ลูกขนาดเท่าไข่เป็ด ใส่ปุ๋ยปรับปรุงคุณภาพผลสูตร 13-13-21

วันครั้งหนึ่ง จำนวนต่อต้นไม่มากนัก เป็นการทำให้ต้นไม้ชิน เรียกว่าการอ่อยปุ๋ย เมื่อต้นไม้ชินเรื่องปริมาณน้ำคือให้ต่อเนื่องกับให้ปุ๋ย ปัญหาต้นสลัดลูกทิ้งจึงไม่มี คุณเพ็ญนภา ภรรยาของคุณธนะศักดิ์ สะใภ้ของตระกูลพรมกอง เป็นผู้ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับสามี พูดถึงการปลูกทุเรียนว่า การปลูกทุเรียนยากตรงที่เกิดโรครากและโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา จึงต้องหมั่นดูแล หากไม่ดูแลใกล้ชิด เมื่อรู้ต้นทุเรียนเป็นโรคก็ตายเสียแล้ว

“ส่วนใหญ่ปลูกพันธุ์หมอนทอง มีพวงมณีและนกกระจิบบ้าง ต้นทุเรียนมีหลายรุ่น อย่างต้นที่อายุมากสุดให้ผลผลิต 80 ผล ต่อต้น ต่อปี เฉลี่ยผลหนึ่งหนัก 3.5 กิโลกรัม ต้นที่อายุน้อยก็ให้ผลผลิตน้อยตามอายุ สวนเราเป็นสวนขนาดใหญ่ของที่น้ำยืนนี่ค่ะ จุดเด่นของทุเรียนที่นี่รสชาติดี คนซื้อไปกินแล้วติดใจ” คุณเพ็ญนภา บอก

ที่สวนแห่งนี้ใช้น้ำใต้ดิน โดยขุดลงไปแล้วฝังวงบ่อ เป็นวงบ่อที่นิยมใช้ปลูกมะนาว

ช่วงที่ผ่านมาไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด

เป็นที่เลื่องลือว่า ผลผลิตทุเรียนที่อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี คุณภาพดี รสชาติอร่อย ผลผลิตส่วนใหญ่มาไม่ถึงเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ คนท้องถิ่นรุมซื้อกัน แต่หากสนใจ สอบถามกันเป็นกรณีพิเศษได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (080) 166-3156 นิตยสารปักษ์นี้ออก ยังพอมีผลผลิต

พื้นที่จังหวัดชลบุรี เดิมเป็นแหล่งใหญ่หนึ่งที่มีเกษตรกรทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง เหตุผลจากการขยายตัวของสาธารณูปโภคที่เจริญเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง

แม้พื้นที่ปลูกจะน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ยังมีสวนมะพร้าวที่ดีหลงเหลืออยู่ ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา สวนมะพร้าวจำนวนหนึ่งถูกทำลายจากการแพร่ระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวอย่างรุนแรง ทำให้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรต้องออกมารณรงค์ให้เลี้ยงแตนเบียน เพื่อปล่อยเข้าทำลายหนอนหัวดำมะพร้าว

ถามถึงสวนมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ได้รับการยืนยันจาก คุณบุญลือ คงสูงเนิน เกษตรอำเภอบางละมุง ว่า เหลืออยู่เพียง 2 สวนเท่านั้น ที่มีคุณภาพ

สวน คุณประวิทย์ ประกอบธรรม ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 ตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เป็นสวนหนึ่งที่ขึ้นชื่อได้ว่า ผลิตมะพร้าวน้ำหอมได้คุณภาพ ลุงประวิทย์ มีพื้นที่สวนรวมกับพื้นที่บ้าน 10 ไร่ และมีพื้นที่สวนมะพร้าวตั้งอยู่ถัดไปอีกกว่า 10 ไร่ เป็นแปลงที่ไม่ติดกัน แต่ทุกแปลงปลูกมะพร้าวเป็นผลไม้หลักสร้างรายได้ ส่วนผลไม้ชนิดอื่นปลูกไว้รับประทาน

“ผมเป็นลูกชาวสวนโดยแท้ พ่อแม่ก็ทำสวนมะพร้าวมาก่อน มาซื้อที่ตรงนี้ 10 ไร่ ก็เริ่มปลูกมะพร้าวแกง มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวน้ำหวาน อย่าง มะพร้าวน้ำหอม คือ หอมใบเตย ถ้ามะพร้าวน้ำหวาน ก็จะหวานธรรมชาติแบบพันธุ์โบราณ พวกหมูสีหรือนกคุ่ม”

พื้นที่สวนเกือบ 20 ไร่ มีมะพร้าวทั้งหมดประมาณ 200 ต้น

เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา คุณประวิทย์ นำมะพร้าวน้ำหอมจากสวนส่งไปประกวดความหวาน ผลที่ได้คือ มะพร้าวน้ำหอมของสวนได้รับรางวัลมะพร้าวน้ำหวานที่สุดระดับภาคตะวันออก (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา) ภายใต้รางวัลชนะเลิศ การประกวดมะพร้าวน้ำหอม ในการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ซึ่งเป็นกำลังใจอย่างดีให้กับชาวสวนเก่าอย่างคุณประวิทย์

ที่ผ่านมามะพร้าวแกง ปลูกระยะห่าง 10×10 เมตร ทำให้มีระยะห่างระหว่างต้นมาก คุณประวิทย์จึงปลูกเสริมด้วยมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวาน แทรกระหว่างกลาง ทำให้ปัจจุบันมีมะพร้าวทั้งที่ให้ผลผลิตแล้วเกินกว่า 30 ปี ไล่ลำดับปีลงมาถึงมะพร้าวที่เพิ่งปลูก ยังไม่ถึงอายุการให้ผลผลิต

การปลูกมะพร้าวหากพื้นที่ไม่ต่ำก็ไม่ต้องยกร่อง ขุดหลุมความลึกพอดีกับผลมะพร้าว พิจารณาดินปลูก หากพื้นที่ปลูกสมบูรณ์อยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องรองก้นหลุม แต่ถ้าดินทรายควรใช้ขี้วัวรองก้นสักหน่อย แต่ละหลุมปลูกควรห่าง 5X5 เมตร เมื่อต้นมะพร้าวโต ใบมะพร้าวจะจรดถึงกันพอดี หลังนำต้นลงปลูกกลบผลมะพร้าวไม่ต้องมิดมาก แต่เมื่อถากหญ้าหรือเก็บกวาดสวนก็ให้สุมไปที่โคนต้นมะพร้าว

น้ำ เป็นปัจจัยปลูกที่สำคัญยิ่งสำหรับการทำสวนมะพร้าว โชคดีที่สวนของคุณประวิทย์ ติดกับลำห้วยที่มีฝายทดน้ำอยู่ใกล้ ทำให้มีน้ำตลอดปี

ในฤดูฝน เป็นที่รู้กันว่า ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ แต่ฤดูอื่นหากเห็นว่าดินเริ่มขาดน้ำ ก็นำถัง 200 ลิตร บรรทุกน้ำใส่ท้ายรถกระบะ รดสัปดาห์ละครั้ง แต่ละครั้งของการรด ควรรดให้ดินชุ่ม ซึ่งคุณประวิทย์ บอกว่า การรดน้ำแบบที่สวนคุณประวิทย์ทำ ไม่ได้เป็นวิธีมาตรฐาน หากต้องการให้ได้มาตรฐาน ควรติดสปริงเกลอร์หรือติดตั้งระบบน้ำหยด และควรเริ่มลงปลูกมะพร้าวราวเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงฤดูฝนของทุกปี

คุณอุไร ประกอบธรรม ภรรยาของคุณประวิทย์ ผู้มีประสบการณ์การทำสวนมะพร้าวมากพอกัน บอกว่า การใส่ปุ๋ยให้กับมะพร้าว จะเริ่มให้เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ควรให้ 4 ครั้ง ต่อปี ในระยะห่างของเวลาที่เท่ากัน ซึ่งบางสวนอาจจะใส่ปุ๋ยเพียงปีละ 2 ครั้ง ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผลที่ตามมาอาจทำให้ผลมะพร้าวไม่สมบูรณ์ หรือที่เรียกว่า มะพร้าวขาดคอ ยกเว้นในช่วงที่มะพร้าวยังไม่ติดผล ควรให้ปุ๋ยทุก 3 เดือน

การทำมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวน้ำหวาน ให้ได้คุณภาพดี คุณประวิทย์ บอกเทคนิคอย่างง่ายว่า ไม่ควรซื้อปุ๋ยที่ผสมสูตรสำเร็จมาใช้ เพราะจะมีส่วนผสมของดินเปล่าที่ไม่มีประโยชน์ปนมามากถึง 3 กิโลกรัม แต่ใช้วิธีซื้อแม่ปุ๋ย ที่มีความเข้มข้นของธาตุแต่ละตัว นำมาผสมเพื่อให้ได้สูตรตามการใช้ประโยชน์ ต้นมะพร้าวจึงจะได้ประโยชน์สูงสุดจากการใส่ปุ๋ย

“เราซื้อแม่ปุ๋ยมาเอง แล้วเอามาผสม ต้องการสูตรอะไรก็ผสมให้ได้อย่างนั้น ผมซื้อปุ๋ยสูตร 0-0-60, 18-24-0 และ 46-0-0 ใช้ 3 ตัวนี้มาผสมกันให้ได้ตามสูตรที่ต้องการ ซึ่งสูตรที่ต้องการไม่มีขายในท้องตลาดทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าต้องการให้ต้นมะพร้าวเจริญเติบโตเร็ว ก็เน้นตัวหน้าสูง ถ้าต้องการให้ผลมะพร้าวหอมหวานก็เน้นไปที่ตัวหลังสูง เท่านั้นเอง”

โรคและแมลง เป็นเรื่องที่หนักใจที่สุด สำหรับชาวสวนมะพร้าว

คุณประวิทย์เองยังเอ่ยปากว่า ตั้งแต่ทำสวนมะพร้าวมานานหลายสิบปี ปัญหาที่พบและเป็นอุปสรรคมากที่สุด คือ ปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าว และ ด้วง

“ในอดีตไม่เคยมีปัญหาเหล่านี้ มะพร้าวปลูกทิ้ง ใส่ใจดูแลรดน้ำให้ปุ๋ยบ้าง ก็ได้ผลผลิตที่ดี แต่ปัจจุบันไม่ใช่ หากปลูกทิ้ง ไม่มีทางที่จะได้ผลผลิตที่ดีแน่นอน ซึ่งปัญหาหนอนหัวดำมะพร้าวก็เพิ่งพบการระบาดเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา รวมถึงด้วงแรดและด้วงงวงที่ทำลายมะพร้าวจนเสียหาย และเป็นปัญหาที่เกษตรกรไม่สามารถป้องกันหรือกำจัดได้ประสบความสำเร็จ”

แต่วิธีที่สวนมะพร้าวคุณประวิทย์ทำ คือ

1. ปล่อยแตนเบียนให้ทำลายหนอนหัวดำมะพร้าว ซึ่งวิธีนี้ ใช้ได้ดีกับมะพร้าวต้นเตี้ย หรือต้นที่สูงไม่เกิน 10 เมตร
2. หมั่นสังเกตใบมะพร้าว หากพบว่าใบมีทางลายและเริ่มแห้ง ให้คลี่ใบมะพร้าวดู พบหนอนหัวดำมะพร้าวก็นำมาบี้ทิ้ง จากนั้นก็ตัดใบนำไปเผาทำลาย
3. ก่อไฟรมควันภายในสวนมะพร้าว ช่วยลดจำนวนหนอนหัวดำที่เข้ามาภายในสวนมะพร้าว
สำหรับต้นมะพร้าวสูงเกิน 10 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวแกง จำเป็นต้องฉีดสารเข้าที่ลำต้น ซึ่งวิธีนี้เลือกใช้เฉพาะต้นมะพร้าวที่อยู่ในแปลงถัดไปเท่านั้น
5. ทำเครื่องดักด้วง นำไปแขวนไว้กับต้นมะพร้าว โดยการใช้สารฟีโรโมนเป็นตัวล่อ
ทั้ง 5 วิธี ต้องทำร่วมกัน ไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งได้ เพราะจะทำให้การป้องกันและกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวและด้วง ไม่ได้ประสิทธิภาพ

คุณประวิทย์ บอกว่า การใช้สารกำจัดแมลงจะใช้เฉพาะอีกำแปลงถัดไป ส่วนแปลงมะพร้าวที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับบริเวณบ้าน จะงดใช้สารเคมีโดยเด็ดขาด เพราะต้องการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสวนมะพร้าวธรรมชาติ ส่วนมะพร้าวบางต้นที่ถูกแมลงเข้าทำลาย หากใช้วิธีตามธรรมชาติในการป้องกันและกำจัดแล้วยังไม่ได้ผล ก็ยอมรับในปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่ได้

“สวนนี้ ผมไม่ได้ปลูกแค่มะพร้าวแกง มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวน้ำหวาน เท่านั้น ผมยังปลูกมะพร้าวพันธุ์หมูสี มะพร้าวนกคุ่ม เอาไว้อีกด้วย ซึ่งหากพบสายพันธุ์แปลกๆ ที่พอเก็บรักษาสายพันธุ์ไว้ได้ ก็จะนำมาปลูกไว้เป็นการรักษาพันธุ์”

การเก็บผลจำหน่าย สำหรับมะพร้าวแกง จะเก็บเองและปอกเปลือกให้ มีพ่อค้ามารับจากสวน ในราคาลูกละ 20 บาท แต่ละรอบของการเก็บมะพร้าวแกง สามารถเก็บได้ครั้งละ 3,000-3,500 ลูก

มะพร้าวน้ำหอม และ มะพร้าวน้ำหวาน สามารถเก็บจำหน่ายได้ทุกวัน ในราคาลูกละ 15 บาท แต่ละวันเก็บได้ในปริมาณไม่เท่ากัน และไม่ว่าจะเก็บได้จำนวนเท่าไหร่ก็มีลูกค้ารับซื้อจากสวนไปหมด

ส่วนมะพร้าวชนิดอื่น เช่น มะพร้าวกะทิ ก็มีเก็บขายได้ประปราย ได้ราคาดี ผลเล็กราคา 30-40 บาท ผลใหญ่ราคา 80 บาท รวมถึงมะพร้าวทึนทึกที่ขายได้ทุกครั้งที่เก็บ

สวนมะพร้าวคุณประวิทย์ ยินดีต้อนรับผู้มาเยือนทุกทิศ หรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ก็ยินดี ติดต่อคุณประวิทย์ ประกอบธรรม ได้ที่ หมู่ที่ 1 ตำบลตะเคียนเตี้ย อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี โทรศัพท์ (096) 190-1825

เชื่อว่า มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจรู้สึกเบื่องานประจำ อยากหนีกรุงไปทำอาชีพเกษตรกรรม เพื่อใช้ชีวิตอยู่ใกล้ธรรมชาติอันแสนบริสุทธิ์ หลายคนยังกลัวที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง แต่มีหนุ่มสาวลูกหลานไฮโซฯ กลุ่มหนึ่งที่จะกล้าไล่ตามความฝันที่จะทำอาชีพเกษตรกรรม ในชื่อไร่ “เก็บฟาร์ม” และลงทุนต่อยอดกิจการร้านอาหาร “แปลงผัก” ที่ประสบความสำเร็จทางการตลาด เชื่อว่าเรื่องราวของพวกเขาน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับใครๆ อีกหลายคน ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเองเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพเกษตรกรรมเช่นเดียวกับพวกเขา

จุดเริ่มต้น “อาชีพเกษตรกรรม”

คุณกัลยกร บุนนาค หรือ คุณกัล 1 ใน 5 เจ้าของกิจการไร่ “เก็บฟาร์ม” เล่าให้ฟังว่า ภายหลังเธอเรียนจบปริญญาตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ช่วงเวลานั้นครอบครัวย้ายไปอยู่ที่หัวหิน เปิดร้านอาหารไทย ชื่อ ชิฎฑะเฬ เธออยากอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัว จึงตัดสินใจลาออกเพื่อย้ายมาอยู่กับครอบครัวที่หัวหิน

คุณกัล ไม่อยากทำงานประจำ อยากหางานที่ทำแล้วมีความสุข ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ เธอจึงตัดสินใจเลือกทำอาชีพเกษตรกรรม เธอมั่นใจว่า อาชีพเกษตรกรรมสร้างรายได้เลี้ยงดูตัวเองได้แน่ๆ เพราะผักผลไม้สดเป็นอาหารที่จำเป็นต้องบริโภคอยู่แล้ว ยิ่งปัจจุบันกระแสการบริโภคผักเพื่อสุขภาพมาแรง ทำให้สินค้าผักผลไม้สดปลอดสารพิษได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงตั้งเป้าหมายผลิตผักสดปลอดสารพิษออกขาย

ที่มาของ “เก็บฟาร์ม”

คุณกัล กับเพื่อนสนิทอีก 4 คน ประกอบด้วย คุณรนกร แสง-ชูโต คุณศุภกร จูงพงศ์ คุณธนวุฒิ กุลนิรันดร และ คุณธีรภัทร อัศวเบญญา ได้เช่าพื้นที่ 7 ไร่ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อดำเนินกิจการไร่ “เก็บฟาร์ม (Geb Organic Farm)” โดยคาดหวังให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งผลิตและรวบรวมอาหารจากธรรมชาติ ที่ทุกคนสามารถมาเก็บ มารับประทานได้ พวกเขาวางแผนที่จะพัฒนาไร่เก็บฟาร์ม เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและศูนย์การเรียนรู้เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษในอนาคต

“ในไร่เก็บฟาร์มของพวกเรา พืชผักทุกชนิดถูกปลูกโดยแบบออร์แกนิก และพยายามทำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด โดยที่ไร้สารพิษ และยาฆ่าแมลง 100% ผลผลิตทุกชนิดของพวกเราจึง ‘ดีต่อสุขภาพ’ ของคุณลูกค้าทุกท่านเป็นอย่างมาก” คุณกัล กล่าว

