ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ มีสมาชิกประมาณ 50 คน

เนื้อที่เพาะปลูกรวม 125 ไร่ เน้นปลูกแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง พวกเขานำศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 เข้ามาพัฒนาท้องถิ่น เพื่อให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ เกษตรกรที่ไม่มีงานทำ มีความหวงแหน รักษ์ ในถิ่นฐานบ้านเกิดตน สามารถกลับมาพัฒนาชุมชนโดยอาศัยแนวคิดเรื่องการทำการเกษตรไร้สารเคมี (กสิกรรมธรรมชาติ) ของ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร (อาจารย์ยักษ์) และ อาจารย์อำนาจ ยอดหมายกลาง ผู้อำนวยการโครงการกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ วังน้ำเขียว มาเป็นแนวทางในการทำการเกษตร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเป้าหมายการพัฒนาของจังหวัดยโสธร ที่สนับสนุนให้เกษตรกรทำเกษตรแบบอินทรีย์ ในสโลแกนที่ว่า “ยโสธรเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งวิถีอีสาน”

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ใส่ใจเรื่องการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินและใต้ดินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ในปี 2561 ผู้ใหญ่สมศักดิ์เริ่มจาก ขุดบ่อธนาคารน้ำแห่งที่ 1 แต่เจอปัญหาหินดินดาน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการขุดอย่างมาก ทำให้การขุดบ่อน้ำมีต้นทุนสูง แต่ก็คุ้มค่ากับการลงทุนเพราะมีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ทำเกษตร

ปีต่อมา ได้ขุดบ่อธนาคารน้ำแห่งที่ 2 เพื่อเป็นแหล่งเก็บน้ำสำรอง สำหรับการเพาะปลูกพืชหลังฤดูกาลทำนา มีการขุดบ่อน้ำบาดาลเก็บน้ำผิวดินเหมือนกับธนาคารน้ำแหล่งที่ 1 แต่ลักษณะการขุดบ่อจะไม่ลึกถึงชั้นหินดินดานเหมือนกับธนาคารน้ำใต้ดินบ่อแรก หลังจากนั้น มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำแห่งที่ 3 เพื่อใช้ทำสวนสมรมวนเกษตรครอบคลุมพื้นที่ 5 ไร่ ซึ่งมีความเพียงพอต่อการทำปลูกพืชแบบผสมผสาน

ต่อมา มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินแห่งที่ 4 และแหล่งที่ 5 ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ซับน้ำจากบ่อ ธนาคารน้ำแห่งที่ 1 โดยมีการพัฒนาสถานที่ริมบ่อเป็นที่พักอาศัยสำหรับนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนรู้ยังศูนย์เกษตรในอนาคต พื้นที่บ่อน้ำที่ 4 ใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำเลี้ยงปลานิล และบ่อน้ำแหล่งที่ 5 ใช้เลี้ยงปลาดุก เพื่อสร้างแหล่งอาหารรองรับผู้ที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ณ ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์

ใช้พื้นที่ทำเกษตรอย่างคุ้มค่า

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างคุ้มค่า โดยจัดสรรพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ 1. พื้นที่นาข้าว 2. คันนาทองคำ 3. พื้นที่ปลูกผัก 4. พื้นที่ปลูกพืชผสมผสาน 5. กิจกรรมทางด้านการประมง

พื้นที่นาของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์มีการใช้ประโยชน์ตลอดทั้งปี โดยปลูกข้าวในช่วงฤดูการทำนา หลังเสร็จสิ้นจากฤดูการทำนา ใช้พื้นที่ในการปลูกผัก พืชไร่ ปลูกหมุนเวียนกัน เพื่อการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ดินให้มากที่สุด

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวเจ้าหอมมะลิ ข้าวเหนียวหอมมะลิ ข้าวเหนียวดำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวญี่ปุ่น โดยเน้นการปลูกด้วยวิธีการปักดำเนื่องจากมีแหล่งน้ำที่เพียงพอและสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างดี ลดปริมาณวัชพืชในระหว่างทำการเพาะปลูกได้มาก มีการหมักฟางก่อนทำการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดิน เพิ่มความหลากหลายทางระบบนิเวศให้กับพื้นที่นา มีการใช้สารสกัดสมุนไพรที่ได้จากการหมัก มาใช้ในการจัดการศัตรูข้าว ทำให้ต้นข้าวของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์เติบโตแข็งแรง

ผลผลิตข้าวที่ได้ในแต่ละปีถูกนำมาขัดสีในโรงสีข้าวขนาดเล็ก ซึ่งผู้ใหญ่สมศักดิ์ได้ซื้อมาไว้ใช้งานภายในศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ เมื่อทำการขัดสีเสร็จจริงนำเมล็ดข้าวมาคัดบรรจุในถุงซีลสุญญากาศเพื่อนำไปจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร โดยวางขายที่ร้านค้าสันติอโศกและร้านเพื่อสุขภาพทั่วไป

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นจัดทำ “คันนาทองคำ” บริเวณแปลงนาของตัวเอง เพราะการจัดการแปลงนาลักษณะนี้ช่วยให้กลุ่มเกษตรกรสามารถเก็บน้ำในนาได้ในหน้าฝน เนื่องจากมีคันนาที่สูง คันนาที่ใหญ่สามารถปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล หรือพืชชนิดต่างๆ ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ผลจากการทำคันนาทองคำ ยังทำให้เกิดวัชพืชในนาข้าวลดน้อยลง เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ขังในนาข้าว วัชพืชไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เป็นการลดการสูญเสียแรงงานในการถอนหญ้าวัชพืชที่ปลูกในนา เหมือนกับการมีคันนาแบบทั่วไปที่เก็บน้ำได้น้อย นอกจากนี้ การทำคันนาทองคำยังเป็นการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้กับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการทำเกษตรได้อีกทางหนึ่งด้วย

ใครอยากกินต้องสั่งจอง

ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ได้จัดสรรพื้นที่เพื่อการปลูกพืชผักโดยเฉพาะ จำนวน 1 ไร่เศษ เพื่อผลิตผัก โดยเน้นการผลิตพืชผักเศรษฐกิจที่ค่อนข้างแปลกใหม่และมีราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภค โดยตลาดที่จำหน่ายที่สำคัญคือ บริษัท กรีนซันครอป ซึ่งสนับสนุนให้เกษตรกรศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ทำเกษตรแบบอินทรีย์

ทุกวันนี้ การทำผักอินทรีย์ของศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ มีการจัดการพืชผักแบบครบวงจร ตั้งแต่การเริ่มต้นการผลิตปุ๋ยหมักใช้เอง การเตรียมแปลงผักโดยใช้รถไถขนาดเล็ก การจัดการโรคและแมลงโดยชีววิธี เป็นต้น เมื่อผลิตได้แล้วจึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ขายทั้งในตลาดในชุมชน ตลาดในพื้นที่จังหวัด และตลาดพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ปัจจุบันศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์มีผลิตภัณฑ์แปรรูปมากถึง 40 กว่าชนิด ในปีนี้รุกขยายตลาดสินค้างาดำ งาขาว และเมิสลี่ อาหารเพื่อสุขภาพที่จำหน่ายในราคาเริ่มต้นที่ซองละ 20-25 บาทเท่านั้น ผู้สนใจสั่งซื้อได้จากร้านบ้านไทยทิพย์ ซอยนวมินทร์ 44 หรือทางเฟซบุ๊ก ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ หรือติดต่อกับ ผู้ใหญ่สมศักดิ์ ผลจันทร์ ประธานกลุ่มศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ เบอร์โทร. 064-436-6978

ผู้ใหญ่สมศักดิ์มุ่งมั่นทำงานอย่างบูรณาการระหว่าง “บ้าน วัด โรงเรียน” และเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน “รัฐ ราษฎร ปราชญ์ สื่อ” ทำให้ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์ พัฒนาอย่างรวดเร็วอย่างมีพลัง ภายใต้การสนับสนุนด้านวิชาการจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ มากมาย เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอเลิงนกทา สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธร สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร สำนักงานพาณิชย์จังหวัดยโสธร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดยโสธร ฯลฯ ทำให้สินค้าพืชผักและผลิตภัณฑ์แปรรูปมีการพัฒนาคุณภาพ ลดปัญหาเรื่องการตลาด สร้างความมั่นคง ยั่งยืน ให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ศูนย์เกษตรยั่งยืนบ้านสวาสดิ์จัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีชาวนาไทยอีสาน เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมการเกี่ยวข้าว รวมทั้งจัดค่ายยุวชนคนสร้างวัฒนธรรมยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา เพื่อการพึ่งตน จนเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ เด็กเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับพื้นฐานทางด้านกสิกรรม สอดแทรกวัฒนธรรม ความรู้ทางคุณธรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนเกิดความรักภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิด หวนคืนมาพัฒนาสังคม ด้วยอาชีพเกษตรกรรม

ส้มโอขาวแตงกวา เป็นไม้ผลเศรษฐกิจเฉพาะถิ่นของจังหวัดชัยนาท ที่ปลูกสืบต่อกันมากว่า 100 ปี ปลายปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ปลูกส้มโอเสียหายอย่างมาก สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท จึงเร่งฟื้นฟูและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกทดแทนหรือปลูกในพื้นที่ใหม่ ให้ปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสมเพื่อผลิตส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพ และเพื่อให้เกษตรกรสามารถยกระดับรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคงยั่งยืน

เมื่อปลายปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวาเสียหายไปมาก จึงต้องเร่งฟื้นฟูการปลูกและผลิตส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพให้เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท (สสข.ที่ 1) จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกในระบบเกษตรดีที่เหมาะสม GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อผลิตส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพ ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายร่วมกันอนุรักษ์ส้มโอขาวแตงกวา จีไอ หรือ GI (Geographical Indications) สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่มีคุณลักษณะพิเศษเฉพาะ ซึ่งเป็นไม้ผลท้องถิ่นพันธุ์ดั้งเดิมคุณภาพดีและเป็นไม้ผลเศรษฐกิจสำคัญ ให้คงอยู่คู่กับจังหวัดชัยนาทสืบไป

คุณลุงเสรี กล่อมน้อย เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวา เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2556 ได้เริ่มฟื้นฟูปลูกส้มโอขาวแตงกวา พื้นที่ 35 ไร่ ได้ต้นส้มโอ 800 ต้น ผ่านไปถึงปีที่ 4 ได้ผลส้มโอ 5-10 ลูก ต่อต้น รสชาติเปรี้ยวขม ต่อมาได้พัฒนาคุณภาพด้วยการใช้สารสัดจากพืช เมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 ได้ผลส้มโอมากกว่า 100 ลูกขึ้นไป ได้ขนาดผลใกล้เคียงกัน ได้น้ำหนักเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัม ต่อลูก ได้คุณภาพ คือเนื้อกุ้งใหญ่ แห้ง หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดน้อยถึงกับไม่มี

เทคนิคการพัฒนาการปลูกและผลิตส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพ คือ การใช้สารสกัดชีวภาพ ดังนี้

การผลิตและใช้น้ำสกัดชีวภาพ สูตรน้ำสกัดชีวภาพชนิดสมุนไพร ป้องกันกำจัดแมลงศัตรูส้มโอ มีส่วนประกอบ : พืช 6 ชนิด ได้แก่ หัวกลอย หัวหนอนตายอยาก ใบขี้เหล็ก สะเดา (เมล็ด และใบ) ตะไคร้หอมทั้งต้น เถาหางไหลแดง ชนิดละ 5 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม และหัวเชื้ออีเอ็ม/พด.1 อัตรา 2 ลิตร ต่อกิโลกรัม

วิธีทำ สับหรือบดส่วนประกอบทั้ง 6 ชนิด ให้ละเอียด นำไปใส่ถังพลาสติกให้เกือบเต็ม (ช่องว่างจากขอบถังลงมา 10 เซนติเมตร) ใส่กากน้ำตาลและอีเอ็มลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปิดฝาให้สนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม ประมาณ 7 วัน นำมาใช้ได้

วิธีการใช้ กรองน้ำที่ได้จากการหมัก 30 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นทุก 7 วัน ควรฉีดพ่นในช่วงแดดอ่อน หรือช่วงเช้าจะได้ผลดีมาก ส่วนกากที่เหลือจากการคั้นน้ำนำไปฝังกลบใต้ต้นไม้เพื่อเป็นปุ๋ยและขับไล่แมลงในดินได้

การผลิตและใช้ปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ

มีส่วนประกอบ : มูลค้างคาว และรำละเอียดชนิดละ 1 ส่วน แกลบดำ 3 ส่วน หัวเชื้ออีเอ็ม/พด. 1 อัตรา 30 ซีซี ต่อ 30 กรัม กากน้ำตาล 30 ซีซี และน้ำสะอาด 10 ลิตร

วิธีทำ นำแกลบดำ มูลค้างคาว รำละเอียด ใส่ถังผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำกากน้ำตาล อีเอ็ม หรือ พด. 1 และน้ำ ใส่ลงไปผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพื่อให้มีความชื้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ วิธีตรวจความชื้นให้ใช้มือกำส่วนผสมให้แน่นเป็นก้อนถ้าแบมือออกใช้นิ้วสัมผัสส่วนผสมที่เป็นก้อนแตกออกแสดงว่ามีความชื้น ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าแตกไม่เป็นก้อนแสดงว่าความชื้นน้อยไป ให้ผสมกากน้ำตาล อีเอ็ม และน้ำ เทราดลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน แต่ถ้าไม่แตกกระจายแสดงว่าเปียกเกินไป ให้ใส่แกลบดำผสมลงไปเพิ่มอีก จนกว่าจะได้ความชื้นที่ 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้ความชื้นตามที่ต้องการแล้ว นำไปกองกับพื้นปูนหรือบนผ้าพลาสติก สูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร นำกระสอบป่านคลุมปิดให้มิดชิด หมักไว้ 3 วัน ก็นำมาใช้ได้ โดยมีวิธีการตรวจสอบก่อนใช้ ดังนี้

ตรวจสอบอุณหภูมิในกองปุ๋ยหมัก โดยใช้มือแหย่ลงไปในกอง ถ้าอุณหภูมิร้อนกว่าอุณหภูมิปกติรอบตัวเรา แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ แต่ถ้าอุณหภูมิในกองปุ๋ยหมักเท่ากับอุณหภูมิปกติรอบตัวเรา แสดงว่าใช้ได้
ดมกลิ่นปุ๋ยที่หมักไว้ ถ้ามีกลิ่นหอมอมเปรี้ยวแสดงว่าใช้ได้ แต่ถ้ามีกลิ่นเหม็น ให้ใช้ อีเอ็ม กากน้ำตาล น้ำ ผสมกันแล้วเทราดลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน หมักไว้อีกจนกว่าจะใช้ได้
วิธีการใช้

1.ใช้โรยรอบทรงพุ่มสำหรับส้มโอ ให้ดูอายุไม้ผลเป็นหลัก เช่น ส้มโอมีอายุ 1 ปี ให้ใช้ 1 กิโลกรัม ต่อต้น

2.ใช้ผสมดินสำหรับรองก้นหลุมที่ปลูกใหม่ โดยผสมปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ อัตราส่วน 1:4 ของดินที่ใส่ลงในหลุม

3.ใช้หมักฟางข้าวในนา โดยโรยฟางข้าว ไร่ละ 100 กิโลกรัม และใช้ อีเอ็ม ฉีดพ่นให้เปียกชุ่ม แล้วหมักไว้ 15 วัน ได้ใช้น้ำสกัดชีวภาพอีก 2 สูตร คือ ฮอร์โมนไข่เร่งดอกและฮอร์โมนผลไม้สุกเร่งการเจริญเติบโต ดังนี้

สูตร ฮอร์โมนไข่เร่งดอก มีส่วนประกอบ : ไข่ไก่ทั้งฟองและกากน้ำตาลชนิดละ 5 กิโลกรัม ลูกแป้งข้าวหมาก 1 ลูกและยาคูลท์หรือนมเปรี้ยว 1 ขวด

วิธีทำ นำไข่ไก่ไปปั่นให้ละเอียดแล้วนำไปใส่ภาชนะผสมกับกากน้ำตาล คลุกเคล้าให้เข้ากัน บดลูกแป้งข้าวหมากให้ละเอียด ยาคูลท์หรือนมเปรี้ยวผสมให้เข้ากัน เสร็จแล้วนำไปใส่ในถังพลาสติก ปิดฝาให้สนิท ตั้งในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก หมักไว้ 7 วัน สามารถนำไปใช้ได้

วิธีการใช้ นำน้ำสกัดชีวภาพ 5-10 ซีซี ผสมกับน้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นทุก 5-7 วัน ฉีดพ่นในขณะที่มีแสงแดดอ่อนหรือในช่วงเช้า ก่อนฉีดพ่นควรบำรุงต้นส้มโอให้เติบโตสมบูรณ์ก่อน และหยุดฉีดพ่นในขณะที่ต้นพืชกำลังออกดอก

คุณลุงเสรี กล่อมน้อย เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวา เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า เมื่อต้นส้มโอได้รับน้ำสกัดและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพพอเพียง ได้รับน้ำสม่ำเสมอ ทำให้ต้นเติบโตสมบูรณ์ และนับตั้งแต่ติดดอกไปถึงติดผลแก่สุกนาน 8 เดือน ได้ตัดเก็บผลส้มโอที่แก่สุกตามระยะเวลาคือ เนื้อกุ้งใหญ่ แห้ง หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดน้อยหรือไม่มี แต่ละปีได้เก็บผลส้มโอ 2 ครั้ง คือช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน ช่วงที่สองเดือนมีนาคม-เมษายน ได้ผลผลิตเฉลี่ยกว่า 100 ลูก ต่อต้น พ่อค้าจะเข้ามาซื้อที่สวน 40 บาท ต่อกิโลกรัม จะไม่ลดราคาให้ แต่ใช้วิธีแถมผลส้มโอ เฉลี่ยต่อต้นจะมีรายได้ตั้งแต่ 3,000 บาท ขึ้นไป เป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักต้นทุนการผลิต เป็นรายได้พอเพียงที่ทำให้มีวิถีการยังชีพมั่นคง

จากเรื่อง ใช้น้ำสกัดและปุ๋ยหมักแห้งชีวภาพ ลดทุนและพัฒนาคุณภาพส้มโอขาวแตงกวา เป็นไม้ผลท้องถิ่นที่เนื้อกุ้งใหญ่ แห้ง หวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมล็ดน้อยหรือไม่มี สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณลุงเสรี กล่อมน้อย เลขที่ 445 หมู่ที่ 8 ตำบลเขาท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โทร. 081-987-1983 หรือ คุณชมพูนุช หน่อทอง สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท

ส้มโอขาวแตงกวา ไม้ผลเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาท ที่ปลูกมานานกว่า 100 ปี ปลายปี 2554 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวาส่วนใหญ่เสียหาย สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท จึงได้ส่งเสริมให้เกษตรกรฟื้นฟูปลูกทดแทนในพื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่ ให้ผลิตด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพ แล้วทำให้เกษตรกรมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตมั่นคง วันนี้จึงนำเรื่อง ส้มโอขาวแตงกวา ไม้ผลเศรษฐกิจเงินแสนของเกษตรกรที่ศิลาดาน มาบอกเล่าสู่กัน

