สงสัยพบ ‘แอนแทรกซ์’ ในจังหวัดตาก สธ.ส่งทีมลงพื้นที่สอบสวนโรค

กรมควบคุมโรคสงสัยเชื้อ “แอนแทรกซ์” ระบาดในพื้นที่จังหวัดตาก ส่งเจ้าหน้าที่ลงสอบสวนโรค หลังได้ข้อมูลชาวบ้านชำแหละแพะจากประเทศเพื่อนบ้าน เฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง 25 คน ถึง 5 ธันวาฯ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า มีรายงานข่าวพบผู้ป่วย 3 ราย สงสัยเป็นโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ในพื้นที่ ตำบลมหาวัน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ล่าสุด กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและได้ส่งเจ้าหน้าลงสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ตาก พบว่าชาวบ้านได้นำแพะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และได้ชำแหละแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านเพื่อปรุงอาหาร หลังจากนั้นเริ่มมีตุ่มเนื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณผิวหนัง จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และแพทย์วินิจฉัยเบื้องต้นสงสัยโรคแอนแทรกซ์

นพ. สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคติดต่อที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่าและสัตว์เลี้ยง เช่น โค แพะ หรือแกะ โดยสัตว์ติดจากการเล็มหญ้าที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) เข้าไป เชื้อโรคนี้จะทำให้สัตว์ป่วยและตายอย่างรวดเร็ว

โรคแอนแทรกซ์สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนจากการสัมผัสทางผิวหนังที่มีบาดแผล หรือติดต่อจากการหายใจ หรือผ่านการกินเนื้อสัตว์ปนเปื้อนเชื้อ ในประเทศไทยพบการติดทางผิวหนังโดยการสัมผัสสัตว์ป่วย และผลิตภัณฑ์สัตว์ และติดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ป่วยแล้วไม่ได้ปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วถึง

ด้าน น.สพ.ธีรศักดิ์ ชักนำ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า จากการสอบสวนโรค มี 1 ราย ไม่ได้ติดเชื้อแอนแทรกซ์ แต่อีก 2 ราย มีแผลเป็นตุ่ม นูนแดง ข้างในเป็นสีดำ จับแล้วไม่เจ็บ ซึ่งเข้าได้กับอาการของ 2 โรค คือ 1. โรคแอนแทรกซ์ หรือ 2. โรคสครับไทฟัส ขณะนี้นำผู้ป่วย 2 ราย เข้าห้องแยกโรค และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากการสอบสวนโรคพบว่า รายแรกได้นำแพะจากประเทศพม่าเข้ามาชำแหละ และส่งเนื้อแพะกลับประเทศ จากนั้นเจ้าตัวก็เกิดบาดแผลในลักษณะดังกล่าว เดิมเข้ารักษาที่คลินิกแห่งหนึ่งแต่ไม่หาย จึงไปรักษาที่ รพ.แม่สอด เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งแพทย์สงสัยติดเชื้อแอนแทรกซ์ จึงส่งตัวเข้าห้องแยกโรค และร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขอำเภอลงไปค้นหากลุ่มเสี่ยงอื่นๆ และพบผู้ป่วยรายที่ 2 มีอาการคล้ายกัน และมีประวัติชำแหละแพะที่เอามาจากพม่าถึง 6 ตัว และแจกจ่ายให้ชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังทั้งตำบล ขณะนี้มีผู้ที่เสี่ยง 25 คน จะพ้นระยะเฝ้าระวังในวันที่ 5 ธันวาคมนี้

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 พฤศจิกายน ที่โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส โคราช นายปัญญา วงศ์ศรีแก้ว ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนา ครั้งที่ 1) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 นครราชสีมา-ขอนแก่น มีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้นำชุมชน และประชาชนในแนวเขตศึกษาโครงการ จำนวนกว่า 300 คน รับฟังการชี้แจงจาก นายเสกสิทธิ์ ศิริไวทยพงศ์ ผู้จัดการโครงการ และผู้แทนกรมทางหลวง ตามกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะและความต้องการ โดยเฉพาะข้อกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ

นายเสกสิทธิ์กล่าวว่า โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หมายเลข 6 หรือมอเตอร์เวย์สายนครราชสีมา-ขอนแก่น เป็นโครงการตามแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง พ.ศ. 2560-2579 และเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-หนองคาย เป็นเส้นทางเชื่อมต่อถนนมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ปัจจุบันกรมทางหลวงกำลังดำเนินก่อสร้างและกำหนดแผนเปิดให้บริการปี 2563 ซึ่งมีลักษณะโครงข่ายวางตัวในแนวเหนือ-ใต้ สิ้นสุดทางที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อเชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างกับตอนบนได้เป็นระบบ เป็นโครงข่ายหลักการคมนาคมทางถนนรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับภูมิภาคอินโดจีน ช่วยกระจายการพัฒนาไปสู่ภูมิภาค จะเป็นทางเลือกที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาระบบทางหลวงที่อำนวยความสะดวกรวดเร็วในการขนส่ง เนื่องจากเป็นทางหลวงมาตรฐานสูงและควบคุมการเข้า-ออกอย่างสมบูรณ์ สนับสนุนการท่องเที่ยว ลดปัญหาจราจรคับคั่งบนทางหลวงหมายเลข 2 ถนนมิตรภาพ และเขตเมืองนครราชสีมาในอนาคต

“พื้นที่การศึกษาโครงการครอบคลุมพื้นที่แนวเส้นทางเลือก รวมทั้งสิ้น 282 ตำบล 43 อำเภอ ในเขต จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ มหาสารคาม และขอนแก่น มีจุดเริ่มต้นบริเวณ ตำบลบึงอ้อ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา สิ้นสุดในเขต อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น รวมระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 8 หมื่นล้านบาท จึงต้องใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจและพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน กำหนดแผนการศึกษาและดำเนินก่อสร้างรวม 8 ปี คาดเปิดให้บริการประมาณปี 2568” นายเสกสิทธิ์ กล่าว

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามการดำเนินการจัดโซนนิ่ง โดยแผนที่เกษตรเชิงรุก (อกริ-แมป) ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่าน สศก.ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลการปรับเปลี่ยนการผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการของปีงบประมาณ 2559 ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และอุทัยธานี ช่วงเดือนมิถุนายน 2560 และในช่วงปีงบประมาณ 2560 ได้ลงพื้นที่ สำรวจ 15 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ในช่วงเดือนสิงหาคม 2560

พร้อมติดตามผลการดำเนินงานพบว่าปีงบประมาณ 2559 มีการปรับเปลี่ยนการผลิตทั้งสิ้น 32,618 ไร่ ในพื้นที่ 49 จังหวัด เกษตรกรจำนวน 10,502 ราย โดยในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดดังกล่าวได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (เอ็น) สำหรับการปลูกข้าว เป็นสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 3,930 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 950 ราย เมื่อปรับเปลี่ยนแล้วเกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิรวมทั้งสิ้นประมาณ 28.7 ล้านบาท/ปี(เฉลี่ย 7,303 บาท/ไร่/ปี) เพิ่มจากเดิมที่มีผลตอบแทนสุทธิรวม 3.4 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 864 บาท/ไร่/ปี) โดยมีผลตอบแทนสุทธิรวมเพิ่มขึ้น 25.4 ล้านบาท/ปี (เฉลี่ย 6,463 บาท/ไร่/ปี) จากสินค้าชนิดใหม่ที่ผลิต ได้แก่ การทำเกษตรผสมผสาน 2,220 ไร่ ปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ 1,470 ไร่ การผลิตอ้อยโรงงาน 145 ไร่ ปลูกหม่อน 55 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 30 ไร่ และเลี้ยงปลา 10 ไร่ โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในระดับมาก

นายวิณะโรจน์ กล่าวว่า ส่วนปีงบประมาณ 2560 มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว เป็นการทำเกษตรผสมผสานสำหรับสินค้าที่เหมาะสมรวมทั้งสิ้น 157,701 ไร่ ในพื้นที่ 53 จังหวัด เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 30,444 ราย ประกอบด้วย อ้อยโรงงาน 88,132 ไร่ เกษตรผสมผสาน 38,287 ไร่

พืชอาหารสัตว์ 20,767 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 5,427 ไร่ มันสำปะหลัง 2,439 ไร่ ประมง 2,061 ไร่ และหม่อน 588 ไร่ ทั้งนี้ จากการประเมินผลในเบื้องต้นพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการมีความพึงพอใจในระดับมาก เนื่องจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิต ได้ทราบถึงความเหมาะสมของการผลิตในพื้นที่ตนเอง ได้รับการสนับสนุนปัจจัยในการปรับเปลี่ยนการผลิต และมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำในการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สศก.จะทำการประเมินผลลัพธ์ของโครงการปีงบประมาณ 2560 อีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 และจะนำเสนอผลการประเมินให้ทราบต่อไป

