วัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่รวบรวมผลผลิตจากยางพารา

จากสมาชิก ให้บริการซื้อขายยางภายใต้กฎและระเบียบที่ตลาดกลางกำหนด ซึ่งจะได้รับสิทธิ์และราคาประมูลเหมือนเป็นการขายที่ตลาดกลาง ทำให้ช่วยลดปัญหาด้านราคาจากพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งมีราคาอ้างอิงที่ชัดเจน

โรงสีสงขลาเครียดแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ขาดเงินซื้อข้าว สะเทือนชาวนาเสียค่าขนส่งขายพื้นที่อื่น ขณะที่โรงสีมีกำลังซื้อกลับเจอเคราะห์ซ้ำ เหตุน้ำท่วมข้าวนครศรีฯ-พัทลุง-สงขลา ทำปี 2561 ผลผลิตลดฮวบ 40% ไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต

นายสมศักดิ์ พานิช เจ้าของโรงสีข้าว ทิพย์พานิช และประธานชมรมโรงสีข้าว อ.ระโนด จ.สงขลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะราคาค้าข้าวเจ้า ในปี 2561 แนวโน้มราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 6,500 บาท/ตัน ที่ความชื้น 25-30% ปัจจัยสำคัญมาจากตลาดราคาข้าวที่ส่วนกลาง และกรุงเทพฯ เป็นผู้กำหนดราคา ทำให้ข้าวภาคใต้ต้องดำเนินการตาม หากราคาข้าวทางภาคใต้ตั้งราคาเองไว้สูงกว่า ก็จะไม่ได้รับการบริโภค

นายสมศักดิ์กล่าวว่า สำหรับนาข้าว จ.สงขลา มีประมาณ 250,000 ไร่ มีข้าวประมาณ 12,000 ตัน/ปี และยังมีนาข้าวรายใหญ่ที่ จ.พัทลุง จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่โรงสีข้าวใน จ.สงขลา มีอยู่กว่า 35 โรง มีขนาดกำลังการผลิตตั้งแต่ 30 ตัน และกว่า 50 ตัน ช่วงหลังโรงสีเริ่มชะลอตัวไม่มีการลงทุนเพิ่ม เนื่องจากใช้เงินลงทุนกันไปมากในช่วงปี 2557 เพื่อรองรับนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการรับจำนำข้าว อย่างโรงสีข้าวทิพย์พานิช ได้ลงทุนไปประมาณ 20 ล้านบาท ขนาดการผลิต 60 ตัน/วัน

ปัจจุบันโรงสีบางแห่งเกิดขาดสภาพคล่องทางการเงินมาเป็นระยะ ๆ เมื่อไปขอสินเชื่อมาลงทุน เพื่อรับซื้อข้าวจากชาวนา กลับโดนสถาบันการเงิน หรือธนาคารปฏิเสธ ระบุว่าโรงสีข้าว มีความเสี่ยงสูง จึงงดการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลกระทบต่อโรงสีข้าวที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อข้าวจากชาวนาได้ กระทบชาวนาที่ไม่สามารถขายข้าวให้กับโรงสีในพื้นที่ได้ ต้องส่งข้าวไปขายยังส่วนกลาง และกรุงเทพฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายขนส่งถึง 90 สตางค์/กก. หรือประมาณ 900 บาท/ตัน ซึ่งจะต้องสูญเสียไป

“โรงสีมีความเห็นว่าจะเสนอต่อรัฐบาลให้มีโครงการส่งเสริมสินเชื่อให้โรงสีข้าวที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนาเป็นเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทางโรงสีหลายแห่งประสบปัญหาที่คล้ายคลึงกัน เพื่อเสริมสภาพคล่อง และสนับสนุนช่วยเหลือชาวนาทั้งด้านการตลาด และอื่น ๆ รวมถึงโรงสีข้าวที่ประสบปัญหาและที่ไม่มีความพร้อม สำหรับตลาดรายใหญ่ของโรงสีข้าว คือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ยะลา ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ที่ชอบบริโภคข้าวพื้นที่ภาคใต้”