เนื่องจากพวกเขาทั้ง 5 คน ล้วนเป็นเกษตรกรมือใหม่ คุณกัลจึงขอให้เพื่อนรุ่นพี่ ชื่อ “คุณจักรภูมิ บุณยาคม” หรือ คุณภูมิ ซึ่งเป็นเกษตรกรที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำปุ๋ยไส้เดือน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่ม Thailand Young Farmer เข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านการปลูกดูแลพืชผักผลไม้ในไร่เก็บฟาร์ม

สารพัดผักสลัด

เดิมทีพื้นที่ไร่เก็บฟาร์ม เนื้อที่ 7 ไร่ แห่งนี้ เคยใช้เป็นพื้นที่ปลูกสับปะรดมาก่อน ต่อมาคุณกัลได้ขอเช่าที่ดินดังกล่าว ในอัตรา ปีละ 30,000 บาท ไร่เก็บฟาร์มใช้เงินลงทุน 1.5 ล้านบาท เป็นค่าเช่าที่ ค่าก่อสร้างโรงเรือน ค่าวางระบบน้ำ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ปัจจุบันไร่เก็บฟาร์มเปิดดำเนินงานมาได้ 1 ปีแล้ว มีแรงงาน 4 คน ช่วยดูแลผลผลิต

ไร่เก็บฟาร์ม นำเข้าเมล็ดพันธุ์ผักสลัดคุณภาพดีจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีอัตราการรอด 90 เปอร์เซ็นต์ พวกเขาทำโรงเรือนสำหรับเพาะต้นกล้าและปลูกผักแบบยกร่อง ปัจจุบัน เนื้อที่ 3 ไร่ ของไร่เก็บฟาร์มถูกนำมาใช้ปลูกผักสลัดถึง 11 ชนิด ได้แก่ ผักกรีนโอ๊ก ผักสลัดสีแดง “เรดโอ๊ก” ผักสลัดใบเขียว “ฟิลเลย์” ผักสลัดบัตเตอร์เฮด รวมทั้งพืชผักสวนครัวประเภทต่างๆ เช่น โหระพา มะเขือเทศเชอร์รี่ มะเขือเปรี้ยว แครอต บีทรูท ฟักทอง ถั่วแขกสีม่วง ถั่วฝักยาวลายเสือ ฯลฯ

หลักการปลูกผัก สไตล์ญี่ปุ่น

หลักการปลูกผักสไตล์ญี่ปุ่น มุ่งเน้นเรื่องการปรุงดินด้วยระบบชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้สภาพดินดีขึ้นเรื่อยๆ คุณภูมิ บอกว่า แนวคิดนี้ไม่ได้คำนึงถึงระบบธาตุอาหารสักเท่าไร การปลูกผักของที่นี่จะเน้นปรับค่าดินให้เป็นกรดอ่อนๆ ผสมตัววัสดุปลูกที่พัฒนาขึ้นใช้เอง วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนการผลิต แถมยังช่วยให้พืชเติบโตได้แข็งแรงอีกต่างหาก

สำหรับวัสดุปลูกที่ใช้ในฟาร์มแห่งนี้ เน้นวัตถุดิบที่มีความเป็นด่างและมีค่าคาร์บอน เช่น แกลบเผา กากอ้อยเผา เป็นต้น ส่วนวัตถุดิบที่ช่วยอุ้มน้ำคือ ขุยมะพร้าว หรือขุยตาล โดยนำวัตถุดิบกลุ่มนี้มาแช่น้ำเพื่อลดความเค็ม ก่อนนำไปใช้งาน สำหรับวัสดุปลูกการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชจะนำไปใส่ปุ๋ยน้ำหมักปลา (ซึ่งมีกรดอะมิโน) หมักจนหายร้อน จึงค่อยนำมาใช้งาน

ขั้นตอนการปลูกผักสลัดของไร่เก็บฟาร์ม เริ่มจากเพาะเมล็ดในวัสดุที่ทำขึ้นเอง มีขุยมะพร้าวกับขี้เถ้าแกลบนำมาหมักกับปุ๋ยน้ำหมัก เพาะเมล็ดในโรงเรือนนาน 15 วัน ฉีดปุ๋ยน้ำโบกาฉิ (มูลสัตว์ 1 ส่วน และอินทรียวัตถุ 4 ส่วน) ที่ทำขึ้นเอง จนกระทั่งกลายเป็นต้นอ่อนที่มีใบเลี้ยง ก่อนจะปลูกลงดิน ในระยะห่าง 20-30 เซนติเมตร ผักคอส มีลักษณะลำต้นสูง จะปลูกในระยะชิดลงหน่อย โดยทั่วไปผักสลัดจะใช้เวลาดูแลประมาณ 30-50 วัน

เก็บฟาร์มปลูกดูแลผักปลอดสารพิษ โดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เพราะทำปุ๋ยน้ำหมักไว้ใช้เองจากน้ำนมวัวดิบและกากนม น้ำหมักจากเศษปลา ปุ๋ยหมักสูตรนี้ช่วยให้ผักสลัดที่ปลูกมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย นอกจากนี้ ยังทำปุ๋ยน้ำหมักสูตรไล่แมลงจากยาฉุน เครื่องต้มยำ ยาเส้น สะเดา ที่ใช้แล้วได้ผลดี ไม่มีปัญหาโรคแมลงรบกวนในแปลงปลูกผัก

การจัดการวัชพืชของเกษตรกรไทย จะเน้นถอนหญ้าออกจากแปลงปลูกผัก แต่เกษตรกรญี่ปุ่นจะใช้วิธีนำเอาผ้าใบปูบนแปลงที่มีวัชพืชขึ้นอยู่ จะทำให้วัชพืชเน่า แปลงถัดมาจึงค่อยปลูกผักสลัด ทำสลับกันแบบนี้จนเต็มพื้นที่เพาะปลูก หลังสิ้นสุดฤดูการเก็บเกี่ยว เกษตรกรญี่ปุ่นจึงค่อยนำเอาผ้าใบที่คลุมแปลงออก และย้ายมาคลุมในแปลงปลูกผักเดิม (รากพืชที่ตกค้างอยู่ในแปลงปลูกผักเดิมจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ในที่สุด) การจัดการแปลงปลูกลักษณะนี้ ถือเป็นการพักหน้าดินอย่างหนึ่งแล้ว ยังได้ปุ๋ยไปในตัวด้วย

คุณภูมิ บอกว่า เก็บฟาร์มเน้นปลูกผักในลักษณะยกแปลง ขนาดความกว้าง ประมาณ 80 เซนติเมตร คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า รากพืชโดยทั่วไปมีหน้าที่ดูดน้ำ สารอาหาร รวมทั้งยึดรากกับดินเพื่อพืชจะมีลำต้นตรง ความจริงแล้วเราพรวนดินให้พูนขึ้นมาเพื่อช่วยให้รากอากาศของพืชดูดซึมออกซิเจนได้ดีขึ้น

สร้างมูลค่าเพิ่มผักสด

คุณกัล บอกว่า ผักสลัดอินทรีย์มีราคาจำหน่ายสูงกว่าผักสดทั่วไป จึงเน้นเจาะผู้บริโภคที่เข้าใจคุณค่าและประโยชน์ของผักสลัดอินทรีย์อย่างแท้จริง ช่วงแรกพวกเราปลูกผักเยอะเกินไป ขายผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้เกิดปัญหาผักเน่าเสีย ไม่ทันขายได้ จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่ ลดจำนวนพื้นที่ปลูกลง เน้นปลูกและขายตามคำสั่งซื้อเป็นหลัก

ทุกวันนี้ เก็บฟาร์ม มีผักสดออกขายทุกวัน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม จำหน่ายในราคา กิโลกรัมละ 130-140 บาท เพิ่งจำหน่ายอย่างจริงจัง ตั้งแต่ต้นปี 2560 สินค้าส่วนใหญ่ถูกส่งขายให้กับธุรกิจร้านอาหาร ภัตตาคาร และโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่อำเภอหัวหิน สร้างรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,000 บาท

ผลผลิตอีกส่วนถูกนำมาใช้ในกิจการร้านอาหารของพวกเขา ชื่อ “ร้านแปลงผัก Veggie Bed” ซึ่งเป็นธุรกิจรวมทุนของคุณกัลกับคุณจักรภูมิ ร้านอาหารแห่งนี้เน้นขายอาหารโฮมเมดสไตล์ยุโรป ประเภทเมนูสลัดผัก ซุปฟักทอง สเต๊ก พาสต้า ฯลฯ เริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559

“ผักสลัดที่มีรสชาติอร่อย หวาน กรอบ ถือเป็นจุดเด่นของร้านอาหารแปลงผักแห่งนี้ เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพดี ทำในสไตล์อาหารโฮมเมด เช่น ทำน้ำสลัดเอง สเต๊ก ก็เคี่ยวน้ำซอสเกรวี่เอง สินค้าใหม่สดทุกวัน ที่สำคัญจำหน่ายในราคาไม่แพง โดยกลุ่มลูกค้าหลักคือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ชื่นชอบการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ” คุณกัล กล่าว

ใครสนใจอยากเป็นลูกค้าผักสลัดอินทรีย์ของไร่แห่งนี้ หรืออยากลิ้มลองรสชาติความอร่อยของอาหารโฮมเมดสไตล์ยุโรป เชิญมาได้ที่ “ร้านแปลงผัก Veggie Bed” ตั้งอยู่ในซอยหัวหิน 83 ร้านอยู่ต้นซอยทางขวามือ หรือสนใจเยี่ยมชมกิจการไร่ “เก็บฟาร์ม” สามารถติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก “Geb Organic Farm” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ (087) 107-5331

ทีมงานจากสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานี และสำนักงานเกษตรอำเภอน้ำยืน พาแวะไปชมแปลงปลูกพืชของเกษตรกรในอำเภอน้ำยืนหลายแปลงด้วยกัน

ที่ขาดไม่ได้คือ คุณหนูจร พุดผา อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โทรศัพท์ (091) 019-7163 คุณหนูจร บอกว่า เกษียณจากกำนันไม่นานนัก ทุกวันนี้เป็นเกษตรกรเต็มตัว ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง หรือหวาดระแวงว่าคดีต่างๆ จะเข้าถึงตัว เพราะขณะที่ทำงานรับใช้ประชาชน ตนเองมีความตั้งใจจริง มีความซื่อสัตย์

พื้นฐานเดิมของอดีตกำนันแหนบทองคำเป็นเกษตรกร มีที่ดินเป็นมรดกตกทอดอยู่บ้าง ก่อนเกษียณ 10 ปี ได้เตรียมตัวอย่างเป็นระบบ โดยเสาะหาที่ดินเพิ่ม ซึ่งซื้อหาในราคาไม่แพง แต่ที่สำคัญมากนั้น เขาได้ปลูกไม้ยืนต้น โดยทะยอยปลูก จากน้อยไปหามาก จึงไม่ได้ลงทุนสูง ขณะเดียวกัน ก็มีรายได้ตั้งแต่ปีแรกๆ เพราะปลูกพืชอายุสั้น ส่วนพืชที่ให้ผลช้า รอไม่นานก็มีผลผลิตให้เก็บ

กล้วยที่ปลูกมีกล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า กล้วยเล็บมือนาง กล้วยหอมทอง สาเหตุที่เจ้าของปลูกกล้วยนำร่องและมีค่อนข้างมาก เนื่องจากกล้วยให้ผลผลิตเร็ว เพียงปีเดียวก็ให้ผลผลิตแก่เจ้าของแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่า เกษตรกรรายนี้ไม่ได้ปลูกกล้วยน้ำว้าอย่างเดียว แต่หาความหลากหลายเพื่อตอบสนองลูกค้า คนซื้อกล้วยน้ำว้าวันนี้ วันต่อไปอยากลิ้มรสกล้วยเล็บมือนาง ทางสวนก็มีให้

กล้วยที่ปลูกลงไป ช่วยนำร่องให้กับพืชอื่น โดยรักษาความชื้น รวมทั้งเป็นร่มเงาให้เป็นอย่างดี

ฝรั่งก็สร้างรายได้ดี…ฝรั่งที่ปลูกมีจำนวน 400 ต้น มีพันธุ์กิมจูและหวานพิรุณ สิ่งสำคัญในการดูแลฝรั่งนั้น คุณหนูจร บอกว่า ต้องห่อเพื่อป้องกันแมลงวันผลไม้ เขายอมรับว่า ฝรั่งซื้อง่ายขายคล่อง ปริมาณที่ได้ต่อ 1 กิโลกรัมก็มาก ซื้อไปแล้วกินกันได้ทั้งครอบครัว เมื่อก่อนอาจจะมีความเข้าใจว่า ฝรั่งปลูกได้ขายดีเฉพาะในเขตที่ลุ่มภาคกลาง ทุกวันนี้อีสานอย่างอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ก็ปลูกได้ผลดีเช่นกัน ราคาขายฝรั่งทั้งปีนั้น คุณอำนาจ ภรรยาของคุณหนูจรบอกว่า กิโลกรัมละ 20 บาท

เงาะ ทุเรียน…ต้นกำลังเจริญเติบโต อย่างทุเรียนปลูกไว้ 21 ต้น ขณะนี้ต้นกำลังหนุ่มสาว อีกปีสองปีก็สามารถเก็บผลผลิตได้ เงาะปลูกไว้ 22 ต้น ขณะนี้ส่วนใหญ่ให้ผลผลิตแล้ว

