“ละมุดกระสวยมาเลย์” ดก ใหญ่ หวาน กรอบ ผลไม้ม้ามืด

ทำเงินหลักล้านต่อปี เจ้าของบอกว่า โดยทั่วไปละมุดสายพันธุ์หลักๆ ที่นิยมปลูกในประเทศไทยจะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์มะกอก และกระสวยมาเลย์ ซึ่งที่สวนจะเลือกปลูกเป็นพันธุ์กระสวยมาเลย์ทั้งหมด ด้วยจุดเด่นของพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดก รูปร่างผลยาวรี เนื้อแน่น เนียนกรอบ หวานเข้ม และเป็นพันธุ์ที่ปลูกได้ดีในพื้นที่รับน้ำอย่างภาคใต้ เรียกว่าทนฝน ทนแล้ง ต่างจากพันธุ์มะกอก ถ้าปลูกในพื้นที่รับน้ำจะไม่ค่อยเห็นผล เมื่อเวลาติดผลแล้วลูกจะร่วงเยอะ

ส่วนขั้นตอนการปลูกและดูแลนั้น ตนได้เข้ามาจัดการสวนให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดการแปลงปลูก ดูทิศทางของแสง รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ภายในสวน ปรับเปลี่ยนการปลูกให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ด้วยลักษณะที่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมทุกปี จึงต้องใช้วิธีการปลูกแบบยกร่องสวน

การเตรียมดิน ต้องยกความดีความชอบให้กับดินที่นี่ ที่เป็นดินเหนียว เพราะละมุดชอบดินเหนียว แต่จริงๆ แล้วสามารถปลูกขึ้นและมีผลได้ทุกดิน เพียงแต่ว่าด้านรสชาติที่เยี่ยมที่สุดก็ต้องเป็นดินเหนียว

การปลูก ขุดหลุมกว้างและลึกเท่าขนาดปีบครึ่งใบ จากนั้นใส่ปุ๋ยคอกแล้วเคล้าผสมดินให้เข้ากัน จากนั้นลงมือปลูกด้วยกิ่งตอน ในช่วงเริ่มต้นการปลูกนั้นจำเป็นต้องหาไม้มาประคองต้นไว้ เพราะจุดอ่อนของละมุดคือไม่มีรากแก้ว ดังนั้น เมื่อเกิดลมพายุต้นจะล้มได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ไม้ประคองให้รากยึดติดดิน ประคองจนต้นอายุได้ 2 ปี เนื่องจากปัญหาของที่สวนคือ น้ำมาแล้วดินจะนิ่ม และ 3 ปี ถึงจะปลอดภัยตอนน้ำท่วม

ระยะห่างระหว่างต้น โดยทั่วไปสวนละมุดส่วนใหญ่จะปลูกกันในระยะ 4-6 เมตร แต่ที่สวนใช้ประสบการณ์คำนวณระยะการปลูกเป็นของตัวเอง เป็น 7×7 เมตร เพราะในระยะ 7×7 เมตร นี้มีข้อดีหลายข้อด้วยกัน

ที่สวนจะให้ความสำคัญกับแสง เพราะแสงจะช่วยให้พืชปรุงอาหารได้เต็มที่ ส่งผลทำให้ได้ผลผลิตที่มากขึ้น
ปัญหาเรื่องโรคแมลงลดลง เพราะถ้าปลูกระยะใกล้เกินไป ใบหนาแน่นเกินไป โรคแมลงจะเยอะ และความชื้นของดินก็มีผลกับเชื้อรา ถ้าต้นโปร่งแดดส่องถึงปัญหาเชื้อราก็จะน้อยลง
เพื่อสะดวกในการใช้เครื่องจักร เนื่องจากสมัยก่อนยังไม่มีการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการเก็บผลผลิต ต้องใช้เรือค่อยๆ เก็บ แต่ในปัจจุบันที่สวนมีการพัฒนาใช้รถเก็บผลผลิตของญี่ปุ่น สามารถวิ่งเก็บได้รอบต้น จึงยอมเสียจำนวนต้นที่ปลูกได้น้อยลง แต่ได้แดด และการจัดการที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น
ระบบน้ำ ละมุดถือเป็นพืชทนแล้ง และทนน้ำท่วม การให้น้ำ 3-4 วันครั้ง และจะให้แค่เฉพาะช่วงหน้าแล้ง 3-4 เดือน ต่อปี ตอนที่ติดลูกเยอะๆ เป็นระบบน้ำสปริงเกลอร์ โดยใช้เครื่องวัดความชื้นเข้ามาช่วยในการให้น้ำ หรืออาจจะใช้วิธีการสังเกตจากใบ ผล และน้ำหนักของกิ่ง ใบ ถ้าแห้งก็เปิดน้ำรดแค่เพียงเท่านี้

ปุ๋ย ที่สวนจะค่อนข้างทันสมัย มีการพ่นปุ๋ยด้วยรถแอร์บัส ส่วนปุ๋ยที่ใส่นั้นเป็นปุ๋ยหมักเองตามสูตร คือ ปุ๋ย 1 ตัน ต่อไร่ ต่อปี หรือถ้าปีไหนทำปุ๋ยเองไม่ทัน จะใช้ปุ๋ยคอกที่ซื้อมา ในอัตราการใส่ที่เท่ากัน คือ 1 ตัน ต่อไร่ ต่อปี และเสริมด้วยปุ๋ยเคมีทุก 2 เดือน เพราะละมุดมีผลติดต้นตลอดปี และช่วงเก็บเกี่ยวคือ จะได้ผลผลิตละมุด 8 เดือน ต่อปี การให้ปุ๋ยจึงต้องต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว ละมุดจะติดผลในปีที่ 4 แต่โดยทั่วไปจะออกผลตั้งแต่อายุ 3 ปี แต่ในช่วง 3 ปีแรกที่สวนจะเดินตัดดอกตัดลูกทิ้งให้เลี้ยงลำต้นอย่างเดียว แล้วจึงค่อยปล่อยให้ติดลูกปีที่ 4 ส่วนฤดูกาลของละมุดนั้น เริ่มออกตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกรกฎาคมของอีกปี เท่ากับมีผลผลิตให้เก็บยาวนานถึง 8 เดือน

การเก็บผลผลิต บางรอบสามารถเก็บผลผลิตติดต่อกันได้ทุกวัน โดยการเก็บแต่ละครั้งจะดูความแก่ของผลเป็นหลัก ถ้าผลยังแก่ไม่จัดก็ต้องหยุดเก็บสัก 1-2 สัปดาห์ แล้วแต่จังหวะ ผลไม้ถ้าแก่ไม่จัดความหวานจะไม่ได้

การเก็บละมุดต้องสังเกตที่ผิว ถ้าลูบผิวแล้วเห็นเป็นสีเหลืองทองคือเก็บได้ แต่ถ้าลูบผิวแล้วยังเป็นสีเขียวแสดงว่ายังไม่แก่ เก็บยังไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ว่าลูกใหญ่แล้วเก็บได้ แต่ให้สังเกตที่สีผิวเป็นหลัก หลังจากนั้นเมื่อเก็บผลผลิตที่ได้คุณภาพมาแล้ว จะนำไปสู่ขั้นตอนการล้าง โดยใช้เครื่องล้างอัตโนมัติ จากนั้นนำไปเข้าเครื่องคัดไซซ์ เมื่อได้ไซซ์ต่างๆ ที่ต้องการแล้ว นำไปผึ่งลมให้แห้ง แล้วใช้คนที่มีความชำนาญตรวจผลผลิตอีกครั้งว่ามีตำหนิ หรือมีลูกที่ไม่แก่จัดหลงอยู่บ้างไหม ถ้ามีก็คัดออก แล้วนำผลผลิตที่ได้คุณภาพไปบ่มไว้ 2 คืน เพื่อให้ละมุดสุกสม่ำเสมอเท่ากันทุกลูก

ปริมาณผลผลิต 11 ไร่ เก็บได้ประมาณ 30-40 ตัน ต่อฤดูกาล ถือว่าผลผลิตดก น้ำหนักดี มีตั้งแต่ไซซ์จัมโบ้ขนาด 8 ลูก 1 กิโลกรัม ที่สวนสามารถผลิตได้ประมาณ 15-20 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตทั้งหมด ราคาขายอยู่ที่ 120-140 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนไซซ์รองลงมาราคาก็จะลดหลั่นไปเรื่อยๆ แต่จะไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 50 บาท ถือเป็นผลไม้ที่ราคาดีมากๆ และที่สำคัญราคาไม่ดีไม่ตกเหมือนผลไม้ชนิดอื่น คิดเป็นรายได้ต่อปี ละมุด 11 ไร่ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณหลักล้านบาท ส่วนอีก 11 แปลง ที่ปลูกเพิ่มกำลังจะเริ่มให้ผลผลิตในปีหน้า

ปัญหาและอุปสรรค นอกจากช่วง 2 ปีแรก ที่ต้องระวังไม่ให้ต้นล้มแล้ว ยังต้องระวังหนอนเจาะลำต้นอีกด้วย ในช่วง 3 ปีแรก คือช่วงที่ต้องหมั่นเฝ้าระวัง เพราะถ้าหนอนเจาะลำต้นได้ไปถึงราก จะทำให้ยืนต้นตาย นี่คือปัญหา วิธีแก้สำหรับมือใหม่คือ ต้องทำให้โคนต้นโล่ง พยายามเดินยามบ่อยๆ 3-4 วัน เดินครั้ง ให้สังเกตว่าถ้ามีหนอนเจาะลำต้น จะมีลักษณะเหมือนขี้เลื่อยตามกิ่ง ตามโคนต้น ถ้าเป็นแบบนี้ต้องหาตัวให้เจอ ถ้าไม่เจอแนะนำให้ใช้ไบกอนฉีดเข้าไปในรู แล้วใช้ดินเหนียวอุดทิ้งไว้ 2-3 วัน แล้วกลับมาดูว่าจะเกิดใหม่อีกไหม ถ้ายังเจอขี้เลื่อยอยู่แสดงว่าตัวยังไม่ตาย ให้พยายามหาให้เจอ แต่ถ้าเป็นที่สวนทำประจำจนเกิดความชำนาญแล้ว จะสามารถรู้ระยะในการปล่อยขี้เลื่อย และจะรู้ได้เลยว่าตัวอยู่ตรงไหน ก็สามารถใช้มีดกรีดที่ลำต้นแล้วเจอตัวได้โดยที่ไม่ต้องแกะเปลือกลำต้นเยอะ

แนวคิดการตลาดแบบคนรุ่นใหม่
ผู้ผลิตต้องสามารถกำหนดราคาเองได้
คุณสิทธิชัย เผยแนวคิดการทำตลาดของตนเองว่า ก่อนหน้าที่จะออกจากงานประจำ ตนและภรรยามีการวางแผนการตลาดกันก่อนแล้วว่า จะให้ภรรยาลาออกจากงานมาทำการตลาดก่อน โดยเริ่มแรกลงมือทำการตลาดใหม่ๆ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนราคาเดิมที่ทางบ้านตั้งไว้ เพราะมั่นใจในคุณภาพของผลผลิตว่าน่าจะขายได้แพงกว่านี้ จากที่เคยโดนพ่อค้าคนกลางกดราคาให้เหลือเพียงกิโลกรัมละยี่สิบกว่าบาท ก็แก้ด้วยวิธีขายเอง แบ่งทีมกับภรรยาแยกตลาดกันขาย แล้วเริ่มทำราคา เริ่มมีคนรู้จักละมุดของสวนมากขึ้น จนแม่ค้าที่เคยติดต่อไว้เริ่มกลับมา ซึ่งก็ตอบกับแม่ค้าไปตรงๆ ว่า ตอนนี้ราคาละมุดของสวนเราแพงนะ แต่แม่ค้าก็ยอมสู้จนได้ราคาที่เราพอใจ และเมื่อราคาที่สวนรับได้แล้ว ก็หยุดเรื่องการตลาด แล้วยกให้แม่ค้าแต่ละคนไปทำการตลาดกันเอง ซึ่งวิธีการนี้จะเห็นได้ว่าถ้าเราได้ใช้ความพยายามและความตั้งใจ บวกกับผลผลิตที่มีคุณภาพ เกษตรกรจะสามารถกำหนดราคาสินค้าได้เองเพราะของเราดี และให้คิดเสมอว่าสินค้าเรา เราต้องควบคุมได้เอง ไม่ใช่ให้พ่อค้าแม่ค้าคนกลางเป็นคนควบคุม จนถึงปัจจุบันนี้ทุกอย่างอยู่ในแนวทางที่ตั้งใจไว้ คือเป็นธุรกิจเงินสดทั้งหมด และไม่มีการส่งสินค้า แม่ค้าต้องมารับเองที่สวน

