ลิ้นจี่ห่อช่อผล นวัตกรรม ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรแปลงใหญ่

ลิ้นจี่ เป็นผลผลิตสินค้าเกษตรอย่างหนึ่งที่มักประสบปัญหาราคาไม่แน่นอน เกษตรกรมีความเสี่ยงในด้านการผลิต คือผลแตกและร่วง ทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตน้อยและมีความเสี่ยงด้านการตลาด เกษตรกรมักขายได้ราคาต่ำ

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่มักจะประสบปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือผลแตกและผลร่วง ทั้งนี้เพราะในช่วงที่ลิ้นจี่ติดผลเจริญเติบโตใกล้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย ประมาณปลายเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งช่วงนี้สภาพอากาศร้อนและเจอฝนตกสลับกัน 2-3 ครั้ง จึงทำให้ผลลิ้นจี่แตกและร่วง

ด้วยเหตุนี้เกษตรกรจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเก็บผลผลิตจำหน่าย ทำให้ได้ราคาต่ำ แต่ คุณสังเวียน ชัยทิพย์ Smart Farmer เจ้าของแปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ลิ้นจี่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ได้นำเอานวัตกรรมการห่อช่อผลลิ้นจี่ด้วยกระดาษโคบอน สามารถแก้ไขปัญหาลิ้นจี่แตกและร่วง โดยมีวิธีการ ดังนี้คือ

ใช้กระดาษโคบอนสีขาว ขนาด 38×54 เซนติเมตร ห่อช่อผลในระยะที่ลิ้นจี่เริ่มเข้าสี คือมีสีแดงประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยพับครึ่งกระดาษ แล้วทากาวแป้งเปียกติดขอบกระดาษในลักษณะพับถุง เปิดหัว-ท้าย จากนั้นตัดแต่งช่อผลและใบ รวบช่อผลและใช้มืออีกข้างสอดถุงกระดาษเลื่อนขึ้นปิดช่อไม่ให้ผลโผล่ จากนั้นรวบปากถุงด้านบนมัดด้วยตอก โดยไม่ต้องรัดให้แน่นเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ การห่อช่อผลในลักษณะนี้ จะช่วยป้องกันโรคแมลงและหนอนเจาะขั้ว ป้องกันผลแตกร่วง ทำให้สีสวย รสชาติอร่อยหอมหวาน

กระดาษโคบอนที่ใช้ห่อช่อผลนี้ จะใช้ได้ 2-3 ฤดูกาลผลิต ทนต่อแรงลมไม่ฉีกขาดง่าย เมื่อเจอฝนน้ำซึมผ่านแห้งเร็ว หลังจากห่อช่อผลแล้วประมาณ 30 วัน ก็เก็บเกี่ยวจำหน่ายได้ราคาดี ปัจจุบัน มีตลาดตกลงรับซื้อล่วงหน้า ประกันราคา กิโลกรัมละ 80 บาท ในขณะที่ลิ้นจี่ที่ไม่ห่อช่อผล จำหน่ายได้ กิโลกรัมละ 30 บาท

จากการใช้นวัตกรรมห่อช่อผลลิ้นจี่ ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต สินค้าที่ได้มีคุณภาพและตลาดต้องการ ที่สำคัญมูลค่าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นความสำเร็จของศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และการรวมตัวของเกษตรกรที่ทำแปลงใหญ่ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ได้ขยายผลในพื้นที่ มีเกษตรกรได้ห่อช่อผลลิ้นจี่ไปแล้ว กว่าร้อยละ 20 “ลดแตก ลดร่วง ราคาดี มีคุณภาพ ด้วยนวัตกรรมการห่อช่อผลลิ้นจี่

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณสังเวียน ชัยทิพย์ Smart Farmer เจ้าของแปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ลิ้นจี่ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา โทร. (097) 941-1159

ระยะนี้จะมีอากาศร้อนในตอนกลางวัน สลับกับมีฝนตก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลแตง อาทิ แตงกวา แตงร้าน บวบ มะระ ฟักแม้ว ฟักเขียว แฟง และตำลึง ให้หมั่นสังเกตการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดง ที่สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโต เริ่มแรกจะพบตัวเต็มวัยเพศเมียวางไข่ในดินใกล้โคนต้นเป็นฟองเดี่ยวๆ หรือเป็นกลุ่มเล็กๆ ตัวหนอนสีขาวจะอาศัยอยู่ในดิน และกัดกินรากพืชเป็นอาหาร ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อรากพืชตระกูลแตงในระยะต้นอ่อน