ขนุนปลูกง่าย…ขนุนเป็นพืชหนึ่งที่แซมในแปลงปลูกกล้วยและเงาะ เจ้าของผสมผสานอย่างลงตัว นอกจากปลูกและดูแลรักษาง่ายแล้ว ขนุนยังขายง่ายอีกด้วย อาจจะขายยกผล หากมีเวลาก็แกะเนื้อขาย คุณหนูจร บอกว่า ไม่เคยพ่นสารเคมีให้ขนุน เนื่องจากเป็นพืชที่ทนทาน ออกดอกติดผลทุกปีมีความซื่อสัตย์

มะพร้าวน้ำหอม…ปลูกทั้งหมด 60 ต้น เดิมทีเกษตรกรทางอีสานคุ้นเคยกับมะพร้าวแกง ผลใหญ่ ใช้เวลาปลูก 6-7 ปี จึงเก็บผลผลิตได้ เมื่อการสื่อสารทันสมัย การขนส่งสะดวก มะพร้าวน้ำหอมที่ปลูก 3-4 ปีมีผลผลิต จึงถูกนำไปปลูกที่อีสาน ซึ่งได้ผลดีเช่นกัน ที่ผ่านมามีการขนส่งมะพร้าวน้ำหอมจากภาคกลางไปอีสาน เพราะส่งไกลราคาจึงแพง เมื่อมีผลิตในท้องถิ่น ราคาที่ผู้ซื้อต้องจ่ายจึงถูกลง

มะพร้าวน้ำหอมของคุณหนูจร เจริญเติบโตดีมาก ส่วนหนึ่งเริ่มให้ผลผลิตแล้ว เจ้าของบอกว่า ปลูกให้ใกล้น้ำที่สุด ปุ๋ยที่ชอบคือปุ๋ยขี้วัวหรือขี้ไก่

มะละกอพืชสามัญประจำสวน…คุณหนูจร เก็บมะละกอให้กับคณะที่ไป เพื่อนำกลับมากินที่บ้าน

มะละกอมีผลขนาดใหญ่ผิดปกติ ถามแล้วได้ความว่าเป็นพันธุ์ “เรดเลดี้” เนื้อสีสวยมาก เหมาะสำหรับกินสุก…พันธุ์อื่นๆ ก็มีปลูก

มะละกอถือว่าเป็นพืชสามัญที่ควรปลูกประจำสวนหรือประจำบ้าน M8BET มีไม่มากเก็บมาทำส้มตำ กินผลสุกเป็นผลไม้ที่คุณค่าทางอาหารสูง เหลือกินก็จำหน่าย ที่สวนแห่งนี้ผลผลิตมะละกอสวยมาก คงเป็นเพราะดินและน้ำสมบูรณ์

นอกจากนี้ ยังมีพืชชนิดอื่นๆ อีก เช่น แก้วมังกร มะนาว ลองกอง มังคุด พริกไทย ไผ่พันธุ์ต่างๆ เผือกหอม พืชผักสวนครัวหลายชนิด เปรียบเทียบกับทำงานเป็นกำนัน คุณหนูจร บอกว่า เป็นเกษตรกรสนุกกว่า

“สนุก ไม่รีบเร่ง ไม่มีใครบังคับ สวนเราอยู่ในโครงการท่องเที่ยวให้คนมาเยี่ยม นักศึกษามาฝึกงาน มีเครือข่ายชาวสวนด้วยกันมาเรียนรู้ เครือข่ายอยู่ยโสธร บุรีรัมย์ เขามาพักมาเรียนรู้ แล้วนำไปปฏิบัติ…ทำสวนเหนื่อยแต่พักผ่อนได้ ไม่เร่งรีบ เหนื่อยก็หยุด มีความสุขกว่าเป็นกำนัน ตอนเป็นกำนันจะออกจากบ้านมีคนมาหารือ บางครั้งรอคิว 2-3 คน กว่าจะออกได้ก็สาย ตอนนี้อิสระแล้ว”

คุณหนูจร บอกและเล่าอีกว่า

“ผมทำนา 12 ไร่ เอาไว้กินแจกจ่ายพี่น้องด้วย ที่เหลือก็ขาย ผมทำงานทุกวัน 3 ช่วง ช่วงแรกหกโมงเช้าถึงแปดโมงแล้วพักกินข้าว ช่วงที่สองสิบโมงถึงเที่ยง ช่วงที่สามบ่ายสามโมงถึงค่ำ ค่อยๆ ทำไม่ได้รีบเร่ง ช่วงที่เป็นกำนัน สวนไม่เรียบร้อยนัก ตอนนี้ดีขึ้น มีผลผลิตมากขึ้น”