สถานี K.10 อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่ง 2.08 ม.

แนวโน้มลดลง (ใช้ตลิ่ง +6.70 ม.รสม. เพื่อเตือนภัย สวนไทรโยครีสอร์ท) และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนปราณบุรี ปริมาณน้ำปัจจุบัน (8 ส.ค.61) 319 ล้าน ลบ.ม.(82%) ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 14.95 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 9.48 ล้าน ลบ.ม.

กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมจัดกิจกรรมในงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “ร้อยดวงใจ สืบสานพระราชปณิธานแม่ของแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 7-14 สิงหาคม 2561 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เชิญชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์จากสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด และสินค้าแปรรูปคุณภาพจากสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย ในงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “ร้อยดวงใจ สืบสานพระราชปณิธานแม่ของแผ่นดิน” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 86 พรรษา ระหว่างวันที่ 7-14 สิงหาคม 2561 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ร่วมจัดนิทรรศการ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการตามพระราชดำริด้านการส่งเสริมกลุ่มสตรีสหกรณ์หมู่บ้านหุบกะพงและกลุ่มอาชีพ โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จังหวัดเพชรบุรี ภายในงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “ร้อยดวงใจ สืบสานพระราชปณิธานแม่ของแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 7-14 สิงหาคม 2561 ณ สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ภายใต้กรอบแนวคิด “สืบสานศาสตร์ศิลป์ บนผืนดินพระราชา” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงช่วยเหลือราษฎรผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ เพื่อให้พสกนิกรชาวไทยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยและได้น้อมนำแนวพระราชดำริไปใช้ในชีวิตประจำวัน

สำหรับนิทรรศการในส่วนของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการภาพถ่ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่หมู่บ้านหุบกะพง และได้มีการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มสตรีสหกรณ์ในโครงการตามพระราชประสงค์ห้วยสัตว์ใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง และโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

ในรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือราษฎรที่อพยพมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านหุบกะพง ซึ่งได้พระราชทานที่ดินทำกิน ตั้งแต่ปี 2507 และทรงพระราชทานคำแนะนำให้ใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงาน ด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว นำป่านศรนารายณ์มาใช้ประโยชน์ ด้วยการจักสานเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ต่อมาในปี 2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับงานศิลปาชีพพิเศษป่านศรนารายณ์ของกลุ่มสตรีสหกรณ์หุบกะพงไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ชาวบ้านหุบกะพงสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ได้ยึดถือ คำขวัญที่ว่า “ในหลวงให้ที่ พระราชินีให้อาชีพ”

จึงได้ช่วยกันพัฒนาและปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นสากลมากขึ้น และเพิ่มพื้นที่ปลูกต้นป่านศรนารายณ์ในพื้นที่หุบกะพงเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสตรีสหกรณ์ที่ผลิตสินค้าจากป่านศรนารายณ์ของสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงพระราชทานอาชีพการทำหัตถกรรมป่านศรนารายณ์ พร้อมทั้งส่งครูผู้สอนมาให้คำแนะนำถึงวิธีการนำเส้นใยของป่านศรนารายณ์มาสร้างสรรค์ให้เป็นกระเป๋า รองเท้า หมวก เข็มขัด ฯลฯ จนกลายเป็นสินค้าที่สร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับชาวหุบกะพง มากว่า 40 ปี ปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายให้กับสหกรณ์ประมาณ 100,000-200,000 บาท ต่อเดือน

สมาชิกของกลุ่มมีรายได้เดือนละ 5,000-15,000 บาท ต่อราย ประกอบกับสินค้าก็ได้รับความสนใจจากลูกค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง งานหัตถกรรมป่านศรนารายณ์นับได้ว่าเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับราษฎรในหมู่บ้านหุบกะพง และเป็นอาชีพที่มั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน โดยสหกรณ์ได้ปลูกฝังให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของป่านศรนารายณ์ และร่วมกันสืบสานอาชีพการทำผลิตภัณฑ์จักสานป่านศรนารายณ์ให้ดำรงอยู่คู่กับหมู่บ้านหุบกะพงต่อไป

ขณะที่โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย จังหวัดเพชรบุรี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชดำริช่วยเหลือราษฎรที่ยากจน โดยให้ราษฎรมาเป็นสมาชิกในที่ดินจัดสรรรวมกลุ่มประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตามหลักวิชาการแผนใหม่และปรับปรุงพื้นที่ให้ใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้โดยอาศัยเทคนิคใหม่ๆ และจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด เข้ามาดูแลส่งเสริมอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ ปัจจุบันสหกรณ์ดำเนินธุรกิจด้านให้สินเชื่อ รับฝากเงิน ส่งเสริมชาวบ้านรวมกลุ่มเพื่อทำอาชีพการเกษตร เช่น กลุ่มเลี้ยงไก่แบบแบบกรงตับ กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กลุ่มสมุนไพรแปรรูป กลุ่มแปรรูปสับปะรด กลุ่มเกษตรกรแบบผสมผสาน กลุ่มแปรรูปขนุน กลุ่มปุ๋ยหมักชีวภาพ กลุ่มผู้ทำกระดาษสาจากใบสับปะรด เป็นต้น

ภายในงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 12 นอกจากจะมีการจัดแสดงนิทรรศการแล้วยังมีการสาธิตการแปรรูปสับปะรดกวน และจำหน่ายผลผลิตการเกษตรแปรรูป โดยสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพรุ่นแรกของโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ป่านศรนารายณ์ เช่น กระเป๋า รองเท้า หมวก และของตกแต่ง จึงขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมในงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 12 นอกจากจะได้ชมนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ภายในงานแล้ว

ยังได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพจากสมาชิกสหกรณ์ในโครงการพระราชดำริด้วย โอกาสนี้ ขอเชิญเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเปิดงาน “สีสรรพรรณไม้ เทิดไท้บรมราชินีนาถ” ครั้งที่ 12 ในวันที่ 9 สิงหาคม 2561 เวลา 16.00 น. และร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยการจุดเทียนชัยถวายพระพรชัยมงคลพร้อมกับประชาชนทั่วประเทศในวันที่ 12 สิงหาคม 2561 เวลา 19.00 น.

สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดง ตราด ปลื้มหมอนยางพารา ขายดีต่อเนื่อง เน้นผลิตหมอนคุณภาพ ส่งขายตลาดจีน หวังสร้างงานสร้างอาชีพให้กับเกษตรกร เตรียมออกผลิตภัณฑ์ยางพารารูปแบบใหม่ เน้นความทันสมัยและประโยชน์การใช้งานที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค หวังสร้างความแตกต่างทางการตลาดและเพิ่มทางเลือก

นายเกรียงไกร เทพินทร์อารักษ์ ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดง ตราด จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ หอการค้าไทย และสหกรณ์ภาคการเกษตร ว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจให้กับสหกรณ์ โดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และหอการค้าจังหวัด เข้ามาร่วมกันพัฒนาและส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์ เนื่องจากหอการค้าจังหวัด จะมีคณะกรรมการซึ่งประกอบไปด้วยนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี ที่อาจจะได้บุคคลเหล่านี้เข้ามาดูแลแนะนำหรือในประสานงานเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าสหกรณ์

สำหรับ สหกรณ์ยางพาราเนินดินแดง ตราด จำกัด เป็นผู้ผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพารา โดยผลิตเป็นหมอนยางพารา ภายใต้ชื่อ “เอราวัณ” ขณะนี้ตลาดของหมอนยางพาราเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสหกรณ์มีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศจีน เนื่องจากลูกค้าจีนมีความต้องการใช้สินค้าหมอนยางพาราจำนวนมาก ปัจจุบันสหกรณ์ส่งหมอนไปที่ตลาดจีน เดือนละ 12,000-15,000 ใบ และได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้บริโภคชาวจีนจนกลายเป็นค่านิยมของคนจีนว่า ต้องการใช้หมอนยางพาราจากประเทศไทยเท่านั้น ขณะนี้สหกรณ์ได้ร่วมมือกับผู้นำเข้าสินค้าของจีนเพื่อให้เป็นตัวแทนจำหน่ายที่จีนแล้ว 2 บริษัท โดยไม่ต้องขายผ่านพ่อค้าคนกลาง ดังนั้น สหกรณ์จะมุ่งผลิตสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราส่งขายให้กับตัวแทนจำหน่ายที่จีนโดยตรง ซึ่งทางคู่ค้ายังต้องการหมอนยางพาราจากสหกรณ์อีกจำนวนมาก ซึ่งทำให้การส่งสินค้าไปประเทศจีนไม่ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาด สหกรณ์จะเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และตรงกับความต้องการของตลาดเป็นหลัก ซึ่งทำให้สามารถยกระดับราคาได้เพิ่มขึ้น เพราะหากหมอนยางพาราผลิตออกมาไม่ได้คุณภาพ ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นได้ และไม่มีตลาดต้องการ ดังนั้น สหกรณ์จึงต้องเน้นเรื่องการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ไม่เน้นแข่งขันเรื่องราคา ซึ่งจุดเด่นของหมอนยางพาราที่สหกรณ์ผลิตขึ้นนั้นจะมีหลายคุณสมบัติ ขนาดนุ่มมาก นุ่มปานกลาง และแข็ง สหกรณ์ก็จะผลิตตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้ธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพารากำลังไปได้ดีไม่มีปัญหา แต่ก็ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดภายในประเทศ สหกรณ์ส่งขายที่ดิวตี้ฟรีและขายผ่านทีวีช็อปปิ้ง ผ่านช่อง Shop Channel MCOT Family ทเวนตี้โฟร์ ช็อปปิ้ง และเว็บไซต์ลาซาด้าเป็นหลัก ซึ่งมีลูกค้าสั่งซื้อผ่านออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ทุกเดือนเช่นกัน

กลยุทธ์ในการทำตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราของสหกรณ์ ยึดหลักของคุณภาพสินค้าที่ต้องดีสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกค้าจดจำและสั่งซื้อสินค้าของสหกรณ์ไปตลอด เนื่องจากหมอนยางพารา 1 ใบ ใช้ได้นานเป็น 10 ปี กว่าลูกค้าจะกลับมาซื้ออีกครั้งก็นานพอสมควร ดังนั้น สหกรณ์จึงคิดที่จะต่อยอดผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความแตกต่างและหลากหลายให้กับลูกค้า รวมถึงสร้างทางเลือกใหม่ให้กับธุรกิจของสหกรณ์ นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับสมาชิกสหกรณ์อีกด้วย

“ผมมองเห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของธุรกิจหมอนยางพาราเป็นอย่างดี มองเห็นโอกาสและช่องทางการตลาดใหม่ๆ ดังนั้น จึงคิดว่าจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น พร้อมกับผลิตสินค้าตัวใหม่ออกมาจำหน่าย ซึ่งเป็นการนำยางพาราแห้งมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของสหกรณ์ ซึ่งจะแตกต่างจากสินค้าเดิมที่มีอยู่ และจะเน้นพัฒนารูปแบบที่ทันสมัย เพราะจะทำให้ขายง่ายและผู้บริโภคกำลังนิยม แต่ทั้งนี้ สินค้าจะต้องมีคุณภาพ และราคาไม่สูงจนเกินไป ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ตลาดรองรับและปริมาณคำสั่งซื้อที่ชัดเจนแล้ว คาดว่าน่าจะผลิตสินค้าตัวใหม่นำเสนอออกสู่ตลาดได้ในเร็วๆ นี้” ประธานสหกรณ์ยางพาราเนินดินแดง ตราด จำกัด กล่าว

ปัจจุบัน การทำการเกษตรในประเทศไทยมุ่งผลิตในเชิงการค้ามากขึ้น ด้วยผลผลิตและศักยภาพของพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อภาคการผลิต เทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ “อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” มีแนวโน้มอนาคตที่สดใส และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่รัฐบาลให้การส่งเสริม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต พร้อมเข้าสู่ยุค “อุตสาหกรรม 4.0” สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” ที่รัฐบาลมุ่งเน้นและผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตอย่างยั่งยืน

ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ การเปิดเสรีทางการค้า นำมาซึ่งผลผลิตการเกษตรจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปหรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เดินหน้า “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องก้าวทันเทคโนโลยี

“สมชาย หาญหิรัญ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในพิธีเปิดโครงการและการสัมมนา Agro-Industry 4.0 ยกระดับอุตสาหกรรมเกษตร 4.0 ว่า “การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงการผลิตทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จะช่วยให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากปัญหาผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำได้ ผู้ประกอบการในฐานะผู้แปรรูป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองตนเองให้ออก มีความเข้าใจในตัวสินค้าของตนเองว่ามีคุณภาพอย่างไร ผลผลิตควรเก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดเมื่อใด

เรียกได้ว่าต้องมีความรู้ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง มีการปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา กล้าตัดสินใจ เรียนรู้และตั้งรับกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หน่วยงานรัฐเป็นเพียงลมใต้ปีกเรามีให้แค่วิตามิน นั่นคือ องค์ความรู้และการสนับสนุนด้านการเงินเท่านั้น สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเรียนรู้ที่จะบินได้ด้วยตัวเอง ซึ่งรัฐบาลยังคงเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปในทุกมิติ ให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้วัตถุดิบและนวัตกรรมใหม่ ลดการใช้พลังงาน รวมไปถึงการหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเติบโตได้”

“กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์” อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า “โครงการดังกล่าว นับเป็นหนึ่งในโครงการที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมดำเนินการ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับผู้ประกอบการ โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตรของประเทศ และดึงศักยภาพของวัตถุดิบในพื้นที่มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งในการดำเนินการนั้น กสอ.จะส่งทีมที่ปรึกษาลงพื้นที่ไปยังสถานประกอบการเพื่อวินิจฉัยและประเมินศักยภาพ พร้อมให้คำปรึกษาเชิงลึก รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจ หรือยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้ระบบอัตโนมัติหรือดิจิทัล”

หลากหลายตัวอย่างของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ที่ได้มาเปิดแนวคิดและวิธีการในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มจากการแสวงหาโอกาสให้ตนเอง ดำเนินธุรกิจไปพร้อมกับการปรับกลยุทธ์ นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดต้นทุนจนกลายเป็นต้นแบบของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

“ภญ.โสภา พิมพ์สิริพานิชย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดออนไลน์ และ LINE@ Certified Trainer คนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า “ไม่อยากให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปมองว่าตลาดออนไลน์เป็นเรื่องที่ยาก จริงๆ แล้วการตลาดออนไลน์ไม่ได้ยากอย่างที่คิด และเราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตประจำวันของทุกคน ดังนั้น หากผู้ประกอบการรายใดมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ปรับกลยุทธ์ และหาเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการทำตลาดอยู่เสมอ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้และธุรกิจจะมีการเติบโตอย่างแน่นอน”

“ณัฐ มั่นคง” ผู้บริหารโคโค่เมล่อนฟาร์ม เปิดเผยถึงกลยุทธ์และเคล็ดลับในฐานะเกษตรกรยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการนำระบบ IT มาประยุกต์ใช้กับการทำฟาร์มว่า “เริ่มต้นด้วยการผันตัวเองจากงานประจำสู่วิถีชีวิตเกษตรกร โดยเสาะแสวงหาพืชที่สร้างมูลค่าเพิ่มและช่วยให้เลี้ยงตัวเองได้ และพบว่าเมล่อนเป็นพืชที่ตอบโจทย์ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ด้วยกรรมวิธีการปลูกที่ต้องดูแลอย่างพิถีพิถัน ใส่ใจกับทุกกระบวนการในการปลูก จึงได้นำระบบ IT มาใช้ โดยติด Sensor ในโรงเรือน เพื่อควบคุมสภาพอากาศ อุณหภูมิ ค่าของแสง และความชื้นในดิน การลงทุนระบบดังกล่าวเมื่อคำนวณแล้วนับว่าคุ้มค่ากับผลผลิตที่ได้ ทุกวันนี้เมล่อนที่มาจากโคโค่เมล่อนฟาร์ม จึงเป็นที่ต้องการของลูกค้าเป็นอย่างมาก ซึ่งในยุคปัจจุบันมองว่าเกษตรกรยุคใหม่ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ทันกับเทคโนโลยี โดยใช้นวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า และหากมีการบริหารจัดการระบบที่ดีจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างแน่นอน”

“พิมพ์มาดา พัฒนปรัชญาพงศ์” เจ้าของคางกุ้งอบกรอบ แบรนด์ “OKUSNO” จากสิ่งที่คนมองข้ามสู่ธุรกิจเงินล้าน กล่าวว่า “เริ่มต้นธุรกิจจากการมองเห็นโอกาสในสิ่งที่คนมองข้าม โดยเห็นว่าเมื่อรับประทานกุ้งแล้วตรงหัวกุ้งมีส่วนที่เหลือทิ้ง จึงนำส่วนนั้นมาสร้างความแตกต่างจนกลายเป็น “คางกุ้งอบกรอบ” อาหารรับประทานเล่นที่ให้คุณค่า ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ประกอบการเจ้าแรกที่มีการต่อยอดนวัตกรรมใส่ดีไซน์ลงไปในบรรจุภัณฑ์จนถึงวันนี้แบรนด์ “OKUSNO” เป็นที่รู้จักและมีจำหน่ายทั่วประเทศ ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ต้องผ่านบททดสอบอย่างหนัก ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบซึ่งแทบจะไม่มีใครยอมขายให้ เมื่อออกมาเป็นสินค้า ยังต้องทำให้สินค้าเป็นที่รู้จัก จึงจะเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและสามารถทำตลาดได้ และปัจจุบันยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาดนั่นคือ “น้ำพริกขากุ้ง” ในอนาคต”

“พงษ์ลดา พะเนียงเวทย์” ผู้ก่อตั้ง Freshket ตลาดสดออนไลน์ เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า “มองเห็นช่องว่างทางการตลาดจึงเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง โดยการเช่าห้องแถวในตลาดไทเป็นคลังสินค้าเกษตรเพื่อเป็นศูนย์กลางในการจัดส่งผักและผลไม้ให้กับร้านอาหารต่างๆ เมื่อ Freshket เริ่มติดตลาด จึงต่อยอดไอเดียสู่โมเดลธุรกิจ Supply Chain Platform โดยมีการลงทุนสร้างซอฟต์แวร์ขึ้นเอง และให้ Freshket เป็นคลังสินค้าเชื่อมโยงการค้าระหว่างซัพพลายเออร์และร้านอาหารให้มาเจอกันผ่านแอปพลิเคชั่น ด้วยการจัดการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นระบบ และราคาเหมาะสม ซึ่งจุดเด่นของโมเดลธุรกิจนี้จะมีการบันทึกข้อมูลการสั่งซื้อและร้านอาหาร ทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบได้แบบเรียลไทม์ และสามารถบริหารต้นทุนได้ เรียกได้ว่านำระบบอีคอมเมิร์ซเข้ามาใช้เป็นอีก 1 ช่องทางให้กับลูกค้าเพื่อเพิ่มความสะดวกมากขึ้น”

ภายใต้ “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและบริหารธุรกิจ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มีเป้าหมายที่จะพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจำนวน 2,000 กิจการ ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นกลุ่มวิสาหกิจทั่วไปจำนวน 1,600 กิจการ กลุ่มวิสาหกิจที่มีศักยภาพสูง จำนวน 400 กิจการ และมุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้เพิ่มผลิตภาพเชิงบูรณาการจำนวน 4,000 คน คาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้กับผู้ประกอบการภาคการเกษตรได้มากกว่า 400 ล้านบาท

บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) โดย นางสาวอรคุณ สมฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนา และบริหารลูกค้า นำพนักงานแม็คโครจิตอาสา ร่วมกันทำความดีเพื่อสังคม พร้อมเป็นตัวแทนส่งมอบสิ่งของที่ลูกค้า ประชาชนร่วมบริจาค ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง เครื่องนุ่งห่ม จำนวน 1 คันรถบรรทุก เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว โดยมี นายพงศภัค ตรีผลา หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย เป็นผู้แทนรับมอบ ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเร็วๆ นี้

พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช. กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในงานขับเคลื่อนสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมอาชีวศึกษาเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมภาคเหนือ ที่วิทยาลัยเทคนิคลำพูน จ.ลำพูน ว่า ตามนโยบายเดินหน้า “ประเทศไทย 4.0” ที่มุ่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ ‘เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม’ (Value–Based Economy) ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ พบว่า แต่ละปีจะมีผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมที่นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาในสถานศึกษา สังกัด สอศ. กว่า 910 แห่ง สร้างสรรค์ขึ้นกว่า 7,000 ผลงาน

และหลายผลงานสามารถต่อยอดสู่การใช้งานได้จริงในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพลังในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ที่ผ่านมาได้จัดโครงการไปแล้วในพื้นที่ภาคตะวันออก และ EEC ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วน

และครั้งนี้จัดขึ้นที่ภาคเหนือ มีผลงานมาแสดงทั้งสิ้น 170 ผลงาน มีการเจรจาจับคู่ผลงานสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษากับภาคอุตสาหกรรม รวมถึงภาครัฐ และภาคการเกษตร โดยเจรจาเพื่อซื้อ จำนวน 24 ผลงาน ให้คำแนะนำเพิ่มเติมแล้วจะซื้อ 17 ผลงาน ให้โจทย์ใหม่นักเรียนอาชีวศึกษาในการนำไปสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อที่จะซื้อ 7 ผลงาน และให้คำแนะนำและช่วยเป็นที่ปรึกษาเพื่อการต่อยอด จำนวน 122 ผลงาน และครั้งหน้าจัดขึ้น ระหว่าง วันที่ 18 – 20 สิงหาคม ในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช

ด้าน นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีความยินดี และพร้อมสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนและฐานรากของประเทศ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมฯ ดูแลสหกรณ์ทุกประเภท มีสหกรณ์ทั่วประเทศ กว่า 8,000 สหกรณ์ มีสมาชิกราว 12 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

ซึ่งสหกรณ์เป็นกลไกที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะต่อประชาชนฐานรากในการประกอบอาชีพ หากแต่ละภาคส่วนมีการร่วมมือร่วมใจตามแนวทางประชารัฐ ก็จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

กรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมสนับสนุนสหกรณ์และสมาชิกในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ทั้งนี้สหกรณ์ถือเป็นสถาบันหนึ่งที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ที่สามารถเปิดให้นักเรียน ครู และบุคลากรอาชีวศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้จากการใช้งานในพื้นที่จริง ศึกษาความต้องการของสมาชิก ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการคิด สร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างแท้จริง การสนับสนุนสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักเรียน นักศึกษา ยังเป็นการร่วมสร้างสรรค์การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่อีกทางหนึ่งด้วย

วันที่ 8 ส.ค.61 ที่บริเวณลำห้วยปากลำบ้องตี้ หมู่ที่ 5 ตำบลวังกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ทหารจากกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 29 กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ และตำรวจตระเวนชายแดนกองร้อยที่ 136 กำลังช่วยกันเร่งมือทำสะพานลูกบวบเพื่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้ชาวบ้านได้ใช้สัญจรไปมา ซึ่งคาดว่า ในวันที่ 9 ส.ค. น่าจะแล้วเสร็จ ภายหลังจากฝายน้ำล้นที่ใช้สัญจรไปมาระหว่างบ้านหาดงิ้ว หมู่ที่ 5 ต.วังกระแจะ และบ้านแม่น้ำน้อย หมู่ที่ 5 ต.ไทรโยค ถูกความรุนแรงของน้ำป่าที่ไหลหลากมาตามลำห้วยปากลำบ้องตี้พัดพังเสียหาย ส่งผลให้ชาวบ้านแม่น้ำน้อยถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้

ในขณะที่ชาวบ้านแม่น้ำน้อย ต่างก็พยายามช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการเร่งขนส่งพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผลไม้ลงเรือท้องแบน ข้ามห้วยปากบ้องตี้ช่วงที่น้ำพัดฝายน้ำล้นขาด จากนั้นก็จะทยอยขนขึ้นรถเพื่อนำไปส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้ออีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งการขนส่งเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ชาวบ้านระบุว่า ถึงแม้จะต้องลำบาก แต่ก็ยังดีกว่าจะปล่อยให้ผลผลิตเสียหาย เนื่องจากในช่วงนี้ผลผลิตทางการเกษตรหลายชนิดกำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว หากไม่เร่งนำออกไปขาย ก็จะได้รับความเสียหายอย่างหนักแน่นอน

วันที่ 9 สิงหาคม แบบจำลองสภาพอากาศ (วาฟ-รอม) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) แจ้งว่า ประเทศไทย อาจมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา กระบี่ รวมทั้ง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เขื่อนแก่งกระจานและเขื่อนน้ำอูน มีระดับน้ำเต็มความจุเก็บกักแล้ว และยังคงมีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มขึ้น

วาฟระบุด้วยว่า ประเทศไทย มีฝนตกปานกลางถึงตกหนักในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเกิดขึ้นหลายแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี 138 มิลลิเมตร พังงา 128 มิลลิเมตร มุกดาหาร 88.2 มิลลิเมตร ตราด 85 มิลลิเมตร ระนอง 82 มิลลิเมตร ชุมพร 82 มิลลิเมตร ลำปาง 54 มิลลิเมตร เชียงราย 50 มิลลิเมตร ปราจีนบุรี 36 มิลลิเมตร