เลย – นายพรชัย ถมกระจ่าง รองผวจ.เลย เป็นประธานเปิดถนนปลอดภัยตามนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ จัดโดยเทศบาลเมืองเลย โดยกำหนดถนนเจริญรัฐตลอดสาย เป็นถนนต้นแบบของถนนปลอดภัย/ที่มีการจำกัดความเร็ว พร้อมทั้งมีการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการรณรงค์ในการขับขี่ยวดยานพาหนะที่ปลอดภัย โดยสร้างจิตสำนึกให้ผู้ขับขี่ทุกราย ได้ตระหนักถึงความปลอดภัย ในการใช้รถใช้ถนนทั้งต่อตนเองและผู้ร่วมเดินทาง ผู้ใช้รถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง ผู้ขี่รถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยทั้งผู้ขับขี่และผู้ซ้อน การขับบนถนนปลอดภัยเส้นนี้จำกัดความเร็วไม่เกิน 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

นครศรีธรรมราช – เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิด “โครงการส่งเสริมการผลิตไบโอมีเทนอัด (ซีบีจี) ในสถานประกอบการที่มีระบบก๊าซชีวภาพ” ณ บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด ต.ช้างซ้าย อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และดร.กณพ เกตุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษตรลุ่มน้ำ จำกัด

นายประพนธ์ กล่าวว่า โครงการของบริษัท เกษตรลุ่มน้ำฯ ดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานทดแทนฯ ของกระทรวงพลังงาน กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้สนับสนุนการติดตั้งระบบปรับปรุงคุณภาพก๊าซและระบบบรรจุก๊าซไบโอมีเทนอัด ให้กับสถานประกอบการที่มีระบบก๊าซชีวภาพอยู่แล้ว นำก๊าซชีวภาพที่เหลือใช้มาปรับปรุงคุณภาพให้เกิดประโยชน์ แต่ยังไม่มีโรงงานเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

“บริษัท เกษตรลุ่มน้ำฯ เป็นโครงการแรกที่ได้ติดตั้งระบบผลิตซีบีจี ขนาด 3 ตันต่อวัน และใช้กับรถบรรทุกของบริษัท ก๊าซที่ผลิตได้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ทั้งทดสอบกับยานยนต์ และทดสอบเพิ่มเติมตามมาตรฐานกำหนดคุณภาพก๊าซในต่างประเทศ (สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมัน) จึงได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีบริการก๊าซธรรมชาติจากกรมธุรกิจพลังงาน” นายประพนธ์กล่าว

ด้าน ดร.กณพ กล่าวว่า บริษัทประกอบธุรกิจโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มีกำลังการผลิต 60 ตันปาล์มต่อชั่วโมง และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ กำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์ โดยน้ำเสียและกากตะกอนปาล์ม จะนำเข้าสู่บ่อหมักก๊าซชีวภาพ จำนวน 4 บ่อ มีกำลังผลิตก๊าซ 17,683 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ก๊าซชีวภาพที่ได้เมื่อนำไปผลิตไฟฟ้า 1 เมกะวัตต์แล้ว ยังมีก๊าซที่เหลือใช้ ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการผลิตก๊าซซีบีจี ของกรมพัฒนาพลังงานฯ นำไปใช้กับยานยนต์

ร้อยเอ็ด – นพ.มนต์ชัย วิวัฒนาสิทธิพงศ์ ผอ.ร.พ.ร้อยเอ็ด ร่วมกับบริษัทโรบินสัน จำกัด (มหาชน) สาขาร้อยเอ็ด จัดงานรณรงค์ “เย็บเต้านมรวมใจ สู้ภัยมะเร็ง” อาคารมะเร็งเฉลิมพระเกียรติจุฬาภรณ์ ร.พ.ร้อยเอ็ด เพื่อเป็นการส่งเสริมกำลังใจ แบ่งปันน้ำใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย จิตอาสาภายในและภายนอกในการร่วมกันจัดทำเต้านมเทียมมอบให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

น.พ.มนต์ชัย เผยว่า สืบเนื่องจากโรงพยาบาลร้อยเอ็ด มีการให้บริการผู้ป่วยมะเร็งครบวงจรผู้ป่วยมะเร็งที่มารับบริการพบว่าโรคมะเร็งเต้านม พบมากเป็นอันดับ 1 ในเพศหญิงและมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพปัญหาดังกล่าวโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ได้ตระหนักถึงความสำคัญของผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการผ่าตัดเต้านม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสูญเสียภาพลักษณ์ ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคมและมีปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้สูญเสียกำลังใจ จึงจัดให้มีการรณรงค์ “เย็บเต้านมรวมใจ สู้ภัยมะเร็ง” ขึ้น โดยในงานจะมีการบรรยายเรื่อง “มะเร็งเต้านมแบบครบวงจร” เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากผู้ป่วย กิจกรรมเย็บเต้านมเทียม เพื่อมอบให้ผู้ป่วยมะเร็ง

นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) ดำเนินโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (ปิซ่า) เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศในการเตรียมความพร้อมเยาวชนอายุ 15 ปีให้มีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต ต่อเนื่องทุก 3 ปีนั้น ปิซ่า 2015 ยังได้เพิ่มการประเมินสมรรถนะด้านการแก้ปัญหาแบบร่วมมือ หรือ ซีพีเอส ที่นักเรียนต้องใช้ทั้งทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการทำงานแบบร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่ม ทำภารกิจในข้อสอบให้สำเร็จลุล่วงโดยใช้สถานการณ์ในชีวิตจริงที่สมาชิกในกลุ่มต้องร่วมกันแก้ปัญหาผ่านการทำข้อสอบด้วยคอมพิวเตอร์ และนักเรียนเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่ต้องทำความเข้าใจกับเป้าหมายและเงื่อนไขของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองและเพื่อน แล้วสื่อสาร แบ่งปันข้อมูล และร่วมกันแก้ปัญหากับเพื่อนในกลุ่มให้สำเร็จ

“โออีซีดี ได้เผยแพร่ผลการประเมินสมรรถนะการแก้ปัญหาแบบร่วมมือของ 52 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ที่เลือกสอบสมรรถนะนี้ในปิซ่า 2015 ผลการประเมินพบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ 561 คะแนน ญี่ปุ่น 552 คะแนน ฮ่องกง 541 คะแนน เกาหลี 538 คะแนน และแคนาดาและเอสโตเนีย 535 คะแนน สำหรับประเทศไทยมีคะแนนเฉลี่ย 436 คะแนน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโออีซีดีที่กำหนดไว้ 500 คะแนนอยู่ 64 คะแนน” นางพรพรรณกล่าว

หากแยกเป็นกลุ่มโรงเรียนพบว่า กลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนสูงถึง 559 คะแนน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุด 5 อันดับแรก และกลุ่มโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัยมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยคือ 520 คะแนน ส่วนกลุ่มโรงเรียนอื่นๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยข้างต้น เมื่อแยกเป็นเพศพบว่าทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจ นักเรียนหญิงจะมีคะแนนด้านนี้สูงกว่านักเรียนชาย 29 คะแนน โดยนักเรียนหญิงไทยมีคะแนนสูงกว่านักเรียนชายถึง 35 คะแนน ซึ่งเกิดจากการมีเจตคติต่อการทำงานเป็นทีมที่ดีกว่า

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง รศ.ดร.ไพโรจน์ สถิรยากร คณบดีคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม รศ.ดร.สักรินทร์ อยู่ผ่อง คณบดีคณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม มจพ. กับผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอาชีวศึกษา ประเทศลาว

สืบเนื่องมาจากกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศได้สนับสนุนทุนการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโท) แก่ผู้บริหารด้านอาชีวศึกษาจากประเทศลาว จำนวน 10 คน ภายใต้ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทย-ลาวแผนงานด้านอาชีวศึกษา เพื่อให้มีความรู้ ความสามารถในการบริหารและจัดการด้านอาชีวศึกษา และเพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาของลาวมีคุณวุฒิที่สูงขึ้น ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศได้ขอความร่วมมือจาก มจพ. ให้พิจารณารับผู้รับทุนรัฐบาลไทยทั้ง 10 คน เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทหลักสูตรบริหารอาชีวะและเทคนิคศึกษา

มจพ. สนับสนุนทุนการศึกษาดังกล่าวเพิ่มอีก 2 คน รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 12 คน โดยจัดการเรียนการสอนที่วิทยาลัยเทคนิคอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เพื่อความมีศักยภาพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ด้านการจัดการเรียนการสอน งานวิจัยและด้านอื่นๆ เพื่อพัฒนานักเรียนนักศึกษาและบุคลากรของทั้งสองแห่งให้มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการขยายตัวทางการศึกษาของประเทศในกลุ่มประชาคมอาเซียน

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม hi-techitaly.com ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาพื้นที่ภาคใต้” ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา เพื่อต่อยอดงานวิจัยโครงการต่างๆ ของ วท.พร้อมช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพพื้นที่ภาคใต้ บูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา ขับเคลื่อนพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการประชุมครั้งนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน

รศ.นพ. สรนิต กล่าวว่า ภาคใต้มีลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่น วัฒนธรรมหลากหลาย มีความท้าทายต่อโจทย์การวิจัยพัฒนาพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมา

วท.ได้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ ครอบคลุมในหลายพื้นที่ทั้งภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย อันดามัน หรือชายแดนใต้ และยิ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ การทำงานของ วท.ก็จะเพิ่มความเข้มข้นและพร้อมจะบูรณาการกับทุกหน่วยงานในภูมิภาค

รศ.นพ. สรนิต กล่าวต่อไปว่า โครงการและมาตรการสำคัญที่ได้ดำเนินการพื้นที่ในภาคใต้มีหลากหลายโครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนการจัดตั้งห้องเรียนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนโดยกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย (วมว.) ระยะที่ 2 เวลา 10 ปี เพื่อบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การก่อสร้างอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เป็นหอดูดาวแห่งแรกในภาคใต้ จะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้วัตถุท้องฟ้า สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ สนับสนุนการทำงานวิจัยดาราศาสตร์ของนักเรียนนักศึกษา, โครงการสตาร์ตอัพ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการที่มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม, โครงการสร้างแม่ข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน คลินิกเทคโนโลยี เป็นกลไกความร่วมมือระหว่าง วท.กับสถาบันการศึกษา การพัฒนาเครื่องจักรอุปกรณ์สนับสนุนภาคเกษตร เช่น การพัฒนาระบบการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน หรือการพัฒนาชุดตรวจปริมาณน้ำมันของปาล์มน้ำมันทะลาย เป็นต้น

นอกจากนี้ วท.ยังมีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการในรูปแบบอื่นๆ ได้แก่ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โครงการไอแทป (iTAP) และกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ตั้งเป้าผลักดันผู้ประกอบการ 100 ราย ในปีแรก วงเงิน 200 ล้านบาท ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทบาทการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโลยีลงสู่ภูมิภาคในพื้นที่ภาคใต้

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน นพ. มนูญ ศุกลสกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่าช่วงนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะนิยมเดินทางไปสัมผัสอากาศหนาวเย็นตามแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยจะตั้งแคมป์ และนอนกางเต๊นท์กลางป่า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวมีโอกาสที่จะถูกยุงกัดและเสี่ยงต่อการป่วยเป็นไข้มาลาเรียได้ นอกจากนี้ การกางเต๊นท์ หรือตั้งแคมป์ในป่า ควรระมัดระวังตัวไรอ่อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคคับไทฟัส หรือไข้รากสาดใหญ่ ที่อาศัยในขนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก เช่น หนู กระแต โดยชอบกัดบริเวณขาหนีบ เอว ลำตัวใต้ราวนม รักแร้ และจะปล่อยเชื้อริกเก็ตเซียเข้าสู่คน ทำให้ผู้ที่ถูกกัดอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น การไปเที่ยวป่ากางเต็นท์ควรเลือกที่ตั้งค่ายพักในบริเวณโล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า แต่งกายให้มิดชิด สวมถุงเท้าหุ้มไปจนถึงปลายขากางเกง ทายากันยุง และยาป้องกันแมลงกัดตามแขนขา

นายปฎิพัทธ์ ทองเทียนวิเศษ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง มีความหนาวเย็น ส่งผลต่อนักเรียนมีความเสี่ยงเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่อย่างสูง จึงต้องจัดมาตรการดูแลสุขภาพอนามัยนักเรียน คือ ให้นักเรียนสวมใส่เสื้อกันหนาวป้องกัน หมั่นดูแลรักษาความสะอาดอุปกรณ์การเรียนการสอน ภายในห้องเรียน หมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด และพักผ่อนให้เพียงพอ

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวในโอกาสร่วมนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธอส. พร้อมด้วยคณะผู้บริหารธนาคาร ต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยี่ยมเยียนประชาชนและบู๊ธของ ธอส. ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ว่าธนาคารเตรียมกรอบวงเงินสินเชื่อรวม 4,700 ล้านบาท สำหรับโครงการปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้