ฝากถึงลูกหลานเกษตรกร
ที่ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว
“อยากจะแนะนำสำหรับลูกหลานเกษตรกรที่ต้องกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัวว่า ให้พยายามตั้งใจทำและนำความรู้ของคนรุ่นใหม่มาพัฒนามรดกของบรรพบุรุษให้เจริญยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ผมเมื่อก่อนที่สวนจะฉีดพ่นปุ๋ยทีนึงต้องใช้คนงานประมาณ 4-5 คน ในการฉีดพ่น แต่พอผมมาทำตอนนี้ ผมทำงานคนเดียว เพราะมีการศึกษาการเกษตรของญี่ปุ่น มีการนำรถพ่นปุ๋ยแอร์บัสเข้ามาใช้ในสวน และในส่วนของขั้นตอนการล้างผลผลิตได้เห็นแล้วว่า ปริมาณละมุดต่อวันมีประมาณหลาย 100 กิโลกรัม ถ้าใช้แรงงานคนล้างอย่างเดียวจะกินเวลามาก ผมก็ได้เริ่มศึกษาจากหลายๆ ที่ว่าเขาทำกันยังไง แล้วนำมาดัดแปลงในแบบที่เราทำได้ เพราะเรามาสายนี้อยู่แล้ว มีการเก็บสะสมอุปกรณ์มาเรื่อยๆ แล้วก็เขียนแบบให้น้องๆ ในแผนกช่วยทำขึ้นมา กลายเป็นเครื่องล้างอัตโนมัติ ตั้งเวลาได้ เติมน้ำ ถ่ายน้ำเองได้ และในส่วนของการคัดไซซ์ในสมัยรุ่นพ่อต้องใช้เวลาตรงนี้นาน จึงมีการคิดแบบ หาความรู้จากยูทูบมาปรับเปลี่ยนทำเครื่องมือคัดแยก ประหยัดเวลา ประหยัดต้นทุน เพราะฉะนั้นจึงอยากแนะนำให้คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาที่ทางของตัวเอง แล้วจะรู้ว่าความสุขวนอยู่รอบตัวเรา” คุณสิทธิชัย กล่าวทิ้งท้าย

“มะม่วง” นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ปลูกมะม่วง ประมาณ 40,659 ไร่ พื้นที่ให้ผลผลิตแล้ว 33,785 ไร่ มีผลผลิตรวม ประมาณ 50,205 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,486 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยแหล่งปลูกมะม่วงมีอยู่มากในอำเภอเขาฉกรรจ์ วังน้ำเย็น วัฒนานคร อรัญประเทศ กิ่งวังสมบูรณ์ และอำเภอเมือง พันธุ์มะม่วงที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์แก้ว พิมเสน อกร่อง น้ำดอกไม้ เขียวเสวย โชคอนันต์ ฟ้าลั่น ชมรมชาวสวนจังหวัดสระแก้วได้ร่วมกันกำหนดราคาขายมะม่วงตามขนาดและคุณภาพ ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่มุ่งป้อนตลาดส่งออก ที่ผ่านมาอาชีพการทำสวนมะม่วงน้ำดอกไม้ สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกร ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 60,000-70,000 บาท ทีเดียว

อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์ เจ้าของสวน คุ้มจันทวงษ์ และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสูง อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ได้กรุณาสละเวลาพาทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้านไปสัมภาษณ์พิเศษ “คุณ พยอม สุขนิยม” ประธานชมรมชาวสวนจังหวัดสระแก้ว ณ บ้านเลขที่ 95 หมู่ที่ 9 ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว โทร. 081-947-3058 ผู้เขียนขอขอบพระคุณ “อาจารย์ธีระพล จันทวงษ์” มา ณ ที่นี้

ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง

ใครๆ ก็รู้ว่า ฤดูการเก็บเกี่ยวมะม่วงพันธุ์ไทยส่วนใหญ่อยู่ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนมะม่วงล่าฤดู (มิถุนายน-กรกฎาคม) ตามธรรมชาติ ได้แก่ มะม่วงมหาชนก นวลคำ อาร์ทูอีทู เขียวมรกต ส่วนมะม่วงล่าฤดู โดยการจัดการ ได้แก่ น้ำดอกไม้สีทอง ส่วนมะม่วงนอกฤดู (ทะวาย) มีทั้งก่อนฤดู (มกราคม-มีนาคม) และหลังฤดู (สิงหาคม-ธันวาคม) มะม่วงนอกฤดูที่เกิดตามธรรมชาติ ได้แก่ โชคอนันต์ แก้วทะวาย สามฤดู ศาลายา มันเดือนเก้า ฯลฯ ส่วนมะม่วงทะวายที่เกิดจากการใช้สารเคมีบังคับคือ น้ำดอกไม้สีทอง ฟ้าลั่น เพชรบ้านลาด หนองแซง เขียวเสวย

ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการนิยมใช้มะม่วงแก้วมาแปรรูปเป็นมะม่วงดอง ส่วนพันธุ์มหาชนก แก้ว โชคอนันต์ เขียวมรกต นิยมแปรรูปเป็นน้ำมะม่วง และมะม่วงอบแห้ง แต่นโยบายประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เมื่อ ปี พ.ศ. 2558 ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะม่วงไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีมะม่วงแก้วละเมียดของกัมพูชา หรือที่หลายคนเรียกว่า มะม่วงแก้วขมิ้น หรือ แก้วเขมร เข้ามาตีตลาดมะม่วงในประเทศไทย

มะม่วงแก้วขมิ้น มีลักษณะคล้ายมะม่วงแก้วของไทย แต่ลูกใหญ่กว่า เนื้อในมีสีเหลืองขมิ้นเหมือนมะม่วงขายตึก มีลักษณะเด่นคือ รับประทานได้อร่อยทั้งผลดิบและสุก เนื้อแน่นละเอียด มีสีเหลืองคล้ายขมิ้น เนื้อกรอบมัน รสหวานปนเปรี้ยว ผลดิบนิยมรับประทานกับน้ำปลาหวาน หรือปรุงเป็นเมนูยำมะม่วง ส้มตำมะม่วง ฯลฯ นอกจากนี้ มะม่วงแก้วขมิ้นผลแก่ สามารถบ่มให้สุก จะได้รสชาติหวานอร่อย ทำให้มะม่วงพันธุ์นี้เป็นที่ยอมรับของคนไทยอย่างกว้างขวาง บางครั้งมี “มะม่วงแก้วจากเวียดนามใต้” เนื้อนิ่ม รสไม่อร่อย แต่ใช้แปรรูปได้ ส่งขายโรงงานมะม่วงของไทยในราคาถูก

กรณีมะม่วงจากประเทศเพื่อนบ้านเปิดศึกรุกตลาดเมืองไทยในครั้งนี้ ได้ฉุดราคามะม่วงไทยลดลงพอสมควร มะม่วงไทยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือ มะม่วงพันธุ์มันเดือนเก้า ที่ผ่านมาเกษตรกรหลายรายที่ปลูกมะม่วงมันเดือนเก้า ได้พยายามปรับตัวตั้งรับปัญหา โดยหันไปปลูกมะม่วงพันธุ์อื่นที่ขายได้ราคาดีกว่า เช่น พันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงเขียวเสวย ฯลฯ

ในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ทางสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยพยายามสนับสนุนให้สมาชิกปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ มุ่งผลิตมะม่วงคุณภาพมากยิ่งขึ้น กระจายความเสี่ยงทางการตลาด โดยวางแผนผลิตให้มีมะม่วงทยอยเก็บเกี่ยวเข้าสู่ตลาดสัก 2-3 รุ่น ใครมีพื้นที่แปลงใหญ่ อาจแบ่งแปลงผลิตหรือในต้นเดียวกันมีหลายรุ่นก็ได้

เกษตรกรหลายรายวางแผนผลิตให้สอดคล้องกับการตลาด เช่น บางรายวางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว มะม่วงในประเทศขายได้ราคาดี ขณะที่ตลาดส่งออก ขายได้ในราคาปานกลาง หรือวางแผนเก็บเกี่ยวช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน แม้ระยะนี้ราคาในประเทศจะไม่ดีเท่าไร แต่ตลาดต่างประเทศขายได้ราคาดี ขณะที่บางรายวางแผนเก็บเกี่ยวผลผลิต 2 รุ่น คือ โดยตัดแต่งกิ่งช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม เพื่อให้มีผลผลิตออกขายได้ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

