ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชศทอ.สุราษฎร์

ธานีและสงขลาและศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการผลิตขยายเชื้อราไตรโคเดอร์มา เป้าหมายรวม 100,000 กิโลกรัม สำหรับใช้ในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูจำนวน 100,000 ไร่ การแจกจ่ายเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกร เริ่มในวันที่ 19 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ให้แก่เกษตรกรสมาชิกแปลงใหญ่ ณ แปลงเรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลไม้ (ส้มโอทับทิมสยาม) จังหวัดนครศรีธรรมราช หมู่ที่ 16 ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โดยมีเจ้าหน้าที่จาก ศทอ.สงขลา ให้คำแนะนำวิธีการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาแก่เกษตรกรในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จะเร่งดำเนินการแจกจ่ายเชื้อราไตรโคเดอร์มาให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อื่นต่อไป โดยมาตรการการช่วยเหลือจากอุทกภัยครั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจัดตั้งศูนย์อำนวยการและฟื้นฟูด้านการเกษตรส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อติดตามสถานการณ์ ช่วยเหลือและฟื้นฟู ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาว ประกอบกับลงพื้นที่ให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการดูแลพืชผลทางการเกษตรหลังได้รับผลกระทบ ซึ่งหากเกษตรกรต้องการปรึกษาเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่

นายสุพิท จิตรภักดี ผู้อำนวยการส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำหรับการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มาควบคุมโรคพืชหลังน้ำลด โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า ซึ่งในไม้ผล (ส้มและทุเรียน) ต้นพืชจะแสดงอาการใบสลด ใบเริ่มเหลืองและร่วง หากขุดจะพบอาการรากเน่า และบางครั้งพบอาการเน่าบริเวณโคนลำต้น โดยมีน้ำเยิ้มสีน้ำตาลแดงไหลซึมออกมา หากอาการลุกลามรอบลำต้น ต้นจะตาย ให้ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมรำข้าว 4 กิโลกรัม ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเก่า 100 กิโลกรัม คลุกเคล้าให้เข้ากัน โรยรอบโคนต้นประมาณ 5 กิโลกรัม ต่อต้น หรือใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ล้างให้สปอร์ออกมา แล้วกรองเอาน้ำที่มีสปอร์ไปพ่น รด หรือราด บริเวณโคนต้น ส่วนโรครากเน่า-โคนเน่าในพืชผัก ใช้ส่วนผสมของเชื้อ 1 กำมือ (ประมาณ 30 กรัม) โรยรอบโคนต้น

ผศ. ยงยุทธ หนูเนียม รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ศรีวิชัย พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา ร่วมกิจกรรมวันครู ครั้งที่ 8 “คุณค่าของครู The Values of Teachers” เพื่อรำลึกถึงพระคุณของครูและแสดงความเคารพสักการะต่อครูผู้ที่ให้วิชาความรู้ ยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้ซึ่งประกอบวิชาชีพชั้นสูงให้สังคมเห็นความสำคัญของวิชาชีพครู ทั้งนี้ มีการมอบรางวัลแด่ครูดีเด่น มอบรางวัลครูต้นแบบงานบริการวิชาการแก่สังคม พิธีประดับอินทรธนูสำหรับครูใหม่ มอบรางวัลการประกวดการเขียนเรียงความ มีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ คุณค่าของครู โดยพันเอกนายแพทย์พงศักดิ์ ตั้งคณา และร่วมชมนิทรรศการวันครู ณ ห้องสุวรรณมัจฉา โรงแรมราชมังคลาสงขลาเมอร์เมด จังหวัดสงขลา เมื่อเร็วๆ นี้

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โดยมี คุณสรวิทย์ จิตรธรรม ผู้จัดการเขต 4 นำทีมงาน แม็คโครมิตรแท้โชห่วย พร้อมด้วยพนักงานแม็คโครจิตอาสาสาขานครศรีธรรมราชและสาขาทุ่งสง เดินสายลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการร้านโชห่วย ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากพายุ ปาบึก เพื่อช่วยให้ร้านโชห่วยที่ได้รับผลกระทบสามารถฟื้นตัวจากความเสียหายได้อย่างรวดเร็วและสามารถเปิดกิจการได้เร็วที่สุด โดยร่วมกันทำความสะอาดร้านค้า ช่วยจัดเรียงสินค้าใหม่ และมอบสินค้าให้กับร้านโชห่วย เนื่องจากร้านโชห่วยมีความใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เป็นแหล่งกระจายสินค้าสู่ชุมชนและมีส่วนช่วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ คณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยครั้งที่ 1-2562 เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมบอร์ด กยท. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย

ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ซึ่ง กยท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจด้านยางพาราครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย กยท. เป็นไปอย่างราบรื่นและตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มีความสามารถและวิสัยทัศน์ รวมถึงประสบการณ์ในการบริหารงานด้านยางพาราเข้ามาช่วยผลักดันให้นโยบายและภารกิจต่างๆ ของ กยท. เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง

ประวัติ นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทสาขาพืชไร่ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2559 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านธุรกิจ และปฏิบัติการ ได้รับการยกย่องและรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลข้าราชการดีเด่น ปี 2547 รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นปี 2551 เรื่องเครื่องต้นแบบผสมยางมะตอยกับยางพาราชนิดน้ำยางข้นแบบเคลื่อนที่ ได้รางวัล Wickham Awards จาก Global Rubber Conference 2016 และได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประสานงาน (Liaison officer) ด้านอุตสาหกรรมยาง (End User) จากสภาวิจัยยางระหว่างประเทศ (IRRDB) เป็นต้น

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT จัดอบรมหลักสูตร “พัฒนาผู้ประกอบการเข้าสู่การ ทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้โครงการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีเป็นนครอัญมณี” เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence: BWC) สามารถทำธุรกิจ ออนไลน์สู่ต่างประเทศได้ ผ่านเว็บไซต์ Thaitrade.com.โดยได้รับเกียรติจาก นายบุญทวี ศรีประเสริฐ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน

ภายในงานมีทีม Thaitrade.com โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ร่วมแนะนำเว็บไซต์ วิธีการใช้งานเว็บไซต์ และการเตรียม Content อย่างไรให้โดนใจลูกค้าจากต่างประเทศ รวมถึงมีผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพเครื่องประดับ จาก AliveNow มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการถ่ายภาพอย่างไรให้โดนใจลูกค้า สอนเทคนิคการถ่ายภาพและแต่งภาพโดยใช้แอพพลิเคชั่นแต่งภาพอย่างไรให้สินค้าน่าซื้อ

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท Paypal ประเทศไทย และ บริษัท ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาออกบู๊ธให้คำแนะนำด้านการชำระเงินและโลจิสติกส์อีกด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมอบรมในหลักสูตรฯ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าบนตลาดออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศให้ยางพาราเป็นสินค้าและบริการควบคุม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีบทบัญญัติกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาสินค้าและบริการต่ำเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งราคาสินค้าและบริการนั้นผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการฯ ต้องระวางโทษทางอาญา ดังนั้น จึงขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบกิจการยางพารา ได้รับทราบและขอความร่วมมือให้ซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยางในราคาที่เป็นธรรม

นายเยี่ยม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมบอร์ด กยท. มีมติเห็นชอบแต่งตั้ง นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง การยางแห่งประเทศไทย ขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ซึ่ง กยท. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีภารกิจด้านยางพาราครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย กยท. เป็นไปอย่างราบรื่นและตรงตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ จำเป็นต้องมีผู้บริหารที่มีความสามารถและวิสัยทัศน์ รวมถึงประสบการณ์ในการบริหารงานด้านยางพาราเข้ามาช่วยผลักดันให้นโยบายและภารกิจต่างๆ ของ กยท. เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง โดยเป็นรองผู้ว่าการฯ หญิงคนแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ชุดปฏิบัติการพิเศษ1362 ส่วนประสานความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติ สำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ร่วมกับชุดเหยี่ยวดง สปป.ที่ 1 (ภาคกลาง) สบอ.3 (บ้านโป่ง) และ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ตรวจสอบการครอบครองซากของสัตว์ป่า บริเวณบ้านเลขที่ 135 ชุมชนบ้านมอญ ถนนไผ่เตย ตำบลห้วยจระเข้ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

