รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่ง

การให้หน่วยงานในสังกัดประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร ตลอดจนสั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานภาคีในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ดำเนินงานได้บรรลุเป้าหมาย รวมถึงเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ และสร้างจิตสำนึกแก่เกษตรกรให้หยุดการเผาในพื้นที่ของตนเองด้วย

กรมส่งเสริมการเกษตร ใช้งานวิจัยพัฒนานวัตกรรมส่งเสริมการเกษตร ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศนายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รักษาราชการอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการเกษตร ซึ่งมีศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ศูนย์ปฏิบัติการ) เป็นหน่วยงานส่วนกลางของภูมิภาคที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ จำนวน 50 ศูนย์ ทั่วประเทศ ประกอบด้วย

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร (ศูนย์เฉพาะด้าน) จำนวน 14 ศูนย์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ศูนย์สหวิชา) จำนวน 26 ศูนย์ และศูนย์ขยายพันธุ์พืช จำนวน 10 ศูนย์ เพิ่มเติมจากสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ ในการให้ข้อมูลด้านการเกษตรแก่เกษตรกร โดยบทบาทหนึ่งที่สำคัญของหน่วยงานที่ตั้งในภูมิภาคคือ การทำงานเชิงวิชาการศึกษา ทดสอบ และขยายผลโดยให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ในพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อสร้างความมั่นคงในอาชีพและเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของเกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ความสำคัญดังกล่าวจึงเตรียมจัดฝึกอบรมภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพด้านการวิจัยของศูนย์ปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรของศูนย์ปฏิบัติการมีความรู้ความเข้าใจ แนวคิด หลักการ และวิธีการวิจัย เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ เกิดเครือข่ายนักวิจัย และตอบสนองบทบาทภารกิจของหน่วยงาน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์คือ ศูนย์ปฏิบัติการมีเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสม และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและพื้นที่ ประกอบกับเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวิชาการและพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรแก่เจ้าหน้าที่ เกษตรกร และผู้ที่สนใจ ตลอดจนเกิดบุคลากรที่ทำงานวิจัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการฝึกอบรมดังกล่าว กำหนดจัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง กรกฎาคม 2562 โดยมีบุคลากรของศูนย์ปฏิบัติการทั้ง 50 ศูนย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ การอบรมประกอบด้วยการบรรยายและการแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ โดยรายละเอียดในหลักสูตรประกอบด้วยหัวข้อต่างๆ เช่น การหาโจทย์วิจัยที่ตอบสนองต่อเกษตรกรในพื้นที่ การออกแบบงานวิจัย เขียนโครงร่างวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง การนำเสนอผลการวิจัย ตลอดจนเทคนิคการเขียนรายงานการวิจัยให้ถูกต้องและได้มาตรฐานสากล ซึ่งจะพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่เพื่อนำไปสู่การศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนารูปแบบและกระบวนการถ่ายทอดความรู้ เพื่อปรับระบบการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการสร้างนวัตกรรมองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่เหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรและพื้นที่

เป็นการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของสินค้าเกษตร การพัฒนาให้บุคลากรสามารถทำงานวิจัยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการเสริมสร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้านยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมุ่งสู่ความเป็นประเทศไทย 4.0

อาจารย์นักวิจัย มทร.ธัญบุรี ออกแบบรังเลี้ยงผึ้งชันโรงสำหรับผลิตน้ำผึ้งเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์เกษตรกรในการเก็บผลผลิต สร้างรายได้แก่ชุมชน และคว้ารางวัลเหรียญทองเวทีวิจัยนานาชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัญชลี สวาสดิ์ธรรม อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เจ้าของผลงานวิจัย กล่าวว่า น้ำผึ้งจากผึ้งชันโรงหรือ Stingless Bees เป็นที่รู้จักกันและขึ้นชื่อว่ามีคุณค่าและสรรพคุณทางยาสูง ผลการวิเคราะห์ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระของน้ำผึ้งจากชันโรงมีมากกว่าน้ำผึ้งจากผึ้งพันธุ์ 2-3 เท่า มีกรดอะมิโนและเกลือแร่หลายชนิด มีน้ำตาลทรีฮาโลส ซึ่งเป็นสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิว มีประโยชน์สำคัญทางด้านการแพทย์และเภสัช จึงทำให้มีราคาสูง แต่จุดอ่อนของชันโรงคือให้ผลผลิตน้ำผึ้งต่อรังในปริมาณน้อย มีวิธีเก็บเกี่ยวยุ่งยากกว่าผึ้งพันธุ์ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ตัวอ่อนได้ อีกทั้งขณะเก็บน้ำผึ้งจะมีถ้วยน้ำผึ้งที่แตกเสียหาย มีน้ำผึ้งไหลออกมาบริเวณพื้นรัง ทำความสะอาดให้แห้งได้ยาก ก่อให้เกิดการบูดของน้ำผึ้ง ส่งกลิ่นดึงดูดศัตรูของชันโรงให้เข้ามาทำลาย ส่งผลให้รังล่มสลายได้ง่าย

จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้ออกแบบรังเลี้ยงชันโรงสำหรับผลิตน้ำผึ้งขึ้นมาใหม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมทำจากไม้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือส่วนของฝารัง และรังเลี้ยง ที่ประกอบขึ้นเป็นห้องเลี้ยงที่มีขนาดเหมาะสม ที่สามารถบังคับให้ชันโรงสร้างถ้วยตัวอ่อนที่แยกกับถ้วยอาหาร (เกสรและน้ำผึ้ง) ได้อย่างชัดเจน ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวน้ำผึ้งได้โดยสะดวกและง่ายกว่ารังเลี้ยงแบบเดิม

ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้ำผึ้งมากขึ้น สามารถลดการเข้าทำลายของศัตรูชันโรงหลังการเก็บเกี่ยว และจัดการรังได้สะดวกทั้งการติดตามสภาพภายในรังเพื่อการแยกขยายหรือสามารถเห็นการเข้าทำลายของศัตรูที่มาตามฤดูกาล เพื่อการแก้ไขได้ทันเวลา รวมถึงสามารถขยายสเกลการผลิตน้ำผึ้งและชันเพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์เชิงอุตสาหกรรมได้ เช่น ปัจจุบันมีการนำชันมาใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพมากมาย เช่น รักษาการติดเชื้อในช่องปาก รักษาเหงือกอักเสบ ลดอักเสบของผิวหนัง หรือใช้น้ำผึ้งและชันของชันโรงในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิว และยาสระผม เป็นต้น

นอกจากนั้น ในการดำเนินกระบวนการวิจัยนี้ เป็นการทำงานวิจัยที่เปิดโอกาสให้ผู้เลี้ยงชันโรง คุณอาลัย และ คุณสวัสดิ์ จิตตเจริญ เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงบ้านวังแซ้ม อ.มะขาม จ.จันทบุรี เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรได้ฝึกทักษะในการวิจัย การสังเกต และการเก็บข้อมูล ก่อให้เกิดนักวิจัยในภาคสนามที่เกษตรกรจะได้นำทักษะนี้ไปใช้ในการดำเนินการพัฒนาการเลี้ยงชันโรงอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกด้วย

ผลงานรังเลี้ยงผึ้งชันโรงสำหรับผลิตน้ำผึ้งเชิงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมประกวดและแสดงผลงานวิจัยระดับเวทีนานาชาติ IEI & WIIF 2018 สาธารณรัฐประชาชนจีน และสามารถคว้ารางวัลวิจัยเหรียญทองมาครองได้อย่างสำเร็จ ขณะนี้ได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรและสิทธิบัตรการออกแบบแล้ว เกษตรกรหรือผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หรือโทร. 02 592 1955, 02 592 1956

ในช่วงสภาพอากาศหนาวเย็น กลางวันร้อน กลางคืนหนาว กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกร ผู้ปลูกกาแฟอาราบิกาเฝ้าระวังการระบาดของโรคแอนแทรคโนส สามารถพบได้ในระยะที่ต้นกาแฟเริ่มติดผลจนถึงระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต

สำหรับโรคแอนแทรคโนส แสดงอาการที่ใบ พบได้ทั้งใบอ่อนและใบแก่ ลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล เนื้อเยื่อกลางแผลตาย ถ้ารุนแรงแผลจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ใบแห้งไหม้ทั้งใบ แสดงอาการที่กิ่ง พบกิ่งเขียวไหม้ ทำให้ใบเหลืองและร่วงหล่น กิ่งเหี่ยวและแห้งทั้งกิ่ง แสดงอาการที่ผล พบได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่ เริ่มแรกผลเป็นจุดสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออาการรุนแรงขึ้น จุดจะขยายรวมกันเป็นแผลรูปร่างไม่แน่นอน และเนื้อเยื่อแผลยุบตัว หากพบที่ผลอ่อนจะทำให้ผลไม่พัฒนาเป็นเมล็ด หยุดการเจริญเติบโต และเปลี่ยนเป็นสีดำ แต่ผลยังคงติดอยู่บนกิ่งกาแฟ

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่ม ใบ และเก็บผลที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อให้โล่ง โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และแสงแดดลอดผ่านได้ อีกทั้งควรรักษาระดับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อรักษาระดับความชื้นและช่วยป้องกันการเกิดโรค จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยบำรุงต้น เพื่อให้ต้นกาแฟมีความแข็งแรง

ส่วนในระยะที่ต้นกาแฟเริ่มติดผล เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคเริ่มระบาด ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 50 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

นอกจากนี้ เกษตรกรควรป้องกันกำจัดมอดเจาะผลกาแฟอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากมอดเจาะผลกาแฟจะเข้าทำลายผลทำให้เกิดบาดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายผลกาแฟได้มากยิ่งขึ้น

คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มุ่งมั่นสนับสนุนการวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่ตอบสนอง การแก้ปัญหาและพัฒนาตามโจทย์สำคัญระดับจังหวัดในมิติเศรษฐกิจและอาชีพ และตอบสนองนโยบายการขับเคลื่อน Thailand 4.0 โดยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) เปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ Smart Enterprises และ Startups บริษัทเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง

ซึ่งผลิตภัณฑ์ “ชาหอมแดง” จากผลงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.) โดย อาจารย์จิรายุ มุสิกา และคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นหนึ่งในตัวอย่างผลงานวิจัยที่เข้าไปช่วยเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการ Smart Enterprises และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “หอมแดง” ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ

“หอมแดงยางชุมน้อย” ดีที่สุดในโลก

หอมแดง เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะอำเภอยางชุมน้อย มีพื้นที่ปลูกหอมแดงมากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบัน อำเภอยางชุมน้อย มีพื้นที่ปลูกหอมแดง ประมาณ 14,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 42,000 ตัน สร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดศรีสะเกษไม่ต่ำกว่าปีละ 200-300 ล้านบาท อำเภอยางชุมน้อยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยราชการ จัดงาน “งานหอมแดง กระเทียมดีที่ยางชุมน้อย” เป็นประจำในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดหอมแดง ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

หอมแดง ของอำเภอยางชุมน้อยได้รับการยกย่องว่า มีคุณภาพดีเป็น อันดับ 1 ของโลก เนื่องจากมีคุณลักษณะพิเศษ ที่พูดกันติดปากว่า ผิวมัน หัวแห้ง สีแดงสด คอเล็กเรียว กลิ่นฉุนแรง สามารถเก็บรักษาคุณภาพได้ยาวนาน

เกษตรกรในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อยนิยมปลูกหอมแดงหลังฤดูทำนา โดยเริ่มปลูกหอมแดงตั้งแต่เดือนกันยายน เก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของทุกปี สำหรับ ปี 2561 เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงได้ผลผลิตคุณภาพดีเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้หอมแดงลงหัวได้ดี ได้ผลผลิตต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 กิโลกรัม เกษตรกรบางรายลงทุนปลูกหอมแดงเพียงแค่ 10 ไร่ สร้างรายได้กว่า 1 ล้านบาท

ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงในพื้นที่อำเภอยางชุมน้อยเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า พวกเขาพยายามยกระดับคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็น “หอมแดงโมเดล” มีการตั้ง “โรงเรียนหอมแดง” ประจำหมู่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรดูแล ตรวจสอบคุณภาพซึ่งกันและกัน มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกหอมแดง กับสำนักงานเกษตรอำเภอ เพื่อควบคุมพื้นที่ปลูกหอมแดงคุณภาพ GAP และลดการใช้สารเคมี หอมแดงมีอายุการปลูกจนเก็บเกี่ยว 70-75 วัน ถูกนำมาตากแขวนหอมแดงผึ่งลม 14 วัน เพื่อให้มีคุณภาพดี หอมแดงศรีสะเกษมีหัวใหญ่ เนื้อแห้ง สีแดงสด คอเล็ก สามารถขายได้ราคาดี เพราะเป็นสินค้าเกรดเอที่ตลาดต้องการ

งานวิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม“หอมแดง” ตกเกรด

เนื่องจาก หอมแดง เป็นพืชที่เสียหายง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน เพราะเป็นพืชอวบน้ำ และมักจะประสบปัญหาด้านราคาตกต่ำ ในทุกฤดูกาลผลิต เมื่อเกษตรกรนำผลผลิตออกจำหน่ายพร้อมๆ กัน ที่ผ่านมาเกษตรกรมีความพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในลักษณะ “หอมเจียว” ปรากฎว่าขายได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดแต่เนื่องจากมีขั้นตอนวิธีทำที่ยุ่งยาก จึงไม่นิยมทำกัน ปัจจุบันมีผู้แปรรูปหอมเจียวเพียง 1-2 ราย เท่านั้น

กลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี หมู่ที่ 6 ภายใต้การนำของประธานกลุ่ม คือ นางวิลาวัณย์ แก้วคำ พวกเขามีอาชีพปลูกหอมแดงปลอดสารพิษหลังฤดูทำนา แต่เจอปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำเป็นประจำทุกปี จึงมองหาช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าในรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใคร คือ “ชาหอมแดง” โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาชุมชน และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.)

อาจารย์จิรายุ มุสิกา และคณาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (มรภ.ศก.) ได้ลงพื้นที่เข้าไปพูดคุยกับกลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี หมู่ที่ 6 เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชาหอมแดงสมุนไพรจากหอมแดงตกเกรด หลังการเก็บเกี่ยวและพืชผักท้องถิ่น ตำบลคอนกาม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อความยั่งยืนของชุมชน

“ชาวบ้านส่วนใหญ่ ต้องการแปรรูปหอมแดงและพืชในท้องถิ่น ในลักษณะชาเพื่อสุขภาพ ที่มีสีใส กลิ่นหอม และเป็นสินค้าที่บ่งบอกเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคณะวิจัยได้พัฒนากระบวนการแปรรูปชาหอมแดงแบบง่ายๆ ที่ชาวบ้านสามารถทำได้เอง โดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย” อาจารย์จิรายุ กล่าว

ในเบื้องต้น ทีมนักวิจัยของ มรภ.ศก. ได้ศึกษาวิจัยการแปรรูปชาหอมแดงผสมกับพืชท้องถิ่น จำนวน 3 สูตร ก่อนนำมาคัดเลือกให้เหลือ 1 สูตร ที่ดีที่สุด โดยมีส่วนผสมดังนี้คือ ใบเตย ร้อยละ 50 หอมแดง ร้อยละ 30 ใบหอม ร้อยละ 30 และใช้หญ้าหวานเป็นสารให้ความหวาน ร้อยละ 0.1 เพื่อเพิ่มรสชาติให้กับผลิตภัณฑ์ โดยนำชาหอมแดงบรรจุในซองชา ขนาด 5 กรัม นำไปทดสอบกับผู้บริโภค จำนวน 100 คน ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค และร้อยละ 90 ตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ ในราคา 100 บาท ต่อขนาดบรรจุ 20 กรัม

วิธีทำ “ชาหอมแดง”

ชาหอมแดง ทำได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมวัตถุดิบสำคัญคือ หอมแดง ใบต้นหอม ใบเตย อย่างละ 500 กรัม ล้างให้สะอาด หั่นบาง ขนาด 2-3 มิลลิเมตร นึ่งด้วยน้ำเดือด 1-2 นาที โดยเกลี่ยวัตถุดิบให้ถูกไอน้ำร้อน ใช้อุณหภูมิประมาณ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานประมาณ 20 วินาที หลังจากนั้นนำวัตถุดิบจุ่มลงในน้ำเย็นทันที ก่อนนำขึ้นผึ่งลมให้แห้งหมาดๆ

