ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ

แสดงความยินดีวันที่ 17 ตุลาคม 2560 ว่าที่ร้อยตำรวจโท ดร.มนัส โนนุช กรรมการและผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผน มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ และรองประธาน สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำแจกันดอกไม้จากมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ แสดงความยินดีกับ พลเอก ธงชัย สาระสุข ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตำรวจโท ดร.มนัส โนนุช ได้กล่าวขอบคุณที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา มีความร่วมมือกับ มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ มาหลายปี ตั้งแต่วาระ พลเอก ทวีป เนตรนิยม เป็น ผบ.นทพ.

โอกาสนี้ ว่าที่ร้อยตำรวจโท ดร.มนัส โนนุช และ พลเอก ธงชัย สาระสุข ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหารือร่วมกัน ในประเด็นภารกิจการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ในด้านต่างๆ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความกินดีอยู่ดี และมีความสุข ตามแนวพระราชดำริ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ร่วมกัน บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยมิตรภาพอันอบอุ่น ซึ่ง พันเอก กฤตพันธุ์ รักใคร่ ที่ปรึกษา ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ และ รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ รักษาการ ผู้อำนวยการ ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ เข้าร่วมหารือด้วย

โดย พลเอก ธงชัย สาระสุข ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กล่าวว่า นทพ. มีความยินดีในการร่วมมือกับมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ซึ่งการช่วยเหลือประชาชนนั้น มิใช่เป็นเพียงภารกิจหรืองานในหน้าที่ แต่เป็นเสมือนคำสัญญาที่มอบไว้แก่ประชาชน ตามภารกิจหลักของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (นทพ.) หรือกองอำนวยการกลาง รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (กรป.กลาง) เริ่มขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรี มีมติให้ก่อตั้งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนาเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2505 ในสมัย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี

โดยเป็นหน่วยขึ้นตรงกับ สำนักผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในขณะนั้น โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการ ปัจจุบันกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนนามหน่วยเป็น “หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2540 และเป็นหน่วยขึ้นตรง กองบัญชาการทหารสูงสุด เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปฏิบัติภารกิจเป็นไปในลักษณะการพัฒนา เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ และเสริมความมั่นคงของชาติ ให้มีความคล่องตัว และรวดเร็วในการปฏิบัติงาน

หลังการหารือกับ พลเอก ธงชัย สาระสุข ผบ.นทพ. แล้ว ว่าที่ร้อยตำรวจโท ดร.มนัส โนนุช ได้มอบแจกันดอกไม้จากมูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ แสดงความยินดีกับ พันเอก กฤตพันธุ์ รักใคร่ ที่ปรึกษา ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ ในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง รองผู้อำนวยการ สำนักงานสนับสนุน หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่ง พันเอก กฤตพันธุ์ รักใคร่ ได้ร่วมงานกับ ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ มาตั้งแต่ตุลาคม 2558 เมื่อครั้งรับตำแหน่ง ผู้บังคับหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 34 (นพค. 34) จนถึงปัจจุบัน

ติดต่อประสานงาน รศ.ดร.จุรีย์รัตน์ ลีสมิทธิ์ (อาจารย์แมว) รักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ “หนึ่งใจ…ช่วยเหลือเกษตรกร” มูลนิธิมิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ สำนักงาน คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม 73140 หรือ อีเมล molku@ku.ac.th หรือ ไลน์ไอดี ajmaew

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายแก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2560 ว่าจากนี้ต่อไปสินค้าเกษตรทุกตัวจะต้องมีคนรับผิดชอบ กระทรวงเกษตรฯต้องร่วมบูรณาการการทํางานร่วมกันกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับสินค้าแต่ละตัว ดังนั้นจากนี้ต่อไปหากเกิดปัญหาราคาสินค้าล้นตลาด ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ข้าว ฯลฯ ส่งผลทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ เกษตรกรขายได้ในราคาต่ำกว่าต้นทุนการเพาะปลูก จะต้องมีคนรับผิดชอบ อาทิ ข้าวราคาร่วม ต้องหาคนรับผิดชอบได้

