สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ได้ศึกษาวิจัยด้านเกษตรฟังก์ชั่น (Functional Agriculture) เพื่อผลิตผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นอาหารฟังก์ชั่น โดยศึกษาถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการสร้างและสะสมสารสำคัญในผักและผลไม้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณสารสำคัญในผักและผลไม้

ตัวอย่างงานวิจัยด้านเกษตรฟังก์ชั่น ได้แก่ “การวิจัยและพัฒนาสารสื่อประสาทในผักและผลไม้เพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์สำหรับผู้มีอาการนอนไม่หลับ” งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาและจำแนกชนิดและสายพันธุ์ผักและผลไม้ที่มีสารสื่อประสาทประเภทยับยั้งสูง โดยมุ่งเน้นศึกษาสารกาบาเป็นหลัก เนื่องจากการขาดสารกาบาในระบบประสาทส่วนกลางส่งผลต่ออาการนอนไม่หลับ

งานวิจัยได้ทำการศึกษาปัจจัยก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสารกาบาในผักและผลไม้ พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณสารกาบา รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารกาบาสูง โดยทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงปริมาณสารกาบาในพืชที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการการเกี่ยว ซึ่งการใช้สารกาบาจากแหล่งธรรมชาติเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

การวิจัยของ วว.จึงนับว่าเป็นการค้นพบวัตถุดิบใหม่ที่มีสารกาบาสูง เพื่อนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมกาบาประเภท plat based GABA นับว่าเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ต้องการหลีกเลี่ยงสารสังเคราะห์ หรือสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์อาหารประเภทพรีเมียม งานวิจัยได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของผักและผลไม้ไทยหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้ในการแปรรูปหรือส่งเสริมการบริโภคสด

งานวิจัยยังพบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อปริมาณสารกาบาในผักและผลไม้หลายปัจจัย ได้แก่ ชนิดพืชและสายพันธุ์ ชนิดผักและผลไม้ในวงศ์เดียวกันมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณสารกาบาอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน เช่น พืชผักที่อยู่ในวงศ์มะเขือมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณสารกาบาสูงกว่าพืชผักในวงศ์อื่นๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามพืชแต่ละชนิดและสายพันธุ์ต่างกันในวงศ์เดียวกันจะมีปริมาณสารกาบาที่แตกต่างกัน เช่น ตะคร้อ ซึ่งเป็นผลไม้พื้นบ้านในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นผลไม้พื้นบ้านที่มีสารกาบาสูงกว่าพืชอื่นๆ ในวงศ์เดียวกัน เป็นต้น

ระยะการสุกแก่ ระหว่างการพัฒนาของผลพบว่าพืชแต่ละระยะมีการสร้างและสะสมปริมาณสารกาบาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ดัชนีการเก็บเกี่ยวพืชเพื่อให้ได้ผักและผลไม้ในระยะที่มีการสะสมสารสูงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงด้วยเช่นกัน เช่น มะละกอดิบจะมีสารกาบาสูงกว่ามะละกอสุก 30% มะเขือเทศสีเขียวมีสารกาบามากกว่าผลที่เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วถึง 3 เท่า เป็นต้น

การจัดการระบบปลูกพืช ได้แก่ การจัดการธาตุอาหารพืช การฉีดพ่นสารบางชนิดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญ เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสารกาบา นอกจากนี้ความเครียดระหว่างการปลูก เช่น ภาวะการขาดน้ำ (water stress) ภาวะดินเค็ม (salt stress) การได้รับอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิต่ำ (chilling stress) อุณหภูมิสูง (heat stress) ภาวะเครียดต่างๆ เหล่านี้ทำให้พืชสร้างและสะสมสารกาบาในพืช อย่างไรก็ตามการสร้างและสะสมจะมากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดพืช เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีการตอบสนองไม่เหมือนกัน

