ลักษณะเด่นของทับทิม พันธุ์คือเมล็ดนิ่มสีชมพูสดใส

รสหวาน อร่อย ที่สำคัญให้ผลดกมาก ต้นทับทิมพันธุ์เพชรชมพู มีหนามน้อย ปลูกปีเดียวก็ให้ผลผลิต ตั้งแต่ดอกบานจนเก็บผลผลิตได้ ใช้เวลา 10 เดือน ระยะเวลาออกดอกไม่แน่นอน แต่ทยอยออกดอก ติดผลในลักษณะทะวาย ทับทิม พันธุ์ “เพชรชมพู” มีน้ำหนักโดยเฉลี่ย ผลละ 5 ขีด ขนาดใหญ่สุดที่เคยชั่งได้ ผลละ 1 กิโลกรัม เปลือกในช่วงผลอ่อนสีเขียว ผลแก่ที่ผ่านการห่อ สีผลจะจางลง ยามแก่ผลสีเข้มขึ้น ผลผลิตในช่วงฤดูฝนจะมีเมล็ดสีชมพู ช่วงฤดูแล้งเมล็ดจะมีสีแดงจัด

อีกชนิดคือ ทับทิม พันธุ์ “จรัสแสง” เป็นสินค้าตัวใหม่ที่คุณโย่งไปยื่นขอจดทะเบียนพันธุ์พืชกับกรมวิชาการเกษตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยระบุแหล่งที่มาของทับทิมพันธุ์นี้ว่า ช่วง ปี 2554 ได้นำสายพันธุ์ทับทิมจากประเทศอินเดียมาปลูก โดยใช้เมล็ด ได้ต้นกับดอกของทับทิมทั้งหมด 5 ต้น เมื่อต้นทับทิมทั้ง 5 ต้น ออกดอก ผสมพันธุ์โดยใช้ละอองเรณูดอกของทับทิมสายพันธุ์อินเดีย มาผสมกับทับทิมพันธุ์เพชรชมพู

จากนั้น ก็เพาะเมล็ดทับทิมที่ได้จากการผสมแล้ว จนได้ต้นทับทิมทั้งหมด 50 ต้น ในจำนวนนี้มีอยู่ 3 ต้น เท่านั้น ที่มีลักษณะแตกต่างจากพันธุ์เดิม คือมีดอกสีส้มแดง ออกดอกเป็นช่อ และผลเป็นพวง ตั้งแต่ 3 เดือนแรก แยกลูกทับทิมออกจากกลุ่ม และเด็ดลูกทับทิมออกให้เหลือน้อยลง จากนั้นห่อลูกทับทิมด้วยหนังสือพิมพ์ และคัดเลือกต้นที่ให้ผลขนาดใหญ่ มีน้ำหนักมากที่สุด มีเมล็ดนิ่ม น้ำมาก และมีรสชาติอร่อย หวาน เปรี้ยวเล็กน้อย เพียง 1 ต้น จาก 3 ต้น เมล็ดทับทิมที่เห็นเมื่อถูกแสงแดดจะมีแสงแวววาว จึงตั้งชื่อว่า “พันธุ์จรัสแสง” ซึ่งตรงกับชื่อไร่ของผู้ยื่น

ทับทิมพันธุ์จรัสแสง มีลักษณะประจำพันธุ์ทางพฤกษศาสตร์ ประเภท ทับทิม ชื่อสามัญ Pomegranate วงศ์ Punicaceae ชื่อวิทยาศาสตร์ Punica granatum L. ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ต้น เป็นไม้พุ่ม เนื้อไม้แข็ง ทรงพุ่มโปร่ง มีความสูงประมาณ 2-3 เมตร เส้นรอบโคนต้น ประมาณ 9 เซนติเมตร สีของเปลือกมีสีเทาน้ำตาล มีหนามยาวแหลมคม ใบ เป็นใบเดี่ยว รูปขอบขนาน เรียงตรงข้าม มีความกว้าง 1.5 เซนติเมตร ยาว 5 เซนติเมตร โคนใบมน ยอดอ่อนเป็นสีแดง

ทับทิมพันธุ์จรัสแสง มีดอกเดี่ยว หรือออกเป็นช่อดอก ช่อดอกยาว 4 เซนติเมตร ดอกกว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร ดอกมีสีส้มอมแดง ผล ทรงผลค่อนข้างกลมใหญ่ ความกว้างผล 7-10 เซนติเมตร ยาว 7-10 เซนติเมตร ผลโตเต็มที่ มีน้ำหนัก เฉลี่ย 3-4 ขีด ต่อผล ผลมีสีแดงปนเขียวอมเหลือง เมล็ด มีจำนวนมาก อัดกันแน่นเต็มเปลือก เมล็ดมีสีส้มแดง นิ่ม และรสชาติดี ให้ผลผลิตเป็น 3 ช่วง ในเดือนพฤษภาคม สิงหาคม และธันวาคม ทับทิมจรัสแสงมีลักษณะเด่นสำคัญ คือ 1. เมล็ดนิ่ม รสชาติดี และมีสีสันสวยงาม 2. ให้ผลผลิตเร็ว (หลังปลูกประมาณ 6 เดือน) และให้ผลผลิตดี ขนาดผลใหญ่

ทุกวันนี้ ไร่จรัสแสง มีพื้นที่ปลูกทับทิมเกือบ 20 ไร่ คุณกลาง กล่าวว่า ทับทิมเมล็ดนิ่มปลูกได้ทั่วไป ระยะปลูกที่เหมาะสม ระหว่างต้นระหว่างแถว 5 คูณ 5 เมตร ไร่หนึ่งมีจำนวนต้นทั้งหมด 64 ต้น นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการตอนกิ่ง เพราะจะทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดีเช่นเดียวกับต้นแม่พันธุ์ ส่วนการเพาะเมล็ดทำได้ง่ายและได้ปริมาณมาก ในเวลารวดเร็ว แต่เสี่ยงกับการกลายพันธุ์ได้ง่าย

การปลูกในช่วงเตรียมดิน จะใส่ปุ๋ยคอก ระยะที่ผลเติบโต จะใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หลังปลูกจะดูแลตัดแต่งกิ่งบ้าง เมื่อต้นทับทิมติดผลจะต้องห่อเพื่อกันแมลง ไม่ควรห่อผลช่วงที่ลูกเล็กมากนัก เพราะจะทำให้ผลผลิตที่ได้แคะแกร็นไม่สมบูรณ์ การปลูกต้นทับทิม เจอปัญหาโรคแอนแทรกโนสและเชื้อรารบกวนบ้าง อย่างไรก็ตาม การปลูกทับทิมต้องระวังอย่าใช้ยาแรงฉีด เพราะใบจะร่วงได้

“ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกันดีในทุกภาค มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนิยมนำมาปรุงช่วยเพิ่มสีสันแต่งกลิ่นและรสชาติของอาหาร มีตำรับอาหารและตำรับยามากมายเป็นทั้งยาภายนอกและยาภายใน สำหรับยาภายในใช้เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย บำรุงธาตุ แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น ส่วนยาภายนอก เชื่อว่าขมิ้นชันช่วยรักษาและสมานแผล ทำให้แผลไม่เป็นหนอง

และขมิ้นชันยังเป็นสมุนไพรเครื่องสำอางได้ดีอีกด้วย “ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมายาวนานของคนไทย กล่าวได้ว่าคนในตระกูลไตที่กระจายกันอยู่แถบเอเซีย ทั้งในรัฐอัสสัม พม่า ไทย จีน ลาว ต่างรู้จักในชื่อเดียวกันทั้งสิ้น

