รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกระเกษตรและสหกรณ์ประธานในพิธี

ปัจจุบันตลาดการซื้อขายออนไลน์มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสินค้าอาหาร และผลิตผลิตทางการเกษตร ที่นับว่ามีศักยภาพสูงมากในการซื้อขายทาง E-Commerce และมีแนวโน้มว่าจะเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมุ่งพัฒนาเกษตรกรให้สอดรับกับความเติบโตของตลาด ด้วยการนำแนวคิด “เกษตรอัจฉริยะ” หรือ “SMART AGRICULTURE” มาเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับสังคมเกษตรกรรมดั้งเดิม ไปสู่สังคมเกษตรกรรมสมัยใหม่หรือเกษตรกรรม 4.0

การทำเกษตรอัจฉริยะเป็นการทำเกษตรที่มีการวิเคราะห์สภาพพื้นที่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่โดยใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรกลการเกษตรอัจฉริยะบนพื้นฐานงานวิจัยในการควบคุมกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอน ควบคู่ไปกับการพัฒนาเกษตรกรและบุคลากรรุ่นใหม่ให้เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้ ความสามารถในการนำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะไปใช้ เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับสังคมเกษตรกรรมของไทยในระยะต่อไป โดยนอกจากการพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าเกษตร และทักษะของเกษตรกร

ในการทำการเกษตรอัจฉริยะซึ่งนับเป็นการพัฒนาในส่วนของต้นน้ำและกลางน้ำแล้ว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรและตลาดเกษตรกร เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสเข้าถึงสินค้าเกษตรคุณภาพโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และเพิ่มโอกาสทางการตลาดที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลให้กับเกษตรกรไทย ด้วยการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรสู่การซื้อขายระบบออนไลน์ ซึ่งนับเป็นการพัฒนาในส่วนที่เป็นปลายน้ำอีกด้วย

การจัดงาน ORTORKOR SMART EXPO 2019 จึงถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรและคนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจ และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดสินค้าเกษตรในปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการปรับตัวร่วมไปกับทิศทางการพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป”

นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เผยว่า “ORTORKOR SMART EXPO 2019 ตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพ (อ.ต.ก. Fair)” เป็นมหกรรมสินค้าเกษตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปี จัดโดย องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) เพื่อตั้งเป้าหมายให้เป็นตลาดสดต้นแบบ ที่ยึดแนวคิดของตลาดสดผสานเข้ากับเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ภายในงานพบกับพื้นที่จัดแสดงสุดยอดสินค้านวัตกรรมเกษตรคุณภาพ มาตรฐาน อ.ต.ก. เทคโนโลยี ศักยภาพ และบริการของตลาด อ.ต.ก. ในยุค 4.0 ใน ORTORKOR SMART PAVILION ไฮไลท์หนึ่งของงานที่แบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซน Introduction

จัดแสดงภาพรวมของตลาด อ.ต.ก. พร้อมฉายภาพยนตร์ เพื่อสื่อสารภาพแนวทางการพัฒนาสินค้าเกษตรในยุค 4.0, โซน Ortorkor 4.0 จัดแสดงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรรูปแบบ Display Mini Ortorkor รวมถึงสินค้าเกรดคุณภาพ การันตีมาตรฐานระดับ Best Of Ortorkor พร้อมแสดงจุดจำลองการใช้งานแอพพลิเคชั่น ‘ปลูกเองขายเอง’ ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงเกษตรกรผู้ผลิตได้โดยตรง จองผลิตผลทางการเกษตรได้จากต้น และโซน Business Matching ที่เปิดพื้นที่พบปะ พูดคุย แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการ พัฒนาสู่ความร่วมมือทางธุรกิจอย่างมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ต่อไป

ภายในงาน ORTORKOR SMART EXPO 2019 มีการจัดแสดงสุดยอดสินค้าการเกษตรคุณภาพระดับประเทศ เพื่อเป็นศูนย์รวมสินค้าตลาดสดต้นแบบ ทางเลือกใหม่ของผู้บริโภค เป็น 6 โซน รวม 212 บู๊ธ แบ่งเป็น โซน Siam Orchids Centre ศูนย์รวมพันธุ์กล้วยไม้งามหลากหลายสีสันจากทั่วประเทศ, โซนสินค้าหัตถกรรม ศูนย์รวมสินค้าศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากทั่วประเทศไทย อาทิ ผ้าไทย งานปัก เครื่องสาน, โซนผักและผลไม้ ขายสินค้าผักและผลไม้สดใหม่ มีคุณภาพจากเกษตรกรทั่วประเทศ, โซนสินค้าแปรรูป ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลิตผลทางการเกษตรที่น่าสนใจมากมายให้เลือกสรร, โซนสินค้าออร์แกนิก ขายผลิตภัณฑ์และสินค้าปลอดสารพิษ ได้รับการรับรองมาตรฐาน ปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภคและธรรมชาติ 100% และ โซน Food Village อาหารปรุงสำเร็จขึ้นชื่อ รสชาติอร่อยจากทุกภาคทั่วไทย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญของงาน ORTORKOR SMART EXPO 2019 คือการรวบรวมสุดยอดองค์ความรู้ ขยายขีดความสามารถเกษตรกร ภายใต้แนวคิด “ติดปีกเกษตรกรไทย ก้าวไกล ในยุค 4.0” บนเวทีอบรมสัมมนา เสวนา แลกเปลี่ยนความรู้ และตัวอย่างความสำเร็จเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกร โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในแขนงต่างๆ อาทิ ด้านการเกษตร, การประกอบธุรกิจ, การตลาด, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาเป็นผู้บรรยายภายในงาน และพบกับกิจกรรมเวิร์คช็อปสาธิตฝึกอาชีพ พร้อมสนุกสนานไปกับการแสดงและกิจกรรมมากมายตลอด 4 วันเต็ม

“การพัฒนาเพื่อเข้าสู่ยุค 4.0 ในครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างตลาดสดต้นแบบทางเลือกใหม่แก่ผู้ซื้อเท่านั้น แต่ตัวผู้ขายอย่างเกษตรกรก็ได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีไม่แพ้กัน ทั้งการสร้างสรรค์โอกาสเพื่อการเรียนรู้ด้านการตลาด, การเพิ่มพูนทักษะการพัฒนารูปแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ การสร้าง แรงบันดาลใจ รวมทั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ และการบริหารจัดการสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่สำคัญมหกรรมสินค้าเกษตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งปีในครั้งนี้ จะเป็นเหมือนโอกาสในการขยายตลาดสินค้าเกษตรคุณภาพให้กับเกษตรกร ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ แก่อุตสาหกรรมการเกษตร และยังช่วยเผยแพร่สินค้าเกษตรไทยให้เป็นที่รู้จัก ตลอดจนสร้างชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียน พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติต่อไป” นายกมลวิศว์ กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับที่สุดแห่งมหกรรมสินค้าเกษตรแห่งปี ในงาน “ORTORKOR SMART EXPO 2019” ในวันที่ 29 สิงหาคม – 1 กันยายน 2562 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 7 เวลา 11.00-21.00 น. ศูนย์นิทรรศการและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. (02) 640-8013

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านการพัฒนาและประยุกต์ใช้งานบล็อกประสาน กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทรส.) ส่งเสริมความร่วมมือ พัฒนาบุคลากรของทั้งสององค์กรด้านการศึกษาวิจัย คาดช่วยสร้างโอกาสการพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า สำหรับการลงนามในวันนี้ ขอขอบคุณ ท่าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ที่ให้เกียรติมาร่วมลงนามกับ วว. เพื่อร่วมกันพัฒนาและประยุกต์ใช้งานบล็อกประสาน ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาบุคลากรของทั้งสององค์กรด้านการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มโอกาสการพัฒนางานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

“… ความร่วมมือของ วว. และ มทรส. ในครั้งนี้ จะได้ร่วมกันพัฒนาและประยุกต์การใช้งานบล็อกประสาน และนำไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมถึงดำเนินการ ทดสอบมาตรฐานบล็อกประสานโดยเน้นทางด้านการทดสอบการนำความร้อน และการกันการลามไฟ และรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และมาตรฐานในประเทศหรือมาตรฐานเฉพาะทางที่กำหนด ตลอดจนแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาบุคลากรของทั้งสององค์กร ด้านการศึกษาวิจัย การพัฒนากิจกรรม การถ่ายทอด ด้านบล็อกประสานและวัสดุก่อสร้าง โดยมีกำหนดระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง วว. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือนี้จะช่วยให้เกิดการนำและประยุกต์ใช้บล็อกประสาน วว. ในวงกว้างและเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น…” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไพศาล กล่าวว่า อนึ่ง ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ วว. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกประสาน วว. สำหรับใช้เพื่อการก่อสร้าง บล็อกประสาน วว. เป็นวัสดุก่อรับน้ำหนักที่ได้ทำการพัฒนารูปแบบให้มีรู และเดือยบนตัวบล็อก เพื่อให้สะดวกในการก่อสร้าง โดยเน้นการใช้วัตถุดิบในพื้นที่ ได้แก่ ดินลูกรัง หินฝุ่น ทราย หรือวัสดุเหลือทิ้งต่างๆ ที่มีความเหมาะสม ลดการใช้ซีเมนต์เป็นส่วนประกอบทำให้มีน้ำหนักน้อยกว่าบล็อกประสานดั้งเดิม สามารถใช้ในการก่อสร้างอาคารต่างๆ หรือก่อเป็นถังเก็บน้ำได้อย่างรวดเร็ว สวยงาม และประหยัดกว่าการก่อสร้างทั่วๆ ไป ช่วยเพิ่มมูลค่าของวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่เดิม

ยูไอ กรีนเมตริก (UI Green Metric) คือ การจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก เพื่อวัดความพยายามเกี่ยวกับความยั่งยืนของมหาวิทยาลัย บนกรอบแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ความประหยัด และความเที่ยงธรรม ตัวชี้วัดและหมวดต่างๆ ในการจัดอันดับจะมีความเกี่ยวเนื่องกันกับแนวคิดทั้งหมด การเข้าร่วมในการจัดอันดับ ยูไอ กรีนเมตริก จะช่วยสร้างเสริมความพยายามที่จะทำให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับ

ยูไอ กรีนเมตริก เริ่มต้นด้วยการสร้างความตระหนัก แต่ในอนาคตจะมีการนำไปปรับใช้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องแปรความเข้าใจให้เป็นการกระทำ สิ่งนี้นับว่ามีความสำคัญมาก หากเราต้องการจะจัดการกับความท้าทาย ที่กำลังเกิดขึ้นทั้งโลกในขณะนี้

ผศ.ไพศาล บุรินทร์วัฒนา อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมีความมุ่งมั่นในการสร้างแบบอย่างและเตรียมพร้อมก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) โดยเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด คุ้มค่าและยั่งยืน Green University คือ การบริหารจัดการทรัพยากรและการพัฒนาเพื่อไปสู่ความยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการสำรวจสภาพปัญหาผังโครงการก่อนเข้าสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย พ.ศ. 2560-2564 ตามประเด็นยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยที่ 5 คือการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความมั่นคงและการบริหารจัดการตนเองได้ มีเป้าหมายการดำเนินโครงการอยู่ 2 ประเด็นหลักที่สำคัญ ประเด็นแรก เพื่อสำรวจสภาพปัญหาทางกายภาพของมหาวิทยาลัย และประเมินตนเองตามเกณฑ์มาตรฐานสากล UI GreenMetric ประเด็นที่สอง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการ และการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่มาตรฐานมหาวิทยาลัยสีเขียวสากล โดยการสำรวจสภาพปัญหาทางกายภาพของมหาวิทยาลัยเพื่อประเมินตนเองตามเกณฑ์มาตรฐานสากล UI GREENMETRIC

มหาวิทยาลัยได้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยการปลูกหญ้า ปลูกต้นไม้ และได้เริ่มต้นใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นอาคารแรก ณ อาคารจัดการบริหารเชิงบูรณาการ นอกจากนั้น การดำเนินงานอาคารสีเขียวของมหาวิทยาลัย มีการกำหนดเป็นนโยบาย การก่อสร้างและปรับปรุงอาคารให้สามารถระบายอากาศได้ดี ใช้แสงธรรมชาติตลอดทั้งวัน มีระบบการจัดการพลังงานในอาคาร การจัดการ ของเสีย มหาวิทยาลัยอยู่ได้มีการวางแผนนโยบาย เพื่อลดการใช้กระดาษและพลาสติก และส่งเสริมโครงการนำของเสียในมหาวิทยาลัย กลับมาใช้ใหม่

