วิจัยคืนพลังงานเหลือใช้ ผลิตนวัตกรรมแอร์ประหยัดไฟ

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดต้นแบบแอร์ประหยัดพลังงานฝีมือนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ระบบแรกของไทย หวังช่วยประหยัดไฟและลดความสูญเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์ ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละกว่า 36,000 บาท

รศ.ดร. สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดี และอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ความพิเศษของการวิจัยระบบแอร์ประหยัดพลังงานนี้คือเครื่องต้นแบบนี้ สามารถลดการใช้ไฟได้ถึง ร้อยละ 50 ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มผู้วิจัยยังได้คิดค้นวิธีนำพลังงานที่เหลืออีก ร้อยละ 50 ถูกปล่อยทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ ส่งกลับเข้าสู่ระบบภายในบ้าน จึงถือเป็นต้นแบบงานวิจัยที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุดซึ่งช่วยลดค่าไฟได้ด้วย

ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดี สจล. กล่าวเสริมว่า การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายลดใช้พลังงานไฟฟ้าไปพร้อมกับการใช้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ถือเป็นรูปแบบที่ผู้ประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วโลกมุ่งพัฒนา เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ซึ่งนับว่าสอดคล้องกับหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนของ สจล. ที่มุ่งเน้นการนำความรู้ไปคิดค้นและวิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมต้นแบบประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ศรีสะเกษ อำเภอขุนหาญเตรียมจัดงานเทศกาลทุเรียนและของดีศรีขุนหาญ ประจำปี 2560 ชิมทุเรียนภูเขาไฟอร่อยจากสวนและร่วมรำวงย้อนยุคกับนางรำแสนสวยขุนหาญคาลิปโซ

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมที่ว่าการ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ นายสมเกียรติ ศรีขาว นายอำเภอขุนหาญ เปิดเผยว่า ด้วยสภาพพื้นที่ของอำเภอขุนหาญ บริเวณบ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพรานและตำบลใกล้เคียงเป็นพื้นที่ดินภูเขาไฟที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุสำคัญต่อการปลูกพืช ทำให้บริเวณนี้สามารถปลูกทุเรียนหมอนทอง เงาะโรงเรียนได้ผลผลิตดีมาก ฤดูที่ได้ผลผลิตมากคือ พฤษภาคม-มิถุนายน ซึ่งเอกลักษณ์ของทุเรียนหมอนทองขุนหาญ คือเปลือกจะมีหนามชิดและแหลมมาก เนื้อเหนียว แต่ก็เนียนและนุ่ม เมล็ดลีบบาง กินแล้วหวานชุ่มคอมาก โดย อ.ขุนหาญ ได้เป็นแหล่งผลิตผลไม้หลากชนิดจากทั่วทุกภูมิภาคของไทย เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุดจากภาคตะวันออก สะตอ ลองกอง ยางพารา จากภาคใต้ ลำไย ลิ้นจี่ จากภาคเหนือ มะปรางหวาน กระท้อน ส้มโอ มะม่วงจากภาคกลาง และพืชผลชนิดอื่นๆ ที่ให้ผลผลิตตลอดทั้งปี และมีแหล่งท่องเที่ยวสวนเกษตร เป็นแหล่งผลิตเงาะ ทุเรียน แห่งแรกและแหล่งใหญ่สุดในภาคอีสาน

นายอำเภอขุนหาญ กล่าวต่อไปว่า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ทุเรียนและผลไม้ทุกชนิดที่ผลิตได้ในเขต อ.ขุนหาญ อีกทั้งเพื่อเป็นการเปิดตลาดให้ชาวสวนได้นำเอาผลผลิตผลไม้มาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวโดยตรง ดังนั้น ตนพร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุนหาญ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ขุนหาญ ประธานชมรมมวยอำเภอขุนหาญ ผู้บริหารท้องถิ่น ปลัดเทศบาล/ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานชมรมผลไม้อำเภอขุนหาญ ประธานกลุ่ม OTOP อ.ขุนหาญ และทุกภาคส่วนจึงได้จัดประชุมคณะทำงานเตรียมการจัดงาน ” เทศกาลทุเรียนและของดีศรีขุนหาญ ประจำปี 2560 ” ซึ่งกำหนดจัดงานนี้ขึ้นในระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 1 – 2 กรกฎาคม 2560 ณ บริเวณสนามกีฬาวงกลมอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ

นายอำเภอขุนหาญ ยังกล่าวด้วยว่า ในการจัดงานครั้งนี้มีกิจกรรมในงานต่าง ๆ มากมาย เช่น ชมขบวนแห่ชน 3 เผ่า เขมร ส่วย ลาวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ขบวนแห่ผลไม้ ขบวนแห่สินค้า OTOP คุณภาพเยี่ยมของกลุ่มแม่บ้าน ขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น กิจกรรมการแสดงภาคกลางคืนมากมาย การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP การจัดแสดงและจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนขุนหาญ และการรำวงย้อนยุคขุนหาญคาลิปโซ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถที่จะเข้าร่วมสนุกสนานเข้าร่วมฟ้อนรำย้อนยุคได้กับนางรำที่แสนสวยและวงดนตรีชื่อดัง อีกทั้งมีการเผยแพร่ศิลปะมวยไทยให้นักท่องเที่ยวได้ชมอีกด้วย จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวศรีสะเกษและนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศไปชิมทุเรียนและผลไม้ต่าง ๆ ในงานเทศกาลทุเรียนและของดีศรีขุนหาญ ประจำปี 2560 ตามวันเวลาดังกล่าวด้วย

ดร. กฤษณพงศ์ กีรติกร กล่าวในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) และโครงการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายด้วยการวิจัยและพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า มหาวิทยาลัยไทยมีจำนวนมาก งบประมาณที่ผ่านมามีจำนวนจำกัด แต่ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีงบประมาณให้ถึง 1,400 ล้านบาท จึงต้องจัดระบบในการเข้าถึงนักวิจัยแต่ละมหาวิทยาลัยเพื่อมารับทุนของ สกว.

“สกว. ต้องเป็นแม่ไก่ เดินสายคุยกับมหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อหานักวิจัยที่ตรงสาขามาขับเคลื่อนงาน ขณะที่รัฐบาลก็จะดูว่าเรามีอะไรที่บ้านเมืองจะไปได้ดีกว่านี้ เราจึงต้องทำงานวิจัยให้เข้าถึงอุตสาหกรรมและชาวบ้าน ร้อยงานวิจัยให้เกิดผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบไม่ได้มีแต่แค่ผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการ แต่ต้องส่งผลต่อการขับเคลื่อนในมิติเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วย ทั้งนี้ สกว.จะต้องมองภาพใหญ่ และทำให้เกิดบันไดนักวิจัยอาชีพให้ได้ในมหาวิทยาลัย พยายามก้าวข้ามกระบวนทัศน์ให้นักวิจัยทำวิจัยเต็มเวลา ที่สำคัญต้องให้ร่อนหรือสกัดงานวิจัยที่ได้ว่าเทคโนโลยีฐานมีความสำคัญและจำเป็นอย่างไรต่อภาคเอกชน จะเอาไปใช้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เอกชนต้องพูดให้ภาครัฐเข้าใจ นอกจากนี้ ยังต้องเชิญชวนให้นักวิจัยพัฒนางานอย่างต่อเนื่องจนขับเคลื่อนให้ออกสู่พาณิชย์ได้” ดร. กฤษณพงศ์ กล่าว

ด้าน รศ.ดร. ประเสริฐ ภวสันต์ ผู้อำนวยการ พวอ. ระบุว่า ในปีงบประมาณ 2560 พวอ.ได้จัดสรรทุนไปแล้วรวม 106 ทุน คิดเป็นงบประมาณ จำนวน 94.63 ล้านบาท มีภาคเอกชนร่วมลงทุน 105 โครงการ โดยกระจายตัวในทุนระดับปริญญาโทและปริญญาเอก จำนวน 102 ทุน ใน 21 มหาวิทยาลัย สัดส่วนผู้ร่วมทุนมากที่สุดคือ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การแปรรูปอาหาร และการแพทย์ครบวงจร ตามลำดับ ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ไม่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย เช่น เครื่องจักรและโลหะการ ก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง เซรามิก ไม้และเครื่องประดับ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

