ว่างจากงานประจำ มาผลิตบอนไซคุณโตโน่ เล่าให้ฟังว่า

สมัยก่อนนั้นมีโอกาสศึกษาในเรื่องของการทำบอนไซจากหลายพื้นที่ เพราะตัวเขาเองเป็นคนที่ชอบถ่ายคลิปและนำมาลงในสื่อโซเชียลต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยจะเน้นเป็นการปลูกบอนไซเสียเป็นส่วนใหญ่ เมื่อได้เห็นได้สัมผัส เกิดความชอบและหลงใหล ทำให้เขาได้มองเห็นถึงอาชีพเสริมที่น่าจะสร้างรายได้นอกเหนือจากงานประจำ

“งานหลักผมเลยก็จะเป็นนักเขียนโปรแกรม แต่ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบศิลปะการทำบอนไซ ผมก็เลยได้ไปถ่ายทำและนำมาลงช่องยูทูบของผมอยู่เรื่อยๆ จากที่เราได้เห็น ความชอบมันก็เลยเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ และมองว่าไม่ควรที่จะมีรายได้ทางเดียว ผมก็เลยหันมาฝึกทำบอนไซด้วยอีกทาง เลยทำให้เกิดรายได้ทั้งจากงานประจำ และรายได้จากการเป็นยูทูบเบอร์ โดยช่วงแรกผมจะทำเป็นบอนไซมะพร้าวก่อน แต่เรื่องตลาดมันยังไม่ค่อยตอบโจทย์มากนัก ผมก็เลยหันมาทำเป็นบอนไซทั่วไป เลือกเป็นขนาดกลางที่ใช้เวลาไม่นานมาก และสามารถจำหน่ายได้ง่าย”

โดยไม้ที่นำมาทำบอนไซทั้งหมด คุณโตโน่ บอกเทคนิคว่า ประเภทของไม้ที่นำมาดูแล บางต้นต้องใช้ระยะเวลานานในการผลิต เพราะไม้ที่นำมาทำบอนไซถือว่าต้องผ่านกาลเวลามาพอสมควร ดังนั้น เขาก็จะมีการหาซื้อไม้บางตัวมาต่อยอดและผลิตในแบบของเขาเอง จึงทำให้ร่นระยะเวลาการผลิตลงไปได้ และสามารถจำหน่ายได้ราคาด้วยเช่นกัน

การผลิตบอนไซขนาดกลางในแบบที่ตลาดต้องการนั้น คุณโตโน่ บอกว่า ช่วงแรกๆ จะหาซื้อไม้ชนิดต่างๆ มาทำเองแบบไม่ได้มีเกณฑ์ตายตัว แต่เมื่อจับทางในขั้นตอนการผลิตได้ ก็จะมีการหาซื้อไม้จากแหล่งต่างๆ เข้ามาทำการผลิตให้เป็นบอนไซในแบบของเขา เพราะในเชิงการทำตลาดจะมีเกษตรกรท่านอื่นๆ ผลิตไม้เบื้องต้นที่ขึ้นฟอร์มให้แล้ว จากนั้นก็จะซื้อมาแล้วเลี้ยงต่อไปด้วยการตัดแต่ง และดูแลในแบบเฉพาะของเขาเอง

โดยการจัดวางบอนไซจะใช้พื้นที่รอบบ้าน มีพื้นที่ว่างตรงไหนวางตรงนั้น จะใช้ทุกสัดส่วนให้เกิดประโยชน์มากที่สุด จึงทำให้รอบบริเวณบ้านเต็มไปด้วยบอนไซ เมื่อใครผ่านไปผ่านมาเห็นก็จะเข้ามาสอบถามไม่ขาดสาย หากต้องการซื้อก็จะจำหน่ายทันที

“จากที่ผมศึกษามาในเรื่องของการทำบอนไซ ผมก็จะต้องคัดตั้งแต่ การทำราก การทำกิ่ง เพราะในท้องตลาดบางที เขาก็จะเอามาวางขาย พอเราเห็นไม้ชนิดนั้นๆ มีทรงที่ดีแล้ว ถูกใจในแบบของเรา จะซื้อเข้ามาในสวนเลย พอได้ไม้มาเราก็จะเช็กอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่สภาพต้น การปลูกลงในดินที่ผ่านมา ถ้าเห็นสภาพไม่ดี ก็จะมาเปลี่ยนวัสดุปลูกเป็นในแบบของเรา วัสดุปลูกประกอบไปด้วยหินผสมดินใบก้ามปูหมัก มะพร้าวสับ และดินทุกอย่างในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 พร้อมกับใส่ปุ๋ยละลายช้าสูตรเสมอ 16-16-16 ลงไปด้วยทุก 3-4 เดือนครั้ง”

การดูแลไม้ในช่วงนี้ คุณโตโน่ บอกว่า เมื่อปลูกดูแลไปเรื่อยๆ จะต้องหมั่นตกแต่งกิ่งอยู่เป็นระยะ เพื่อให้เป็นบอนไซในแบบที่เขาต้องการ พร้อมทั้งสร้างรายละเอียดของทรงไม้อยู่เสมอ ซึ่งบางต้นใช้เวลามากกว่า 1 ปี หรือมากสุดเลยไปถึง 3 ปีก็มี เขาจะดูแลอยู่เช่นนี้ไปเรื่อยๆ จึงทำให้มีบอนไซออกจำหน่ายตลอดทั้งปี ส่วนในเรื่องของการป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืชนั้น ไม้แต่ละชนิดที่จะมีการเข้าทำลายที่แตกต่างกันไป หากเป็นแมลงหลักๆ ที่พบจะเป็นพวกเพลี้ยแป้งและหนอนต่างๆ การป้องกันคือฉีดพ่นยากำจัดเมื่อเห็นมีการเข้าทำลาย

ทำตลาดออนไลน์ และซื้อมาขายไป

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายบอนไซ คุณโตโน่ เล่าว่า จากการที่เขาได้มีการถ่ายทำรายการลงสื่อออนไลน์อยู่เสมอ จึงทำให้เขาเองเป็นที่รู้จักของลูกเพจ และลูกค้าท่านอื่นๆ ได้เป็นวงกว้าง เมื่อบอนไซในสวนของเขายังไม่ได้ขนาดที่จะจำหน่ายได้ เขาก็จะมีการซื้อมาขายไปช่วยทำการตลาดด้วย เพราะการได้เข้าไปเรียนรู้จากสวนต่างๆ นี้เอง จึงทำให้ค่อนข้างรู้จักเกษตรกรท่านอื่นๆ พอสมควร จากนั้นเมื่อลูกค้าต้องการบอนไซแบบไหน หากสวนเขาไม่มีในแบบที่ลูกค้าต้องการก็ติดต่อสวนอื่นส่งจำหน่ายได้ทันที

โดยการจำหน่ายทั้งหมดสื่อโซเชียลมีเดียถือว่าสำคัญมาก เพราะลูกค้าไม่ว่าอยู่ที่จังหวัดไหน ก็สามารถสั่งซื้อบอนไซจากเขาได้ตลอดเวลา ราคาบอนไซที่จำหน่ายสูงสุดภายในสวนอยู่ที่หลักหมื่นบาท และราคาที่ถูกลงมาจะอยู่ที่หลักพันบาท ซึ่งราคาที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอายุของไม้ที่นำมาทำบอนไซ รูปทรงและความสวยงามอื่นๆ ที่เป็นส่วนประกอบ

“บอนไซสำหรับผมตอนนี้ ถือว่าเป็นงานที่สร้างเงินพอตัว ผมสามารถทำสิ่งที่รักไปพร้อมงานประจำได้ และพอเรามาทำรายการลงยูทูบด้วย มันเป็นการสร้างตัวตนของเรา ทำให้เวลาจำหน่ายลูกค้าก็เชื่อใจ ตอนนี้อาจเรียกได้ว่างานเสริมเหล่านี้ ทำรายได้มากกว่าอาชีพหลักให้ผมเสียด้วยซ้ำ ฝากถึงคนที่สนใจ หากต้องการมาทำบอนไซ ก็อยากให้เรียนรู้การทำไม้เบื้องต้นก่อน เพราะบอนไซมีการผลิตที่มีขั้นตอนการทำอยู่ จากนั้นเราก็ต่อยอดการทำไปเรื่อยๆ ก็จะช่วยให้เกิดรายได้เลี้ยงตัวเองได้แน่นอน”

หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำบอนไซ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ คุณวันวิสา เทพตาแสง หรือ คุณโตโน่ อยู่บ้านเลขที่ 225/15 หมู่ที่ 5 บ้านนัชชา ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี หรือหมายเลขโทรศัพท์ 080-006-5811

ครั้นจะไม่พูดถึงเสียเลย ก็คงจะเป็นของที่มันคาอก คาใจไปนานเชียวหละ พืชผักที่เป็นยาสมุนไพรไทย มีเยอะแยะมากมาย จนเวลานี้แยกไม่ออกบอกไม่ถูกตามไม่ทัน ว่าอันไหนของไทยบ้านเรา อันไหนเอาเข้ามาจากถิ่นอื่น ผักหลายชนิดเคยพบเห็น เคยกินมาตั้งแต่เด็กๆ จนปลายคนแล้ว ยังค้างคาใจอยู่ว่า เป็นผักของไทยเราหรือของต่างชาติ เราต้องยอมรับกันว่า “ไม่แน่ใจ” เพราะไม่แน่ใจว่า คนบ้านเราเขารู้จักกันมาตั้งแต่เมื่อใด 50 ปี 100 ปี 200 ปี หรือนานมามากกว่านั้น ไม่รู้หละครับ พืชผักชนิดไหนเคยรู้จักกันมานาน ก็ถือว่าเป็นผักที่มีต้นกำเนิดในบ้านเรา ยกเว้นจะมีใครแอบไปจดลิขสิทธิ์หรือขึ้นทะเบียนเป็นพืชของบ้านเขาเองแล้ว ก็แล้วไป ที่ผ่านมามีเยอะเลย

“สะระแหน่” (Pepper Mint) เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีหลายชื่อเรียกหลายสายพันธุ์ แต่ก็รวมกันอยู่ในวงศ์ (Family) หรือตระกูลเดียวกัน คือ LAMIACEAE ในสกุล (Genus) Melissa คนไทยในแต่ละภาค เรียกต่างกันบ้าง แต่ชื่อว่า “สะระแหน่” คล้ายเป็นชื่อกลางที่รู้จักกันทั่วไป เช่น ทางเหนือเรียก หอมด่วน, หอมเดือน อีสานเรียก ขะแหยะ, ขะแยะ ใต้เรียก สะแหน่, บักเงาะ อีกหลายที่เรียก แมงลักน้ำ, สะระแหน่ต้น, ต้นน้ำมันหม่อง, ทางจีนก็มี เรียก แซบ่อห่อ, กอยโซว, กิมปุกห่วง ซึ่งสะระแหน่มีหลายสายพันธุ์ แตกต่างกันที่ลักษณะใบ สีสันต้น แยกเป็นสะระแหน่ฝรั่ง สะระแหน่ญวน สะระแหน่สวน และสะระแหน่ไทย ประกอบกับพืชในตระกูลเดียวกันนี้ยังมีที่รู้จักกันแพร่หลายมากคือ “มิ้นต์” (Mint) ลักษณะใกล้เคียงกันมาก จะต่างกันที่ใบ ขน กลิ่น และรส

เขาว่าถิ่นกำเนิดสะระแหน่อยู่ที่ทวีปยุโรป แพร่ขยายไปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ เอเชีย และมีทั่วไปในถิ่นต่างๆ ต้นสะระแหน่มีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่ขึ้นอยู่ มีการผสมข้ามสายพันธุ์กัน เป็นหลากหลายสายพันธุ์ แม้แต่ที่พบในไทย สะระแหน่ในแต่ละภาคที่มีสภาพภูมิศาสตร์ต่างกัน ลักษณะใบ ขน ต้น สี ต่างกัน ใบหยัก ใบกลม ใบรี ใบมีขน ต้นสูง ต้นเตี้ย ต้นเลื้อย ต้นสีขาว สีดำแดง สีม่วงดำ สีเขียวอ่อน มีหลายชนิดเลยทีเดียว เชื่อกันว่าสะระแหน่มีในไทยมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่มีฝรั่งชาวอิตาเลียนนำเข้ามา คนไทยไม่รู้จะเรียกว่าผักอะไร เลยเรียกตามชื่อฝรั่งอิตาเลียน ที่มีชื่อว่า “สะระนี” ออกสำเนียงเรียกแบบไทยๆ ที่จริงฝรั่งนั้นคงชื่อ ซันนี่ ซานนี่ หรือแซนรานี่ หรือซาร่านี่ ละกระมัง