“ขมิ้นชัน” ไม่ใช่ยารักษาโรคแต่ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรเครื่องเทศ ที่ใส่ในอาหารในชีวิตประจำวัน โดยนำมาปรุงแต่งและใช้ประกอบอาหารซึ่งพบมากทางภาคใต้ จะเห็นได้ว่าอาหารปักษ์ใต้มักมีสีออกเหลืองแทบทุกอย่าง สำหรับคนใต้ขมิ้นชันเป็นเครื่องเทศที่แทบจะขาดไม่ได้เลย เพราะนอกจากช่วยในการดับกลิ่นคาวได้ดีแล้ว ยังเป็นสมุนไพรปรุงรส และช่วยสมานแผลได้อีกด้วย

คนใต้ส่วนใหญ่จะใช้เหง้าใต้ดินของขมิ้น (หัวขมิ้น) มาผสมในเครื่องแกงต่างๆ รวมทั้งใช้ปรุงอาหารใต้เกือบทุกเมนู ส่วนใบของขมิ้นจะนำมาเป็นผักเหนาะและส่วนผสมของข้าวยำปักษ์ใต้ที่ขึ้นชื่ออีกด้วย นับว่าเป็นความชาญฉลาดของคนใต้ ที่คิดหาวิธีกินขมิ้นโดยประยุกต์เข้ากับอาหารได้เป็นอย่างดีซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาทางด้านโภชนาการ และเวชการของคนใต้ที่สืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

ขมิ้น มีด้วยกัน 7 สายพันธุ์ แต่เมืองไทยพบ 4 สายพันธุ์ คือ ขมิ้นอ้อย คนโบราณใช้ช่วยขับลม แก้ท้องร่วง มีสารรสฝาดทำให้แผลหายเร็ว แก้ฟกบวม เป็นสายพันธุ์เดียวที่พบในญี่ปุ่น ซึ่งคนญี่ปุ่นนิยมใช้บำรุงตับ
ขมิ้นขาว (หัวม่วง = คนใต้) นิยมกินกับน้ำพริก
ขมิ้นดำ คนโบราณนิยมนำมาทำน้ำมันหอมระเหย
ขมิ้นชัน มีสรรพคุณโดดเด่น ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์ มีหลายหน่วยงานศึกษา “ขมิ้นชัน” ในเชิงการแพทย์ จนขมิ้นชันได้รับการขึ้นบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย
“ขมิ้นชัน” มีชื่อเรียกแตกต่างออกไปตามท้องถิ่น เช่น ขมิ้น (ทั่วไป) ขมิ้นป่า ขมิ้นทอง ขมิ้นดี ขมิ้นแกง ขมิ้นหัว (เชียงใหม่) ขี้หมิ้น หมิ้น (ใต้) ตายอ (กะเหรียง- กำแพงเพชร) สะยอ (กะเหรี่ยง- แม่ฮ่องสอน) ชื่อสามัญ : Turmeric, Curcuma ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma Longa L.

“ขมิ้นชัน” เป็นไม้ล้มลุกหลายปี มีเหง้าใต้ดิน เนื้อในเหง้าสีเหลืองส้ม มีกลิ่นเฉพาะตัว ในขมิ้นชันมีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ กลุ่มที่เป็นสารให้สี คือ เคอร์คูมินอยด์ (curcuminoid) พบประมาณร้อยละ 5 ของน้ำหนักแห้ง ซึ่งร้อยละ 50-60 ของเคอร์คูมินอยด์ที่พบ เป็นเคอร์คิวมิน (curcumin) โมโนเดสเมท็อกซีเคอร์คูมิน (monodes methoxy curcumin) และบิสเดลเมท็อกซเคอร์คูมิน (bis- desmethoxy curcumin) ส่วนสารสำคัญอีกกลุ่ม คือ น้ำมันหอมระเหย ที่ประกอบด้วย โมโนเทอร์พีนอยด์ (monoterpenoin) และเซสควิเทอร์พีนอยด์ (sesquiterpenoids)

“ขมิ้นชัน” มีชื่อเสียงทางสรรพคุณยามากขึ้นเรื่อยๆ โดยสารสีเหลืองส้มในขมิ้นนั้น พบว่ามีคุณค่าต่อสุขภาพมนุษย์ สำหรับขมิ้นชันที่ปลูกในภาคใต้ถือว่าดีที่สุดในโลก เพราะมีสารเคอร์คิวมินและน้ำมันขมิ้นสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีการปลูกขมิ้นทั้งหมด สารเคอร์คิวมินที่พบในขมิ้นชันนั้นเชื่อว่ามีฤทธิ์แอนติออกซิเดชั่นอย่างแรง และสามารถจับอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นในร่างกายซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงของเซลล์ต่างๆ ได้

การกินขมิ้นชัน ควรเลือกที่ได้คุณภาพ คือ ต้องมีอายุอย่างน้อย 9-12 เดือน จึงสามารถขุดเหง้ามาทำยาได้และ ต้องไม่เก็บไว้นานเกินไปจนน้ำมันหอมระเหยหายหมด และต้องเก็บให้พ้นแสง เพราะแสงจะมีปฏิกิริยากับสารสำคัญอย่างเคอร์คิวมิน หากจะกินขมิ้นเป็นประจำก็ควรปลูกและดูแลเองโดยนำแง่งขมิ้นชันมาปลูกรดน้ำพอชุ่ม วันละ 1-2 ครั้ง ก็สามารถปลูกขมิ้นไว้กินได้แล้ว และยังสามารถควบคุมคุณภาพได้ แถมประหยัดเงินในกระเป๋าอีกด้วย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ควรเลือกแหล่งซื้อที่ไว้ใจได้

ปัจจุบันขมิ้นชันแคปซูล เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติและเป็นยาในงานสาธารณสุขมูลฐาน สามารถที่จะเบิกค่ายาจากระบบสุขภาพต่างๆ ได้ อีกทั้งปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาอนุญาตให้ขมิ้นชันสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาสามัญประจำบ้านได้แล้ว ดังนั้นจึงสามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณขมิ้นชัน “ขมิ้นชัน” มีวิตามิน เอ, ซี, อี ที่เข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำงานพร้อมกันทั้ง 3 ตัว และยังเชื่อว่าน้ำมันหอมระเหยในขมิ้นมีสรรพคุณต้านโรคร้ายที่เกิดจากอนุมูลอิสระอย่างมะเร็งได้ และการรับประทานขมิ้นพร้อมกับอาหารจะช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ ช่วยกำจัดเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารที่รับประทานเข้าไปและสะสมในร่างกายเตรียมก่อตัวเป็นเซลล์มะเร็งได้ “ขมิ้นชัน” ไม่มีพิษเฉียบพลันจึงมีความปลอดภัยสูง การกินอาหารที่ใส่ขมิ้นจึงเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมนุษย์

“ขมิ้นชัน” เป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร ขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด รักษาโรคทางเดินหายใจ บรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ ช่วยรักษาโรคไขข้ออักเสบ แก้อาการปวดตามข้อ- เข่า และยังมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อรา แต่ ก็มีข้อระวังเช่นกัน คือ ไม่ควรรับประทานมากหรือติดต่อกันนานจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการกระวนกระวาย อาเจียน ถ่ายเป็นเลือด สตรีมีครรภ์อ่อนๆไม่ควรกินขมิ้นชันในปริมาณมาก อาจจะทำให้แท้งได้ หากกินขมิ้นชันแล้วเกิดอาการแพ้ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดหัว ควรหยุดรับประทานทันที