สืบเนื่องจากการขยายผลการตรวจยึดจับกุม เล็บหมี 1,666 เล็บ ชิ้นส่วนกะโหลกหมี 4 ชิ้น ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า มีบุคคล ชื่อ นายธรรมนูญ คงดี เป็นผู้ส่งกล่องพัสดุ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการลักลอบขนส่งเล็บหมี ผลการตรวจค้น พบซากเต่ากระ 2 ซาก และซากเต่าตนุ 1 ชาก ภายในบ้าน ซึ่งนายธรรมนูญฯ แจ้งว่ามีใบครอบครองแต่ยังหาไม่เจอ คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจอายัดไว้ เพื่อรอนายธรรมนูญฯนำหลักฐานมาแสดงกับพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 บ้านโป่ง ภายใน 15 วัน หากไม่นำมาแสดงก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

สำหรับการจับกุมตัวผู้ต้องหาในเครือข่ายลักลอบค้าซากสัตว์ป่าข้ามชาติ ประกอบด้วย 1. นายกะต่าย สีสุวัน (KATAY SISOUVANH) อายุ 28 ปี สัญชาติลาว 2. นายวราพงศ์ พันธ์แจ่ม อายุ 58 ปี ที่อยู่ 19 ซ.รามคำแหง 170 แยก 15 แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ 3. นายเหงียน วัน เฮิบ (NGUYEN VAN HOP) อายุ 39 ปี สัญชาติเวียดนาม

พร้อมของกลางซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ดังนี้ 1. ซากสัตว์ป่าบรรจุอยู่ภายในถุงพลาสติกสีฟ้าพันด้วยเทปกาว จำนวน 4 ห่อ 2. ซากสัตว์ป่าบรรจุอยู่ภายในถุงพลาสติกใส ใส่อยู่ภายในถุงดำ จำนวน 1 ถุง 3. ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ป่า จำนวน 4 ชิ้น 4. กระเป๋าเดินทางสีดำ จำนวน 1 ใบ 5. โทรศัพท์มือืถือยี่ห้อไอโฟน 5 สีชมพู จำนวน 1 เครื่อง 6. โทรศัพท์มือถือยี่ห้อไอโฟน 6 สีเงิน จำนวน 1 เครื่อง 7. แม่กุญแจ ยี่ห้อ Tri-Circle จำนวน 1 ตัว หมายเหตุ รายการที่ 1, 2 ตรวจสอบแล้วเป็นซากเล็บหมี จำนวน 1,666 ชิ้น (คาดว่าซากดังกล่าวมาจากหมี ไม่น้อยกว่า 83 ตัว)

พฤติการณ์ สืบเนื่องจากการจับกุมเครือข่ายลักลอบค้างาช้างแปรรูปรายใหญ่ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ที่ด่านศุลกากร นครพนม โดยจับกุม นางเหงียน กี่ ทัน ชาวเวียดนาม พร้อมของกลางงาช้างแปรรูปมูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ต่อมาศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปทส.ตร.) ได้สั่งการให้มีการสืบสวนขยายผลจับกุมเครือข่ายดังกล่าวในทุกมิติ ตำรวจภูธรภาค 1 โดยศูนย์ปราบปรามการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ศปทส.ภ.1) ได้มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนขยายผลเครือข่ายกลุ่มขบวนการดังกล่าว

ต่อมาเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สืบสวนทราบว่า จะมีการลักลอบขนซากสัตว์ส่งออกนอกประเทศอีกครั้ง โดยจะนำกระเป๋าบรรจุซากสัตว์โดยสารไปกับรถโดยสารประจำทางระหว่างประเทศ จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2562 เวลาประมาณ 16.๐๐ น. ทราบว่ากลุ่มขบวนการได้นำซากสัตว์บรรจุกระเป๋าเดินทางส่งไปกับรถโดยสารประจำทางสาย กรุงเทพ-ปากเซ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรียกตรวจสอบรถคันดังกล่าวได้ที่บริเวณหน้าตู้บริการตำรวจทางหลวงวังน้อย ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

หนุ่มตะพงเมืองระยอง วัย 28 ปี จบ ปวส. ช่างยนต์ หันมาทำสวนผลไม้ประสบความสำเร็จ

นายธนิต บุญสินธุ์ คนหนุ่มไฟแรงด้านการเกษตร หมู่ 11 ต.ตะพง อ.เมืองระยอง ซึ่งกำลังพาคนงานตัดแต่งกิ่งมะม่วงในสวน จึงเข้าไปพูดคุยความรู้สึกของคนหนุ่มวัยทำงานตามโรงงานหรือทำงานบริษัท แต่กลับมาทำการเกษตร

นายธนิต บุญสินธุ์ หนุ่มวัย 28 ปี พื้นเพเป็นคนตะพง เปิดเผยว่า หลังเรียนจบ ปวส. แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี ก็เข้าทำงาน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ทำงานได้เงินเดือนรวมแล้วตกเดือนละ 20,000 บาท ทำงานได้ 3 ปี ปัจจุบันลาออกจากบริษัทมาได้เกือบ 4 ปี ก็ไปบริหารจัดการบุกเบิกทำสวนผลไม้ของบิดา บนพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ (รวมพื้นที่เช่า) สวนผลไม้แบบผสมผสาน

โดยการซื้อกิ่งมะม่วง พันธุ์ “ไขแตก” ชื่อดังของ จ. ฉะเชิงเทรา นำมาทาบกิ่งมะม่วงพันธุ์อกร่อง ได้ประมาณ 2 ปี แต่ยังไม่เต็มที่เริ่มให้ผลผลิตได้ประมาณ 1 ตันครึ่ง มะม่วง “พันธุ์ไข” แตกเมืองแปดริ้ว แต่คนระยองเรียกพันธุ์ “ขายตึก หรือตกตึก” เป็นมะม่วงพันธุ์ใหม่ของระยอง มี 3 รส หวาน มัน เปรี้ยว และกรอบ ส่วนทางเหนือจะเรียกชื่อว่า “เหลืองอำไพ” นอกนั้นจะปลูกมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง น้ำดอกไม้เบอร์ 4 ฟ้าลั่น โชคอนันต์ เดือนเก้า และเขียวเสวย รวมทั้งสิ้นประมาณ 2,300 ต้น นอกนั้นจะปลูกมะปรางพันธุ์หลวงสิน 160 ต้น มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ จำนวน 2,000 ต้น กล้วยหอมทอง กล้วยหักมุกและกล้วยไข่ จำนวน 6,000 ต้น และทุเรียน 700 ต้น

นายธนิต เจ้าของสวน กล่าวว่า มะม่วงจะใช้สารช่วงเดือนเมษายน (นอกฤดู) ผลผลิตจะได้เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ราคาจะดี ตกกิโลกรัมละ 80-100 บาท ถ้าในฤดูเหลือราคากิโลกรัมละ 50-60 บาท ในฤดูก็จะใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยคอก สำหรับมะม่วงพันธุ์ “ไขแตก” คนตะพงเรียก “ขายตึกหรือตกตึก” ครั้งแรกนำมาวางขายในหมู่บ้านตะพง ปรากฏว่าขายไม่ได้เพราะคนยังไม่รู้จัก จึงใช้วิธีขายทุเรียน แถมมะม่วงพันธุ์ขายตึก หลังคนซื้อนำไปรับประทานติดใจ เพราะมีรสชาติอร่อย 3 รส คนตะพงเริ่มรู้จัก ตอนนี้ไม่ต้องแถมแล้วเริ่มขายดีมีแต่คนถามหาซื้อ

นายธนิต เจ้าของสวน กล่าวและว่าผลผลิตมะม่วง มะปราง ซึ่งมีผลผลิตจำนวนมากจะมีพ่อค้าประจำมาซื้อถึงที่สวน ส่วนมะปรางปีนี้มีผลผลิตได้ประมาณ 5 ตัน ปีนี้ราคาดีมาก มีพ่อค้าส่งออกในประเทศและต่างประเทศจองคิวซื้อถึงสวน การทำสวนผลไม้นับว่าได้ผลดีประสบความสำเร็จ มีรายได้ตลอดทั้งปีกว่า 3,000,000 บาท แต่ก็มีรายจ่ายที่สูง เพราะมีต้นทุน แต่ก็ยังดีกว่าทำงานโรงงานกว่าจะได้เงินต้องรอเงินเดือน แต่ทำสวนผลไม้เราได้เงินก้อนไม่ต้องรอให้ถึงสิ้นเดือน หนุ่มเจ้าของสวนวัยหนุ่มกล่าว

“เครื่องสังคโลก” เป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถศิลป์ที่ยังทรงคุณค่าสืบทอดอารยธรรมมานานกว่า 700 ปี และมีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วโลก การทำเครื่องสังคโลกเป็นอาชีพที่อยู่คู่กับสังคมสุโขทัยมาช้านานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษและได้มีการพัฒนาจนมาเป็นเครื่องใช้ไม้สอยให้เข้ากับยุคสมัย ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีการทำเครื่องปั้นดินเผาได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการผลิตทำให้ผู้บริโภคมีสินค้าทดแทนที่สามารถเลือกซื้อได้หลากหลายและมีราคาถูกกว่าสังคโลกมาก

ส่งผลให้กรรมวิธีในการทำเครื่องสังคโลกแบบดั้งเดิมที่เกิดจากภูมิปัญญาในท้องถิ่นเริ่มค่อยๆ สูญหายไป ผู้ประกอบการทยอยปิดตัวลง โดยมีชุมชนบ้านใหม่ตระพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย และชุมชนบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย เพียง 2 แห่งที่ยังคงมีการทำเครื่องสังคโลกสุโขทัยอยู่ในปัจจุบัน และยังคงความโดดเด่นในเรื่องของการปั้น ลวดลาย และน้ำเคลือบ ซึ่งเป็นสูตรเฉพาะของสุโขทัยไว้

แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงและใช้ระยะเวลาในการผลิตนาน ตลอดจนอัตราของเสียจากการผลิตสูงถึงร้อยละ 20-25 ต่อครั้งการผลิต รวมทั้งขาดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการพัฒนากระบวนการผลิตและขาดการสื่อสารอัตลักษณ์ให้บุคคลทั่วไปได้เข้าใจ ทำให้ผลิตภัณฑ์สังคโลกไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ซึ่งหากไม่ได้รับการพัฒนาจะทำให้การผลิตเครื่องสังคโลกสูญหายไปตามกาลเวลา และท้ายที่สุดจะไม่เหลือเครื่องสังคโลกไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษาและรู้จักเครื่องสังคโลกเพื่อเป็นการสืบสานและอนุรักษ์อีกต่อไปในอนาคต

ดังนั้น เพื่อให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ จึงได้ร่วมกับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) โดย สำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว (สพข.) ดำเนินโครงการการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผลิตภัณฑ์สังคโลกจังหวัดสุโขทัย)

โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือ เพื่อลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์สังคโลกให้มีความโดดเด่นทั้งทางด้านคุณภาพและเอกลักษณ์เพื่อใช้เป็นของฝากและของที่ระลึก รวมถึงพัฒนาการออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์ให้มีความแข็งแรงทนทานต่อการขนส่งระยะไกล ตลอดจนเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์สังคโลก โดยยังคงเอกลักษณ์ลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย ให้เกิดสำนึกรู้ถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป ส่งผลให้เป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาสำเร็จภายใต้โครงการดังกล่าวมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความสวยงาม นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สังคโลก อีกทั้งยังส่งเสริมการขายเพื่อให้สังคโลกสุโขทัยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ช่วยให้เครื่องสังคโลกยังคงอยู่และสืบสานต่อไปยังรุ่นสู่รุ่น โดยผู้ประกอบการสังคโลกที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวน 2 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มผู้ประกอบการสังคโลก อำเภอเมืองเก่า และกลุ่มผู้ประกอบการสังคโลก อำเภอศรีสัชนาลัย

ทั้งนี้ วว. ได้จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ประกอบการ ให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกระบวนการผลิตและการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์สังคโลก เพื่อสร้างมูลค่าสินค้า รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของสังคโลกสุโขทัยที่มีความร่วมสมัย มีการแนะนำประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ในงานนิทรรศการแสดงผลงานของ วว. เพื่อส่งเสริมการตลาดและเพิ่มเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ ผลการดำเนินงานของโครงการนอกจากเป็นการพัฒนาคุณภาพ รูปแบบผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแล้ว ยังช่วยปรับปรุงแนะนำกระบวนการผลิต ลดต้นทุนการผลิตลงได้ร้อยละ 19 ด้วยการลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะในขั้นตอนการเผา ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ให้ชุมชนสามารถนำรายได้ไปแก้ไขปัญหาด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมต่อไป นับเป็นการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมแสดงนิทรรศการในเรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) สำหรับฟาร์มจิ้งหรีด ในงาน International Green Week 2019 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหภาพยุโรปต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีดของไทย และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบการในยุโรปได้สอบถามรายละเอียดต่างๆ

ทั้งนี้ มกอช. ได้ดำเนินการจัดส่งข้อมูลทางวิชาการประกอบการจัดทำบันทึก (Dossier) ในการขอเปิดตลาดจิ้งหรีดไทยเพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) พิจารณาความปลอดภัยหรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการแล้ว และอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาความปลอดภัยในการบริโภคจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดตลาดนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดในสหภาพยุโรปได้ในเร็วๆ นี้

นอกจากนี้ ผู้ผลิตโปรตีนบาร์จากจิ้งหรีด และมีความพร้อมในการรับซื้อจิ้งหรีดจากประเทศไทย ได้ประสานขอเข้าพบและหารือกับเลขาธิการ มกอช. ในโอกาสการส่งออก-นำเข้า จิ้งหรีดไทย ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการยุโรปคาดว่าแมลงกินได้จะเป็นสินค้าที่น่าสนใจและมีแนวโน้มการเติบโตสูงในปีหน้า และประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกสำคัญในตลาดแมลงกินได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ ผ่านมา นายธีรวัฒน์ ภูมิจิตร เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน และ นายโจอาคิม ฟอน บราวน์ ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจชีวภาพ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประธานราชบัณฑิตยสถานศาสนจักรวาติกัน ร่วมเป็นประธาน โดยมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยได้ร่วมแสดงนิทรรศการ และจำหน่ายสินค้า ซึ่งมีประชาชนให้ความสนใจเข้าชมนิทรรศการเป็นจำนวนมาก และก็มีจิ้งหรีดเป็นจำนวนมากด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตโปรตีนบาร์จากจิ้งหรีด และมีความพร้อมในการรับซื้อจิ้งหรีดจากประเทศไทย ได้ประสานขอเข้าพบและหารือกับเลขาธิการ มกอช. ในเรื่องทิศทางและโอกาสการส่งออก-นำเข้าจิ้งหรีดไทยในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและสหภาพยุโรป ผู้ประกอบการยุโรปคาดว่าแมลงกินได้จะเป็นสินค้าที่น่าสนใจและมีแนวโน้มการเติบโตสูงในปีหน้า และประเทศไทยจะเป็นผู้ส่งออกสำคัญในตลาดแมลงกินได้นี้