คุณมาโนช เทียนขาว เกษตรอำเภอมโนรมย์ เล่าให้ฟังว่า จุดเด่นของส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพคือ มีเนื้อกุ้งใหญ่ แห้ง สีน้ำผึ้งทอง นุ่มเนื้อ รสหวานซ่อนเปรี้ยว อร่อย เป็นไม้ผลเศรษฐกิจของจังหวัดชัยนาทที่ปลูกมานานกว่า 100 ปี เมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้พื้นที่ปลูกส้มโอขาวแตงกวาส่วนใหญ่เสียหายเกือบทั้งหมด

สำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท กับหลายหน่วยงานส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกส้มโอขาวแตงกวา ในรูปแบบ “แปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาตำบลศิลาดาน” เกษตรกรเข้าร่วม 107 ราย พื้นที่ 430 ไร่ วัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป็นศูนย์กลางรองรับองค์ความรู้ ให้เกษตรกรแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เพื่อลดต้นทุนการผลิต ให้ผลิตด้วยระบบเกษตรดีที่เหมาะสม หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อให้ได้ส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรที่ร่วมจัดทำแปลงใหญ่มีรายได้และมีความมั่นคง

คุณลุงเรวัตร อินทร์เอม เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวา เล่าให้ฟังว่า ปลูกส้มโอขาวแตงกวา 7 ไร่ ที่ตำบลศิลาดาน อำเภอมโนรมย์ ปลูกมาหลายสิบปี เมื่อปี 2554 เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้ต้นส้มโอขาวแตงกวาตายเกือบหมด

สำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ สำนักงานเกษตรจังหวัดชัยนาท กับหลายหน่วยงาน ได้ส่งเสริมเกษตรกรให้รวมกลุ่มปลูกส้มโอแบบ แปลงใหญ่ส้มโอขาวแตงกวาตำบลศิลาดาน และก็ได้รับคัดเลือกคุณลุงเรวัตร อินทร์เอม ให้เป็นประธานแปลงใหญ่ เป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางรองรับองค์ความรู้ ให้ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิต และได้ส้มโอขาวแตงกวาคุณภาพ

คุณลุงเรวัตร อินทร์เอม ในฐานะสมาชิกก็ได้รับพันธุ์ส้มโอขาวแตงกวาจากสำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ มาปลูกในพื้นที่ 2 แปลง จำนวน 135 ต้น ได้เตรียมพื้นที่แปลงปลูกแล้วปลูกระยะห่างระหว่างต้นและแถว 8×8 เมตร ได้ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 1 ศอก หรือด้านละ 50 เซนติเมตร ไม่ได้ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแห้งรองก้นหลุมเพราะสภาพพื้นที่แปลงปลูกหลังถูกน้ำท่วมทำให้มีแร่ธาตุอาหารพอเพียงต่อการเจริญเติบโตได้ดี

จากนั้นนำต้นพันธุ์ลงปลูก เกลี่ยดินกลบ ปักไม้หลักผูกยึดกับต้นพันธุ์เพื่อป้องกันการโค่นล้ม แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม หลังการปลูก ได้ใส่ปุ๋ยและให้น้ำบำรุงต้นตั้งแต่ระยะแรกไปถึงเก็บเกี่ยว การใส่ปุ๋ยบำรุงต้น ครั้งแรก ใส่ปุ๋ยสูตร 25-7-7 ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยห่างจากครั้งแรก 1 เดือนครึ่ง เป็นระยะที่ต้นส้มโอขาวแตงกวาเริ่มติดดอกได้ใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น

ครั้งที่ 3 เป็นระยะติดผลขนาดเท่ากำมือ ได้ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-16 ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น และเมื่อผลส้มโอขาวแตงกวามีขนาดใหญ่ขึ้น ได้ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 ในอัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ทุกครั้งหลังการใส่ปุ๋ยได้ให้น้ำแต่พอชุ่ม การใส่ปุ๋ยและให้น้ำที่เหมาะสมพอเพียง เมื่อเข้าสู่ปีที่ 7 ต้นส้มโอขาวแตงกวาจะเจริญเติบโตสมบูรณ์ ทำให้ได้เนื้อส้มโอที่มีรสหวานฉ่ำอร่อยได้คุณภาพมาตรฐาน

คุณลุงเรวัตร เล่าให้ฟังในท้ายนี้ว่า Royal Online V2 ผลผลิตส้มโอขาวแตงกวาจะออกสู่ตลาด 2 ช่วง คือ ในเดือนกรกฎาคม-กันยายน และจะออกในเดือนมีนาคม-เมษายน การตัดเก็บพ่อค้าและทีมงานจะเข้ามาซื้อที่สวน พร้อมใช้กรรไกรตัดเก็บและไม่ทำให้ต้นส้มโอขาวแตงกวาเสียหาย แต่ละปีจะได้ผลผลิต 4-5 ตัน ขายส่งให้กับพ่อค้า 50-60 บาท ต่อกิโลกรัม ราคานี้ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด ก็จะทำให้มีรายได้ 200,000-250,000 บาท หรือ 280,000-350,000 บาท เป็นรายได้ที่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต้นทุน แต่ก็พอเพียงให้ครอบครัวดำรงชีพได้อย่างมั่นคง

คุณลุงสุภาพ สุขสำราญ เกษตรกรผู้ปลูกส้มโอขาวแตงกวา เล่าให้ฟังว่า ปลูกส้มโอขาวแตงกวา 10 ไร่ ปลูกมานานหลายสิบปี เมื่อปี 2554 ถูกน้ำท่วมตายไปเกือบทั้งหมด ปี 2555 จึงได้ฟื้นฟูปลูกใหม่ในพื้นที่เดิม โดยได้รับกิ่งพันธุ์ส่วนหนึ่งจากสำนักงานเกษตรอำเภอมโนรมย์ และกิ่งพันธุ์ที่เก็บไว้ รวม 200 กิ่งพันธุ์ ในช่วงนั้นกิ่งพันธุ์ที่สูง 60-70 เซนติเมตร จะซื้อขาย อยู่ที่ 80 บาท ต่อกิ่ง หรือกิ่งพันธุ์ที่สูง 80-100 เซนติเมตร จะซื้อขาย 100 บาท ต่อกิ่ง

การปลูก ได้ขุดหลุมปลูกกว้าง ยาว และลึก ด้านละ 1 ศอก นำกิ่งพันธุ์ลงปลูก เกลี่ยดินกลบ ปักไม้หลักผูกยึดกับกิ่งพันธุ์เพื่อป้องกันการโค่นล้ม แล้วให้น้ำแต่พอชุ่ม ปลูกระยะห่างระหว่างต้นและแถว 8×8 เมตร

การปฏิบัติดูแลรักษา ในช่วงเริ่มออกดอกได้ใส่ปุ๋ยสูตร 18-46-0 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ในช่วงออกดอก 1 เดือน ได้ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น ในช่วงผลส้มโออายุ 5 เดือน ได้ใส่ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อต้น หรือในช่วงที่ผลส้มโอมีอายุ 6 เดือน ได้ใส่ปุ๋ยสูตร 0-0-60 อัตรา 0.5 กิโลกรัม ต่อต้น

การให้น้ำ ได้จัดการให้น้ำด้วยระบบแบบสปริงเกลอร์ 3 วัน ต่อครั้ง การให้น้ำแต่ละครั้งนาน 4 ชั่วโมง การเพิ่มหรือลดปริมาณการให้น้ำได้พิจารณาดูความชุ่มชื้นดินหรือดินขาดน้ำหรือไม่

แต่ละปีจะได้ผลผลิตส้มโอขาวแตงกวาทั้งนอกและในฤดู 5-6 ตัน ขายส่ง 50-60 บาท ต่อกิโลกรัม จะมีรายได้ 250,000-300,000 บาท หรือ 300,000-360,000 บาท เมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วก็มีรายได้พอเพียงให้นำส่วนหนึ่งไปใช้เป็นต้นทุนการผลิตครั้งต่อไป และเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งผลให้ครอบครัวยังชีพได้อย่างมั่นคง