ด้านนายสุทธิพร กาฬสุวรรณ เจ้าของโรงสีพัฒนโสภณเจริญพาณิชย์ และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ เปิดเผยว่า ภาวะราคาข้าวในปี 2561 จะขึ้นอยู่กับผู้ส่งออกข้าวของไทย แต่ขณะนี้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 7,500-7,600 บาท/ตัน ความชื้นที่ 15% แต่ในปี 2561 ข้าวในภาคใต้ 3 จังหวัด จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช และ จ.สงขลา ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมประมาณ 30-40% จากผลผลิตข้าวทั้งหมดประมาณ 150,000 ตัน

“ตอนนี้ผลผลิตข้าวภาคใต้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของโรงสี คือมีข้าวเพียง 100,000 ตัน แต่ในขณะที่ปี 2561 โรงสีข้าวมีกำลังการผลิตและสามารถรองรับข้าวได้ถึง 400,000-500,000 ตัน/ปี ดังนั้นในปี 2561 สถานการณ์โรงสีข้าวจึงไม่มีการลงทุน และขยายตัวเติบโต เนื่องจากในปี 2558 ถึง 2560 โรงสีได้มีการลงทุนปรับปรุงพัฒนาโรงสีกันอย่างขนานใหญ่ไปแล้ว”

อย่างไรก็ตามมองว่าโรงสีส่วนมากยังอยู่ในเกณฑ์ดี และบางโรงสีอาจมีปัญหาเรื่องการเงิน ขึ้นอยู่กับภาวะการลงทุน และขยายกิจการจนขาดสภาพคล่องกันเป็นจำนวนหลายโรง แต่ด้วยจำนวนโรงสีที่มากขึ้น ส่งผลดีต่อชาวนาที่ได้ราคาดีขึ้น เนื่องจากโรงสีจะมีการแข่งขันซื้อข้าวเปลือก ขณะที่ปัจจัยการส่งออกก็มีส่วนสำคัญในการกำหนดราคาข้าว

วันที่ 19 ม.ค. นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยหลังพบและหารือกับกรมสรรพากร เกี่ยวกับโครงสร้างภาษีใหม่ที่จะมีผลชำระในเดือนมี.ค.2561 ว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม กำลังประสบความเดือดร้อน หลังกรมสรรพากรปรับโครงสร้างภาษีใหม่ โดยมีการจัดเก็บภาษีรายได้ผู้เลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้น จากรายได้ 100% หักรายจ่ายได้เพียง 60% จากโครงสร้างภาษีเดิมสามารถหักรายจ่ายได้ 85% และส่วนที่ต้องนำไปคำนวนเป็นฐานเสียภาษีคือ 40% รายได้ทั้งหมด จากเดิมใช้ 15% ของรายได้นำมาคำนวนภาษีรายได้ประจำปี

“ประกาศโครงสร้างภาษีใหม่ของกรมสรรพากร ส่งผลกระทบโดยตรงกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ซึ่งมากกว่า 80% ของผู้เลี้ยงโคนมเป็นรายย่อย จึงได้เข้าพบ หารือกับกรมสรรพากร เพื่อหาวิธีช่วยเหลือและลดภาระให้กับเกษตรกร เบื้องต้นสรรพากรทำหนังสือเวียนไปถึงเกษตรกรทั่วประเทศ โดยให้คำแนะนำมาว่า ให้เกษตรกรรายย่อย นำใบเสร็จค่าใช้จ่าย ในฟาร์ม ค่าต้นทุนการผลิต สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถลดได้สูงสุดจุดเหลือเพียง 15% ของรายได้ทั้งหมด ตามโครงสร้างภาษีเดิม แต่กรมสรรพากรย้ำต้องมีใบเสร็จ ที่ตรวจสอบและรับรองได้”

