วิธีการเสียบยอด เป็นการขยายพันธุ์พืชแบบไม่อาศัยเพศ

เป็นการเสียบยอดเพื่อเปลี่ยนจากพันธุ์ไม่ดีให้ได้มะม่วงพันธุ์ดี วิธีการมีดังนี้ เลือกกิ่งต้นตอแล้วตัดปลายกิ่งออก ผ่าที่กึ่งกลางกิ่งให้เป็นรูปลิ่ม ยาว 3-4 เซนติเมตร นำยอดมะม่วงพันธุ์ดีที่ตัดมาเฉือนปลายโคนเป็นรูปลิ่ม ยาว 3-4 เซนติเมตร แล้วเสียบเข้าไปให้รอยแผลตรงกัน พันผ้าพลาสติกให้รอบรอยแผลโดยทั่วแต่พอแน่น หรือจะใช้วิธีเสียบข้างก็ได้ ด้วยการเลือกต้นตอขนาดใหญ่พอเหมาะแล้วผ่าถึงเนื้อไม้ ยาว 3-4 เซนติเมตร เพื่อลอกเปลือกด้านข้างเปิดออก นำยอดพันธุ์ดีที่เตรียมมาเสียบให้รอยแผลตรงกันพันด้วยผ้าพลาสติกให้รอบแผลแต่พอแน่น ภายใน 5-7 วัน รอยแผลจะประสานเชื่อมติดกันสนิท ก็จะได้มะม่วงพันธุ์ดี

คุณแรงเทียน หัวไผ่ เกษตรกรเสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เล่าให้ฟังอีกว่า หลังการเสียบยอด ได้ปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาต้นด้วยการแบ่งใส่ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง หว่านรอบทรงพุ่มแล้วให้น้ำแต่พอชุ่มทุกครั้ง ก็จะช่วยทำให้ต้นมะม่วงเจริญเติบโตสมบูรณ์และได้ผลมะม่วงคุณภาพให้เก็บเกี่ยว

การเก็บผลผลิต ต้นมะม่วงที่เสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดีใน 1 ปี ที่มีการใส่ปุ๋ยและน้ำอย่างพอเพียง หรือป้องกันกำจัดโรคแมลงที่ดี ต้นเจริญเติบโตสมบูรณ์ ในปีแรกเก็บผลมะม่วงได้มากกว่า 100 ผล ต่อต้น ในปีถัดไปก็ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น มะม่วงที่ได้มีขนาดใหญ่ เฉลี่ย 3 ผล ต่อกิโลกรัม นำออกขายได้ราคาเฉลี่ย 25-35 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาซื้อขายนี้มีการเปลี่ยนแปลงได้ตามกลไกของตลาด แต่ก็เป็นรายได้ที่พอเพียงในการยังชีพ

การได้เดินตามรอยพ่อ สู่เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อวิถีที่มั่นคง เป็นความภาคภูมิใจคือ การกล้าตัดสินใจลาออกจากงานในเมืองแล้วเลือกมาเสียบยอดเปลี่ยนเป็นมะม่วงพันธุ์ดี เป็นการลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า ได้เป็นเจ้านายตัวเอง กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ต้องขอบคุณคำแนะนำที่ดีจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เพื่อนเกษตรกร และจากสื่อต่างๆ ที่สำคัญคือการเสียบยอดมะม่วงด้วยตนเอง พร้อมสมาชิกในครอบครัวได้ทำให้ได้ผลมะม่วงพันธุ์ดีมีคุณภาพ ผลผลิตทวี มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ และทำให้สามารถก้าวเปลี่ยนสู่วิถีให้มีความมั่นคง

เรื่องราวการ เสียบยอดมะม่วง…เปลี่ยนเป็นพันธุ์ดี เปลี่ยนวิถีชีวิต ผลผลิตทวี มีรายได้มั่นคง เป็นการใช้เงินทุนน้อยไปซื้อกิ่งมะม่วงพันธุ์ดีมาเปลี่ยนมะม่วงพันธุ์ไม่ดีให้เป็นมะม่วงพันธุ์ดี ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ยังชีพได้แบบพอเพียงและมั่นคง สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณแรงเทียน หัวไผ่ เลขที่ 39/1 หมู่ที่ 14 ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี โทร. (080) 019-5147 หรือที่ คุณเพชรรัตน์ วงค์ธานี สำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี โทร. (036) 813-489 ก็ได้ครับ

มะเขือเปราะ เป็นพืชทนแล้ง อายุสั้น ปลูก 3 เดือน ให้ผลผลิต เก็บได้นาน 1 ปี ปลูกได้ทุกสภาพอากาศ ถือว่าเป็นพืชอายุสั้น และให้ผลผลิตดี

มะเขือขาวหยก เป็นพันธุ์ที่ได้มาจากจังหวัดสระบุรี ข้อดีของพันธุ์นี้คือ จุกใหญ่ เหี่ยวช้า หากวันไหนเหลือขายไม่หมด สามารถเก็บไว้ได้ยังไม่เหี่ยว รสชาติหวาน ลูกใหญ่ เป็นที่ต้องการของตลาด ปลูก 10 ไร่ ผลผลิตดก เก็บขายวันละ 300 กิโลกรัม ต่อวัน

การเตรียมดิน ไถตากดินไว้ 1 เดือน เมื่อไถเสร็จให้ขึ้นร่องใหญ่กว่าร่องอ้อย ความกว้าง ประมาณ 150 เซนติเมตร ยกร่องสูงทำเป็นร่องน้ำ โดยสวนทั่วไปจะใช้ระบบน้ำหยด แต่ถ้าสายตันขึ้นมาจะลำบาก มะเขือจะไม่ชุ่ม พอไม่ชุ่มจะเกิดไรแดง เพลี้ยหนอน แต่ถ้าเราขุดร่องน้ำไว้ ถึงเวลาฝนตกหรือปล่อยน้ำเข้า ก็วิดน้ำรดได้เลย มะเขือจะชุ่ม ความชื้นจะเยอะเขาจะชอบ

การปลูก จะเพาะต้นกล้าเองหรือใช้วิธีซื้อต้นกล้าที่เขาเพาะไว้แล้วมาปลูก 1 ถาด มี 120 ต้น ราคาถาดละ 100 บาท นำกล้าลงหลุม ความห่างระหว่างหลุม 70 เซนติเมตร ความกว้าง 150 เซนติเมตร เพื่อจะได้เดินในร่องทางซ้ายและขวาได้สะดวก

การดูแล ใส่ปุ๋ยเคมี สูตรเสมอ 16-16-16 พอลูกออกให้หยุดใส่ แล้วเปลี่ยนมาใช้ชีวภาพแทน หมั่นถางหญ้าให้เตียน

“เรื่องแมลงมีบ้าง ดูแลโดยการใช้น้ำส้มควันไม้ฉีดไล่ แต่ถ้าใช้ชีวภาพต้องฉีดบ่อย วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือ ให้ขยันเก็บ หนอนจะชอบกินลูกใกล้เก็บ ถ้าเราเก็บเร็วโอกาสที่หนอนจะฟักไข่เป็นตัวได้มีน้อยมาก แต่ถ้ารอให้ลูกใหญ่มากหนอนจะเจาะทัน สมมุติแทนที่จะเก็บวันนี้ แต่ไม่เก็บ รออีก 2 วัน วันที่ 2 นี่แหละหนอนก็กินแล้ว ให้เก็บหนี แล้วลูกใหม่ก็โต เพราะเราเก็บทุกวัน”

การตลาดหาง่าย เริ่มจากตลาดแถวบ้าน

เริ่มการตลาดด้วยการส่งที่ตลาดแถวบ้านก่อนก็ได้ เพราะมะเขือถือว่าเป็นพืชผักที่ชาวบ้านคุ้นเคย และนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภท ราคาขาย 10 กิโลกรัม 150 บาท เราก็ได้ 150 บาท ถ้าพรุ่งนี้เหลือ 120 บาท เราก็ได้ 120 บาท ไม่มีราคาตายตัว

สำหรับเกษตรกรที่อยากปลูกเป็นรายได้เสริม

ไม่ยาก ขอให้คำนึงเพียง

แหล่งน้ำต้องดี
ปลูกแล้วต้องมีตลาดรองรับ เรื่องเงินลงทุนไม่มาก มีค่าไถ 700 บาท ค่ากล้า 1 ไร่ ใช้ 9 ถาด ถาดละ 100 บาท เป็นเงิน 900 บาท รวมค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าคนงาน ตกไร่ละ 2,500 บาท ไม่ต้องทำเยอะ สมมุติมีน้ำพอแค่ทำ 2 ไร่ ก็ทำแค่ 2 ไร่ อาจจะเอาพืชอย่างอื่นผสมไป อย่าง ข้าวโพด อายุสั้น 60 วัน เก็บได้ มะเขือเราร่องห่างก็เอาข้าวโพดไปปลูก พอข้าวโพดโตเก็บผลผลิต เราก็เอาต้นออก มะเขือก็โตพอดี ถือเป็นการสร้างรายได้ 2 ทางด้วย เกษตรกรยุคนี้ต้องปลูกพืชแซมถึงจะอยู่ได้

ว่านหางจระเข้ สมุนไพรชั้นดี สรรพคุณทางยามากมาย ทั้งช่วยรักษาแผล หรือสมานแผล ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนของแผลที่เกิดจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ว่านหางจระเข้ก็ช่วยได้ และนอกจากเป็นสมุนไพรรักษาแผลที่ดีแล้ว ด้วยในปัจจุบันนวัตกรรมที่ก้าวไกล มีผู้คิดค้นวิจัยนำว่านหางจระเข้มาทำเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า ผิวกาย มากมาย ทำให้ปริมาณความต้องการว่านหางจระเข้มีมากขึ้น ส่งผลดีต่อรายได้ของเกษตรกรในประเทศไทยเป็นอย่างดี ซึ่งแหล่งปลูกสำคัญอยู่ทางภาคตะวันตกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การปลูกว่านหางจระเข้ส่งโรงงาน ถือเป็นอาชีพสร้างรายได้ดีให้กับเกษตรกรแถวนั้นมานานกว่า 30 ปี และปัจจุบันนี้ได้สืบทอดมาถึงรุ่นลูก ตลาดก็ยังสดใสอยู่

คุณธนัชญาน์ มีสวัสดิ์ หรือ คุณจูน อยู่บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 10 ตำบลบ่อนอก อำเภอเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกษตรกรสาวผู้สืบทอดงานเกษตรกรรมจากครอบครัว เล่าว่า ครอบครัวของตนทำไร่ปลูกว่านหางจระเข้ส่งโรงงานมานานมากกว่า 30 ปี ทำมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อเริ่มปลูก เพราะตอนนั้นมีนายทุนมาแนะนำพันธุ์ให้ปลูกและรับซื้อ จึงเริ่มปลูกมาตั้งแต่นั้น แต่ก่อนที่คุณจูนจะหันมาสานต่องานของครอบครัว คุณจูนได้ทำงานในตำแหน่งฝ่ายบุคคล ที่โรงงานแห่งหนึ่งมาก่อน เมื่อรู้สึกอิ่มตัวกับงานที่ทำ ประกอบกับที่บ้านคนไม่พอ จึงลาออกจากงานเพื่อมาช่วยที่บ้านอย่างเต็มตัว

คุณจูน เริ่มต้นเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัวมาเป็นเวลากว่า 4 ปี โดยพื้นที่แถบจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เกษตรกรส่วนใหญ่จะปลูกพืชหลักๆ อยู่ 2 ชนิด คือ ว่านหางจระเข้ และสับปะรด สาเหตุที่เลือกปลูกว่านหางจระเข้ เพราะที่บ้านเราทำมาก่อน และอีกอย่างคือ ว่านหางจระเข้ เป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย สารเคมีแทบไม่ต้องใช้ และเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนเหนียวถือว่าเหมาะมากกับพื้นที่ของเรา

ว่านหางจระเข้ ปลูกไม่ยาก ปลูกครั้งเดียวเก็บขายได้นาน 10 ปี

การปลูกว่านหางจระเข้ปลูกง่าย ใช้น้ำน้อย พันธุ์ที่ปลูกคือ พันธุ์บาบาเดนซิส ลักษณะเด่นคือ กาบใหญ่ เนื้อเยอะ มีสรรพคุณทางยามากมาย วิธีการปลูก

ปลูกโดยการใช้หน่อ หากเป็นมือใหม่อาจต้องมีต้นทุนในการซื้อหน่อมาปลูก หน่อก็มีหลายราคาให้เลือก ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อ เริ่มต้นตั้งแต่ 10-100 บาท ถ้าหน่อใหญ่ระยะเวลาการปลูกให้ผลผลิตก็จะเร็วขึ้น

ตอนนี้ที่ไร่ปลูกว่านหางจระเข้ประมาณ 25-30 ไร่ การปลูกไม่ยาก มีการไถดินสองรอบ รอบแรกไถดะ รอบที่สองไถแปร หากพื้นที่ตรงไหนมีน้ำขังให้ชักร่องปลูกให้น้ำไหลออก เพราะว่านหางจระเข้เป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำ หากพื้นที่ไหนมีน้ำขังรากจะเน่า

ควรเว้นระยะห่างระหว่างร่อง 1 เมตร ระหว่างต้น 1 ศอก ระยะนี้ถือเป็นระยะที่เหมาะสม เพราะถ้าปลูกถี่เกินไปเมื่อต้นโตกาบจะชนกัน ส่งผลทำให้การเจริญเติบไม่ดีเท่าที่ควร และหมั่นทำความสะอาดแปลง กำจัดวัชพืชอย่าให้ขึ้นสูง

ระบบน้ำ… ว่านหางจระเข้ เป็นพืชทนแล้ง ไม่ต้องการน้ำมาก 1 สัปดาห์ รดน้ำสัก 1 ครั้ง โดยการติดตั้งระบบน้ำสปริงเกลอร์เปิดรดช่วงตอนเย็น เพราะอากาศเย็นว่านหางจระเข้จะรับน้ำได้อย่างเต็มที่ หากรดช่วงที่อากาศร้อนจะทำให้ว่านหางจระเข้รากเน่า ระยะเวลาในการรดน้ำ 1 ชั่วโมง ถึง 1 ชั่วโมงครึ่ง

ปุ๋ย… ไม่ต้องใส่มาก ในระยะ 1-2 ปีแรกไม่ต้องใส่ปุ๋ย เพราะว่าช่วงปีแรกๆ ว่านหางจระเข้จะสมบูรณ์มาก ถ้าใส่ไปอาจทำให้เน่า แนะนำให้เริ่มใส่ปุ๋ยช่วงปีที่ 3 ใส่เพียงปีละครั้ง ใส่สูตร 21-0-0

แมลงศัตรูพืช…มีบ้าง แต่ไม่มีผลกับว่านหางจระเข้ อาจมีรอยที่ใบบ้าง แต่ไม่มีผลต่อเนื้อข้างใน ระยะเวลานาน ในการให้ผลผลิต

ว่านหางจระเข้ ถือเป็นพืชที่ลงทุนน้อยแต่ผลตอบแทนมาก เพราะปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บผลผลิตขายได้ทุกเดือน นานถึง 10 ปี แต่การปลูกครั้งแรกต้องรอนาน 8-9 เดือน และหลังจากนั้นสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตขายได้ทุกเดือน ระยะในการปลูกครั้งแรก ประมาณ 8-9 เดือน หลังจากนั้นสามารถเก็บผลผลิตได้ทุกเดือน ในสมัยรุ่นพ่อปลูกครั้งหนึ่งเก็บได้นานเป็น 10 ปี แต่พอมาถึงรุ่นคุณจูนลดลงมาเหลือแค่ 5-6 ปี แล้วไถทิ้งปลูกใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่าเอาไว้นานมากกาบจะเล็ก แต่ถ้าหากตลาดรับซื้อไม่เกี่ยงขนาด ก็สามารถอยู่ได้ถึง 10 ปี

ผลผลิตต่อไร่ …ระยะเวลาการตัดแล้วแต่เกษตรกรบางรายนะ ตัดแบบ 20 วัน ตัดครั้งหนึ่ง หรือ 1 เดือน ตัดครั้ง ถ้าทิ้งไว้ 1 เดือน จะได้กาบที่ใหญ่และน้ำหนักดี ผลผลิต 3.5-4 ตัน ต่อไร่ ต่อเดือน ส่งขายได้ กิโลกรัมละ 2.5-3 บาท ถือว่าสร้างรายได้ดีมาก

ต้นทุนการผลิตหลักหมื่น เก็บขายได้หลักแสน

เจ้าของบอกว่า ที่ไร่ไม่มีต้นทุนค่าหน่อ เพราะเราคัดหน่อจากไร่เราเอง แต่ถ้าเกษตรกรมือใหม่รวมต้นทุนค่าหน่อ ค่าอุปกรณ์ ค่าคนงาน ทุกอย่างแล้วตกไร่ละไม่เกิน 20,000 บาท หน่อที่ขายมีหลายราคาให้เลือก ขึ้นอยู่กับขนาดของหน่อเริ่มต้นตั้งแต่ 10-100 บาท ถ้าหน่อใหญ่ระยะเวลาการปลูกให้ผลผลิตก็จะเร็วขึ้น ยิ่งถ้าทำกันเองเป็นครอบครัวต้นทุนก็จะลดลง และคุ้มมากในระยะยาว

เก็บผลผลิตส่งโรงงาน และทำตลาดออนไลน์เอง

ผลผลิตมีเยอะเท่าไร ก็ไม่พอขาย

ปัจจุบันนี้ คุณจูน ปลูกว่านหางจระเข้ส่งทั้งหมด 5 โรงงาน ส่งโรงงานละ 3 ตัน และยังทำตลาดออนไลน์ขายเองอีกช่องทางหนึ่ง โดยการตลาดที่ทำส่งโรงงาน คุณจูน บอกว่า ตนโชคดีที่มีครอบครัวเริ่มต้นการตลาดมาให้แล้วระดับหนึ่ง เพราะคุณพ่อสร้างมาตรฐานโควต้าส่งโรงงานไว้ได้ดี ผลจึงส่งมาถึงตนในปัจจุบันนี้ ตัวเกษตรกรเองก็ต้องมีความซื่อสัตย์ ทางโรงงานก็จะสั่งออเดอร์มาเรื่อยๆ อย่างช่วงที่ออกมาเยอะ เราก็ไม่เดือดร้อน ไม่มีปัญหาล้นตลาด เพราะเรารักษามาตรฐานมาตลอด อย่างถ้าช่วงไหนผลผลิตหายาก ทางโรงงานก็จะโทร.มาให้ช่วยหา เราก็หาส่งให้เขาตลอด จะมีมากมีน้อยก็ส่ง เราจะไม่ปฏิเสธลูกค้า โดยมาตรฐานการรับซื้อทั้ง 9 โรงงาน จะแตกต่างกันออกไป บางโรงงานส่งใบเล็ก ได้น้ำหนักต่อกาบ 3-4 ขีด บางโรงงานตั้งมาตรฐาน ต้องน้ำหนัก 5 ขีดขึ้นไป ต่อกาบ ถ้าสมมุติผลผลิตเราตรงต่อความต้องการมาตลอด ทางโรงงานก็จะคัดให้เราอยู่ในผู้ส่งชั้นดี ดังนั้น เมื่อมีโควต้ามา ทางโรงงานก็จะกันไว้ให้เราเป็นอันดับต้นๆ

สำหรับการตลาดออนไลน์… นอกจากจะทำส่งทั้ง 5 โรงงานแล้ว คุณจูน ยังหาช่องทางการตลาดเพิ่ม คือเปิดทางเฟซบุ๊ก ไลน์ ด้วยเหตุผลที่ว่าลองหาตลาดเล่นๆ ได้เงินเป็นรายสัปดาห์มาไว้ใช้จ่ายในครอบครัว ส่วนรายได้ที่ส่งโรงงานก็ถือเป็นเงินเก็บ การเปิดรับออเดอร์ทางเฟซบุ๊กและไลน์ 1 สัปดาห์ คุณจูน จะเปิดรับและส่งของทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี มีลูกค้าเข้ามาทุกสัปดาห์ มีเจ้าประจำหลายราย สั่งครั้งละ 20-30 กิโลกรัม ขายเป็นกาบสด ตัดมาไม่ให้เข้าเนื้อ แล้วนำมาเช็ดทำความสะอาด ราคาขายทางออนไลน์ กิโลกรัมละ 20-30 บาท ถือว่าสร้างรายได้ดีอีกทางหนึ่ง และนอกเหนือจากการขายกาบสด ก็ยังมีการแปรรูปขายสร้างมูลค่า โดยการนำว่านหางจระเข้มาปอกเปลือกเป็นเนื้อใสๆ แล้วนำมาทำความสะอาด ล้างเมือกด้วยน้ำเปล่า 6 ครั้ง ส่งขาย ครั้งละ 1 ตัน ถือว่ามีรายได้ที่คุ้มมาก เพราะการปอกเปลือกขายต้องใช้ว่านห่างจระเข้ 3 ตัน เมื่อปอกเปลือกจะเหลือ 1 ตัน เทียบราคาหากขายแบบกาบสด เราจะได้เงินเพียง 9,000 บาท แต่เมื่อปอกเปลือกขาย เราขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท คิดเป็นเงิน 60,000 บาท ต่อ 1 ตัน หักต้นทุนค่าแรงงาน ค่าปอกล้างน้ำแล้ว ยังเหลือกำไร 40,000 บาท

ตลาดสดใส ตั้งแต่รุ่นพ่อสู่รุ่นลูก

คุณจูน บอกว่า ตลาดยังไปได้ ไม่น่าห่วง เพราะทำดีมีมาตรฐาน และมีช่องทางการกระจายสินค้าได้มาก หากราคาตกก็ตกในระดับที่เกษตรกรยังอยู่ได้ คุณจูน บอกว่า ที่บอกแบบนี้ไม่ได้จะให้ทุกคนมองโลกสวย เพราะกว่าที่คุณจูนและครอบครัวจะมีวันนี้ ก็ต้องผ่านอะไรมามากมาย แต่ต้องยอมรับว่า ว่านหางจระเข้ ถือเป็นพืชที่ดูแลง่าย หากวันไหนสินค้าล้นตลาด เกษตรกรสามารถเก็บไว้ ไม่ต้องเก็บเกี่ยวได้ โดยที่ไม่มีต้นทุนการดูแลเพิ่มเติม ซึ่งหากเทียบกับพืชชนิดอื่นแล้วไม่สามารถทำได้ แต่อุปสรรคก็มีบ้างในเรื่องของฝน ถ้าน้ำท่วมมาก็ต้องรีบแก้ปัญหาให้เร็ว แต่ที่ผ่านมาถือว่าการปลูกว่านหางจระเข้เป็นอาชีพสร้างรายได้ดีมาตลอด ราคารับซื้อก็อยู่ในระดับที่รับได้ อาจมีดีดมาสูงบ้างถึงกิโลกรัมละ 10 บาท แต่ก็อย่าเห่อตามกระแส

สวนกล้วยน้ำว้า ในระยะที่มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักในบางแห่งของพื้นที่ช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยน้ำว้าให้สังเกตอาการของโรคปานามา สามารถพบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของต้นกล้วย มักพบแสดงอาการของโรคมากในระยะที่ต้นกล้วยสร้างปลีจนถึงระยะติดผล

อาการเริ่มแรกพบ ใบกล้วยด้านนอกหรือใบแก่เหี่ยวเหลือง และลุกลามเหลืองจากขอบใบเข้ากลางใบ ก้านใบหักพับตรงรอยต่อกับลำต้น และทยอยหักพับตั้งแต่ใบด้านนอกเข้าไปสู่ใบด้านใน ซึ่งระยะแรกใบยอดยังเขียวตั้งตรง ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และใบทั้งหมดจะเหี่ยวแห้ง หากตัดลำต้นกล้วยตามขวางหรือตามยาว จะพบเนื้อในของกาบใบบางส่วนเน่าเป็นสีน้ำตาล ต้นกล้วยชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด

เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบให้ราดบริเวณกอกล้วยหรือโคนต้นที่เป็นโรคด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชอีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล 43% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร

กรณีพบอาการรุนแรงจนใบเหลืองและเหี่ยวตายทั้งต้น ให้ขุดต้นที่เป็นโรคออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก จากนั้น โรยปูนขาวหรือโดโลไมท์ปรับสภาพดินไม่ให้เป็นกรดจัด ให้ทั่วบริเวณหลุมที่ขุดต้นเป็นโรคออกไปหรือกอที่เป็นโรค อัตรา 1-2 กิโลกรัม ต่อหลุม และควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรที่ใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่