ปัจจุบัน มีการศึกษาเพื่อพิสูจน์สรรพคุณของขมิ้นตามการใช้แบบโบราณ ก็พบว่ามีสรรพคุณมากมายตามที่เคยใช้กันมา เช่น ขมิ้นชันมีสรรพคุณทำให้แผลหายเร็วขึ้น มีฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดปฏิกิริยาภูมิแพ้ เพิ่มภูมิคุ้นกันให้แก่ร่างกาย มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง มีฤทธิ์ขับน้ำดี ช่วยในการย่อยและป้องกันไม่ให้เป็นนิ่วในถุงน้ำดี มีฤทธิ์ขับลม รวมทั้งมีการศึกษาการใช้ขมิ้นชันรักษาโรคกระเพาะ ข้อจำกัดของการกินขมิ้นชัน ผลงานวิจัยพบว่า การกินขมิ้นชัน ช่วยลดการจุกเสียดและปวดชะงักมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ยาลดกรดอะลั่มมิลด์ พบว่าขมิ้นชันมีอัตราการแก้ปวดท้องได้ดีกว่า

การนำ “ขมิ้นชัน” มาใช้ในตำรับยา และตำรับอาหาร เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ได้บ่มเพาะมาแต่อดีต ถ้าเราศึกษาภูมิปัญญาของไทยตามความเชื่อเข้าใจเรื่องอาหาร และยาสมุนไพรโอกาสที่จะเกิดโรคนั้นมีน้อย เพราะในอาหารก็คือยา ยาก็คืออาหาร การเข้าใจเรื่องประโยชน์ของอาหารและยาสมุนไพร โดยเฉพาะเรื่องสรรพคุณ เราก็จะได้ประโยชน์จากอาหารนั้น “ขมิ้นชัน” เป็นสมุนไพรที่คนไทยกินเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าเราตระหนักถึงคุณค่าของขมิ้นชันในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ควรส่งเสริมการกินขมิ้นชันเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น หากขมิ้นชันเป็นยาสามัญประจำบ้านที่มีทุกบ้าน จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล โดยเกษตรกรทั่วประเทศ จะมีรายได้จากการปลูก การขาย การผลิตเป็นยา การจำหน่ายขมิ้นชัน เป็นการสร้างงานอีกจำนวนมาก สมุนไพรไทยนับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาไทย ถ้าเรานิยมวัฒนธรรมต่างชาติมากเท่าไร เราก็ยิ่งพึ่งตนเองได้น้อย และสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้น

ปัจจุบัน คนในโลกมี 7,300 ล้านคน คาดว่า ปี ค.ศ. 2050 โลกจะมีประชากร 9,000 ล้านคน สถานการณ์อาหารสำหรับบริโภคอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤต องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่า แมลงและหนอนจะถูกนำมาเป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ ในโลกมีแมลงเป็นล้านชนิด แต่มีแมลงที่กินกันอยู่ปัจจุบัน ราว 2,000 ชนิด

ปริมาณโปรตีนในแมลงบางชนิดใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ เช่น หมู และไก่ แต่บางชนิดก็มีมากกว่า หนอนบางชนิดให้ไขมันได้ดี เช่น หนอน สรุปได้ว่าคุณค่าทางอาหารที่ร่างกายต้องการมีครบถ้วนเหมือนเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้ และการผลิตแมลงเล็กๆ เหล่านี้ยังประหยัดทรัพยากรอาหารสัตว์ได้อีกมาก เพราะวัวน้ำหนัก 1 กิโลกรัม ใช้อาหารถึง 8 กิโลกรัม ส่วนแมลง เช่น เนื้อจิ้งหรีดในปริมาณเท่ากัน ใช้อาหารแค่ 1.2 กิโลกรัม เท่านั้น

วัฒนธรรมการกินแมลงของเรามีมานานแล้ว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้ เนื่องจากสภาพภูมิอากาศค่อนข้างแห้งแล้ง แมงกุดจี่ แมงอีนูน จิ้งโกร่ง บึ้ง เป็นอาหารยอดฮิต ในภาคเหนือแมลงก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมอาหารเช่นกัน