สำรวจตลาดมะม่วง จังหวัดสระแก้ว คุณลุงพยอม วัย 70 กว่าปี เล่าให้ฟังว่า ผมมีแปลงปลูกมะม่วง 2 แปลง รวม 60 ไร่ โดยปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง ฯลฯ เช่นเดียวกับเกษตรกรชาวสวนมะม่วงส่วนใหญ่ในจังหวัดสระแก้ว โดยมีผลผลิตทยอยเข้าสู่ตลาด 3 รุ่น ต่อปี แบ่งเป็นผลผลิตก่อนฤดูกาล นอกฤดู และหลังฤดู โดยปัจจัยความสำเร็จของการทำธุรกิจสวนมะม่วง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ 60% และฝีมือการบริหารจัดการผลผลิตอีก 40%

“เทคนิคการดูแลตัดแต่งกิ่งมะม่วงแบบเตี้ย” เป็นหนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จของกิจการสวนมะม่วงเงินล้านแห่งนี้ คุณลุงพยอม ชี้ให้ดูต้นมะม่วง อายุ 30 ปี ที่มีลำต้นเตี้ยมาก เพราะควบคุมแรงงานให้คอยตัดแต่งกิ่งออก 1 เมตร เป็นประจำทุกปี ทำให้มีลำต้นเตี้ย ง่ายต่อการดูแลเก็บเกี่ยวผลผลิต ขณะที่ชาวสวนมะม่วงโดยทั่วไปอาจจะยังไม่กล้าตัดแต่งกิ่งมากนัก เพราะเสียดายผลผลิตรุ่นใหม่ที่จะงอกขึ้นมาตามยอดใหม่ของกิ่งมะม่วงนั่นเอง

“มันเดือนเก้า” เคยเป็นมะม่วงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากในอดีต เพราะมีขนาดผลใหญ่ เนื้อนิ่ม รสชาติอร่อย สามารถรับประทานผสสด นิยมใช้ทำเมนูยำมะม่วง และเป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป จึงขายได้ราคาดี สร้างรายได้ก้อนโตให้เกษตรกร แต่หลังจากมะม่วงแก้วขมิ้นเข้ามาตีตลาด ตอนนี้มะม่วงมันเดือนเก้าเหลือราคาแค่กิโลกรัมละ 8-10 บาท และไม่เป็นที่ต้องการของโรงงานแปรรูป เช่นเดียวกับ “มะม่วงโชคอนันต์” จากเดิมที่เคยนิยมใช้ในอุตสาหกรรมมะม่วงดอง-มะม่วงแช่อิ่ม ตอนนี้โรงงานแปรรูปหันไปซื้อมะม่วงแก้วขมิ้นแทน โดยอ้างเหตุผลว่า หลังแปรรูป มะม่วงแก้วขมิ้นจะให้สีสันที่สวยกว่ามะม่วงไทย ทำให้มะม่วงแก้วขมิ้นที่นำเข้าจากกัมพูชาสามารถขายได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 15-18 บาท

“มะม่วงแก้วขมิ้น” พืชทางเลือกใหม่ของสระแก้ว

คุณลุงพยอม วางแผนปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น จำนวน 40 ไร่ เพื่อเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สู้กับมะม่วงแก้วขมิ้นที่นำเข้าจากกัมพูชา โดยพาทีมงานเทคโนฯ ไปเยี่ยมชมแปลงปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น ที่ทดลองปลูกแซมในสวนมะม่วงไทยมาแล้วกว่า 3 ปี

มะม่วงแก้วขมิ้น เป็นไม้ยืนต้น สูง 10-15 เมตร ใบเดี่ยว ออกเวียนสลับรอบกิ่งก้านหนาแน่นบริเวณปลายยอด ใบเป็นรูปรี ปลายแหลม โคนมน เนื้อใบค่อนข้างหนา ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ติดผลเป็นพวง 3-5 ผล แก้วขมิ้นมีผลขนาดใหญ่ ผลโตเต็มที่น้ำหนักเฉลี่ย 2-3 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม

มะม่วงแก้วขมิ้น เป็นไม้ผลเศรษฐกิจตัวใหม่ที่น่าสนใจ เพราะปลูกดูแลง่าย หลังอายุ 4-5 ปีไปแล้ว จะให้ผลดกมาก ผลดิบรสชาติไม่เปรี้ยวมากเท่ากับมะม่วงแก้วไทย และไม่มีกลิ่นขี้ไต้ เมล็ดลีบบาง เนื้อเยอะ รสชาติดี มะม่วงแก้วขมิ้นรับประทานได้ทั้งผลดิบและผลสุก ผลดิบสีไม่เหลือง ยิ่งผลแก่จัดจะยิ่งออกสีเหลืองเหมือนขมิ้นมาก ผลสุกมีรสหวาน มีเสี้ยนเล็กน้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่ง

คุณลุงพยอม บอกว่า การลงทุนปลูกมะม่วงแก้วขมิ้นในปีนี้ จะใช้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่ากับการปลูกมะม่วงพันธุ์ไทย เนื่องจากสวนแห่งนี้ปลูกแก้วขมิ้นมาหลายปี สามารถผลิตกิ่งพันธุ์ได้เอง จึงประหยัดต้นทุนได้ก้อนโต คุณลุงพยอมวางแผนดูแลจัดการสวนมะม่วงแนวใหม่คือ ปลูกระยะชิด ควบคุมให้ลำต้นเตี้ย เพื่อให้ง่ายต่อการดูแลจัดการผลผลิตในอนาคต

คุณลุงพยอม ตั้งใจปลูกมะม่วงในระยะห่าง 6×6 เมตร เฉลี่ยไร่ละ 40 ต้น เนื่องจากสวนแห่งนี้ปลูกอยู่ในพื้นที่ดอน ทำให้ต้นมะม่วงที่ปลูกมีอายุเก็บเกี่ยวได้นานถึง 80 ปี เรียกว่าลงทุนครั้งเดียว เก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน คุ้มค่ากับการลงทุนเป็นที่สุด

“สวนเดิมของผมอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อย้ายมาอยู่พื้นที่แห่งนี้ ได้ลงทุนปลูกมะม่วง ไร่ละ 100 ต้น จากประสบการณ์การทำสวนมะม่วงกว่า 30 ปี สอนให้รู้ว่า การปลูกในระยะถี่-ห่าง แบบไหนดีที่สุด ก็พยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยปรับจำนวนต้นมะม่วงต่อไร่ในปัจจุบัน เป็นไร่ละ 93 ต้น และไร่ละ 66 ต้น สำหรับสวนมะม่วงแห่งใหม่ที่ตัดสินใจปลูกเพียงแค่ ไร่ละ 40 ต้น เพื่อสะดวกต่อการดูแลจัดการสวนในระยะยาว” คุณลุงพยอม กล่าว

ปัจจุบัน คุณลุงพยอม zunescene.mobi ได้ทดลองคำนวณต้นทุนการผลิตมะม่วงในสวนแห่งนี้ให้ฟังว่า มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มีต้นทุนการผลิต ขั้นต่ำประมาณ 12 บาท ต่อกิโลกรัม มะม่วงโชคอนันต์ มีต้นทุนการผลิตโดยเฉลี่ย ประมาณ 5-6 บาท ต่อกิโลกรัม ส่วนแก้วขมิ้น จากที่เคยทดลองปลูกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า เติบโตดี ทนโรคแมลง ใช้สารเคมีน้อย ต้นทุนการผลิตต่ำ เฉลี่ย 5 บาท ต่อกิโลกรัม เพื่อความอยู่รอด และเพิ่มโอกาสการแข่งขันในอนาคต ต้องพยายามลดต้นทุนมะม่วงโชคอนันต์ให้เหลือแค่ 3 บาท ต่อกิโลกรัม (ปัจจัยเสี่ยงคือ ปัญหาโรคแมลงรบกวน หากฝนฟ้าอากาศเป็นใจ ไม่มีโรคแมลงรบกวน สามารถควบคุมต้นทุนได้สบาย)

หลังปลูกมะม่วงแก้วขมิ้น จะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ปีที่ 3 หากสามารถควบคุมทรงพุ่มโต จะให้ผลผลิตเยอะ ที่สำคัญมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามะม่วงโชคอนันต์ เป็นที่ต้องการสูง ในตลาดบริโภคผลสด และอุตสาหกรรมแปรรูป เรียกว่า มะม่วงแก้วขมิ้น สามารถแข่งขันได้ในเชิงปริมาณและราคาขาย คุณลุงพยอม มั่นใจว่า มะม่วงแก้วขมิ้นจะเป็นสินค้าทางเลือกตัวใหม่ที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

คุณลุงพยอม เป็นเกษตรกรมืออาชีพที่สะสมความรู้และประสบการณ์รอบตัวเกี่ยวกับการทำสวนมะม่วงมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำสวนมะม่วง หรือการทำสวนผลไม้ในจังหวัดสระแก้ว สามารถเข้ามาพูดคุย เยี่ยมชมสวน หรือโทรศัพท์เข้ามาขอคำแนะนำจาก คุณลุงพยอม สุขนิยม ได้ทุกวัน ตามที่อยู่และเบอร์โทร.ข้างต้น รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน

ปัจจุบันมีผู้นิยมบริโภค “ยอดมะพร้าว” กันมากขึ้น เนื่องจากมีรสชาติดีเมื่อนำไปประกอบอาหารก็จะทำให้รสชาติดีตามไปด้วย โดยการปลูกต้นมะพร้าวเพื่อตัดยอดอ่อนขายนั้นยังถือว่าเป็นอาชีพที่มีอนาคต ในบางช่วงที่มะพร้าวผลสดราคาตก แต่ยอดมะพร้าวนั้นราคาจะอยู่ที่ราวๆ 250-300 บาท ซึ่งถือว่าราคาขยับสูงขึ้นมากในรอบ 5 ปีเลยทีเดียว

ข้อควรคำนึงในการปลูกมะพร้าวเพื่อตัดยอด จะต้องมีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดปี เนื่องจากต้องให้น้ำต้นมะพร้าวทุกๆ 2 สัปดาห์ ต้องหมั่นกำจัดวัชพืชอยู่เสมอ พร้อมกับมีการให้ปุ๋ยอย่างพอเพียง

วิธีการปลูก เริ่มจากการเตรียมดิน โดยการไถดะ ไถแปร แล้วขึ้นร่องเพื่อป้องกันน้ำขังขณะฝนตกหนักหรือหลังการให้น้ำ สันร่องกว้าง 1-1.5 เมตร ปรับผิวร่องให้เรียบ ใช้ระยะปลูก 2×3 เมตร ขุดหลุมปลูกลึก 25-30 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกเก่า อัตราครึ่งบุ้งกี๋ต่อหลุม คลุกเคล้ากับดินให้เข้ากัน

หลุมปลูกควรปลูกให้ชิดขอบด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว นำกล้ามะพร้าวอาจใช้พันธุ์มะพร้าวทั่วไปหรือมะพร้าวน้ำหอมก็ได้ สุดแท้แต่ความสะดวกที่จะหาได้ และต้องเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงสมบูรณ์ มีใบ 4-6 ใบ วางต้นกล้าลงที่หลุมที่เตรียมไว้ ฝังกลบผลเพียงครึ่งเดียวไม่จำเป็นต้องกลบมิดลูกแล้วรดน้ำตาม เพื่อทำให้มีโอกาสรอดตายสูงควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝนตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป

เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 3 ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 2 ช้อนแกง ต่อต้น โรยรอบต้นห่างจากโคนต้น ประมาณ 1 คืบ แล้วรดน้ำตาม หากต้องการให้ใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้อง ควรนำดินในแปลงไปวิเคราะห์หาธาตุอาหารในดินเสียก่อน

และขอคำแนะนำว่า ดินในแปลงของคุณขาดธาตุอาหารใด แล้วใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ จะช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ ขณะต้นมะพร้าวยังมีขนาดเล็ก ควรใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวปลูก เผือก ตะไคร้ หรือพืชอายุสั้นอื่นๆ เพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง ในช่วงขาดฝนต้องให้น้ำอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง เมื่อต้นมะพร้าวอายุ 1 ปี 8 เดือน ถึง 2 ปี จะเริ่มตั้งสะโพกซึ่งเป็นระยะตัดยอดที่ดีที่สุด มะพร้าว 1 ยอด จะมีน้ำหนัก 10-20 กิโลกรัม

หลังจากตัดแต่งยอดแล้วนำใส่ลงในถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่ ผูกปากถุงด้วยเชือกให้เรียบร้อยเก็บในห้องเย็น หรือในร่ม เตรียมส่งจำหน่ายต่อไป