รองอธิบดีกรมปศุสัตว์และโฆษกกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่ม

ที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ และผู้ประกอบการ ได้ร่วมกันพัฒนาระบบมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โรงงานอาหารสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ ตลอดจนระบบการป้องกันควบคุมโรค และระบบการตรวจสอบสอบย้อนกลับ (Traceability) ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงผู้บริโภค (from farm to fork) จนมีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก (World Class Quality) ทำให้สามารถส่งออกสินค้านำเงินตราเข้าประเทศปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท

“อุตสาหกรรมไก่เนื้อ เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการร่วมกันพัฒนา ทำให้วันนี้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่อันดับ 3 ของโลก จากจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย ปลอดสาร ไม่มีการใช้ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ไม่มียาปฏิชีวนะตกค้าง ทำให้เนื้อไก่ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโลก และปลอดภัยสำหรับการบริโภคของผู้บริโภคทั่วโลก และกลายเป็นต้นแบบการพัฒนาของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์สู่การส่งออกของไทย” โฆษกกรมปศุสัตว์กล่าว

นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยง อันดับ 1 ในเอเชีย เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์นม อันดับ 1 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา การส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรองมาตรฐานและออกใบรับรองสุขอนามัยเพื่อการส่งออก มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจากับประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ทำให้ไทยมีโอกาสเปิดตลาดส่งออกสินค้าปศุสัตว์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2561 การส่งออกสินค้าปศุสัตว์จะเพิ่มเป็น 2.2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ในปี 2560 กรมปศุสัตว์สามารถผลักดันทุกกระบวนการให้มีมาตรฐานการปฏิบัติที่ดี ตั้งแต่ต้นน้ำ โดยมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงตามมาตรฐาน GMP และ HACCP จำนวน 66 โรงงาน และ 59 โรงงานตามลำดับ มีฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 17,750 ฟาร์ม ครอบคลุม 17 ชนิดสัตว์ ส่วนกลางน้ำมีการพัฒนาและรับรองโรงฆ่าสัตว์เพื่อการบริโภคภายในประเทศที่มีใบอนุญาต ฆจส.2 จำนวน 2,374 แห่ง ด้านโรงฆ่าสัตว์-โรงตัดแต่ง-โรงงานแปรรูป ฯลฯ เพื่อการส่งออกที่กรมปศุสัตว์ให้การรับรอง GMP และ HACCP จำนวน 256 โรงงาน ศูนย์รวบรวมไข่ GMP 28 ศูนย์ และศูนย์รวมน้ำนมดิบ GMP 192 ศูนย์ รวมถึงการพัฒนาปลายน้ำด้วยการรับรองผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐาน Q และรับรอง จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปศุสัตว์ OK อย่างต่อเนื่อง

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การผลิตและพัฒนากำลังคน
กลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและ

การลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) ณ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เพื่อฝึกอบรมครูในสถานศึกษาให้มีความชำนาญด้านการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.สุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีภารกิจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอน และส่งเสริมการฝึกอบรมด้านวิชาชีพ โดยคำนึงถึงคุณภาพและความเป็นเลิศทางวิชาชีพ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่อง “การผลิตและพัฒนากำลังคนกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น” ในครั้งนี้จะส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในด้านเทคโนโลยีเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้ได้มาตรฐานและเท่าทันกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันที่ก้าวกระโดด

ซึ่ง สอศ. และ GIZ ได้ตกลงแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน โดยจะจัดการฝึกอบรมและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นให้กับครูในสถานศึกษา การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น พร้อมกันนี้ GIZ จะให้คำปรึกษาด้านอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการฝึกอบรม รวมไปถึงร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ทำมาตรฐานการจัดฝึกอบรม และออกใบวุฒิบัตรเพื่อเป็นการรับรองด้วย”

“ทั้งนี้ ครูในสถานศึกษาที่เข้ารับการอบรมจะเกิดทักษะ ความเชี่ยวชาญ และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาให้มีวิชาชีพด้านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพื่อรองรับการผลิตกำลังคนด้านวิชาชีพให้มีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการในการพัฒนาประเทศต่อไป” ดร.สุเทพ กล่าวเสริม

ด้าน มร.ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการ RAC NAMA ของ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นหนึ่งในแผนการดำเนินงานของโครงการฯ เพื่อผลิตและเพิ่มศักยภาพกำลังคนกลุ่มอาชีพเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยมีแผนร่วมกัน

พัฒนาหลักสูตรที่เน้นการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยตามหลักสากล รวมทั้งจัดฝึกอบรมนำร่องให้กับครูในสถานศึกษาโดยส่งผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้ ซึ่งโครงการฯ ตั้งเป้าให้มีผู้ผ่านการฝึกอบรมจำนวน 2,000 รายตลอดระยะเวลาโครงการจนถึงเดือนมีนาคม 2564 นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีเงินอุดหนุนเพื่อใช้ในการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือสำหรับการฝึกอบรมนำร่องภายใต้โครงการฯ ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญในการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาของไทยให้มีความเป็นเลิศและได้มาตรฐานระดับสากล ควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังคนด้านเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น”

โครงการ RAC NAMA มีจุดประสงค์หลักในการสนับสนุนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดการใช้พลังงานตามแผนอนุรักษ์พลังงานและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ได้แสดงเจตจำนงไว้ โครงการจะสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งช่วยส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและรัฐบาลสหราชอาณาจักรผ่านกองทุน NAMA Facility

นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ (นั่งกลาง) ประธานคณะผู้บริหาร ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ ผนึกกำลังผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารของเครือซีพีในกลุ่มประเทศ CLMV เดินหน้ายุทธศาสตร์ครัวโลก ที่ครอบคลุมการคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมี นายทำนอง พลทองมาก (นั่งซ้ายสุด) รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซี.พี.ลาว จำกัด, นายอุทัย ตันติพิมลพันธ์ (นั่งที่ 2 จากซ้าย) รองประธานกรรมการเขตประเทศฟม่า เครือเจริญโภคภัณฑ์, นายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี (นั่งที่ 2 จากขวา) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น และ นายปรีดา จุลวงษ์ (นั่งขวาสุด) รองประธานกรรมการ บริษัทซี.พี.กัมพูชา จำกัด ร่วมประชุม ณ ประเทศเวียดนาม

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงการประกาศลอยตัวน้ำตาลทราย ว่า น้ำตาลยังคงอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุม และยังคงเพดานราคาจำหน่ายขายปลีก ไว้ที่ 23 บาท 50 สตางค์ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนจะมีการปรับออกจากบัญชีสินค้าควบคุมหรือไม่ ยังต้องรอกระทรวงอุตสาหกรรมทำหนังสือ เพื่อให้ยกเลิกการกำหนดราคาเพดานดังกล่าวส่งเข้ามาก่อน และยังจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ (กกร.) และนำเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมีมติออกมาก่อน ถึงจะยกเลิกได้

ดังนั้นในช่วงนี้หากพบผู้ค้ารายใดจำหน่ายสูงเกินกว่าราคาเพดาน ที่ กกร. กำหนด จะมีความผิด ข้อหาไม่ปฏิบัติตาม ข้อกำหนดของ กกร. มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท และจากแนวโน้มราคาน้ำตาลพบว่าลดลง จึงไม่มีเหตุผลที่จะอ้างปรับขึ้นราคาจำหน่ายได้ นอกจากนี้ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้แจ้งมา พบว่าขณะนี้น้ำตาลยังเป็นสต๊อกเก่า ราคาจึงยังคงไม่เปลี่ยนแปลง

นายมาโนช ชูทับทิม อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (Egg Board) เปิดเผยว่า ในฐานะเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ขอสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ของคณะกรรมการ Egg Board ด้วยการลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อยู่ที่ 500,000 – 550,000 ตัวต่อปี จากเดิมที่มีการนำเข้า 610,000 ตัวต่อปี หากทำได้จริงจะช่วยสร้างความสมดุลของการผลิตไข่ไก่และความต้องการบริโภค ส่งผลให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพมากขึ้น ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำจากปริมาณผลผลิตล้นตลาดสะสมในขณะนี้ได้

“การลดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ให้อยู่ที่ 500,000 – 550,000 ตัว เป็นอีกแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความสมดุลระหว่างการผลิตไข่ไก่ให้เหมาะสมกับการบริโภคตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะเห็นผลระยะยาว และเมื่อดำเนินการควบคู่กับมาตรการอื่น โดยเฉพาะ ความร่วมมือช่วยกันปลดแม่ไก่ยืนกรงร่วมด้วย เชื่อว่าจะช่วยลดผลกระทบจากปัญหาราคาไข่ไก่ได้อย่างแน่นอน” นายมาโนช กล่าวและว่า

ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เผชิญกับการขายไข่ไก่ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 1 ปี โดยปัจจุบันราคาขายไข่ไก่หน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ฟองละ 2.10-2.20 บาท ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุต้นทุนการผลิตไข่ไก่ไว้ที่ฟองละ 2.80–2.90 บาท เท่ากับว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทุกคน ต้องแบกภาระขาดทุนสะสมมาโดยตลอด โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยที่ต้องขาดทุนมานาน หลายรายไม่สามารถรับสภาพขาดทุนต่อไปได้อีก จึงจำเป็นต้องเลิกเลี้ยงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้ว่าที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ทั่วประเทศได้ร่วมกันดำเนินมาตรการเร่งด่วน ทั้งการเร่งปลดแม่ไก่ยืนกรง ควบคู่กับการจัดหาตลาดเพื่อระบายไข่ไก่ออกจากระบบ แต่ยังไม่สามารถลดผลผลิตไข่ไก่ลงได้ เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทางอย่างเดียว ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครบวงจร จึงทำให้ปริมาณการผลิตไข่ไก่ยังคงมีปริมาณมากกว่าความต้องการผู้บริโภค ส่งผลกระทบต่อราคาไข่ไก่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การที่ ผู้เลี้ยงไก่ร่วมกันปลดแม่ไก่ยืนกรงเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านตัว ควบคู่กับการลดนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ จะช่วยให้สถานการณ์การผลิตไข่ไก่มีความสมดุลกับการบริโภคในปีนี้ได้ดีขึ้น

“เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อนมานาน ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันช่วยดำเนินมาตรการลดการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่ให้ได้ตามที่ Egg Board ขอความร่วมมือ เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่อยู่ได้ และสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมการผลิตไข่ไก่ของไทย” นายมาโนช กล่าว

นางเยาวเรศ ทิฐธรรม หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง และนางสาวสุมิตรา บุญเกิด นวส.ชำนาญการ เยี่ยมเยียนศูนย์เรียนรู้อันเนื่องมาจากพระราชดำริบ้านใหม่นาแขม หมู่ 7 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยนายชุมพล มูลวรรณ์ เกษตรอำเภอแม่เมาะ มอบหมายให้ นางจุฑาทิพย์ ศิริสืบ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ให้การต้อนรับ

นายเกษม อนุพันธ์ รักษาราชการแทนเกษตรจังหวัดลำปาง มอบหมายให้นางเยาวเรศ ทิฐธรรม หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดลำปาง ร่วมให้การต้อนรับคณะกรรมการคัดเลือกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรระดับประเทศ จากกรมส่งเสริมการเกษตร ประกอบด้วยนางสาวฉัฐสิณี หาญกิตติชัย ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาแม่บ้านเกษตรกร นางสาวขนิษฐา พงษ์ปรีชา ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมพืชสมุนไพรและเครื่องเทศ และนางสาวสุตาภา ทองสมจิต นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กองพัฒนาเกษตรกร ณ ศาลาเอนกประสงค์บ้านเมาะหลวง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

โดยมีนายนิมิตร ผดุงศิลป์ไพโรจน์ นายอำเภอแม่เมาะ กล่าวต้อนรับ พร้อมมีผู้นำชุมชนเทศบาลตำบลแม่เมาะ เกษตรอำเภอแม่เมาะ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอแม่เมาะ ร่วมให้การต้อนรับ หลังจากนั้นกลุ่มนำเสนอวีดิทัศน์สรุปผลการดำเนินงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร มีการตอบข้อซักถามของคณะกรรมการ นำคณะกรรมการเยี่ยมชมบูธ และนั่งรถรางลงพื้นที่เยี่ยมชมจุดดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ได้แก่ บ้าน เกษตรสมบูรณ์ แปลงผัก กลุ่มแปรรูปน้ำพริก กลุ่มออมทรัพย์ (ธนาคารชุมชน) และร่วมถ่ายภาพที่ระลึก ณ ศาลหลักเมืองแม่เมาะ ก่อนส่งคณะกรรมการเดินทางกลับ

กรมวิชาการเกษตรหนุนชาวไร่เมืองดอกบัวขยายพื้นที่ปลูก “มันสำปะหลังอินทรีย์” ดึงโรงงานแป้งมันร่วมแจมรองรับผลผลิต ชี้ความต้องการหัวมันอินทรีย์สดปีละกว่า 80,000 ตัน มุ่งเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกร พร้อมขยายช่องทางทำเงินเพิ่มรายได้ ​

นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 4 (สวพ.4) จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และโรงงานแป้งมันอุบลเกษตรพลังงาน ในเครือกลุ่มบริษัทอุบลไบโอเอทานอล ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์นำร่องในพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ อำเภอนาเยีย พิบูลมังสาหาร และวารินชำราบ

โดยมุ่งผลักดันให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบอินทรีย์ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ หรือออร์แกนิก (Organics) ป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันที่มีความต้องการหัวมันอินทรีย์สด ปีละกว่า 80,000 ตัน ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นแป้งมันได้ ประมาณ 20,000 ตัน ​ขณะนี้แปลงเกษตรกรต้นแบบผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ จำนวน 9 ราย พื้นที่กว่า 36 ไร่ เริ่มทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตหัวมันสดป้อนเข้าสู่โรงงานแป้งมันแล้ว ภายหลังเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ของกรมวิชาการเกษตรไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการใช้ปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ 1 ตัน/ไร่ หรือใส่ตามค่าวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน การแช่ท่อนพันธุ์มันสำปะหลังด้วยด้วยปุ๋ยชีวภาพ PGPR3 การปลูกและไถกลบปอเทืองระหว่างร่องมันเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด

การใช้ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช และการใช้เครื่องกำจัดวัชพืชแบบรถไถเดินตาม สามารถช่วยให้เกษตรกรต้นแบบได้ผลผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เฉลี่ยต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นจาก 4.5 ตัน/ไร่ เป็น 5.4 ตัน/ไร่ บางรายได้ผลผลิตสูงถึง 7.63 ตัน/ไร่ และยังมีเปอร์เซ็นต์แป้งสูงด้วย

​“ปี 2561 นี้ คาดว่า เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีจะปรับเปลี่ยนการผลิตเข้าสู่ระบบมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มอีกอย่างน้อย 100 แปลง พื้นที่กว่า 1,000 ไร่ ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้มีแผนเร่งสร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพิ่มขึ้น พร้อมจัดกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่ระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรจะได้รวมกลุ่มกันเข้าถึงแหล่งเงินทุน มีอำนาจต่อรองในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต และเพื่อประโยชน์ด้านการตลาด จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตของกลุ่มได้ ที่สำคัญการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ยังช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับชาวไร่ และช่วยลดการผันผวนด้านราคาเนื่องจากได้ราคาที่แน่นอน ตลอดจนช่วยลดพื้นที่การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชอย่างยั่งยืนด้วย นอกจากนี้ยังได้หารือร่วมกับนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติเพื่อสนับสนุนเงินทุนในการผลักดันการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ด้วย ” นายสุวิทย์กล่าว ​

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวอีกว่า มันสำปะหลังสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งอาหารและพลังงาน เป็นสินค้าที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศมีความต้องการสูง โดยเฉพาะแป้งมันออร์แกนิกสามารถผลิตเป็นอาหารสำหรับทารกและผู้สูงอายุ รวมถึงแคปซูลยา ซึ่งเป็นที่นิยมในแถบสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มีความต้องการแป้งมันออร์แกนิกสูงถึง 20,000 ตัน/ปี ซึ่งจะต้องมีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ ประมาณ 22,850 ไร่ จึงจะสามารถผลิตวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานแป้งมันได้เพียงพอต่อความต้องการใช้ การขยายพื้นที่การผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ในประเทศไทยเพื่อป้อนตลาดแป้งมันออร์แกนิก จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลังที่จะเพิ่มช่องทางสร้างรายได้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังแหล่งใหญ่ที่มีศักยภาพ มีพื้นที่เพาะปลูกกว่า 445,649 ไร่ ส่วนหนึ่งสามารถที่จะปรับเปลี่ยนมาผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์ได้

การยางแห่งประเทศ เปิดรับสมัครเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประจำปี 2561 จัดอบรม 2 หลักสูตร เน้นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำยาง โดยนำนวัตกรรมการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มมาถ่ายทอดแก่ผู้เข้าอบรม เพื่อเพิ่มรายได้และทางเลือกในการประกอบอาชีพ

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กล่าวว่า กิจกรรมโครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี จัดขึ้นโดยฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับความสนใจตอบรับเข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดีมาตลอด เนื่องจากหลักสูตรนี้ เป็นการให้ความรู้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และบุคคลทั่วไปที่สนใจในเรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมอบรมไปต่อยอดในการทำธุรกิจแปรรูปยางเป็นสินค้าจำหน่าย เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ผู้เข้าอบรมและกลุ่มสถาบันเกษตรกร ทั้งนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมการนำผลผลิตยางที่มีในประเทศมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่หลากหลาย กระตุ้นให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศเพิ่มขึ้น

นางณพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประจำปี 2561 นี้ จัดการอบรมทั้งสิ้น 2 หลักสูตรประกอบด้วย หลักสูตรการผลิตและการใช้น้ำยางข้นชนิดครีม และหลักสูตรการผลิตผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราจากน้ำยาง โดยแบ่งผู้เข้าอบรมเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร สามารถเข้ารับการอบรมใน หลักสูตรการผลิตและการใช้น้ำยางข้นชนิดครีม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29-31 ม.ค. 61 และหลักสูตรการผลิตผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราจากน้ำยาง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-2 ก.พ. 61 โดยเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมอบอรม นอกจากนี้ กลุ่มบุคคลทั่วไป สามารถเข้ารับการอบรมในหลักสูตรการผลิตและใช้น้ำยางข้นชนิดครีม จัดอบรมระหว่างวันที่ 20-22 ก.พ. 61 และหลักสูตรการผลิตผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราจากหมอนยางจากน้ำยาง จัดอบรมในระหว่างวันที่ 27-28 ก.พ. 61 ทั้งนี้ กลุ่มบุคคลทั่วไป จะต้องชำระค่าลงทะเบียน จำนวน 2,000 บาท/หลักสูตร

“ผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมโครงการ “ถ่ายทอดเทคโนโลยี ปี 2561” สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเข้าร่วมอบรมได้ที่ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง โทร 02-9407391 e-mail : raot307@gmail.com” ผอ.ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง กล่าวทิ้งท้าย

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับทราบผลการประชุมเชิงปฎิบัติการ “อนาคตข้าวไทย เพื่อความยั่งยืน” ที่กระทรวงพาณิชย์จัดขึ้น เพื่อระดมความคิดเห็นและวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ข้าว โดยมีตัวแทนภาครัฐ และเอกชน เช่น สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมโรงสีข้าว สมาคมชาวนา ฯลฯ เข้าร่วมประชุม

“นายกฯ พอใจกับราคาข้าวเปลือกที่สูงขึ้น โดยราคาปรับตัวสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 35-40 เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูกตามข้อแนะนำของรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลได้ส่งเสริมการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต โดยเน้นแจกจ่ายพันธุ์ข้าว และลดต้นทุนการปลูกข้าวให้กับเกษตรกร” พล.ท.สรรเสริญกล่าว

พล.ท.สรรเสริญกล่าวต่อว่า นายกฯยังได้ขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมือกันผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้น พร้อมทั้งได้รับการยืนยันจากสมาคมโรงสีข้าวไทยด้วยว่า รัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว และเป็นประโยชน์ต่อระบบการค้าข้าว โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวผ่านโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี หรือ “จำนำยุ้งฉาง” รวมกับเงินช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ และค่าฝากเก็บหรือค่าขึ้นยุ้ง ทำให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างมาก
“นายกฯ แนะให้พี่น้องเกษตรกร เจ้าของโรงสี พ่อค้า และหน่วยงานรัฐร่วมกันถอดบทเรียน ว่าความสำเร็จนั้นเกิดจากสิ่งใด ก็ขอให้ร่วมมือกันดำเนินการตามแนวทางนั้น โดยย้ำว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจริงในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในระยะยาว ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูกไปถึงจัดจำหน่าย อย่างไรก็ตาม อยากให้เกษตรกรทุกคนพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในแต่ละกระบวนการ ช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้นอย่างยั่งยืน” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

โรงสีสงขลาเครียดแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ขาดเงินซื้อข้าว สะเทือนชาวนาเสียค่าขนส่งขายพื้นที่อื่น ขณะที่โรงสีมีกำลังซื้อกลับเจอเคราะห์ซ้ำ เหตุน้ำท่วมข้าวนครศรีฯ-พัทลุง-สงขลา ทำปี 2561 ผลผลิตลดฮวบ 40% ไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต

นายสมศักดิ์ พานิช เจ้าของโรงสีข้าว ทิพย์พานิช และประธานชมรมโรงสีข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะราคาค้าข้าวเจ้า ในปี 2561 แนวโน้มราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 6,500 บาท/ตัน ที่ความชื้น 25-30% ปัจจัยสำคัญมาจากตลาดราคาข้าวที่ส่วนกลาง และกรุงเทพฯ เป็นผู้กำหนดราคา ทำให้ข้าวภาคใต้ต้องดำเนินการตาม หากราคาข้าวทางภาคใต้ตั้งราคาเองไว้สูงกว่า ก็จะไม่ได้รับการบริโภค

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับนาข้าว จ.สงขลา มีประมาณ 250,000 ไร่ มีข้าวประมาณ 12,000 ตัน/ปี และยังมีนาข้าวรายใหญ่ที่ จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่โรงสีข้าวใน จ.สงขลา มีอยู่กว่า 35 โรง มีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 30 ตัน และกว่า 50 ตัน ช่วงหลังโรงสีเริ่มชะลอตัวไม่มีการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากใช้เงินลงทุนกันไปมากในช่วงปี 2557 เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว อย่างโรงสีข้าวทิพย์พานิช ได้ลงทุนไปประมาณ 20 ล้านบาท ขนาดการผลิต 60 ตัน/วัน

ปัจจุบันโรงสีบางแห่งเกิดขาดสภาพคล่องทางการเงินมาเป็นระยะ ๆ เมื่อไปขอสินเชื่อมาลงทุน เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนา กลับโดนสถาบันการเงิน หรือธนาคารปฏิเสธ ระบุว่าโรงสีข้าว มีความเสี่ยงสูง จึงงดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลกระทบต่อโรงสีข้าวที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อข้าวจากชาวนาได้ กระทบชาวนาที่ไม่สามารถขายข้าวให้กับโรงสีในพื้นที่ได้ ต้องส่งข้าวไปขายยังส่วนกลาง และกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายขนส่งถึง 90 สตางค์/กก. หรือประมาณ 900 บาท/ตัน ซึ่งจะต้องสูญเสียไป

“โรงสีมีความเห็นว่าจะเสนอต่อรัฐบาลให้มีโครงการส่งเสริมสินเชื่อให้โรงสีข้าวที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนาเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางโรงสีหลายแห่งประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และสนับสนุนช่วยเหลือชาวนาทั้งด้านการตลาด และอื่น ๆ รวมถึงโรงสีข้าวที่ประสบปัญหาและที่ไม่มีความพร้อม สำหรับตลาดรายใหญ่ของโรงสีข้าว คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ที่ชอบบริโภคข้าวพื้นที่ภาคใต้”