วว.จับมือพันธมิตรจัดงานสัมมนา Sustainable Packaging

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานสัมมนา Sustainable Packaging for Circular Economy ฟรี! ในวันที่ 18 กันยายน 2562 ณ ห้อง MR210 ไบเทค บางนา (บรรยายภาษาอังกฤษ)

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขในการเข้าร่วมสัมมนา ดังนี้ รับจำนวนจำกัด 100 ที่นั่ง
จำกัด 2 ที่นั่ง/องค์กร หรือบริษัท (ให้สิทธิ์ท่านที่สำรองที่นั่งก่อน)
ผู้จัดงานจะส่งหนังสือยืนยันการตอบรับเข้าร่วมงานไปยัง E-mail ของท่านภายในวันที่ 4 กันยายน 2562 (กรณีหากท่านไม่ได้รับ หมายถึง การสำรองที่นั่งไม่สำเร็จ/ไม่ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมงาน)
งดรับลงทะเบียนหน้างาน (งดรับ Walk-in)

รมช.เกษตรและสหกรณ์ประชุมมอบนโยบายกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมรับฟังสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 12,858 แห่ง สมาชิกรวมกว่า 12.117 ล้านครอบครัว แต่ละปีสหกรณ์มีการดำเนินธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ผลไม้ ปริมาณไม่น้อยกว่า 5.530 ล้านตัน/ปี และสหกรณ์อีกจำนวน 718 แห่ง ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการพืชผลการเกษตรและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ปริมาณไม่น้อยกว่า 1.103 ล้านตัน/ปี

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางมาประชุมเพื่อมอบนโยบายการพัฒนาระบบสหกรณ์และการขับงเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยมี นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารกรมฯ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เบื้องต้นทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้นำเสนอถึงภารกิจและหน้าที่ในการดำเนินงานของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งต้องดูแลและ สนับสนุนการดำเนินงานให้กับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ 12,858 แห่ง สมาชิกรวม 12.117 ล้านครอบครัว ทุนดำเนินงานรวม 3.13 ล้านล้านบาท ปริมาณธุรกิจรวม 2.52 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนจำนวนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศ แบ่งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร 4,547 แห่ง สมาชิก 6.677 ล้านคน สหกรณ์นอกภาคการเกษตร 3,550 แห่ง สมาชิก 4.958 ล้านคน และกลุ่มเกษตรกร 4,761 แห่งสมาชิกกลุ่มเกษตรกร 0.481 ล้านคน

กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นพัฒนาการดำเนินงานและเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ เพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้กับสมาชิก โดยเฉพาะสหกรณ์ในภาคการเกษตร ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการดูแลเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต เริ่มจากการจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรสำหรับนำไปลงทุนประกอบอาชีพทำการเกษตร การส่งเสริมการผลิตสินค้าการเกษตรที่มีคุณภาพ การดูแลบริหารจัดการพื้นที่การเกษตร การจัดหาปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยลดต้นทุน

การรวบรวมผลผลิตเพื่อนำมาสู่กระบวนการแปรรูปหรือปรับปรุงคุณภาพ และการจัดหาตลาดรองรับผลผลิตให้กับเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรแหล่งจำหน่ายผลผลิตที่แน่นอนและสามารถกำหนดราคาขายได้อย่างเป็นธรรม ซึ่งที่ผ่านมา มีสหกรณ์การเกษตร 1,573 แห่ง ดำเนินธุรกิจรวบรวมและรับซื้อ ผลผลิตการเกษตรจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ข้าวโพดยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและผลไม้ ปริมาณไม่น้อยกว่า 5.530 ล้านตัน/ปี และสหกรณ์อีกจำนวน 718 แห่ง ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการพืชผลการเกษตรและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ปริมาณไม่น้อยกว่า 1.103 ล้านตัน/ปี

สำหรับในปีงบประมาณ 2563 กรมส่งเสริมสหกรณ์มุ่งเน้นการพัฒนาสหกรณ์ให้เป็นองค์กรหลักระดับอำเภอ โดยส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรมีบทบาทในการสร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนในแต่ละพื้นที่ เนื่องจากในแต่ละอำเภอจะมีประชากรที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรไม่น้อยกว่า 40-50% ดังนั้น สหกรณ์จะต้องปรับบทบาทในการดำเนินงาน มุ่งเน้นการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้น จะมีการพัฒนาการผลิตพืชผลการเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตร 10 ชนิด จำนวนไม่น้อยกว่า 30 ผลิตภัณฑ์

เพื่อให้สินค้าของสหกรณ์เป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังเดินหน้าโครงการเพิ่มศักยภาพสหกรณ์ในการรวบรวมและเก็บชะลอสินค้าเกษตร เพื่อดึงปริมาณผลผลิตการเกษตรที่สำคัญเข้าสู่กระบวนการแปรรูปเพิ่มมูลค่าก่อนส่งจำหน่ายสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้สินค้าไม่ออกสู่ตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก และป้องกันปัญหาการกระจุกตัวของสินค้า เพื่อใช้กลไกสหกรณ์เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาสินค้าการเกษตรให้กับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบนโยบายการปฏิบัติงานแก่กรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยขอให้ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้ามาเป็นสมาชิกสหกรณ์ภาคการเกษตรให้มากขึ้น และชี้ให้เห็นว่าเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ และส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่และอาชีพของเกษตรกรอย่างไร นอกจากนี้ ให้เร่งแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์ ไม่ให้มีหนี้สินพอกพูน ซึ่งจะต้องไปดูเรื่องของการประกอบอาชีพและรายได้ที่เพียงพอหรือไม่ ต้องเน้นการสร้างอาชีพ สำหรับการผลิตสินค้าการเกษตร สหกรณ์ต้องเข้าไปส่งเสริมสมาชิกผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตการเกษตร และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกับเกษตรกรด้วย เนื่องจากสหกรณ์นั้นมีความสำคัญและเป็นกลไกที่ช่วยดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

“สหกรณ์มีศักยภาพในการผลิตสินค้าการเกษตรที่สำคัญหลายชนิด ทั้งข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังและยางพาราโดยเฉพาะยางพารา สหกรณ์สามารถรวบรวมน้ำยางดิบจากสมาชิกนำมาผลิตเป็นน้ำยางข้น ยางแผ่น และยางแท่งได้บางส่วนได้นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพารา เช่น หมอน ที่นอน แผ่นรองปูพื้นสนาม ถุงมือและรองเท้า ดังนั้น จะสนับสนุนให้สหกรณ์รับซื้อน้ำยางดิบจากเกษตรกรแล้วนำมาแปรรูปตามผลิตภัณฑ์ต่างๆ หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้กระทรวงคมนาคมต้องการนำผลิตภัณฑ์ยางพารามาแปรรูปเป็นกรวยยาง

แท่งแบริเออร์และอุปกรณ์ความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะมีการหารือกับกระทรวงคมนาคม ขอให้สหกรณ์เป็นผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้และขอให้กระทรวงคมนาคมประสานและสั่งซื้อจากสหกรณ์โดยตรง เบื้องต้นทราบว่า มีสหกรณ์ทางภาคใต้ เช่น สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด จังหวัดสงขลาและชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางสตูล จำกัด จังหวัดสตูล มีศักยภาพในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราได้หลากหลายชนิด ที่พร้อมสำหรับการผลิตเป็นกรวยและแท่งแบริเออร์ได้ตามที่กระทรวงคมนาคมต้องการ นอกจากนี้ยังได้วางแผนลงไปตรวจเยี่ยมการก่อสร้างโรงงานรวบรวมน้ำยางของสหกรณ์สวนยางในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เพื่อให้เร่งดำเนินการได้ทันรองรับปริมาณผลผลิตยางพาราจากเกษตรกรในพื้นที่โดยเร็วที่สุด” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4) ของพื้นที่จังหวัดนครนายก ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง กุ้งขาวแวน นาไม มะยงชิด โดยการผลิตข้าวนาปี ในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2)

เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 538 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 69 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง พื้นที่ S1/S2 เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,433 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 552 บาท/ไร่ สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม และมะยงชิด ไม่ได้กำหนดพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) โดย กุ้งขาวแวนนาไม เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 76,179 บาท/ไร่ และมะยงชิด ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดนครนายก เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 13,429 บาท/ไร่

หากพิจารณาสินค้าทางเลือกเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรในจังหวัดนครนายก ตาม Agri – Map เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวมาทำไม้ดอกไม้ประดับ (ขนาดถุงดำ 2 นิ้ว) เช่น ต้นพุดศุภโชค เข็ม ชา มะลิ มีต้นทุนการผลิต 90,395 บาท/ไร่/รุ่น มีอายุเก็บเกี่ยว 3 เดือน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 51,335 บาท/ไร่/รุ่น และไม้ดอกไม้ประดับ (ถุงดำขนาด 8 นิ้ว) เช่น ต้นไทรเกาหลี ต้นทุนการผลิต 47,215 บาท/ไร่/รุ่น มีอายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 69,415 บาท/ไร่/รุ่น ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับของจังหวัดนครนายกมีชื่อเสียงและตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับที่ตั้งอยู่ที่อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ซึ่งขายส่งกระจายไปทั่วประเทศและต่างประเทศจึงเป็นสินค้าทางเลือกที่ดีมีความต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจด้านประมง ได้แก่ กุ้งก้ามกราม มีต้นทุนการผลิต 24,284 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิตใน 90 วัน ผลตอบแทนสุทธิ 26,296 บาท/ไร่/รุ่น และปลานิล มีต้นทุนการผลิต 20,973 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิตใน 330 วัน ผลตอบแทนสุทธิ 9,052 บาท/ไร่/รุ่น ซึ่งปัจจุบันผลผลิตด้านประมงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องเพราะจังหวัดนครนายกเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจใกล้กรุงเทพมหานครโดยเฉพาะมีน้ำตกที่มีชื่อเสียงหลายแห่งจึงมีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมากและต้องการอาหารสด ที่ปลอดภัย เกษตรกรสามารถผลิตร่วมกับการทำนาเสริมรายได้ในสระน้ำในไร่นา สามารถสร้างจุดแข็งและขยายผลต่อยอดเพิ่มมูลค่าในการแปรรูปได้

จะเห็นได้ว่าสินค้าทางเลือกมีหลากหลายชนิดและตลาดมีความต้องการสามารถสร้างรายได้เพิ่มและมีกำไร อย่างไรก็ตาม ควรสนับสนุนการปล่อยลูงกุ้งก้ามกรามลงในแม่น้ำนครนายกเพื่อเกิดสินค้ากุ้งแม่น้ำธรรมชาติสร้างรายได้ให้กับวิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้ำนครนายก และควรสนับสนุนการส่งเสริมการบริโภคกุ้งก้ามกราม ปลานิล แก่กลุ่มนักท่องเที่ยว โรงแรม และรีสอร์ต ส่งเสริมการทำจุด Landmark ไม้ดอกไม้ประดับพร้อมติดป้ายหรือสร้างสื่อ social แบบหลายภาษาเพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาทิ สวนผลไม้ สวนผสมผสาน และสวนไม้ดอกไม้ประดับ

สำหรับแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ควรวางแผนการส่งเสริมในการแบ่งเขตพื้นที่เกษตรตามลักษณะศักยภาพของจังหวัดนครนายก โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน ได้แก่ โซนพื้นที่ดอน ส่งเสริมให้ทำการเลี้ยงสัตว์ ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ทำสวนผลไม้ และโซนพื้นที่ลุ่ม ส่งเสริมทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปลูกข้าว ทั้งนี้ ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 โทร. (038) 351-261 หรืออี-เมล zone6@oae.go.th

มกอช. ติวเข้มผู้ประกอบการ ใช้และแสดงเครื่องหมายบรองมาตรฐานบังคับได้อย่างถูกต้อง พร้อมชูศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ สหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด ต้นแบบผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนด ให้สินค้าเกษตรจำนวน 6 รายการเป็นมาตรฐานบังคับ ได้แก่ 1.เมล็ดถั่วลิสง : ข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทอกซิน 2.หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 3.การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาวแวนนาไมปลอดโรค 4.การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 5.หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด และ6.การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ได้กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับตามที่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ลักษณะของเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมายและการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานกับสินค้าเกษตร พ.ศ.2553

ทั้งนี้ เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นว่า สินค้าหรือกระบวนการในการผลิตมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ที่จะนำเครื่องหมายรับรองมาตรฐานไปใช้ได้ก็จะต้องมีคุณสมบัติและผ่านหลักเกณฑ์ ตามข้อกำหนดของหน่วยงานนั้น ดังนั้น มกอช. ในฐานะที่เป็นผู้กำกับดูแลการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามกฎหมายจึงต้องสร้างการรับรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จึงได้จัด “โครงการแนวทางการใช้และแสดงเครื่องหมายบรองมาตรฐานบังคับ”

เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตและได้รับการรับรองตามมาตรฐานบังคับ ใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับได้อย่างถูกต้อง อาทิ มาตรฐานบังคับ เรื่อง การปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ มาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับการผลิตเชื้อเห็ด และมาตรฐานบังคับ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้เกี่ยวกับสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตรที่ผลิตจากสถานประกอบการที่มีระบบการผลิตได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล

นอกจากนี้ ได้เยี่ยมศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ของสหกรณ์โคนมแม่ออน จำกัด จังหวัดเชียงใหม่ และมอบป้ายเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ โดยศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบแห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตร มกษ.6401-2558 ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ จาก มกอช. และได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ (มกษ.6401-2558) GMP จากกรมปศุสัตว์ ปัจจุบัน สหกรณ์ฯ มีสมาชิก 135 ราย ได้รับรองมาตรฐาน GAP 67 ราย รับน้ำนมดิบจากสมาชิกเช้า-เย็น 26.86 ตัน/วัน หรือรวมประมาณ 837.77 ตัน/เดือน โดยส่งให้โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทเชียงใหม่เฟรชมิลค์ บริษัท ซีพี เมจิก และ อ.ส.ค.สุโขทัย

“ปัจจุบันมีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ที่ได้รับใบอนุญาตจาก มกอช. จำนวน 194 ราย โดยพื้นที่ภาคเหนือ มีศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ 33 ราย แบ่งเป็น เชียงใหม่ 16 ราย ลำพูน 9 ราย เชียงราย 5 ราย ลำปาง 2 ราย และแพร่ 1 ราย”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) สนับสนุนเกษตรกรรายย่อยต่อเนื่อง ดันผลผลิตชาวไร่สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียสู่มาตรฐานปลอดภัย Thai GAP พร้อมคัดสรรคุณภาพเนื้อหนึ่งขายต่อเนื่องชูของดีประจำท้องถิ่นภาคตะวันออก ขายผ่านแม็คโครทั่วประเทศ เฉพาะช่วงเทศกาลสารทจีนปีนี้ ความต้องการเพิ่ม ยอดโตกว่า 3 เท่า เกษตรกรปลื้มคุณภาพชีวิตดี มีรายได้มั่นคง ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยาม แม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แม็คโคร ให้ความสำคัญกับการสรรหาวัตถุดิบที่มีคุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย โดยช่วยรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในท้องถิ่นและกระจายสินค้าไปยังสาขาต่างๆ รวมถึงการนำสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียของดีประจำภาค จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภาคตะวันออก วางจำหน่ายในสาขาทั่วประเทศ ซึ่งแม็คโครได้ทำงานใกล้ชิดกับเกษตรกร ด้วยการส่งพนักงานติวเข้มการบริหารจัดการเพาะปลูก ย้ำความสำคัญมาตรฐานปลอดภัย Thai GAP ทำให้มีผลผลิตที่ได้คุณภาพ มีตลาดที่แน่นอน ที่สำคัญในช่วงเทศกาลสารทจีนนี้ สับปะรดปัตตาเวีย ได้รับการตอบรับดีมาก คนไทยเชื้อสายจีนใช้เป็นผลไม้ในการไหว้เจ้าที่มีความหมายดีและขาดไม่ได้

“สับปะรดเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่สำคัญในการไหว้เจ้าของชาวไทยเชื้อสายจีน เฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเทศกาลสารทจีน ตลาดมีความต้องการสูง ช่วงนี้จึงรับซื้อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียมากกว่าปกติถึง 3 เท่า หรือราว 30,000 ลูก ส่งตรงยังสาขาแม็คโคร 13 จังหวัดทั่วภาคตะวันออก และส่งคลังสินค้าเพื่อกระจายสู่ทั่วประเทศ”

ด้าน นายประสาท พันธุนาคิน กลุ่มผู้ปลูกสับปะรดภาคตะวันออก กล่าวว่า “ปกติแล้วชาวไร่สับปะรดที่ปลูกพันธุ์ปัตตาเวียจะนิยมขายผลผลิตผ่านตลาดสด แต่เมื่อมีการชักชวนลูกไร่มาพัฒนาคุณภาพส่งขายให้แม็คโคร แรกๆ เขาไม่สนใจเรื่องการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยอย่าง GAP หรือ Thai GAP กันเลย จนกระทั่งเห็นว่าเมื่อผมพัฒนาคุณภาพมาตรฐานแล้ว ขายได้ราคาดี เขาจึงเข้ามาเป็นลูกไร่กับเรา ตอนนี้มีลูกไร่อยู่ราว 20 ราย ส่งผลผลิตคุณภาพดีขนาด 1.5 กิโลกรัม ทั้งแบบเนื้อหนึ่งและเนื้อสอง ขายให้กับแม็คโครประมาณ 10 ตันต่อสัปดาห์”

ว่ากันว่า สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย นิยมปลูกกันมากในแถบจังหวัดชลบุรี ระยอง ตราด จันทบุรี โดยในช่วงเทศกาลสารทจีน ถือเป็นผลไม้ไหว้เจ้าสำคัญที่ขาดไม่ได้ มีความหมายว่า โชคลาภที่กำลังจะมา ความรอบคอบ รอบรู้ เฉลียว ฉลาด มองการณ์กว้างไกล ที่สำคัญยังมีใยอาหารสูง ช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมน้ำตาลในเส้นเลือด ขณะที่ความนิยมในการบริโภค สำหรับคนไทยจะนิยมบริโภคเนื้อหนึ่ง หวาน ฉ่ำเนื้อแก้ว ส่วนต่างชาติจะชอบเนื้อสอง มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว นิยมนำไปประกอบอาหาร

นางศิริพร กล่าวอีกว่า “ข้อดีของการซื้อสับปะรดในแม็คโครก็คือ สามารถเลือกเองได้ตามใจชอบไม่ว่าจะเป็นเนื้อหนึ่ง สำหรับผู้ที่ชอบทานแบบเนื้อแก้ว หวาน ฉ่ำ หรือเนื้อสอง หวานอมเปรี้ยว ที่นิยมนำไปประกอบอาหาร ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้และความชื่นชอบ โดยแม็คโครได้มีแผนการพัฒนาผลผลิตสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภาคตะวันออกให้มีคุณภาพเนื้อหนึ่งตามความต้องการของตลาดและการนิยมบริโภคที่มากขึ้นด้วย”

คุยเรื่องปลาทูแม่กลองมาหลายตอนจนหน้าคนเขียนจะเป็นปลาทูอยู่แล้ว ฉบับนี้คงจะมาถึงตอนสุดท้ายว่าด้วย “ปลาทูนึ่ง”

คอปลาทูคงรู้กันดีว่า ปลาทูนึ่งสมัยนี้นั้นเราเรียกกันตามใจปากต่อๆ กันมา เพราะมันเรียงใส่เข่งมาเหมือนกับเพิ่งยกออกจากลังถึง นึ่งเสร็จมาใหม่ๆ แต่ความเป็นจริงแล้วหมายถึง ”ปลาทูต้มต้มน้ำเกลือ”

ส่วนเรื่องที่ว่าในอดีตคนทำปลาทูนึ่งเขานึ่งกันจริงหรือเปล่า? จนบัดนี้ก็ยังเถียงกันไม่จบว่านึ่งหรือไม่นึ่ง เพราะหลักฐานการบันทึกและภาพถ่ายไม่มีให้เห็น ได้ยินแต่คนนั้นคนนี้พูดตามความทรงจำ แต่ก็มีคนหาเหตุผลมาอธิบายจนได้ว่าทำไมปลาทูนึ่งกลายมาเป็นปลาทูต้ม นั่นก็เพราะเวลานึ่งแล้วผิวปลาจะไม่ตึงสวยเท่ากับนำไปต้มในน้ำเกลือเจือจาง พอเอาขึ้นมาร้อนๆ ก็ราดด้วยน้ำเย็นจัดอีกทีให้ผิวมันวาว และดึงรั้งให้หนังตึงน่ากิน

เอาเป็นว่าจะนึ่งหรือจะต้ม ผลผลิตปลายทางก็เหมือนกันทั้ง 2 แบบ คือ หมายถึงปลาทูที่ผ่านกระบวนการทำให้สุกแล้วและมีรสเค็มอยู่ในตัว สามารถเอามาปรุงอาหารต่อได้มากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกปลาทู ปลาทูทอด ปลาทูต้มยำ ปลาทูต้มส้ม ปลาทูฉู่ฉี่ ปลาทูผัดฉ่า ปลาทูต้มมะดัน ข้าวผัดน้ำพริกปลาทู ฯลฯ

“ปลาทูแม่กลอง” ของดีเลื่องชื่อลือชานั้น จุดเริ่มต้นการผลิตมาจากท่าเรือหน้าวัดปทุมคณาวาส ซึ่งเป็นท่าขึ้นปลาทูขนาดใหญ่ มีพ่อค้า แม่ค้า และชาวประมง มาทำการซื้อขายปลาทูกันอย่างคึกคัก เพื่อนำไปทำเป็นปลาทูนึ่งใส่เข่ง

เอกลักษณ์ของปลาทูแม่กลองคือ “หน้างอ คอหัก” ถ้าหน้าไม่งอ คอไม่หัก ดูเป็นหน้าเริดเชิดหยิ่ง ถือว่าเป็นปลาจากที่อื่น

ในบรรดาแม่ค้าปลาทูนึ่งเมืองแม่กลองคงไม่มีใครเด่นดังไปกว่า ป้าทองอยู่ หะรินสวัสดิ์ หรือ “ป้าอยู่” ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการนึ่งปลาทูขายมายาวนานหลายสิบปีอีกแล้ว ป้าอยู่จึงเป็นดาราไปออกรายการต่างๆ มามากมายเกี่ยวกับเรื่องการทำปลาทูนึ่ง

ทุกวันแกจะไปรับปลาจากหน้าวัดปทุมฯ มานึ่งตั้งแต่ตี 3 มาหยุดนึ่งเอาตอน 7 โมงเช้า แกบอกว่าที่ปลาทูแม่กลองโด่งดังก็ตรงที่มีเนื้อปลาอร่อยกว่าที่อื่น เพราะทะเลแม่กลองพื้นเป็นดินโคลน อาหารปลาอุดมสมบูรณ์กว่าดินทราย และถ้าจะกินปลาทูให้อร่อยเลิศต้องเป็นช่วงเดือนพฤศจิกายน ปลาจะมันและมีเยอะกว่าช่วงอื่น

พอได้ปลามาก็จะทำการควักไส้ออก ล้างให้สะอาดด้วยน้ำเปล่า แล้วนำปลาทูวางลงเข่ง ถ้าตัวใหญ่หน่อยก็จะใส่เข่งละ 2 ตัว แต่ถ้าตัวเล็กหน่อยก็จะใส่เข่งละ 3 ตัว แล้วแต่ขนาดของปลา ซึ่งก่อนที่จะนำปลาทูลงเข่งนั้น คนทำก็จะหักคอปลาทูให้งอลง เพื่อที่จะให้เข่งล็อกตัวปลาทูไว้อย่างสวยงาม ทำให้ปลาทูแม่กลองดูแตกต่างจากปลาที่อื่น

ป้าอยู่ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ก็จัดปลาทูใส่เข่งเหมือนทั่วไป คือเรียงปลาทูเอาหัวและหางตรงลงเข่ง ปรากฏว่าพอนึ่งมาแล้วหางหักบ้างอะไรบ้าง ก็เลยจับปลาทูหักคอให้งอพอดีเข่ง กลายเป็นที่มาของปลาทูหน้างอ คอหัก ของแม่กลองนับแต่นั้น

พอนำปลาลงเข่งเรียบร้อยแล้วก็จะนำเข่งปลามาเรียงลง “เต๊า” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่มีลักษณะเป็นโครงเหล็กทรงกลมใช้เรียงเข่งปลาเพื่อนำลงไปต้ม แต่ละเต๊าใส่เข่งปลาทูได้ 70-80 เข่ง เอาไปต้มในหม้อขนาดใหญ่ด้วยน้ำเกลือประมาณ 15 นาที จากนั้นจึงนำปลาขึ้นมา เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการทำปลาทูนึ่ง พร้อมที่ส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าที่มารอรับถึงหน้าบ้าน

ป้าอยู่ยังให้ความรู้กับทุกคนว่าเวลานี้ปลาโป๊ะไม่มีแล้ว มีแต่ปลาเรืออวนลาก ที่ร้องขายกันว่า “ปลาโป๊ะๆ…โกหกทั้งนั้น ถ้าปลาใกล้โป๊ะละไม่เถียง” ปลาทูนึ่งคุณภาพดีระดับปลาโป๊ะต้องเป็นปลาทูอวนดำที่ออกเรือตอนเย็นและกลับมาตอนเช้าทุกวัน ซึ่งจะทำให้ได้ปลาสดๆ มานึ่ง

หลักง่ายๆ เกี่ยวกับการกินปลาก็คือ ปลาอะไรก็ตามถ้าไม่สดจะคาว เอาไปทำอะไรกินก็ไม่อร่อย ปลาทูนึ่งก็เช่นกัน ถ้าเริ่มต้นจากปลาไม่สด อย่าหวังเลยว่าเนื้อจะอร่อย ถ้าได้ปลาทูสดจริงๆ ทำอะไรก็อร่อยแน่นอน ไม่จำเป็นต้องเป็นปลาโป๊ะก็ได้

แต่ปลาทูนึ่งแม่กลองส่วนใหญ่อร่อยจริง ไม่ใช่เฉพาะของป้าอยู่ นั่นก็เพราะชาวประมงออกเรือไปล่าปลาทูมาขายแบบวันต่อวันนั่นเอง ไม่มีการเก็บปลาไว้ค้างคืน ปลาทูแม่กลองจึงสดใหม่กว่าปลาทูที่ถูกแช่แข็งค้างคืนหลายวัน

แต่ในความสดใหม่นั้นก็อาจมีความผิดพลาดได้ถ้าหากกรรมวิธีในการนึ่งปลาทูไม่ถูกต้อง คนซื้อปลาทูนึ่งไปแล้วตกบ่ายมีกลิ่นเหม็นเน่า นั่นก็เพราะตอนต้ม อ่อนเกลือ อ่อนไฟ นึ่งไม่สุก ถ้านึ่งไม่ค่อยสุกลองสังเกตดูหนังปลาจะเต่ง จะใส สวย ปลาที่สุกมากตัวจะเหี่ยวหน่อย ไม่สวยนักแต่อร่อยแน่นอน

ดังนั้น ก็เลยต้องเอาวิธีเลือกปลาทูนึ่งมาฝากกันหน่อย ปลาทูที่นึ่งใหม่จะมีกลิ่นหอมชวนกิน ตัวอวบอ้วน เนื้อนุ่มแน่นและไม่เละยุ่ย ท้องและผิวไม่ถลอก ถ้าขอบตาแดง ผิวเหลือง แสดงว่าเป็นปลาที่มีคุณภาพไม่ดี เป็นปลาที่ได้จากอวนลาก ความอร่อยของปลาทูนึ่งยังขึ้นอยู่กับปลาทูที่สดที่นำมาต้มด้วย

ปลาทูนึ่งจะมีความสดมากหรือน้อยนั้นจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีการดมกลิ่น ชิมรสเนื้อปลา ปลาที่มีความสดมากจะมีกลิ่นหอมของเนื้อปลาชวนกิน รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มไม่กระด้าง ไม่เปื่อยยุ่ย โดยเฉพาะปลาทูที่จับได้ที่ก้นอ่าวไทยตามทะเลที่พื้นดินเป็นเลน เนื้อจะอร่อยกว่าปลาทูที่จับได้ตามทะเลที่เป็นพื้นทราย

วิธีเลือกปลาทูสดให้ดูที่ลูกตา ปลาทูสดลูกตาจะนูน ตาดำมีสีสดใส ส่วนหลังของลำตัวจะมีสีเขียวเป็นพื้น ส่วนท้องจะมีสีขาว หรือสีเงิน หางปลายังมีสีเหลือง ตามลำตัวมีเมือกลื่นๆ เหงือกมีสีแดงออกชมพู ปลาไม่มีกลิ่น เนื้อแน่น เมื่อใช้นิ้วกดที่กลางลำตัวแล้วปล่อยนิ้วออก รอยยุบจะกลับคืนสภาพเดิมได้หมดหรือเกือบหมด

ส่วนปลาทูที่ไม่สด ลูกตาจะยุบ ตาดำจะขุ่น บริเวณลูกตาอาจมีเลือดคั่ง สีพื้นของลำตัวซีด เหงือกมีสีแดงซีด ปลามีกลิ่นคาวหรือคาวจัด ลำตัวอ่อนเหลว และไม่มีเมือกจับ