ด้วงงวงมะพร้าว ด้วงสาคู หรือ ด้วงลาน จัดว่าเป็นด้วงงวงขนาดกลาง ตัวเต็มวัย ปีกมีสีน้ำตาลดำ อกมีสีน้ำตาล และมีจุดสีดำ มีขนาดลำตัวยาว ประมาณ 25-28 มิลลิเมตร ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกัน ต่างกันที่ตัวผู้งวงสั้น และมีครีบเล็กใกล้ส่วนปลายของงวง ส่วนตัวเมียงวงจะยาว ตัวหนอนมีสีเหลืองปนน้ำตาล ดักแด้เป็นปลอกทำด้วยเศษชิ้นส่วนจากพืชที่กินเป็นอาหาร ด้วงงวงมะพร้าวนี้เป็นชื่อที่ทางภาคเหนือนิยมเรียกกัน เนื่องจากพบมากในต้นมะพร้าว หมาก ปาล์ม ต้นตาล อินทผลัม และต้นสิบสองปันนา ด้วงชนิดนี้คือศัตรูตัวร้ายของต้นมะพร้าว

การทำลายมะพร้าวนั้น ด้วงแรด จะเจาะนำไปก่อน แต่ต้นมะพร้าวไม่ตาย เมื่อใดที่ด้วงงวงเจาะซ้ำ เข้าไปกัดกินเนื้อในต้นมะพร้าว จะทำให้ต้นมะพร้าวตายลง

ปัจจุบัน มีการเลี้ยงด้วงงวง เพื่อเอาระยะตัวหนอนมาเป็นอาหาร

ที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย คุณครูสมศักดิ์ ศรีวรรณะ หรือ ครูต๋อย ครู คศ.1 สอนนักเรียนชั้น ป.1 -ป.2 ที่โรงเรียนริมวัง ๑ หมู่บ้านงิ้วเฒ่า ตำบลป่าหุ่ง เป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด เกิดความสนใจเรื่องการเลี้ยงด้วงงวง เนื่องจากความชอบรับประทาน จึงได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างเอาใจใส่ ในช่วงปี 2556 ผ่านการเลี้ยงและล้มลุกคลุกคลานประสบความสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างด้วยสูตรอาหารที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ต้องคำนึงในการเลี้ยงคือ จุดที่เลี้ยงต้องขึงด้วยตาข่าย หรือซาแรน 80 เปอร์เซ็นต์ ทุกด้าน ป้องกันด้วงงวงพ่อแม่พันธุ์บินหนี หรือศัตรูของด้วงงวง เข้ามาทำลายไข่

ครูต๋อย เล่าถึงวิธีการเลี้ยงด้วงงวง ว่า เมื่อตัวด้วงงวงพ้นสภาพจากการเป็นหนอนก็จะเริ่มผสมพันธุ์ได้เลย ครูต๋อยใช้ด้วงงวงมะพร้าวที่โตเต็มวัยตัวผู้และตัวเมีย จำนวน 5 คู่ ลงในกะละมังที่ใส่อาหารเตรียมไว้ อาหารด้วงสูตรครูต๋อยคือ ใช้มันสำปะหลังทุบ โดยมีสูตรและวิธีทำง่ายๆ คือ นำมันสำปะหลังสับมา 4 กิโลกรัม ใส่กระสอบอาหาร เช่น ถุงใส่กระเทียม หรือหอมใหญ่ ที่ค่อนข้างโปร่ง ใช้ไม้หน้าสามที่ทำด้ามจับไว้ทุบ ประมาณ 10 ครั้ง แล้วนำไปแช่น้ำสะอาด 1 คืน โดยให้น้ำท่วมมันสำปะหลัง จึงนำมาผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำอาหารลูกหมูชนิดสูตรโปรตีนไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 3-4 ขีด ผสมลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากันพร้อมกับน้ำจำนวนครึ่งลิตร นำมาใส่กะละมังที่เลี้ยงซึ่งมีขนาดความกว้าง ประมาณ 50 เซนติเมตร นำเปลือกมะพร้าวสดหรือแห้งก็ได้ขนาดชิ้นเล็ก ใหญ่ วางบนอาหารเพื่อแม่พันธุ์สามารถเจาะเปลือกด้านนิ่มเข้าไปวางไข่ได้ เพราะเปลือกมะพร้าวในการเลี้ยงแบบนี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของด้วงเท่านั้น ไม่ได้เป็นอาหาร นอกจากนี้จะวางกล้วยน้ำว้าสุกไว้ 1 ลูก บนอาหารอีกด้วย

ใช้ตะแกรงตาถี่วางปิดกะละมังไว้ กันแมลงพ่อแม่พันธุ์ออก หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์แล้ว เมื่อมีการผสมพันธุ์กัน แม่พันธุ์จะไข่ไว้ในเปลือกมะพร้าวมีสีขาวเหมือนเม็ดข้าวสาร ในช่วงวางไข่ศัตรูอันดับหนึ่งของไข่คือแมลงวันลายเสือ ซึ่งจะมาวางไข่ที่ไข่ด้วงอีกที เมื่อไข่แมลงวันเจริญเติบโตเป็นหนอนก็จะกินหนอนด้วงมะพร้าวเป็นอาหาร…ใช้เวลา 3 วัน ไข่ด้วงมะพร้าวจะถูกฟักเป็นตัว และใช้เวลาต่ออีก 15 วัน หนอนด้วงจะเจริญเติบโตขึ้น ในวันที่ 14 เราจะต้องจับพ่อแม่พันธุ์ออกมาทั้งหมดแล้วนำมาใส่กะละมังใหม่พร้อมอาหารและเปลือกมะพร้าวแบบเดิม พ่อแม่พันธุ์นี้เราสามารถย้ายได้ 3 ครั้ง เมื่อย้ายครั้งที่ 3 พ่อแม่พันธุ์จะหมดอายุ หลังจาก 14 วัน ที่นำพ่อแม่พันธุ์ด้วงออกจากกะละมัง จะเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 30-35 วัน ตัวด้วงจะโตเต็มที่สามารถนำมาจำหน่ายได้

การเก็บตัวด้วงจะใช้วิธีการคว่ำกะละมัง playminigamesnow.com คัดแยกขนาดที่ใช้ไม่ได้ออกมาใส่กะละมังใหม่ ซึ่งจะใช้เฉพาะมันสำปะหลังเป็นอาหารเพียงอย่างเดียวไม่ต้องผสมอาหารหมูอีก เพราะอาหารหมูจำเป็นสำหรับด้วงในวัยตัวอ่อน ใส่กะละมังละประมาณ 230 ตัว แม่ค้ามักจะชอบยกกะละมังไปเพื่อวางให้ลูกค้าเห็น ตอนตัวด้วงกำลังกระดึ๊บๆ นัยว่าเป็นที่ยั่วน้ำลายดีนักแล และเป็นอันรู้กันว่าของสด ลูกค้าที่เป็นนักดื่มจะชอบซื้อที่ล้างเสร็จแล้วซึ่งสามารถนำไปทำอาหารได้เลยไม่ต้องรอ ก่อนที่จะคว่ำกะละมังเพื่อล้างจะต้องให้หนอนด้วงกินกล้วยสุกหรือมะละกอสุกก่อน อย่างน้อยครึ่งวันก่อนนำมาล้าง มิฉะนั้นด้วงจะติดกลิ่นเหมือนอาหารหมูเน่าเข้าไปด้วย ถือว่าเป็นเคล็ดลับที่จะทำให้เมนูด้วงมีความอร่อย

น้ำพริกด้วง…ใช้ด้วง 20 ตัว เสียบไม้แล้วค่อยจี่ เนื้อจะเหลือแค่ 1 ใน 4 พริกหนุ่ม 5 เม็ด กระเทียม นำมาจี่เช่นกัน แล้วโขลกรวมใส่เกลือเล็กน้อยก็เป็นน้ำพริกได้แล้ว

หมกด้วง…ใช้พริกสด ตะไคร้ กระเทียม ขมิ้นเหลืองมาโขลก แล้วคลุกกับไข่พร้อมตัวด้วง มาห่อด้วยใบขมิ้นเป็นชั้นแรกต่อด้วยใบตอง ใช้เชือกกล้วยมัด วางบนถ่านไฟ รสชาติจะออกหอม กินกับข้าวเหนียวรับรองว่าลำขนาด

ด้วงทอด…ต้องนำมาต้มก่อน ตั้งน้ำให้เดือดเอาด้วงลวก ประมาณ 3 นาที ตัวจะเต่งสวย ตักขึ้นมาทำให้เย็น แล้วใช้กรรไกรตัดหัวออกครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนเขี้ยว ใช้น้ำมันพืชตั้งไฟให้ร้อนด้วยไฟกลาง ทอดประมาณ 15 นาที สีจะเปลี่ยนจากเหลืองเป็นเหลืองทอง ใส่ใบเตยลงไปเล็กน้อย แล้วตักด้วงออก รอให้เย็น ซับน้ำมันโดยใช้วางบนกระดาษซับน้ำมัน พอน้ำมันสะเด็ดจะโรยเกลือและผงบาร์บีคิว ถ้าใช้ซอสปรุงรสจะกลบกลิ่นของด้วงจนเสียรสชาติ

ด้วงย่าง…เมื่อต้มด้วงเสร็จไม่ต้องตัดปาก นำมาเสียบไม้ จำนวน 8 ตัว ต่อ 1 ไม้ ย่างไฟอ่อนๆ จนสุก เป็นเมนูยอดฮิต

ความรู้ความชำนาญของครูต๋อยเกิดจากประสบการณ์ที่สะสมจากครูพักลักจำและลองผิดลองถูกมาหลาย ประสบการณ์ในเรื่องนี้ไม่ได้น้อยหน้าใครแน่นอน และได้นำความรู้ไปถ่ายทอดให้นักเรียนในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา จึงเป็นที่เชี่ยวชาญในการถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ ทำให้ผู้ได้รับการอบรมสามารถนำไปใช้อย่างได้ผล

นอกจากจำหน่ายตัวด้วงสดแล้ว ครูต๋อยยังจำหน่ายพ่อแม่พันธุ์พร้อมกับอาหารสำเร็จอีกด้วย ในการนำไปเลี้ยง ครูต๋อยก็จะมีการอบรมให้อีกเป็นเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง หลังจากการอบรมแล้วนำไปทำถ้ามีปัญหาก็สามารถโทร.มาปรึกษาได้ตลอดเวลา การส่งพ่อแม่พันธุ์ด้วงมะพร้าวจะบรรจุกล่องไปอย่างดี เพื่อไม่ให้เสียหายก่อนถึงมือผู้รับ สามารถติดต่อได้ทางโทรศัพท์มือถือ (089) 699-6442 และ (088) 254-0667

คุณทวีพงศ์ สุวรรณโร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวให้ความเห็นว่า ด้วงงวงเป็นศัตรูที่สำคัญของมะพร้าว เข้าทำลายทีหลังด้วงแรด กรมส่งเสริมการเกษตร มีหน่วยงานที่แนะนำวิธีการเลี้ยงแมลงให้ถูกวิธี สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงด้วงงวงหรือด้วงสาคูอยู่ ควรเลี้ยงในที่มิดชิด อย่าให้เล็ดลอดออกมาภายนอกได้ ช่วงนี้ยังไม่มีปัญหา เพราะขายได้ราคาดี แต่หากราคาตกต่ำ อาจจะมีการปล่อยปละละเลยก็เป็นได้

“กำลังดูแหล่งเลี้ยงด้วงงวงกับปริมาณการระบาดในธรรมชาติว่ามีความสัมพันธ์กันมากน้อยแค่ไหน” คุณทวีพงศ์ กล่าว