ระดับอาชีวศึกษา รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ อาหาร ได้แก่

อุปกรณ์กดเส้นอเนกประสงค์ จากวิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด:: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เกษตร ได้แก่ ผลงาน เครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือกระบบชีวมวลและเซลล์แสงอาทิตย์ จากวิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์กลุ่มสาธารณสุข ได้แก่ เสาน้ำเกลือผู้ป่วยระยะพักฟื้น 3 in 1 จากวิทยาลัยเทคนิคระนอง :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เครื่องมืออัจฉริยะ ระบบเครื่องกลฯ ได้แก่ ชุดจุดตรวจและสกัดกั้นออนไลน์เพื่อความมั่นคง วิทยาลัยเทคนิคบึงกาฬ :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ กลุ่มสร้างสรรค์วัฒนธรรมฯ ผลงานเครื่องย้อมสีเส้นไหมและฝ้ายแบบใช้หม้อต้มประหยัดพลังงาน วิทยาลัยสารพัดช่างอุบลราชธานี :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ได้แก่ ทุ่นผลิตพลังงานไฟฟ้าจากคลื่นทะเลสำหรับอนุรักษ์แนวปะการัง จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี

ระดับอุมศึกษา รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อความมั่นคง ได้แก่ผลงานเรื่อง ชุดตรวจจีโนไทป์ของหมู่เลือดเอบีโอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ::รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เพื่อการเกษตร ได้แก่ผลงานเรื่อง เอนไซม์โปติเอสลูกผสมที่มีคุณสมบัติทนต่ออุณหภูมิสูงจากแบคทีเรีย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์ เพื่อพลังงานฯ ได้แก่ผลงาน เชื้อเพลิงดีโซฮอลล์ที่เติมส่วนกลั่นกรดไขปาล์มเป็นสารอิมัลซิไฟเอร์และส่วนผสมดีเซล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ฯ ได้แก่ ผลงานการพัฒนาพาหนะขนาดจิ๋วสำหรับใช้งานในเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ :: รางวัลชนะเลิศกลุ่มสิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย ได้แก่ผลงาน รถสามล้อไฟฟ้าตัดหญ้าสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม

ปิดท้ายที่ผลงานนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋วที่ถือว่าเป็นกลุ่มนักประดิษฐ์ที่อายุน้อยที่สุดของงานในปีนี้เลยก็ว่าได้ โดยนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋วแต่แจ๋วในปีนี้คือ คณะนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนพระหฤทัยคอนแวนต์ ซึ่งเด็กๆได้นำ งอบติดแอร์ อันเป็นผลงานจากการคิดสร้างสรรค์มาโชว์ในปีนี้อีกด้วย

การประกาศรางวัลในวันนี้ สร้างนักประดิษฐ์ฝีมือเอกที่เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การประกาศผล ประกวดสิ่งประดิษฐ์ประจำปี 2561 ในวันนี้เป็นเพียงหนึ่งความสำเร็จของก้าวแรกเท่านั้น แววตาแห่งความมุ่งมั่นของทีมนักประดิษฐ์คิดค้นทุกคนที่มาร่วมงาน ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังที่พร้อมจะขับเคลื่อนความคิด ในการสร้างสรรค์ผลงานต่อไปด้วยเพราะตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมแสดงผลงาน ได้รับความสนใจจากผู้มาเยี่ยมชมงานอย่างไม่ขาดสาย คำชมเชย การตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นอย่างใส่ใจตลอดทั้ง 5 วันที่ผ่านมา เป็นการเติมพลังให้นักคิดนักประดิษฐ์เหล่านี้ได้เป็นอย่างดี สำนักงานคณะกรรมการวิชัยแห่งชาติ พร้อมที่จะเปิดเวทีให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ได้เป็นต้นกล้าทางความคิดในการสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์ที่ทรงคุณค่าเพื่อการพัฒนาความก้าวหน้าของประเทศต่อไป

บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่ง ของนักประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลดังนี้

ผลงาน “การพัฒนารูปแบบอักษรเบรลล์ภาษาไทยและภาษาอังกฤษด้วยโปรแกรม Font Forge” รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ และผู้ด้อยโอกาส ระดับมัธยมศึกษา เป็นผลงานของเยาวชนคนเก่งจาก โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดชลบุรี นายพันธุ์ชัช ศิริวัน และ นายสถาพร จิรธรรมกุล นักเรียนชั้นม.5 ที่ได้นำกล่าวถึงที่มาในการคิดค้นและพัฒนาแนวคิดนี้ว่า ที่ผ่านมาตนและเพื่อนได้ไปแข่งขันในรายการหนึ่งเกี่ยวกับการคิดค้นโปรแกรมพัฒนาอักษาเบรลล์ และมีความคิดว่าอยากจะต่อยอดแนวความคิดนี้ เพื่อให้ผู้ที่มีความพิการทางสายตาได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับคนทั่วไป อันเป็นการลดความเลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อีกด้วย ดังนั้นจึงได้คิดค้นโปรแกรม Font Forge ขึ้นมาโดยใช้เวลาในการคิดค้นอยู่ประมาณ 4 เดือนเต็มกว่าที่จะได้ผลงานชิ้นนี้ออกมา

“ก่อนที่จะคิดโปรแกรมนี้ขึ้นมา ผมและเพื่อนได้ไปศึกษาและรับรู้ปัญหาของเด็กที่มีความพิการทางสายตาที่โรงเรียนในเมืองพัทยา และก็ทำให้ได้รู้ว่าเด็กเหล่านี้มีปัญหาในเรื่องของการเข้าถึงวรรณยุกต์ และสระ เพราะอักษรเบรลล์ ทั่วไปจะเขียนสระกับวรรณยุกต์รวมกันไป เช่นคำว่าเรียน อักษรเบรลล์ทั่วไปจะใช้ว่า ร-เอีย-น แต่สำหรับโปรแกรมของเราเมื่อเราพิมพ์คำว่า “เรียน” ในคอมพิวเตอร์โดยใช้ฟร้อนท์นี้ ก็จะปรากฎอักษรทีละตัวในการสะกด เป็น เ-ร-เอีย-น เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ก็จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตาได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆผ่านอักษรเบรลล์ได้มากขึ้น”

ผลงาน “กระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ” เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์รับรางวัลชนะเลิศ สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคมและภูมิปัญญาไทย เป็นผลงานของ เด็กหญิงจ้าวไหม ตั้งศิริพัฒน์ เด็กหญิงสุพิชญาณ์ เหมรัญช์โรจน์ และ เด็กหญิงกุลณัฏฐ์ โตวิกกัย นักเรียนชั้นมัธยศึกษาชั้นปีที่1 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกถึงที่มาในการคิดค้นชุดกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ ว่า เพราะตัวเองและเพื่อนๆเป็นนักกีฬาว่ายน้ำของโรงเรียน และบางครั้งก็เห็นเพื่อนนักกีฬาด้วยกันได้รับบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา และถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นอย่างถูกวิธี อาจจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่รุนแรงได้ ดังนั้นจึงได้ร่วมกันทำกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะขึ้นมาด้วยงบประมาณหนึ่งแสนบาท

“ภายในกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ กระเป๋า,รถเข็น และ เปลสนาม ซึ่งภายในกระเป๋าก็แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ อุปกรณ์ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ประกอบด้วย แอลกอฮอลล์ เบลตาดีน สำลี เป็นต้น และอุปกรณ์ปฐมพยาบาลกู้ชีพ ประกอบด้วย อุปกรณ์การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ AED เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า และเครื่อง CPR ใช้สำหรับผู้ที่เป็นลมหมดสติ แต่ถ้าปฐมพยาบาลแล้วยังไม่ดีขึ้น เราก็มี ESI EMERGENCY CALL เพื่อสำหรับกดปุ่มเรียกหน่วยพยาบาลที่อยู่ในระยะใกล้เคียง เพื่อมารับตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ถัดมาคือรถเข็นผู้ป่วยซึ่งสามารถพับเก็บเป็นกระเป๋าเดินทางล้อลากได้ สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 120 กิโลกรัม และเปลสนามก็เช่นเดียวกันสามารถรองรับน้ำหนักได้มากถึง 120 กิโลกรัมอีกหนึ่งความพิเศษของกระเป๋าปฐมพยาบาลอัจฉริยะ นั้นสามารถพับเก็บได้ไปได้ทุกที่ด้วยน้ำหนักที่เบาสบายเพียง 6-7 กิโลกรัมเท่านั้น”

ผลงาน รถสามล้อไฟฟ้าตัดหญ้าสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้รับรางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์รุ่นใหม่ ระดับอุดมศึกษา ปีนี้เป็นผลงานของนักศึกษาจาก วิทยาลัยธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม ซึ่งได้ร่วมกันคิดค้น โดย นายคุณัชญ์ รักน้ำเที่ยง แนวคิดในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ว่า ในสังคมปัจจุบันนี้มีคนพิการและผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งผู้สูงอายุและผู้ทุพพลภาพเหล่านั้น บางคนสามารถหาเลี้ยงชีพได้ บางคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เนื่องจากขาดอุปกรณ์เสริมในการใช้ชีวิต

ดังนั้นทีมงานทุกคนจึงได้ดัดแปลงรถจักรยาน เพื่อเป็นสามล้อไฟฟ้าและสามารถใช้ในการตัดหญ้าในพื้นที่ต่างๆ สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุเพื่อช่วยคนในครอบครัวและยังเป็นการออกกำลังกายไปในตัว“เราได้นำรถจักรยานของผู้พิการมาดัดแปลงด้วยการเอาคันโยกออก และใส่มอเตอร์ไฟฟ้าของรถจักรยานญี่ปุ่นเข้าไปแทนที่ ส่วนที่ตัดหญ้านั้นเราได้ใส่ไว้ด้านใต้ท้องจักรยานโดยติดตั้งแบตเตอรี่ไว้ด้านหลัง เมื่อเปิดปุ่มใช้งานจักรยานไฟฟ้าแล้ว ถ้าหากต้องการตัดหญ้าด้วยก็กดปุ่มที่อยู่ด้านซ้ายมือ และเมื่อเลิกใช้ก็กดปุ่มเดิม จากการทดสอบวิ่งทางตรงบนถนนที่ไม่มีการตัดหญ้า รถสามารถวิ่งได้ 20-25 กม ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ถ้ารถทำการตัดหญ้า ก็จะวิ่งได้ประมาณ 20-25 กม.” คุณัชญ์ อธิบาย

นอกจากนี้คุณัชญ์ ยังกล่าวต่ออีกว่า พวกเขารู้สึกภาคภูมิใจกับผลงานที่คิดค้นขึ้นมา เพราะสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้นอกจากจะเป็นอุปกรณ์เสริมที่ทำให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการได้ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตแล้ว หากแต่อุปกรณ์เหล่านี้ยังทำให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความภาคภูมิใจในตนเองที่ยังสามารถช่วยเหลือสังคมได้ตามกำลังที่มีอยู่

ผลงาน “การพัฒนาพาหนะขนาดจิ๋วสำหรับใช้งานในเมือง” ส่วนผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านสิ่งประดิษฐ์เพื่อการแพทย์และสาธารณสุข ปีนี้เป็นผลของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ภาคเครื่องกล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย เมธัส น้ำผุด และ อัศวพล สินทรัพย์ 2 นักศึกษาคนเก่ง ได้ร่วมกันเล่าถึงที่มาของสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้รู้สึกหดหู่ เพราะไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก ดังนั้นเราจึงคิดรถจักรยานไฟฟ้าในรูปแบบกระเป๋าเดินทางสำหรับลากจูง ขึ้นมาเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ในการเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวกโดยเฉพาะในเมือง

“เราได้ออกแบบมาจากต้นแบบอันเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่เราได้พัฒนาให้มีความพิเศษมากขึ้น โดยเราได้ออกแบบจักรยานที่มีขนาดเล็กสามารถพับเก็บได้ โดยใช้การทำงานด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งจักรยานมีขนาดเล็กสามารถขับไปได้ทุกที่แม้แต่ในที่คับแคบก็สามารถขับเข้าไปได้ อีกทั้งยังสามารถพับเก็บใส่หลังรถเพื่อพาผู้สูงอายุไปขับเล่นในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆก็ได้ จะได้ทำให้พวกผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง จิตใจที่แจ่มใส ซึ่งรถจักรยานไฟฟ้าสามารถรองรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 120 กิโลกรัม และสามารถขับได้ในระยะสูงสุดถึง 20 กิโลเมตร”

ผลงาน “งอบติดแอร์” อันเป็นผลงานจากการคิดสร้างสรรค์มาโชว์ในปีนี้

น้องดาด้า-เด็กหญิงณภัทร สาตราร้าย และ น้องสมายด์-เด็กหญิงวรัชญา อินทร์ตรี อายุ 7 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หนึ่งในทีมนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์อายุน้อยที่สุดในงานปีนี้ ร่วมกันเล่าถึงที่มาในการประดิษฐ์งอบติดแอร์ให้ฟังด้วยน้ำเสียงสดใสว่า ทุกครั้งที่รับประทานข้าวที่โรงเรียนคุณครูมักบอกว่าต้องรับประทานข้าวให้หมดเพราะสงสารชาวนา อีกทั้งเห็นเพื่อนบ้านที่มีอาชีพทำนาเขาต้องตากแดดทำนา ดังนั้นจึงรู้สึกสงสารชาวนาที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ จึงคิดหาวิธีช่วยเหลือ และการทำงอบติดแอร์ จึงเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยคลายความร้อนให้ชาวนาไทยได้บ้าง

“พวกหนูสั่งซื้องอบทางอินเตอร์เน็ตจากนั้นก็นำงอบมาเจาะรูที่ด้านบน และนำพัดลมคอมพิวเตอร์เก่าๆมาใส่ในงอบ จากนั้นก็นำสาย USB เก่าที่ไม่ได้ใช้มาเชื่อมกับคอมพิวเตอร์ และนำรังงอบมาติดกับกระหม่อมงอบด้วยลวดกำมะหยี่สานให้เป็นตะแกรงเพื่อให้วางเจลเย็นได้ แล้วนำสายรัดยางยืดมาติดเพื่อเป็นตัวล็อกเครื่องสำรองไฟ หรือ พาวเวอร์แบงค์ และจากนั้นก็ใช้สาย USB เชื่อมกับเครื่องสำรองไฟเพียงเท่านี้พัดลมก็ทำงานได้แล้ว” สองเด็กหญิงร่วมกันอธิบายอย่างคล่องแคล่ว

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การชิงเผาต้นหญ้าในพื้นที่ไร่นาและเทือกสวนก่อนที่จะมีการประกาศห้ามอย่างจริงในห้วงระยะเวลา 60 วันห้ามเผา ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายเร่งทำการเผากันอย่างหนัก และส่วนหนึ่งได้สร้างปัญหาเกิดไฟลุกลามไปยังพื้นที่ข้างเสียงโดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะที่ไม่มีหน่วยงานใดควบคุมดูแล

โดยล่าสุดพบว่าได้เกิดไฟไหม้ป่าข้างทางริมถนนสายเชียงราย-เชียงใหม่ ช่วงบริเวณบ้านห้วยส้าน ตำบลป่าก่อดำ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เป็นระยะทางยาวกว่า 100 เมตร โดยไฟได้โหมไหม้อย่างหนักเนื่องจากเป็นพงหญ้าขนาดใหญ่ที่ไม่มีการตัดและลุกลามเป็นบริเวณกว้าง

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นยังไม่ได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการเนื่องจากช่วงจุดเกิดเหตุเป็นเสาไฟฟ้าแรงสูงทำให้ไฟลุกไหม้ไม่ถึง อย่างไรก็ตามได้ส่งผลกระทบต่อยานพาหนะที่สัญจรไปมาเนื่องจากมีควันไฟบางส่วนปลิวไปบนถนนทำให้ผู้ขับขี่ต้องเพิ่มความระมัดระวังและมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

สำหรับสาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากการจุดไฟเผาไร่ซึ่งอยู่ในสันเขาข้างเคียงเพราะมีร่องรอยการถุกเผาไหม้ไปก่อนแล้ว แต่ไม่มีการเฝ้าหรือทำแนวกันไฟไว้ก่อนทำให้ไฟลุกลามมาใหม้ดังกล่าว แม้ว่าทางภาครัฐจะมีการติดตั้งป้ายขอความร่วมมือหยุดเผาตลอดเส้นทางก็ตาม แต่ช่วงนี้ยังไม่มีกฎหมายบังคับทำให้ยังคงมีการเผากันอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)เดินหน้าขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ จัดหลักสูตรอบรมโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกรหนุนตัวแทนองค์กรเกษตรกรพัฒนาทักษะการเรียนรู้ สร้างพลังร่วมขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ทั่วประเทศ โดยเวทีแรกจัดที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง ในระหว่างวันที่ 9-11 กุมภาพันธ์ 2561

นายสมยศ ภิราญคำ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่าสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) และมูลนิธิสัมมาชีพ (มสช.) ร่วมจัดทำหลักสูตรอบรมโครงการอบรมพัฒนาศักยภาพของผู้นำองค์กรเกษตรกรเพื่อให้ผู้ที่เข้าอบรมมีความรู ความเข้าใจ ในด้านการจัดการวิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ การวางแผนการผลิต แผนธุรกิจ โดยนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกในองค์กรและชุมชนได้ เกิดการพึ่งพาตนเองได้

ที่มาของการจัดอบรมในครั้งนี้ เกิดจากการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง กฟก. กับ มสช. ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาส่งเสริมการฝึกอบรมทางด้านวิชาการ ถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร องค์กรเกษตรกร และพนักงานของกองทุนฟื้นฟูฯ สร้างโอกาสการเรียนรู้การจัดการวิสาหกิจชุมชน การทำเกษตรอินทรีย์ การวางแผนการผลิต แผนธุรกิจ แผนการตลาด และมาตรฐานการผลิต เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างครบวงจรและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“วัฒถุประสงค์หลักนั้น ต้องการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำของเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเกษตรและเศรษฐกิจในยุคสมัยปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand 4.0 เปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบธรรมดา ให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming เกิดความสมดุลในการผลิต การซื้อขาย การแปรรูปตามความต้องการของตลาด เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้ด้านการจัดการวิสาหกิจชุมชน

และให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์การอบรมในครั้งนี้เป็นการอบรมผู้นำหรือตัวแทนองค์กร 77 จังหวัด จำนวน 14 รุ่น รวม 2,700 คนโดยครั้งแรกนี้จัดอบรมในพื้นที่ภาคเหนือ ณ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมโครงการ 193 คน มีความคาดหวังว่าผู้ที่อบรมไปแล้วสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปลงมือปฏิบัติได้จริง และนำไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกคนอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำไปต่อยอดความรู้ด้านต่าง ๆ ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ พัฒนาองค์กรเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิกสามารถเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ยืนหยัดได้บนลำแข้งของตนเอง มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเลี้ยงดูครอบครัวสมาชิกภายในองค์กรได้” นายสมยศกล่าว.

นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงาน เพื่อเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานนโยบายสำคัญของ กระทรวงฯ (Agenda Based) และแก้ไขปัญหาภาคเกษตรในพื้นที่ส่วนภูมิภาค (Area Based) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation) มีเกษตรจังหวัดเป็นหัวหน้าทีม และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอ (Operation Team) มีเกษตรอำเภอ ทั้งหมดจะเป็น “ทีมเกษตรและสหกรณ์” ในพื้นที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตรในระดับจังหวัด เกิดการ บูรณาการของทุกภาคส่วน โดยจะต้องให้สามารถแก้ไขปัญหาในพื้นที่การเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เกษตรจังหวัดและเกษตรอำเภอ และทีมงานทั้งหมดมีความพร้อม เพราะถือเป็นภารกิจที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ยึดหลัก ต่อ-เติม-แต่ง ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งนโยบายสำคัญ ทั้ง 15 เรื่องได้แก่ 1. ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ 2. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 3. พัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer โดย กรมส่งเสริมการเกษตร 4. บริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-map) โดย ผู้แทนกรมพัฒนาที่ดิน5. พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน (GAP)

โดย สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ 6. เกษตรอินทรีย์ โดย กรมวิชาการเกษตร 7. ตลาดสินค้าเกษตร โดย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 8. การส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ โดย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 9. แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร โดย กรมการข้าว 10. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดย กรมชลประทาน 11. การส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้าและการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรทดแทนแรงงาน 12. ธนาคารสินค้าเกษตร 13. การพัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ 14. การช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ 15. การจัดระเบียบประมงให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดยกรมประมง นโยบายสำคัญทั้งหมด ทีมเกษตรฯ จะต้องทำความเข้าใจจากเจ้าของโครงการโดยตรง เพราะจะทำให้สามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างตรงเป้าหมาย รวมทั้งการประสานการทำงานอย่างเป็นระบบ และมีการติดตามผลทุกระยะ เพื่อให้นโยบายและการแก้ไขปัญหาการเกษตรในพื้นที่ ตรงถึงเกษตรกรมากที่สุด

นับเป็นครั้งแรกของสหพันธ์สภากาชาดฯ ในการเป็นพันธมิตรในระดับภูมิภาคเพื่อร่วมระดมทุนบริจาคกับบริษัทผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสมาร์ทโฟน
ลูกค้าแกร็บสามารถแลกคะแนนแกร็บรีวอร์ดสเพื่อร่วมบริจาคแก่สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC)
ภายหลังการเป็นพันธมิตรก่อนหน้านี้ในปี 2559 ทั้งแกร็บและสหพันธ์สภากาชาดฯ ยังคงมุ่งหน้าหานวัตกรรมและวิถีทางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเหตุฉุกเฉิน

กรุงเทพฯ 6 กุมภาพันธ์ 2561 – แกร็บ บริษัทด้านเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศที่มีเครือข่ายงานด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประกาศความร่วมมือในการระดมทุนต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือรวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ โดยผู้ใช้แกร็บสามารถแลกคะแนนสะสมจากการเดินทางภายใต้แกร็บรีวอร์ดสเพื่อบริจาคให้แก่สหพันธ์สภากาชาดฯ นับเป็นความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของแกร็บกับสหพันธ์สภากาชาดในการมุ่งหน้าหานวัตกรรมและวิถีทางในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเหตุฉุกเฉินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายหลังความร่วมมือก่อนหน้านี้ในปี 2559

“ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติเนื่องจากลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ในขณะที่ประชากรส่วนมากยังมีความยากลำบากในการเข้าถึงอาหาร น้ำ บริการด้านสาธารณสุข หรือปัจจัยอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การทำงานร่วมกับสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในภัยพิบัติหรือความเดือดร้อนอื่นๆ

เป็นพันธกิจของเราในการขับเคลื่อนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปข้างหน้า เราต้องการยืนหยัดเคียงข้างสหพันธ์สภากาชาดฯ ในการสู้กับภัยพิบัติรวมถึงช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ แกร็บรีวอร์ดส ช่วยให้การบริจาคง่ายขึ้น เพียงแค่เข้าไปในแอพพลิเคชั่นแกร็บในมือถือ โดยนอกจากลูกค้าของเราจะได้นำคะแนนที่ได้จากการเดินทางไปแลกเป็นของรางวัลมากมายแล้ว ยังสามารถร่วมช่วยเหลือผู้อื่นเพียงแค่ใช้บริการแกร็บอีกด้วย” นายเจสัน ทอมป์สัน กรรมการผู้จัดการ แกร็บเพย์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 เป็นต้นไป ผู้ใช้แกร็บในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม สามารถเข้าไปที่แคตตาล็อกแกร็บรีวอร์ดสจากแอพพลิเคชั่นแกร็บ เพื่อเปลี่ยนคะแนนสะสมแกร็บรีวอร์ดสเป็นเงินบริจาค โดย ลูกค้าแกร็บในประเทศไทยที่ต้องการร่วมบริจาคสามารถเริ่มต้นบริจาคที่ 25 บาทต่อการแลกคะแนนแกร็บรีวอร์ดส 440 คะแนน

นายปิแอร์ เครเมอร์ หัวหน้าแผนกพันธมิตร สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า “การที่แกร็บเป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่เติบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีเครือข่ายทั่วภูมิภาค ทำให้แกร็บเป็นพันธมิตรที่เหมาะสมที่จะทำงานร่วมกับสหพันธ์สภากาชาด โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่เราร่วมงานแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนเพื่อระดมทุน

นับว่าแกร็บและสหพันธ์สภากาชาดฯ มีพันธกิจร่วมกันในการขยายการเชื่อมโยงผู้คนรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างชุมชน เมืองและประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศและอาสาสมัครที่ช่วยเหลือชุมชนที่ด้อยโอกาสทั่วโลกยึดถือ เรารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างยิ่งในการทำงานร่วมกับแกร็บเพื่อค้นหาวิธีใหม่ๆ ในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและแสดงออกถึงพลังจากการร่วมมือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ทั้งนี้ สหพันธ์สภากาชาดฯ จะทำงานร่วมกับสภากาชาดไทยหรือสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศในแต่ละประเทศ ในการนำยอดบริจาคไปสนับสนุนการช่วยเหลือการทำงานด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการลดความเสี่ยงในภัยพิบัติ การบำบัดน้ำเพื่อความปลอดภัย การเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งรวมถึงภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม พายุไซโคลน ไต้ฝุ่น หรือการระบาดของโรค สนับสนุนการบริจาคเลือด และสนับสนุนรวมถึงปกป้องกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเช่นเด็กและผู้อพยพ

ที่ผ่านมา แกร็บและสหพันธ์สภากาชาดฯ เคยทำงานร่วมกันมาก่อน โดยในปี พ.ศ.2559 แกร็บและสหพันธ์สภากาชาดฯ ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อทำงานร่วมกันในการพัฒนาความปลอดภัยบนท้องถนน ให้ความช่วยเหลือในเหตุฉุกเฉิน และจัดการอบรมพาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บทั่วภูมิภาคในการกู้ชีพเบื้องต้นและความปลอดภัยบนท้องถนน การอบรมดังกล่าวช่วยเพิ่มศักยภาพแก่พาร์ทเนอร์ผู้ขับขี่แกร็บในการเป็นกำลังสำคัญในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและเหตุฉุกเฉินเมื่อเกิดเหตุขึ้น

เกี่ยวกับ แกร็บ

แกร็บ (Grab) คือผู้นำแพลตฟอร์มด้านการขนส่งแบบออนดีมานด์และการชำระเงินผ่านมือถือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความท้าทายของเราคือการแก้ปัญหาด้านระบบขนส่งและทำให้คนทั้ง 620 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสะดวกสบายในการเดินทางอย่างแท้จริง แกร็บถือเป็นผู้บุกเบิกในการมอบทางเลือกการเดินทางที่มีความรวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้ให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมถึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถืออย่างแกร็บเพย์ ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงระบบการชำระเงินและการเงินการธนาคารในรูปแบบออนไลน์ให้ผู้โดยสารและผู้ขับขี่หลายล้านคนในภูมิภาค ในปัจจุบัน แกร็บให้บริการใน 8 ประเทศได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม พม่าและกัมพูชา สามารถอ่านและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม

เกี่ยวกับ สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ

สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ เป็นเครือข่ายการทำงานด้านมนุษยธรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทำงานร่วมกับสภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดง 190 แห่งทั่วโลก ยึดหลักการกาชาด 7 ประการคือ มนุษยธรรม ความไม่ลำเอียง ความเป็นกลาง ความเป็นอิสระ บริการอาสาสมัคร ความเป็นเอกภาพและความเป็นสากล สิ่งที่สหพันธ์กาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนระหว่างประเทศมุ่งเน้นคือ การบรรเทาทุกข์ที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ การจัดหาที่พัก ความเป็นอยู่ สาธารณสุข น้ำ การส่งเสริมการสุขาภิบาลอาหารและสุขอนามัย การปกป้องและช่วยเหลือโดยไม่เลือกปฏิบัติ สามารถอ่านและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ifrc.org

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถ่ายภาพร่วมกับคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่สหกรณ์การเกษตรมะขาม จำกัด จังหวัดจันทบุรี ในโอกาสนำคณะรัฐมนตรีประชุมครม.สัญจร และเยี่ยมชมการดำเนินธุรกิจผลไม้ครบวงจรของสหกรณ์ เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมจังหวัดจันทบุรีสู่การเป็นมหานครแห่งผล ไม้โลก โดยมีนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นางศศิธร วิเศษ สหกรณ์จังหวัดจันทบุรี และนายวุฒิศักดิ์ สงเคราะห์ ประธานสหกรณ์ ร่วมให้การต้อนรับ

เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าเป็นต้นมา เกิดหมอกหนาปกคลุมทั่วท้องฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในระยะนี้ อันเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน

ต่อมาเวลา 8.00 น.วันเดียวกัน กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่นละออง หรือค่าพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระบุว่าปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ระหว่าง 69-94 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินเกณฑ์มาตรฐาน ที่กำหนดไว้เพียง 50 มคก./ลบ.ม. ใน 5 สถานี ได้แก่ บริเวณเขตบางนา เขตวังทองหลาง ริมถนนอินทรพิทักษ์ ริมถนนพระราม 4 และริมถนนลาดพร้าว โดยปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้น 1-3 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ความชื้นร้อยละ 88 ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ฝุ่นละอองในบรรยากาศสะสมเพิ่มขึ้นได้

ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด หากจำเป็นต้องออกจากอาคาร ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย และหากมีอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ รวมทั้งขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยเฉพาะการใช้ยานพาหนะ การเผา และการก่อสร้าง เพื่อที่จะช่วยลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ลงได้

ที่ประชุมศาลาวัดคลองเจริญธรรมาวาส บ้านบุญทัน ตำบลบุญทัน อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นประธานการประชุมขับเคลื่อนมาตรการแก้ไขปัญหาสารเคมีปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม พร้อมมอบนโยบายและทิศทางการลด ละ เลิก การใช้สารเคมี วัตถุประสงค์เพื่อคืนข้อมูลให้กับกลุ่มผู้นำด้านสุขภาพของตำบลบุญทัน ให้ทราบสถานการณ์ของการปนเปื้อนสารเคมีการเกษตร และพิษภัยจากสารเคมี รู้จักวิธีป้องกันตนให้ปลอดภัย รวมทั้งหามาตรการ แนวทาง ให้ประชาชน ลด ละ เลิก การใช้สารเคมีภาคเกษตรอย่างมีส่วนร่วม และส่งเสริมขับเคลื่อนขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ใน ตำบลบุญทัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพของประชาชน และสิ่งแวดล้อม