สวทช. จับมือ สภาหอการค้า และ ม.เกษตรฯ กำแพงแสน

ดันผู้ประกอบการทุเรียนไทยสู่สากลด้วย Thai GAP พร้อมเปิดตัวแอป ThaiGAP Platform Service ขอมาตรฐานได้เร็วต่อใจ (29 พ.ค. – 2 มิ.ย. 61) ในงาน THAIFEX 2018 ที่อิมแพค เมืองทองธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) นำผู้ประกอบการทุเรียนไทย กลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่เข้าร่วม “โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน”

ซึ่ง สวทช. ดำเนินงานร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอาเซียน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ล่าสุดหนุนผู้ประกอบการให้ได้ ThaiGAP แล้วมากกว่า 40 ราย และในงาน THAIFEX 2018 ได้เปิดตัวระบบใหม่ ThaiGAP Platform Service แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAP นำร่องที่ผลไม้ทุเรียนไทย กับกลุ่มสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี หวังสร้างมาตรฐานส่งออกสินค้าได้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น

นายชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรฐาน ThaiGAP เป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย หรือสถาบัน ThaiGAP ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตผักและผลไม้ของไทย ตลอดห่วงโซ่การผลิต โดยมีระบบตรวจสอบย้อนหลังในรูปแบบ QR Code จาก GISTDA ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้ง่ายโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน ได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ

นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า “โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” ดำเนินการโดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันสนับสนุนผู้ประการผักและผลไม้ไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐานไปแล้วมากกว่า 40 รายจากทั่วประเทศ สร้างความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกสินค้าได้เป็นอย่างมีประสิทธิผล และขณะนี้ ได้สนับสนุนผลไม้ “ทุเรียนไทย” สู่สากล ด้วยมาตรฐาน ThaiGAP ในโครงการ “การพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAP ของสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด” ให้กับสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ภายใต้โครงการ

ด้าน ผศ.ดร. ชัยณรงค์ รัตนกรีฑากุล หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ โปรแกรม ITAP และอาจารย์ประจำภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงนวัตกรรมระบบตรวจรับรอง ว่า ThaiGAP Platform Service พัฒนาขึ้นโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการนำระบบแอพพลิเคชั่นเข้ามาใช้ในการตรวจรับรองผล โดยรวบรวมข้อมูลภาคสนามด้วยอุปกรณ์พกพา เข้าสู่ระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ ซึ่งติดตั้งที่สถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ผลได้ในเบื้องต้น และสามารถให้คำแนะนำผ่านระบบเวลาจริง (real time) หรือสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลองค์ความรู้ เป็นผลให้เกิดการสร้างและ/หรือต่อยอดองค์ความรู้กับกลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมาตรฐานสำหรับการส่งออกสินค้าได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว โครงการนี้จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมระบบตรวจรับรอง ThaiGAP เพื่อส่งเสริมความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ของภาคการเกษตรไทย ตามนโยบายประเทศไทย 4.0

“โดยในการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ 1. การปรับเปลี่ยนการรับรองมาตรฐานจากระบบเอกสารเป็นระบบเทคโนโลยีดิจิทัล 2. การติดตามสถานะการขอรับรอง และเพิ่มความรวดเร็วในการตรวจสอบ 3. การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรในพื้นที่ด้วยการเรียนรู้ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 4. การบันทึกข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งสามารถตรวจสอบการรับรองได้ตั้งแต่เริ่มต้น รับรู้ และเก็บเกี่ยว 5. การขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญผ่านระบบ Meeting และ 6. การจัดทำรายงานเพื่อขอรับรองมาตรฐาน ThaiGAP” หัวหน้า ผู้เชี่ยวชาญโครงการฯ กล่าว