รมว.อุตสาหกรรม ร่วมถก กก.ประชารัฐ แก้ไขระเบียบสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ จำนวน 3.8 หมื่นล้าน หลังเงื่อนไขเดิมไม่เอื้อ พร้อมเตรียมสัมมนาร่วมมือไทย-ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ซึ่งนักธุรกิจแดนมังกรจะมาเยือนไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงอุตสาหกรรม ครบรอบ 75 ปี ว่า ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีกำหนดการประชุมคณะกรรมการสารพลังประชารัฐ กลุ่มส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และวิสาหกิจ (D2) นัดแรก โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมรับฟัง

เพื่อหารือมาตรการดูแลช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มเติม ให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือมีบุคคลในธุรกิจไม่เกิน 5 คน จากเดิมที่มีเงื่อนไขกำหนดความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคลที่มีบุคลากรตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่ไม่เกิน 200 คน เท่านั้น

“เอสเอ็มอีขนาดเล็ก หรือไมโครเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในโครงการต่างๆ ที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือได้ทั่วถึงเท่าที่ควร เบื้องต้นจึงจะแก้ไขหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ เพื่อนำงบประมาณจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ 20,000 ล้านบาท และอื่นๆ รวมวงเงิน 38,000 ล้านบาท ขยายความช่วยเหลือไปยังไมโครเอสเอ็มอีด้วย” นายอุตตม กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังมีโครงการเอสเอ็มอีสัญจรลงพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด เพื่อรับฟังปัญหาข้อเสนอและความต้องการรับความช่วยเหลือของเอสเอ็มอีในระดับภูมิภาค ระดับจังหวัด

นอกจากนี้ ในวันที่ 8 พฤษภาคม จะจัดสัมมนาความร่วมมือด้านยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ฮ่องกง-เซี่ยงไฮ้ ภายใต้นโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง “Thailand-Hong Kong-Shanghai Strategic Partnership on One Belt One Road” โดย นายวินเซนต์ โล ประธานองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) พร้อมคณะนักธุรกิจ ประมาณ 50 คน จะมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม ด้วย

ในงานดังกล่าวจะมีปาฐกถาโดย นายสมคิด, การลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กับ HKTDC, การบรรยายในประเด็น 10 อุตสาหกรรม แห่งอนาคตอีอีซี, โครงการสานพลังประชารัฐ, นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของไทย ส่วนในช่วงเย็นคณะนักธุรกิจฮ่องกงจะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีด้วย

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าถึงโครงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ขณะนี้โครงการฯ ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหาร กทม.แล้ว โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการการปลูกและดูแลต้นไม้ กทม. มี พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธาน

“ในส่วนของรายละเอียดนั้น นอกจากมีการปลูกต้นไม้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังครอบคลุมถึงการจัดการน้ำเสียด้วย โดยเมื่อสำนักงานเขตออกไปตรวจพื้นที่สีเขียวตามพื้นที่ต่างๆ ว่าตรงตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดสำหรับการลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ก็จะทำการตรวจระบบการจัดการน้ำเสียของพื้นที่ในส่วนนั้นเช่นกัน โดยในที่ประชุมหัวหน้าหน่วยงาน ได้นำตัวอย่างของเครื่องดักไขมันไปแจกจ่ายในครัวเรือน ซึ่งเตรียมจะนำเสนอแก่ผู้ค้าอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ดส์) ในถนนเยาวราชด้วย ทั้งนี้ หากบ้านพักอาศัยของประชาชนทุกบ้านมีการบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงท่อ จะทำให้ช่วยลดปัญหาการเกิดมลพิษทางน้ำ แม้จะยังไม่สะอาดทั้งหมด แต่ก็คงจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำเน่าตามเส้นทางระบายน้ำต่างๆได้ นอกจากนี้ ยังสามารถตรวจบ้านเรือนหรืออาคารที่เข้าข่ายในการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการตรวจสอบในพื้นที่จริง” รองผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

นายพงศ์ชาติ เชื้อหอม หัวหน้าศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าเขาพระแทว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) พร้อมด้วยนายเกรียงศักดิ์ ศรีบัวรอด หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี และคณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทพกระษัตรี อ.ถลาง ร่วมกันสำรวจเกาะงำ และเกาะปายู ซึ่งเป็นเกาะบริวารของเกาะภูเก็ต ในท้องที่ ต.เทพกระษัตรี เพื่อศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการเคลื่อนย้ายลิงแสมจากเกาะภูเก็ต มาไว้ยังสถานที่ที่ทำการสำรวจเพื่อบรรเทาปัญหาระหว่างคนกับลิงแสมในท้องที่ จ.ภูเก็ต

นายพงศ์ชาติ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ในเรื่องที่ลิงออกไปรบกวนชาวบ้าน จึงได้ร่วมกับ อบต.เทพกระษัตรีในการหาทางออกร่วมกัน เบื้องต้นพบว่าเกาะที่สำรวจมีความเหมาะสมทั้ง 2 พื้นที่ สำหรับเฉพาะลิงแสมที่เป็นลิงป่าชายเลน กิน กุ้ง หอย ปู ปลา และสัตว์น้ำขนาดเล็กตามชายฝั่งเป็นอาหาร โดยหากสามารถดำเนินการได้จะย้ายไปเฉพาะในส่วนที่เป็นลิงดื้อที่ออกมารบกวนชาวบ้าน และต้องสอบถามความต้องการของคนในพื้นที่ให้แน่ชัดด้วย ทั้งนี้ เกาะทั้งสองอยู่ห่างจากฝั่ง 15 และ 20 นาที โดยจะเร่งสำรวจเกาะบริวารรอบเกาะภูเก็ตฝั่งตะวันออกรวม 5 เกาะว่ามีความเหมาะสมในการดำเนินการหรือไม่ พร้อมทั้งจะเร่งติดตามข้อมูลว่าเกาะดังกล่าวมีใครเป็นเจ้าของหรืออยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด มีคนอาศัยอยู่บนเกาะหรือไม่ สามารถนำมาจัดทำโครงการดังกล่าวได้หรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้านแล้วจึงจะเสนอไปยังกรมอุทยานฯ และ จ.ภูเก็ตให้พิจารณา

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามมาตรา 84 แห่งพ.ร.ก.การประมง 2558 กำหนดให้ท่าเทียบเรือประมงต้องจดทะเบียนเป็นท่าเทียบเรือประมงต่อกรมประมง โดยกรมประมงได้ประกาศกฎกระทรวงไว้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 โดยอนุโลมให้ยื่นหนังสือรับรองฯได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้กรมฯต้องดำเนินการตรวจมาตรฐานสุขอนามัยท่าเทียบเรือที่ต้องตรวจสุขอนามัยทั้งสิ้น 829 ท่า ได้ดำเนินการแล้ว 579 ท่า แบ่งเป็น ท่าเทียบเรือประเภท เอ1 ตรวจแล้ว 23 ท่าจากเป้าหมาย 25 ท่า ผ่านเกณฑ์ 11 ท่า ไม่ผ่านเกณฑ์ 5 ท่า และรอผลการประเมินอีก 7 ท่า ท่าเทียบเรือประเภท เอ2 ทำการตรวจแล้ว 121 ท่า ผ่านเกณฑ์ 70 ท่า ไม่ผ่านเกณฑ์ 28 ท่า รอผลการประเมิน 23 เท่า ท่าเทียบเรือประเภท บี ตรวจแล้ว 234 ท่า ผ่านเกณฑ์ 119 ท่า ไม่ผ่านเกณฑ์ 37 ท่า รอผลการประเมิน 78 ท่า ท่าเทียบเรือประเภท ซี ตรวจแล้ว 219 ท่า ผ่านเกณฑ์ 32 ท่า ไม่ผ่านเกณฑ์ 15 ท่า รอผลตรวจ 172 ท่า

พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า ในส่วนของท่าเทียบเรือที่ไม่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัย หากไม่สามารถปรับปรุงมาตรฐานและไม่ยื่นหนังสือรับรองสุขอนามัยฯ ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด จะต้องถูกถอนทะเบียนท่าเทียบเรือ ส่งผลให้เรือประมงไม่สามารถใช้ท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าประมงได้ “ยังมีท่าเทียบเรือที่ไม่มายื่นขอรับการรับรองสุขอนามัยจำนวนทั้งสิ้น 232 ท่า อยากขอความร่วมมือให้เร่งรัดรัดปรับปรุงสุขอนามัยก่อนที่จะหมดเวลา”

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลฯได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ความร่วมมือทางวิชาการ โครงการเครือข่ายงานวิจัย ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านงานวิจัย ทดสอบ และวิเคราะห์คุณภาพระหว่างทั้งสองหน่วยงาน พัฒนาสมรรถนะบุคลากรและระบบคุณภาพในห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ศึกษาคุณสมบัติ วิเคราะห์ ทดสอบ และพัฒนาวัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติงานด้านชลประทานสู่ระบบมาตรฐานสากลตลอดจนประเมินคุณภาพน้ำ และวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในโครงการพัฒนาด้านชลประทาน โดยมีกำหนดระยะเวลาความร่วมมือไว้ 3 ปี

นายสัญชัย กล่าวว่า ทั้งสองหน่วยงานยังจะร่วมมือกันดำเนินการตรวจประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของกรมชลประทานที่ดำเนินการมาแล้ว 3-5 ปี อาทิ โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน จ.พิษณุโลก โครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลธร จ.ชลบุรี โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี ทั้งนี้เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน เนื่องมาจากการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ยังจะมีการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์ สำหรับประเมินคุณภาพน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการคาดการณ์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ และสามารถวางแผนจัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบคุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนามเอ็มโอยู โครงการเครือข่ายงานวิจัย ทดสอบและวิเคราะห์คุณภาพ สำหรับโครงการงานวิจัยที่ วว. มีแนวคิดจะทำร่วมกับกรมชลประทาน คือ การพัฒนาวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งเพื่อการชลประทาน ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์บล็อกประสานซึ่งทำหน้าที่ป้องกันการกัดเซาะ โดยมีช่องว่างที่พืชสามารถเจริญเติบโต และมีแผ่นจีโอเท็กซ์ไทล์จากยางธรรมชาติทำหน้าที่เป็นชั้นกรอง โดยมีพื้นที่ผิวที่ช่วยเก็บกักตะกอนดินเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชทั้งนี้วัสดุดังกล่าวสามารถป้องกันการชะล้างของดินออกจากตลิ่ง มีคุณสมบัติด้านความแข็งแรงและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ตลอดจนมีอายุการใช้งานนาน ทนทานการกัดกร่อนจากการไหลของกระแสน้ำ รวมทั้งการพัฒนาวัสดุคอมพอสิตสำหรับประตูระบายน้ำในงานชลประทานโดยใช้วัสดุคอมพอสิตพอลิเมอร์ ร่วมกับเส้นใยเสริมแรงและโครงเหล็กรับแรง ทำหน้าที่เป็นแผ่นหน้าประตูระบายน้ำ เพื่อกระจายแรงให้โครงเหล็กด้านหลัง ที่เคลือบด้วยเรซินเช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากน้ำเค็ม-น้ำกร่อย ราคาประหยัด ลดการใช้โลหะขนาดใหญ่ ทดแทนด้วยวัสดุสมัยใหม่ทำหน้าที่ตามคุณสมบัติเฉพาะในส่วนนั้นๆ ตามการรับแรงที่เกิดขึ้นจริง สามารถใช้ทดแทนประตูระบายน้ำเดิม และใช้กว้านเดิมยกประตูได้

มูลนิธิเอสซีจี รวมพลคนร้อนวิชา ชวนน้องๆ ร่วมโชว์พลังทำความดี กับโครงการ “เยาวชน คนทำดี” ปี 5 ชิงเงินสนับสนุนสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท

การปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคมของเยาวชน ถือเป็นพันธกิจหนึ่งที่มูลนิธิเอสซีจีมุ่งมั่นดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ “เยาวชน คนทำดี” โดย มูลนิธิเอสซีจี ซึ่งเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้รวมตัวกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาแสดงพลังในการคิดสร้างสรรค์โครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยนำความรู้ที่สอดคล้องกับวิชาหรือหลักสูตรที่กำลังศึกษาอยู่มาลงมือปฏิบัติจริง เพื่อแบ่งปันรอยยิ้ม เติมความสุขให้แก่ชุมชนและสังคม ซึ่งโครงการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินงานจริง ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี ผู้จัดทำโครงการนี้กล่าวว่า “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน คืออุดมการณ์ที่มูลนิธิเอสซีจียึดถือมาโดยตลอด มูลนิธิฯ จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากร ‘คน’ โดยเน้นที่เด็กและเยาวชน ไม่เพียงเท่านี้ มูลนิธิฯ ยังตระหนักเสมอว่าการปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมความเป็นผู้มีจิตอาสาให้หยั่งรากลึกในใจคนรุ่นใหม่ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างคนคุณภาพให้แก่สังคม เพราะสังคมต้องการทั้ง ‘คนเก่งและดี’ ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ได้เก่งในตำราเพียงอย่างเดียว แต่เป็นคนที่มีจิตสาธารณะควบคู่ไปด้วย เราจึงเชิญชวนนิสิตนักศึกษาให้นำความรู้ที่เรียนมาบวกกับพลังจิตอาสาไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ความรู้ในห้องเรียนจะมีคุณค่ายิ่ง หากสิ่งนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับใช้สังคมได้”

ด้าน น้องกุ้ง-ปิ่นมณัฐ โคตรชา นักเรียนอาชีวะฝีมือชน ชั้น ปวส.2 สาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี เจ้าของโครงการ “สืบสานภูมิปัญญา พลิกฟื้นผืนเศษผ้า เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้น้อง” 1 ในผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการ “เยาวชน คนทำดี” เมื่อปีที่ผ่านมา ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์และการใช้องค์ความรู้ที่เรียนมาเพื่อสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอให้คงอยู่ว่า “หนูเป็นคนอุดรฯ เติบโตมากับวิถีชีวิตของผ้าพื้นถิ่น ภาพจำของหูกทอผ้าและเสียงฟืมกระทบกี่เป็นความทรงจำวัยเด็กที่ไม่อาจลืมเลือน หนูคงใจหายหากวันข้างหน้าหูกทอผ้าจะหายไปจากภาคอีสาน และจากการที่หนูกับเพื่อนๆ ได้ลงพื้นที่ชุมชนบ้านแสงบูรพา หนึ่งในแหล่งหัตถกรรมผ้าทอที่มีชื่อเสียง

พวกเราพบว่ามีเศษผ้าไหม ผ้าฝ้ายและผ้าขิด ที่ชาวบ้านตัดออกจากกี่ทอผ้าจำนวนมาก ซึ่งการกำจัดเศษผ้าเหลือใช้เหล่านี้จะเป็นการเผาเสียส่วนใหญ่ พวกเราจึงมาร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะช่วยลดขยะ ตลอดจนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รู้สึกรักและอยากจะสืบสานภูมิปัญญาผ้าทอให้คงอยู่ เราจึงรวมตัวกันสอนอาชีพให้กับเยาวชนท้องถิ่น โดยใช้ความรู้ที่เรียนมาแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเศษผ้าทอพื้นเมืองเหลือใช้ ประกอบกับวิชาการตัดเย็บกระเป๋าจากเศษผ้า ซึ่งได้เรียนรู้จาก อาจารย์เบญจวรรณ บุ้งทอง ครูผู้สอนสาขาวิชาเทคโนโลยีออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ

ช่วยกันออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบกว่า 10 รายการ billspayroll.com ที่มีความยากง่ายต่างกัน เพราะต้องนำไปสอนวิธีทำกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนวัยตั้งแต่อายุ 9-25 ปี ดังนั้น หลักสูตรการเรียนรู้จึงต้องประยุกต์ให้เหมาะสมกับทุกกลุ่ม อีกทั้งยังมีการสอนการคำนวณต้นทุนและกำไรที่จะได้รับจากการผลิต เพื่อเป็นแรงจูงใจและผลักดันให้เยาวชนมีแรงกระตุ้นในการทำงาน มีการรับรองมาตรฐาน ตลอดจนนำไปจำหน่ายในท้องตลาดจริง เพื่อสร้างรายได้ให้กับเยาวชนและชุมชนอีกด้วย ต้องขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้การสนับสนุนการทำความดีในครั้งนี้ และหนูขอเชิญชวนให้เพื่อนๆ ที่มีไอเดียดีๆ มาสมัครร่วมโครงการในปีนี้ เพื่อแบ่งปันความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนของเรากันนะคะ”

