รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ด้านความตกลงทางการค้าไทย

และตุรกี จากผลการประชุมเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-ตุรกี (Thailand-Turkey Free Trade Agreement : THTRFTA) ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร สามารถสรุปรูปแบบการลดภาษี (Modality) ได้เบื้องต้น เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการจัดทำข้อเสนอเปิดตลาด (Initial Offer List) และข้อเรียกร้องเปิดตลาด (Initial Request List) ระหว่างกัน ซึ่งไทยและตุรกีได้หารือร่างข้อบทการค้าสินค้า และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่อร่างข้อบทกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า โดยการประชุมครั้งที่ 5 จะมีในช่วงเดือนเมษายน 2562 ณ ประเทศตุรกี

ทั้งนี้ หากการเจรจาบรรลุผล จะทำให้เกษตรกรไทยมีช่องทางการส่งออกเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีโอกาสเปิดตลาดในตุรกี ซึ่งถือเป็นประเทศที่เก็บอัตราภาษีสินค้าเกษตรค่อนข้างสูง โดยมีอัตราภาษีสินค้าเกษตรส่วนใหญ่อยู่ระหว่างร้อยละ 25-50 โดยขณะนี้ นับว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้นของการเจรจา ซึ่ง สศก. จะรายงานความก้าวหน้าให้ทราบเป็นระยะต่อไป

เสียงของน้ำที่ไหลผ่านก้อนหินในแต่ละวันแต่ละจุดของคลองวังหีบไม่เคยเหมือนกันสักวัน เพียงแต่คุณจะมีโอกาสได้นั่งนิ่งๆ รับฟังเสียงน้ำพึมพำรำพันนั้นหรือไม่ เท่านั้นเอง

ถ้าคุณเกิดในป่าในภูเขา ได้เห็นสีเขียวๆ ของต้นไม้จนชินตา เห็นสายน้ำใสๆ ไหลรินอยู่ทุกเวลา คุณก็คงมองมันแบบธรรมดาๆ แค่ระลึกรู้ในคุณค่าว่ามันคือบ้านคือครัวคือห้องนั่งเล่น คือลานกีฬาที่อยากมาออกกำลังกายเมื่อใดก็ได้ อย่างอิสรเสรี

แต่สำหรับคนที่อยู่ห่างไกลธรรมชาติแบบนี้ สัมผัสแรกที่ได้รู้จักป่าและสายน้ำแห่งนี้ มันเกิดความรู้สึกหลายอย่างถาโถม ป่าคลองวังหีบเป็นได้ทั้งศาสนสถานที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงสภาวะธรรมที่มีสันติสุขในใจ เป็นโรงพยาบาลที่เยียวยาได้ทั้งกายและใจ ด้วยการได้ดื่มน้ำอาบน้ำและมีอาหารสะอาดบริโภค มีสมุนไพรสำคัญหลายชนิดให้ใช้รักษาโรค เป็นโรงเรียนนอกห้องเรียนที่ให้ความรู้แก่คนสนใจอย่างไม่มีวันจบหลักสูตร ทั้งการฝึกทักษะการใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในป่า หรือจะทำกิจกรรมผจญภัยที่ตื่นเต้นแบบสร้างสรรค์

แต่…เรื่องราวดีๆ เหล่านั้น กลับถูกมองข้ามไปโดยรัฐ ที่ต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้เพื่อสร้างเขื่อน และพยายามบิดเบือนให้สังคมมองว่าคนส่วนน้อยต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นความจริงตามนั้น จนน่าสงสัยว่า น้ำจากเขื่อนที่สร้าง จะส่งไปใช้ ณ ที่ใด ในอนาคต ดังนั้น ระหว่างรัฐกับประชาชน จึงมีเขื่อนเป็นชนวนของการสู้รบตลอดมา

ชุมชนวังหีบ ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็กำลังมีเรื่องพิพาทต่อกันอย่างเข้มข้นทุกวินาที เขื่อนวังหีบที่จะสร้างกั้นคลองวังหีบ สันเขื่อนเป็นเขื่อนดิน โดยกรมชลประทานระบุในวัตถุประสงค์ของการสร้างเขื่อนว่า

เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองทุ่งสง เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบผลิตน้ำประปา เมืองทุ่งสง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว

แต่ผลการศึกษาของ “คณะทำงานการบริการจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมในพื้นที่อำเภอทุ่งสงและลุ่มน้ำวังหีบ จังหวัดนครศรีธรรมราช” ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 410/2561 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ได้สรุปว่า เขื่อนนี้ไม่สมควรสร้าง เพราะประชาชนในลุ่มน้ำวังหีบใช้น้ำประปาภูเขา น้ำบาดาล และผิวดิน เป็นน้ำอุปโภคบริโภค ไม่มีการขาดแคลนน้ำ

การประปาภูมิภาคสาขาทุ่งสง มีความต้องการน้ำดิบ ปีละประมาณ 8 ล้านลูกบาศก์ลิตร (ซึ่งใช้น้ำจากคลองท่าแพ ที่มีปริมาณปีละ 41 ล้านลูกบาศก์ลิตร) ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากคลองวังหีบ น้ำจากกลุ่มน้ำวังหีบไม่ได้ไหลผ่านทุ่งสง แต่ผ่านไปฝั่งวัดคงคาเจริญ (วัดจอด) ดังนั้น น้ำท่วมเมืองทุ่งสง จึงเกิดจากน้ำคลองท่าเลา คลองท่าโหลน คลองเปิก และคลองโยง (ที่มารวมเป็นคลองท่าแพ)

ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัจจุบัน การทำการเกษตรได้เปลี่ยนจากการทำนามาเป็นสวนยางและปาล์มเป็นส่วนใหญ่ การใช้น้ำเพื่อการเกษตรจึงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การท่องเที่ยวในปัจจุบัน ช่วงฤดูร้อนเดือนเมษายน คนมาอาบน้ำในคลองวังหีบไม่ต่ำกว่าวันละพันคน โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้ามา และชุมชนได้จัดการดูแลความสะดวกปลอดภัยได้อย่างดีเยี่ยมอยู่แล้ว

แม้กรมชลประทานได้รับรายงานผลการศึกษาของคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมแล้ว แต่กลับเพิกเฉย ซ้ำยังดันทุรังเดินหน้าโครงการเขื่อนวังหีบต่อไป โดยวันที่ 18 ธันวาคม 2561 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้สร้างเขื่อนวังหีบต่อไป ในปีงบประมาณ 2562-2566 โดยมีงบประมาณ 2,300 ล้านบาท

ดังนั้น วัตถุประสงค์ของกรมชลประทานในการสร้างเขื่อนวังหีบจึงบิดเบือน เพราะไม่ได้ตอบสนองผลประโยชน์ของคนทุ่งสงแต่อย่างใด และในการก่อสร้างเขื่อนดินในพื้นที่ภูเขาหินผุ จึงเป็นความเสี่ยงต่อการพังของเขื่อน ในเวลานั้นหากเกิดขึ้นจริงๆ มวลน้ำจำนวนมหาศาลก็จะทะลักมาท่วมบ่าเมืองทุ่งสง ที่บอกว่าป้องกันน้ำท่วมจึงเป็นเท็จ

สายน้ำคลองวังหีบ รวมถึงระบบนิเวศทั้งหมดทั้งมวล ซึ่งได้เป็นทุกสิ่งอย่างของผู้คน ทั้งแหล่งกำเนิดปัจจัยสี่ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงแหล่งเรียนรู้และการ สันทนาการเชิงสร้างสรรค์ ที่เคยได้จากสายธารและผืนป่านี้มิกลับตาลปัตรเป็นตรงข้ามราวพลิกฝ่ามือละหรือ

จากการสร้างชีวิตคงกลายเป็นมหันตภัยที่น่าสลดใจ แล้วใครจะรับผิดชอบ“เกษตรศาสตร์นำไทย นวัตกรรมก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”

เป็นประจำทุกปี ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ ช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม ถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราจะได้ยินการกล่าวถึง “งานวันเกษตรแห่งชาติ” และ “งานเกษตรแฟร์” รวมทั้งอาจจะเป็นช่วงเดือนไหนในรอบปีก็จะได้ยิน “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” อีกงานที่จะมีพฤกษามาเบ่งบานให้ชื่นชมในวันงานเกษตรดังกล่าว พร้อมบทเพลงชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และข่าวประชาสัมพันธ์ในงานดังกระหึ่มชวนให้บรรยากาศเดินชม ชิม ช็อป แชร์ ในงานเกษตรนั้นเป็นไปอย่างครื้นเครงสดชื่น ท่ามกลางผู้คนเข้าชมงานที่เบียดเสียด หรือชะเง้อแง้แลหาสิ่งที่สนใจ แม้จะเข้าไปสัมผัสสิ่งนั้นๆ ไม่ถึงในบางแผง บางบู๊ธ ทั้งสินค้าและวิชาการ

ในปี พ.ศ. 2562 ช่วงเวลากำหนดจัดงาน “เกษตรแฟร์ ประจำปี 2562” ในระหว่างวันที่ 25 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ภายใต้แนวคิด “เกษตรศาสตร์นำไทย นวัตกรรมก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งแต่ละครั้งของการจัดงานจะมี “แนวคิด” หรือหลายคนอาจจะให้คำเรียก คำกำจัดความนี้เป็นคำอื่นๆ เช่น นักวิชาการ บอกว่า “กระบวนทัศน์” Concept (ความคิดรวบยอด, สิ่งที่คิดขึ้น) แต่จะเรียกอะไรก็ตาม ในการจัดงานวันเกษตรแต่ละครั้ง จุดมุ่งหมายหลักก็เพื่อให้เป็นแหล่งชุมนุมวิชาการ แลกเปลี่ยน ถ่ายทอดนวัตกรรมเพื่อการเกษตรที่จะนำสู่พัฒนาการที่ยั่งยืนแก่เกษตรกร ผู้สนใจ และผู้ร่วมงานทุกคน โดยไม่จำกัดเพศ วัย วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ และสถานภาพทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการจัดงานที่กล่าวได้ว่าเป็น “ตลาดนัดงานเกษตร” ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศก็คงไม่ผิด ในทุกๆ ชื่องานเกษตรที่กล่าวมา และทุกๆ แนวคิดที่วางจุดประสงค์ไว้

ถ้าหากมีคนกล่าวว่า ที่มาของการจัด “งานทางการเกษตร” มีมาแล้วมากกว่า 109 ปี ก็คงจะมีเสียงคัดค้านว่าเขียนผิด หรือบวก ลบ คูณ หาร “ตัวเลข พ.ศ.” ผิดแน่ๆ แต่หากอ้างอิงชื่องานที่จัดขึ้นว่าสอดคล้องเชื่อมโยงกับงานวันเกษตรปัจจุบันหรือไม่ ก็ต้องลองพิจารณาแม้จะหาข้อมูลเหตุผลมากล่าวอ้างปฏิเสธก็คงไม่พอ ด้วยบันทึกที่มีไว้ว่า วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2453 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 มีการแสดงทางการเกษตรและพาณิชยการ ครั้งที่ 1 (First Annual Exhibition of Agriculture and Commerce) ณ บริเวณวังสระปทุม (บริเวณ Central World Plaza ปัจจุบัน) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดงาน ต่อมาวันที่ 3-10 เมษายน พ.ศ. 2454 มีการแสดงทางการเกษตรและพาณิชยการ ครั้งที่ 2 ณ บริเวณวังสระปทุม (เดิม) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เสด็จเป็นองค์ประธานในพระราชพิธีเปิดงาน หลังจากงานแสดงทางการเกษตร ครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง ก็หยุดจัดไป จนกระทั่ง 37 ปี ล่วงไป

ในปี พ.ศ. 2491 อาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขณะนั้น ได้รื้อฟื้นงานแสดงทางการเกษตรขึ้นอีกครั้ง และได้ปรับเปลี่ยนชื่องานเป็นชื่อใหม่ว่า “งานตลาดนัดเกษตร กลางบางเขน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-4 มกราคม พ.ศ. 2491 และการจัดงานติดต่อกันจนถึงปี พ.ศ. 2497 แล้วหยุดไป 8 ปี งานตลาดนัดเกษตรกลางบางเขน เริ่มอีกครั้ง เมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อายุครบ 20 ปี วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ได้จัดงานเกษตรอีกโดยปรับเปลี่ยนเป็น งานวันเกษตรแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดงานวันเกษตรโดย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร สถาบันการศึกษา ที่มีการเรียนการสอนทางการเกษตร ร่วมมือกันจัดเสนอผลงานวิจัยงานวิชาการ รวมทั้งการจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จากกลุ่มเกษตรกรทั่วทุกภาค และหมุนเวียนการจัดงานตามวิทยาเขตทุกภาค ทุกปี

ส่วน “งานเกษตรแฟร์” เป็นกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะเดียวกัน กับงานวันเกษตรแห่งชาติ แต่เป็นการจัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และด้วยมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ ภายในส่วนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย มีการก่อสร้างอาคาร พัฒนาพื้นที่เช่นเดียวกับส่วนพื้นที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจัดกิจกรรมงานวันเกษตร จึงไม่สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้เต็มที่ เต็มพื้นที่สะดวกนัก จึงส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการจัดตลาดนัดและจำหน่ายผลผลิต ผลิตภัณฑ์กิจกรรมการเกษตรเน้นด้านธุรกิจเกษตร โดยมีกิจกรรมวิชาการทางการเกษตรลดลงบ้าง โดยเรียกว่า “งานเกษตรแฟร์” ผู้คนที่สนใจเที่ยวงาน หรือผู้ที่เคยสัมผัสบรรยากาศของวันงานเกษตรแห่งชาติที่ผ่านมาหลายปีก่อน อาจจะเห็นความแตกต่างจากการที่มีการจัดรูปแบบงานเต็มกระบวนการ ดังงานเกษตรแห่งชาติได้ แต่ก็ยังมีความประทับใจกับคำว่า “งานเกษตร” เสมอมา

ดังนั้น เมื่อท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีความสับสน ระหว่าง “งานวันเกษตรแห่งชาติ” และ “งานเกษตรแฟร์” ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรนั้น ก็คงจะเห็นได้ว่า สำหรับในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะมีงานวันเกษตรแห่งชาติ ทุกๆ รอบ 3 ปี ด้วยวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์แก่มวลชนอย่างยิ่ง จึงได้มีการจัดงานหมุนเวียนไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ที่มีมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ สลับกับส่วนกลางโดยเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2529 เป็นต้นมา ซึ่งได้รับความสนับสนุนงบประมาณในการจัดงานจากรัฐบาลส่วนหนึ่ง

ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้ผลัดเปลี่ยนเป็นเจ้าภาพจัดงานตลอดมา ต่อมาคณะกรรมการอำนวยการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2548 มีมติให้มีการหมุนเวียนการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติไปยังมหาวิทยาลัยภาคต่างๆ ที่มีคณะเกษตร คือภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ให้เป็นวาระการจัดงานในภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และในปี พ.ศ. 2552 เป็นวาระการจัดงานในส่วนกลาง ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพฯ หมุนเวียนตามลำดับภูมิภาค เป็นเจ้าภาพจัดงาน จนถึงปัจจุบัน

สำหรับ “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์” จัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ก็มีวัตถุประสงค์หรือจุดมุ่งหมาย เนื่องในวโรกาส หรือตามโอกาสต่างๆ นั้น โดยมี “แฟนๆ” จากที่เคยสัมผัสงานเกษตรแห่งชาติ หรืองานเกษตรแฟร์ เมื่อได้ยินเพียงคำว่า “วันงานเกษตร” ก็คอยนับวันที่เข้าเที่ยวชม ชิม ช็อป แชร์ งานอยู่แล้ว ดังที่ผ่านมา เช่น ปี พ.ศ. 2558 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชวนเที่ยว “งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2558” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา และเพื่อเผยแพร่ผลการดำเนินงานของมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย รวมทั้งนำผลงานวิจัยนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มาจัดแสดงให้ประชาชนได้นำไปประยุกต์ใช้ ภายใต้แนวคิด “เกษตรอินทรีย์ วิถีพอเพียง หล่อเลี้ยงเกษตรไทย” โดยงานจัดระหว่างวันที่ 19-28 มิถุนายน 2558 บริเวณหอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กรุงเทพฯ

“งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2559” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2559 บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ภายใต้แนวคิด “แนะการทำนาแบบประณีตเป็นอาชีพยั่งยืน”

“งานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เกษตรแฟร์ ปี 2561” มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้น ณ บริเวณสำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมเกษตร ภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน” เพื่อหารายได้สมทบทุนมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ชมผลงานวิจัยนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ช็อปสินค้า “พึ่งพา” ของดี 77 จังหวัด พร้อมชิม-ชิล ไปกับอาหารแปลกตลาดดัง บก น้ำ โบราณ ในระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายน 2561

จะเห็นได้ว่า “งานวันตลาดนัดเกษตร” มีต่อเนื่องมาหลายแผ่นดิน และแต่ละกิจกรรม ทุกชื่องานก็มีจุดหมาย แนวคิด “Slogan” ที่เป็นประโยชน์สำหรับ “แฟนๆ” งานเกษตร ทุกคนที่มีโอกาสสัมผัส รวมทั้งผู้ที่อยู่บ้านเพื่อรับ “ของฝาก” จาก “นักชิมนักช็อป” สารพันสินค้า สารพัดสิ่งชอบ ดังภาพสูจิบัตรปีต่างๆ ที่เสนอไว้

เพลง เกษตรสามัคคี

มาซิมาเกษตรศาสตร์ มาตรหมายใจไมตรี ร่วมใจรักสามัคคีกันชั่วฟ้า เขียวขจีดำรงองค์พิรุณนาคา นั่นคือตราที่รักจริงยิ่งหัวใจ

เกษตร เกษตร เป็นแรงหนึ่งชูชาติไทย เกษตร เกษตร พร้อมใจรักกันไว้มั่นคง งานของเรา เราทำ เป็นผลนำดำรงให้ชาติคงอยู่ วัฒนาไปชั่วกาล เรียนและทำนำไทย ให้วิไลยืนนาน

ต่างสมานสามัคคีพี่น้องเอย…ฯลฯขอหยุดเสียงเพลงไว้ ณ ประโยคนี้ เพราะเชื่อว่า เมื่อท่านเข้าไปสัมผัสงาน “เกษตรแฟร์” ที่จัดขึ้น วันที่ 25 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ ตลอดเวลาที่ได้อยู่ในงานก็จะได้ยินเพลงนี้กระหึ่มดังไม่ขาดสาย สลับกับเพลงอื่นประจำมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เชื่อว่าทุกท่านคงจะคุ้นหูอีก เช่น เกษตรที่รัก เกษตรรักกัน เกษตรสำเริง หรือ แก้วเกษตร และที่พลาดไม่ได้ที่จะฟังแล้วต้องร้องตาม คือเพลง “รำวงเกษตร” เพียงขึ้นสร้อยเพลงก็เส้นกระตุกสนุกทั้งตัวแล้ว

“เกษตรนี้หล่อจริงๆ ผู้หญิงเขาอยากรู้จัก เกษตรนี้หล่อยิ่งนัก ถ้าใครรู้จักกินผักฟรีๆ” ส่วนเนื้อเพลงท่อนอื่นๆ ณ ยุคเกษตร 4.0 นี้ หากท่านผู้ใดอยากินอะไร นำไปแปลงเนื้อตามที่อยากจะกินบ้าง คิดว่าทางมหาวิทยาลัยคงอนุญาตจากเกษตรหล่อเลิศเหลือ-กินเนื้อฟรีๆ เกษตรหล่อน่าชม-กินนมฟรีๆ เกษตรหล่อใช่ไหม-กินไข่ฟรีๆ เกษตรหล่อนักหนา-กินปลาฟรีๆ หากจะแปลงเป็น “เกษตรน่าอยู่จริงๆ รถวิ่งบริการสุดยอด เกษตรส่งเสริม “Sport” ช่วยสุขภาพอยู่รอด แต่…ขอจอดรถฟรีๆ?

ฉบับนี้ขอเชิญชวนเที่ยวงาน “เกษตรแฟร์ 2562” จึงนำเสนอภาพโปสเตอร์สูจิบัตรวันงานเกษตรหลายๆ ปีที่ผ่านมา เพื่อได้มีโอกาสทบทวน “แนวคิด” ให้มากที่สุดที่จะนำมา “สนธิ” กับเกษตรยุค 4.0 โดย “สมาส” องค์ความรู้นำสู่การปฏิบัติต่อไป

การสำรวจพื้นที่ป่า โดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เมื่อปลายปี 2555 พบว่า พื้นที่ป่าประเทศไทย น่าจะเหลืออยู่ 171,586 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ร้อยละ 33 ของพื้นที่ที่ดินประเทศไทย

เมื่อเทียบกับเนื้อที่ป่าเมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา จะมีพื้นที่ป่าลดลงไปถึง ร้อยละ 50 ของที่เคยมีป่า ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับป่าที่อยู่ภายใต้การดูแลโดยองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2490 ซึ่งมีภารกิจหลักด้านการทำไม้ ขณะเดียวกัน ก็รับงานแปรรูปไม้ของโรงเลื่อยจักร และงานเก็บหาของป่าบางชนิด ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ขณะนั้นมาดำเนินการด้วย

อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ อ.อ.ป. ได้รับการก่อตั้งขึ้น เพราะพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยที่มีผืนป่าอุดมสมบูรณ์มากที่สุด มีแหล่งไม้สักขนาดใหญ่ ถูกสัมปทานโดยชาวต่างชาติเกือบทั้งหมด เพื่อให้การทำไม้ การค้าไม้ และการแปรรูปไม้ ได้รับการควบคุมและรักษาระดับราคาไม้ในตลาดไม่ให้ผันแปรและมีคุณภาพ โดยเฉพาะ “ไม้สัก” นอกจากนี้ การบริหารจัดการสวนป่าให้มีคุณภาพ คงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติไว้ให้มากที่สุด ยังเป็นหน้าที่ของ อ.อ.ป. ที่ต้องบริหารจัดการให้คงไว้ในรูปของสวนป่าอีกด้วย

ปัจจุบัน อ.อ.ป. ยังมีหน้าที่ปลูกสร้างสวนป่าในระบบหมู่บ้านป่าไม้ นับตั้งแต่ปี 2510 ที่ดำเนินงานมา มีพื้นที่รวม 428,590 ไร่ ปลูกไม้สัก ยูคาลิปตัส ยางพารา และไม้กระยาเลยชนิดต่างๆ กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค

อ.อ.ป. เปิดพื้นที่บางส่วนให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าพัก มีค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย และสถานที่แต่ละแห่งคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่าง “น้ำตกพระเสด็จ” เชื่อว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกแห่ง ที่เพิ่งรู้จักเป็นที่แพร่หลายภายใน 1 ปีเศษที่ผ่านมา

น้ำตกพระเสด็จ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตส่วนป่าแม่ทรายคำ สำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจลำปาง สำนักส่งเสริมและพัฒนาไม้เศรษฐกิจภาคเหนือบน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ หมู่ที่ 14 บ้านวังเงิน ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

สถานที่แห่งนี้ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2519 เวลา 12.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จประพาสสวนป่าแม่ทรายคำ ทรงสนพระทัยในกิจการปลูกสวนป่าโดยระบบหมู่บ้านป่าไม้ ในครั้งนั้นได้เสด็จฯ ไปยังน้ำตกพระเสด็จ (เดิมชื่อน้ำตกวังเงิน) ได้ประทับเสวยพระกระยาหารกลางวันและพักผ่อนสำราญพระราชอิริยาบถ และทรงประทานชื่อน้ำตกว่า “น้ำตกพระเสด็จ”

ความสวยงามและความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธารเล็กๆ แห่งนี้ สร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้พบเห็นได้ไม่น้อย แม้ว่าการเดินทางจะไม่ราบเรียบตลอดเส้นทางที่เพิ่งเปิดใหม่ก็ตาม เพราะจากถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ผ่านสวนป่าแม่ทรายคำ เข้าไปราว 4-5 กิโลเมตร มีป้ายบอกทางไว้ไม่ละเอียดนัก การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในครั้งนั้น ต้องผนวกการคาดเดาด้วย เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางให้ไปถึงจุดหมาย และต้องเดินเท้าต่ออีกระยะพอเหนื่อย

น้ำตกพระเสด็จ มีแอ่งขนาดใหญ่ถึง 4 ชั้น และมีแอ่งน้ำตกที่ลดหลั่นลงมาอีกกว่า 20 แอ่ง แต่ละชั้นถูกสร้างสรรค์ด้วยมือของธรรมชาติ ละเลียดหินปูนจนย้อยลงมาพร้อมกับสายน้ำ ความเย็นของสายน้ำเปรียบได้กับน้ำแข็งที่ละลายไหลลงเป็นสาย

องค์การบริหารส่วนตำบลนิคมพัฒนา ระบุว่า เส้นทางการเดินสำรวจน้ำตกวัดระยะทางที่แน่ชัดไม่ได้ แต่ประมาณว่าระยะทางการไหลของน้ำไม่ต่ำกว่า 2 กิโลเมตร ชั้นบนสุดเป็นตาน้ำที่ผุดออกจากหน้าผา และชั้นสุดท้ายเป็นผาน้ำตก สูงประมาณ 10 เมตร

ความประทับใจในส่วนลึกที่สุดของผู้มาเยือนน้ำตกพระเสด็จแห่งนี้ คือ สีเขียวใสของน้ำที่มองทะลุถึงพื้นดินใต้แอ่ง เมื่อตกกระทบกับแสงอาทิตย์ ยิ่งสะท้อนให้เห็นเป็นสีมรกต ไม่ง่ายนักที่จะพบเห็นได้ในน้ำตกทั่วไป แต่ที่น้ำตกพระเสด็จแห่งนี้ มี…เสมือนความงามที่ซ่อนอยู่ หากไม่ค้นหา อาจไม่พบ