ใช้สื่อในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการประชาสัมพันธ์ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศแทน ลดปริมาณการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในมหาวิทยาลัย การกำจัดของเสียอินทรีย์และอนินทรีย์ รวมถึงโครงการจัดทำปุ๋ยหมัก ด้านน้ำ ได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์การนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ในระยะเริ่มต้นที่อาคารโรงอาหาร RUS Food Senter และโครงการเปลี่ยนอุปกรณ์ประหยัดน้ำ โดยในปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมีปริมาณการใช้น้ำประปา และปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ ลดการใช้น้ำประปา ส่วนด้านการขนส่ง

ระบบการขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมลพิษในมหาวิทยาลัย มีนโยบายส่งเสริมการเดินเท้า มีการรณรงค์การใช้รถจักรยานภายในมหาวิทยาลัยแทนรถยนต์หรือรถจักยานยนต์ มีระบบขนส่งสาธารณะและจัดที่จอดรถอย่างเป็นระบบ กำหนดโซนที่จอดรถหรืออาคารที่จอดรถให้ง่ายต่อการบริหารจัดการมลภาวะทางอากาศ สำหรับด้านการศึกษา มหาวิทยาลัยได้สอดแทรกรายวิชาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในหลักสูตร และสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักวิจัย ทำงานเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ดร.ธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษาร้อยเอก ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมหารือกับนายรัตนะ สวามีชัย รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ผู้ตรวจราชการ ส.ป.ก. (นางสาววรรณพร ดอกจำปา) และผู้เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการนำระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมาเป็นแนวทางในการพัฒนาภาคการเกษตรในเขต ส.ป.ก.

อาทิ การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมของชุมชน และการทำเกษตรกรรมยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดิน ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมืิอง จังหวัดพะเยา เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ปัญหาหมอกควัน และฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โดยการปลูกสร้างป่าระบบวนเกษตร ตามรูปแบบโครงการธนาคารอาหารชุมชน เน้นไม้ยืนต้นที่เป็นพืขท้องถิ่นที่ชาวบ้านสามารถนำมาบริโภคได้ ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดโครงการจิตอาสาสืบสานการสร้างป่าและเกษตรกรรมยั่งยืนในเขตปฏิรูปที่ดิน เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน 2562

เพื่อเริ่มต้นดำเนินงานดังกล่าว รวมทั้งรับการตรวจเยี่ยมพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดพะเยาของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอก ดร.ธรรมนัส พรหมเผ่า) พร้อมทีมงาน (ดร.ธนสาร ธรรมสอน ที่ปรึกษา รอ.ดร. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอัครา พรหมเผ่า ประธานกรรมการฮักบ้านเกิด และคณะ) ณ บ้านต๊ำพระแล ตำบลบ้านต๊ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา

โดย ส.ป.ก. จัดกิจกรรมปลูกป่าระบบวนเกษตร กลุ่มเป้าหมาย 1,000 ราย จากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ เกษตรกร ชุมชน โรงเรียนและวัด พร้อมทั้งมอบ ส.ป.ก.4-01 ให้เกษตรกร 200 ราย มอบปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ปลา ปัจจัยฯ พด. การจัดนิทรรศการของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเสริมสร้างระบบกสิกรรมยั่งยืนโดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินผสมผสานกับการสร้างพื้นที่ป่าร่วมกับการทำการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดินต่อไป

“มะนาว” ไม้ผลตระกูลส้ม มีรสเปรี้ยวและกลิ่นหอมเฉพาะตัว ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิ ปรุงแต่งรสชาติอาหาร ใช้ทำขนม เครื่องดื่ม เป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ความงาม นำไปแปรรูป ตลอดจนเป็นวัตถุดิบสินค้าในภาคอุตสาหกรรมจำพวกผลิตภัณฑ์ประเภทซักล้าง จากคุณสมบัติที่รอบด้าน ส่งผลให้มะนาวขายได้ตลอดทั้งปี

ตลาดมีความต้องการมะนาวตลอดเวลา ดังนั้น จะดีแค่ไหน ถ้ามะนาวที่ปลูกสามารถย่นระยะเวลาเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ถ้าอยากรู้ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” มีเคล็ดลับดีๆ ของ คุณประวิทย์ แซ่โง้ว เกษตรกรเจ้าของพื้นที่ 20 ไร่ ในตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ผู้คิดค้นเทคนิคการปลูกมะนาวต้นคู่ โตเร็ว ให้ผลผลิตที่ไวกว่าเดิม

ฉีกกฎปลูกมะนาว
จากต้นเดี่ยว เป็นต้นคู่
คุณประวิทย์ เป็นคนชอบคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เดิมสวนแห่งนี้ปลูกแต่มะนาวต้นเดี่ยวเป็นแบบยกร่อง ต่อมาทดลองปลูกเป็นแบบต้นคู่ หรือ 2 ต้น ลักษณะลำต้นไขว้กันในหลุมเดียวกัน แทนที่มะนาวจะโตช้า กลับโตเร็วเหมือนแข่งกันโต ฉะนั้น จึงนำเทคนิคดังกล่าวมาขยายผลอย่างจริงจัง

พื้นที่จำนวน 20 ไร่ ปลูกมะนาวต้นคู่ทั้งหมด โดยใช้มะนาวพันธุ์แป้นพวง เพราะเปลือกบางให้น้ำปริมาณมาก ขายได้ราคาดี เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

พื้นที่ปลูกเป็นสวนแบบยกร่อง ใช้ระยะปลูกมะนาว 4×4 เมตร ขนาดหลุมกว้างและลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ปลูกในดินได้ทุกชนิด อาทิ ดินเหนียว ดินทราย ดินปนทราย แม้กระทั่งดินลูกรัง บริเวณก้นหลุมรองด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก

ส่วนวิธีปลูก นำกิ่งพันธุ์จำนวน 2 กิ่ง ลงปลูกในหลุมเดียวกัน ลักษณะลำต้นไขว้กัน หรือวางติดกัน จากนั้นกลบดินบริเวณโคนต้นให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งล้มหรือกิ่งฉีกหัก นำไม้มาปักพร้อมกับผูกเชือก ตลอดจนถ้าบริเวณโคนต้นแดดแรง ให้ใช้หญ้าแห้ง ฟางข้าว มาพรางแสงแดด ทั้งนี้ เพื่อรักษาความชื้น

ในสัปดาห์แรก จะให้น้ำวันละครั้ง จากนั้นให้วันเว้นวัน เป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ หลังจากต้นมะนาวตั้งตัวได้ จะให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง ส่วนวิธีการใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะใส่ครั้งแรกหลังจากปลูกไปได้ 1 สัปดาห์ สูตร 46-0-0 ปริมาณ 1 ช้อนแกง ต่อหลุม ถัดจากนั้นอีก 2-3 สัปดาห์ จะใส่ปุ๋ย สูตร 25-7-7 หลุมละ 1 ช้อนแกง

เมื่อต้นมะนาวอายุ 3 เดือน จะใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 หลุมละ 1 กำมือ ใส่เดือนละครั้ง ไปจนกระทั่งมะนาวอายุได้ 5 เดือน นอกจากนี้ บำรุงต้นด้วยปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ ไร่ละ 1 ตัน ปีละ 2 ครั้ง หลังจากมะนาวเริ่มติดผล ปรับไปใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 หลุมละ 3 กำมือ ต่อครั้ง

มะนาวต้นคู่จะให้ผลผลิตเร็ว และมีปริมาณสูงกว่าต้นเดี่ยวถึง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยต้นไม่โทรม แถมปุ๋ยที่ใช้ก็มีปริมาณเท่ากับต้นเดี่ยว มีเพียงต้นทุนค่ากิ่งพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม นับว่าคุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้รับ

โรค-แมลงศัตรูพืชของมะนาว
ศัตรูมะนาวที่สำคัญ ได้แก่ หนอนชอนใบ เพลี้ยไฟ และโรคแคงเกอร์ ล้วนทำให้ผลผลิตลดลงถึงขั้นกิ่งและต้นแห้งตายไปในที่สุดเลยก็ว่าได้

หนอนชอนใบ สังเกตได้จากใบจะหงิกงอ ขอบใบม้วนเข้าหาเส้นกลางใบ ใบไม่เจริญเติบโต ต้นมะนาวจะแคระแกร็นไม่ติดผล ส่วนเพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ยอดอ่อน ใบอ่อน ผลการทำลายจะรุนแรงในระยะผลอ่อน หรือตั้งแต่เริ่มติดผล มะนาวที่ถูกทำลายจะปรากฏรอยสีเทา เป็นวงบริเวณขั้วผลและก้นผล

โรคแคงเกอร์ สามารถเกิดขึ้นได้แทบทุกส่วน ทั้ง ใบ กิ่งก้าน และผล ลักษณะอาการ ใบและผลจะเป็นแผล ค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้น นูนคล้ายฟองน้ำ มีสีเหลืองอ่อนถึงสีเหลืองเข้ม ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบ ส่วนอาการที่กิ่งและก้านจะมีแผลฟูนูนสีน้ำตาล ค่อยๆ ขยายไปรอบๆ กิ่ง เมื่อต้นมะนาวเป็นโรคนี้มาก ต้นจะโทรม ใบร่วง แคระแกร็น ผลผลิตลดลง กิ่งและต้นจะแห้งตายไปในที่สุด

การป้องกันและจำกัดศัตรูพืช วิธีแรกหมั่นคอยสำรวจแปลง หากพบกิ่งหรือผลที่ติดโรค ให้ตัดออกแล้วเผาทำลาย แต่กรณีที่ไม่สามารถควบคุมได้ ให้ใช้สารเคมีกำจัดรับรองคุ้มทุน มีมะนาวขายได้ทั้งปี
มะนาวต้นคู่จะเริ่มให้ผลผลิตภายใน 14-15 เดือน ต่างจากมะนาวทั่วไปที่ให้ผลผลิต 19 เดือน หลังให้ผลผลิต 3-4 ปี สังเกตต้นมะนาวจะมีต้นใดต้นหนึ่งเริ่มโทรม ให้ปลูกต้นเสริมมาแทนที่ จนกว่าต้นเสริมจะแข็งแรงดีให้ตัดต้นที่โทรมออก จะได้ต้นมะนาวที่อยู่ในระยะให้ผลผลิตเต็มที่ตลอดเวลา

มะนาว จะออกช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน พื้นที่ปลูก 20 ไร่ มี 40 กว่าร่อง เก็บผลผลิตช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้ร่องละ 2,500 กิโลกรัม หรือประมาณไร่ละ 5 ตัน ถ้าเป็นช่วงหน้าแล้งเก็บมะนาวได้เฉลี่ย 300 กิโลกรัม ต่อเดือน โดยผลผลิตที่เก็บได้ เป็นขนาดจัมโบ้ 40 เปอร์เซ็นต์ ขนาดกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ และขนาดเล็ก 20 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยแล้วมะนาวต้นคู่ 1 ต้น ให้ผลผลิตประมาณ 1,500 ลูก ต่อปี หากเป็นมะนาวต้นเดี่ยวจะให้ผลผลิตต้นละ 1,300 ลูก ต่อปี

แม้ว่าการปลูกมะนาวแบบต้นคู่จะโตเร็ว แต่ในด้านเงินลงทุนถือว่าค่อนข้างสูง เพราะต้องซื้อกิ่งพันธุ์เพิ่ม เบ็ดเสร็จแล้ว 1 ไร่ ตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งเก็บผลผลิต ประมาณ 60,000 บาท

แต่ถือว่าคุ้มค่ากับการลงทุน เพราะภายหลังมะนาวออกผลเพียงครึ่งปีก็สามารถคืนทุนได้แล้ว แถมหลังช่วงเก็บเกี่ยว หรือเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีพืชชนิดหนึ่ง เรียกว่า “หญ้าชิวคัก” ขึ้นเองตามธรรมชาติ นำไปใช้ทำขนม เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ช่วยให้แป้งนิ่ม มีรสชาติดี ขายได้กิโลกรัมละ 300-400 บาท พื้นที่ 20 ไร่ มีหญ้าชนิดนี้ขึ้นราว 100 กิโลกรัม สร้างรายได้ครั้งละประมาณ 30,000 บาท

จะเห็นได้ว่า กรรมวิธีการปลูก การบำรุงดูแลรักษา “มะนาวต้นคู่” ไม่ได้มีความยุ่งยาก หรือแตกต่างไปจาก “มะนาวต้นเดี่ยว” ฉะนั้น เทคนิคง่ายๆ จากเกษตรกรรายนี้ นับว่าน่าลองนำไปใช้ทีเดียว

ผู้ปลูกรายใดที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับ คุณประวิทย์ แซ่โง้ว ได้ ณ บ้านเลขที่ 104 หมู่ที่ 3 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เบอร์โทรศัพท์ (032) 246-335