นอกจากนี้ เกษตรกรควรทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรระมัดระวังการให้น้ำ โดยไม่ให้น้ำไหลผ่านจากต้นที่เป็นโรคไปสู่ต้นปกติ หากเกษตรกรต้องการปลูกกล้วยในพื้นที่ใหม่ หลีกเลี่ยงการปลูกในพื้นที่ที่เคยมีการระบาดของโรคนี้มาก่อน และไม่นำหน่อพันธุ์จากต้นตอที่เป็นโรคไปปลูก

ให้เลือกใช้หน่อกล้วยที่มีคุณภาพดีจากแหล่งปลอดโรคหรือชุบหน่อพันธุ์กล้วยด้วยสารเคมี อีไตรไดอะโซล+ควินโตซีน 6%+24% อีซี หรือสารคาร์เบนดาซิม 50% เอสซี หรือสารทีบูโคนาโซล 3% เอสซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร รวมถึงควรสลับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค

สภาพอากาศแปรปรวนมีฝนตกปานกลางถึงหนักมากในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนสะละเฝ้าระวังการระบาดของ โรคผลเน่า มักพบโรคในช่วงที่ต้นสะละมีผลแก่กำลังเก็บเกี่ยว เริ่มแรกพบเปลือกผลสะละมีสีน้ำตาล

กรณีที่มีความชื้นสูงจะพบเส้นใยเชื้อราสีขาวหรือสีขาวอมชมพู เส้นใยเชื้อราจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผลสะละ ทำให้เปลือกเปราะแตก เนื้อด้านในผลเน่า และผลร่วงในที่สุด หากเส้นใยเชื้อราที่พบบนผลสะละเจริญเต็มที่จะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกเห็ดบานจะปลดปล่อยสปอร์แพร่กระจายระบาดไปสู่ผลสะละทะลายอื่นๆ และต้นอื่นได้

สำหรับแนวทางในการป้องกัน โรคผลเน่า ให้เกษตรกรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ปลิดผลที่เป็นโรคบนทะลาย เก็บซากพืช และผลที่ร่วงใต้ต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม

จากนั้น ให้ตัดแต่งทางใบแก่หมดสภาพที่อยู่ด้านล่าง และปรับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสะสมเชื้อโรค และลดความชื้นใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีมากเกินไป รวมทั้งตัดแต่งช่อผลสะละ เพื่อลดการเบียดกันจนทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายได้ง่าย เกษตรกรควรค้ำยันทะลายผลไม่ให้ติดดิน เพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคในดินเข้าสู่ผลสะละ

ส่วนในช่วง 10 สัปดาห์ หลังต้นสะละติดผลอ่อน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่าให้ต้นสะละเกิดอาการขาดน้ำ เพื่อป้องกันผลสะละแตกในขณะผลแก่จากเหตุได้รับน้ำฝนมากเกินไปในช่วงฝนตกชุก

หากพบการระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้ง ทุก 7 วัน และควรหยุดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 15 วัน

ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิด “พายุฤดูร้อน” ขึ้นในหลายพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสวนไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งน้ำท่วม ลมพายุ และภัยแล้ง ซึ่งควรหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า

กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นฤดูกาลที่มีปริมาณผลไม้เขตร้อนที่สำคัญหลากหลายชนิดออกเป็นจำนวนมาก จาก 2 ภูมิภาค ที่สำคัญ คือ ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลิ้นจี่ จึงขอให้เกษตรกรชาวสวนไม้ผล ระวังผลผลิตที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว มีอันต้องเสียหายไป นอกจากนี้ บางช่วงอากาศจะแห้งมาก เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ จึงขอให้ระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ไว้ด้วย

โดยในเบื้องต้น กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงและบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

1. เกษตรกรควรปลูกต้นไม้บังลม (Wind Break) เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้ ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงให้แก่สวนไม้ผลได้ดีมาก

2. เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบ หรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกัน ควรใช้เชือกโยงกิ่งและโยงต้นเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ช่วยพยุงและรับน้ำหนักผลบนกิ่งไม่ให้ร่วงหล่นหรือฉีกขาดง่าย รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงต้นไม้ไม่ให้โค่นลงได้ง่าย

3. เกษตรกรควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหายที่อาจได้รับผลกระทบจากลมพายุ กรณีผลไม้บางชนิดที่อ่อน ไม่สมบูรณ์ รูปทรงไม่ปกติ หรือมีขนาดเล็ก เช่น มะม่วง อาจเก็บไปจำหน่ายก่อนได้ เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง
สำหรับเกษตรกรสวนไม้ผลที่ประสบปัญหาจากพายุฤดูร้อนและปัญหาวาตภัย สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหักหรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้งและสามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ ไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวนขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย

กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวนไม้ผล เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่ม และควรให้ลึกถึงระดับดินเดิมเพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้ผลเอนลงเนื่องจากถูกลมพัดแรง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่นที่มั่นคงแข็งแรง พร้อมตัดแต่งกิ่งออก ประมาณ 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้นควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล

เมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้นและควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน

นอกจากปัญหาลมพายุและพายุฤดูร้อนแล้ว สมัครยูฟ่าเบท สวนไม้ผลยังมีความเสี่ยงกับปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งมักเกิดประมาณกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจทำให้ผลไม้ด้อยคุณภาพจนถึงต้นแห้งตายได้ ดังนั้น ชาวสวนไม้ผลต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วย

หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วัน ต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้ ซึ่งผลผลิตจะไม่ร่วงและผลสามารถพัฒนาคุณภาพได้อย่างสมบูรณ์ด้วย พร้อมติดตามข่าวและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างสม่ำเสมอ

ในระยะที่มีฝนตกปานกลางถึงหนักมาก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนลำไยเฝ้าสังเกตการเข้าทำลายของ หนอนเจาะขั้วผล สามารถพบได้ในระยะที่ต้นลำไยเริ่มติดผลอ่อน โดยจะพบหนอนเข้าทำลายลำไยที่เริ่มติดผล อายุประมาณ 1 เดือน จนถึงระยะเก็บเกี่ยว

ขณะที่ผลลำไยมีขนาดเล็ก น้ำหนักช่อน้อย ช่อผลลำไยชูขึ้น ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะวางไข่อยู่ส่วนปลายของผลลำไย หากหนอนฟักออกจากไข่ก็จะเจาะเข้าไปกัดกินอยู่ภายในผล และไม่สามารถเห็นรอยทำลายของหนอนจากการมองดูภายนอกได้ เมื่อผ่าผลลำไยดูจึงจะเห็นรอยที่ถูกหนอนเข้าทำลาย ผลที่ถูกทำลายจะไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ผลจึงร่วงหล่นหมด และจะพบหนอน 1-3 ตัว ต่อผล

การเข้าทำลายของหนอนในระยะที่ผลลำไยเริ่มเปลี่ยนสี มีขนาดผลโตขึ้น น้ำหนักผลเพิ่มขึ้น และช่อผลโค้งลง ผีเสื้อตัวเต็มวัยจะวางไข่อยู่บริเวณใกล้ขั้วผล และจะพบหนอนหรือมูลหนอนอยู่ที่ขั้วผลเสมอ ทำให้ผลลำไยร่วงหล่นได้ง่าย ให้สังเกตดูบริเวณใกล้ขั้วผล จะพบรูเล็กๆ ที่หนอนเจาะออกมาเข้าดักแด้ภายนอก กรณีที่ผลลำไยไม่ร่วงหล่น เกษตรกรชาวสวนลำไยยังสามารถนำมาขายได้ราคาดีอยู่ เพราะดูภายนอกจะไม่เห็นรอยทำลายของหนอน

สำหรับในสวนลำไยที่พบการระบาดของ หนอนเจาะขั้วผลลำไย ให้เกษตรกรเก็บรวบรวมผลลำไยที่ถูกหนอนเจาะขั้วผลเข้าทำลายที่ร่วงหล่นบริเวณโคนต้น และเก็บรวบรวมดักแด้ของหนอนเจาะขั้วผลบนใบที่สามารถเห็นได้ชัดเจน นำไปฝังหรือเผาทิ้งทำลายนอกสวน

หากพบการระบาดรุนแรงของหนอนเจาะขั้วผล เกษตรกรควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส/ไซเพอร์เมทริน 50% / 5% อีซี อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟิโพรนิล 5% เอสซี อัตรา 40 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร