ศัตรูสำคัญของผักสวนครัวคือ หนอนกินใบ กับหนอนชอนใบ

ป้องกันกำจัดด้วยน้ำยาฉุนผสมเหล้าขาว ตามที่ผมเคยแนะนำไว้ก่อนแล้ว เมื่อพบแมลงเข้าทำลายให้ฉีดทุกๆ 3 วัน จนครบ 3-4 ครั้ง การระบาดจะหมดไป ถ้าต้องการให้ต้นไม้งามมากขึ้น ละลายปุ๋ยยูเรียในน้ำเจือจาง รดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือ 2-3 ครั้ง จะได้ผักสวนครัวสดใสสวยงามสมดังตั้งใจครับ

นางสุวรรณา จิวัฒนไพบูลย์ ผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีสุพรรณบุรี (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เปิดเผยว่า สุพรรณบุรีเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปี จะมีข้าวใหม่ให้ได้รับประทานกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด คือ แห้วอินทรีย์ ที่หลายคนอาจจะยังไม่เคยได้เห็นและไม่เคยได้รับประทาน เพราะส่วนใหญ่ปลูกกันแบบใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่ง นายสามารถ หนูทอง เกษตรกรบ้านวังพลับใต้ ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ เป็นผู้ที่ปลูกแห้วอินทรีย์รายหนึ่งในจำนวนกว่าสิบราย

“ตอนนี้แห้วดังกล่าว สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว ดังนั้นทางบริษัทประชารัฐฯ และกลุ่มเกษตรกร จะเชิญนายนิมิต วันไชยธนวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี มาเป็นประธาน เปิดงานงมแห้วอินทรีย์ใน วันที่ 13 ธันวาคมนี้ ที่แปลงแห้วของ นายสามารถ” นางสุวรรณาว่า ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วม เกี่ยว งม ชม ชิม ช็อป ข้าวใหม่ที่หอมนุ่มและแห้วอินทรีย์ ในช่วงเช้าของวันดังกล่าว ที่บ้านวังพลับใต้ ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์

นางสุวรรณา กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันถือว่าการเพาะปลูกแห้วใน ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นแหล่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะที่ อ.ศรีประจันต์ ปลูกมากสุดที่ ต.วังยาง เกือบ 3,000 ไร่ รองลงมา ต.มดแดง 2,000 ไร่ และมีพื้นที่ใกล้เคียงที่ปลูกกันอีกบ้างคือ อ.เมือง และ อ. สามชุก รวมเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 5,000 ไร่ มูลค่าผลผลิตนับร้อยล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ใน ต.วังยาง ผลิตหัวพันธุ์แห้วเอง และมีการแลกเปลี่ยนหัวพันธุ์แห้วภายในชุมชน จากเดิมในยุคแรกมีการสั่งซื้อหัวพันธุ์แห้วจากประเทศจีน โดยทำเกษตรหมุนเวียนคือ การใช้พื้นที่นาปลูกพืชหมุนเวียนเปลี่ยนกันแบบไม่ซ้ำตามฤดูกาล เช่น ทำนาข้าว นาแห้วจีน นาเผือก และแปลงมันเทศ

คุณชัยวุฒิ สังข์สน หัวหน้ากองส่งเสริมและพัฒนายาง การยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า บทบาทและหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือให้กับเกษตรกร ทั้งในรูปแบบการให้ความช่วยเหลือแบบงบให้เปล่าและรูปแบบของการให้กู้ยืมตามพระราชบัญญัติ เพื่อช่วยส่งเสริมให้การผลิตยางของเกษตรกรไทยมีคุณภาพมากขึ้น เป็นการพัฒนาผลผลิตคุณภาพ โดยเกษตรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย สามารถนำเงินงบประมาณช่วยเหลือในส่วนนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้

ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดบึงกาฬยังมีการช่วยเหลือในเรื่องของการโค่นสวนยางพาราเก่า ปลูกต้นยางพาราใหม่ โดยทำการจัดหาสารปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมทั้งจัดหาต้นพันธุ์ยางพาราที่ถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปให้กับเกษตรกร เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิตให้มากขึ้น

“นอกจากในเรื่องของการช่วยเหลือลดต้นทุนการผลิตในด้านต่างๆ แล้ว ในปี 2562 กยท.ยังมีโครงการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของการใช้ปุ๋ยสั่งตัดให้กับสมาชิกที่มีพื้นที่ปลูกยางพาราใหม่ ซึ่งปุ๋ยสั่งตัดจะช่วยให้เกษตรกรได้นำปุ๋ยไปใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ ตามค่าวิเคราะห์ดินของสวนยางเกษตรกรเอง ก็จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงตามไปด้วย โดยเกษตรกรบางรายเริ่มมีการพัฒนาจากที่เคยขายยางก้อนถ้วย ก็มีการปรับเปลี่ยนมาขายน้ำยางสดที่สามารถหาค่า DRC (Dry Rubber content) ได้อย่างแม่นยำ ทำให้การผลิตน้ำยางมีคุณภาพและขายน้ำยางได้ราคาที่ดีตามมาตรฐานที่วัดออกมา ซึ่งการขายน้ำยางก้อนถ้วยยังไม่สามารถหาคุณภาพของค่า DRC ได้ จึงไม่มีเกณฑ์มาตรฐาน ทำให้ราคาจึงไม่สูงเท่ากับการขายเป็นน้ำยางสด ดังนั้น การผลิตยางพาราของเกษตรกร ถ้าจะทำให้มีผลกำไร จึงไม่ควรผลิตเป็นวัตถุดิบขายเพียงอย่างเดียว ต้องมีการนำมาแปรรูปและรวมกลุ่มมากขึ้น ก็จะทำให้การทำสวนยางพาราเป็นอาชีพที่ยั่งยืนต่อไป” คุณชัยวุฒิ กล่าว

คุณนันท์ สุภะสอน อยู่บ้านเลขที่ 241 หมู่ที่ 9 ตำบลเหล่าทอง อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เป็นเกษตรกรที่ปลูกสวนยางพาราโดยใช้ปุ๋ยสั่งตัดจากการนำดินภายในสวนไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน ทำให้สามารถใช้ปุ๋ยตรงตามที่พืชต้องการ ส่งผลให้น้ำยางพารามีคุณภาพ ผลิตขายเป็นน้ำยางสดได้ราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย

คุณนันท์ เล่าให้ฟังว่า ได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและปอมาทำสวนยางพารา เพราะพืชไร่เหล่านั้นมีผลผลิตให้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จึงทำให้มองถึงโอกาสในการทำสวนยางพาราเป็นอาชีพเสริมในปี 2546 แต่เมื่อทำมาเรื่อยๆ ผลตอบแทนที่ได้ในสมัยนั้นดีกว่าการทำพืชไร่ จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำสวนยาพาราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอาชีพหลักมาถึงปัจจุบัน

“พื้นที่ทำสวนยางพาราของผมทั้งหมดมีอยู่ 12 ไร่ โดยที่เริ่มทำในช่วงแรก ยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการวิเคราะห์ค่าดินของสวนมากนัก ก็ใส่ปุ๋ยไปในแบบที่เราเข้าใจเอง พร้อมกับนำปุ๋ยคอกที่ได้จากการเลี้ยงสัตว์มาใส่ลงไปบำรุงบ้าง ต่อมาพอมีการรวมกลุ่มเป็นการปลูกยางพาราแปลงใหญ่ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในกลุ่ม จึงมีการคิดใหม่ทำใหม่ในเรื่องของการผลิต ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น” คุณนันท์ เล่าถึงที่มา

โดยต้นยางพาราที่ปลูกภายในสวน คุณนันท์ บอกว่า ระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 3×7 เมตร ดูแลใส่ปุ๋ยไปจนได้อายุ 6 ปี ต้นยางพาราจะเจริญเติบโตจนสมบูรณ์สามารถกรีดได้ ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่มีการใส่ใจในเรื่องของค่าดินมากนัก เพราะดินภายในสวนยางยังมีความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาเมื่อได้เป็นสมาชิกกลุ่มปลูกยางพาราแปลงใหญ่ ทางกลุ่มได้มีแบบแผนการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น ให้มีการดำเนินการนำดินภายในสวนไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ดินในระดับความลึกที่ 15 เซนติเมตรส่งตรวจ ก็จะได้ค่าออกมาว่าดินภายในสวนมีธาตุตัวไหนมากเกินไป ธาตุตัวไหนน้อยเกินไป ก็จะทำปุ๋ยสั่งตัดที่เหมาะสมกับพื้นที่มาใส่ให้กับต้นยางพารา

เมื่อใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินและนำน้ำยางสดส่งไปตรวจหาค่า DRC (Dry Rubber content) จากเดิมค่า DRC อยู่ที่ 27-28 เปอร์เซ็นต์ เมื่อมีการจัดการที่ดีตามแผนของกลุ่มปลูกยางพาราแปลงใหญ่ ค่า DRC เพิ่มขึ้นมาจากเดิมอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่นั้นมาเขาก็ดูแลและใส่ปุ๋ยแบบสั่งตัดตามค่าวิเคราะห์ดินที่เหมาะสมกับสวนยางมาจนถึงทุกวันนี้

ซึ่งการดูแลสวนยางพารา คุณนันท์ บอกว่า ภายในสวนจะไม่มีการนำยาฆ่าหญ้ามาฉีดพ่นภายในสวน แต่จะเน้นใช้วิธีตัดให้โคนต้นไม่รกมากจนเกินไป ส่วนใบจากต้นยางที่ร่วงลงมาบนพื้นดินก็จะปล่อยให้ย่อยสลายเองตามธรรมชาติทับถมเกิดเป็นปุ๋ยต่อไป

“ผมใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง ในช่วงต้นปีและกลางปี ในพื้นที่สวนยาง 12 ไร่ ใส่ปุ๋ยอยู่ 10 กระสอบ ก็ทำให้ค่า DRC ปัจจุบันอยู่ที่ 38 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้ ทำให้น้ำยางสดที่เก็บขายออกจากสวนทุกวัน ราคาอยู่ที่ 32 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งบางช่วงสามารถขายได้ถึง 38 บาท ต่อกิโลกรัมก็มี ต่อวันสวนผมจะเก็บน้ำยางสดทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลกรัม รายได้เมื่อหักกับต้นทุนการผลิตต่อเดือนแล้ว ก็ยังถือว่ามีกำไร ซึ่งการขายน้ำยางสดแบบนี้ ราคาที่ได้ก็จะได้ตามมาตรฐานของน้ำยาง ซึ่งสมัยก่อนเคยขายแบบยางก้อนถ้วยไม่สามารถวัดค่า DRC ได้ เลยหันมาดำเนินการทำแบบขายน้ำยางสดเป็นหลัก” คุณนันท์ บอก

ทั้งนี้ คุณนันท์ เสริมว่า จากการขายน้ำยางแต่ละวันและมีการใช้แรงงานจากครอบครัว ทำให้ต้นทุนการผลิตไม่ได้สูงมาก พอมีรายได้จากการทำสวนยางพาราเป็นค่าใช้จ่ายประจำวันและเหลือเก็บไว้ให้กับลูกหลานในอนาคตข้างได้อีกด้วย

“เงาะพันธุ์โรงเรียน” ถือเป็น “สินค้าเด่น-ดัง ” ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เงาะพันธุ์โรงเรียนได้ถือกำเนิดที่อำเภอบ้านนาสาร ตั้งแต่เมื่อ 88 ปีที่แล้ว โดยนายเค หว่อง ชาวจีนสัญชาติมาเลเซีย ได้นำเมล็ดพันธุ์เงาะจากปีนัง มาปลูก ต่อมาที่ดินดังกล่าวได้ถูกกระทรวงธรรมการในขณะนั้น (กระทรวงศึกษาธิการ) ซื้อไว้และนำมาปรับปรุงเป็นโรงเรียนนาสาร ทำให้ต้นเงาะที่ นายเค วอง ปลูกไว้ได้ชื่อว่า “เงาะพันธุ์โรงเรียน” ตามไปด้วย

กล่าวได้ว่า เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในโลก ลักษณะผลเมื่อแก่จัด เปลือกเป็นสีแดงสวย แต่ที่ปลายขนยังมีสีเขียว ผลสุกมีรสชาติหวาน หอม เนื้อกรอบล่อนจากเมล็ดและเปลือกบาง ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศนิยมปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

โดยทั่วไปเงาะพันธุ์โรงเรียนจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีมักจัดงานเทศกาลเงาะโรงเรียนนาสารเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูเงาะ บริเวณริมคลองฉวาง ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร

ถึงแม้ผู้เขียนเดินทางมาถึงสุราษฎร์ธานีไม่ตรงกับจังหวะการจัดงานเทศกาลเงาะโรงเรียน แต่มีโอกาสเยี่ยมชมสวนเงาะพันธุ์โรงเรียนที่บ้านนาสารเป็นครั้งแรก การเดินทางจากจังหวัด สุราษฎร์ธานีลงไปทางทิศใต้ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 4009 (นาสาร – สุราษฎร์) มีเส้นทางคมนาคมที่สะดวกสบาย ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงจุดหมายปลายทาง

คุณสมาน แซ่ชั้น และภรรยา เจ้าของสวนเงาะพันธุ์โรงเรียน ให้การต้อนรับผู้เขียน และ คุณทวีป อรรถพรพงษ์ เกษตรอำเภอบ้านนาสาร พร้อมทีมงานอย่างอบอุ่นและเป็นกันเอง สวนแห่งนี้ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 57 หมู่ที่ 6 ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี

คุณสมาน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เตี่ยนั่งเรือมาจากเมืองจีน เริ่มต้นบุกเบิกทำสวนยางที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่เมื่อ 60-70 ปีก่อน เมื่อคุณสมานเติบใหญ่ก็ยึดอาชีพทำสวน ปลูกยางพารา และเงาะมาตลอด สำหรับสวนแห่งนี้มีเนื้อที่ 14 ไร่ ปลูกเงาะโรงเรียนอายุ 11 ปี ปลูกแซมด้วยต้นลองกองอยู่ในแปลงเดียวกัน

คุณสมาน หาซื้อกิ่งพันธุ์เงาะโรงเรียนจากตลาดในท้องถิ่น ในราคาต้นละ 13 บาท ขุดหลุมลึก 50 เซนติเมตร และใช้ปุ๋ยร็อกฟอสเฟต สูตร 0-3-0 ต้นละครึ่งกิโลกรัม ผสมกับปุ๋ยหมัก ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก ในระยะ 8×10 เมตร เนื่องจากปลูกในระยะประชิด เมื่อต้นเงาะอายุ 10 ปี จึงต้องตัดสางออกบางส่วน เพื่อให้ต้นเงาะที่เหลือเจริญเติบโตได้ในอนาคต เมื่อขยายพื้นที่ปลูกเงาะในระยะหลัง คุณสมานหันมาปลูกต้นเงาะในระยะ 10×10 เมตร แทน เพื่อให้สะดวกต่อการดูแลและการจัดการผลผลิตในอนาคต

ระยะก่อนให้ผลผลิต ควรใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อต้น ทุกๆ 2 เดือน เมื่อต้นใหญ่ขึ้นก็เพิ่มสัดส่วนปุ๋ยมากขึ้นตามอายุต้น ที่นี่ให้น้ำต้นเงาะในระบบสปิงเกลอร์ ระยะเริ่มปลูก จะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าเงาะจะตั้งตัวได้ โดยเปิดให้น้ำ วันละ 30 นาที

โดยทั่วไป ต้นเงาะในระยะให้ผลผลิตแล้ว เมื่อใกล้ออกดอก ควรให้น้ำในปริมาณที่น้อยมาก เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน ถ้ามีใบอ่อนแซมช่อดอกมาก ควรงดให้น้ำสักระยะ จนกว่าใบอ่อนที่แซมมาจะร่วงหมด จึงเริ่มให้น้ำใหม่ เพื่อให้ตาดอกเจริญต่อไป ต้องให้น้ำ 1 ใน 3 ของการให้น้ำปกติ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ดอกเริ่มบานและติดผล ช่วงการเจริญเติบโตของผล ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอผลจะเล็ก ลีบ และมีเปลือกหนา ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ถ้าฝนทิ้งช่วง ต้องดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ เพราะถ้าเงาะขาดน้ำ แล้วเกิดมีฝนตกลงมา จะทำให้ผลแตกเสียหาย

นอกจากนี้ ต้องคอยตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม โดยตัดแต่งกิ่งก่อนการใส่ปุ๋ย ตัดกิ่งต่ำที่ระดิน กิ่งเป็นโรค กิ่งแห้งตาย กิ่งใบทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงแดด หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งโดยเร็ว ตัดก้านผลที่เหลือค้างออกให้หมด โดยตัดลึกเข้าไปอีกประมาณ 1 คืบ เพื่อให้มีการแตกยอดใหม่ที่ดี

สวนเงาะพันธุ์โรงเรียนในพื้นที่แห่งนี้ มีปัญหาศัตรูพืชประจำถิ่นบ้าง เช่น หนอนกินดอกเงาะ หนอนเจาะขั้วเงาะ แต่มีปริมาณน้อย จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลจัดการของเกษตรกร ส่วนโรคพืชที่พบ ได้แก่ โรคราแป้ง เข้าทำลายได้ทั้งช่อดอกและผล มักพบการแพร่ระบาดของเชื้อเกิดขึ้นในสภาพอากาศที่เย็นมีความชื้นเพียงพอ เกษตรกรมักจะป้องกันกำจัดได้โดยการฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราในระยะแทงช่อดอก ประมาณ 3-4 ครั้ง โดยใช้สารชนิดดูดซึม เช่น ไตรอะไดมีฟอน หรือกำมะถันผง แต่การฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงอัตราที่สูงในสภาพที่มีอากาศร้อน อาจทำให้ผิวผลไหม้ได้และผลสุกจะมีสีไม่สม่ำเสมอ

ต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนเริ่มให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 4 เงาะที่มีผลแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาประมาณ 130-160 วัน หลังจากดอกบานหมด เงาะโรงเรียนอายุประมาณ 10 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่ เปลือกผลเมื่ออ่อนมีสีเหลืองอมชมพูและเมื่อแก่จัดจะเป็นสีแดงเข้ม ที่โคนขนเป็นสีแดงเข้มแต่ที่ปลายขนยังเป็นสีเขียวอ่อน คุณสมานจะเก็บเกี่ยวเงาะโดยใช้กรรไกรตัดกิ่งเงาะที่ต้องการ และรวบรวมผลผลิตใส่ตะกร้าพลาสติกเพื่อรอขายให้แก่แม่ค้าในท้องถิ่นต่อไป

คุณสมาน บอกว่า หากดูแลต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนอย่างดี จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึงปีที่ 25 ดูแลไม่ดี ผลผลิตน้อย ก็ต้องรื้อแปลงปลูกใหม่ สำหรับปีที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ประมาณ 30,000 กิโลกรัม สำหรับปีนี้เจอภาวะอากาศปรวนแปร มีฝนตกเยอะ ทำให้มีผลผลิตออกน้อยกว่าปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียง 20,000 กิโลกรัม

แต่ละปี คุณสมานจะว่าจ้างแรงงานชาวอีสานที่เดินทางมารับจ้างเก็บผลผลิตในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยจ่ายค่าจ้างตามน้ำหนักของผลผลิตที่เก็บได้ ในอัตรากิโลกรัมละ 2 บาท ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว สวนแห่งนี้ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน จึงเก็บเงาะได้หมดทั้งสวน

สวนแห่งนี้นอกจากปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียนเป็นหลักแล้ว ยังปลูกเงาะพันธุ์สีทองแซมในสวนจำนวนหนึ่งด้วย ปีที่ผ่านมา คุณสมานสามารถขายเงาะพันธุ์สีทองได้ในราคากิโลกรัมละ 30 บาท แต่ปีนี้ฤดูเงาะนาสารมีผลผลิตออกชนกับเงาะจันทบุรีทำให้ขายสินค้าได้ในราคาที่ลดลง เหลือแค่กิโลกรัมละ 24 บาท เท่านั้น

แม้ว่าคุณสมานจะมีเนื้อที่ปลูกเงาะแค่ 14 ไร่ แต่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นกอบเป็นกำทีเดียว เพราะปีที่ผ่านมา มีรายได้จากการขายเงาะมากกว่า 500,000 บาท ต่อปี ทำให้เงาะพันธุ์โรงเรียน กลายเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่เกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้นิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

สาเหตุที่เกษตรกรหันมาสนใจปลูกเงาะพันธุ์สีทองกันเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเงาะพันธุ์สีทอง เป็นเงาะพันธุ์เบา ให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ ลำต้นมีการเจริญเติบโตดีที่สุด ปลูกดูแลง่าย เงาะพันธุ์สีทอง แตกพุ่มดีมาก ลำต้นเกลี้ยง ใบค่อนข้างยาวและใหญ่ ผลขนาดใหญ่มาก ขนยาว แข็ง สีสวยโดยสีของขนและเปลือกเมื่อสุกเป็นสีแดงเข้ม ปลายขนมีสีเขียวตองอ่อน เปลือกแตกยาก เพราะเยื่อเหนียวมาก

เงาะพันธุ์สีทอง เนื้อมีสีขาวค่อนข้างใส ล่อนจากเมล็ดง่าย เก็บจากต้นใหม่จะมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่ทิ้งไว้ 1-2 วัน จะมีรสหวานขึ้นและมีกลิ่นหอม ที่สำคัญเงาะพันธุ์สีทอง เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดส่งออก เนื่องจากมีรสหวานอมเปรี้ยว ตรงกับรสนิยมของผู้ซื้อในตลาดยุโรป ที่ต้องการทานเงาะผลสด ขณะเดียวกัน เงาะพันธุ์สีทอง กำลังเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้ผลิตอาหารกระป๋องแปรรูปอีกด้วย

ในอดีตเห็ดที่รับประทานกันทั่วไป จะเป็นเห็ดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเฉพาะช่วงฤดูกาลเท่านั้น เมื่อมีผู้นิยมบริโภคกันมากขึ้น จึงทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การเพาะเห็ดในเชิงการค้า เห็ดที่เพาะในเชิงการค้ามีหลายชนิด เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดยานางิ เห็ดหูหนู และเห็ดหอม เป็นต้น

เห็ดสกุลนางรม หรือเห็ดนางรม เป็นเห็ดที่นิยมของตลาด และมีการเพาะกันทั่วไปเกือบทั้งประเทศ เห็ดนางรมเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิระหว่าง 24-33 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ 70-80 เปอร์เซ็นต์

เห็ดแต่ละชนิดมีวิธีการเพาะที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปผู้เพาะเห็ดจะนำถุงเชื้อที่ผลิตเองหรือซื้อมานำไปเปิดดอกในโรงเรือนที่ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ ดังนั้น โรงเรือนเปิดดอกเห็ดจึงมีความสำคัญในการเพาะเห็ด โดยจะต้องควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เห็ดจึงจะออกดอกและให้ผลผลิตดี

จากการสำรวจโรงเรือนเพาะเห็ดที่เกษตรกรปลูก พบว่า มีหลายขนาดด้วยกัน ขึ้นอยู่กับเหตุผลและแนวคิดของแต่ละคน ผู้สร้างโรงเรือนขนาดใหญ่ให้เหตุผลว่าดูแลสะดวก อุณหภูมิภายในโรงเรือนมีความสม่ำเสมอ เปลี่ยนแปลงน้อย ส่วนผู้ที่สร้างโรงเรือนขนาดเล็กมีเหตุผลสนับสนุนว่า สามารถป้องกันกำจัดโรค แมลง และไร หรือศัตรูเห็ดได้ดีกว่า ถ้าเกิดการระบาดของโรคและแมลงจะสามารถควบคุมได้ไม่เสียหายทั้งหมด

วิจัยพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรมแบบถาวร

โดยเหตุที่โรงเรือนเพาะเห็ดส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่ มุงหลังคาด้วยแฝกหรือใบจากซึ่งเป็นวัสดุที่ไม่คงทน แม้จะลงทุนต่ำแต่ก็มีอายุการใช้งานสั้น ประมาณ 2-3 ปี เกษตรกรก็ต้องจ่ายเงินค่าแรงงานและค่าวัสดุในการซ่อมแซมใหม่ นอกจากนั้น โรงเรือนที่สร้างด้วยไม้ไผ่หรือแฝกยังเป็นที่อาศัยของมอดและแมลงอีกด้วย เกษตรกรก็ต้องหันมาใช้สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลง ซึ่งไม่ปลอดภัยต่อทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค

สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ให้ข้อมูลว่า การจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในระยะยาวสำหรับการเพาะเห็ดเพื่อการค้า น่าจะสร้างโรงเรือนที่ค่อนข้างถาวร คือสร้างด้วยโครงเหล็ก หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งจะมีอายุการใช้งานนาน ถ้าเกษตรกรมีเงินลงทุนพอ แต่ต้องหาวิธีการควบคุมสภาพแวดล้อมและรูปแบบของโรงเรือนเปิดดอกเห็ดที่เหมาะสม แต่เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มพัฒนาพื้นที่เกษตรยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่จะแนะนำให้แก่เกษตรกร คือ ขนาดแบบแปลน โรงเรือนเพาะเห็ดนางรมที่เหมาะสม รวมถึงรูปแบบการควบคุมสภาพแวดล้อม อุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน

ดังนั้น สถาบันวิจัยเกษตรกรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรมแบบถาวรให้ได้ขนาดที่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พร้อมกับติดตั้งระบบควบคุมสภาพแวดล้อมภายในที่เหมาะสมสำหรับการเพาะเห็ดนางรมและให้สามารถ ประยุกต์ใช้ในการเพาะเห็ดอื่นๆ ได้ เพื่อเป็นต้นแบบโรงเรือนเพาะเห็ดสกุลนางรมแบบถาวร

คุณวิโรจน์ โหราศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรม โดยร่วมกับกลุ่มวิจัยและพัฒนาเห็ด สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า โรงเรือนที่มีลักษณะโครงหลังคาจั่วเป็นรูปแบบโรงเรือนที่เกษตรกรนิยมมากที่สุด จึงได้ออกแบบให้โรงเรือนมีลักษณะเป็นโครงหลังคาเหล็กทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้อง ด้านข้างปิดด้วยซาแรนทึบ พื้นเทคอนกรีต ซึ่งสะดวกในการทำความสะอาดและจัดการต่างๆ ภายในโรงเรือนได้ง่าย เพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค

จากการออกแบบและประเมินราคาโรงเรือนลักษณะดังกล่าวในหลายๆ ขนาด พบว่า โรงเรือน ขนาด 6×8 เมตร เป็นขนาดที่เหมาะสมในการลงทุนมากที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าวิธีวางก้อนเชื้อเห็ดแบบแขวนเป็นชั้นๆ ในแนวตั้งจะมีการระบายอากาศได้ดีกว่าแบบตั้งโต๊ะวางก้อนเชื้อเห็ดแบบตัวเอ และยังสามารถทำความสะอาดพื้นโรงเรือนได้ง่าย สะดวกในการเก็บดอกเห็ดและการนำก้อนเชื้อเห็ดออกมา

คุณวิโรจน์ บอกว่า จากการวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเรือนเปิดดอกเห็ด ขนาด 6×8 เมตร พบว่าไม่เหมาะสมสำหรับโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรม ถ้าไม่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อม เพราะในช่วงบ่ายอุณหภูมิภายในโรงเรือนจะสูงเกิน 33 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ จึงได้ปรับปรุงและติดตั้งระบบต่างๆ เพื่อลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นสัมพัทธ์ในโรงเรือน ดังนี้

เปิดจั่วด้านหน้าและด้านหลังโรงเรือน เพื่อให้ความร้อนใต้หลังคาระบายออกมา พร้อมกับมุงซาแรนใต้คานเพื่อป้องกันความร้อนจากใต้หลังคาแผ่ลงมา และป้องกันความชื้นออกจากโรงเรือน
ด้านข้างของโรงเรือน มุง 3 ชั้น global-customer.com ด้วยซาแรน 50% พลาสติกหนา 150 ไมครอน และซาแรน 50% อีกชั้นหนึ่ง ทำให้เก็บความชื้นในโรงเรือนได้ดีขึ้น
ติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติ ได้แก่ ระบบพ่นฝอยภายในโรงเรือนด้วยปั๊ม ขนาด 0.5 แรงม้า เพื่อลดอุณหภูมิและความชื้นภายในโรงเรือน ควบคุมการทำงานด้วยชุดตรวจจับสัญญาณ (เซ็นเซอร์) และระบบควบคุมไมโครคอนโทรลเลอร์ที่สามารถกำหนดค่าความชื้นสัมพัทธ์ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิไม่เกิน 33 องศาเซลเซียส และติดตั้งระบบมินิสปริงเกลอร์รดน้ำบนหลังคาโรงเรือน ให้ทำงานอัตโนมัติพร้อมกับระบบพ่นฝอยอัตโนมัติในโรงเรือนโดยใช้ปั๊มตัวเดียวกัน
นอกจากนั้น ยังติดตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยนาฬิกาตั้งเวลา (ไทเมอร์) วันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ด้วยระบบพ่นฝอยป้องกันเห็ดแห้ง โดยใช้ปั๊มน้ำชุดเดียวกันกับระบบพ่นฝอยควบคุมสภาพแวดล้อมอัตโนมัติ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและผลผลิตของเห็ด

สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร ชี้ถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเห็ดว่า มีอยู่ 6 องค์ประกอบด้วยกัน คือ

อาหารสำหรับเห็ด
อุณหภูมิ เนื่องจากเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เขาชอบ
ความเป็นกรดเป็นด่างของอาหารเห็ด
อากาศ เนื่องจากเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการอากาศหายใจ
ความชื้น เนื่องจากเห็ดเป็นเชื้อราเส้นใยจึงต้องมีความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง
แสง

ความชื้น อากาศ และแสง อย่างไรก็ตาม เห็ดแต่ละชนิดมีความต้องการปัจจัยเหล่านี้แตกต่างกัน โดยเฉพาะเห็ดหอมและเห็ดนางรม หรือเห็ดสกุลนางรม ต้องการอุณหภูมิที่แตกต่างกันมาก เห็ดหอม ต้องการอุณหภูมิต่ำและความชื้นสูง เห็ดสกุลนางรม ต้องการอุณหภูมิสูงมากกว่าเห็ดหอม ส่วนเห็ดฟาง ชอบอุณหภูมิสูง แต่ในช่วงที่ออกดอกต้องการอุณหภูมิต่ำ

กล่าวได้ว่า อุณหภูมิ อากาศ ความชื้น และแสง มีความสำคัญ ซึ่งเราจะต้องจัดสภาพแวดล้อมดังกล่าวภายในโรงเรือนเพาะเห็ดให้เหมาะสมสำหรับเห็ดแต่ละชนิด เพราะสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญต่อปริมาณผลผลิตและคุณภาพของเห็ด ถ้าเราสามารถกำหนดและควบคุมได้ให้เหมาะสมกับเห็ดแต่ละชนิดโอกาสที่เห็ดจะพัฒนาเป็นดอกและเพิ่มผลผลิตให้เราก็จะสูงขึ้น

จากการออกแบบและทดสอบโรงเรือนเพาะเห็ดแบบถาวร ขนาด 6×8 เมตร พร้อมระบบควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือน ซึ่งประกอบด้วยระบบพ่นหมอกอัตโนมัติในโรงเรือน ระบบรดน้ำบนหลังคาสามารถใช้เป็นโรงเรือนเปิดดอกเห็ดนางรมได้ดี คือ สามารถควบคุมความชื้นภายในได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และอุณหภูมิไม่เกิน 33 องศาเซลเซียส