ระยะห่างระหว่างต้นมะเขือและพริก อยู่ที่ 40-50 เซนติเมตร

ส่วนผักสลัด จะให้มีระยะห่าง ประมาณ 1 คืบ โดยปลูกให้เป็นสลับฟันปลาเพื่อให้จำนวนต้นที่ปลูกในหนึ่งแปลงได้จำนวนมากขึ้น หลังปลูกเสร็จแล้ว ก็จะรดน้ำตามปกติถ้าวันนั้นสภาพอากาศดี แต่ถ้าวันไหนร้อนมากเกินไป ก็จะรดน้ำมากขึ้นในช่วงเที่ยงด้วย การดูแลเมื่อปลูกได้สัก 7 วัน ก็จะมีการใส่ปุ๋ยยูเรียเข้ามาช่วยสำหรับพืชกินใบเพียงครั้งเดียว แต่ถ้าเป็นพืชให้ผล เช่น มะเขือ พริก ช่วงแรกจะใส่สูตรเสมอ 15-15-15 ก่อน พอเริ่มจะติดดอกให้ผลก็จะเปลี่ยนเป็นสูตร 8-24-24 อัตราส่วนที่ใช้ก็ประมาณ 300-400 กรัม ต่อแปลง จากนั้นก็รอเก็บผลผลิตขายต่อไป” คุณธีร์วศิษฐ์ บอก

การดูแลป้องกันโรคและแมลงนั้น คุณธีร์วศิษฐ์ เล่าว่า จะเน้นฉีดพ่นด้วยสารชีววิถีที่เป็นมิตรกับตัวเขาเอง โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาและเชื้อราขาวบิวเวอเรียเข้ามาช่วย โดยจะให้มีประสิทธิภาพที่ดีนั้นจะต้องเน้นฉีดพ่นในช่วงเวลาเย็นหรือเวลากลางคืน เพราะจะทำให้เชื้อรามีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและแมลงได้ดี ไม่เพียงแต่ปลอดภัยกับตัวเขาเองเพียงอย่างเดียว ยังช่วยในเรื่องของการประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย

เน้นสินค้าคุณภาพ สร้างแบรนด์ด้วยตนเอง

การทำตลาดสำหรับจำหน่ายนั้น คุณธีร์วศิษฐ์ได้สำรวจตลาดจนมีความรู้และเข้าใจอย่างท่องแท้ ในความต้องการของลูกค้าในชุมชน จึงทำให้ผลผลิตที่มีออกมาจำหน่ายนั้นไม่มีล้นตลาด และที่สำคัญในเรื่องของราคายังได้ผลกำไรดีอีกด้วย เพราะสินค้าจะส่งให้กับลูกค้าโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

“ผลผลิตที่ออกจากสวน เรียกได้ว่าเป็นสินค้าที่เน้นคุณภาพก็ว่าได้ โดยเราไม่ได้เน้นที่ปริมาณ เป็นผักที่ปลอดสารพิษ มีความปลอดภัยต่อลูกค้า ดังนั้น จึงสามารถทำราคาที่สูงขึ้นมาได้ อย่าง กวางตุ้ง และผักสวนครัวต่างๆ ราคาขายกิโลกรัมละ 17 บาท ผักสลัด กิโลกรัมละ 80 บาท ที่ทำเยอะสุดจะเป็นผักสวนครัว ตอนนี้ผมก็เพาะกล้าไม้เสริมเข้ามาช่วยด้วย เป็นการเสริมรายได้อีกทาง เพื่อให้กับเกษตรกรที่ปลูกลดเวลาเรื่องการเพาะต้นกล้าออกไป ซื้อไปแล้วปลูกลงในแปลงของเขาได้เลย เช่น ต้นกล้าดอกดาวเรือง ต้นกล้าพริก ต้นกล้ามะเขือ ราคาขายอยู่ ตั้งแต่ถาดละ 200-500 บาท จึงถือเป็นอีกช่องทางที่สร้างรายได้เพิ่ม” คุณธีร์วศิษฐ์ บอกถึงเรื่องการทำตลาด

จากกระแสสังคมของคนในปัจจุบัน ที่มีการใช้โซเชี่ยลมีเดียเป็นอย่างมาก เขาไม่ได้เน้นทำการตลาดจากการส่งจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการโพสต์สินค้าลงทางเฟซบุ๊ก ก็สามารถสร้างฐานลูกค้าออนไลน์ให้กับเขาได้อีกด้วย เพราะแม้แต่การขนส่งเองก็มีความทันสมัยมากขึ้น แม้จะอยู่คนละจังหวัดก็สามารถซื้อสินค้าจากสวนของเขาไปถึงที่บ้านได้อย่างง่ายดายเลยทีเดียว

สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำอาชีพทางการเกษตร คุณธีร์วศิษฐ์ บอกว่า การทำเกษตรไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งในช่วงแรกอาจจะยังไม่ต้องลาออกจากงานประจำมาทำก็ได้ เพียงแต่ค่อยๆ เริ่มเป็นแบบอาชีพเสริมรายได้รองจากอาชีพหลัก แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำเกษตรคือ ต้องมีใจรัก เมื่อมีใจรักในการทำเสียแล้ว ทำอะไรก็จะประสบผลสำเร็จแน่นอน

“ทุกวันนี้บอกเลยว่า ผมมีความสุขมาก ที่ได้มาทำงานเกี่ยวกับการเกษตร เพราะทำให้ผมได้อยู่กับครอบครัว ถึงแม้จะมีบางช่วงที่เหนื่อย ในเรื่องของลงแรงในการทำ วิ่งส่งผลผลิตให้กับลูกค้า แต่มันก็มีความสุขกับสิ่งที่ทำ สำหรับผมการเกษตรไม่ใช่สิ่งที่เป็นอาชีพเพียงอย่างเดียว ยังสร้างความสุขให้กับผมอีกด้วย” คุณธีร์วศิษฐ์ กล่าวแนะนำ

คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่า “กล้วย” เป็นพืชเศรษฐกิจ ที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิต โดยเฉพาะ ผลกล้วย ทั้งผลกล้วยดิบ และผลกล้วยสุก สามารถนำไปประกอบอาหาร ทั้งอาหารคาวและหวาน หรือแปรรูปได้สารพัด กล้วยเศรษฐกิจเป็นที่ต้องการของตลาดหลักๆ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ ซึ่งทั้ง 3 พันธุ์นี้ ล้วนแล้วแต่มีลำต้นสูงใหญ่ ไม่ต่ำกว่า 2 เมตร บางต้นสูงถึง 3.5 เมตร ทำให้ยากต่อการจัดการหรือการเก็บเกี่ยวผลผลิต และอาจเจอปัญหาต้นโค่นล้มเพราะรับน้ำหนักเครือไม่ไหว ทำให้เกิดผลกล้วยเสียหายได้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีวิธีจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างอยู่หมัด ด้วยการบังคับให้กล้วยตกเครือกลางลำต้นเพื่อง่ายต่อการจัดการดูแล การเก็บเกี่ยวผลผลิต และลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

นายนิคม วงศ์นันตา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ จากสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตรมหาวิทลัยแม่โจ้ และทีมงาน ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการบังคับให้กล้วยตกเครือกลางลำต้นมากว่า 3 ปี จนประสบความสำเร็จ

“เราได้ทำการศึกษาช่วงเวลาของการเกิดปลีกล้วยด้วยการสังเกตลักษณะการเจริญเติบโตพื้นฐาน คือ เมื่อกล้วยมีอายุประมาณ 6-8 เดือน กล้วยจะมีลำต้นขนาดใหญ่พร้อมที่จะออกปลีโดยที่ ต้นแม่จะตกเครือกล้วยก่อนต้นลูก ต้นหลาน ไล่เลียงกันไป และที่สำคัญคือ การสังเกต “ใบธง” ของกล้วยซึ่งบ่งชี้ระยะของการออกปลีในแกนกลางลำต้น ซึ่งศึกษาด้วยการผ่าลำต้น จึงพบกว่าระยะที่พอเหมาะในการเจาะลำต้นเพื่อบังคับให้กล้วยตกเครือนั้น คือระยะที่ใบธง (ใบยอดสุดท้ายของกล้วยซึ่งมีขนาดสั้นและเล็กมาก) ชูก้านใบขึ้นสู่ท้องฟ้า มีลักษณะม้วนหลวมๆ ไม่แน่นเกินไป ไม่คลี่เกินไป นั่นคือ ระยะพอเหมาะที่จะเจาะลำต้นบังคับให้กล้วยตกเครือกลางลำต้น ในระดับความสูง 1.5 เมตร ซึ่งเป็นความสูงระดับพอดีในการจัดการดูแลกล้วย การเก็บเกี่ยวผลผลิต”

อันดับแรกให้ดูต้นที่สมบูรณ์มีอายุ 6-8 เดือน (นับจากการการปลูกใหม่หรือแทงหน่อใหม่)
สังเกต ”ใบธง” ของกล้วยต้นนั้นๆ ว่าต้องม้วนแบบหลวมๆ ไม่แน่นและไม่คลี่เกินไป
วัดความสูงจากพื้นดินขึ้นไป 1.5 เมตร ทำเครื่องหมายกว้าง 9 ซม. สูง 15 ซม.เพิ่อเตรียมเจาะ โดยเลือกเจาะด้านนอกกอฝั่งตรงข้ามของต้นแม่
ลงมือเจาะลำต้นกล้วยด้วยมีดปลายแหลม ในตำแหน่งที่ทำสัญลักษณ์ไว้ โดยค่อยๆกรีดลงไปที่ละชั้นของกาบกล้วยจนถึงแกนกลางลำต้นกล้วยแล้วตัดแกนกลางและดึงออก
นำแผ่นพลาสติกที่เตรียมไว้ตอกตรงส่วนบนสุดของช่องที่เจาะ
พ่นยากันราให้ทั่วบริเวณที่มีรอยเจาะ

เป็นอันเสร็จขั้นตอนการเจาะลำต้นเพื่อให้กล้วยตกเครือ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเห็นว่ากล้วยจะค่อยๆ แทงเครือออกทางช่องที่เจาะเอาไว้ ก็สามารถดูแล รักษาเครือกล้วยต่อไปจนได้ระยะเวลาเก็บเกี่ยว ถ้าเป็นกล้วยไข่ก็ใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน กล้วยหอม 40-60 วัน กล้วยน้ำว้า 80-120 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยง่าย

การบังคับกล้วยออกเครือกลางลำต้นเป็นอีกวิธี หรือเป็นอีกทางเลือก ที่เกษตรกรสามารถนำมาใช้เพื่อการดูแลจัดการกล้วยได้สะดวกยิ่งขึ้น ป้องกันการโค่นล้มของลำต้น ลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหาย ไม่ต้องมีไม้ค้ำลดค่าใช้จ่าย เกษตรกรที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณนิคม วงศ์นันตา สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 081-9515287

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การดูแลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต 2 จังหวัดราชบุรี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2544 ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 12 บ้านดอนห้วยราบ ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ความเป็นมานั้นเริ่มจากได้รับการสนับสนุนจาก ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 11

คุณปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อก่อสร้างศูนย์ จำนวน 100 ไร่ และได้รับบริจาคจาก คุณนภดล มาตรศรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ในสมัยนั้น อีกจำนวน 94 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 194 ไร่ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการ อาคารฝึกอบรม อาคารโรงอาหาร อาคารหอพัก อาคารผลิตขยายศัตรูพืชธรรมชาติ ภายในวงเงิน 54 ล้านบาท ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2545

คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ เล่าให้ฟังว่า ศูนย์มีบทบาทในการศึกษา ทดสอบการใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีควบคุมศัตรูพืช การอนุรักษ์และขยายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ดำเนินการผลิตขยายชีวินทรีย์และสารธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช เพื่อใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร ให้บริการตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยศัตรูพืช พยากรณ์เตือนการระบาดการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ทั้งนี้ ทางศูนย์ส่งเสริมและให้การฝึกอบรม การใช้ 2 ชีวภัณฑ์ คือ เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า สารสกัดธรรมชาติคือ สารสกัดจากสะเดา ในระยะนี้มีเกษตรกรปลูกพืชผักกันจำนวนมาก ศูนย์จัดทำแปลงศึกษาวิจัยศัตรูพืชโดยใช้เชื้อราบิวเวอเรีย แปลงทดสอบการใช้น้ำเปล่าฉีดพ่น แปลงใช้เชื้อราที่แตกต่างกันคือ ใช้เชื้อราจำนวน 1 ถุง 2 ถุง 3 ถุง และ 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม ตามลำดับ เปรียบเทียบกันทั้งหมด พบว่า การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 4 ถุง จะได้ผลดีกว่า และตลอดระยะเวลาการทดสอบ จะมีเกษตรกรเข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ศัตรูพืชว่า ในแปลงพืชผักจะพบศัตรูพืชอะไรบ้าง เพื่อการป้องกันศัตรูพืชก่อนที่จะระบาดเพิ่มมากขึ้น

งานส่งเสริมการเกษตรอีกอย่างหนึ่งคือ การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร คือการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักแบบง่ายๆ โดยใช้ตะแกรงหรือตาข่ายพลาสติกล้อมเป็นวงกลม ใช้หลักไม้ไผ่ปักเพื่อป้องกันการโค่นล้ม จากนั้นใช้เศษใบไม้ที่มีอยู่ในแปลงใส่ลงไปสลับกับการใส่ปุ๋ยคอก โดยเฉพาะขี้วัว ขี้ควาย จะเหมาะสมที่สุด กองสลับกันเป็นชั้นๆ ทิ้งไว้โดยไม่ต้องกลับกอง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูกได้เลย เป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก ใช้เวลาน้อย วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น พื้นที่ในเขตเมืองหรือเขตชุมชนก็สามารถทำได้เอง ประหยัดพื้นที่ด้วย หรืออาจจะใช้ใส่ลงในเข่งพลาสติกก็ใช้ได้เช่นกัน

คุณสมคิด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันศูนย์ได้สนองนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยการนำระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาร่วมการปฏิบัติงานด้วย เกษตรกรสามารถได้รับข้อมูลข่าวสารการเกษตรโดยตรง มีการรวมกลุ่มกันที่เรียกว่า กลุ่มไลน์ มีการปรึกษาหารือติดต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ หรือเกษตรกรด้วยกันเอง ปรึกษาหารือกันโดยตรง ตลอดจนสอบถามเรื่องราคาสินค้าและปริมาณการผลิตที่ตนเองมีอยู่ ถือว่าเป็นการสอบถามกันเองด้านการตลาดไปในตัวด้วย

ผู้เขียนขอขอบคุณทีมงานที่มีคุณภาพของศูนย์ที่ให้ข้อมูลและการต้อนรับ ประกอบด้วย คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการ คุณวีรธรรม ชูใจ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ คุณวิชา งามยิ่ง และ คุณธีระพงศ์ เล่าโจ้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

กลับมาอีกครั้ง หลังกองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน เคยเปิดประเด็นการปลูกอินทผลัมด้วยต้นเพาะเนื้อเยื่อทั้งสวน ซึ่งสวนภูผาลัม อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นสวนแรกๆ ที่เริ่มลงปลูกด้วยต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อ และครั้งนี้เป็นการพูดคุยเพื่อให้เห็นความก้าวหน้าของผู้ปลูกอินทผลัมรายแรกๆ ของประเทศ ว่าประสบความสำเร็จหรือพบกับปัญหาอุปสรรคอย่างไร

คุณอภิชน วรรณี เจ้าของสวนภูผาลัม ยังคงให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นเช่นเคย ที่นี่ปลูกต้นอินทผลัมทั้งพันธุ์แบบเพาะเมล็ด พันธุ์จากการแยกหน่อ รวมถึงพันธุ์ที่ซื้อต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาปลูก โดยนำเข้ามาจากต่างประเทศในกลุ่ม UAE ซึ่งสามารถคัดแยกเพศ พร้อมกับระบุสายพันธุ์ได้อย่างชัดเจน พร้อมกับขายผลผลิตที่ปลูก แล้วยังขายต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต่างประเทศ

ต้นพันธุ์ที่ คุณอภิชน สั่งซื้อมา เป็นต้นอินทผลัมจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนำเข้า ซื้อมาหลายพันธุ์จากทาง UAE เขาให้เหตุผล เพราะต้องการทดสอบปลูกในแต่ละพันธุ์เพื่อหาความเหมาะสมในพื้นที่ แต่พันธุ์ที่เน้นมากคือ บาร์ฮี (Barhi) เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการรับประทานผลสดโดยเฉพาะ

สัดส่วนระหว่างต้นตัวเมียและต้นตัวผู้ควรมีความเหมาะสม อย่างที่ได้ศึกษามาหลายแห่ง พบว่า จะให้ต้นตัวผู้มี 1 ต้น ต้นตัวเมีย 30-40 ต้น ซึ่งเป็นต้นที่สมบูรณ์ แต่ถ้าในไทยคิดว่า น่าจะมี 1 ต้นตัวผู้ ต่อต้นตัวเมีย 10 ต้น แต่ต้องเป็นต้นตัวผู้ที่นำเข้ามาเป็นเนื้อเยื่อ

“ตลาดในไทยนิยมสายพันธุ์ทานสด เพราะคนไทยนิยมผลไม้ทานสดที่ไม่แปรรูป ในความเห็นส่วนตัวแล้วสายพันธุ์ทานแห้ง ไม่เหมาะกับการปลูกในบ้านเรา เพราะต้องผ่านกระบวนการกรรมวิธี อีกทั้งอุณหภูมิในบ้านเราในช่วงเก็บผลผลิต ซึ่งตรงกับช่วงที่ยังมีฝน จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการดูแลและเชื้อรา”

คุณอภิชน ให้ข้อมูลว่า อินทผลัมกินผลสดที่เหมาะกับบ้านเรา และเป็นที่รู้จักแพร่หลายในขณะนี้ คือ สายพันธุ์บาร์ฮี แท้จริงแล้วยังมีสายพันธุ์อื่นอีกที่กินผลสด แต่เพิ่งมีไม่กี่สายพันธุ์ที่นำเข้ามาปลูกและได้ผลผลิตในประเทศไทย เช่น สายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน (UM ED DAHAN) และสายพันธุ์โคไนซี่ (KHONAIZI) ซึ่งสายพันธุ์อัมเอ็ดดาฮาน ได้ลงปลูกภายในสวนแล้ว และปีที่ผ่านได้ผลผลิตไม่มากนัก แต่จำหน่ายออกสู่ตลาดของคนที่รู้ และราคาจำหน่ายได้สูงถึงกิโลกรัมละ 1,000 บาท เพราะปริมาณผลผลิตที่ไม่มากนัก และเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างจากสายพันธุ์บาร์ฮีเดิมที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนสายพันธุ์โคไนซี่นั้น ปัจจุบันสวนภูผาลัมลงปลูกไปแล้วในพื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ได้ผลผลิตแต่ยังคุณภาพไม่ดีเท่าที่ควร คาดว่าฤดูกาลผลิตในปี 2562 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน

ปีที่ผ่านมา ผลผลิตอินทผลัมในสวนภูผาลัม ได้ประมาณ 4 ตัน ในปีนี้คาดว่าจะได้ผลผลิตราว 10 ตัน และปีหน้า น่าจะได้ผลผลิตมากกว่าอีกเท่าตัวของปีนี้

คุณอภิชน บอกว่า แม้ว่าปริมาณผลผลิตจะมากขึ้นตามลำดับ เพราะความสมบูรณ์ของต้นและพื้นที่ปลูกที่เพิ่มมากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาทางการตลาดแม้แต่น้อย เพราะผลผลิตที่ได้ อย่างไรก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคแน่นอน

“ตอนนี้ อินทผลัมกินผลสด เป็นที่รู้จักแพร่หลายและนิยมกันมากแล้วในคนไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง และสภาพภูมิอากาศไม่สามารถปลูกอินทผลัมได้ดีเหมือนบ้านเรา ทำให้ความต้องการของผู้บริโภคสูง เฉพาะในประเทศผมยังประเมินว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ”

หากจะเปรียบเทียบเรื่องของราคาจำหน่ายอินทผลัมกินผลสด แม้ว่าปีที่ผ่านมา ราคาอินทผลัมกินผลสด จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 700-900 บาท ปีนี้ราคาอินทผลัมกินผลสดลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 500-700 บาท ซึ่งปีต่อๆ ไป ปริมาณผลผลิตอินทผลัมกินผลสดจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ดังนั้น ราคาน่าจะลดลงอีกก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวสวนหรือผู้ปลูกอินทผลัมกินผลสดขาดทุน เหมือนพืชเศรษฐกิจชนิดอื่น เพราะเมื่อพิจารณาต้นทุนการปลูกอินทผลัม การให้ผลผลิตแล้ว แม้ราคาอินทผลัมจะลดลงเหลือเพียงกิโลกรัมละ 100 บาท เกษตรกรหรือผู้ปลูกอินทผลัมก็ยังสามารถอยู่ได้

คุณอภิชน มองว่า จำนวนผู้ปลูกอินทผลัมกินผลสด เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จากการพิจารณาจำนวนสั่งนำเข้าต้นพันธุ์เพาะเนื้อเยื่อจากต่างประเทศที่มาก จนปัจจุบันทำให้แล็บเพาะเนื้อเยื่อในต่างประเทศหลายแห่งผลิตไม่ทัน มียอดออเดอร์รอคิวนำเข้ายาว 2-3 เดือนทีเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ถือเป็นปัญหา เพราะตลาดผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ยังมีอีกมาก

“ปัญหาของผู้ปลูกอินทผลัม ไม่ใช่เรื่องของตลาด เพราะยังไปได้อีกไกลมาก แต่ปัญหา คือ หากผู้ปลูกอินทผลัมดูแลได้ไม่ทั่วถึง เพราะปลูกจำนวนมาก ปัญหาเรื่องของคุณภาพในผลอินทผลัมจะตามมา เพราะสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยปัจจุบันแปรปรวนมาก และมีฝนทิ้งช่วงท้ายในปริมาณมาก แม้ว่าอินทผลัมจะเป็นพืชที่ต้องการปริมาณน้ำ 2,000-2,500 มิลลิลิตร ต่อต้น ต่อปี ก็ตาม แต่ถ้าฝนตกในช่วงที่ติดผลแล้ว จะมีผลทำให้ความหวานในผลอินทผลัมลดลง และอาจมีโรคราหรือโรคไรตามมา เพราะความชื้นในอากาศสูง”

โดยปกติอินทผลัม เริ่มแทงจั่นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสภาพภูมิประเทศ ทั้งนี้ เมื่อผลผลิตเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นควรห่อด้วยกระดาษฟอยล์ เพื่อทำให้ผิวมีสีสวยและสม่ำเสมอ เป็นการสร้างมูลค่า สำหรับกระดาษฟอยล์มีต้นทุน แผ่นละ 8 บาท แล้วยังสามารถนำมาใช้ได้หลายครั้ง

หากต้นใดที่สมบูรณ์เต็มที่และมาจากสายพันธุ์ดี จะได้ผลผลิตเฉลี่ยอย่างต่ำราว 50 กิโลกรัม ต่อต้น หรือเฉลี่ยพวงละ ประมาณ 10 กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม สำหรับผลผลิตที่เกิดขึ้นในครั้งแรก คุณอภิชนแนะว่า ควรเด็ดผลออกบางส่วน เพราะป้องกันไม่ให้ต้นแม่โทรมเร็ว

“เรื่องของความหวานของผลอินทผลัม ในช่วงที่ฝนตก จะทำให้ความหวานลดลง ผมทดลองหาเทคนิคและพบว่า อินทผลัมสามารถสร้างความหวานกลับไปที่ผลได้เร็ว โดยการเปิดให้พวงผลรับแสงแดดบ้าง ก็จะช่วยให้ความหวานของผลกลับคืนมาได้ ทำคุณภาพอินทผลัมได้ดีตามเดิม”

ผิวผลสวย ก็เป็นการสร้างคุณภาพผลอินทผลัมเช่นกัน คุณอภิชน บอกว่า การห่อผลเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้ผิวสวย เทคนิคการห่อผลให้ผิวอินทผลัมสวย ควรห่อหลังการผสมเกสรประมาณ 2 เดือน

ส่วนการแยกหน่อเพื่อขยายพันธุ์นั้น สวนภูผาลัมทำเป็นปกติ และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ซึ่งการแยกหน่อต้องดูหน่อที่สมบูรณ์ มีรากมากพอที่จะทำให้ต้นสามารถเจริญเติบโตได้เองหลังลงปลูก ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจสั่งนำเข้าหน่อพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาแล้ว

สำหรับเหตุผลของการสั่งนำเข้าหน่อพันธุ์นั้น คุณอภิชน บอกว่า เพราะบางสายพันธุ์แล็บไม่นำมาเพาะเนื้อเยื่อ ทำให้ผู้ที่ต้องการปลูกสายพันธุ์ที่แล็บไม่ได้นำมาเพาะเนื้อเยื่อ ต้องการต้นพันธุ์ไปปลูก ต้องหาวิธีขยายพันธุ์ ซึ่งทำได้วิธีเดียวคือการแยกหน่อ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ปลูกด้วยการแยกหน่อ ต้นเพาะเนื้อเยื่อ หรือแม้แต่ยังมีผู้สนใจการเพาะด้วยเมล็ดก็ตาม ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในทุกๆ สายพันธุ์ขณะนี้ ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค

คุณอภิชน เป็นผู้บุกเบิกการปลูกอินทผลัมด้วยต้นเพาะเนื้อเยื่อรายต้นๆ ของประเทศไทย และมีอุดมการณ์ของการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัม เขาจึงยินดีอย่างยิ่ง หากผู้สนใจเข้าใจในพืชชนิดนี้อย่างถ่องแท้ หากท่านใดต้องการสอบถามข้อมูลการปลูกอินทผลัม หรือสั่งซื้อต้นพันธุ์เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต้นพันธุ์แบบแยกหน่อ สามารถติดต่อได้ที่ สวนภูผาลัม

เห็ดโคน หรือ เห็ดปลวก คนละชนิดกับเห็ดโคนน้อย ความจริงเห็ดโคนน้อยคือเห็ดถั่ว โดยทั่วไปมักพบขึ้นอยู่ตามกองซากถั่วเหลือง หรือถั่วเขียว

วงจรชีวิตของเห็ดโคนหรือเห็ดปลวกนั้น ต้องพึ่งพาปลวกเข้ามาช่วย จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า ปลวกงานจะนำเอาสปอร์ ซึ่งเป็นหน่วยขยายพันธุ์ที่มีขนาดเล็กมาก ทำหน้าที่เช่นเดียวกับเมล็ดพืชอื่นๆ ไปปลูกในรังให้เป็นอาหารของปลวกวัยอ่อน ส่วนสปอร์ที่หลงเหลือ เมื่อได้รับความชื้นในฤดูฝนก็จะเติบโตโผล่พ้นผิวดินขึ้นมาปรากฏให้เห็น และเป็นอาหารอันโอชะของมนุษย์เรา

วิธีเพาะหรือปลูกเห็ดโคน ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน เริ่มจากนำจาวปลวก ที่อยู่ภายในจอมปลวก มีขนาดใกล้เคียงกับกะลามะพร้าวผ่าซีก จอมปลวกหนึ่งรังจะมีจาวปลวกหลายอัน มีลักษณะเบา โปร่ง ซุย มีรอยทางเดิน ซอกแซก ทะลุถึงกันได้ จาวปลวกน่าจะเป็นสวนปลูกเห็ดอ่อน เพราะมีเส้นใยขาวเต็มไปหมด สามารถพัฒนาเป็นดอกเห็ดต่อไป

เกษตรกรจะนำส่วนนี้ออกมาถู หรือขยี้ ให้เป็นฝุ่นโปรยลงบนข้าวเหนียวนึ่งสุก ทิ้งให้เย็น เติมน้ำเล็กน้อยแล้วคลุกให้เข้ากัน คล้ายกับการทำสาโท นำไปหมักในถังพลาสติก ปิดปากถังด้วยผ้าขาวบาง เกษตรกรบางท่านอาจฉีกหมวกเห็ดโคนผสมลงไปด้วยก็มี เก็บในร่ม ปล่อยให้เส้นใยเจริญเพิ่มปริมาณจนมองเห็นสีขาวชัดเจน ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ จึงนำไปหว่านในสวนในร่มรำไร อย่าให้แสงแดดจ้า ในช่วงแล้งควรสับฟางข้าว หรือนำใบไม้แห้งโรยลงพื้นเพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุเป็นอาหารชั้นดีของเห็ด

เมื่อเตรียมหัวเชื้อไว้เรียบร้อยแล้วจึงนำไปหว่านลงดิน กะให้พอดีกับต้นฤดูฝน หากฝนทิ้งช่วงควรรดน้ำให้บ้างเป็นครั้งคราว จากนั้นอีกประมาณ 30-45 วัน จะมีดอกเห็ดปรากฏให้เห็น ทั้งหมดนี้เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านล้วนๆ ขอให้ใช้ความพยายามทำซ้ำหลายๆ ครั้ง ความสำเร็จย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

จากสภาพอากาศร้อน มีแสงแดดจัด สลับกับมีท้องฟ้ามืดครึ้มบางช่วงของวัน และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ระยะนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงให้เฝ้าระวังโรคแอนแทรกโนสที่สามารถพบได้ในระยะที่เริ่มปลูกหอมแดง มักพบแสดงอาการของโรคบนใบ กาบใบ คอ หรือส่วนหัว โดยเริ่มแรกพบจุดเล็กสีเขียวหม่นฉ่ำน้ำ ต่อมาแผลขยายใหญ่เป็นแผลรูปกลม หรือรี เนื้อแผลยุบลงเล็กน้อย บนแผลมีหยดของเหลวสีชมพูอมส้ม

เมื่อแผลแห้งจะเห็นเป็นตุ่มเล็กสีน้ำตาลดำ เรียงเป็นวงรีซ้อนกันหลายชั้น ถ้าแผลขยายใหญ่หรือหลายแผลมาชนกัน จะทำให้ต้นหอมแดงหักพับ แห้งตาย หรือเน่าตายทั้งต้น ทำให้ผลผลิตลดลง หากแสดงอาการของโรคในระยะที่ต้นหอมแดงยังไม่ลงหัว จะพบแสดงอาการต้นแคระแกร็น ใบบิดเป็นเกลียว ไม่ลงหัว ถ้าเป็นโรคในระยะที่หอมเริ่มลงหัว จะทำให้หัวลีบยาว บิดโค้งงอ ส่วนคอมักยืดยาว มีระบบรากสั้นกว่าปกติ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต

แนะนำให้เกษตรกรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงและรอบแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรค ถ้าพบต้นที่เป็นโรค ให้ถอนต้นที่พบเชื้อรานำไปเผาทำ ลายนอกแปลงปลูกทันที จากนั้นให้เกษตรกรพ่นด้วยสารโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นสารชนิดใดชนิดหนึ่งสลับกับสารแมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค กรณีโรคยังคงระบาด ให้พ่นซ้ำทุก 5 วัน

ทั้งนี้ ก่อนการปลูกหอมแดง เกษตรกรควรไถพรวนพลิกดินขึ้นมาตากแดด 2-3 แดด โดยไถให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตร ขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานกว่า 2 สัปดาห์ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจตกค้างในดิน และช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก จากนั้นให้ใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อปรับสภาพดิน

และเลือกใช้หัวพันธุ์ที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรค โดยแช่หัวพันธุ์ก่อนปลูกด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์ม่า อัตรา 10-20 กรัม ต่อหอมแดง 1 กิโลกรัม หรือสารโพรคลอราช 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แช่นาน 15-20 นาที อีกทั้งในแปลงที่เคยมีการระบาดของโรครุนแรง เกษตรกรควรเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชสกุลหอมและกระเทียมสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 2 ปี

แก้วมังกร หรือ Dragon Fruit สมัคร Royal Online V2 ชื่อวิทยาศาสตร์ Hylocereus undatus (Haw) Britt.Rose. เป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง เป็นพืชล้มลุกในตระกูลกระบองเพชร เป็นไม้เลื้อยอายุยืน ผลลักษณะทรงกลมหรือทรงรี ผิวเปลือกหนาสีแดงหรือสีเหลือง มีกลีบเลี้ยงอยู่บนผล เนื้อสีขาวหรือสีแดงตามสายพันธุ์ เนื้อนุ่มชุ่มน้ำ ข้างในเนื้อมีเมล็ดสีดำเล็กๆ มากมาย

รสชาติหวานเย็น มีกลิ่นหอม นิยมปลูกสามสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์เนื้อขาวเปลือกแดง พันธุ์เนื้อขาวเปลือกเหลือง และพันธุ์เนื้อแดงเปลือกแดง ลำต้นคล้ายต้นกระบองเพชร มีลักษณะสามเหลี่ยมเป็นแฉกๆ เปลือกผิวลื่นอวบน้ำ ขอบเหลี่ยมมีรอยหยักมีหนาม ลำต้นเป็นปล้องต่อกันสีเขียวเข้ม รากฝอย ลักษณะกลมขนาดเล็กสีน้ำตาลแทงลงในดินหรือออกตามกิ่งข้างบน ดอกเดี่ยวรูปทรงกรวย เมื่อดอกบานคล้ายปากแตร กลีบดอกสีขาว กลีบเลี้ยงแข็งสีเขียวอ่อน กลิ่นหอม ออกดอกที่ปลายยอดของกิ่ง

นายสมศักดิ์ วรรณศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มจัดการศัตรูพืชหลังการเก็บเกี่ยว กรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ศัตรูพืชที่สำคัญของไม้ผลมีหลายชนิด ด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นเป็นหนึ่งในแมลงศัตรูที่สำคัญในไม้ผล เนื่องจากด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นหรือด้วงบ่าหนามจุดนูนดำ เป็นด้วงหนวดยาวที่พบเจาะกินในกิ่งและลำต้นไม้ผลและไม้ยืนต้นมากกว่า 50 ชนิด เช่น ทุเรียน มะม่วง อะโวกาโด มะม่วงหิมพานต์ หม่อน ยางพารา และต้นไม้บอนไซในสกุลไทร เป็นต้น

การระบาดของแมลงชนิดนี้เกษตรกรจะไม่ทราบ เนื่องจากหนอนด้วงหนวดยาวทำลายอยู่ภายใต้เปลือกของลำต้นที่ไม่สามารถสังเกตเห็นจากภายนอกได้ ตัวหนอนมีหัวสีน้ำตาล ลำตัวสีขาว ยาวไม่มีขา ตัวเต็มวัยมีหนามแหลมอยู่ที่ด้านข้างของอกและที่ไหล่ ปีกแข็งคู่หน้ามีจุดสีเหลืองและแดงกระจายบนปีก มีจุดนูนดำอยู่ที่ฐานปีก หนอนเข้าดักแด้ในลำต้น มีช่วงอายุ 1 ปี และออกเป็นตัวเต็มวัยในช่วงฤดูฝนราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไป

ลักษณะการทำลายตัวเมียวางไข่ในเวลากลางคืนโดยบินมาเกาะและไต่หาตำแหน่งที่เหมาะสมตามลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ ตัวหนอนจะกัดกินชอนไชไปตามเปลือกไม้ด้านใน หรืออาจกัดควั่นเปลือกรอบต้น ขณะหนอนยังเล็กอยู่สังเกตแทบไม่เห็นร่องรอยการทำลาย แต่เมื่อหนอนโตขึ้นจะพบขุยไม้ละเอียดซึ่งเป็นมูลของหนอน หนอนที่เจาะกินอยู่ภายในทำให้เกิดยางไหล ส่งผลให้ท่อน้ำ ท่ออาหาร ถูกตัดทำลาย ใบร่วง กิ่งแห้งตาย ต้นทรุดโทรมและยืนต้นตายได้ในที่สุด เกษตรกรจะสังเกตเห็นก็ต่อเมื่อหนอนโตและอาจเจาะเข้าเนื้อไม้ หรือกินควั่นรอบลำต้นแล้ว

สำหรับแนวทางการป้องกันกำจัด เกษตรกรควรหมั่นสำรวจสวนผลไม้เป็นประจำ โดยสังเกตรอยแผลจากการวางไข่และการทำลายของหนอนบริเวณลำต้นและกิ่งไม้เก็บทำลายเพื่อตัดวงจรการระบาด นอกจากนี้ สามารถลดจำนวนหนอนโดยกำจัดตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาว โดยใช้ไฟส่องในช่วง เวลา 19.00-24.00 น. หรือใช้ตาข่ายตาถี่พันหลวมๆ รอบต้นเพื่อดักจับตัวเต็มวัยทำลายทิ้ง