ประโยชน์ของสะระแหน่มีมากมายหลายอย่าง สะระแหน่ฝรั่ง ต้นใบอวบใหญ่ สูงยาว เป็นลูกผสมสะระแหน่ไทย กับต้นมิ้นต์ เขาใช้ปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ขนม เครื่องดื่ม สะระแหน่ญวน ต้นสูงยาว กิ่งก้านใบเยอะ ต้นมีขนอ่อนคลุมทั่วไป ใบสีเขียวสด กว้าง รี มีกลิ่นคล้ายตะไคร้แกง นิยมกินเป็นผักสด คู่กับอาหารคาว ขนมจีนญวน คล้ายต้นแมงลัก และมาถึงสะระแหน่ไทย เป็นไม้ล้มลุก พร้อมเลื้อย ระบบรากฝอยสั้นๆ ต้นยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ต้นมีทั้งสีเขียว ขาว แดงอมม่วง แตกกอง่าย แตกกิ่งแขนงมาก ใบสีเขียวอ่อน หรือเขียวสว่าง รูปกลมรี ผิวใบย่นเป็นคลื่น ขอบใบหยัก ปลายใบมีทั้งมนและแหลม ดอกไม่ค่อยพบเห็นมากนัก แต่รู้ว่ามี มีสีชมพูอมม่วง ออกเป็นช่อเหนือซอกใบส่วนปลายยอด มีผล มีเมล็ดสีดำ แต่เนื่องจากดอกสะระแหน่เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ คือไม่มีเกสรตัวเมีย จึงไม่ค่อยมีผล และเมล็ด ที่พบลูกผสม แสดงว่าบังเอิญมากกว่า

สะระแหน่ส่วนที่ใช้ประโยชน์เป็นอาหารคือ ใบและยอดอ่อน ใน 1 ขีด หรือ 100 กรัม ให้พลังงาน 47 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 6.8 กรัม โปรตีน 3.7 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม แคลเซียม 40 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 7 มิลลิกรัม เหล็ก 4.8 มิลลิกรัม วิตามีนเอ 16,585 IU. วิตามีนบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม วิตามีนบีสอง 0.29 มิลลิกรัม วิตามีนบีสาม 0.7 มิลลิกรัม วิตามีนซี 88.0 มิลลิกรัม รวมทั้งมีสารอาหารที่หายาก น้ำมันหอมระเหย สารออกฤทธิ์ที่มีสรรพคุณเป็นยาดี มีประโยชน์สูง อีกนับไม่ถ้วน

สะระแหน่ไทยมีรสเย็น เผ็ด กลิ่นหอมเฉพาะตัว นิยมนำมาเป็นผักสด กินคู่กับอาหารเผ็ด คาว เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดวัว ลาบควายดิบ ลาบปลาทับทิม ลาบเห็ดปลวก (เห็ดโคน) ก้อยหอยเชอรี่ ยำปลาหมึก ยำหมูยอ ยำเห็ด ยำปลาทู ยำตับหวาน ยำหมูน้ำตก ยำปลากระป๋อง ยำหอยนางรม ยำหอยแครง ยำวุ้นเส้นไข่ต้ม พล่ากุ้ง พล่าเนื้อ ตำกุ้งฝอย กุ้งแช่น้ำปลา ตำมะเขือยาว ต้มยำไก่บ้าน ไก่คั่วลุยสวน ปรุงแต่งสีสัน กลิ่น รส อาหารหวานคาว ขนม ไอศกรีม เค้ก เหล้าสะระแหน่ โมจิโต้มะนาวสะระแหน่ สลัดลาว เปาะเปี๊ยะสด แหนมเนือง กินแกล้มกับอาหารอีกหลายชนิด เพิ่มสีสัน กลิ่น รส เสริมความอร่อยได้มากมาย

คุณสมบัติเป็นสมุนไพร
ที่ให้สรรพคุณเป็นยา
แบบที่เรียกได้ว่า เป็นยาครอบจักรวาล ก็ไม่น่าจะผิดนัก สะระแหน่เป็นยาเย็น รสชาติเผ็ดร้อน ใช้ทั้งภายนอกและภายในได้ดี ขยี้ใบดมแก้หวัดคัดจมูก แก้ปวดศีรษะ แก้เป็นลมวิงเวียน แก้พิษแมลงกัดต่อย ฆ่าเชื้อโรค แก้ฟกช้ำ ปวดบวม แก้ผดผื่นคัน กินสะระแน่จะช่วยเสริมระบบทางเดินอาหาร ช่วยย่อยอาหาร ช่วยให้เจริญอาหาร ขับลมในกระเพาะลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการเกร็งในกระเพาะลำไส้ เกร็งกล้ามเนื้อ ลดอาการจุกเสียด แก้ซางชักเด็ก ลดอาการหืดหอบ แก้ปวดท้อง ปวดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาปกติ รักษาอาการตกขาว หรือโรคมุตกิดระดูขาว มีการพัฒนาให้เกิดประโยชน์ทางอุตสาหกรรม น้ำมันหอมระเหย เครื่องสำอาง ยาสีฟัน สกัดยารักษาโรค น้ำยาป้องกันฆ่าเชื้อโรค ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

“วสันตฤดู” นั่นคือ “ฤดูใบไม้ผลิ” ที่เป็นฤดูกาลต่อมาจาก “เหมันตฤดู” คือฤดูหนาว วสันตฤดูไม่ใช่ฤดูฝนแบบที่เข้าใจกันมา เป็นช่วงบรรยากาศที่สะระแหน่เจริญงอกงามดีที่สุด สะระแหน่ไม่ชอบสภาพอากาศที่หนาวเย็นจัดเช่นฤดูหนาว ไม่ชอบความชื้นแฉะเช่นฤดูฝน แต่เราสามารถปลูกเพาะกล้าขยายให้เจริญเติบโตได้ทุกฤดู แปลว่าเรามีสะระแหน่ไว้กินตลอดปี โดยเราต้องทำการควบคุม หรือจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม แก้ไขอากาศเย็นและชื้นแฉะ โดยปลูกเลี้ยงในเรือนโดมกระโจมพลาสติกใส มีหลังคากันฝน รอบกระโจมมีทางระบายน้ำ การให้น้ำควรมีการตรวจวัดความชื้นให้อยู่ในระดับที่พอดี มีแสงแดดส่อง ระบายความร้อนได้ พึงจำไว้นะว่า สะระแหน่ชอบที่มีความชื้น แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ไม่ชอบอุณหภูมิที่หนาวจัด และถ้าอบอ้าวด้วยร้อนจัด ก็ไม่รอดเหมือนกัน ขยายพันธุ์ง่าย แพร่เจริญเติบโตเร็ว ไม่ค่อยมีศัตรูพืชรบกวน ยกเว้นหน้าแล้งและหน้าฝน เพลี้ยอ่อน ด้วงหมัด มดแดง จะมีระบาดมากหน่อย แต่ไม่น่ากลัว และที่สำคัญมีประสบการณ์มามาก ห้ามใช้ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ห้ามเลยเด็ดขาด ให้ปุ๊บตายปั๊บ อย่าหาทำ

สะระแหน่ไทยเป็นไม้ที่มีต้นแตกกอและเลื้อยตามผิวดิน มีลำต้นใต้ดิน เรียกว่าไหล จะงอกชอนไชหน้าดินระดับตื้นๆ โผล่ผิวดินตรงไหนจะออกรากและต้นยอดใบใหม่ ลักษณะการเจริญเติบโตเช่นนี้ จึงทำให้มีใครบางคนคิดนำเอามาเป็นไม้ประดับ ไม้กระถางแขวน ซึ่งให้คุณค่าและราคาเพิ่มขึ้น งดงาม เจริญตาเจริญใจ ให้เป็นกระเช้าของขวัญ เป็นกระเช้ามีชีวิต มีคุณค่าดีต่อใจทั้งผู้ให้และผู้รับ ทำกระถางแขวนสะระแหน่ด้วยกระถางดินเผา หรือตะกร้า หรือขวดน้ำเจาะรูรอบ ปลูกสะระแหน่วิธีนี้ ทำไว้วันนี้ อีกไม่กี่วันจะงดงามเป็นของขวัญปีใหม่กันได้ ชื่นใจจัง

ชมพู่ เป็นผลไม้ที่มีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ รสชาติเปรี้ยวฝาดบ้างหวานบ้าง แต่ชมพู่โดยทั่วไปจะไม่หวานมากและฉ่ำน้ำ แต่อร่อยไปอีกแบบ แต่ปัจจุบันการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งของไม้ผลชนิดนี้ โดยเฉพาะไต้หวัน ที่มีการพัฒนาพันธุ์ให้มีสีเข้มและแดงชมพู ยังมีรสชาติหวาน กรอบ ฉ่ำน้ำอีกด้วย ดังเช่น ชมพู่อี้เหวินดำและแดง คำว่า อี้เหวินดำ จะไม่ดำมาก แต่จะมีสีที่คล้ำคล้ายเปลือกมังคุด ถ้าให้แก่จัดและถูกแดดมากๆ จากอี้เหวินแดงที่ออกแดงชมพู ยิ่งถ้าถูกแสงแดดมากก็จะทำให้สีจัด แต่ถ้าห่อมากสีก็จะซีดขาวชมพูจางๆ

ที่ สวนสุวรรณีปรางทอง ของ อาจารย์วิเชียร บุญเกิด ปราชญ์พื้นบ้านที่นำพันธุ์พืชไม้ผลหลายอย่างมาต่อยอดให้ได้ผลผลิตสูง ที่สร้างรายได้แก่อาจารย์เป็นสวนผสมที่มีรายได้หมุนเวียนทั้งปี อาจารย์ในวัย 77 ปี ที่อายุเป็นเพียงตัวเลข วัยที่ไม่หยุดยั้งในการต่อยอดพันธุ์ไม้ผล ให้ลูกค้าได้รับประทานผลไม้ที่มีคุณภาพและปลอดภัย โดยใช้ธรรมชาติในการกำจัดวัชพืชและแมลง เช่น ถ้าผลไม้อันไหนเปราะบาง ก็ห่อผล หรือปล่อยให้แมลงตามธรรมชาติกัดกินบ้าง เพราะปลูกไว้หลากหลาย และผลิตผลไม้ตามฤดูกาลก็จะมีการรบกวนจากแมลงต่างๆ น้อย ถ้าผลิตนอกฤดู ข้อเสียก็อาจจะมีแมลงรบกวนได้

ชมพู่ เป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมปลูกมาช้านาน ทั้งปลูกเพื่อเก็บผลรับประทานในครัวเรือน และเก็บผลขายได้ดีอีกชนิดคือ ชมพู่อี้เหวินดำและแดงและเขียว ในที่นี้จะกล่าวถึงชมพู่อี้เหวินดำและแดง มีการพัฒนาพันธุ์จากไต้หวัน มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ผลใหญ่มาก นํ้าหนักเฉลี่ยได้ถึง 400 กรัม (ต้องห่อผลช่อละ 1 ผล) หากปลูกเพื่อเก็บผลขาย นํ้าหนักผลควรอยู่ระหว่าง 200-300 กรัม (ห่อผล 2-3 ผล ต่อช่อ) สีผลขณะยังอ่อนเป็นสีชมพู (ถ้าห่อผลไว้จะสีขาวอมชมพู)

เมื่อผลแก่จัดขั้วผลจะเป็นสีขาว และผลเป็นสีชมพูอมแดง รสชาติหวาน จึงทำให้ชมพู่อี้เหวินดำไต้หวัน กำลังได้รับความนิยมปลูก แต่ยังมีอยู่ไม่มากในเวลานี้ ทุกผลไม่มีเมล็ด ติดผลทั้งปี ให้ผลผลิตสูงช่วงฤดูหนาวจนถึงปลายเมษายน

ที่สวนไม้ผลสวนผสม สุวรรณีปรางทอง โดย อาจารย์วิเชียร บุญเกิด นั้น มีของดีหลายอย่าง เช่น มะนาวแป้นดกพิเศษกำแพงเพชร จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นในปี พ.ศ. 2554 มะยงชิดสายพันธุ์เจ้าจอม มะขามป้อมยักษ์อินเดีย ละมุดยักษ์ลูกผสม หิมาลายันมัลเบอร์รี่ ลำไยขาวพวงใบเตย และไม้ผลเกรดดี อื่นๆ อีกหลายอย่าง ตอนนี้ที่มาแรงและกำลังให้ผลผลิตคือ “ชมพู่อิ้เหวินดำและอี้เหวินแดง” เป็นชมพู่สายพันธุ์ที่ให้ลูกใหญ่ ขายได้ราคาดี และไม่พอขาย

อาจารย์วิเชียร ดูแข็งแรง สุขภาพดี คงเป็นเพราะการทำสวนไม้ผลเป็นสวนผสม อยู่กับต้นหมากรากไม้ ได้อากาศดี อาหารดี หลีกเลี่ยงการใช้เคมี หรือใช้น้อยที่สุด นอกจากการประสบความสำเร็จจากการทำสวนผสม โดยปลูกชมพู่อี้เหวินดำและแดงแซมต้นไม้อื่นๆ เฉลี่ยก็ใช้พื้นที่เกือบ 1 ไร่ ปลูกได้ 40 ต้น กำลังขยายปลูกเพิ่มอีก 20 ต้น ปลูกต้นชมพู่อี้เหวินดำ อี้เหวินแดง และ อี้เหวินเขียว ในที่นี้จะขอพูดถึงเรื่องชมพู่อี้เหวินดำ และแดง ถึงแม้จะปลูกพืชหลักใหญ่มะยงชิดและมะนาวแป้นดกพิเศษกำแพงเพชรแล้วนั้น ยังไม่ละความพยายามที่จะนำชมพู่อี้เหวินดำและแดงมาทดลองปลูกจนประสบความสำเร็จ ขายผลชมพู่ส่งตรงจากสวนก็กิโลละ 80 บาท ได้ผลผลิตมากมาย

ต้นชมพู่นั้นโดยเฉพาะสายพันธุ์จากไต้หวัน ที่สามารถปลูกได้ทุกภาค เพราะมีคนมาซื้อต้นพันธุ์จากสวนไปปลูกแล้ว เช่น แถบอีสาน ทั้งที่บางพื้นที่ปลูกนั้นแห้งแล้ง แต่ให้น้ำสม่ำเสมอไม่ต้องมากปรากฏว่าให้ผลดกเช่นกัน และให้ความหวานมาก

ชมพู่เป็นไม้ผลที่นิยมปลูกกันมาก เพราะปลูกง่าย โตเร็ว รสชาติหวาน กรอบ มีวิตามินซีสูง จัดเป็นไม้ผลเมืองร้อน มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย แต่ไต้หวัน ได้นำสายพันธุ์เหล่านี้ไปพัฒนาพันธุ์ให้มีลูกใหญ่ยักษ์สีเข้มจัด เนื้อจะหวาน กรอบ เปลือกจะไม่ติดฝาด

ลักษณะลำต้นของ ชมพู่อี้เหวินดำและแดง
มีลำต้นค่อนข้างสูงประมาณ 15-20 เมตร ลำต้นขรุขระไม่ตรง แตกกิ่งก้านสาขามาก สีน้ำตาลคล้ำ ใบค่อนข้างใหญ่เรียวยาวเป็นมัน ดอกสีขาวเป็นแบบชนิดดอกสมบูรณ์เพศ ดอกใหญ่มีกลิ่นหอมเล็กน้อย ผล มีลักษณะคล้ายระฆังคว่ำ ก้นจะแหลม ชมพู่อี้เหวินดำ มีลักษณะเด่นคือผลใหญ่ เนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด สีแดงเข้มคล้ายเปลือกมังคุด ผิวมันเป็นประกาย รสชาติหวาน เนื้อแน่น ไม่มีเมล็ด การขนส่งชมพู่นั้น ข้อควรระวังผิวบางต้องห่อโฟมกันกระแทกเพื่อป้องกันผิวชมพู่เสียดสีกัน ส่วนอี้เหวินแดงนั้น สีแดงอมชมพู สวยงาม

เมื่อต้นชมพู่มีอายุได้ 2-3 ปี จะเริ่มออกดอก billspayroll.com และเมื่อติดผลมีขนาดเท่าหัวแม่มือ หากในช่อมีลูกชมพู่ติดกันเป็นจำนวนมากให้ปลิดทิ้งเหลือลูกที่สมบูรณ์ที่สุดไว้ เมื่อผลมีอายุประมาณ 2 เดือน ก็ให้ใช้ถุงพลาสติกห่อผลที่สมบูรณ์ไว้ ช่อละ 3 ผล เพื่อป้องกันแมลงรบกวน โดยแต่ละช่อไม่ควรเกิน 3 ผล เพราะจะทำให้ขนาดของผลเล็กลง หลังห่อไว้ประมาณ 20-25 วัน สามารถเก็บผลผลิตได้ การห่อก็ใช้วัสดุห่อเป็นตาข่ายจะดีมาก เพราะจะทำให้สีจะไม่ซีดเหมือนวัสดุห่อแบบทึบแสง

โดยสายพันธุ์นี้ธรรมชาติจะผลใหญ่มาก แต่ต้องการบริหารจัดการเรื่องการบังคับไม่ให้ดกมากจะทำให้ลูกเล็กถึงแม้รสชาติจะไม่เปลี่ยน ซึ่งโดยสายพันธุ์แล้วถือว่าใหญ่ยักษ์ แต่ถ้าให้ดกมากเกินไปจะทำให้เสียสายพันธุ์ และป้องกันไม่ให้เกิดการแย่งน้ำของผลชมพู่ในกรณีที่พื้นที่มีน้ำน้อย

อาจารย์วิเชียร ยังเผยถึงเคล็ดลับในการดูแลชมพู่ให้มีสีสด ลูกใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ เป็นที่ต้องการของตลาดด้วยว่า ต้องเอาใจใส่ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นปลูก หมั่นรดน้ำ ใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยชีวภาพอย่างสม่ำเสมอ หากพื้นที่ที่แห้งแล้งให้ใช้วิธีสูบน้ำบาดาลขึ้นมาพัก หรือกักเก็บไว้ในบ่อให้เพียงพอ แต่ทางแถบภาคอีสานหลายพื้นที่ที่ปลูกชมพู่ในเขตแล้งปรากฏว่าให้ผลผลิตได้ดีเช่นกัน

วิธีปลูก และดูแล
การปลูกชมพู่นั้นไม่ยาก ในกรณีที่เป็นที่ดอนอย่างสวนผม ไม่ต้องยกร่อง เพียงแต่ปลูกห่างกัน เริ่มแรกแค่ 4 เมตร ก็พอเพื่อกันลมพายุ ถ้าติดกันมากตอนพุ่มโตก็ใช้วิธีตัดแต่งกิ่ง ที่สวนใช้ต้นพันธุ์เสียบยอดจากต้นตอชมพู่พื้นเมืองเพราะหากินง่าย ทนแล้ง และทนต่อโรค การปลูกก็ขุดหลุมกว้าง 1 เมตร ลึก 50 เซนติเมตร ก็พอ จะเน้นปลูกไม่ลึก เพราะอาหารของพืชเราจะใช้ปุ๋ยคอกบำรุงและฮอร์โมนต่างๆ ซึ่งอยู่หน้าดินเสียส่วนใหญ่ ใส่ปุ๋ยคอก หรือมูลสัตว์ที่หาได้จากท้องถิ่น แล้วนำต้นชมพู่ลงปลูก ระยะเริ่มปลูกใหม่ควรให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าต้นชมพู่จะตั้งตัวได้ แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่แห้งแล้งประกอบกับชมพู่เป็นไม้ผลที่ต้องการน้ำสม่ำเสมอ ที่สวนอาจารย์วิเชียร จึงใช้วิธีขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วติดตั้งปั๊มสูบขึ้นมาพักไว้ในบ่อดิน แล้วเดินท่อติดตั้งระบบสปริงเกลอร์ในสวนชมพู่ ทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงสวนชมพู่ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ต้องขุดร่องก็ได้