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า นายสมคิดได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องหรือเชียวชาญเกี่ยวกับสินค้าเกษตรรายสินค้าไปแต่งตั้งคนรับผิดชอบ ภายใต้ชื่อ มิสเตอร์สินค้าเกษตร 5 สินค้าเกษตร คือ มิสเตอร์ยางพารา มิสเตอร์ข้าว มิสเตอร์ปาล์มน้ำมัน มิสเตอร์มันสำปะหลัง และมิสเตอร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อสร้างกลไกการทํางานร่วมกันในรายสินค้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิช์ จะเป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งผู้รับผิดชอบรายสินค้าที่สามารถประสานงานและบูรณาการการทํางานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบครบวงจรตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง

สำหรับผมในตำแหน่งอธิบดีกรมข้าว ได้รับแต่งตั้งเป็นมิสเตอร์ข้าว ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) รับแต่งตั้งเป็นมิสเตอร์ยางพารา และทำงานประสานกับ กรมวิชาการเกษตร ส่วนมิสเตอร์ปาล์มน้ำมัน มิสเตอร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมิสเตอร์มันสำปะหลังยังไม่มีความชัดเจนว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ โดยนายสมคิดให้แนวคิดในที่ประชุมว่า ต้องสร้างความชัดเจนในเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งต้นทาง เช่น ลดพื้นที่ การสร้างอาชีพเสริมแก่ชาวสวนยาง กลางทาง เช่น การเพิ่มคุณภาพและแปรรูปยางพารา และปลายทาง เช่น การดูดซับปริมาณยางออกจากตลาด การใช้ยางในประเทศ และตลาดรับซื้อยางพารา

“ในฐานะอธิบดีกรมการข้าว ทำหน้าที่เป็นมิสเตอร์ข้าวมานานแล้ว โดยการทำงานตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ขอให้มีการบูรณาการโดยขยายความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนเพื่อยกระดับสินค้าข้าวของไทย การที่รองนายกรัฐมนตรีสั่งให้ตั้งมิสเตอร์สินค้าเกษตรเพื่อกรณีมีปัญหา จะได้ประสานและหาคนรับผิดชอบและตอบคำถามชาวนาโดยตรงได้”

กรมปศุสัตว์เดินหน้าสานต่อโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ “ในหลวง ร.9” ส่งมอบแม่โคเนื้อให้บริการเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงแล้วกว่า 84,377 ตัว กระบือ 36,336 ตัว เพิ่มช่องทางสร้างอาชีพเสริมรายได้ ลดความเสี่ยงอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยว

นายวีรชาติ เขื่อนรัตน์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยความคืบหน้าการดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ (ธ.ค.ก.) ว่า ตามที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาตั้งแต่ปี 2522 รวมระยะเวลากว่า 38 ปี กระทั่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์ได้ให้บริการและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยแล้วกว่า 250,000 ราย โดยส่งมอบแม่พันธุ์โคเนื้อของธนาคารฯให้เกษตรกรรายย่อยเลี้ยงแล้ว จำนวน 84,377 ตัว ขณะเดียวกันยังมีการให้บริการแม่พันธุ์กระบือแก่เกษตรกร 36,336 ตัว ซึ่งครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ

ปี 2561 นี้ ธนาคารฯตั้งเป้าส่งมอบแม่พันธุ์โค-กระบือให้แก่เกษตรกรรายย่อยเพิ่มเติมไม่น้อยกว่า 9,000 ตัว ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการฯ และคาดว่าจะมีลูกโค-กระบือของธนาคารฯเกิดใหม่ไม่น้อยกว่า 4,000 ตัว ส่งต่อให้เกษตรกรที่ต้องการนำไปเลี้ยง ถือเป็นช่องทางสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเพิ่มขึ้น สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพเกษตรเชิงเดี่ยวได้ นอกจากนั้น เกษตรกรยังมีผลพลอยได้ คือ มูลโค-กระบือ เป็นปุ๋ยคอกนำไปใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินในไร่นา สามารถช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเคมีได้ค่อนข้างมาก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตรได้อีกด้วย หรืออาจจำหน่ายในรูปมูลโค-กระบือแห้ง ราคากระสอบละ 30-40 บาท ทำให้มีรายได้เสริมเพิ่มมากขึ้น

รองอธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวด้วยว่า สำหรับแนวทางการสานต่อโครงการธนาคารโค-กระบือฯนั้น กรมปศุสัตว์ยังคงมุ่งสนองพระราชดำริตามรอยเบื้องพระยุคลบาทอย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรพอเพียง และเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมสนับสนุนการบริหารจัดการโครงการฯโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม เน้นให้เกิดชุมชนหรือหมู่บ้านที่มีส่วนร่วมในการกำกับดูแลกันเองในชุมชนนั้นๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในชุนชนอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมการใช้แรงงานจากโค-กระบือและส่งเสริมการใช้ปุ๋ยคอกเพื่อลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย

“ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ได้ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกร ธ.ค.ก. พร้อมสร้างฟาร์มต้นแบบกว่า 900 ฟาร์ม และดำเนินโครงการส่งเสริมอาชีพให้อาสาปศุสัตว์ภายใต้โครงการธนาคารฯ จำนวน 359 ราย นอกจากนี้ ยังสนับสนุนพันธุ์โค-กระบือแก่เกษตรกร ทั้งยังให้บริการดูแลสุขภาพโค-กระบือของธนาคารฯด้วย คาดว่า การดำเนินโครงการฯนี้ จะช่วยสืบสานพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้เกษตรกรที่ยากจน และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มจำนวนโค-กระบือภายในประเทศมากขึ้นในอนาคต” นายวีรชาติกล่าว

“บิ๊กป้อม” ไฟเขียวของขวัญปีใหม่ แก้ประมงผิดกฎหมาย จ่อชง ครม.ซื้อเรือประมงคืน 1,900 ลำ

เมื่อเวลา 11.00 น. พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ประกอบด้วย 1.เห็นชอบในหลักการในการรับซื้อเรือประมงคืน จากข้อเสนอของสมาคมประมงฯ โดยมีเรือประมงที่จะไม่ทำการประมงต่อไปประมาณ 1,900 ลำ จึงเสนอให้รัฐบาลรับซื้อคืน ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อของบประมาณในการซื้อเรือประมง โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับการควบรวมใบอนุญาตการทำประมง ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้สั่งการให้เร่งรัดเรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุด เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่แก่ชาวประมง โดยจะประกาศดำเนินการได้ในวันที่ 27 ธันวาคมนี้ และเมื่อเรือประมงได้ลดจำนวนลง จากการซื้อคืนของรัฐพร้อมกับมีการควบรวมใบอนุญาต ก็จะทำให้เรือในท้องทะเลอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และเชื่อว่าจะสามารถยืดระยะเวลาการทำประมงจากเดิมที่ให้ 120 วัน ให้อยู่ในเวลาที่เหมาะสมกับความต้องการชาวประมงได้

พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า 2.เห็นชอบหลักการจัดตั้งกองทุนพัฒนาเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิรูปด้านประมง โดยกรมประมงได้เสนอให้นำเงินค่าธรรมเนียม ในการจดทะเบียนเรือประมงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีประมาณ 130 ล้านบาท มาใช้ในกองทุนนี้ 3.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงที่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารออมสินได้เสนอวงเงินสินเชื่อต่ำ 650 ล้านบาท เชื่อว่าจะช่วยเหลือชาวประมงที่ได้รับผลกระทบได้

“พล.อ.ประวิตร ย้ำให้ทุกส่วนราชการช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาให้ได้ เพื่อปลดล็อกใบเหลืองจากอียู เพราะถ้าทำไม่ได้ ธุรกิจประมงทั้งระบบที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท จะได้รับผลกระทบ และถ้าปล่อยปละละเลย จะถือเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ โดยผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบ ต้องทำให้ได้เหมือนที่เราแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน และการละเมิดลิขสิทธิ์” พล.ท.คงชีพ กล่าว

กยท. แจงมาตรการ หยุดกรีดยาง ย้ำ ดำเนินการในพื้นที่ของรัฐ 3 แห่ง คือ กยท. กวก. และ ออป. จำนวนประมาณ 100,000 ไร่ เท่านั้น ยันไม่กระทบเกษตรกรในพื้นที่อื่น ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด ช่วงสั้นๆ ม.ค. – มี.ค. 61 เท่านั้น

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ประเด็นมาตรการหยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐบาล 3 หน่วยงาน ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย กรมวิชาการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จำนวนประมาณ 100,000 ไร่ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2561 ซึ่งได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ให้ช่วยดำเนินมาตรการหยุดกรีดยางในช่วงเวลาเดียวกันและปริมาณเท่ากันกับประเทศไทย จะเป็นการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด เพื่อกระตุ้นให้มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคายางมีการขยับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย โดย กยท. ในฐานะตัวแทนประเทศไทยได้มีข้อตกลงร่วมกับสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ประชุมเมื่อวันที่ 27 – 30 พฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีการกำหนดมาตรการร่วมกันของประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกทั้งการควบคุมการส่งออกยางปริมาณ 350,000 เมตริกตัน และการบริหารจัดการการผลิตของแต่ละประเทศ โดยการดำเนินการจะเป็นไปตามสัดส่วนของพื้นที่ปลูกแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณการผลิตยางของโลก

สำหรับมาตรการของประเทศไทย จากการประชุม กนย. kodiakcamera.com ครั้งที่ผ่านมา มีการเห็นชอบเสนอมาตรการและโครงการต่างๆ ทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท จะช่วยดูดซับปริมาณยางออกจากระบบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท จะช่วยให้ผู้ประกอบกิจการยางขยายกำลังการผลิต จะใช้ยางในปริมาณเพิ่มมากขึ้น อย่างน้อย ประมาณ 35,550 ตัน/ปี และการรับซื้อยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจำนวน 2 แสนตัน เพื่อป้อนเข้าหน่วยงานรัฐในการนำไปใช้ภายในประเทศ รวมทั้ง โครงการควบคุมปริมาณผลผลิตที่มีมาตรการเร่งรัดการโค่นของภาคเกษตรกร และลดผลผลิตของหน่วยงานภาครัฐ ในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2561 ล้วนเป็นแนวทางที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด โดย กยท. จะเสนอให้ประเทศสมาชิก ITRC ทราบต่อไป เพื่อให้ปฏิบัติเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หลังจากผ่านมติ ครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะมีการประชุมร่วมกันในต้นเดือนหน้า ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย

สศก.เปิดผลวิเคราะห์การดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อฯ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า 54,040 ล้านบาท ผ่านการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและรายได้ครัวเรือนเผย กิจกรรมด้านฟาร์มชุมชนช่วยลดค่าครองชีพและสร้างรายได้หมุนเวียนให้เกษตรกรในชุมชนต่อเนื่องเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมยั่งยืนที่ กษ. ควรส่งเสริม

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนและเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชน ด้วยการน้อมนำหลักการ ทฤษฎีและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่าง ๆ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานไว้มาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรในชุมชน โดยกำหนดเป้าหมายพื้นที่ 9,101 ชุมชน ประกอบด้วย ชุมชนใน ศพก. หลัก 882 แห่ง และเครือข่าย 8,219 แห่งและคัดเลือกเกษตรกรชุมชนละ 500 ราย รวม 4,550,500 รายงบประมาณรวมทั้งสิ้น 22,895 ล้านบาท

ในการนี้ สศก. ได้วิเคราะห์ผลลัพธ์ของโครงการในการกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้า โดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ พันธุ์พืช/สัตว์ และค่าจ้างแรงงานของโครงการ พบว่า โครงการมีการใช้จ่ายงบประมาณไปทั้งสิ้น 19,366.49 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าวัสดุ อุปกรณ์ฯ จำนวน9,659.54 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นการจัดซื้อวัสดุสำคัญสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในการทำการผลิต เช่น มูลสัตว์ เศษพืช เศษผัก หญ้าแฝก ไม้ และผลไม้ โดยหาซื้อจากภายในชุมชนเองหรือชุมชนใกล้เคียง ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะส่งต่อเศรษฐกิจชุมชนสองทางด้วยกัน คือรายได้จากการจำหน่ายวัสดุในท้องถิ่นจะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันจากร้านค้าในชุมชน และรายได้จากการซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรภายในชุมชนและพื้นที่ใกล้ จากการนำวัสดุ อุปกรณ์ วัตถุดิบ พันธุ์พืช/สัตว์ ไปใช้ทำการผลิต ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่า21,451 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าจ้างแรงงาน9,706.95 ล้านบาท ซึ่งจ้างเกษตรกรในชุมชนมาทำงานในโครงการได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจชุมชนผ่านการนำรายได้จากค่าจ้างมาใช้จ่ายบริโภคสินค้าในชีวิตประจำวันจากร้านค้าภายในชุมชนและใกล้เคียง เช่น ข้าวสาร เนื้อสัตว์ เครื่องดื่ม ผลไม้ ยานพาหนะและเชื้อเพลิงก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่าสูงถึง32,589 ล้านบาท สรุปโครงการ 9101 ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนคิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น54,040 ล้านบาท

นอกจากนี้ ภายในโครงการ 9101 ยังมีกิจกรรมฟาร์มชุมชนซึ่งเป็นการจัดทำแปลงและโรงเรือนเพาะปลูกรอบ ๆ แหล่งน้ำในโครงการทั้งการปลูกพืชและไม้ผล เช่น ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว ข้าวโพด พริก มะเขือ น้อยหน่า ฝรั่ง กล้วย การเลี้ยง ปศุสัตว์ เช่น ไก่ไข่และเป็ดไข่ การประมง เช่น การเลี้ยงปลาดุก ปลานิลและกบ การจัดสร้างโรงเรือนสำหรับเพาะเห็ดนางฟ้าและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การแปรรูปสินค้าเกษตรและการจัดให้มีร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของฟาร์ม ซึ่งฟาร์มชุมชนนี้ได้ก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีและการร่วมไม้ร่วมมือกันระหว่างเกษตรกร ผู้นำชุมชน และหน่วยงานภาคีที่รับผิดชอบ ผ่านการการรวมกลุ่มและร่วมกันจัดทำแผนการบริหารจัดการฟาร์มทั้งการผลิต การแปรรูป และการตลาดซึ่งฟาร์มชุมชนยังก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนแก่เกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เกษตรกรในโครงการยังสามารถนำความรู้ไปต่อยอดในพื้นที่ของตนเองได้อีกด้วย

โครงการ 9101 เป็นกิจกรรมที่ดีของ กษ. ที่สามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรตรงตามวัตถุประสงค์เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ โครงการ 9101 ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจชุมชนสูงถึง 2.8 เท่าของงบประมาณโครงการ ดังนั้น หากในอนาคตรัฐบาลจะมีนโยบายในการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยและกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีกควรเน้นการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและจะต้องเป็นรูปแบบที่มีกิจกรรมการผลิตที่ต่อเนื่อง เกษตรกรสามารถพัฒนาต่อยอดได้เองช่วยลดค่าครองชีพให้กับเกษตรกรและสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างเพียงพอจนสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ เช่น กิจกรรมฟาร์มชุมชน

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ(กนย.)ครั้งที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ เห็นชอบเสนอมาตรการและโครงการต่างๆ ทั้งโครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท จะช่วยดูดซับปริมาณยางออกจากระบบ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 15,000 ล้านบาท จะช่วยให้ผู้ประกอบกิจการยางขยายกำลังการผลิต และใช้ยางในปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยประมาณ 35,550 ตันต่อปี และการรับซื้อยางจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 200,000 ตัน เพื่อป้อนเข้าหน่วยงานรัฐในการนำไปใช้ภายในประเทศ รวมทั้งโครงการควบคุมปริมาณผลผลิตที่มีมาตรการเร่งรัดการโค่นของภาคเกษตรกร และลดผลผลิตของหน่วยงานภาครัฐ ในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2561 ล้วนเป็นแนวทางที่จะส่งเสริม และสนับสนุนการลดผลผลิตยางออกสู่ตลาด