ส่วน น้องเหนือ-ศตวรรษ ดอกจันทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียาง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เจ้าของโครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับผลิตไส้หมอนขิดจากน้ำยางพารา” กล่าวเสริมว่า “ไส้หมอนขิดจากน้ำยางพาราเกิดจากการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในพื้นที่จังหวัดยโสธร โดยเป็นผลงานวิจัยของ อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์ประจำคณะของผม ซึ่งชาวบ้านตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ได้มาเข้าร่วมโครงการดังกล่าวด้วย

โดยชาวบ้านได้ฝึกการตีฟองน้ำยางพาราเพื่อนำมาทำไส้หมอนยางพารา ซึ่งมีอายุทนทานกว่า และส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะไม่เก็บฝุ่นเหมือนไส้หมอนที่ทำจากนุ่น จนโด่งดังเป็นโอท็อปของจังหวัดและได้จัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มสวนยางตำบลศรีฐาน ต่อมาชุมชนได้ประสบปัญหาเรื่องอัตราการผลิตที่ล่าช้าเพราะไส้หมอนขิดยางพารานั้นแห้งช้า ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ผมและเพื่อนๆ จึงได้คิดสร้างโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์รูปโดม โดยใช้แผ่นโพลีคาร์บอเนตในการทำหลังคา เพราะมีคุณสมบัติโปร่งแสงทำให้แสงส่องผ่านได้มาก

แต่จะสะท้อนกลับได้น้อย เมื่ออุณหภูมิภายในโรงอบสูงขึ้น ไส้หมอนของชาวบ้านก็จะแห้งเร็วขึ้นทำให้ทันต่อการผลิต และโรงอบยังมีพัดลมดูดอากาศ กรณีที่โรงอบมีอุณหภูมิสูงกว่าที่ตั้งไว้ พัดลมจะดูดอากาศออกไปภายนอก โดยที่ตัวพัดลมจะใช้พลังงานจากแผ่นโซลาเซลล์ที่ติตตั้งภายนอกโรงอบ ซึ่งจะเปลี่ยนพลังงานแสงแดดเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้โรงอบมีอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการตากหรืออบไส้หมอนของชาวบ้าน รวมทั้งยังใช้ตากหรืออบผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆ ของชาวบ้านได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังเป็นต้นแบบการเรียนรู้ของชาวบ้านในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง สร้างความภาคภูมิใจให้กับผมที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคม โดยได้ใช้ความรู้ที่เรียนมาให้เกิดประโยชน์ สุดท้ายอยากฝากถึงเพื่อนๆ ที่มีพลังความรู้ ความคิดดีๆ มาสมัครเข้าร่วมโครงการนี้กันนะครับ เพราะนอกจากจะได้นำความรู้มาตอบแทนสังคมแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของตนเองอีกด้วย”

น้องๆ เยาวชนที่สนใจ สามารถส่งโครงการเข้าร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันนี้ – 15 มิถุนายน 2560 โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคว่ามีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบจากสารสกัดหมามุ่ยได้รับเลขสารบบอาหารจาก อย. โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณในทำนองว่า สามารถบำบัด บรรเทา หรือ รักษาโรคได้ นั้น อย. ขอชี้แจงว่า ไม่เคยอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเนื่องจากมีสารสำคัญในเมล็ดหมามุ่ยที่ชื่อว่า L – dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของสารสื่อประสาท dopamine ที่มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำ ในปัจจุบันยังไม่มีผลการศึกษาที่แน่ชัดเกี่ยวกับความปลอดภัยของการบริโภคสารสกัดจากหมามุ่ยที่นำมาเป็นอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร และยังไม่ปรากฏหลักฐาน จากหน่วยงานของรัฐในต่างประเทศที่อนุญาตให้ใช้หมามุ่ยเป็นอาหาร หรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร