ศึกษาข้อมูล ดูบริบทตามความถนัด รสนิยมความชอบการคัดเลือก

คิดว่าสายพันธุ์ไหนจะไปได้ดี มีแนวคิดอยู่ว่า “ปลูกกินตามใจเรา ปลูกขายเขา ตามใจตลาด” อาจจะปลูกมะม่วงที่คนในครอบครัวเราชอบกินไว้อย่างละต้นสองต้น ที่เหลือจับแนวทาง ดูราคา อย่าลืมว่าสวนในที่นี้เป็นพื้นที่ขนาดเล็ก หากคิดทำกิ่งกระแสแรง เราสู้ราคาตลาดที่ต้องแข่งขันกับสวนขนาดใหญ่ได้หรือไม่ หรือหากมีผู้สั่งจำนวนมาก เรามีกำลังการผลิตจำนวนมากเป็นพันเป็นหมื่นกิ่งได้หรือไม่

หากไม่ถึงขนาดนั้น อาจเลือกจับสายพันธุ์แบบเก่าสุด ใหม่สุด เว้นกลาง สำหรับมะม่วง คือ จะเลือกปลูกสายพันธุ์เก่าแก่ดั้งเดิม กินอร่อยแต่เริ่มหายาก ถึงแม้ตลาดจะต้องการไม่มาก แต่ก็ไม่ค่อยมีใครผลิตในขณะที่ยังมีคนส่วนหนึ่งต้องการปลูกไว้ หากทำให้กิ่งเรายังขายได้ หรือปลูกคู่กับแบบล้ำนำยุคไปเลย ปัจจุบันมีสายพันธุ์ใหม่ๆ จากต่างประเทศเข้ามา ทั้งสองแบบหากเราปลูกทำกิ่งไว้ จะสามารถขายในราคาสูงได้ ปล่อยให้สวนใหญ่ๆ ทำกิ่งตลาดที่อยู่ตรงกลาง ขายแข่งกันไปในระดับนั้น

อีกทางเลือกหนึ่ง คือ เลือกสายพันธุ์ที่สามารถนำผลไปแปรรูปได้ไม่ยาก เช่น มะม่วงเบา ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ออกลูกติดผลตลอดทั้งปี ดกเป็นพวงใหญ่ ในช่วงที่ผลดิบมีจำนวนมาก หากขายไม่ได้ราคา สามารถนำไปแปรรูปทำมะม่วงเบาแช่อิ่ม รสชาติดี ขายได้ราคา สามารถเก็บไว้ได้นานนับปี

มะม่วงสายพันธุ์โบราณรสชาติดี ชุดสวนนนท์ที่ควรปลูก เช่น ยายกล่ำ น้ำตาลเตา นนท์ทิพย์ (ทะวายมัน) ศรีสยาม (ทะวายเปรี้ยว) อกร่องทอง โดยเฉพาะมะม่วงน้ำตาลเตา “มธุรสของมะม่วงแห่งสยาม” เนื้อแน่น สุกหวาน หอม กินอร่อยมาก ที่ควรปลูกไว้กินเองสักต้น หก. หาทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต

ให้มองดูของในสวนเรา มีอะไรบ้างที่จะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผล ภายใต้กำลังและเวลาที่เรามี คิดทำในสิ่งที่น่าจะขายได้ มีคนต้องการ แต่ยังไม่มีใครทำ

ตัวอย่าง ตอถอนอัดเลี้ยง ใช้วิธีการ ตัด แต่ง แยก คัด อัด อบ เรามีแนวคิดจากการที่มีผู้ต้องการใช้ต้นตอมะม่วงแบบถอนเปลือยขึ้นมาสดๆ เพื่อนำมาใช้ทาบกิ่ง แต่จะมีอายุอยู่ได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับมือใหม่หัดทาบ จะหาที่ไหน และเมื่อยังทำงานประจำ มีเวลาจำกัด เมื่อใช้ไม่หมดต้องทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย นวัตกรรมนี้จึงเกิดขึ้นเป็นการผลิตต้นถอนสดพร้อมใช้ทาบได้ทันที และไม่มีวันหมดอายุ อีกทั้งยังโตต่อไปได้เรื่อยๆ ไม่เปลืองพื้นที่ ดูแลง่าย เพียงรดน้ำเหมือนต้นไม้ทั่วไป บริการจัดส่งไปทั่วประเทศไม่จำกัดขั้นต่ำ ได้รับการตอบรับที่ดีมาก ใช้เพียงพื้นที่เล็กๆ ในบริเวณบ้านก็ผลิตจำหน่ายได้

ตอถอนอัดเลี้ยง เป็นหนึ่งตัวอย่างในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตในสวนมะม่วงแปลงเล็ก ออกแบบให้ใช้พื้นที่น้อย คงความสดได้ยาวนาน จัดจำหน่าย ขนส่งได้สะดวก

สามารถผลิตทิ้งไว้ ขายได้ตลอดปี ใช้พื้นที่ไม่มาก สะดวกทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ปัจจุบันมีผู้สนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก

ให้ลองมองในสวนเราแล้วคิดอย่างอื่นนอกเหนือ

เจ็ด. ใช้เวลา สร้างมูลค่าเพิ่ม

การทำสวนมะม่วงแปลงเล็ก หากไม่รีบร้อน การรอเวลาจะสามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้หลายเท่าตัว เช่น ต้นตอมะม่วงใช้เวลาปลูก 2-3 เดือน หากถอนขึ้นมาขายเป็นต้นตอ จะได้ราคาประมาณ 4-6 บาท

แต่เมื่อนำมาปลูกลงถุงดำรอเวลาต่ออีกประมาณ 3-5 เดือน จะขายได้ ถุงละ 20-30 บาท

หากนำต้นตอที่ปลูกลงถุงดำนั้นมาเปลี่ยนยอด ด้วยเสียบยอดมะม่วงมีราคา เพิ่มขึ้นเป็น 50-100 บาท ถ้าเป็นมะม่วงหายาก ราคาจะสูงขึ้นเป็นต้นละนับร้อยบาท

และหากนำมาเสียบยอดทำเป็นต้นมะม่วงแฟนซี จะขายได้หลายร้อยบาท (ดังตารางตัวอย่าง แสดงแรเพาะเมล็ดเป็นต้นตอมะม่วง หน้า 48)

ดังนั้น เราสามารถเลือกจังหวะแห่งการหารายได้ ว่าจะขายช่วงไหนตามบริบทแห่งสวน ต้องการเงินเร็วก็ถอนชุดแรกขายไปก่อน ไม่รีบไม่ร้อนก็ค่อยๆ สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำไป ขายไป จะได้เงินมากเพิ่มขึ้นตามเวลาและกำลังความสามารถในการผลิต

แปด. สร้างความสามารถเฉพาะเจาะตลาด

ในการผลิตต้นมะม่วงออกจำหน่าย นอกจากต้นทาบกิ่งปกติทั่วไปแล้ว ยังสามารถเสียบยอดต่อกิ่งผลิตให้เป็น “ต้นมะม่วงแฟนซี รวมมะม่วงดี ถูกใจ ไว้ต้นเดียว” ได้อีก เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้ที่ชื่นชอบปลูกมะม่วงหลากหลายชนิด สำหรับบ้านในเมืองซึ่งมีพื้นที่จำกัด ปลูกได้เพียงต้นเดียว มะม่วงแฟนซีจึงสามารถผลิตขายได้ราคา เนื่องจากมีความยากในการทำและใช้เวลานานหลายเดือนอาจเป็นปี เพียงแต่ต้องศึกษา ฝึกฝนวิธีการผลิต รวบรวมสายพันธุ์ ผลิตด้วยความรับผิดชอบ ก็จะสามารถขายต้นมะม่วงได้ราคาสูงกว่าขายตามปกติ

หรือ การผลิตไม้ผลกระถาง คิดพัฒนาให้แตกต่างอย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้นในที่นี้ เริ่มตั้งแต่คัดสรรชนิด สายพันธุ์ กลุ่มไม้ผลกินได้ เช่น มะม่วง ส้มเขียวหวาน ใช้วิธีการ เช่น คิดระบบกระจายน้ำ วางวัสดุประคองรับต้น ใส่หินอุ้มน้ำ เลือกวัสดุ เช่น ใช้กระถางสีสันสวยงาม ทนทาน ขนาดใหญ่ ไม่เป็นภาระสำหรับผู้ซื้อในการต้องคอยเปลี่ยนกระถาง และสร้างนวัตกรรมพิเศษวางบนจานหมุน จับหมุนดูต้นไม้ได้ทุกมุมอย่างสบาย เบามือ และคิดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสบายให้ผู้ซื้อให้มากที่สุด เช่น ส้ม ติดตั้งไม้ค้างล้อมต้น เพื่อรับพวงผลส้ม

เก้า. ขายสินค้า อุปกรณ์ เครื่องมือ ส่วนควบ

ในการทำสวน ทำไร่ ทุกขั้นตอน หากดูแล้วยังพบว่ามีสินค้าประเภท ปุ๋ย ยา ที่ต้องนำมาใช้ หรือเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพ แต่ยังหาซื้อได้ยาก ไม่มีวางขายทั่วไปอย่างแพร่หลาย เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสรรหามาจำหน่ายเพื่ออำนวยความสะดวก และสร้างรายได้

ยกตัวอย่างเช่น เครื่องมือที่ใช้ในการขยายพันธุ์พืช มีดดีๆ กรรไกรคุณภาพ เพราะเราจะเห็นเพื่อนเกษตรกรยังใช้มีดแบบเดิมๆ หรือคัตเตอร์ ซึ่งไม่ได้ผลิตมาเพื่อการขยายพันธุ์ หรือการค้นคิดกระบอกเก็บมีดพร้อมหินลับ ก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน

การนำสิ่งที่ดีๆ มาจำหน่าย เป็นการช่วยให้เพื่อนร่วมอาชีพได้เข้าถึงเครื่องมือคุณภาพ เป็นการช่วยยกระดับอาชีพเกษตรกรโดยรวมด้วย

นอกจากกลุ่มเครื่องมือ อุปกรณ์ ลองมองหาดูว่ายังมีอะไรที่จะช่วยให้การทำสวน ทำไร่ มีความเจริญก้าวหน้า และเราสามารถจัดการหามาจำหน่ายได้ เช่น ฮอร์โมนช่วยออกราก แตกตา บำรุงผลให้มีขนาดใหญ่ รสชาติดี โดยสิ่งเหล่านี้ อาจจะมีขายเฉพาะถิ่นที่เราหาได้ แต่เพื่อนเกษตรกรอีกทั้งประเทศยังหาไม่ได้ เป็นช่องทางที่เราจะช่วยเหลือกัน เพื่อนมีของใช้ เราได้เงินเพิ่ม

สิบ. การหาความรู้ และให้ความรู้

ควรเป็นเกษตรกรที่ไม่หยุดพัฒนา ด้วยปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มากมาย และสถาบันการศึกษาชั้นสูงทางการเกษตรได้จัดอบรมเพื่อยกระดับความรู้ความสามารถ เราจึงควรไปเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรระยะสั้นที่สนใจ คิดว่านำมาใช้พัฒนาอาชีพเราได้ เกิดผลพลอยได้ตามมา เช่น การได้รู้จักเพื่อนร่วมอาชีพที่มาจากทั่วสารทิศ แลกเปลี่ยนแนวคิด และบางครั้งยังสามารถจำหน่ายสินค้าได้ หากมีความต้องการผลิตผลที่เรามี

อีกหนทางหนึ่งคือการให้ความรู้ หากเราคิดว่ามีความรู้ในเรื่องนั้นๆ สามารถถ่ายทอดให้กับผู้อื่นได้ สร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนร่วมอาชีพ บางครั้งมีผลตอบแทนตามสมควร และอาจได้ขายสินค้าผลิตผลจากสวนเราได้อีก นับเป็นการช่วยเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน สร้างความอบอุ่นให้กับสังคม

สิบเอ็ด. การรับทำกิ่งพันธุ์ และรับปลูกต้นไม้นอกสถานที่

จากที่ได้รับการติดต่อพบว่า มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้ทีมงานของสวนออกไปรับทาบกิ่ง เสียบยอด เพื่อรักษาต้นพันธุ์มะม่วงที่ชอบ ถูกใจ เอาไว้ รวมถึงการว่าจ้างให้ไปปลูกต้นไม้นอกสถานที่ แสดงว่าในตลาดไม้ผลยังมีการสร้างรายได้จากแนวเส้นทางนี้อีก จึงนับได้ว่าหากมีเวลา ความรู้ความสามารถ และองค์ประกอบอื่นที่เหมาะสมทางด้านนี้ จะสามารถสร้างอาชีพเสริมรายได้เพิ่มขึ้นโดยสามารถเลือกเวลาทำช่วงวันหยุด โดยไม่กระทบกับงานประจำ

ดังนั้น “เครื่องมือพร้อม รู้วิธี มีฝีมือ” ก็สามารถสร้างรายได้ให้เราเพิ่มขึ้น

ดังนั้น การฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้ที่มีความสามารถในด้านนี้ ประกอบกับความพร้อมในองค์ประกอบแห่งการทำงาน เช่น มีรถยนต์ หรือยานพาหนะอื่นใดเพื่อความสะดวก รวดเร็ว ก็จะสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวได้ดีอีกทางหนึ่ง

สิบสอง. การสร้างคุณภาพและบริการ

การสร้างรายได้ที่ดี ต่อเนื่องยาวนาน ต้องสร้างคุณภาพให้สินค้า หาข้อเด่นที่แตกต่างอย่างมีมาตรฐานให้เป็นอัตลักษณ์ของสวน เช่น การทาบกิ่งมะม่วง ใช้ต้นตอทาบอย่างต่ำ 2 ตอ หรือการตัดชำกิ่งด้วยระบบแบบล็อกลำต้นมั่นคง ลดปัญหาความเสียหาย เมื่อนำไปปลูกจะแข็งแรง โตไว ให้ผลเร็ว สร้างความมั่นใจในการใช้สินค้าจากสวนของเรา

การค้าขายยุคนี้ การบริการมีความสำคัญ สินค้าต้องจัดการให้สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์ และผลิตให้สามารถจัดส่งถึงมือผู้รับในสภาพที่สมบูรณ์และเร็วที่สุด และที่สำคัญ มารยาทในการค้าร่วมกับผู้ร่วมอาชีพ ไม่ตัดราคา ไม่โจมตี ชี้จุดอ่อนของรายอื่น เพียงแค่นำเสนอสินค้าของเราให้ดีเป็นพอ

การนำเสนอสินค้า ผลิตภัณฑ์จากสวนที่ดี ต้องคิดเพื่อตอบสนองลูกค้าในการตัดสินใจซื้อ เช่น บอกขนาด ใช้เพียงคำพูดหรือถ่ายภาพปกติอาจไม่เพียงพอ ควรคิดสร้างสิ่งที่จะแสดงขนาดเปรียบเทียบให้เห็น ตัวอย่างเช่น การสร้างแผ่นบอกความสูงของต้นไม้เมื่อนำมาวางเทียบขนาด เทียบราคา ผู้ซื้อสามารถมองภาพออก ตัดสินใจได้ดีกว่าวิธีเดิมๆ

บริการหลังขาย

การบริการหลังขายก็นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง สังคมออนไลน์สื่อสารกันได้เร็ว หากลูกค้าพบปัญหาในสินค้าของเรา ต้องรีบดำเนินการให้เป็นที่พอใจทันที เพื่อสร้างความประทับใจ มั่นใจในการซื้อของไปจากสวนเรา สินค้าอาจมีข้อผิดพลาด เสียหายได้ แต่มิตรภาพทางการค้าขายต้องคงอยู่เป็นสำคัญ เช่น กิ่งพันธุ์ที่ซื้อจากสวนของเรา จะดูแลจนกว่าจะปลูกได้ แตกใบอ่อน ซื้อไปแล้วพบปัญหาปลูกไม่ได้ เปลี่ยนส่งให้ไปใหม่ทันทีโดยไม่คิดเงินใดๆ จนกว่าปลูกจะได้ ภายใต้ประโยคควรคิด คือ “ของดี บริการเลิศ จะก่อเกิดรายได้”

จากประสบการณ์ที่ทำงานคู่กับการทำสวน ทำไร่ พบมาหลากหลายรูปแบบ จนครบเกษียณอายุ ที่ผ่านก็สร้างรายได้เพิ่มแม้จะไม่ถึงกับมากมาย ด้วยเป็นสวนเล็กๆ ทำกันภายในครอบครัว ไม่มีคนงานลูกจ้างประจำสวนแม้แต่คนเดียว มีแค่คนดูแลสวนและเด็กลูกศิษย์ที่ฝึกไว้มาช่วยเป็นครั้งคราว แต่ก็ช่วยให้สามารถมีทรัพย์สิน ที่ดิน เพิ่มขึ้นได้จริงไม่ขายฝัน เพียงต้อง ขยัน อดทน ค้นคิด

จากที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งแนวคิดที่จะมาเพิ่มช่องทางสร้างเงิน สร้างรายได้ ควบคู่ไปกับงานประจำ อาจเริ่มจากพื้นที่ว่างในบ้านก่อน สะสมประสบการณ์ เมื่อพบช่องทางที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละคนแล้ว จึงค่อยขยับขยาย ทำสวน ทำไร่ บนพื้นที่แปลงเล็กต่อไปแบบค่อยๆ ก้าวอย่างมั่นคง

หากมีข้อสงสัยเรื่องใดๆ ตามที่กล่าวมา สามารถติดต่อสอบถามได้ ยินดีให้ข้อมูลแห่งความเป็นจริง เชิญได้ที่ อาจารย์วิลาวัลย์ สุริยะฉาย โทร. (081) 925-1021 Line : arjarnwi

บ้าน/ร้าน ซอยบางกรวย-ไทรน้อย เลขที่ 42 ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

สวน ถนนเลียบคลองบางกอกน้อย วงเวียนราชพฤกษ์ ตำบลบางกร่าง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี

สวน/ไร่ ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี กระเทียมชำบุ่น มีชื่อเสียงมานานปีแล้ว ถึงคุณภาพความเผ็ด ฉุนหอม แกร่ง เก็บไว้กินได้นาน เป็นที่สนใจของคนทั่วไป เพราะปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคกระเทียมคือ ผิดหวังที่ไม่อาจจะหากระเทียมที่เก็บไว้ได้นานๆ ทำให้จำเป็นต้องซื้อกระเทียมไว้กินทีละเล็กทีละน้อย หมดแล้วค่อยซื้อใหม่ ซึ่งการซื้อกระเทียมแบบย่อยๆ จะแพงมาก ยิ่งช่วงที่ห่างจากฤดูกาลให้ผลผลิตคือ พฤษภาคมไปจนถึงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีเทศกาล และช่วงเวลาที่ต้องประกอบอาหารการกินมาก กระเทียมระยะนั้นจะแพงมาก กระเทียมชำบุ่น หัวกระเทียมเล็ก แกร่ง ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ เก็บไว้กินได้นานมากเกิน 6 เดือน ถือว่าคุ้มค่าที่ซื้อเก็บไว้ใช้ได้นาน ดีกว่าซื้อกระเทียมย่อย จะใช้ประกอบอาหารที ต้องซื้อที เพราะกระเทียมที่ซื้อมาฝ่อเร็วมาก ถ้าซื้อมามากก็ได้ใช้ครึ่งทิ้งครึ่ง

ภูมิปัญญาการปลูกกระเทียมของชาวบ้านชำบุ่น จากเหตุผล ทุนน้อย น้ำน้อย แรงงานน้อย เครื่องจักรกลทุ่นแรงมีน้อย ผลผลิตอาจจะได้น้อย แต่คุณภาพไม่น้อยแน่ เริ่มต้นจากการเตรียมดิน โดยการถากถางตอซังข้าวพร้อมกับต้นวัชพืชต่างๆ ในนา แล้วใช้รถไถเดินตาม หรือบ้างใช้แรงงานคน ขุดไถแหวกร่องผ่าแบ่งแปลงเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นทางเอาน้ำเข้า และระบายน้ำออกในกรณีน้ำมากเกินไป ดินที่แหวกร่องก็ฟื้นขึ้นมาทุบเกลี่ยบนแปลงที่ถากตอซังแล้วปรับหน้าดินให้เรียบ เรียกว่าปลูกแบบไม่ขุดดินทั้งผืนแต่ขุดเฉพาะร่องน้ำ

ปลูกกระเทียมที่แกะเป็นกลีบๆ แล้วลงบนแปลง ระยะ 10×10 หรือ 15×15 เซนติเมตร คือถ้าใช้พันธุ์กลีบเล็กจะใช้ระยะถี่ จะใช้พันธุ์กระเทียมที่แกะกลีบแล้ว 60-80 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่บางแปลงใช้มาก 100-120 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้ฟางแห้งคลุมแปลง ซึ่งจะช่วยรักษาความชื้นของดินในหน้าแล้งเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ได้เป็นอย่างดี โดยที่ให้น้ำเพียง 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ตอนเดือนที่ 3 ให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง และเดือนสุดท้ายจะเริ่มงดให้น้ำ โดยเฉพาะ 10 วันสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยวจะงดการให้น้ำ เพื่อให้ต้นกระเทียมปรับสภาพตัวมันเอง คายน้ำ คายปุ๋ยต่างๆ ออกจนหมด เหลือกระเทียมที่มีหัว เนื้อ เปลือก และมวลสารอาหารสำคัญ เช่น อินทรีย์กำมะถันและสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคนเราเท่านั้น

ถามกันมามากว่า กระเทียม ที่ปลูกบ้านชำบุ่น เขาใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี กันบ้างไหม ตอบได้เลยว่าไม่ได้ใช้เลย ด้วยศักยภาพพื้นที่ และกรรมวิธีการปลูกแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน การไม่ไถพรวนดินทั้งแปลง จะสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีมาก แต่ข้อเสียอาจจะมีที่การอุ้มน้ำของดินมีน้อย ชาวบ้านใช้ฟางคลุมแปลงถือว่าช่วยได้ ยาฆ่าหญ้าไม่ได้ใช้เลย ส่วนโรคแมลงมีบ้าง แต่ก็มีบ้างเล็กน้อย จะป้องกันกำจัดโดยใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราเขียวไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราขาวบิวเวอเรีย (Beauveria Bassiana) หรือใช้น้ำสกัดชีวภาพ น้ำสกัดสมุนไพร มีการปรับปรุงดินให้เหมาะสมโดยใช้ปูนขาว และใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ใช้มูลไก่ มูลสุกร แต่ก็จะหายากขึ้นทุกวัน ถ้าจะใช้มูลวัว มูลควาย ก็จะมีปัญหาหญ้าขึ้นเยอะมาก เลยใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดซึ่งสะดวกสบายในการใช้มากกว่า

การเก็บเกี่ยวกระเทียม เป็นสาระและจุดเด่นที่สำคัญมาก กระเทียมชำบุ่นที่แท้ ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุนับจากวันปลูกเกิน 120 วัน บางแปลงปล่อยจนแห้งคาแปลง ซึ่งก็ไม่เป็นปัญหาในการมัดจุก เพราะก้านใบกระเทียมชำบุ่น มีความแข็งและเหนียวมาก เมื่อมีการปล่อยให้แห้งจัด น้ำหนักจะเบา ผลผลิตจะได้ประมาณ 500-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งปกติกระเทียมทั่วไปจะให้น้ำหนักสด 1,200-1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ถือได้ว่ากระเทียมชำบุ่นให้ผลผลิตต่ำมาก แต่เรียกได้ว่าต่ำแบบได้คุณภาพเต็มร้อย ปลอดภัยไร้สารพิษ เก็บไว้บริโภคได้นานวัน ผู้บริโภค ผู้ผลิตมั่นใจ ภาคภูมิใจ และพึงพอใจในผลผลิตนี้

คนชำบุ่นมีเรื่องดีงาม จากคำบอกเล่าของคนเก่าเขาว่า คนบ้านชำบุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อก่อนเก่าพื้นที่นี้มีการปลูก “หอมขาว” กันมานานแล้ว หอมขาว หรือกระเทียม หรือ “หอมเตียม” คนบ้านนี้ปลูกกินกันมาหลายชั่วอายุคน แต่จะมีปลูกกันมานานสักเท่าใด ไม่มีใครรู้

ปลูกกระเทียมแบบสมัยเก่าก็เพียงแค่วางกลีบ หรือไม่ถ้ากระเทียมนั้นกลีบเล็กๆ โตเท่าเมล็ดถั่วลิสง ก็ใช้วิธีหยอดหรือหว่านลงแปลงแล้วใช้ฟางข้าวหรือเศษหญ้ากลบทับเท่านั้น อาศัยน้ำอาศัยอาหารพืชจากในดิน ที่ก่อนหน้าทำนาใช้วัวควายไถนามันก็ขี้เยี่ยว ถ่ายมูล เป็นปุ๋ยลงไปสู่ดิน เหลือจากข้าวดูดไปใช้แล้วก็แบ่งให้พืชที่ชาวบ้านหว่านลงไปต่อจากข้าว เช่น ผักกาดขม ผักชีลาว หอมแดง ผักชี หรือหอมน้อย หรือหอมป้อม และกระเทียม ให้โตอีกระยะก่อนน้ำจะหมดไปจากดิน อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะสภาพดินบ้านชำบุ่น จะเป็นดินที่แปลกกว่าถิ่นอื่นๆ เป็นดินนาที่อยู่ชายป่าและริมน้ำในสภาพที่เรียกว่า ครบธรรมชาติ ป่า-น้ำ-ดิน-ฟ้า มารวมกัน ดินที่ชะล้างพังทลายจากป่าเขาผสมกับดินจากน้ำไหลจากห้วยน้ำใหญ่ ออกมามีครบทั้งเหนียว ร่วน ทราย และหนำซ้ำยังมีขี้เถ้าคล้ายดินภูเขาไฟอีกต่างหาก

เอกลักษณ์หนึ่งของกระเทียมชำบุ่น คือ การมัดจุก จะรวบรวมหัวและก้านกระเทียมที่ถอนมา และผึ่งแดดแห้งแล้วกำ กำละครึ่งกิโลกรัมถึง 1 กิโลกรัม มัดตอกตรงปลายก้านใบ ห่างจากหัว 1 คืบ แล้วพลิกกลับมัดจุก ให้กลับปลายก้านอยู่ด้านใน และรวมมัดข้างนอกซ้ำอีก 2-3 เปลาะ แล้วแต่ความยาวของก้าน จะได้จุกกระเทียมที่เล็ก กะทัดรัดและมั่นคง ดึงเด็ดหัวมากินจนหมด มัดจุกก็ยังอยู่แน่นอย่างนั้น เหมาะสำหรับผูกแขวนไว้รอการใช้บริโภคนานเกินครึ่งปี อย่างที่เคยบอกไว้แต่ต้นนี่แหละ “กระเทียมชำบุ่น” แห่งน้ำปาด อุตรดิตถ์ ฝากไว้ในความสนใจของทุกท่านครับ สนใจติดต่อได้ที่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมชำบุ่น ป้าศรีนวล โทร. (097) 321-9253, (097) 163-9135 ในการติดต่ออยากจะให้ใช้ความใจเย็นหน่อย เพราะพื้นที่บ้านชำบุ่น สัญญาณการสื่อสารไม่แรงมากนัก

กระเทียม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Allium ampelopra sum เป็นพืชที่กำเนิดในแถบทวีปเอเชีย เป็นไม้ล้มลุก เนื้ออ่อน จัดอยู่ในประเภทพืชผัก วงศ์ Alliaceae มีพืชที่อยู่ในตระกูลเรียงพี่เรียงน้องกัน คือ กระเทียมหัว กระเทียมใบ หอมหัวใหญ่ หอมแดง และหอมแบ่ง กระเทียมหัว (Garlic) มีชื่อเรียกทางภาคกลางและทั่วไปว่า กระเทียม ภาคเหนือเรียก หอมเตียม หอมเทียม ภาคใต้เรียก เทียม หัวเทียม อีสานแถวอุดรธานีเรียก กระเทียมขาว หอมขาว

สาระสำคัญของกระเทียม ที่ทำให้กระเทียมมีสรรพคุณและคุณภาพความเป็นกระเทียมดังที่รู้จักกัน กระเทียมจะมีกลิ่นหอมฉุน มีน้ำมันหอมระเหย คือสารอินทรีย์กำมะถันอัลลิอิน เมื่อถูกเอนไซม์อัลลิเนส เป็นตัวเปลี่ยนแปลงเป็นน้ำมันกระเทียม (Garlic Oil) กระเทียมจะมีกลิ่นหอมก็ต่อเมื่อ อัลลิอิน และ อัลลิเนส ซึ่งปกติจะแยกกันอยู่คนละส่วน เมื่อถูกทุบ หั่น หรือทำให้ช้ำ สารทั้ง 2 ชนิด จะรวมกันทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมี กลายเป็นสารอัลลิซิน ในรูปน้ำมันที่มีประโยชน์ อัลลิอิน อัลลิเนส และอัลลิซิน ในกระเทียมสดทั้งหัว ปกติจะไม่มีกลิ่น กลิ่นตามมาทีหลังเมื่อเกิดปฏิกิริยาดังที่กล่าวมา

สรรพคุณของกระเทียม เป็นยาปฏิชีวนะ ฆ่าเชื้อ แก้อักเสบ ป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตัน ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดปริมาณน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ ป้องกันโรคหวัด วัณโรค หรือนิวโมเนีย โรคคอตีบ ปอดบวม ไทฟอยด์ มาลาเรีย คออักเสบ ไอ ไข้ อหิวาตกโรค ช่วยขับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ขับลมภายในกระเพาะ แก้ท้องอืดเฟ้อ รักษาแผลสด แผลเป็นหนอง โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อราในร่มผ้า ปวดฟันจากฟันผุ ปวดหู หูอื้อ หูตึง และที่ให้ความสนใจในหมู่ สว.สูงวัย คือ บำรุงสมรรถภาพทางเพศ ฯลฯ

สรรพคุณของกระเทียมมีมากมาย กว่า 200 อย่าง การกินกระเทียมไม่ว่าจะรูปแบบไหน ประโยชน์ที่ได้รับมากมาย บรรพบุรุษเราก็ใช้ประโยชน์จากกระเทียมมากันนับไม่รู้กี่รุ่นกี่ยุคกี่สมัย ชาวโลกทั่วไปก็รู้จักใช้ประโยชน์ และบอกเล่าสืบต่อกันมานานนับร้อยๆ ปี จะถือได้ว่า กระเทียม เป็นพืชโบราณที่เปี่ยมล้นด้วยนานาสรรพคุณ มหาศาลด้วยคุณประโยชน์