ดังจะเห็นได้จากการที่พืชชนิดเดียวกันที่ทำการปลูกจากพื้นที่ต่างกันซึ่งได้รับธาตุอาหารในดินแตกต่างกันและได้รับปัจจัยภายนอกจากสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันทำให้มีปริมาณสารกาบาที่แตกต่างกัน ดังนั้นการจัดการระบบการปลูกให้มีปัจจัยที่เหมาะสมต่อการสร้างและสะสมของสารกาบาจึงเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยเพิ่มปริมาณสารกาบาในพืช นอกจากนี้ยังสามารถใช้ความหลากหลายในการสร้างพืชเฉพาะถิ่นที่มีสารสำคัญสูงได้อีกด้วย

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ได้แก่ อุณหภูมิระหว่างการเก็บรักษา และองค์ประกอบของบรรยากาศระหว่างการเก็บรักษา ตัวอย่างเช่นในมะเขือเทศบางสายพันธุ์ที่มีความอ่อนไหวต่ออุณหภูมิต่ำ เมื่อนำมะเขือเทศเหล่านี้มาทำการเก็บรักษาที่อุณหภูมิต่ำ จะทำให้มะเขือเทศสร้างสารกาบาเพิ่มขึ้น หรือการเก็บรักษาลำไยที่อุณหภูมิต่ำ นอกจากทำให้ลำไยมีคุณภาพดีแล้วยังทำให้ลำไยมีปริมาณสารกาบาสูงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของปริมาณสารกาบาและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพอื่นๆ ในพืชขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาวิธีที่เหมาะสมในแต่ละชนิดพืชและชนิดของสารสำคัญนั้นๆ ซึ่งจะทำให้เราได้บริโภคผักและผลไม้ที่นอกจากจะรสชาติดี มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังอุดมไปด้วยสารสำคัญอื่นๆ ที่มีประโยชน์ในการเสริมสร้างสุขภาพแก่ผู้บริโภค

นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การเกษตรจึงมีบทบาทสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ผักและผลไม้ นอกจากจะเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นแล้ว ยังเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่มีผลดีต่อสุขภาพทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เช่น การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน การส่งเสริมการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย การชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะ รวมทั้งการป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆ การผลิตผักและผลไม้ที่เดิมมุ่งเน้นที่รูปลักษณ์และรสชาตินั้น ปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืชเพื่อให้ผักและผลไม้เหล่านั้นมีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้นและมีสารสำคัญที่สามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพในปริมาณที่สูงขึ้น

วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ประสบผลสำเร็จในการศึกษาวิจัยการเกษตรฟังก์ชั่น (Functional Agriculture) เพื่อผลิตผักและผลไม้ที่มีคุณสมบัติเป็นอาหารฟังก์ชั่นแบบครบวงจร จำนวน 3 วิธี ได้แก่ 1.การพัฒนากระบวนการผลิตพืชเพื่อควบคุมการสร้างและสะสมสารสำคัญในผักและผลไม้ระดับแปลงใหญ่ 2.การผลิตพืชในระบบปิดด้วยแสงเทียม หรือโรงงานปลูกพืช (Plant Factory) เพื่อควบคุมการเจริญเติบโตและการสร้างสารสำคัญ ซึ่งต้องมีการลงทุนเรื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในระบบ จึงเหมาะสมสำหรับเกษตรกรหรือผู้ผลิตที่มีความพร้อมด้านการเงิน

ทั้งนี้ วว.ได้วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้เชิงสังคมมาตั้งแต่ พ.ศ 2554 จนถึงปัจจุบัน และ 3.การพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มปริมาณสารสำคัญก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยวิธีสุดท้ายนี้เหมาะสมกับเกษตรกรทั่วไปที่ไม่มีศักยภาพด้านการลงทุน สามารถใช้ได้กับผลผลิตผักและผลไม้ที่มีการปลูกแบบปกติ เพียงแต่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวโดยการควบคุมสิ่งแวดล้อมระหว่างการเก็บรักษา เช่น การใช้อุณหภูมิที่เหมาะสม การปรับองค์ประกอบของบรรยากาศให้เหมาะสม รวมทั้งการกระตุ้นด้วยสภาวะเครียดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาของผลิตผลแล้ว ยังช่วยเพิ่มปริมาณสารสำคัญในตัวผลผลิตอีกด้วย

“จะเห็นได้ว่าการบริโภคผักและผลไม้ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีซึ่ง วว.พัฒนาขึ้นนั้น จะไม่ใช่เพียงนำมาบริโภคเป็นอาหารเท่านั้น แต่ผักและผลไม้ยังทำหน้าที่อื่นๆ ให้แก่ร่างกาย นอกเหนือจากการให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นและรสสัมผัสอาหารแล้ว ยังสามารถช่วยเสริมสร้างสุขภาพในปริมาณที่สูงขึ้น ผักและผลไม้เหล่านี้จึงมีคุณสมบัติที่เป็นมากกว่าอาหาร”ผู้ว่าการ วว.กล่าว

เรื่องโดย ศิริลักษณ์ หาพันธ์นา

กว่าจะมาเป็น “กัญชาถูกกฎหมาย” ในหลายประเทศทั่วโลก…นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นต้องผ่านกระบวนการอันซับซ้อน ทั้งเสียงจากประชาชน การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนาทางการเเพทย์ ในสหรัฐอเมริกากว่าจะเสพกัญชาเพื่อ “ความบันเทิง” ได้ก็ต้องรอนานกว่า 3 ทศวรรษ

การเปลี่ยนเเปลงของ “กัญชา” ผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนไป จากสิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นธุรกิจสร้างรายได้ เป็นยารักษาโรค เป็นเเม่เหล็กดึงดูดให้คนมาท่องเที่ยว รวมไปถึงการโกยภาษีมหาศาลเข้ารัฐ เเต่ก็มีโทษเช่นเดียวกัน

ในขณะที่เมืองไทยยังคงมีการถกเถียงเรื่องกัญชา-กัญชง เเละรอผลวิจัยเพื่อเเก้กฎหมายนำมาใช้ทางการเเพทย์ เรามาดูโมเดลพัฒนาการของ “กัญชาถูกกฎหมาย” ของหลายประเทศทั่วโลกกัน

เมื่อ 1 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา ทางการรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศให้การเสพกัญชาเพื่อ “ความบันเทิง” กลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยเป็นรัฐที่ 7 ของสหรัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการ และคาดว่ารัฐแมสซาชูเซตส์และรัฐเมนจะตามมาภายในปลายปีนี้

ขณะเดียวกันมี 29 รัฐที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ถึงแม้ว่ากฎหมายระดับประเทศ (Federal Law) ยังคงห้ามอยู่ก็ตามที

หลังกฎหมายใหม่นี้บังคับใช้ ร้านขายกัญชาที่มีใบอนุญาตในเมืองซานดิเอโกแทบทุกร้าน บรรยากาศคึกคักเป็นพิเศษ ผู้คนรอคิวซื้อกัญชามวนและอาหารที่ผสมกัญชา ตั้งแต่คนในวัยหนุ่มสาวยันวัยเกษียณ

สำหรับแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐแรกในอเมริกา ที่อนุญาตให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายเมื่อ 22 ปีก่อน จากอดีตถึงปัจจุบันแคลิฟอร์เนียกลายเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ที่มีตลาดซื้อขายกัญชาเพื่อการแพทย์สูงสุดในสหรัฐ

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2014 รัฐโคโลราโด สร้างประวัติศาสตร์ ด้วยการเป็นแห่งแรกของโลกที่ประชาชนสามารถเสพกัญชาเพื่อความบันเทิง สูบ-กิน-ซื้อและปลูกได้ตามกฎหมาย นอกเหนือจากการใช้เพื่อการแพทย์ โดยผ่านการลงมติเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ของพลเมืองในรัฐ

ตามมาด้วยกรุงวอชิงตันดีซี ได้เป็นมลรัฐที่สองที่เปิดเสรีกัญชา ให้สามารถเสพเพื่อความบันเทิงได้ แต่ต้องแลกด้วยภาษีที่สูงมาก ทำให้ราคากัญชาในรัฐนี้แพงตามไปด้วย

สำหรับข้อกำหนดการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิง ผู้ซื้อต้องมีอายุ 21 ปีขึ้นไป ต้องซื้อจากร้านที่มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามเสพในที่สาธารณะ เช่น ร้านอาหาร หรือสวนสาธารณะ และต้องเสพห่างจากเขตโรงเรียน 300 เมตร โดยผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับครั้งแรก 100 ดอลลาร์ และจะสูงขึ้นในครั้งต่อไป และสามารถครอบครองได้ไม่เกิน 28.5 กรัม และปลูกได้ไม่เกิน 6 ต้นที่บ้าน และต้องปลูกโดยมิดชิด เนื่องจากยังผิดกฎหมายระดับประเทศอยู่

ขณะที่ผู้ที่เคยต้องโทษคดีกัญชา สามารถร้องขอให้ศาลกำหนดโทษให้ใหม่เพื่อล้มล้างโทษ และสามารถร้องขอให้ลบประวัติอาชญากรรมได้ กว่าจะมาถึงจุดนี้ ในช่วงทศวรรษ 1970 อเมริกาก็เคยมีการปราบปรามการใช้กัญชาอย่างหนัก เมื่อการเสพกัญชาได้กลายเป็นแฟชั่นในหมู่นักศึกษา ชาวฮิปปี้ และคนรุ่นใหม่ยุค 1960 ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดที่มีโทษอาญา ต่อมาในยุค 1980 กระแสต่อต้านกัญชาในสหรัฐเริ่มเปลี่ยนแปลง หลังมีงานวิจัยทางการแพทย์รับรองถึงคุณประโยชน์ของกัญชา

ผลวิจัยล่าสุดจาก Gallup เปิดเผยว่าในปี 2017 กว่า 64% ของประชากรผู้ใหญ่ของอเมริกาสนับสนุนให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยมองว่ามีประโยชน์มากกว่าโทษ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากทศวรรษก่อนที่มีเพียง 36% เท่านั้นที่ให้การสนับสนุน ทำให้ผลโหวตในรัฐแคลิฟอร์เนียกว่า 57% สนับสนุนให้การเสพกัญชาเพื่อความบันเทิงกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายในที่สุด

มีหลายสำนักคาดผลทางเศรษฐกิจ หลังรัฐแคลิฟอร์เนียอนุญาตเสพกัญชาเพื่อความบันเทิง โดยนักวิเคราะห์ “กรีนเวฟ” คาดว่าจะมีเงินสะพัดในอุตสาหกรรมกัญชาในสหรัฐมากถึง 5,100 ล้านดอลลาร์ ในปี 2018 และจะให้ให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตถุง 3 เท่าในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ด้านบริษัทที่ปรึกษาอาร์ควิว เผยรายงานคาดว่า อุตสาหกรรมกัญชาถูกกฎหมายจะสร้างรายได้ กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานกว่า 400,000 ตำเเหน่งในสหรัฐภายในปี 2021 อีกทั้งรัฐบาลจะเก็บภาษีได้ 4,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 3 ปี

ท่ามกลางความนิยม ก็มีอุปสรรคที่ขวางการเติบโตของอุตสาหกรรมกัญชาในสหรัฐ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการผ่านกฎหมายนี้ เช่น แบงก์จะไม่กล้าให้เงินทุนกับร้านจำหน่ายกัญชา เนื่องจากอาจกลายเป็นการมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมยาเสพติดผิดกฎหมายระดับประเทศ หรือกฎหมายภาษี 280E ที่ระบุว่าธุรกิจค้ากัญชาไม่สามารถยื่นขอหักภาษีได้เช่นเดียวกับธุรกิจอื่นที่มีสิทธิได้รับตามปกติ ทำให้ร้านค้าอาจจะต้องเสียภาษีเงินได้สูงถึง 90%

ขณะเดียวกัน ก็มีเสียงเรียกร้องให้ธุรกิจกัญชา ได้รับการดูแลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านความโปร่งใส การโฆษณา และการซื้อขาย กลายเป็นประเด็นสำคัญที่กดดันให้ “รัฐบาลกลางสหรัฐ” ต้องทบทวนสถานะของ “กัญชา” ในระดับประเทศครั้งใหญ่

เป็นที่ทราบกันดีว่าการค้า “กัญชา” เป็นธุรกิจใหญ่ที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่แคนาดามานับทศวรรษ หลังมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา โดยพลเมืองวัยหนุ่มสาวกว่า 30 % ของแคนาดายอมรับว่าพวกเขาเคยเสพกัญชาเพื่อความบันเทิง บรรดาบริษัทเอกชนสัญชาติแคนาดา ต่างแข่งขันเพื่อแย่งชิงตลาดผลิตและจำหน่ายกัญชาถูกกฎหมายรายใหญ่ของโลก

และการผลักดันให้มีการปลูก ขาย และเสพกัญชาเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจอย่างถูกกฎหมายนั้น ก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่ทำให้ “จัสติน ทรูโด” ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี โดยหลังเข้ารับตำแหน่งเขาได้เสนอพ.ร.บ.กัญชา (Cannabis Act) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและคาดว่าจะผ่านเป็นกฎหมายออกมาได้ในช่วงกลางปี 2018 นี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าว กระตุ้นให้เอกชนเริ่มเตรียมการรับกฎหมายใหม่ อย่างเช่นผู้ผลิตกัญชารายใหญ่ “คานาปี โกรว์ธ คอร์ป” ซึ่งมีมูลค่าหุ้นในตลาดที่ 1,240 ล้านดอลลาร์ พื้นที่ปลูกในโรงเรือนแบบปิดรวมกว่ากว่า 350,000 ตารางฟุต

และคู่แข่งรายสำคัญที่กำลังตีตื้นขึ้นมากับบริษัท “ออโรร่า แคนนาบิส อิงค์” ผู้ผลิตกัญชาสัญชาติแคนาดาที่สร้างโรงเรือนใหม่ใหญ่ถึง 800,000 ตารางฟุต ที่จะมีกำลังผลิตกว่า 100 ตันต่อปี นับว่าเป็นพื้นที่ปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับพ.ร.บ.กัญชาใหม่ของแคนาดา

ทั้งนี้ สถิติจากสำนักงบประมาณรัฐสภาแคนาดา ระบุว่า ปัจจุบันราคาจำหน่ายกัญชาแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ เช่นในเมืองควิเบค ราคากรัมละ 7.31 ดอลลาร์แคนาดา ขณะที่ในเมืองอื่นๆทางตอนเหนือของประเทศ ราคาจำหน่ายกรัมละ 13.17 ดอลลาร์แคนาดา

สำนักวิเคราะห์หลายแห่ง คาดการณ์ว่า เมื่อ พ.ร.บ.กัญชามีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ รัฐบาลแคนาดาอจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีกัญชาเพิ่มขึ้น สูงสุดถึงปีละ 5,000 ล้านดอลลาร์แคนาดา แต่บางสำนักก็คาดว่าอาจเก็บได้เพียงราว 600 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการเสพกัญชาถูกกฎหมาย และนำมาเป็นแม็กเนตดึงดูดนักท่องเที่ยว ช่วยผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโต ขณะที่ประชาชนมีความคิดเห็นที่ดีต่อกัญชา โดยมองว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่และสุรา

โดยพบสำรวจพบว่า 23 % ของนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอัมสเตอร์ดัมส์ ต้องการใช้บริการร้านกาแฟ ที่อนุญาตให้บุคคลที่อายุมากกว่า 18 ปีสูบกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งยังสามารถซื้อกัญชาได้สูงสุด 5 กรัม โดยร้านกาแฟประเภทนี้ มีประมาณ 220 ร้าน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในย่านแหล่งบันเทิง

ด้านประเทศอื่นๆ ในแถบสแกนดิเนเวีย อย่างเดนมาร์ก การสูบ-ปลูก-ครอบครองและขายกัญชา ยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในขณะที่รัฐกำลังพยายามผลักดันพัฒนาเรื่องการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ในต้นปีนี้

ฟากฝั่งยุโรปอย่าง “สเปน” เป็นประเทศแรกๆ ที่เปิดให้กัญชาถูกกฎหมาย และอนุญาตให้ประชาชนสามารถใช้และปลูกเองภายในบ้านได้ตามจำนวนที่กำหนด แต่ห้ามนำออกมาขายและซื้อ พร้อมสามารถพกติดตัวได้สูงสุด 40 กรัม ขณะที่กรุงปรากของสาธารณรัฐเช็ค ก็เป็นอีกเมืองที่สามารถปลูกกัญชาในครอบครองได้ 5 ต้น เเละพกติดตัวได้สูงสุด 15 กรัม

“อุรุกวัย” นับว่าเป็นดินเเดนเเห่งกัญชา ที่เสรีที่สุดแห่งลาตินอเมริกา โดยเมื่อเดือน ก.ค.ปี 2017 ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุญาตให้มีการขายกัญชาเพื่อสันทนาการตาม “ร้านขายยา” ได้อย่างถูกกฎหมายเป็นชาติแรกในโลก หลังผ่านกฎหมายเสพกัญชาอย่างถูกฎหมายมาตั้งเเต่ปี 2013

โดยคุณสมบัติผู้ที่สามารถซื้อกัญชาตามร้านขายยาที่ได้รับอนุญาต จะต้องเป็นพลเมืองอุรุกวัย หรือบุคคลมีสิทธิพำนักอาศัยถาวร อายุ 18 ปีขึ้นไป พร้อมลงทะเบียนกับรัฐเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะสามารถซื้อกัญชาได้สูงสุด 40 กรัมต่อเดือน ราคากรัมละ 1.30 ดอลลาร์สหรัฐ โดยกัญชาจะต้องมาจากไร่ที่รัฐกำกับดูแล นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ผู้ใช้ปลูกกัญชาเองที่บ้านได้ปีละ 6 ต้น และอนุญาตให้ตั้งสมาคมผู้สูบกัญชา 15-45 คน ซึ่งจะปลูกกัญชาได้ปีละ 99 ต้น

สำหรับอุรุกวัย ถือว่าเป็นประเทศที่มีอัตราเหตุรุนแรงเกี่ยวกับยาเสพติดน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในละตินอเมริกา แต่ผู้ต้องขังราว 1 ใน 3 ล้วนพัวพันการค้ายาเสพติด เพราะอุรุกวัยกลายเป็นเส้นทางลำเลียงกัญชาจากปารากวัยและโคเคนจากโบลิเวีย

จากผลสำรวจผู้ใหญ่จำนวน 9,000 คนจาก 9 ประเทศในภูมิภาคนี้อย่าง อาร์เจนตินา , โบลิเวีย, ชิลี ,โคลัมเบีย ,คอสตาริกา , เอลซัลวาดอร์ ,เม็กซิโก ,เปรู เเละอุรุกวัย พบว่ากว่า 40 % เห็นด้วยกับเรื่องกัญชาถูกกฎหมาย

โดยประชาชนในอุรุกวัย ผู้บุกเบิกตลาดกัญชาถูกกฎหมาย เห็นด้วย 68% ตามมาด้วยเม็กซิโก 57% คอสตาริกาที่ 55% อย่างไรก็ตาม การยอมรับการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการยังแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ

ข้ามมายังฝั่งแปซิฟิก ออสเตรเลียประกาศแผนตั้งเป้าเป็นผู้นำการส่งออกกัญชาเพื่อการแพทย์เบอร์หนึ่งของโลก หวังส่งขายทำเงินต่างประเทศ เหมือนแคนาดาและเนเธอร์แลนด์ ขณะที่อุรุกวัยและอิสราเอลก็เคยประกาศแผนส่งออกตีตลาดกัญชาเช่นเดียวกัน

โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา รัฐมนตรีสาธารณสุขของออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตออสเตรเลีย เป็นผู้ส่งออกกัญชาเพื่อการแพทย์อันดับ 1 ของโลก และนโยบายนี้จะเป็นผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจและช่วยเหลือผู้ป่วยภายในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎหมายดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากรัฐสภาก่อน ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้เร็วสุดในเดือนกุมภาพันธ์ โดยพรรคแรงงานที่เป็นฝ่ายค้านก็แสดงท่าทีสนับสนุนเรื่องนี้

ออสเตรเลีย กำหนดให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมาย มาตั้งแต่ปี 2016 ส่วนการใช้กัญชาเพื่อความบันเทิงยังเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทั้งนี้ จากการประเมินของแกรนด์วิวรีเสิร์ช (Grand View Research) บริษัทที่ปรึกษาของสหรัฐ ระบุว่า ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลกอาจมีมูลค่าสูงถึง 55,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.9 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025

ย้อนกลับมาที่ “กัญชา” ในเมืองไทย มีความพยายามจะเสนอให้กัญชาถูกกฎหมายหลายครั้ง ล่าสุดจากกรณีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เสนอให้บริเวณเขตเทือกเขาภูพาน จ.สกลนครเป็นพื้นที่นำร่อง 5,000 ไร่ สำหรับเป็นแหล่งปลูกกัญชา โดยกำลังเตรียมขออนุญาตตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขถึงการขออนุญาต และการอนุญาตผลิตจำหน่าย หรือมีไว้ครอบครอง ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2561 ที่ผ่านมา

เเต่ก็ต้องโดนเบรกชะงัก เมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมายืนยันว่า ประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ แต่อนุญาตให้ครอบครองเพื่อวิจัยได้ ส่วนที่อนุญาตได้คือ “กัญชง” ที่ปัจจุบันอนุญาตให้ปลูกในพื้นที่ 5 จังหวัดของภาคเหนือ เพื่อรองรับการปลูกเชิงอุตสาหกรรม

“ขอชี้แจ้งว่ากฎกระทรวงดังกล่าว ออกมาจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ว่าด้วยการปลูก เฮมพ์ (HEMP) เป็นพืชชนิดย่อยของกัญชาที่ ที่เรียกว่า “กัญชง” ซึ่งจะมีลักษณะทางกายภาพคล้ายกัญชามาก แต่ที่สิ่งแตกต่าง คือ กัญชงจะมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ในปริมาณไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกัญชา 3 เปอร์เซ็นต์ สารตัวนี้จะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ถือเป็นสารเสพติด จึงมีการอนุญาตให้ทดลองปลูกกัญชงในหลายพื้นที่ แต่ไม่อนุญาตให้ปลูกกกัญชา เพราะมีสารในปริมาณที่มากกว่า” นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา

คลิกอ่าน> ตามมาดู… กัญชา VS กัญชง เเตกต่างกันอย่างไร ?

นพ.สุรโชค กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเสนอว่าควรจะมีผลงานวิจัยที่แน่ชัดก่อน โดยการวิจัยนั้นใช้เวลานานเป็นปี ซึ่งทางอย.ได้เสนอให้แก้กฎหมายยาเสพติดให้โทษ ปี พ.ศ. 2522 เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาการศึกษาวิจัยในคนและนำกัญชา รวมทั้งสารสกัด มาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์รักษาโรคได้ ซึ่งบรรจุอยู่ในร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด เเละขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขณะที่พล.ต.ท.สมหมาย กองวิสัยสุข ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด แสดงความคิดเห็นว่า เขาเห็นด้วยหากจะมีการเปลี่ยนกัญชา ที่ปัจจุบันเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 เพื่อใช้ในทางการแพทย์ อีกทั้งจะช่วยลดปัญหาลักลอบส่งประเทศที่ 3 ซึ่งมีแนวโน้มการลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น โดยการลักลอบนำเข้ามาในประเทศ ขณะนี้ยังถือว่ามีความผิด ต้องจับดำเนินคดีทั้งหมด

ด้านนพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เบื้องต้นเท่าที่ทราบกัญชายังเป็นการนำมาใช้เพื่อการวิจัยเกี่ยวกับยารักษาโรคเท่านั้น ซึ่งต้องศึกษารายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้ง เนื่องจากกัญชายังถือเป็นยาเสพติด

กระเเสผลักดัน “กัญชาถูกกฎหมายในไทย” ครั้งนี้จะไปได้ไกลเเค่ไหน…เเละจะส่งผลต่อสังคม ประชาชนเเละเศรษฐกิจอย่างไร…ต้องติดตาม ระดมความเห็น – สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดรับความคิดเห็นประกอบการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุง ระหว่างวันที่ 3-31 มกราคม 2561

สภาเกษตรกร เดือดค้าน 4 ประเด็น ตีกลับ พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ฉบับกฤษฎีกา อ้างสอดไส้แก้สาระสำคัญจากร่างเดิมที่ผ่าน ครม. ทั้งปรับการตั้ง กนป.และปรับที่มาเงินกองทุน หวั่นไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาปาล์มทั้งระบบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เปิดรับความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุง ระหว่างวันที่ 3-31 มกราคม 2561

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2561 ได้มีการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม พ.ศ. … ฉบับที่คณะกรรมการกฤษฎีกาปรับปรุง ที่ห้องประชุมปกาสัย ศาลากลางจังหวัดกระบี่ โดยมี พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานกรรมการองค์การคลังสินค้า (อคส.) โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมสังเกตการณ์

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกษตรกรไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมันฯ ฉบับของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากสาระสำคัญและหลักการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิมที่สภาเกษตรกรฯ ได้ร่วมกันร่างกับทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรและผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลายด้าน ซึ่งทำให้ไม่ตอบโจทย์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์ม ดังนั้น ที่ประชุมเกษตรกรมีมติไม่รับร่าง ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา และขอให้นำร่างเดิมที่ผ่าน ครม. แล้วเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทน

โดยประเด็นคัดค้าน ประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกาไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ผ่านมติ ครม. 2.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา จะทำลายและบั่นทอนอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม เพราะไม่สามารถมีการต่อยอดพัฒนาได้ 3.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา ได้ตัดเงินกองทุนออกจากเดิมที่ทุกภาคส่วนต้องจ่ายเงินกองทุน เหลือเพียงแค่การพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มทั้งระบบได้

4.ร่าง พ.ร.บ. ฉบับของกฤษฎีกา จะทำให้คณะกรรมการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม (กนป.) มีอำนาจลดลง ไม่นับรวมโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง ๆ ที่เกษตรกรต้องการเพียงแค่โครงสร้างราคาที่เป็นธรรม มีการต่อยอดได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และต้องการ พ.ร.บ.ที่พัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นแต่ร่างกฎหมายที่กฤษฎีกาไม่ตอบโจทย์นี้

“การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ให้มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรี จากเดิมมาจากการคัดเลือก (โหวต) อาจจะมีผลเชื่อมโยงกับมาตราอื่น ๆ ที่ กนป.จะต้องเป็นผู้กำหนด เช่น มาตรา 29 กำหนดให้ กนป.เป็นผู้ออกประกาศ