วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น จ.แพร่ YSF ไทย ไม่แพ้

ใครในโลกหลังสวนมะม่วงประสบปัญหาหนัก กำนันบันเทิง ถิ่นฐาน จึงหันมาทดลองปลูกแก้วมังกร ด้วยความคิดว่า ดูแลง่าย ทนต่อสภาพอากาศ ใช้น้ำน้อย และไม่ค่อยมีโรค โดยเริ่มจากปลูก 200 ต้น ลงต้นแก้วมังกร 1 ต้น ต่อ 1 เสาปูน ปลูกระยะห่าง 2×3 เมตร ต่อมาพบว่าผลผลิตเติบโตได้ดี จึงขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรเป็น 14 ไร่ จำนวน 3,000 ต้น โดยส่วนใหญ่เป็นแก้วมังกรเนื้อสีแดง พันธุ์แดงสยาม

“การตัดแต่งกิ่งแก้วมังกรเป็นหัวใจหลัก ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการดูว่ากิ่งใดควรตัดทิ้ง เพื่อให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยจะเน้นการฟันจากด้านล่างย้อนขึ้นบน เพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ออกมาเรื่อยๆ หลังการตัดแต่งกิ่งและตัดหญ้ารอบๆ โคนต้นให้โล่งเตียน ก็จะใส่ปุ๋ยหมัก แล้วฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพในช่วงเตรียมออกดอก”

ด้วยระบบการปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ทำให้แก้วมังกรที่นี่มีรสชาติหวาน นิ่มละมุนลิ้น เปลือกบาง ตลาดให้การตอบรับเป็นอย่างดี ชาวบ้านจึงหันมาสนใจปลูกแก้วมังกรแบบอินทรีย์มากขึ้น จนเกิดการรวมกลุ่มเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น’ รวบรวมผลผลิตส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

การขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรของชุมชน ทำให้มีผลผลิตจำนวนมากซึ่งอาจส่งผลให้ราคาขายลดต่ำลง กำนันบันเทิง จึงคิดแปรรูปสินค้า จนเป็นที่มาของ ‘แก้วมังกรอบแห้ง’ จากตู้อบพลังงานความร้อนจากอินฟราเรด ในการแปรรูปผลสดจะใช้เฉพาะแก้วมังกรเนื้อสีแดงเท่านั้น เพราะเมื่ออบแห้งแล้ว เนื้อจะสวย นุ่ม มีรสหวาน กลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาด

ซึ่งการแปรรูปในแต่ละครั้งใช้เวลาในการไล่ความชื้นและเข้าตู้อบนานถึง 8 ชั่วโมง เลยทีเดียว จากแก้วมังกรผลสด 400 กิโลกรัม จะเหลือเนื้อเพียง 35 กิโลกรัม เท่านั้น จำหน่ายตามน้ำหนัก เริ่มที่ขนาด 50 กรัม ราคา 50 บาท แตกต่างจากการขายผลสด ที่จำหน่ายในราคา กิโลกรัมละ 10-14 บาท

ความสนใจด้านการเกษตรที่สืบทอดต่อกันมาทำให้ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้นอย่าง ฤชภูมิ ถิ่นฐาน บุตรชายคนโตของกำนันบันเทิง เข้าร่วมโครงการ Young Smart Farmer มีโอกาสได้แสดงความรู้ ความสามารถ จนได้รับการคัดเลือกไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรไทยกับต่างประเทศร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ ประเทศญี่ปุ่น

คุณฤชภูมิ จึงนำความรู้และมุมมองใหม่ๆ มาเป็นกำลังสำคัญในการเดินหน้าสร้างตลาดแก้วมังกร ทั้งทาง Online และ Offline ภายใต้แบรนด์ Bantin จนส่งผลให้ชุมชนบ้านถิ่นได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมไทลื้อของภาคเหนือตอนบน 2

ความสำเร็จที่น่าพึงพอใจเหล่านี้ เป็นแรงผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น เตรียมเดินหน้าสร้างโรงเรือนใหม่ เพื่อขอการรับรองมาตรฐานโรงเรือน และมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice) ให้สามารถเพิ่มพื้นที่ตลาดให้กับผลิตภัณฑ์มากขึ้น

แก้วมังกร พืชที่ปลูกง่าย สร้างรายได้ดี ลงทุนเพียงครั้งเดียว เก็บผลผลิตได้นานไม่ต่ำกว่า 15 ปี รู้อย่างนี้แล้ว ใครที่สนใจก็สามารถเดินทางไปศึกษาเทคนิคดีๆ เยี่ยมชมสวนแก้วมังกรของกำนันบันเทิงกันได้ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 081 951 0680 หรือ ติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการ YSF เพิ่มเติมที่

โรครากเน่าโคนเน่า เป็นปัญหาใหญ่ของชาวสวนทุเรียน โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน หรือสภาพอากาศชื้น เนื่องจากเมื่อต้นทุเรียนเป็นโรคนี้แล้ว หากไม่ได้รับการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ต้นทุเรียนทรุดโทรมถึงขั้นตายในที่สุด

นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า โรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนมีการระบาดมากที่สุดในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ลักษณะการระบาดไม่เต็มพื้นที่ เป็นเฉพาะบางต้นและมีโอกาสที่จะลุกลามไปยังต้นอื่นๆ ได้ภายในแปลง ถ้ามีการจัดการไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาพอากาศแปรปรวน ปริมาณน้ำฝนมาก ฝนตกต่อเนื่อง ความชื้นในอากาศสูง เกษตรกรจะต้องมีการจัดการที่ดี เพราะต้นทุเรียนที่ได้รับเชื้อจะอ่อนแอและจะตายในที่สุด หากพบต้นหรือกิ่งที่เป็นโรคต้องเผาทาลายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปยังพื้นที่อื่น

ส่วนใหญ่เกษตรกรจะนิยมใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่า แต่พบว่าการใช้สารเคมีไม่สามารถแก้ปัญหาโรคพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อีกทั้งยังส่งผลต่อต้นทุนการผลิต และเกิดความไม่ปลอดภัยต่อผลผลิตมีสารตกค้าง รวมถึงความไม่ปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย

ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคพืช อย่างเช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ที่เป็นเชื้อราชั้นสูงมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน เนื่องจากเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าสามารถช่วยทำลายเชื้อราไฟทอฟธอราซึ่งเป็นสาเหตุของโรครากเน่าโคนเน่าในดินให้มีปริมาณลดลง ช่วยให้รากที่มีอยู่เดิมหรือรากที่แตกใหม่ไม่ให้เชื้อราไฟทอฟธอราเข้าไปทำลายได้ เชื้อราไตรโคเดอร์ม่ายังมีส่วนช่วยให้พืชเกิดความต้านทานต่อเชื้อโรค ที่สำคัญเชื้อราไตรโคเดอร์ม่าเป็นสารชีวภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย

ตัวอย่าง การส่งเสริมการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ในพื้นที่อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากถึง 35,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 4,500 ราย ผลผลิตรวมไม่ต่ำกว่าปีละ 20,000 ตัน แต่หลายปีมานี้ชาวสวนทุเรียนต้องประสบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่ทำลายสวนทุเรียนอย่างหนัก กระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกร

กรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแซะ ได้ลงไปถ่ายทอดความรู้และให้คำแนะนำการผลิตและใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในสวนทุเรียน ซึ่งเกษตรกรได้มีการทดลองนำไปใช้จนเห็นเป็นที่พอใจ จากต้นทุเรียนที่เหี่ยวเฉาใกล้ตาย เมื่อใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าหว่านรอบโคนต้น และฉีดพ่น ได้ระยะหนึ่ง ต้นทุเรียนก็เริ่มฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ขณะที่ต้นทุนการผลิตเมื่อใช้สารชีวภัณฑ์จะลดลงกว่าการใช้สารเคมีครึ่งหนึ่ง

ด้านนางสำเนียง สุขเนาว์ เจ้าของแปลงต้นแบบการใช้เชื้อไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียน บ้านบางฝนตก หมู่ 18 ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จ.ชุมพร เล่าว่า ตนมีพื้นที่ปลูกทุเรียนอยู่ 15 ไร่ หลายปีก่อนประสบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าทำลายต้นทุเรียนเกือบทั้งหมด ตอนนั้นทำยังไงก็ไม่หายใช้สารเคมีก็ไม่เป็นผล เชื้อราไฟทอฟธอราทำลายต้นทุเรียนเป็นแผลตั้งแต่ข้างบนยอดลงมาถึงโคนต้น ใบเหี่ยวเฉา ลูกไม่สมบูรณ์ จนคิดว่าทุเรียนต้องตายหมดสวนแน่ๆ จึงคิดที่จะโค่นทุเรียนไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน

พอดีมาเจอกับเกษตรอำเภอท่าแซะ คุณสว่าง โกดี ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว เข้ามาแนะนำมาอบรมถ่ายทอดความรู้ ให้รู้จักเชื้อไตรโคเดอร์ม่า ว่าสามารถแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าได้

ตอนแรกลูกชาย นายอรุณวิชญ์ สุขเนาว์ ไม่เชื่อเลย แต่ตนคิดว่าไม่มีอะไรจะเสียแล้วก็เลยลองทำ โดยทั้งหว่านรอบโคนต้น ฉีดลำต้น ทรงพุ่ม ฉีดทุก 15 วัน พอผ่านไปประมาณ 6 เดือน สภาพต้นทุเรียนที่เหมือนจะตายเริ่มฟื้น เมื่อเห็นผลอย่างนั้นก็ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันกำจัดโรคในสวนทุเรียนมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันกว่า 4 ปีแล้ว และยังจะใช้ต่อไปไม่หยุด

นายอรุณวิทย์ กล่าวเสริมว่า สวนของตนมีทุเรียน 100 กว่าต้น เคยเก็บผลผลิตได้ปีละกว่า 30 ตัน พอเจอโรคเน่าโคนเน่าเข้าทำลายต้นทุเรียนเสียหายหนักมาก เพราะเชื้อไฟทอฟธอราเข้าไปทำลายระบบท่อน้ำเลี้ยงต้นทุเรียน ใส่ปุ๋ยเท่าไร ใช้สารเคมีหรือจะทำวิธีไหนก็ไม่ได้ผล ผลผลิตลดลง เหลือไม่ถึง 3 ตัน

แต่พอมาใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า ก็ค่อยๆ ฟื้นความสมบูรณ์ ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาเป็นปีละ 5 ตัน และเพิ่มขึ้นเรื่อยมา จนถึงตอนนี้สวนทุเรียนฟื้นกลับคืนสู่สภาพสมบูรณ์เต็มร้อย แต่ตนก็ยังคงผลิตและใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อมั่นว่าการใช้ชีวภัณฑ์ในการป้องกันโรคพืชได้ผลจริง ที่สำคัญปลอดภัย และมีความยั่งยืน

ปัจจุบันแปลงของป้าสำเนียงและนายอรุณวิทย์ สุขเนาว์ ถูกยกให้เป็นแปลงต้นแบบการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนที่ประสบความสำเร็จเห็นผลอย่างชัดเจน ซึ่งนำไปสู่การขยายผลการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่าอย่างกว้างขวางของพื้นที่จังหวัดชุมพร

หากกล่าวถึง จังหวัดสมุทรสงคราม สิ่งที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นวิถีชีวิตคนริมคลอง บรรยากาศสวนผลไม้ โดยเฉพาะสวนมะพร้าว ส้มโอ และลิ้นจี่ อีกมุมหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามคือ การเป็นเมืองปากอ่าว มีดอนหอยหลอด ที่เป็น Unseen Thailand จังหวัดนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นเมือง 3 น้ำ คือมีครบทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย และด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ก็แตกต่างกันไปด้วย

ในวันนี้จะขอเล่าถึงบรรยากาศของชุมชนชาวสวนมะพร้าวของจังหวัดสมุทรสงคราม หนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของจังหวัด จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด ประมาณ 67,749 ไร่ แบ่งมะพร้าวออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ มะพร้าวผลแก่ มะพร้าวผลอ่อน และมะพร้าวตาล ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอายุมากก็ยังสามารถทำได้ เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องบำรุงดูแลมาก และสามารถให้ผลผลิตได้ตามธรรมชาติ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวสวนมะพร้าวประสบกับปัญหาการระบาดของศัตรูพืช 2 ชนิด ที่สำคัญคือ แมลงดำหนาม และหนอนหัวดำ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ต้นมะพร้าว ไม่แค่เฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม แต่เกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน บรรยากาศสวนมะพร้าวที่เคยสวยงามถูกลบด้วยภาพมะพร้าวยืนต้นตาย

หากจะกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหานั้น หลายคนเลือกใช้สารเคมีเพื่อความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่เห็นทันตา แต่ด้วยสภาพร่องสวนมะพร้าวและค่าใช้จ่ายที่สูง เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามจึงไม่นิยมใช้วิธีนี้ และเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามไม่นิยมที่จะใช้สารเคมีทั้งในกระบวนการผลิต และกระบวนการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงต้องหาวิธีการอื่นเข้ามาทดแทน และต้องได้ผลดีด้วย

ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักกับ แมลงจิ๋วแต่แจ๋ว ที่สามารถสู้กับศัตรูตัวร้ายอย่างหนอนหัวดำได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นก็คือ แตนเบียนบราคอน

แตนเบียนบราคอน
ชื่อไทย : แตนเบียนบราคอน
ชื่อสามัญ : แตนเบียนบราคอน ฮีบิเตอร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bracon hebeter Say.
วงศ์ : Braconidae
อันดับ : Hymenoptera

การใช้แตนเบียนบราคอนกำจัดศัตรูพืชในสวนมะพร้าว เป็นการนำเอาศัตรูธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณเพื่อนำไปปล่อยในธรรมชาติ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากในปัจจุบันสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเกษตรถูกรบกวน เช่น การใช้สารเคมีของเกษตรกร การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติถูกทำลาย บางชนิดลดปริมาณลง บางชนิดอาจสูญพันธุ์ จึงต้องมีการผลิตขยายหรือเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติ เพื่อนำไปปลดปล่อยในธรรมชาติ ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นในธรรมชาติ สามารถควบคุมศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การกำจัดหนอนหัวดำโดยแตนเบียนบราคอน ทำได้โดยการปล่อยแตนเบียนบราคอนตัวเมียที่โตเต็มวัยในสวนมะพร้าวที่มีการระบาด ควรปล่อยในช่วงเช้าให้กระจายทั่วแปลง แตนเบียนบราคอนจะวางไข่ในหนอนหัวดำ โดยก่อนวางไข่แตนเบียนเพศเมียจะใช้เข็มแทงเข้าไปในตัวหนอน และปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้หนอนเป็นอัมพาตแล้วจึงวางไข่บนตัวหนอน

เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนจะดูดกินน้ำเลี้ยงในตัวหนอนจนทำให้หนอนตาย เมื่อครบอายุหนอนของแตนเบียนจะปล่อยตัวออกจากหนอนหัวดำมะพร้าวและถักรังเพื่อเข้าดักแด้ และออกเป็นแตนเบียนบราคอนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังสามารถทำลายหนอนได้อีกหลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อข้าวสาร หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะยอดมะเขือ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีชาวบ้านที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมกัน (ข้อมูลจาก : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี)

กระบวนการผลิตแตนเบียนบราคอน มีขั้นตอนดังนี้ การผลิตขยายหนอนผีเสื้อข้าวสาร
1. วัสดุและอุปกรณ์
1.1 รำละเอียด 5 ส่วน
1.2 ปลายข้าวสาร 1 ส่วน
1.3 กล่องพลาสติกใสทรงกลม เกรด A สูง 10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 24 เซนติเมตร เจาะช่องระบายอากาศเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร จำนวน 4 ช่อง บุด้วยลวดตาข่าย 60 ไมครอน
1.4 ไข่ผีเสื้อข้าวสาร
1.5 ถังพลาสติก และฝาปิด พร้อมสายรัด ขนาด 120 ลิตร
2. ขั้นตอนการเลี้ยง
2.1 ผสมรำละเอียดและปลายข้าวสาร อัตราส่วน 5 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน
2.2 เตรียมอะลูมิเนียมฟอสไฟด์ห่อกระดาษ จำนวน 2 ห่อ ห่อละ 4 เม็ด แล้วนำเชือกมามัด
2.3 นำรำและปลายข้าวที่ผสมแล้วใส่ในถังอบ 1/3 ของถัง ใส่ห่ออะลูมิเนียมฟอสไฟด์ในถัง 1 ห่อ เติมรำและปลายข้าว จำนวน 2/3 ของถัง ใส่ห่ออะลูมิเนียมฟอสไฟด์ จำนวน 1 ห่อ จากนั้นเติมรำและปลายข้าวจนเต็มถัง ปิดฝา ใช้สายรัด นาน 7 วัน
2.4 นำห่ออะลูมิเนียมฟอสไฟด์ ทั้ง 2 ห่อ ออกจากถัง ปล่อยให้ระเหิดอีก 7 วัน
2.5 ตักใส่กล่องเลี้ยง น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม
2.6 โรยไข่ผีเสื้อข้าวสาร น้ำหนัก 0.20 กรัม ต่อกล่อง (ประมาณ 1/4 ของช้อนกาแฟ)
2.7 ปิดฝากล่อง วางบนชั้นวาง ไม่โดนแสงแดดและป้องกันมดได้
2.8 เลี้ยงประมาณ 40 วัน จะได้หนอนผีเสื้อข้าวสารวัย 5 จึงนำมาใช้เลี้ยงแตนเบียนบราคอน
2.9 แบ่งหนอนบางส่วน เลี้ยงต่อไปอีก 10 วัน จะได้ตัวเต็มวัย เพื่อใช้เป็นผีเสื้อพ่อ-แม่พันธุ์
2.10 เก็บตัวเต็มวัยใส่ถุงตาข่าย
2.11 เก็บไข่ตอนเช้า จำนวน 2 วัน เพื่อใช้สำหรับขยายพันธุ์ต่อไป จึงนำพ่อแม่ผีเสื้อออกปล่อยสู่ธรรมชาติ

การขยายแตนเบียนบราคอน
1. วัสดุและอุปกรณ์
1.1 พ่อ-แม่พันธุ์แตนเบียนบราคอน
1.2 หลอดดูดแตน
1.3 ก้านพันสำลี กรรไกร
1.4 น้ำผึ้ง คัดเลือกน้ำผึ้งที่มีคุณภาพ
1.5 ถ้วยพลาสติกใสพร้อมฝาปิด ตัวถ้วย PP ฝา PET กว้าง 7 เซนติเมตร สูง 5 เซนติเมตร (กล่องปล่อยแตน)
1.6 เข็มสำหรับเจาะ
1.7 หนอนผีเสื้อข้าวสาร
2. ขั้นตอนการขยายแตนเบียนบราคอน
2.1 เจาะที่ฝาของกล่องปล่อยแตนเบียนบราคอน จำนวน 30 รู
2.2 ตัดก้านพันสำลี นำสำลีที่ได้ชุบน้ำผึ้งในปริมาณที่เหมาะสม คนให้ทั่วไม่ชุ่มเกินไปจนเยิ้ม
2.3 คัดแยกหนอนผีเสื้อข้าวสารที่โตเต็มที่ (วัย 5) ไม่ให้มีรำและปลายข้าวติดมาใส่ในกล่องปล่อย จากนั้นใส่สำลีที่ชุบน้ำผึ้ง 1 อัน
2.4 ใช้หลอดดูดแตนเบียนบราคอนพ่อ แม่พันธุ์ (นำพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จากที่อื่นมาผสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง) ประมาณ 4 ตัว ในกล่องปล่อย รีบปิดฝา วางบนชั้นวางป้องกันมด
2.5 หลังจากนั้น 3 วัน เพื่อให้แตนวางไข่ที่ตัวหนอน (สำรวจว่าหนอนตายหรือไม่ ถ้าไม่ตายให้ใส่แตนเบียนบราคอนในกล่องลงไปใหม่) ถ้าหนอนตายแล้ว ดูดพ่อแม่พันธุ์บราคอนในกล่อง นำไปใส่ในกล่องปล่อยอื่นที่ใส่หนอนไว้แล้ว เพื่อประหยัดพ่อแม่พันธุ์บราคอน

ข้อดีของการใช้แตนเบียนบราคอน

การนำแมลงศัตรูธรรมชาติมากำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นการลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาระบบนิเวศในธรรมชาติ โดยแตนเบียนบราคอนเมื่อปล่อยสู่พื้นที่ที่หนอนหัวดำมะพร้าวระบาด แตนเบียนบราคอนจะเข้าทำลายหนอนหัวดำด้วยวิธีการเบียน และแตนเบียนสามารถขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติ

ซึ่งแตนเบียน จำนวน 200 ตัว สามารถควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวได้ จำนวน 1 ไร่ และต้องปล่อยอย่างต่อเนื่องทุก 15 วัน โดยจะต้องปล่อยในช่วงเวลาเช้า ทิศทางตามลม และเฉียงกับแสงแดด ซึ่งการใช้แตนเบียนกำจัดหนอนหัวดำมีต้นทุนที่ต่ำ ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต และผู้สูงอายุในพื้นที่สามารถดำเนินการเองได้

เกษตรกรได้รวมกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ ร่วมกันผลิตแตนเบียนบราคอนเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ โดยใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลนางตะเคียน เป็นศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชของชุมชนตำบลนางตะเคียน ชุมชนสามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร นำไปสู่ความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

เกษตรกรยังสามารถพัฒนาวิธีการเลี้ยงทำให้แตนเบียนบราคอนมีอัตราการรอดสูง ร้อยละ 100 โดยกลุ่มจะใช้น้ำผึ้งคุณภาพดีในการเลี้ยง ทำให้แตนเบียนมีความแข็งแรง มีการนำพ่อแม่พันธุ์จากที่อื่นมาผสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับแตนเบียนบราคอน และมีการคัดเลือกหนอนที่มีความสมบูรณ์ใส่ในกล่องในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป

ต่อมาทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล มีความมุ่งมั่นในการผลิตมะพร้าวโดยไม่ใช้สารเคมี จึงนำเทคโนโลยีการผลิตแตนเบียนบราคอน และผลิตสารชีวภัณฑ์อื่นๆ มาใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และศัตรูพืชอื่นๆ

กลุ่มสามารถผลิตมะพร้าวที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำให้มูลค่าสินค้าของกลุ่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะพร้าวอ่อน น้ำตาลมะพร้าว วุ้นมะพร้าว เป็นต้น สามารถขยายตลาดการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดอินทรีย์ ส่งผลให้รายได้ของสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเกิดแรงบันดาลใจในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เกิดความยั่งยืน

เกษตรกรรายอื่นเห็นการดำเนินกิจกรรมของสมาชิกกลุ่มฯ เป็นรูปธรรมจึงเกิดแนวคิดในการปฏิบัติตาม ทำให้สามารถขยายสวนมะพร้าวอินทรีย์ในชุมชน และทางกลุ่มได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจแนววิถีเกษตรอินทรีย์ เป็นการเพิ่มช่องทางตลาดและรายได้ให้กับสมาชิกต่อไป

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมวิถีคนทำตาล ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล ได้จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสถึงวิถีชีวิตของคนทำตาล กิจกรรม “สัมผัส” ที่จะพาคุณเข้าไปในโลกใบสีน้ำตาลของชุมชนเรา ได้เรียนรู้กระบวนการทำน้ำตาลตามแบบวิธีการดั้งเดิม

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในสวนจนได้ออกมาเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ที่นิยมนำไปทำอาหารทั้งคาวหวาน ด้วยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หวานหอมตามธรรมชาติ โดยใช้เตาเก่าอายุกว่า 30 ปี ในการเคี่ยว

กิจกรรมนี้ยังนำคุณเข้ามา “สัมผัส” กับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเราด้วย ทั้งอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ ทรรศนะและการปรับตัวของชุมชนเมื่อความเจริญไหลเข้ามา ในขณะที่คนในชุมชนกลับไหลสวนทางออกไป เริ่มละทิ้งอาชีพละทิ้งสวนและภูมิปัญญา ให้อยู่เบื้องหลังกับผู้สูงอายุในชุมชน “ความสัมพันธ์ที่เราไม่รู้ว่าสัมพันธ์”

ระหว่างการเลือกซื้อน้ำตาลแท้บริโภคกับการคงอยู่ของอาชีพ อาจมองเห็นไม่ชัดหากเราเพียงมองหาแค่ “วัตถุดิบ” ในการทำอาหาร เราจึงอยากชวนคุณมา “สัมผัส” พูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อร่วมกันค้นพบความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่เรากลับต่างมองไม่เห็นซึ่งกันและกัน

โดยเปิดรับนักท่องเที่ยว กลุ่มละไม่เกิน 25 ท่าน เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับทางกลุ่มตลอดทั้งวัน ซึ่งมีกิจกรรม ดังนี้
09.00-09.30 น. เริ่มลงทะเบียน
09.30-10.00 น. ทำความรู้จักมะพร้าวเบื้องต้น
10.00-10.45 น. ชมสาธิตการขึ้นตาลและเก็บน้ำตาลใส
10.45-12.30 น. เคี่ยวตาลจากเตาแบบโบราณ พร้อมทำของเชื่อมแบบวิถีชาวบ้าน ในเมนู “ลอยน้ำตาล”
12.30-13.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.30-14.30 น. สาธิตการเลี้ยงและปล่อยแตนเบียน
14.30-15.30 น. เรียนรู้และช่วยกันทำ “ขนมจาก”
15.30-16.00 น. สรุปกิจกรรมและเดินทางกลับ

โดยมีค่าใช้จ่าย ผู้ใหญ่ 800 บาท/ท่าน เด็ก 400 บาท/ท่าน *เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่มีค่าใช้จ่าย ท่านที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “เพียรหยดตาล” หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม โทร. (034) 711-711

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล จึงเป็นตัวอย่างที่คนในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับผลประโยชน์ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ทุกคนในชุมชนรู้สึกหวงแหนในทรัพยากรและวิถีชีวิตของตนเอง อยากที่จะอนุรักษ์ไว้ให้นานสืบไป เกิดการผสมผสานทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

เมืองไถจง เมืองใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของไต้หวัน ตั้งอยู่ในภาคตะวันตกของเกาะไต้หวัน เมืองไถจงเปรียบเสมือนหัวใจของไต้หวัน เพราะเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมโยงระหว่างเหนือและใต้ของเกาะไต้หวัน อากาศอบอุ่นตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 23 องศาเซลเซียส สภาพภูมิอากาศเหมาะสมกับการทำการเกษตรกรรม ซึ่งเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ พันธุ์พืชดีๆ จึงมีอยู่ที่เมืองนี้หลายพันธุ์ ผลไม้และพืชผักที่ปลูกได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี และได้การโหวตจากประชาชนว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมที่สุดในการใช้ชีวิต

มะม่วงไถจง 1 หรือ ไถจงเบอร์ 1 (Taichung 1 : 台中一號芒果) ได้ชื่อมาจากเมืองไถจง ตั้งชื่อเพื่อให้เป็นเกียรติกับเมืองเหมือนกับพันธุ์พืชอื่นๆ ที่ตั้งชื่อตามชื่อเมือง เช่น มะม่วงเกาสง 3 และ 4, มะม่วงไถหนง 1 เป็นต้น

มะม่วงไถจง 1 เป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ล่าสุดของไต้หวันที่อยู่ภายใต้การควบคุมจากหน่วยงานของรัฐ กำหนดให้ปลูกอยู่ในไต้หวัน ยังไม่ให้ออกนอกไต้หวัน มะม่วงไถจง 1 เป็นพันธุ์มะม่วงที่พ่อค้ากิ่งพันธุ์มะม่วงและชาวสวนมะม่วงของไทยหลายคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอคอยด้วยความหวังและมีความต้องการอยากได้อย่างมากพันธุ์หนึ่ง เนื่องจากมันเป็นมะม่วงที่มีคุณสมบัติที่ดีหลายอย่างเทียบเท่ามะม่วงพันธุ์ดีของไทยบางพันธุ์ แม้ว่ามะม่วงไถจง 1 ได้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แต่ก็ยังไม่มีการเปิดตัวในไทย ต่างจากมะม่วงพันธุ์อื่นของไต้หวันที่เปิดตัวได้ยังไม่ถึงปีก็สามารถเข้ามาเปิดตัวในประเทศเราได้อย่างเปิดเผยในระยะเวลาอันสั้น

มะม่วงไถจง 1 ยังติดเรื่องสิทธิบัตรและกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งยังการกำหนดพื้นที่ปลูกภายในประเทศ ไต้หวันมีจุดประสงค์จะให้ปลูกมะม่วงไถจง 1 ไว้เฉพาะที่ไต้หวันเท่านั้น ไม่อยากให้มะม่วงพันธุ์ดีต้องหลุดลอดออกไปนอกประเทศก่อนถึงเวลาอันสมควร ปัจจุบัน การปิดกั้นหรือเรื่องสิทธิบัตรคงปิดกั้นกันได้ไม่นานในยุคโซเชียลมีเดียที่มีการขายของออนไลน์กันอย่างสะดวกรวดเร็วและทำได้ง่ายดายมาก ถ้าหลุดลอดออกมาได้กิ่งเดียวมันสามารถขยายออกไปได้เป็นจำนวนมาก มะม่วงไต้หวันบางพันธุ์ที่เข้ามาเพื่อป้องกันการฟ้องร้องสิทธิบัตรที่อาจจะติดตามมาพ่อค้ากิ่งมะม่วงของไทยหรือเจ้าของสวนมะม่วงของไทยบางคน จึงเปลี่ยนชื่อกันใหม่หรือไม่ก็อวดอ้างว่าเป็นการผสมพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเองก็มี

มะม่วงไถจง 1 ได้ชื่อว่าเป็นมะม่วงที่มีความหวานมากที่สุดของไต้หวัน ความหวานของมะม่วงไถจง 1 อยู่ระหว่าง 19-23 องศาบริกซ์ ซึ่งพอๆ กับมะม่วงน้ำตาลเตาของไทย ที่อยู่ระหว่าง 22-24 องศาบริกซ์ มะม่วงน้ำตาลเตา มะม่วงดีเด่นประจำจังหวัดนนทบุรี มะม่วงน้ำตาลเตามีรสชาติอร่อย มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำตาลปี๊บใหม่ๆ เนื้อแน่น ละเอียด ไม่เละ เป็นมะม่วงที่หารับประทานยาก ปลูกกันเป็นจำนวนน้อย มะม่วงน้ำตาลเตาอาจจะยังไม่เป็นที่คุ้นเคยหูกันไปอีกนาน ถ้าไม่มีคนชื่อ เสน่ห์ ลมสถิตย์ หรือ ลุงเล็ก ยอดนักสะสมพันธุ์มะม่วงระดับต้นๆ ของไทยไม่นำออกมาสู่วงการตลาดขายกิ่งพันธุ์ผลไม้ มันคงลึกลับไปอีกนานก็ได้

มะม่วงน้ำตาลเตา เป็นพันธุ์ที่คนโบราณหวงแหน มักไม่ยอมแจกจ่ายกิ่งพันธุ์ให้ใครง่ายๆ มักปลูกไว้เพื่อรับประทานกันเองไม่กี่ต้น เนื่องจากเป็นมะม่วงที่มีรสชาติดีมากจึงหวงกัน มะม่วงน้ำตาลเตาจึงไม่ได้เผยแพร่กระจายออกไปมาก นอกจากจะเอาผลไปเป็นของฝากให้ญาติพี่น้องเท่านั้น

ประวัติความเป็นมามะม่วงน้ำตาลเตานั้น สมัครยูฟ่าเบท เล่ากันว่า นายเผื่อน พันธุ์ไพศาล ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำนานของมะม่วงน้ำตาลเตาที่น่าเชื่อถือได้ เป็นผู้ปลูกมะม่วงน้ำตาลเตาไว้ นายเผื่อนได้ต้นมะม่วงน้ำตาลเตามาจากไหนไม่มีใครทราบ แกปลูกอยู่ที่สวนบางกรวย เชิงสะพานพระราม 6 จังหวัดนนทบุรี ปลูกมาเป็นเวลานาน

ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2500 พื้นที่ดังกล่าวถูกทางการเวนคืนเพื่อจะสร้างเป็นโรงจักรผลิตกระแสไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ทำให้นายเผื่อนต้องย้ายครอบครัวไปอยู่ที่บางใหญ่ โดย นายสายัณต์ ลูกชายของนายเผื่อนบอกว่า พ่อหวงพันธุ์มาก นายสายัณต์ย้ายมาอยู่บางใหญ่เอากิ่งพันธุ์น้ำตาลเตามาด้วยและไม่ได้แจกจ่ายพันธุ์ให้ใคร ส่วนต้นแม่ที่สวนบางกรวยถูกโค่นทิ้งไป

เมื่อประมาณ 10 กว่าปี วันหนึ่งนายสายัณต์มาหาลุงเล็กที่แผงค้าตลาดสวนจตุจักร ได้เอาผลมะม่วงน้ำตาลเตาให้ลุงเล็กชิม 1 ชิ้น ปรากฏว่ามีรสชาติดี หอม หวาน อร่อยมาก ถูกใจลุงเล็ก ลุงเล็กจึงอยากได้ ขณะเดียวกันเมื่อนายสายัณต์ได้ชิมชมพู่เพชรบ้านแพ้วของลุงเล็กก็ติดใจ (ตอนนั้นลุงเล็กยังไม่ได้ขายกิ่งมะม่วง) นายสายัณต์ก็อยากได้ไปปลูก จึงตกลงแลกกันคนละกิ่งมะม่วงกับชมพู่กัน มะม่วงน้ำตาลเตาแลกกับชมพู่เพชรบ้านแพ้ว หลังจากนั้นทั้งสองก็ไปมาหาสู่สนิทสนมกันขึ้น และนายสายัณต์อยากให้ลุงเล็กไปทาบกิ่งมะม่วงน้ำตาลเตาต้นที่บางใหญ่ ลุงเล็กได้ไปเสียบยอดให้ 2 ปี เข้าออกหมู่บ้านที่บางใหญ่นับครั้งไม่ถ้วน

ต่อมาต้นมะม่วงน้ำตาลเตาของนายสายัณต์ที่หมู่บ้านกฤษดานคร บางใหญ่ กิ่งได้ยื่นออกไปนอกรั้วบ้านมาก นายสายัณต์จึงคิดจะจ้างคนมาตัดออก พอลุงเล็กทราบข่าวจึงรับอาสาจะจัดการกิ่งที่ยื่นออกไปให้ ลุงเล็กได้ทาบกิ่งและตัดแต่งกิ่งให้ ลุงเล็กได้ทำนั่งร้านเพื่อทาบกิ่งขนาดใหญ่ ได้ 100 กว่ากิ่ง ดังนั้น มะม่วงน้ำตาลเตาจึงถูกเปิดเผยตัวโดยลุงเล็ก

นับเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี ที่สภาเกษตรของสถานีปรับปรุงการเกษตรเมืองไถจง (ขออภัยหากแปลไม่ถูก : Council of Agriculture Taichung District Agricultural Improvement Station) ได้ปรับปรุงมะม่วงจนได้มะม่วงพันธุ์ใหม่ ชื่อว่า “ไถจง 1” นายเฉิน หมง ซ่ง ผู้ช่วยนักวิจัยของสถานีวิจัยกล่าวว่า ในปี พ.ศ. 2542 หลังจากมะม่วงจินหวงผลแก่แล้วจึงคัดเลือกผลที่มีลักษณะดีมาจากสวนหนานซี (nanxi) ที่เมืองไถหนาน และนำเมล็ดมาเพาะ โดยร่วมมือกับ รองศาสตราจารย์เสี่ย ฉิ่ง ชาง อาจารย์คณะพืชสวนมหาวิทยาลัยจงซิง เมล็ดที่สมบูรณ์ แข็งแรง ปลูกในแปลงและปล่อยให้ผสมเกสรกันเองแบบเปิด คัดเลือกต้นที่ให้ผลผลิตดี รสชาติดี ต้นพ่อนั้นไม่ทราบว่าเป็นพันธุ์อะไร ส่วนต้นแม่เป็นพันธุ์จินหวง การคัดเลือกพันธุ์กว่าจะได้มะม่วงที่มีลักษณะหลายๆ ด้านเป็นมะม่วงไถจง 1 ต้องใช้เวลารอคอยถึง 15 ปี