นายณรงค์ฤทธิ์ กล่าวว่า สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561(ต.ค.-ธ.ค.2560) ที่เพิ่งผ่านไป อ.ส.ค.มีรายได้รวมประมาณ 1,600 ล้านบาท ลดลง 20% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณนมออกมาน้อย ไม่สามารถผลิตและเพียงพอต่อการจำหน่าย ส่งผลให้รายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เชื่อว่า ทั้งปีน่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือประมาณ 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนมดรงเรียน 1,000 ล้านบาท รายบได้จากยอดขายต่างประเทศ 1,200 ล้านบาท และที่เหลือเป็นรายได้ยอดขายในประทศประมาณ 6,800 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตมากกว่ารายได้ปี 2560 ประมาณ 6%

ทั้งนี้เนื่องจาก อ.ส.ค.ประกาศตัวเองเป็น องค์กรนมแห่งชาติจึงใช้นมโคสดแท้ 100% จึงไม่มีการนำเข้านมผงเพื่อผสมขายให้กับผู้บริโภค เมื่อบริมาณนมดิบลดลง อ.ส.ค.ก็ไม่มีทางเลือกอื่น ทำให้รายได้ลดลง แต่ในช่วงปลายปีเป็นฤดูหนาวของประเทศไทย ซึ่งปีนี้มีอากาศหนาวเย็นมากและยาวหนาน เหมาะกับแม่วัวที่จะผลิตน้ำนมออกมามากเพื่อป้อนตลาดเกือบ 700 ตัน/วัน ซึ่งถือว่าเป็นช่วงดี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมากที่สุดในเดือนพ.ค.เป็นต้นไป จึงไม่มีปัญหา สำหรับเป้าหมายที่จะผลิตนมป้อนผู้บริโภคในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ปริมาณนมดิบที่เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในประเทศไทยผลิตได้มีปริมาณ 3,300 ตัน ในจำนวนนี้เป็นนมของ อ.ส.ค.ปริมาณ 700 ตัน หรือไม่เกิน 20% ของนมที่เกษตรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมการข้าวอยู่ระหว่างเปิดการรับสมัครเกษตรกรที่เข้าร่วม โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ ปี 2561 จำนวน 300,000 ไร่ ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2560 โครงการนี้ดำเนินการ 3 ปีภายใต้เป้าหมาย 100,000 ไร่ โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ เพราะจากการผลิตข้าวระบบอินทรีย์ที่ทำให้ผลผลิตลดลงในระยะเริ่มต้นของการผลิตระบบอินทรีย์ โดยสนับสนุนเงินอุดหนุนต่อเนื่อง 3 ปี ตามหลักเกณฑ์การพิจารณาให้เงินอุดหนุนตามข้อกำหนดมาตรฐานข้าวอินทรีย์

ล่าสุดมีเกษตรกรที่ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 52 จังหวัด เกษตรกร 1,946 กลุ่ม จำนวน 45,607 ราย พื้นที่ 487,105.80 โดยขั้นตอนต่อไปศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและศูนย์วิจัยข้าวจะดำเนินการกลั่นกรองข้อมูล เอกสารต่างๆ ให้ถูกต้องตามเงื่อนไขโครงการและนำเสนอ chief of Operation จังหวัดเห็นชอบภายในวันที่ 28 ก.พ. 2561 ทั้งนี้เงื่อนไขโครงการของปี 2561 ที่สำคัญได้แก่ พื้นที่ของเกษตรกรจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง มีทะเบียนเกษตรกร เป็นสมาชิกธ.ก.ส. พื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกข้าวอินทรีย์ และเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ คาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาเข้าร่วมโครงการได้ภายในเดือนม.ค. 2561

สำหรับงวดเงินงบอุดหนุนครั้งที่ 1 จำนวน 69.161 ล้านบาท พื้นที่ 34,580.35 ไร่ เกษตรกร 186 กลุ่ม จำนวน 4,009 ราย ในพื้นที่ 16 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัดและภาคใต้ 1 จังหวัด ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานใหญ่ ตรวจสอบความถูกต้องและโอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีเงินฝากของเกษตรกรตามหลักเกณฑ์ของโครงการฯ ต่อไป ส่วนเกษตรกรที่ยังเหลือบางส่วนกำลังนำเสนอต่อสำนักงบประมาณพิจารณาจำนวน 115 กลุ่ม เกษตรกร 2,532 ราย ในพื้นที่ 26,436.75 ไร่ เป็นเงิน 52.873 ล้านบาท

น.ส.วิสาชิณี รุ่งทวีชัย เจ้าของฟาร์มจระเข้รุ่งทวีชัย และผู้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด วานิไทย กล่าวถึงผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูลตราวานิไทย ว่า ผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูล เกิดจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ต้องการจะศึกษาคุณสมบัติทางชีววิทยาของจระเข้ จึงได้เกิดการร่วมมือและสนับสนุนงานวิจัย จนได้เป็นสารสกัดเลือดจระเข้ในรูปแบบแคปซูลภายใต้ชื่อ “วานิไทย” ซึ่งเป็นเจ้าต้นๆ ของประเทศที่สามารถผลิตแคปซูลสารสกัดเลือดจระเข้ ได้มาตรฐาน และมีคุณภาพ ผ่านการตรวจสอบจากกรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ถือว่าเป็นต้นตำรับของผลิตภัณฑ์เลือดจระเข้แคปซูล

เลือดจระเข้แคปซูลวานิไทย เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสัญชาติไทยที่เน้นทั้งคุณภาพ ความสะอาด และปลอดภัยต่อผู้บริโภคตลอดกระบวนการผลิต ซึ่งผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลโดยตรงได้จากเว็บไซต์และสื่อต่างๆ

ความแตกต่างที่เด่นชัดของแบรนด์วานิไทย ที่ทำให้พิเศษกว่าแคปซูลเลือดจระเข้อื่นๆ นั่นคือ กระบวนการผลิตแบบการฟรีซดราย หรือการทำเยือกแข็งโดยใช้ระบบสุญญากาศ ซึ่งจะคงคุณค่าทางโภชนาการได้ใกล้เคียงกับเลือดสดจริงมากที่สุด

น.ส.วิสาชิณี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในด้านการตลาดหลังจากผลิตภัณฑ์ได้วางจำหน่ายสู่ท้องตลาดในประเทศไทย ก็ได้รับการตอบรับจากกลุ่มผู้ดูแลสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง และในปี 2561 ผู้ผลิตมีแผนที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ และมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากต่างประเทศ

“ผลิตภัณฑ์ของเราควบคุมการผลิตตั้งแต่วัสดุดิบ คือ เลือด เพราะเรามีฟาร์มเป็นของตนเอง จนกระทั่งการบรรจุที่มีมาตรฐาน และจัดจำหน่ายสู่ท้องตลาด เพราะฉะนั้นเรามีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณภาพทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์ในตลาดโลก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ของเรายังเป็นของใหม่ในตลาดสุขภาพ เราจึงมั่นใจว่าตลาดต่างประเทศน่าจะให้ความสนใจ และตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งนี่จะกลายเป็นการประกาศให้โลกรับรู้ถึงความสามารถในด้านการวิจัย และนวัตกรรมของคนไทยได้เป็นอย่างดี” น.ส.วิสาชิณี กล่าว

นอกจากนี้ ยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าจากต่างประเทศอีกว่า ในช่วงแรกที่นำผลิตภัณฑ์ออกวางจำหน่าย มีสัดส่วนลูกค้าชาวไทยสูงถึง 90% ของยอดขาย ต่อมาเมื่อมีกลุ่มทัวร์ต่างประเทศติดต่อขอซื้อผลิตภัณฑ์เข้ามา ทำให้ในระยะเวลา 2 ปี สัดส่วนลูกค้าชาวต่างประเทศพุ่งสูงถึง 80% ของยอดขายเลยทีเดียว โดยปัจจุบันลูกค้าต่างประเทศรายใหญ่คือประเทศจีน และนอกจากนี้ แบรนด์วานิไทยยังได้เตรียมส่งออกผลิตภัณฑ์ในอีกหลายๆ ประเทศรอบเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ลาว, เวียดนาม, สหรัฐและเยอรมันอีกด้วย

และในปี 2561 นี้ “วานิไทย” ได้ปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น และเตรียมเพิ่มช่องทางการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อพัฒนาให้แบรนด์ก้าวทันตลาดโลกในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางที่ครอบคลุม สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย รวมถึงเคเบิลทีวีและวิทยุกระจายเสียง เพื่อให้แบรนด์สามารถเข้าถึงลูกค้าต่างจังหวัดได้ แสดงให้เห็นว่านอกเหนือจากแผนส่งออกผลิตภัณฑ์สู่ต่างประเทศแล้ว วานิไทยก็ยังใส่ใจและพยายามเข้าถึงลูกค้าชาวไทยด้วย

วันที่ 19 มกราคม 2561 ที่จังหวัดตรัง นายสุนธร ไส้เพี้ย อายุ 59 ปี ชาวบ้านป่ากอ หมู่ 6 ต.นาวง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง เล่าให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม มีคนร้ายไม่ทราบจำนวนลักตัดหางวัวชนอายุ 3 ปีกว่า น้ำหนักประมาณ 120 กิโลกรัม จนขาดไปเกือบ 2 ฟุต ต่อมาวัวชนตัวดังกล่าวนี้มีเลือดไหลลงมาเป็นทางยาวและไม่ยอมให้ใครเข้าใกล้ ไม่เชื่องเหมือนก่อนหน้านี้ ตนจึงพยายามต้อนเข้าซองเพื่อทาแผลให้ และรู้สึกสงสารวัวชนตัวนี้มาก เพราะไม่มีหางไว้สำหรับปัดแมลงวัน เห็บ-หมัด และสัตว์กัดต่อยใดๆ ทำให้มันรู้สึกไม่สบายตัว โดยวัวชนตัวนี้ประมูลมาได้ในราคาตัวละ 25,000 บาท เมื่อประมาณ 4-5 เดือนที่ผ่านมา ตั้งใจเลี้ยงไว้เพื่อขุนให้เป็นวัวชนชั้นดี แต่ไม่นึกว่าจะมีคนร้ายย่องเข้ามาแอบตัดหางวัวขณะที่ตนนอนหลับสนิทอยู่ภายในบ้าน ซึ่งห่างจากจุดที่ล่ามวัวชนไว้ประมาณ 30 เมตร

นายสุนทรกล่าวอีกว่า ตนยังไม่ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานและไม่เคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับใครมาก่อน แต่ได้ตั้งรางวัลเงินสดไว้จำนวน 10,000 บาทสำหรับผู้ที่รู้เบาะแสในการก่อเหตุดังกล่าว เพราะอยากรู้ว่าเป็นใคร และทำไปเพื่ออะไร ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์ที่ไม่ควรปล่อยไว้ให้เป็นเยี่ยงอย่างกับบุคคลอื่นต่อไป โดยให้หลานชายแพร่ภาพลงเฟซบุ๊กเพื่อตามจับผู้ก่อเหตุ แต่หลังเกิดเหตุก็จะยังเลี้ยงวัวตัวนี้ต่อไป เพื่อขุนให้เป็นวัวชนคุณภาพโดยไม่คิดจะขาย

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ ราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.เขาวง และ อ.สมเด็จ เนื่องจากมีการจัดซื้อปัจจัยการผลิตราคาแพงกว่าท้องตลาด จนชาวบ้านต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมเรียกร้องให้ตรวจสอบ

ล่าสุด วันที่ 19 มกราคม 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านใน ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังจากนาข้าวประสบภัยน้ำท่วมได้รับความเสียหาย และปัจจุบันได้รับการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกภายใต้โครงการ 9101 ซึ่งปลาดุกที่เลี้ยงไว้ในกระชังกำลังทยอยตายลงเรื่อยๆ เนื่องจากพันธุ์ปลาที่ได้รับแจกนั้นมีขนาดเล็กเพียง 3-4 ซม. เป็นปลาอนุบาลและผสม ไม่กินอาหาร อีกทั้งหัวอาหารที่ได้รับแจกคนละ 2 กระสอบก็เป็นหัวอาหารเม็ดใหญ่สำหรับปลาโต ซึ่งเป็นหัวอาหารผิดประเภท ไม่เหมาะสมกับเงินช่วยเหลือของรัฐบาลรายละ 5,000 บาท จึงทำให้ปลาตายเกือบหมดกระชัง

นางเคย ศรีซุบล่วง อายุ 58 ปี ชาวบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาชาวบ้านใน อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากทำให้น้ำท่วมนาข้าวเสียหายได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน แต่พอหลังจากน้ำลดทราบว่าจะได้รับการช่วยเหลือเบื้องต้นจากรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามโครงการ 9101 ฟื้นฟูน้ำท่วม โดยมีกระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานหลัก เพื่อให้มีอาหารและมีรายได้ในครัวเรือน ซึ่งทุกคนต่างดีใจ แม้จะไม่ได้รับเงินสดกับมือ แต่เป็นพันธุ์ปลาดุกก็ตาม

นางเคยกล่าวอีกว่า พอเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการนำพันธุ์ปลาดุกและหัวอาหารพร้อมทั้งกระชังมาให้เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 2560 กลับสร้างความผิดหวัง สร้างความทุกข์และสร้างภาระให้กับชาวบ้านมากกว่าเดิม เนื่องจากพันธุ์ปลาดุกที่นำมาแจกจ่ายช่วยเหลือชาวบ้านทั้ง ต.เหล่าใหญ่นั้นเป็นปลาขนาดเล็ก เรียกได้ว่าเป็นปลาอนุบาลแรกเกิด เป็นปลาตัวขนาดเพียง 3-4 ซม. ซึ่งได้คนละประมาณ 800 ตัว อีกทั้งหัวอาหารที่ได้รับแจกรายละ 2 กระสอบยังเป็นหัวอาหารผิดประเภท เพราะเป็นเม็ดโตสำหรับปลาตัวใหญ่ จึงทำให้ปลาที่ชาวบ้านนำมาเลี้ยงไว้นานกว่า 1 เดือนแล้วตั้งแต่ได้รับแจกไม่โตและทยอยตายลงเรื่อยๆ ทุกวัน เฉลี่ยวันละ 20-30 ตัว จนปัจจุบันปลาที่ได้รับแจกมาคนละประมาณ 800 ตัว แต่ละรายเหลือไม่ถึง 200 ตัว บางคนปลาตายทั้งหมด เหลือเพียงกระชังเปล่า เพราะปลาตัวเล็กไม่ได้ขนาด ไม่กินอาหาร ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้เท่ากับเป็นการซ้ำเติมความทุกข์และสร้างภาระให้กับชาวบ้านที่ประสบภัยมากกว่าเดิม

ด้านนายประจวบ นาแสวง อายุ 50 ปี หนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับพันธุ์ปลาใน ต.เหล่าใหญ่ กล่าวว่า ปัญหาปลาที่ได้รับแจก ไม่เพียงบ้านมะนาวเท่านั้นที่เป็นปลาตัวเล็กและหัวอาหารจำนวนน้อย แต่ปัญหานี้เท่าที่ทราบเป็นทั้งตำบล ปลาที่เลี้ยงไว้ทยอยตายจนเกือบหมดกระชังแล้ว เพราะปลาตัวเล็กมาก แม้ชาวบ้านเลี้ยงไว้อย่างทะนุถนอมมานานกว่า 1 เดือนแล้วก็ไม่โตสักที แถมยังตายลงทุกวัน ใกล้จะหมดกระชังแล้ว จึงอยากขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาเยียวยาช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมที่ได้รับการแจกจ่ายพันธุ์ปลาในครั้งนี้ด้วย รวมทั้งเข้ามาตรวจสอบการแจกจ่ายพันธุ์ปลาว่าทำไมไม่ได้มาตรฐาน เพราะจากการคำนวณ ราคาปลาดุก อาหาร และกระชังแล้วไม่น่าเกิน 2,800 บาท แต่เงินช่วยเหลือชาวบ้านนั้นมีจำนวน 5,000 บาท ซึ่งไม่เหมาะสมเลย ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้หน่วยงานด้านการตรวจสอบ ทั้ง ปปท. และ สตง.เข้ามาตรวจสอบร่วมกับคณะกรรมการของจังหวัด เพื่อที่จะช่วยกันทำให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนต่อไป

ผศ.ดร.คุณยุต เอี่ยมสอาด รศ.ดร.วรัทยา ธรรมกิตติภพ นายกิตตินาถ วรรณิสสร คณะนักวิจัยและคิดค้นประดิษย์เตาอบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวโดยไม่ง้อแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

ปัจจุบันผู้ผลิตปลาแดดเดียวไม่สามารถควบคุมคุณภาพการผลิตได้ตามต้องการ เนื่องจากต้องอาศัยพลังงานจากธรรมชาติซึ่งควบคุมไม่ได้ เช่น ความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์และลมจากธรรมชาติ ในการตากปลาหรือเนื้อสัตว์หากอยู่ในช่วงฤดูฝน มีพายุเข้า หรือมีเมฆมาก รวมไปถึงความชื้นสัมพัทธ์ ทำให้ไม่สามารถตากปลาหรือเนื้อสัตว์ได้เป็นสาเหตุให้คุณภาพและปริมาณการผลิตลดลง หรือไม่สามารถผลิตได้ ทางผู้วิจัยจึงได้พัฒนาเครื่องอบปลาและเนื้อสัตว์ โดยอาศัยอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

เครื่องอบปลาและเนื้อสัตว์แดดเดียวโดยอาศัยอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยไฟฟ้ามีจุดเด่น คือ 1.สามารถทำความร้อนและลดความร้อนได้อย่างรวดเร็ว 2.เตามีขนาดเล็กกว่าเตาประเภทอื่นๆ เพราะตัวให้ความร้อนมีขนาดเล็กและสามารถให้ความร้อนได้อย่างรวดเร็วจึงต้องการพื้นที่ (ปริมาตร) ในเตาน้อยลงกว่าเตาประเภทอื่นๆ 3.เป็นเตาสะอาด ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม 4.มีการควบคุมที่แม่นยำกว่าเตาประเภทอื่นๆ 5.มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพกว่าเตาประเภทอื่นๆ 6.ต้นทุนเริ่มแรกและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาต่ำกว่าเตาประเภทอื่น

วันที่ 19 ม.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากชาวบ้านบัวหลวง หมู่ 3 ต.เสิงสาง อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ว่ามีคนร้ายออกตระเวนขโมยยางที่กรีดเอาไว้ภายในสวนยางของชาวบ้านหายไปหลายเจ้า ทั้งที่ราคายางในขณะนี้ก็ไม่ค่อยดีนัก สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง

น.ส.ทัศนีย์ ปิ่นทองหลาง อายุ 34 ปี เกษตรกรชาวสวนยางบ้านบัวหลวง หนึ่งในผู้เสียหาย นำผู้สื่อข่าวเข้าตรวจสอบสวนยางที่ปลูกไว้จำนวน 20 ไร่ พร้อมให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รับแจ้งจากคนดูแลสวนยางว่า มียางถ้วยที่กรีดเอาไว้จนเต็มถ้วย ถูกคนร้ายมาขโมยเก็บเอาไปเกือบครึ่งสวน คาดว่าจะมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 100 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 2,000 บาท เช่นเดียวกันกับสวนยางที่อยู่ข้างๆ ก็ถูกขโมยในลักษณะเดียวกันหายไปอีกจำนวนมาก

โดยคนร้ายฉวยโอกาสในช่วงที่ไม่มีคนเฝ้าสวนยามบ่ายแก่ๆ เพราะคนเฝ้าสวนยางส่วนใหญ่จะเข้าไปเฝ้ากรีดยางในช่วงเย็นจนถึงช่วงเช้าของอีกวัน ประกอบกับสวนยางที่ถูกขโมยนั้นอยู่ค่อนข้างลึกห่างไกลจากแหล่งชุมชน จึงเป็นเป้าหมายที่คนร้ายจ้องเข้าไปขโมย ครั้งนี้ถือเป็นความเสียหายครั้งแรก แต่เท่าที่ได้รับข้อมูลมาทราบว่าก่อนหน้านี้เคยมีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง จึงอยากฝากเตือนเพื่อนพี่น้องเกษตรกรให้เฝ้าระวังสวนยางของตนเองให้ดี เพราะราคายางก็ยังไม่ดีขายไม่ค่อยได้ราคา และยังมาถูกคนร้ายขโมยไปยิ่งจะสร้างความลำบากเพิ่มมากขึ้น
ด้าน พ.ต.ท.มนัส ชมเชย รองผกก.ป.สภ.เสิงสาง ระบุว่า เบื้องต้นได้รับรายงานเกี่ยวกับข่าวนี้แล้ว และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ช่วยป้องกันดูแลและเฝ้าระวังเหตุอย่างเข้มงวด พร้อมกับประสานไปยังแหล่งรับซื้อยางต่างๆ ให้เฝ้าสังเกตและแจ้งเบาะแสบุคคลที่ต้องสงสัยในการนำยางมาขายผิดปกติ เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วยอีกทางหนึ่ง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมปศุสัตว์ เผยปศุสัตว์ทั่วประเทศผนึกกำลังขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่างยั่งยืน สร้างอาหารปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เร่งเครื่องยกระดับมาตรฐานการผลิตสัตว์และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการบูรณาการในการทำงานร่วมกันของกรมปศุสัตว์ และทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain) ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และผู้ประกอบการที่จำหน่ายสินค้าปศุสัตว์ จากมาตรฐานการผลิตที่ดีและมีตลาดรองรับผลผลิต ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจรับรอง “มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร : มาตรฐาน Q” แก่ผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารที่ควบคุมความเย็นตลอดห่วงโซ่ (Cold Chain) โดยสินค้าปศุสัตว์ที่ได้มาตรฐาน Q รวม 78 แห่ง

ขณะที่กรมปศุสัตว์ก็ประสบความสำเร็จในการผลักดันสถานที่จำหน่ายเนื้อสัตว์ปลอดภัย “ปศุสัตว์ OK” ทั้งร้านค้าและเขียง ร้านโมเดิร์นเทรด และตู้เย็นชุมชนพอร์คชอป ที่เป็นปลายน้ำของห่วงโซ่ทำหน้าที่ส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่ผู้บริโภคโดยตรง ปัจจุบัน สามารถพัฒนาสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการแล้วถึง 4,000 ราย เนื้อสัตว์ทั้งหมดมาจากโรงฆ่าสัตว์รวม 65 แห่ง จากต้นทางฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GAP รวม 1,600 ฟาร์ม ซึ่งทั้งหมดสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดการผลิต โครงการนี้ทำให้แต่ละวันมีปริมาณเนื้อสัตว์ปลอดภัยกว่า 9 แสนกิโลกรัม เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่า 35 ล้านคน พร้อมทั้งรับรองสถานที่จำหน่ายปศุสัตว์ OK ไข่ รวม 24 แห่ง และยังได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ประเภทรางวัลการพัฒนาการบริการ ระดับดีเด่น จากสำนักงาน ก.พ.ร.

“กรมปศุสัตว์ตั้งเป้าหมายการรับรองปศุสัตว์ OK เพิ่มอีก 1,000 แห่ง และจะใช้ความสำเร็จของโครงการนี้เป็นต้นแบบบูรณาการสู่กิจกรรมอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยตามมาตรฐาน ได้รับอาหารปลอดยาปฏิชีวนะและสารตกค้าง สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ มีสินค้าตรงกับความต้องการของตลาด และมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ” อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว