ระยองเตรียมยกระดับคุณภาพผลไม้ ตั้งจุดจับปรับทุเรียนอ่อน

คัดของดีเข้ากล่องขายผ่าน 45 สวน วันที่ 20 มีนาคม ที่ห้องประชุมสหกรณ์จังหวัดระยอง ศาลากลางจังหวัดระยอง ตำบลเนินพระ อำเภอเมืองระยอง นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ประธานคณะทำงานยกระดับคุณภาพผลไม้ จังหวัดระยอง เป็นประธานการประชุม โดยมีคณะทำงานทั้ง 5 คณะเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายไชยา บุญญานุภาพ สหกรณ์จังหวัดระยอง เลขานุการคณะทำงาน นายวิทยา ชพานนท์ นายอำเภอแกลง นายทรงธรรม ชำนาญ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายวิทยากล่าวว่า กรณีคณะทำงานเสนอแผนตรวจจับปรับ ผู้ค้าทุเรียนอ่อน กำหนดเอาผิดถึงเจ้าของสวนทุเรียนที่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจให้มีการตัดทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาดนั้น เรื่องนี้ต้องเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้นำท้องถิ่น มาลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) สกัดทุเรียนอ่อนโดยมีการบูรณาการร่วมกันทั้งตำรวจ ทหาร ท้องถิ่น เจ้าหน้าที่เกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งจุดตรวจทุเรียนอ่อน ตลอด 24 ชม.จำนวน 3 จุด ในพื้นที่ อำเภอแกลง

ด้านนายไชยากล่าวว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบแผนขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพผลไม้ จังหวัดระยอง อาทิ การคัดผลไม้คุณภาพบรรจุกล่องติดสติ๊กเกอร์ Brand ระยอง จำหน่ายผ่านสวนผลไม้ท่องเที่ยวเชิงเกษตรรวม 45 สวน รวมทั้งจำหน่ายตรงแก่ผู้บริโภค ในส่วนราชการและโรงงานอุตสาหกรรมในต่างจังหวัด โดยผ่านเครือข่ายของสหกรณ์ทั่วประเทศ ผ่านบริษัท ประชารัฐสามัคคี พร้อมประชาสัมพันธ์การยกระดับคุณภาพผลไม้จังหวัดระยองผ่านสื่อต่างๆ ทุกช่องทาง รวมทั้งแอrพลิเคชั่นบนมือถือและทางไลน์ เพื่อสร้างความพึงพอใจและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค คนทำดี มีรวย คนทำห่วย ติดคุก

วันที่ 20 มีนาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านไร่กลาง หมู่ 14 ต.บางระกำ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ชาวบ้าน อ.บางระกำ ได้ร่วมกันจัดงานการแข่งขันรถไถนาทางเลน ครั้งที่ 4 ขึ้น ชิงเงินรางวัลกว่า 20,000 บาท เพื่อเป็นการสร้างความสามัคคี พร้อมทั้งเพื่อเป็นการหารายได้ในการพัฒนาหมู่บ้าน โดยมีนายมนต์ชัย วิวัฒนธนาฒน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก มาเป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ซึ่งในการแข่งขันได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทรุ่นแสตนดาร์ด 125 แรงม้า และ รุ่นโอเพ่น 140 แรงม้า โดยในวันนี้มีชาวบ้านจาก อ.พรหมพิราม อ.บางระกำ อ.เมืองพิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียงมาร่วมแข่งขันกว่า 30 ทีม

นายวิบูลย์ ตั้งเกษมวิบูลย์ นายกเทศมนตรีบางระกำเมืองใหม่ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.บางระกำ มีราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และเกือบทุกครัวเรือนจะมีรถไถนาเดินตาม ซึ่งเป็นรถที่เกษตรกรใช้เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เมื่อเกษตรกรว่างเว้นจากฤดูทำนา จึงได้คิดหากิจกรรมมาร่วมสนุกกัน หวังช่วยให้ผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวของเกษตรกร และสร้างแรงจูงใจให้เกษตรรกรได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ห่างไกลจากสิ่งเสพติด จึงได้จัดกิจกรรมพื้นบ้านโยนำรถไถนาเดินตาม หรือที่ชาวบ้านเรียกอีโก้ง มาจัดแข่งขันสร้างความสนุกสนานและคลายเครียดให้แก่เกษตรกร

วันที่ 20 มีนาคม 2560 ตรวจสอบสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ จ.ชัยนาท ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรนับแสนไร่ที่จำต้องทิ้งร้าง ขณะที่ระดับน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา ต.บางหลวง อ.สรรพยา เองก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าจุดมาตรฐานกักเก็บ 15 เมตร โดยวันนี้วัดได้ 14.84 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่ระดับน้ำท้ายเขื่อนเองวัดได้ 5.65 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำมากจนสามารถมองเห็นท้องแม่น้ำและสันดอนทรายที่โผล่ขึ้นเป็นจุดๆ ตลอดความยาวของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านหลายจังหวัดภาคกลาง โดยเขื่อนเจ้าพระยายังคงระบายน้ำคงที่ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็ม

ด้านนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผวจ.ชัยนาท ได้พูดคุยกับหัวหน้าส่วนราชการในการหารือแบบสภากาแฟนัดล่าสุดว่า ขอให้ทุกหน่วยงานช่วยกันทำความเข้าใจกับเกษตรกร ในการขอให้งดการทำนารอบที่ 3 อย่างเด็ดขาด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำและการแก้ปัญหาราคาข้าวเป็นไปตามแผนของรัฐบาล โดยเฉพาะตามแนวทางการทำงานที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมต.เกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายสั่งการ และคาดโทษผู้ว่าราชการจังหวัดไว้ หากพบการทำนารอบ 3 จะมีการพิจารณาประสิทธิภาพการทำงานและมีบทลงโทษด้วย

การยางแห่งประเทศไทย และสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) โดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แสดงสินค้าด้านยางพาราแบบครบวงจร เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้เรื่องยางพารา นวัตกรรมการแปรรูป การแสดงสินค้า และการแลกเปลี่ยนกันด้านธุรกิจของยางพารา

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แสดงสินค้าด้านยางพาราแบบครบวงจร เพื่อให้เป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างการรับรู้ให้กับผู้เข้ามาชมในรูปแบบเสมือนจริง พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้เรื่องยางพาราตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง เข้าใจถึงความเป็นมาของยางพาราจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และรับทราบถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากยางพารา ตั้งแต่น้ำยาง ผ่านกระบวนการแปรรูปไปจนถึงการโค่นเป็นไม้ยางพารา โดยผู้เข้าชมสามารถสัมผัสนวัตกรรมการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ

ซึ่งจะเห็นว่า ยางพารามีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของมนุษย์เราทุกคน และที่สำคัญ สามารถนำไปต่อยอดเป็นการทำธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราต่อไปได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนมาจากผลผลิตสำคัญจากผลงานวิจัยการแปรรูปของ กยท. ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์จากโครงการยางประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นยางล้อประชารัฐ ยางปูพื้นสนามกีฬา ผลิตภัณฑ์ยางพาราเพื่อสุขภาพ ยางปูทางผ่านเสมอระดับทางรถไฟ หรือแม้แต่ หมอนยางพารา ทุกวันนี้ สถาบันเกษตรกรหลายแห่ง สามารถนำไปดำเนินธุรกิจ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและชุมชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะจัดแสดงในศูนย์การเรียนรู้ด้วย อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ กยท. จะมีผลงานการแปรรูปเพื่อธุรกิจชัดเจนมากขึ้นเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้ยางในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น

นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์การเรียนรู้แสดงสินค้าแห่งนี้ จะเป็นที่ให้ความรู้ต้นแบบหรือแลกเปลี่ยนกันทางด้านธุรกิจด้วย ซึ่งจะเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานการผลิต และออกแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจาก กยท. เพื่อให้ผู้ที่สนใจในผลิตภัณฑ์สามารถรับชม และเลือกซื้อได้ในคราวเดียวกัน

“ศูนย์การเรียนรู้แสดงสินค้าด้านยางพาราแบบครบวงจรนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) ถือเป็นการนำความรู้และนวัตกรรมเรื่องยางพาราของ กยท. สู่รูปแบบศูนย์การเรียนรู้แสดงสินค้าด้านยางพาราแบบครบวงจร ภายใต้กรอบแนวคิด “Play & Learn” โดยได้รับการสนับสนุน และนำองค์ความรู้ด้านการจัดการเนื้อหาและออกแบบการจัดแสดงนิทรรศการและระบบบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้ฯ มาพัฒนาพื้นที่จัดแสดงสินค้าของ กยท. ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 18 เดือน จะสามารถเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ารับชมศูนย์การเรียนรู้แสดงสินค้าฯ ได้”

ซีพีเอฟนำเกษตรกรเจ้าของฟาร์มไก่รับประกาศเกียรติคุณ GLP

ย้ำฟาร์มไก่ซีพีเอฟทุกแห่งดูแลแรงงานตามมาตรฐานครบ 100% ซีพีเอฟย้ำฟาร์มเลี้ยงไก่ทุกแห่งทั้งของบริษัทฯ และเกษตรกรปฏิบัติต่อแรงงานตามหลัก GLP ฟาร์มเลี้ยงไก่ในโครงการส่งเสริมอาชีพ CPF เข้ารับประกาศเกียรติคุณฟาร์มเลี้ยงไก่ดูแลแรงงานตามหลักปฏิบัติต่อแรงงานที่ดี (GLP: Good Labour Practice) จากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน พร้อมรองรับการปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP ที่เพิ่มเรื่องการดูแลสวัสดิภาพแรงงาน

(กระทรวงแรงงาน : 15 มีนาคม 2560 ) นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นสร้างเสริมศักยภาพในการแข่งขันทางการค้าของประเทศ โดยผลักดันให้ฟาร์มของบริษัทฯ และของเกษตรกร (Contract Farming) มีการปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปีนี้ เกษตรกรเจ้าของฟาร์มไก่เนื้อ 1,296 แห่งได้รับประกาศเกียรติคุณจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่า เป็นฟาร์มที่มีการนำหลัก GLP ไปใช้ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างถูกต้อง

ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจัดอบรมการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีก แก่เกษตรกรในโครงการส่งเสริมอาชีพ ปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานตามหลัก GLP จนครบทุกแห่ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานในฟาร์มกว่า 5,000 คนซึ่งประกอบด้วยแรงงานต่างชาติประมาณ 350 คน และบริษัทฯ ยังจัดทีมเข้าไปให้คำแนะนำกับเจ้าของฟาร์มอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจนำแนวปฏิบัติตามหลัก GLP ไปใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงาน ปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานให้สอดคล้องกับกฎหมายแรงงาน และมาตรฐานสากล

“การปฏิบัติที่ดีต่อแรงงานในฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังรอง รับการปฎิบัติตามมาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agriculture Practices) ของกรมปศุสัตว์ที่ได้เพิ่มเรื่องการดูแลสวัสดิภาพแรงงาน การไม่ใช้แรงงานทาส แรงงานผิดกฏหมาย และแรงงานเด็กอีกด้วย” นายปริโสทัต กล่าว

ในปี 2560 นี้ ซีพีเอฟยังได้จัดคณะทำงานเพื่อเข้าไปทวนสอบการปฏิบัติต่อแรงงานในฟาร์มของเกษตรกรทุกแห่งให้ครบทุกแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมฟาร์มไก่เนื้อมีการดำเนินงานตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ซึ่งได้บรรจุการดูแลสวัสดิภาพแรงงานตามมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าทั่วโลกต่อตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตไก่เนื้อของไทยมีการดูแลแรงงานตามมาตรฐานสากล บริษัทฯ อยู่ระหว่างนำ มาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท. (Thai Labour Standard: TLS 8001-2010) มาประยุกต์ใช้ในฟาร์มไก่เนื้อของบริษัทฯ สอดคล้องกับที่โรงงานแปรรูปไก่ที่ได้รับรองมาตรฐานแรงงานระดับสมบูรณ์ขั้นสูงสุด โดยเตรียมความพร้อมฟาร์มเข้าสู่กระบวนการขอการรับรองมาตรฐานแรงงานจากกระทรวงแรงงานภายในปี 2560 นี้อีกด้วย

สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 เชิญชวนสหกรณ์ออมทรัพย์ร่วมโครงการสหกรณ์สีขาว

ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเพื่อความโปร่งใส หวังเรียกความเชื่อมั่นจากสมาชิก ภายหลังจากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดตัวโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา โดยถือเอาวันครบรอบ 101 ปีสหกรณ์ไทย เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติประจำปี 2560 เป็นโอกาสดีที่จะจัดกิจกรรมรณรงค์ให้สหกรณ์ทั่วประเทศนำหลักธรรมาภิบาลมาเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ โดยทุกภาคส่วนได้ร่วมกันประกาศเจตนารมย์ในการร่วมกันสร้างสหกรณ์สีขาว ที่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานและป้องกันปัญหาเรื่องการทุจริตในสหกรณ์ หวังเรียกความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากสมาชิกที่มีต่อสหกรณ์กลับคืนมา

สำหรับสหกรณ์ในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์นอกภาคการเกษตร ทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนและสหกรณ์บริการตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่เกิดจากกลุ่มคนที่มีอาชีพเดียวกันรวมกลุ่มจัดตั้งขึ้นในหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมการออมเงินและส่งเสริมฐานะทางเศรษฐกิจของสมาชิก ซึ่งสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสหกรณ์ที่มีทุนการดำเนินงานสูงสุด เมื่อเทียบกับสหกรณ์ประเภทอื่น ๆ จึงเป็นเป้าหมายที่กรมส่งเสริมสหกรณ์เชิญชวนให้เข้าร่วมโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล

นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลในเบื้องต้นได้เชิญชวนให้สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีทุนดำเนินงานเกินกว่า 1,000 ล้านบาท เข้าร่วมโครงการ โดยได้มีหนังสือแจ้งไปยังสหกรณ์ออมทรัพย์ที่อยู่ในการดูแลส่งเสริมของสำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 จำนวน 39 แห่ง อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์แรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้านครหลวง จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์สำนักงานเลขานุการกองทัพบก จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการสรรพากร จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์กรมปศุสัตว์ จำกัด สหกรณ์ออมทรัพย์การยางแห่งประเทศไทย จำกัด สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัดและสหกรณ์ ออมทรัพย์กรมทางหลวง จำกัด

สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่รับผิดชอบดูแลสหกรณ์แต่ละแห่งเข้าไปชี้แจงทำความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลว่าจะมีกระบวนการในการขับเคลื่อนและหลักเกณฑ์ในการประเมินผลสหกรณ์ออมทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งจะมีการประเมินผลการดำเนินงานของสหกรณ์ตามหลักธรรมาภิบาลเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และเมื่อสหกรณ์ผ่านการประเมินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์แล้วจะได้รับประกาศนีบัตรรับรองว่าผ่านการประเมินผลการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และเพื่อเห็นหลักฐานยืนยันว่าสหกรณ์ดังกล่าวผ่านการประเมินความโปร่งใสในการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะช่วยทำให้สหกรณ์เป็นที่ยอมรับจากหน่วยงานภายนอกและประชาชนทั่วไป รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาจากสมาชิกสหกรณ์ในการที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจและทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ กับสหกรณ์ของตนเองอีกด้วย

ธรรมาภิบาล (Good Governance) คือการบริหาร การจัดการ การควบคุมดูแลกิจการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามครรลองครองธรรม การบริหารจัดการโดยยึดหลักธรรมาภิบาลเป็นแนวทางในการดำเนินงาน จะสามารถนำไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน หลักธรรมาภิบาลที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลได้นำไปยึดถือและปฏิบัติ ซึ่งประกอบด้วย 9 หลัก ได้แก่ หลักประสิทธิผล หลักประสิทธิภาพ หลักการตอบสนอง หลักภาระรับผิดชอบ หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักการกระจายอำนาจ หลักนิติธรรมและหลักความเสมอภาค ซึ่งในแต่ละหลักธรรมาภิบาลจะมีเกณฑ์การพิจารณาเป็นข้อๆ รวมจำนวน 37 ข้อ สหกรณ์ที่จะเป็นสหกรณ์สีขาวจะต้องผ่านการประเมินในแต่ละหลักธรรมาภิบาลเกิน 80% โดยจะมีคณะตรวจประเมินจากบุคคลภายนอก และกรมส่งเสริมสหกรณ์จะประกาศผลสหกรณ์ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินว่าเป็นองค์กรที่มีความโปร่งใส และยกย่องให้เป็นสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมภิบาล ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560

ทั้งนี้ หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักการที่นำมาใช้บริหารงานในปัจจุบันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นแนวทางที่ช่วยสร้างสรรค์และส่งเสริมองค์กรให้ศักยภาพและประสิทธิภาพในการบริหารงาน ทุกคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและขยันหมั่นเพียร และส่งผลให้ธุรกิจขององค์กรนั่นมีการขยายตัวและเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงด้วย นอกจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ และบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องหรือต้องมาร่วมดำเนินงานกับองค์กรนั้น ก็จะเกิดความศรัทธาและความเชื่อมั่นต่อองค์กรนั้น ๆและย่อมได้รับความไว้วางใจในการที่จะมาร่วมดำเนินธุรกิจหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

ด้าน นายพีระพล พันธ์ยิ้ม ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนของสหกรณ์ที่เข้าโครงการสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาล เปิดเผยว่า ในขณะนี้สหกรณ์มีสมาชิก 14,500 คน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสหกรณ์ได้ดำเนินงานภายใต้หลักธรรมาภิบาล ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินการ ซึ่งจะเป็นแนวที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่ขบวนการสหกรณ์

การที่คณะกรรมการสหกรณ์ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการสร้างสหกรณ์สีขาวด้วยหลักธรรมาภิบาลในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาทางสหกรณ์ฯ ได้ดำเนินการอยู่แล้ว และการประกาศตัวเข้าร่วมก็เพื่อเป็นการย้ำเตือนว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นการเดินไป ในทิศทางที่ถูกต้องแล้วและจะเดินหน้าพัฒนาให้เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป

“ การจะเป็นสหกรณ์สีขาวด้วยธรรมาภิบาลได้จริง ต้องมีการนำหลักธรรมาภิบาลทั้ง 9 ข้อไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งจะส่งผลประโยชน์แก่สมาชิกของสหกรณ์โดยรวม และสามารถสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีต่อสหกรณ์ว่าเป็นองค์กรที่มีคุณธรรมความโปร่งใสปราศจากการทุจริตได้ในที่สุด”นายพีระพล พันธ์ยิ้ม ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์กรมทางหลวง จำกัด กล่าว

แม้ว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศในปีนี้จะมีปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกัน 21,854 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 43 ของความจุอ่างรวมกันหรือ “มากกว่า” ปริมาตรน้ำใช้การได้รวมกันของปี 2559 รวม 7,941 ล้าน ลบ.ม.ก็ตาม

แต่เมื่อติดตามสถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักที่จะมีผลต่อลุ่มเจ้าพระยาและกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขื่อนภูมิพล ปริมาตรน้ำใช้การได้จริง ณ 17 มีนาคม 2,430 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 25-เขื่อนสิริกิติ์ 2,716 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 41, เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 432 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 48 เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 453 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 47 รวม 4 เขื่อนหลักคิดเป็นปริมาตรน้ำใช้การได้จริง 6,032 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 33

ในขณะที่เหลือเวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 เดือนครึ่งกว่าที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนของปี 2560

นั่นหมายความว่า กรมชลประทานจะต้องบริหารจัดการน้ำก้อนนี้ (6,032 ล้าน ลบ.ม.) ในกิจกรรมหลัก ๆ 4 กิจกรรม ได้แก่ น้ำเพื่อเกษตรกรรมวันละ 36 ล้าน ลบ.ม, น้ำเพื่อระบบนิเวศและผลักดันน้ำเค็มวันละ 5-7 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่อการอุตสาหกรรมวันละ 3 ล้าน ลบ.ม., น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภควันละ 8 ล้าน ลบ.ม. และอื่น ๆ อีกวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้วประมาณวันละ 55-57 ล้าน ลบ.ม.ไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน โดยไม่ต้องหวังว่า ในช่วงเวลานี้จะมีปริมาตรน้ำไหลลงอ่าง

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณปริมาตรน้ำคงเหลือใช้การได้จริงของทั้ง 4 เขื่อน สามารถรองรับกิจกรรมในการใช้น้ำหลัก ๆ ทั้ง 4 กิจกรรมได้ไปไม่น้อยกว่า 3 เดือนครึ่ง (110 วัน) หรือกินเวลาไปจนกระทั่งถึงเดือนกรกฎาคมก็ตาม แต่ยังมีอีก 2 ปัจจัยเสี่ยง “อาจจะ” ทำให้การบริหารจัดการน้ำที่ยังเหลืออยู่อีก 6,032 ล้าน ลบ.ม.ไม่เป็นไปตามแผน ได้แก่ 1) การปลูกข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณควบคุมไม่ได้จากปัจจุบันปลูกข้าวนาปรังแล้วกว่า 5.35 ล้านไร่ (นาปรังรอบ 2) เกินไปกว่าแผนที่กำหนดให้ปลูกไม่เกิน 2.67 ล้านไร่ (เกินกว่าแผนแล้ว 2.68 ล้านไร่) และส่วนใหญ่เริ่มจะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 3 แล้ว

โดยการปลูกข้าว 1 ไร่จะต้องใช้น้ำไม่ต่ำกว่า 3,000 ลบ.ม. กับปัจจัยที่ 2 ก็คือ จากแบบจำลอง IRI/CPC Pacific Nino ของ NOAA การวัดอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกล่าสุดบ่งบอกว่า จะเกิดปรากฏการณ์ El Nino (ฝนน้อย น้ำน้อย) อ่อน ๆ ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป แปลว่า มีโอกาสที่ไทยจะมีฝนทิ้งช่วงถึงเดือนกรกฎาคม 2560 ซึ่งพอดีกับปริมาตรน้ำใช้การได้จริงที่จัดสรรไว้พอดิบพอดี

ดังนั้นหากพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ทั้ง 2 ปัจจัย แสดงให้เห็นว่า ปริมาณน้ำปีนี้ถึงแม้จะเริ่มต้น “มากกว่า” ปีที่ผ่านมาถึง 7,941 ล้าน ลบ.ม. ก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

เพราะเพียงแค่ต้นเดือนมีนาคมก็เริ่มปรากฏข่าวคราวแหล่งน้ำตามธรรมชาติ-แม่น้ำสายหลัก ๆ แห้งขอด อาทิ แม่น้ำยม จนเกิดปรากฏการณ์ชาวนาแย่งน้ำ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นกับคำถามที่ว่า “ชาวนาที่ไหนจะนั่งดูข้าวที่ปลูกไว้ยืนต้นตาย”

ดังนั้นจุดเสี่ยงจากปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ทั้ง 2 ที่กรมชลประทาน พอจะดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงลงได้ก็คือ จะต้องไม่ยอมให้มีการทำนาปรังรอบ 3 หรือจำนวนพื้นที่ปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้นไปกว่า 5.35 ล้านไร่อย่างเด็ดขาด

และพื้นที่ปลูกข้าวที่เพิ่มขึ้นกว่าแผนการจัดสรรที่วางเอาไว้ 2.68 ล้านไร่นั้น ส่วนใหญ่จะต้องปล่อยให้ยืนต้นตายแน่นอน เพราะอย่าลืมว่า กรมชลประทานจะต้องไม่ระบายน้ำจาก 4 เขื่อนหลักเกินไปกว่าวันละ 55-57 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งจะกระทบต่อกิจกรรมการจัดสรรน้ำที่วางเอาไว้ทั้ง 4 กิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลักดันน้ำเค็มไม่ให้รุกขึ้นไปถึงแหล่งสูบน้ำประปาที่สำแล จ.ปทุมธานี

ทว่าการพูดแบบนี้ดูเหมือนง่าย ๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วรัฐบาลจะต้องหามาตรการช่วยเหลือชาวนาทั้งที่ปลูกข้าวไปแล้วและที่กำลังจะปลูก “ทำอย่างไรจะให้พวกเขามีรายได้ จนกระทั่งผ่านพ้นช่วงฤดูแล้งนี้ไปได้” นั่นล่ะที่ยากกว่า

“ซันสวีท” ผู้ส่งออกข้าวโพดหวานเบอร์ 1ของประเทศ www.sbobetsix.com ปลื้มผลประกอบการปี”59 แตะ 1,500 ล้าน ชี้ธุรกิจอาหารในตลาดโลกยังโตไม่หยุด ตั้งเป้าปี”60 ยอดส่งออกพุ่ง 2,000 ล้านจากฐานลูกค้า 70 ประเทศ ลุยเพิ่มไลน์ผลิตสินค้าใหม่ส่ง “ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ” นำร่องวางจำหน่ายห้าง San-A เมืองโอกินาวา ญี่ปุ่น เผยเตรียมนำสินค้ากลุ่มน้ำนมข้าวโพด ข้าวโพดคลุกเนย ข้าวโพดปิ้ง เปิดตลาดกลางปีนี้ พร้อมทุ่ม 200 ล้านใช้หุ่นยนต์ช่วยทำงาน มุ่งสู่สมาร์ทฟาร์มเบอร์ 1 ส่งออกข้าวโพดหวาน

นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานกรรมการ บริษัท ซันสวีท จำกัด ผู้ผลิตและส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่อันดับหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “KC” มีฐานการผลิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกข้าวโพดหวานของบริษัทและสินค้าในเครือในปี 2559 เติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมียอดขายมากกว่า 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 80% และขายในประเทศ 20% ซึ่งแม้ว่าในปีที่ผ่านมาจะมีปัจจัยเรื่องสภาพภูมิอากาศที่ร้อนและภาวะแล้ง แต่ก็สามารถซ่อมแซมและแก้ปัญหาวัตถุดิบไม่ให้เกิดความเสียหายได้

ขณะที่ความต้องการด้านอาหารของตลาดโลกยังเพิ่มสูงขึ้นจึงเป็นผลให้ยอดการส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีโดยมีวัตถุดิบข้าวโพดหวานที่ส่งออกในปีที่ผ่านมาราว1แสนตันสำหรับปี 2560 ตั้งเป้ายอดส่งออกข้าวโพดหวานและสินค้าในเครือไว้ที่ 2,000 ล้านบาท ตามคำสั่งซื้อสินค้าที่เพิ่มขึ้น และการเพิ่มไลน์การผลิตสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดอีกหลายชนิด ทำให้มั่นใจว่ายอดขายในปีนี้จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้

“สินค้าหลักที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ข้าวโพดหวานชนิดเมล็ดบรรจุกระป๋องพร้อมรับประทาน ข้าวโพดหวานชนิดฝักในถุงสุญญากาศพร้อมรับประทาน ซึ่งมีฐานตลาดลูกค้าราว 300 ราย อยู่ใน 70 ประเทศทั่วโลก และข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) ชนิดเมล็ดบรรจุถุง มีตลาดหลักคือญี่ปุ่นและอิหร่าน”

ส่งออกเบอร์หนึ่ง – ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแบรนด์ KC ของกลุ่มบริษัทซันสวีท เชียงใหม่ ส่งออกไปจำหน่ายใน 70 ประเทศทั่วโลก โดยสินค้ายอดฮิต ได้แก่ ข้าวโพดหวานชนิดเมล็ดบรรจุกระป๋อง และชนิดฝักในถุงสุญญากาศพร้อมรับประทาน ล่าสุดยังได้เพิ่มไลน์ผลิตถั่วขาวในซอสมะเขือเทศเจาะตลาดญี่ปุ่น
เพิ่มไลน์การผลิตเปิดตลาดใหม่

นายองอาจกล่าวว่า ในปี 2560 ได้เพิ่มไลน์การผลิตสินค้ากลุ่มอาหารหลายชนิด อาทิ ถั่วขาวในซอสมะเขือเทศ ซึ่งได้นำเข้าซอสมะเขือเทศมาจากออสเตรเลีย และเมล็ดถั่วขาวแห้งจากสหรัฐอเมริกา โดยผลิตที่โรงงานซันสวีทเชียงใหม่ ถือเป็นไลน์ผลิตใหม่นอกเหนือจากข้าวโพด ตลาดแรกที่เริ่มเปิดคือ ญี่ปุ่น ล่าสุดบริษัทได้ทำสัญญาซื้อขายกับห้างสรรพสินค้า San-A ซึ่งเป็นช็อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ในเมืองโอกินาวา ขณะเดียวกันก็เตรียมขยายตลาดสินค้ากลุ่มนี้ไปยังฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ราว 300 ราย ใน 70 ประเทศ

นอกจากนี้ยังได้เตรียมนำสินค้ากลุ่ม Cooking Corn หรือสินค้าที่ผลิตจากข้าวโพด นำออกจำหน่ายทั้งต่างประเทศและในประเทศ อาทิ น้ำนมข้าวโพดพร้อมดื่ม ข้าวโพดคลุกเนย และข้าวโพดปิ้ง ซึ่งทั้งหมดผ่านการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) แล้ว คาดว่าจะเริ่มเปิดตลาดได้ประมาณกลางปี 2560 นี้