ด้วงเต่าแตงแดงจะเข้าทำลายแทะกัดกินใบยอด หากระบาดรุนแรง อาจทำให้ต้นพืชชะงักการทอดยอด มักพบการระบาดในสวนแตงที่มีวัชพืชหนาแน่น เนื่องจากตัวอ่อนอาศัยกัดกินรากพืช จึงเป็นปัญหาในแหล่งปลูกใหม่ที่บริเวณโดยรอบไม่มีการไถพรวนดิน และไม่มีการปราบวัชพืชที่เพียงพอ ซึ่งจะพบการระบาดของด้วงเต่าแตงแดงในทุกฤดู โดยเฉพาะในช่วงที่พืชเริ่มแตกใบจริง

กรณีพบการเข้าทำลายของด้วงเต่าแตงแดง เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจดูสวนในเวลาเช้าที่แดดยังไม่จัด โดยให้ใช้วิธีกลในการจับตัวด้วงเต่าแตงแดงมาทำลายด้วยมือ จะสามารถช่วยลดการระบาดลงได้มาก ขณะเดียวกัน ภายหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรถอนทำลายต้นทิ้ง เก็บเศษซากพืชในส่วนที่หลงเหลือ และหมั่นกำจัดวัชพืชในแปลงไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อทำลายแหล่งอาศัย และไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของด้วงเต่าแตงแดงต่อไป

นอกจากนี้ ให้เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดด้วงเต่าแตงแดง โดยให้พ่นด้วยสารอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร

ประกาศผลการตัดสินออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการคัดเลือกสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นประจำปี 2561 โดยกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา ฝ่ายส่งน้่ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคณะกรรมการตามเกณฑ์การตัดสิน ทั้งในด้านความคิดริเริ่ม ความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม บทบาทและการมีส่วนร่วมของสมาชิกต่อกลุ่มกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศประจำปี 2561 ไปครอง

เรื่องเล่าคนใช้น้ำฉบับนี้ไม่รอช้า คว้าตัว นายพัก สะอาดนัก ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา ฝ่ายส่งน้่ำและบำรุงรักษาที่ 2โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี สำนักงานชลประทานที่ 14 มาพูดคุยถึงการบริหารจัดการน้ำของกลุ่ม ซึ่งยึดหลักการบริหารจัดการน้ำอย่าง “เข้าใจ” และ“เข้าถึง”นำไปสู่ความร่วมมือที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิก และสามารถบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมได้สำเร็จ

นายพัก เล่าว่า กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทานท่ายาง-บ้านลาดพัฒนาจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 โดยมีพื้นที่ในความรับผิดชอบครอบคลุม 3 อำเภอใน จ.เพชรบุรี ได้แก่ อ.ท่ายาง (ต.ไร่มะขาม ต.ท่าเสน และ ต.สมอพลือ) อ.บ้านลาดและ อ.เมือง ในการบริหารจัดการน้ำของกลุ่มในช่วงแรกนั้นยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร มีจำนวนสมาชิกแรกเริ่ม 63 คนเท่านั้น แต่หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกำหนดกติกาการบริหารจัดการน้ำอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้สมาชิกได้รับประโยชน์สูงสุด ก็ทำให้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 1,653 คนในปัจจุบัน และที่สำคัญคือสมาชิกไม่มีปัญหาความขัดแย้งดังเช่นอดีตที่ผ่านมา

“เกษตรกรที่นี่ทำนาเป็นส่วนใหญ่ โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตคือ ต่างคนต่างแย่งชิงน้ำกัน แต่หลังจากที่ทางชลประทานเข้ามาสำรวจพื้นที่วางแผนการประชุม จัดเป็นกลุ่มพื้นฐานมีการจัดรอบเวรเปิด-ปิดน้ำ 21 วันตามความต้องการใช้น้ำและขนาดพื้นที่อย่างเป็นระบบก็ทำให้ความขัดแย้งที่เคยมีหมดไป”

ในการรับน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรของกลุ่มจะรับน้ำจากเขื่อนเพชร ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำและระบายน้ำที่ใช้น้ำจากเขื่อนแก่งกระจาน ผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่สาย 3 โดยฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี จะทำหน้าที่วางแผน ควบคุม และประเมินผลการส่งน้่ำในพื้นที่รับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย 6 กลุ่ม ได้แก่ บ้านแหลมพัฒนาเหมืองตาหลอ คลอง 4 ขวาพัฒนา เกษตรพัฒนา เพชรบุรีราษฎร์สุขสำราญ และท่ายาง-บ้านลาดพัฒนา ด้วยความที่ทั้ง 6 กลุ่มต้องใช้น้ำต้นทุนจากแหล่งเดียวกัน จึงจำเป็นจะต้องมีการจัดรอบเวรเปิด – ปิดน้ำตามความต้องการของแต่ละพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องกับน้ำต้นทุน และเกิดการสูญเสียน้อยที่สุด

โดยก่อนจัดรอบเวรเปิด – ปิดน้ำ จะต้องมีการสำรวจความต้องการเพาะปลูกและนำเข้าที่ประชุมเพื่อวางแผนร่วมกัน ให้สมาชิกมั่นใจได้ว่าจะได้รับน้ำตามเวลาและตามปริมาณที่ต้องการของแต่ละพื้นที่ บางกลุ่มมีพื้นที่มากอาจจะได้ 4 วันบางกลุ่มพื้นที่น้อยกว่าอาจจะได้ 3 วัน พอครบรอบเวร 21 วัน ก็มาประชุมจัดกันใหม่เป็นการทำงานที่มีความชัดเจน เข้าถึง เข้าใจ และทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากจุดเด่นของกลุ่มที่ได้ร่วมกันวางแผนการส่งน้ำในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับปิรมาณน้ำต้น ทุน แล้วทางกลุ่มยังมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการปลูกและคัดเมล็ดพันธุ์ข้าวป้อนกรมการข้าว และการปลูกผักลักษณะไฮโดรโปนิกส์ โดยใช้น้ำที่เป็นปุ๋ยจากบ่อเลี้ยงปลาส่งมาทางท่อและปลูกผักในสายท่ออีกด้วย

นายพัก อธิบายว่า ทางกลุ่มได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชน ต.ไร่มะขาม อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรีขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมารวมตัวกันผลิตพันธุ์ข้าวคุณภาพขาย เน้นปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เหมาะสมกับการบริโภค และปลอดสารเคมี ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าให้กับเกษตรกร โดยมีนายบรรพต มามาก รองประธานกลุ่ม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการคัดเมล็ดพันธุ์และการเพาะปลูกเป็นผู้ให้การดูแล นำความรู้ตรงนี้มาเผยแพร่ให้กับสมาชิกในกลุ่มรวมถึงการปลูกผักลักษณะไฮโดรโปนิกส์ การเลี้ยงปลา และการทำแก๊สชีวภาพ

นอกจากนี้ยังได้น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเดจ็ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง”มาปรับใช้ทำอย่างไรให้พออยู่พอกิน พึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด เช่น การทำการเกษตรแบบไร่นาสวนผสมทั้งทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว และผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ควบคู่ไปกับการปลูกพืชใช้น้ำน้อยที่ให้ผลตอบแทนสูงทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปีรวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรทำบัญชีครัวเรือน และยึดความพอเพียงในการใช้ชีวิต

จากทั้งหมดที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม และก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2559เคยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 มาแล้วซึ่งการรับรางวัลในครั้งนั้นเป็นแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาและกลับมาพิสูจน์ตนเองอีกครั้ง จนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2561 ไปครองได้สำเร็จ

นายพักบอกถึงความรู้สึกว่า“กลุ่มของเราไม่ได้ดีเด่นกว่าใครเพียงแต่เรามีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจของกลุ่ม ไม่ย่อท้อ ครั้งแรกที่เคยเข้าร่วมการคัดเลือกเมื่อปี 2559ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ถือว่าไปได้แค่ครึ่งค่อนทาง มาในครั้งนี้ปี 2561 เรามีความพร้อมทุกด้านบวกกับสามารถนำเสนอผลงานได้เข้าตากรรมการ ก็เลยทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งก็รู้สึกดีใจ แต่เหนือกว่าความดีใจ คือการที่สามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้สมาชิกได้ใช้อย่างทั่วถึง สมาชิกมีปัญหาอะไรก็เข้ามาพูดคุย ปรึกษากันและร่วมกันหาทางแก้ไขให้ลุล่วง”

นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แม้นายพักจะเกษียณอายุราชการแล้ว แต่เมื่อครบวาระก็ยังได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกให้เป็นประธานกลุ่มต่อ ขณะเดียวกันก็ได้พยายามปลูกฝังเกษตรกรรุ่นใหม่และทายาทให้เข้ามามีส่วนร่วมกับกลุ่มเพราะจะได้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาทดแทนเพื่อต่อยอดงาน ให้กลุ่มมีความแข็งแรงและคงอยู่ตลอดไป

ประเทศไทย จัดเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรเป็นสำคัญ เพราะจะเห็นได้จากสินค้าหลายชนิดที่ไทยเป็นผู้นำทางด้านการส่งออกไปยังต่างประเทศ และเลี้ยงคนภายในชาติมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเกษตรกรรมเป็นเสมือนกระดูกสันหลังของชาติที่กล่าวกันมาตั้งแต่ครั้งอดีต

การเกษตรจะสำเร็จและมีผลผลิตที่ดีได้นั้น นอกจากปัจจัยในเรื่องการดูแลตลอดไปจนถึงเรื่องสายพันธุ์พืชแล้ว น้ำก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทย จึงทำให้ทุกภูมิภาคหรือทุกจังหวัดของไทยสามารถทำการเกษตรได้อย่างเต็มที่เต็มกำลังในการผลิตอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งชาติและเพื่อการส่งออก จึงทำให้ไทยมีแม่แบบหรือโครงการพัฒนาการจัดการน้ำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

เหมือนเช่น อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่อยู่ในจังหวัดอุดรธานี เป็นอีกหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ได้มีโครงการจากพระราชดำรินับพันแห่ง ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในสมัยก่อนนั้น ชาวบ้านโคกล่ามและบ้านแสงอร่าม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการทำการเกษตรและสำหรับอุปโภคบริโภค จึงทำให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในย่านนี้ ไม่สามารถทำการเกษตรหรือมีน้ำใช้ได้อย่างเพียงพอ ส่งผลให้ลูกหลานหรือคนในชุมชนต้องออกไปทำงานยังต่างจังหวัดหรือบางรายถึงกับต้องเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ เพื่อให้ได้ซึ่งรายได้มาสำหรับเลี้ยงครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ต่อมาจึงได้มีการแก้ไขปัญหาในเรื่องน้ำขาดแคลน โดยมูลนิธิชัยพัฒนา จึงเสนอข้อมูลต่อมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ให้มีการพิจารณาในเรื่องอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่ เพื่อเป็นต้นแบบในการจัดการบริหารในเรื่องของระบบน้ำให้ขึ้นเป็นวาระระดับจังหวัด พร้อมทั้งเพื่อสามารถพัฒนาต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาระบบน้ำให้ครอบคลุมทั้ง 20 อำเภอ ต่อไป

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ให้ข้อมูลว่า อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีความจุ 692,500 ลูกบาศก์เมตร รับน้ำเต็มศักยภาพเฉพาะหน้าฝนได้ 800 ไร่ หน้าแล้งได้ 500 ไร่

“น้ำที่เก็บไว้ภายในอ่างเก็บน้ำ เมื่อมีการระบายน้ำทางน้ำล้น (สปิลเวย์) ลงไปสู่คลองธรรมชาติเพื่อให้เกษตรกรหรือชาวบ้านได้ใช้ น้ำกลับไม่ถึงที่นาของชาวบ้าน จึงทำให้ชาวบ้านหรือเกษตรกรจำเป็นต้องมีการนำเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยในการสูบน้ำเข้าพื้นที่นา จึงส่งผลการทำเกษตรของชาวบ้านให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น และเมื่อฤดูแล้งมาถึงชาวบ้านสามารถนำน้ำมาใช้ได้เพียง 200 ไร่ เท่านั้น ทำให้ผลผลิตไม่ได้ปริมาณและเต็มประสิทธิภาพ เกิดความสูญเสียรายได้ทั้งพืชก่อนนาและหลังนา จึงทำให้เกษตรกรมีปัญหาหนี้สินตามมา และที่สำคัญประชากรบางส่วนทิ้งถิ่นฐานไปทำงานนอกพื้นที่มากขึ้น เมื่อมีการเข้ามาทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มีการนำองค์ความรู้และรูปแบบการร่วมคิด ร่วมทำ ระหว่างหน่วยงาน และชาวบ้านได้เป็นอย่างดี และสามารถกำหนดทิศทางต่างๆ ให้ประสบผลสำเร็จไปในทิศทางเดียวกันได้ง่ายขึ้น” นายวัฒนา กล่าว

ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเปรียบเสมือนเป็นสิ่งเชื่อมโดยระหว่างหน่วยงานของรัฐ และประชาชนในพื้นที่ให้มีความเข้าใจในองค์ความรู้ และข้อมูลต่างๆ ตามความเป็นจริง เช่น ความทุกข์ หรือเรื่องเดือดร้อนต่างๆ ในทุกปัญหาของชาวบ้านทุกคนได้อย่างตรงจุด และสามารถนำองค์ความรู้ต่างๆ มาใช้ในการพัฒนาในเรื่องของการทำเกษตรกรรมในสาขาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ประชาชนบางส่วนที่ทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานในถิ่นฐานอื่นกลับมาประกอบอาชีพในบ้านเกิด และดูแลคนที่รักในครอบครัวโดยไม่ต้องไปทำงานที่ไกลๆ

จึงทำให้จังหวัดอุดรธานีมีการสนับสนุนงบประมาณบางส่วน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานีมีการสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตร และองค์การบริหารส่วนตำบลกุดหมากไปสนับสนุนค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเข้ามาช่วยอีกด้วย

ด้วยผลของการดำเนินโครงการพัฒนาระบบการจัดการน้ำ สามารถทำให้อ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สามารถกักเก็บน้ำเพิ่มได้มากขึ้น จากเดิมที่กักเก็บน้ำได้ 692,500 ลูกบาศก์เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นเป็น 838,000 ลูกบาศก์เมตร และสิ่งที่ตามมาเป็นลำดับคือ ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว สามารถให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบก่อนเริ่มโครงการพัฒนาระบบน้ำนั้น ได้ผลผลิตข้าวเพียง 350 กิโลกรัม ต่อไร่ เมื่อมีการจัดการระบบน้ำที่ดีมากขึ้น สามารถทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มเป็น 600 กิโลกรัม ต่อไร่

นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การทำการเกษตรในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำเกษตรผสมผสาน หรือการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถขยายพื้นที่จาก 2 แปลง ขยายออกไปเป็น 49 แปลง ในพื้นที่โครงการ และที่สำคัญประชาชนบางรายที่เคยออกไปทำงานยังต่างถิ่นสามารถกลับมาทำอาชีพทางการเกษตรในพื้นที่ของตนเองภายในหมู่บ้าน ปี 2560 จำนวน 147 ครัวเรือน

จึงนับได้ว่า มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาชนบทตามแนวพระราชดำริ โดยน้อมนำหลักการทรงงาน และแนวพระราชดำริหรือศาสตร์พระราชา แปรสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืนให้แก่ชุมชน ร่วมกับภาคีทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน โดยมีแนวทางหลักในการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนาตามแนวพระราชดำริ ที่สอดคล้องกับภูมิสังคม ให้ชุมชนร่วมคิด ร่วมทำ และเป็นเจ้าของ เพื่อให้ชุมชนสามารถพัฒนาได้ด้วยตัวเอง โดยมีเป้าหมายคือ ความมั่นคง ยั่งยืน อย่างแท้จริง

สวนโชคอำนวย ผลิตมะม่วงคุณภาพปีละกว่า 500 ตัน คุณจรัญ อยู่คำ เจ้าของ “สวนโชคอำนวย” หรือที่หลายคนเรียกว่า “พ่อเลี้ยงจรัญ” เลขที่ 63 หมู่ที่ 1 ตำบลวังทับไทร อำเภอสากเหล็ก จังหวัดพิจิตร โทร. (099) 271-1303 ถือได้ว่าเป็นเกษตรกรระดับแนวหน้าที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เซียนมะม่วงตัวจริง” เพราะทุกปีมะม่วงจากสวนโชคอำนวย นอกจากจะติดผลดกแล้ว ยังเป็นสวนที่ผลิตมะม่วงได้สวยงาม มีคุณภาพดี ผลผลิตจะเริ่มขายตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนเมษายน

ระยะเดือยไก่ ล้างโรคแมลง เร่งความสมบูรณ์ หลังจากที่เราเปิดตาดอกจนดอกเป็นระยะเดือยไก่หรือมีความยาวประมาณ 0.5 นิ้วแล้ว เกษตรกรจะต้องเร่งสร้างความสมบูรณ์ของดอกให้เต็มที่ เพราะช่อดอกที่มีความสมบูรณ์ ปริมาณดอกสมบูรณ์เพศจะสูง การติดผลจะง่าย ในช่วงนี้เกษตรกรส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 10-52-17 อัตรา 50 กรัม ฉีดพ่นร่วมกับฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 10 ซีซี (ต่อน้ำ 20 ลิตร) ปุ๋ย 10-52-17 และฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” จะช่วยเร่งความสมบูรณ์ของช่อดอก ทำให้ก้านดอกอวบใหญ่ มีสีแดงเข้ม ปริมาณดอกสมบูรณ์เพศสูงมาก ระยะเดือยไก่ นอกจากจะฉีดปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อสร้างความสมบูรณ์แล้ว เกษตรกรจะต้องฉีดพ่นสารเคมีกำจัดโรคแมลงไปในคราวเดียวกัน สารป้องกันกำจัดแมลงที่นิยมใช้คือ สารเมทโทมิล เพราะในระยะนี้ศัตรูที่เกษตรกรจะพบมากที่สุดก็คือ หนอนต่างๆ อัตราที่ใช้ให้ดูตามคำแนะนำของฉลาก ส่วนด้านโรคระยะนี้จะต้องล้างโรคให้หมด แนะนำให้ใช้สารในกลุ่มเบนโนมิล เช่น เมเจอร์เบน อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จะช่วยป้องกันการเข้าทำลายของเชื้อโรคต่างๆ ได้ดี

ข้อแนะนำในการพ่นสารเคมีในระยะนี้ สามารถผสมปุ๋ย ฮอร์โมน สารกำจัดโรคและแมลงได้ในคราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและประหยัดต้นทุนการพ่นสารเคมี

ข้อแนะนำในการพ่นสารเคมีในระยะนี้ สามารถผสมปุ๋ย ฮอร์โมน สารกำจัดโรคและแมลงได้ในคราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานและประหยัดต้นทุนการพ่นสารเคมี

เคล็ดลับในการผสมสารเคมี

ใส่น้ำลงในถังพ่นยา ในปริมาณครึ่งหนึ่งของถัง
ละลายปุ๋ยเกล็ดใส่ลงในถังเป็นอันดับแรก แล้วตามด้วยยาที่เป็นผง แต่ต้องจำไว้ว่าการผสมยาผงทุกครั้งต้องละลายยาผงในภาชนะอื่นก่อน แล้วค่อยเทลงในถังฉีดพ่น เพื่อป้องกันยาจับก้อนหรือการตกตะกอน (ต้องใช้ไม้กวนยาทุกครั้ง)
ใส่กลุ่มฮอร์โมนและยากำจัดแมลงที่เป็นน้ำตามไป แล้วเติมน้ำให้เต็มถังฉีดพ่นหรือเต็มปริมาณที่กำหนด
เติมสารจับใบเป็นอันดับสุดท้าย แล้วกวนส่วนผสมต่างๆ ให้เข้ากันอีกครั้ง
ในระยะนี้ ถ้าพื้นที่ปลูกมะม่วงของท่านมีน้ำรด สามารถให้น้ำได้ การให้น้ำจะช่วยให้ดอกมะม่วงมีความสมบูรณ์ การติดผลดี และช่อดอกโรยช้า

ระยะก้างปลา ก่อนดอกบาน ตามปกติแล้วมะม่วงจะมีระยะเวลาตั้งแต่แทงช่อดอก จนถึงดอกเริ่มบาน ประมาณ 20 วัน (ระยะเวลาอาจเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับพันธุ์และสภาพอากาศ) การดูแลในช่วงก่อนดอกบานหรือดอกเริ่มบาน จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ข้อแนะนำในระยะนี้ยังสามารถฉีดพ่นสารเคมีได้ตามปกติ เกษตรกรจะใช้ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” อัตรา 10 ซีซี ผสมกับสารกลุ่มแคลเซียมโบรอน เช่น โกรแคล หรือ โฟแมกซ์ อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” และสารในกลุ่มแคลเซียมโบรอนจะช่วยเรื่องความสมบูรณ์ของดอก ทำให้ดอกติดผลง่าย ลดการหลุดร่วงของผล และมีผลติดดก

ศัตรูที่ต้องระวังในระยะนี้ คือ เพลี้ยไฟ และเพลี้ยจักจั่น ซึ่งศัตรูทั้ง 2 ชนิดนี้ จะเข้าทำลายระยะดอกเริ่มบาน จนถึงระยะติดผลอ่อน สร้างความเสียหายให้แก่ช่อมะม่วงอย่างมาก แนะนำให้ใช้สารโปรวาโด อัตรา 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม จะช่วยป้องกันกำจัดแมลงดังกล่าวได้ดี ว่าพบปัญหาการระบาดของเพลี้ยไฟที่รุนแรง แนะนำให้ใช้สารเดซิส อัตรา 10 กรัม ผสมกับโปรวาโด 3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ฮอร์โมนที่นิยมใช้ฉีดพ่นช่วง “ช่อดอก”

ฮอร์โมน “โปรดั๊กทีฟ” ช่วยเพิ่มประมาณดอกมะม่วง ช่วยให้ดอกสมบูรณ์ ก้านดอกยาว เพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผล ป้องกันดอกและผลอ่อนร่วง แนะนำให้ใช้ 3 ระยะ คือ เดือยไก่ ก้างปลา และดอกโรย
เอ็นเอเอ (NAA) เช่น บิ๊กเอ เป็นฮอร์โมนที่ช่วยเพิ่มจำนวนดอกสมบูรณ์เพศ เหมาะมากสำหรับแปลงมะม่วงที่ออกดอกช่วงฤดูหนาว หรือออกดอกเต็มต้น บางครั้งเราจะพบว่าแม้มะม่วงจะออกดอกทั้งต้น แต่ก็ไม่ติดผล ซึ่งเกิดจากสภาพอากาศ ทำให้ดอกมะม่วงแปรผัน การฉีดพ่น NAA จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องเพศของมะม่วงได้เป็นอย่างดี การใช้ NAA ที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นช่วงเดือยไก่ ความยาวช่อดอก 2-3 เซนติเมตร และฉีดพ่นเพียงครั้งเดียว จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณดอกสมบูรณ์เพศได้มากกว่าต้นที่ไม่ได้พ่น 4-5 เท่าตัว
จิบเบอเรลลิน ห้ามใช้ช่วงก่อนดอกบาน ข้อควรระวัง เกษตรกรหลายท่านเข้าใจผิดในการใช้ฮอร์โมนจิบเบอเรลลินว่าฉีดแล้วทำให้ช่อยาว ติดผลดี ความเข้าใจนี้คลาดเคลื่อน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การใช้จิ๊บในมะม่วงให้ฉีดช่วงดอกใกล้โรย หรือช่วงติดผลเล็กๆ เท่านั้น ฮอร์โมนจิบเบอเรลลิน (เช่น จิ๊บแซด) จะไปช่วยขยายขนาดผล ลดการหลุดร่วงของผลอ่อน แต่หากใช้ฉีดพ่นในระยะก่อนดอกบาน จะทำให้ช่อมะม่วงมีเปอร์เซ็นต์ดอกตัวผู้มากขึ้น ส่งให้การติดผลก็จะยากขึ้น ชาวสวนจะต้องใช้ให้ถูกจังหวะ จึงจะได้ผลดีที่สุด
อาหารเสริม ที่นิยมใช้ฉีดพ่นช่วงดอก

แคลเซียม-โบรอน มีประโยชน์ในดอกสมบูรณ์ ไม่หักร่วงง่าย การติดผลดี เกษตรกรจะเลือกใช้เป็นอันดับต้นๆ ในช่วงก่อนที่มะม่วงจะออกดอกเรื่อยไปจนถึงระยะติดผลอ่อน (เช่น แคลเซียมโบรอนอี, โกลแคล, โบร่า)
สาหร่าย-สกัด ช่วยให้ช่อสมบูรณ์ ช่อยาวเร็ว ช่อสดใส ช่วยเพิ่มขนาดของผลอ่อน (เช่น สาหร่ายสกัด, แอ็กกรีน)
สังกะสี ช่วยเร่งความเขียว เร่งการติดผล (เช่น โปรซิงค์)
แม็กนีเซียม ช่อสด แข็งแรง เร่งการติดผล (โฟแม็กซ์)

การใช้อาหารเสริม เกษตรกรต้องศึกษารายละเอียดของผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดให้ดี เพราะบางครั้ง เราซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้มา 5-6 ขวด เวลาเอามาดูจริงๆ กลับเป็นอาหารเสริมชนิดเดียวกัน เกษตรกรต้องอ่านฉลากข้างขวดให้ดี อย่าเชื่อแต่คำโฆษณาเชิญชวน เพราะจะทำให้เราสูญเงินโดยใช่เหตุ

ติดผลอ่อน ล้างโรคแมลงทำผิวให้สวย

เมื่อดอกมะม่วงเริ่มโรย บาคาร่าออนไลน์ เราจะสังเกตเห็นผลอ่อนของมะม่วงติดผลเล็กขนาดไข่ปลาถึงหัวไม้ขีด ช่วงนี้ต้องระวังเพลี้ยไฟกับโรคแอนแทรคโนสให้มาก ระยะนี้เกษตรกรจะใช้สารเคมีที่ค่อนข้างแรง (แรงต่อแมลง แต่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค) เช่น สารไซฮาโลทริล (เช่น เคเต้) อัตรา 10 ซีซี หรือใช้สารคาร์โบซัลแฟน (เช่น โกลไฟท์) อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับสารกำจัดโรคแอนแทรคโนส เช่น โพรคลอราช (เช่น เอ็นทรัส) หรือ เบโนมิล (เช่น เมเจอร์เบน)

ในระยะดอกเริ่มโรย และติดผลอ่อน เกษตรกรต้องหมั่นดูแล เพราะหากเพลี้ยไฟหรือโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลายผลอ่อนผิวจะไม่สวยขายไม่ได้ราคา

มีเคล็ดลับอีกข้อสำหรับป้องกันผลอ่อนร่วงและเร่งการเจริญเติบโตของผลอ่อน เกษตรกรจะใช้ปุ๋ยทางใบสูตร 12-12-12 อัตรา 30-40 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นร่วมกับฮอร์โมนจิบเบอเรลริล (GA3) เช่น จิ๊บทรี หรือ จิ๊บแซด อัตรา 5 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง จะทำให้ผลโตเร็ว ลดการหลุดร่วงของผลได้มาก

ผลเท่าไข่ไก่ ต้องห่อผลเพื่อให้ผิวสวย และป้องกันโรคแมลง การซื้อ-ขาย มะม่วงน้ำดอกไม้ในปัจจุบัน พ่อค้า-แม่ค้าจะนิยมซื้อผลมะม่วงที่ห่อก่อน เพราะมะม่วงที่ห่อผล ผิวจะสวย ขายได้ราคาดีกว่ามะม่วงที่ไม่ได้ห่อ พ่อค้าบางคนเวลาไปติดต่อซื้อผลมะม่วงน้ำดอกไม้ จะถามก่อนว่า “ห่อหรือเปล่า” แปลงไหนห่อผลจะขายง่าย แปลงที่ไม่ห่อบางครั้งไม่มีคนซื้อ เมื่อผลมะม่วงมีขนาดโตกว่าไข่ไก่ (ขนาดประมาณ 3 นิ้วมือ) เกษตรกรจะตัดแต่งผลกะเทยออก ช่อไหนติดผลดกเกินหรือรูปทรงไม่สวยงามจะต้องตัดทิ้ง คัดผลดีๆ ที่ผิวสวย ไว้เพียง 1-3 ผล ต่อก้าน เพื่อควบคุมคุณภาพ ให้ผลมะม่วงออกมาสม่ำเสมอ ไม่เล็กนัก (เกษตรกรบางรายดูแลดีมาก สามารถไว้ผล 3-5 ผล ต่อก้าน) ก่อนห่อทุกครั้งต้องล้างโรคแมลง ด้วยการพ่นสารเอ็นทรัส หรือ ฟลิ้นท์+แอนทราโคล เพื่อป้องกันกำจัดโรคแอนแทรคโนส และต้องพ่นสารมาลาไธออน (เช่น แซดมาร์ค) อัตรา 30 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้ง เพราะหากไม่ฉีดพ่นสารกำจัดโรคแมลงตอนนี้ เมื่อเราห่อถุงไป โรคแมลงจะติดเข้าไปอยู่ในถุงห่อและทำลายผลผลิต โดยที่เราไม่รู้ เพราะมองไม่เห็น

ห่อผลระยะเหมาะสม การจะทำให้ผลมะม่วงน้ำดอกไม้มีสีเหลืองสวยงาม จะต้องห่อผลโดยใช้ถุงห่อคาร์บอน (บ. ชุนฟง) โดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะเริ่มห่อผลที่มีขนาดเท่า 3 นิ้วมือ แต่ คุณจรัญ จะห่อผลที่มีขนาดเล็กกว่านั้นเล็กน้อย หรือประมาณ 2.5 นิ้ว โดยให้เหตุผลว่า การห่อผลมะม่วงที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย เนื่องจากผิวจะเหลืองสวยไร้รอยโรคและแมลง มากกว่าที่ห่อมะม่วงขนาดผลที่ใหญ่