จากนั้นนำมาคั่วในกระทะด้วยไฟอ่อนๆ ประมาณ 20-30 นาที จนวัตถุดิบแห้ง และนำหอมแดง ใบหอม ใบเตยที่คั่วเสร็จแล้ว ไปอบด้วยลมร้อน ที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 30 นาที ก่อนนำวัตถุดิบทั้งหมดมาบดให้ละเอียด และบรรจุใส่ถุงชา ในอัตราส่วน หอมแดง 30% ใบหอม 20% ใบเตย 50% และเติมหญ้าหวานเพื่มเพิ่มรสชาติความหวานแทนน้ำตาลทราย

ชาสมุนไพร “หอมแดง” ดีต่อสุขภาพ

ชาหอมแดง เป็นเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะหอมแดงมีสารเคอร์ซิติน สารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง นอกจากนี้ สารฟลาโวนอยด์ในหอมแดงยังมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ การบริโภคหอมแดงเป็นประจำ จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและช่วยให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น สามารถป้องกันการติดเชื้อและช่วยบรรเทาอาการไข้หวัดได้ หอมแดงยังมีคุณสมบัติยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์และแบคทีเรียได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน ชาสมุนไพรหอมแดง ยังช่วยบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก ขับลม แก้ท้องอืดแน่น บำรุงธาตุ ขับเหงื่อ บำรุงหัวใจ ดับกระหาย

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ชาสมุนไพรหอมแดงของกลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี กลายเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคทั่วไป และเป็นสินค้าขายดี เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและส่งออก สร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่ม รายละ 30,000-40,000 บาท ต่อเดือน ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มได้ร้องขอให้ทีมนักวิจัยของ มรภ.ศก. วิจัยสร้างมูลค่าเพิ่ม “หอมแดง” ในรูปแบบ “สมุนไพรชงอาบ” เพื่อเป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภคในอนาคต

หากใครมีข้อสงสัย หรือสนใจอยากซื้อสินค้าชาสมุนไพร หอมแดง สามารถติดต่อโดยตรงได้กับกลุ่มวิสาหกิจออมทรัพย์พัฒนาสตรี หมู่ที่ 6 บ้านเมืองแสน ตำบลคอนกาม อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ โทร. 087-876-0541 รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

หวังสร้างความร่วมมือ เปิดโอกาสสร้างช่องทางการตลาดผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) นำโดย นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการฯ ด้านบริหาร และหน่วยธุรกิจ (BU) เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้า “China International Import Expo 2018” (CIIE) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5-10 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์แสดงสินค้า และการประชุมแห่งชาตินครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน โดยมีบริษัทมากกว่า 3,000 แห่ง จาก 130 ประเทศเข้า ร่วมงาน

นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านบริหาร เปิดเผยว่า ภายในบู๊ธ กยท. จัดแสดงสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราของเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และ ผู้ประกอบกิจการยาง ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง STR 5L ยางแท่ง STR 20 รองเท้าแตะยางพารา หมอนยางพารา ที่นอนยางพารา และเบาะรองนั่งยางพารา เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสสร้างช่องทางการซื้อขายผลิตภัณฑ์ยางพาราระหว่างประเทศ ผลักดันและกระตุ้นให้สินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราเข้าสู่ตลาดการค้าระหว่างประเทศ เพิ่มมูลค่าการส่งออกยางพาราไทย โดยมีบริษัทผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นตัวแทนจัดจำหน่ายจำนวนมาก

นอกจากนี้ กยท. จัดโครงการส่งเสริมศักยภาพการส่งออกผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราและไม้ยางพารา เพื่อให้พนักงาน กยท. และตัวแทนจากสถาบันเกษตรกรได้เพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้วยการศึกษาตลาดสินค้าเกษตรรูปแบบต่างๆ รวมถึงการเดินทางไปสำรวจโกดังจัดเก็บยาง ณ เมืองชิงเต่า เพื่อศึกษาสถานการณ์สต๊อกยาง รับฟังการบรรยายพิเศษทางด้านการค้าการลงทุน และแนวโน้มด้านการตลาดในประเทศจีนจาก ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน สร้างความรู้ความเข้าใจในด้านการวางแผนและบริหารจัดการผลผลิตยางพาราเพื่อแปรรูปสู่ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมยางพาราในระดับมาตรฐาน สร้างประสบการณ์ด้านการเจรจาธุรกิจ การลงทุนในระดับสากล ทักษะด้านการตลาด และนำข้อมูลที่มีประโยชน์ไปเผยแพร่ต่อเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางต่อไป รองผู้ว่าการฯ กล่าวทิ้งท้าย

22 พฤศจิกายน 2561 – บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด โดยผู้บริหารและพนักงานเชสเตอร์จิตอาสา 120 คน จัดกิจกรรมมอบความสุขและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุ มูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน ในโครงการ “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” ปีที่ 6 โดยกิจกรรมประกอบด้วย การจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน กิจกรรมสันทนาการร่วมกับผู้สูงอายุ และการปรับทัศนียภาพในสถานพักฟื้นฯ พร้อมมอบสิ่งของอุปโภคบริโภค และเงินบริจาค มูลค่ารวม 80,000 บาท ที่ได้จากการร่วมสมทบทุนของ ผู้บริหาร พนักงาน และลูกค้าเชสเตอร์ ให้แก่มูลนิธิฯได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

นายธิติธัช ไกรเกรียงศรี ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิธารนุเคราะห์ สถานพักฟื้นคนชราบางเขน กล่าวว่า มูลนิธิฯ ก่อตั้งขึ้นโดย นายยก ตั้งตรงศักดิ์ นักธุรกิจและนักสังคมสงเคราะห์ เพื่อให้ความช่วยเหลือและอุปการะคนชรายากไร้และด้อยโอกาสที่ไม่มีผู้เลี้ยงดู ตั้งแต่ปี 2516 ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิฯ ได้ให้การอุปการะคนชราชายอยู่ 65 คน จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับน้ำใจจากจิตอาสาเชสเตอร์ ร่วมกันเลี้ยงอาหารกลางวัน จัดกิจกรรมสันทนาการ และมอบเงินพร้อมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แก่มูลนิธิฯ ให้สามารถดูแลผู้สูงวัยที่อยู่ในมูลนิธิฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ประชากรผู้สูงวัยต้องการความเอาใจใส่ด้วยความรักจากลูกหลาน ดังนั้น การที่จิตอาสาเชสเตอร์เข้ามาจัดกิจกรรมในวันนี้ ช่วยสร้างรอยยิ้ม ความสุข ความอบอุ่น กับคนชราในสถานพักฟื้นฯ แห่งนี้ ให้ได้มีสุขภาพกาย สุขภาพใจที่ดี และมีกำลังใจพร้อมดำเนินชีวิตในช่วงบั้นปลายได้ต่อไป” นายวิสุทธิ์ กล่าว

นางรุ่งทิพย์ พรหมชาติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านปฏิบัติการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ธุรกิจร้าน อาหารเชสเตอร์ ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า เชสเตอร์ จัดกิจกรรม “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” เป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 6 เป็นความตั้งใจของเชสเตอร์ฟู้ดที่จะสร้างการมีส่วนร่วม ระหว่างผู้บริหาร พนักงาน และกลุ่มลูกค้าให้ได้ทำกิจกรรมแบ่งปันน้ำใจแก่ ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ปีละ 2 ครั้ง โดยในปีนี้กิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้นที่สถานแรกรับเด็กชายปากเกร็ด (บ้านภูมิเวท) นนทบุรี และวันนี้เป็นกิจกรรมครั้งที่ 2 ที่เชสเตอร์นำเงินรับบริจาคจากผู้บริหารและเพื่อนพนักงานชาวเชสเตอร์ฟู้ด รวมถึงกลุ่มลูกค้าที่ร่วมสมทบทุนผ่านกล่องรับบริจาคที่ร้านเชสเตอร์ 200 สาขาทั่วประเทศ มามอบให้สถานพักฟื้นคนชราบางเขน สำหรับการดูแลคนชราและทำกิจกรรมต่างๆ ต่อไป

“เชสเตอร์ส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงานเชสเตอร์มีจิตสาธารณะ มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเพิ่มความสุขให้กับคนในชุมชน ตอกย้ำการเป็นองค์กรที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม โดยในปีหน้า เชสเตอร์ยังคงจัดกิจกรรม “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อขยายโอกาสให้ชาวเชสเตอร์จิตอาสาสร้างความสุขให้กับชุมชนได้เพิ่มขึ้น” นางรุ่งทิพย์ กล่าว