วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร

ได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพรที่ไม่เป็นพิษ และมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดศีรษะจากไมเกรน โดยการพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในรูปแบบผงชงละลายน้ำ ซึ่งน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ทรมานจากอาการไมเกรน เนื่องจากสามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้บ่อยครั้ง โดยไม่มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์เหมือนกับยารักษาไมเกรนในกลุ่มอื่นๆ โดยการนำดอกเก๊กฮวยมาสกัด และศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาในการบรรเทาอาการปวดที่รุนแรงในสัตว์ทดลอง แล้วนำมาพัฒนาเป็นผงชงละลายน้ำ ที่มีกลิ่นหอมของดอกเก๊กฮวย

ทั้งนี้ มีการศึกษากลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของผลิตภัณฑ์พบว่า สามารถกระตุ้น serotonin receptor ได้เช่นเดียวกันกับ sumatriptan นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ยังผ่านการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ทั้งการทดสอบความเป็นพิษเฉียบพลันและกึ่งเรื้อรัง เมื่อศึกษาประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ในอาสาสมัคร พบว่า ผลิตภัณฑ์สามารถยับยั้งอาการปวดศีรษะไมเกรนได้โดยไม่พบผลข้างเคียงใดๆจากการใช้ผลิตภัณฑ์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลการดำเนินงานหรือขอรับบริการด้านวิทยาศาสตร์ของ วว. ได้ที่ โทร. (02) 577-9000 โทรสาร (02) 577-9009 E-mail กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเวทีสัมมนาติดอาวุธและยกระดับสหกรณ์และเกษตรกรโคเนื้อภาคอีสาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แนะต้องใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ ให้มากขึ้น ชี้ตลาดอาเซียนและจีนมีอนาคต

นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ให้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “พัฒนาความพร้อมของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี” เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ณ โรงแรมพลอยพาเลซ จังหวัดมุกดาหาร เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในภาคอีสาน รุกใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ มากขึ้น สร้างแต้มต่อในการส่งออกสินค้าเกษตรในพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ ไปตลาดต่างประเทศ เช่น อาเซียนและจีน เป็นต้น ซึ่งไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากไทยแล้ว ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันใน เอฟทีเอ พร้อมชี้แนะแนวทางการรับมือโคเนื้อนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ไทยจะต้องเปิดเสรีในปี 2564 นี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ กรมฯ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและให้ความรู้ในหัวข้อ “ติดอาวุธสหกรณ์ไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ” และ “ยกระดับการแข่งขันสหกรณ์ไทย ให้ก้าวไกลในโลกการค้าเสรี” ให้กับสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร ในจังหวัดมุกดาหาร นครพนม กาฬสินธุ์ และสกลนคร รวม 200 คน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ โคเนื้อ การเปิดตลาดสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับสหกรณ์ โดย กรมฯ มั่นใจว่าการลงพื้นที่และการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ เกษตรกร และผู้เข้าร่วมสัมมนา เข้าใจถึงช่องทางการใช้ประโยชน์จาก เอฟทีเอ ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เพิ่มแต้มต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอาเซียนและจีน

ปัจจุบัน ไทยมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ เช่น ไทย-ชิลี ไทย-เปรู ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-จีน เป็นต้น โดย FTA หลักๆ อย่าง อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ภาษีนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากไทยเป็น ร้อยละ 0 แล้ว และไทยควรใช้โอกาสส่งออกไปประเทศเหล่านี้มากขึ้น โดยมีตลาดส่งออกของโคมีชีวิตสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา ส่วนเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และกัมพูชา เนื่องจากเป็นตลาดที่ไทยได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีภายใต้ เอฟทีเอ แล้ว

มกอช. รุกดันมาตรฐานและการรับรองสินค้าเกษตร“แปลงใหญ่” เล็งไกลเพิ่มโอกาสด้านการแข่งขันรุกขยายตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ ชูความสำเร็จแปลงใหญ่ปี 62 หนุนให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดในพื้นที่ 6 จว.ภาคอีสาน พร้อมดันทุเรียนแปลงใหญ่โซนภาคตะวันออกเข้าสู่มาตรฐาน GAP ช่วยยกระดับการผลิตและขยายช่องทางตลาดให้เกษตรกว้างขวางขึ้น

นายวิทวัสก์ สาระศาลิน รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนา เรื่อง “การส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานและการรับรองสินค้าเกษตรแบบแปลงใหญ่” ว่า สืบเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้านการเกษตรได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันและมุ่งยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย ประกอบกับกระทรวงเกษตรฯ ได้มีนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มทำการผลิต การบริหารจัดการร่วมกัน และรวมกันจำหน่ายโดยมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยให้เกษตรกรสามารถเป็นผู้จัดการ บริหารการผลิต ผลผลิต และการตลาด เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และลดต้นทุนการผลิต

ทั้งนี้ ในการยกระดับสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพนั้น ต้องอาศัยการมีมาตรฐานและการตรวจรับรอง ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบการผลิตสินค้าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากตลาดทั้งในประเทศ ตลอดจนการนำเข้าและส่งออกของประเทศต่างๆ มีความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสม่ำเสมอทั้งทางด้านคุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งหากสินค้าดังกล่าวมีมาตรฐานการผลิตผ่านกระบวนการรับรองที่เป็นที่ยอมรับแล้วก็จะทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันและเข้าสู่ตลาดได้กว้างขวางขึ้น

สำหรับการจัดสัมมนาสัมมนาครั้งนี้ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานโครงการแปลงใหญ่ เกษตรกรและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวน 220 คน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและการรับรอง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวทางการขับเคลื่อนมาตรฐานและการรับรองในพื้นที่แปลงใหญ่ให้เกิดประสิทธิผลเพื่อจะได้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดการดำเนินการและยกระดับการผลิตและสินค้าของกลุ่มให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน

” มกอช. นับเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนด ตรวจสอบรับรอง ควบคุม ส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารและได้ให้ความสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ โดยผลดำเนินการในปี 2562 มกอช. ประสบความสำเร็จในหลายด้าน อาทิ พัฒนาการผลิตในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ให้เข้าสู่ระบบการผลิตตามมาตรฐาน ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการถ่ายทอดความรู้การผลิตตามมาตรฐาน ตลอดจนเร่งเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างความตระหนักรู้สินค้าคุณภาพมาตรฐานให้กับผู้ผลิต/ผู้บริโภค

ภายใต้กิจกรรม จำนวนทั้งสิ้น 18 โครงการ เช่น โครงการการพัฒนาความพร้อมเข้าสู่ระบบการผลิตและรับรองแบบกลุ่มตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP ในสินค้าข้าวโพดเมล็ดแห้งในพื้นที่จังหวัดลพบุรี โครงการการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสินค้าเกษตร GAP สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ในพื้นที่ 6 จังหวัด ในภาคอีสาน โครงการการพัฒนาส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนโซนภาคตะวันออกเข้าสู่มาตรฐาน GAP พืชอาหารในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและตราด เป็นต้น ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงสินค้าเกษตรปลอดภัยได้มาตรฐานสู่ตลาดมากขึ้น” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว

กรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์กว่า 576 ล้าน ให้สหกรณ์กู้ปลอดดอก 1 ปี นำไปช่วยฟื้นฟูอาชีพสมาชิกสหกรณ์ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้มีเงินทุนทำการเกษตรที่สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลาอันสั้น พร้อมขอความร่วมมือสหกรณ์ยืดเวลาชำระหนี้และ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับสมาชิก

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร ในพื้นที่ประสบอุทกภัย 21 จังหวัด ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ โดยกรมจะใช้เงินจากองทุนพัฒนาสหกรณ์(กพส.) วงเงิน 576.287 ล้านบาท จัดสรรให้สหกรณ์กู้ยืมได้สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี ให้นำไปช่วยฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก โดยสหกรณ์สามารถนำไปให้สมาชิกกู้ต่อรายละ ไม่เกิน 20,000 บาท ปลอดดอกเบี้ยระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี เช่นกัน

ทั้งนี้ เงินที่ให้กู้ สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการจะต้องประกอบอาชีพทำการเกษตรและพื้นที่ทำการเกษตรได้รับความเสียหายและต้องอยู่ในเขตที่ประกาศการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินระดับจังหวัดจากกรณีอุทกภัย นอกจากนี้ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ยังได้ขยายเวลาชำระหนี้ให้สหกรณ์ที่มีหนี้เงินกู้กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ก่อนเกิดภัยพิบัติ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้สหกรณ์ขาดรายได้ที่จะนำมาส่งชำระหนี้คืน กพส.ให้ขยายระยะเวลา การชำระหนี้ออกไปอย่างน้อย 1 ปี

“สำหรับสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมฯ ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดสำรวจ ความเสียหาย พบว่า มีความเสียหายในพื้นที่ 20 จังหวัด สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ได้รับผลกระทบ 316 แห่ง สมาชิก 84,775 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรของสมาชิกเสียหาย 1.07 ล้านไร่ ส่วนการขอกู้เงินเพื่อฟื้นฟูอาชีพสมาชิก ขณะนี้ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้อนุมัติเงินกู้ให้แล้ว 10 สหกรณ์ใน 2 จังหวัด วงเงินรวม 37.06 ล้านบาท สมาชิก 1,875 ราย พื้นที่ 27,322 ไร่ และมีสหกรณ์แจ้งความประสงค์ที่จะขอกู้อีก 15 สหกรณ์ ใน 4 จังหวัด กว่า 42.67 ล้านบาท รวมสมาชิก 4,270 ราย” อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าว

ในส่วนของการช่วยเหลือของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้เตรียมแผนฟื้นฟูฯ หลังน้ำลดให้เกษตรกร โดยจะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายทั้งพื้นที่การเกษตรที่ปลูกพืช ประมงและปศุสัตว์ รวมถึงจะมอบพันธุ์ข้าว พันธุ์สัตว์และปลา และส่งเสริมการปลูกพืชอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะเข้ามาสนับสนุนเรื่องการฟื้นฟูอาชีพ และประสานภาคเอกชน เพื่อหาช่องทางตลาดมารับซื้อผลผลิตให้กับเกษตรกร โดยให้สหกรณ์ในพื้นที่เป็นผู้รวบรวม

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้จัดกิจกรรมบริการซ่อมแซมเครื่องมือเครื่องจักรกลทางการเกษตร และเปลี่ยนถ่ายอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในพื้นที่ประสบภัย โดยสำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ประสานขอความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาในพื้นที่ อาทิ สถาบันอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่าง วิทยาลัยเทคนิคมาร่วมให้บริการ ซึ่งได้เริ่มเปิดจุดบริการครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา มีชาวบ้านให้ความสนใจ ทยอยนำเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์มาให้ซ่อมจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและให้เกษตรกรสามารถใช้อุปกรณ์เหล่านี้ไปประกอบอาชีพได้ทันทีหลังน้ำลด

องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดกิจกรรมงาน “โครงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรคุณภาพ ปลอดภัย ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม” สร้างช่องทางตลาดใหม่แก่เกษตรกร พร้อมเพิ่มศักยภาพและมูลค่าสินค้าเกษตร เพื่อสร้างสรรค์โอกาสทางธุรกิจ เพิ่มรายได้เกษตรกรไทย ยกระดับสู่คุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ภายในงานพบกับสินค้าเกษตรคุณภาพ หลากหลายผลิตภัณฑ์ จำหน่ายในราคาพิเศษ และกิจกรรมมากมายตลอดทั้งงาน ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2562 รวม 5 วัน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

นายกมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) กล่าวว่า “อ.ต.ก. ได้ดำเนินการ ขับเคลื่อน ตามนโยบายของรัฐบาลในการปฏิรูปและพัฒนาทางด้านภาคการเกษตรโดยให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกษตรกร หันมาทำการเกษตรเชิงคุณภาพ และปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ทั้งยังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภคให้เกษตรกร มีความยั่งยืน จึงได้มีกำหนดจัดงาน “โครงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรคุณภาพ ปลอดภัย ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม” ระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2562 รวม 5 วัน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้นำผลผลิตทางการเกษตรของตนมาจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง เป็นการเชื่อมโยงทางการตลาด เพิ่มช่องทางการจำหน่าย สร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ตลอดจนเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาล”

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตรคุณภาพปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพฯ ไปยังกลุ่มผู้บริโภคสินค้าเกษตรทั่วไป กลุ่มผู้บริโภคสินค้าเกษตรคุณภาพ และกลุ่มผู้บริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพฯ รวมทั้งผู้บริโภคชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของ อ.ต.ก. ด้านการส่งเสริมสินค้าเกษตรคุณภาพปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งเป็นการ ส่งเสริมให้เกษตรกร ผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ และสินค้าเกษตรอินทรีย์คุณภาพ เป็นการยกระดับมาตรฐาน และเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรให้แก่เกษตรกร ซึ่งเป็นไป ตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรรม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เพื่อให้ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืนต่อไป

กิจกรรมพิเศษ ภายในงานมีการจำหน่ายสินค้านาทีทอง ราคาพิเศษ ทุกวัน มีกิจกรรมสาธิตต่างๆ ชมการแสดงดนตรี และการแจกผลิตภัณฑ์แปรรูป ชิมฟรี ทุกวัน นายกมลวิศว์ กล่าวปิดท้าย

สำหรับงาน “โครงการประชาสัมพันธ์กิจกรรมส่งเสริมสินค้าเกษตรคุณภาพ ปลอดภัย ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 กันยายน 2562 รวม 5 วัน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น G ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า แจ้งวัฒนะ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เริ่มตั้งแต่เวลา 11.00- 21.00 น. ท่านที่สนใจสินค้า เกษตรคุณภาพ ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ห้ามพลาด

ชาวสวน-โรงคัดบรรจุลำไยภาคตะวันออกตื่นตัว เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP ด้าน สวพ.6 ระดมเจ้าหน้าที่เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรับรองแปลง GAP พืช และโรงคัดบรรจุ GMP ให้ทันต่อฤดูกาลส่งออกลำไยไปจีน พร้อมเร่งอบรมให้ความรู้การใช้สารรมชัลเฟอร์ไดออกไชด์ ล่าสุดผ่านการรับรองรอแปลง GAP แล้วจำนวน 2,998 แปลง ส่วนโรงคัดบรรจุผ่านการรับรอง GMP จำนวน 65 โรง พร้อมคาดปีนี้จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่ต่ำกว่า 4 แสนตัน

นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อหลีกเลี่ยงและป้องกันปัญหาด้านการส่งออกผลผลิตลำไยนอกฤดูพื้นที่ภาคตะวันออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 62 เป็นต้นมา สวพ.6 ได้ระดมเจ้าหน้าที่อย่างเต็มกำลังพร้อมกำหนดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจรับรองแปลง GAP พืช และโรงคัดบรรจุ GMP ให้ทันต่อความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการที่จะต้องใช้ใบรับรองในการจำหน่ายผลผลิตเพื่อการส่งออกไปจีน

อาทิ สนับสนุนให้โรงคัดบรรจุรับซื้อผลผลิตจากสวนที่เป็นลูกค้าของโรงคัดบรรจุเองและเป็นสวนที่ได้รับการรับรองแปลง GAP ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เป็นรายตำบล บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่และหน่วยงานอื่นๆ พร้อมฝึกอบรมแบบเข้มข้นให้กับเกษตรกรที่มีศักยภาพและมีความตั้งใจผลิตผลไม้ให้มีคุณภาพกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการรับรองฯเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อพิจารณาออกใบรับรองให้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งจัดทีมอาสาสมัคร GAP ประจำพื้นที่ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ตรวจรับรองในการให้คำแนะนำการปฏิบัติตามขั้นตอนและบันทึกข้อมูล เพื่อการตรวจรับรองที่รวดเร็วและคงไว้ซึ่งมาตรฐานทำให้เกษตรกรสามารถใช้ใบรับรองประกอบการจำหน่ายผลผลิตได้ทันเวลาในฤดูกาลนี้

นายชลธี กล่าวถึงสถานการณ์ฤดูกาลผลผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคตะวันออกในขณะนี้ด้วยว่า ผลผลิตจะเริ่มทยอยออกตั้งแต่เดือนปลายเดือนกันยายน 62-พฤษภาคม 63 โดยปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกที่ให้ผลผลิตรวมประมาณ 200,000 ไร่ คาดว่าผลผลิตจะออกประมาณ 400,000 ตัน หรือให้ผลผลิตประมาณ 1,900-2,000 กก./ไร่ และมีเกษตรกรผู้ปลูกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรอยู่จำนวน 7,000 ราย

ส่วนความคืบหน้าในการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชลำไยพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และสระแก้ว ขณะนี้มีเกษตรกรมาจดทะเบียนแล้ว จำนวน 3,435 แปลง 3,175 ราย คิดเป็นพื้นที่ 72,575.78 ไร่ ในจำนวนดังกล่าว ผ่านการรับรอง Q แล้ว จำนวน 2,998 แปลง เกษตรกร 2,575 ราย คิดเป็นพื้นที่ 58,432.18 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ จำนวน 437 แปลง เกษตรกร 600 ราย คิดเป็นพื้นที่ 14,143.60 ไร่

โดยจันทบุรีมีเกษตรกรมาจดทะเบียนมากที่สุด จำนวน 3,003 แปลง เกษตรกร 2,762 ราย คิดเป็นพื้นที่ 66,351.10 ไร่ ผ่านการรับรอง Q แล้ว จำนวน 2,660 แปลง เกษตรกร 2,248 ราย คิดเป็นพื้นที่ 53,608.50 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ จำนวน 343 แปลง เกษตรกร 513 ราย คิดเป็นพื้นที่ 12,742.60 ไร่ ส่วนผลดำเนินการตรวจรับรองโรงคัดบรรจุ ได้รับการรับรอง GMP ลำไยแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 65 โรง แบ่งเป็นจันทบุรี 59 โรง อยู่ระหว่างตรวจ 4 โรง ระยอง 1 โรง สระแก้ว 1 โรง

นายชลธี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เกษตรกรและผู้ประกอบการผลไม้ภาคตะวันออกมีความตื่นตัวในการเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP มากขึ้น เนื่องจากมองว่าจีนเป็นตลาดส่งออกที่มีอนาคตที่จะช่วยยกระดับราคาลำไยและเพิ่มรายได้ของเกษตรกร โดยปัจจุบันผลผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ภาคตะวันออกเกือบ 100% ส่งออกไปจีน แทบจะไม่ได้ขายในประเทศเลย ทางโรงคัดบรรจุจะซื้อหมดทุกเกรด ทำให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญในการศึกษาเรียนรู้กระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐานและการส่งออกตามข้อกำหนด ไทย-จีน ที่จะต้องแจ้งข้อมูลแปลงและโรงคัดบรรจุผลไม้ 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง และของจีน 5 ชนิด คือ แอปเปิ้ล สาลี่ ส้ม พุทรา องุ่น ตามพิธีสารที่ได้กำหนดจะต้องผ่านการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช และรับรองโรงคัดบรรจุ GMP เท่านั้น ถึงจะส่งออกได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากการเร่งรับการตรวจมาตรฐานการผลิตพืช GAP และ GMP แล้ว สวพ.6 ยังได้ร่วมกับสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรี และสมาคมชาวสวนลำไยจัดประชุมชี้แจงและให้ความรู้เกี่ยวกับข้อกำหนดตามหลักปฏิบัติสำหรับกระบวนการรมผลไม้สดด้วยชัลเฟอร์ไดออกไซด์และมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้ทั้งเปลือก เพื่อการผลิตและการส่งออกลำไยให้ได้คุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุและโรงรมชัลเฟอร์ไดออกไชด์ผู้ส่งออกลำไย ตลอดจนเกษตรกรชาวสวนลำไยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเตรียมจัดงาน “รวมพลังชาวสวนภาคตะวันออก เข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP” ขึ้นในวันที่ 11 ต.ค. 62 นี้ ณ ลานขนถ่ายสินค้าองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงความสำคัญในการสู่การรับรองมาตรฐาน GMP และ GAP

26 กันยายน 2562 : สวทช. ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมพัฒนาที่ดิน และเครือเบทาโกร ลงนามความร่วมมือเพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน สร้างความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ นำร่องต้นแบบ 7 ตำบล 5 จังหวัด ภายใต้ “โครงการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล : Smart Tambon” ณ ห้องออดิทอเรียม บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

นายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ความร่วมมือของหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ภายใต้โครงการ Smart Tambon Model เพื่อพัฒนาชุมชนทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ อาชีพ สุขภาพ การศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญนั้น สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ที่มุ่งเน้นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยมีภารกิจสำคัญคือ “สร้างและพัฒนาคน” ให้เป็น Smart Citizen เปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ทุกช่วงวัย ลดความเหลื่อมล้ำ “สร้างและพัฒนาองค์ความรู้” ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า ขับเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาที่จะนำไปสู่นวัตกรรม บูรณาการงานวิจัย เพื่อตอบโจทย์ประเทศ ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเป็นสำคัญ และ “สร้างและพัฒนานวัตกรรม” ไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม โดยจะต้องแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมชุมชน นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมเชิงธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy)