไร่เพชรบูรณ์ วอนรัฐช่วยปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,500 บาท

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมร่วมกับตัวแทนจากสมาคมผู้ค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เพื่อเตรียมกำหนดมาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ฤดูการผลิต ปี 2561/62 ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมนี้เป็นต้นไป

โดยการประชุมครั้งนี้ที่ประชุมประเมินว่า ปีนี้ผลผลิตข้าวโพดสูงกว่าปีก่อนที่มี ประมาณ 4.5 ล้านตัน เนื่องจากราคาขายข้าวโพดปีก่อนพุ่งขึ้นไปสูงถึง กก.ละ 10.00-10.50 บาท สูงกว่าระดับราคารับซื้อที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์รับซื้อจากเกษตรกร ในราคา กก.ละ 8.00 บาท ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกมากขึ้น ดังนั้น ทางกรมจึงได้เชิญทุกฝ่ายมาหารือเพื่อเตรียมกำหนดมาตรการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561/62 เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ซึ่งมี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

“คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตจะมีเพิ่มขึ้น ทางกรมจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อกำหนดแนวทางสร้างความสมดุลให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งห่วงโซ่การผลิต โดยจะมีการนำเสนอหลายแนวทาง เช่น การขอความร่วมมือให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ในราคาไม่ต่ำกว่าปีก่อน กก.ละ 8.00 บาท ส่วนการกำหนดอัตรารับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน (มาตรการ 3 ต่อ 1) และผ่อนผันให้ใช้ 2 ต่อ 1 ในบางช่วงเวลานั้นขึ้นอยู่กับ นบขพ. จะพิจารณาใช้หรือไม่”
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการนำไปผลิตอาหารสัตว์และเลี้ยงปศุสัตว์สำหรับการส่งออกพร้อมกันนี้ที่ประชุมยังได้หารือถึงแนวทางในการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรฐานการหักลดความชื้นข้าวโพด ซึ่งปัจจุบัน มีมาตรการการรับซื้ออยู่ที่ 14.5% แต่หากเกษตรกรนำข้าวโพดที่มีระดับความชื้นสูงกว่านั้นมาจำหน่าย จะต้องถูกหักค่าความชื้น ซึ่งปัจจุบันไม่มีมาตรฐานที่เป็นค่ากลาง มีเพียงการใช้มาตรฐานเดิมที่เคยใช้ในอดีต ปี 2540 และปี 2557 จึงควรปรับปรุงให้เป็นเกณฑ์กลาง พร้อมทั้งให้สำนักงานชั่งตวงวัด กำหนดแนวทางในการตรวจรับรองเครื่องวัดความชื้นที่ได้มาตรฐานด้วย

แจงต้องนำเข้า ข้าวสาลี ด้าน นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวโพดในปีนี้จะมีปริมาณ 5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มี 4.5 ล้านตัน เนื่องจากราคาดีทำให้เกษตรกรหันไปปลูกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปริมาณผลผลิตนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ที่คาดว่าจะมีปริมาณ 8.25 ล้านตัน จำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบ หากรัฐบาลยังคงให้ใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้าไปรับซื้อข้าวโพด 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เช่นเดียวกับปีก่อน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาได้ แต่ถึงอย่างไร วัตถุดิบก็ยังไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลยอมให้ผ่อนปรนใช้ มาตรการ 2 ต่อ 1 เช่นปีนี้ก็เป็นแนวทางที่ดี เพียงแต่รัฐบาลควรประกาศนโยบายให้ชัดเจนเร็วขึ้น จากเดิมประกาศ 15 มิถุนายน-15 สิงหาคม 2561 กำหนดระยะให้นำเข้า 45 วัน และยังมีเงื่อนไขให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องซื้อผลผลิตในช่วงนั้นๆ ไม่สามารถใช้สต๊อกเดิมที่มีอยู่ไปใช้สิทธิ์ได้ ทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดไม่ทัน และไม่สามารถวางแผนการนำเข้าได้ทันเวลา ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ และต้นทุนการเพาะเลี้ยงปศุสัตว์ ทำให้ฟาร์มปศุสัตว์ประสบปัญหา

“โรงงานอาหารสัตว์ยินดีที่จะเข้าไปช่วยรับซื้อข้าวโพด ระดับความชื้น 14.5% ราคา กก.ละ 8.00 บาท ตามที่ภาครัฐกำหนดมาตลอด แต่เกษตรกรจะต้องมีเอกสารสิทธิที่ดิน เพื่อยืนยันว่าไทยไม่ได้รุกป่าหรือทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อการผลิตปศุสัตว์เพื่อการส่งออกส่งออกไม่ได้”

ชาวไร่ขอเสริมปัจจัยการผลิต

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าและผลิตพืชไร่เพชรบูรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางสมาคมได้เข้าร่วมการประชุมด้วย แต่ประเมินสถานการณ์ว่าปีนี้ผลผลิตจะมีมากกว่าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดไว้ โดยอาจจะมีปริมาณถึง 6 ล้านตัน เนื่องจากสถานการณ์การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของทุกบริษัทเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน ซึ่งอาจจะมีผลทำให้ราคาตลาดปีนี้ลดลงจากปีก่อนที่เคยได้ถึง กก.ละ 10.00-10.50 บาท ทางสมาคมจึงเสนอให้รัฐช่วยสนับสนุนปัจจัยการผลิตข้าวโพดเช่นเดียวกับข้าว ที่รัฐบาลส่งเสริมรายละ 12 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ไม่ขาดทุนจากต้นทุนการผลิตไร่ละ 4,500-4,800 บาท (ผลผลิต 760 กก.ละ ต่อไร่)

ส่วนเรื่องการกำหนดค่าความชื้นนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีผลต่อการรับซื้อ หรือราคารับซื้อ เพราะปัจจุบันทุกฝ่ายรับซื้อตามอัตราการหักลดค่าความชื้นที่ภาครัฐบาลกำหนดอยู่แล้ว นครพนม เดินหน้ายกระดับ สับปะรด หนุนเกษตรกรทำแปลงใหญ่-ขึ้นทะเบียน GI ดันราคาสูงถึง กก.ละ 7-8 บาท ไม่หวั่นแม้สับปะรดล้นตลาด-ราคาทรุดฮวบ

นายสงกรานต์ พิมพ์ทอง รองประธานและเลขานุการ กลุ่มสับปะรด ต.นาใน อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ผู้ผลิตสับปะรดแปลงใหญ่มาตรฐาน GI เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จังหวัดนครพนม โดยเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ สหกรณ์จังหวัด และพาณิชย์จังหวัด ได้เชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดรวมกลุ่มกันผลิตแปลงใหญ่เพื่อแก้ปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งปัจจุบันมีการดำเนินการทั้งหมด 2 อำเภอ 5 ตำบล ได้แก่ ท่าอุเทนและโพนสวรรค์ มีพื้นที่ปลูก 8,000 ไร่ สมาชิก 400 คน

ด้านการผลิตมุ่งเน้นให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันใช้สารเคมีเพียง 10-15% และอินทรีย์ 85-90% จึงทำให้ได้มาตรฐาน GAP และได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ขณะที่การจัดการตลาดได้กำหนดปริมาณสับปะรดที่จะออกสู่ตลาดในแต่ละเดือน เพื่อป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาดในช่วงที่พีกของประเทศ ตั้งแต่เมษายน-พฤษภาคม รวมถึงมิถุนายน-กรกฎาคม ที่ผลไม้ทางภาคตะวันออกออกสู่ตลาดมาก โดยเฉลี่ยผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 100 ตัน/วัน ช่วงพีก 200 ตัน/วัน ซึ่งพาณิชย์จังหวัดเป็นส่วนสำคัญในการหาช่องทางการตลาด

ขณะที่ต้นทุนในการผลิตอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัม (กก.) แต่กลุ่มสามารถขายในราคาหน้าสวน เฉลี่ย 5-6 บาท/กก. แต่เมื่อได้ GI ราคาอยู่ที่ 7-8 บาท/กก. และราคาหน้าแผง 10-12 บาท/กก. โดยเฉพาะช่วงที่มีผลผลิตออกมากหรือล้นตลาด ราคาสับปะรดที่อื่นตกลงเหลือเพียง กก.ละ 1 บาท แต่ของกลุ่มสามารถขายได้เท่าทุน โดยปัจจุบันมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าสวน ในราคา 5-6 บาท/กก. และส่งไปจำหน่ายใน จ.อุบลราชธานี อุดรธานี นครราชสีมา และขอนแก่น อีกทั้งมีล้งรายใหญ่ ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ประมาณ 4-5 ราย เข้ามารับซื้อ ขณะเดียวกันกลุ่มได้แนะนำให้สมาชิกนำผลผลิตไปขายที่แผงวิสาหกิจชุมชนริมถนนทางหลวง 2028 อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร-อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม และเลียบแม่น้ำโขง บ้านแพง-ศรีสงคราม

“ตอนนี้มองหาตลาดต่างประเทศ อยากจะส่งออก กำลังมองหานักธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมมือกับเราในการส่งออกผลผลิตไปจีนหรือเวียดนาม เพราะยังไม่มีความชำนาญในด้านนี้ แต่มั่นใจในคุณภาพของผลผลิต เพราะสามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง และอยากขยายตลาดมาที่กรุงเทพฯ ด้วย เนื่องจากตอนนี้สามารถกระจายผลผลิตได้เพียงภายในภูมิภาคเท่านั้น”

มะงั่ว ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrus ichangensis Swingle เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้น ขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านต่ำ มีหนามแหลมยาว เปลือกต้นสีน้ำตาลปนเทา ใบประกอบ มีใบย่อย 1 ใบ ออกเรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก ปลายใบมน โคนใบสอบ ขอบใบจักมน แผ่นใบเรียบสีเขียวเข้มและมีจุดน้ำมัน ดอกออกเป็นช่อที่ซอกใบ 3-4 ดอก สีชมพูอมม่วง กลีบดอกมี 5 กลีบ ผลค่อนข้างกลม ผิวมีจุดน้ำมัน ข้างในผลแบ่งเป็นช่อง เนื้อผลเป็นเม็ดใส รสเปรี้ยว

สรรพคุณ น้ำในผลฟอกโลหิตระดู แก้ไอ กัดเสมหะ แก้เลือดออกตามไรฟัน รากกระทุ้งพิษ แก้พิษผิดสำแดง แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ “จิสด้า” ชวนเด็กไทย “เหาะเหินเดินอากาศ” กับภารกิจพิชิตภัยจากวัตถุอวกาศ ในนิทรรศการ GISTDA S-Venture โดยใช้เทคโนโลยีผ่านสื่อผสมผสานจนสร้างให้เกิดจินตนาการในการปกป้องโลก และพลาดไม่ได้กับการถอดบทเรียน “เหตุการณ์จากฟากฟ้าที่โลกต้องจดจำ” รวมถึงย้อนรอยถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนไปกับ “ทีมนักภูมิศาสตร์” ผู้อยู่เบื้องหลังการทำงานจนเกิดเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ณ อิมแพค เมืองทองธานี