ขณะที่ นายชรัตน์ เนรัญชร สมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด และรองเลขาธิการหอการค้าจันทบุรี กล่าวว่า ในการยกระดับคุณภาพผลผลิตทุเรียนของกลุ่มสมาชิกสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ ได้รับคำแนะนำจากหอการค้าจันทบุรีผ่านทางสหกรณ์การเกษตรท่าใหม่ จำกัด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้ทำมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเน้นในเรื่องอาหารปลอดภัย ทำให้แปลงทุเรียนในท่าใหม่ได้รับมาตรฐาน ThaiGAP แล้วหลายรายและกำลังจะได้รับการรับรองอีกจำนวนมากในเร็ววันนี้ เพราะเราในฐานะผู้ประกอบการผลไม้ไทยอยากให้ผู้บริโภคได้รับประทานผลไม้ทุเรียนที่มีความปลอดภัย รวมถึงยังสามารถขยายตลาดไปได้กว้างขวางมากขึ้น นอกจากนี้ จุดเริ่มต้นจากการสนับสนุนผลไม้ทุเรียน ยังสามารถต่อยอดขยายไปช่วยยังกลุ่มผลไม้อินทผาลัมของสมาชิกฯ ในการขอรับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ได้ด้วย โดยขณะนี้แปลงลำไยของตนได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ปูม้า และผลิตภัณฑ์จากปูม้า เป็นที่นิยมบริโภค สามารถทำรายได้ให้กับประเทศเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาทต่อปี แต่เนื่องจากมีการทำประมงในปริมาณที่เกินกำลังผลิตของธรรมชาติ จึงทำให้ประชากรของปูม้าในธรรมชาติลดลง การฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าจากการทำธนาคารปูม้า เกิดจากการประยุกต์องค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่นและการวิจัย ที่หลายหน่วยงานเข้ามามีบทบาทในการช่วยฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และพัฒนา แก้ไขความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในท้องทะเล ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อ วันที่ 6 มีนาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เสนอขยายผลธนาคารปูม้า เพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ไปสู่ชุมชนบริเวณชายฝั่ง และได้มอบหมายให้เป็นหน่วยงานบูรณาการหลักร่วมกับหลายหน่วยงานในการดำเนินการนำองค์ความรู้จากผลการวิจัยและนวัตกรรมเดิมมาต่อยอดหรือวิจัยเพิ่มอัตราการรอดของลูกปูม้าก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล และขยายผลสำเร็จของธนาคารปูม้าที่มีไปสู่ชุมชนอื่น ๆอย่างเหมาะสม ตลอดจนการสนับสนุนการตลาดในทุกรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าอันจะนำมาซึ่งการสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชน

ดังนั้น เพื่อเป็นการขยายผลธนาคารปูม้า ในระดับพื้นที่ให้มีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันมีการบูรณาการความร่วมมือและให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการขยายผล ธนาคารปูม้า และเพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ และกระตุ้นความสนใจในการขยายผลธนาคารปูม้า สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะเลขานุการสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับ เครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่ จัดการประชุมเครือข่ายขยายผลธนาคารปูม้าเพื่อ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2561 ณ อาคารเรียนรู้ชุมชนบ้านน้ำราบ หมู่ที่ 4 ตำบลบางสัก อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยได้รับเกียรติจาก ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมมอบนโยบาย และมอบป้ายธนาคารปูม้าแก่เครือข่ายธนาคารปูม้า ในเวลา 09.30 น. การจัดประชุมเครือข่ายขยายผลธนาคารปูม้าฯ ในครั้งนี้ ได้มีการระดมความคิด เรื่อง “ปัจจัยต่อความสำเร็จของการเพิ่มปริมาณปูม้า และการสร้างธนาคารปูม้าชุมชน ในมุมมองกลุ่มประมง” รวมถึงการแบ่งกลุ่มระดมความคิด “บทเรียนความสำเร็จ ข้อเสนอแนะ และแนวทางการขยายผลธนาคารปูม้าชุมชน”

เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลเพื่อคืนปูม้าสู่ทะเลไทย และเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเกิดการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของธนาคารปูม้าจนเกิดการนำไปขยายผลในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เดินหน้าโครงการไทยนิยมยั่งยืน หลังได้รับงบกลางปี 1,791.5341 ล้านบาท อุดหนุนสหกรณ์การเกษตร 302 แห่ง ใน 67 จังหวัด จัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและเครื่องแปรรูปผลผลิตการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า เน้นข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และมันสำปะหลัง สั่งสหกรณ์จังหวัดเตรียมพร้อมระดับพื้นที่ ติดตามการดำเนินงานให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ มุ่งหวังสร้างประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อเป็นการ Kick off โครงการไทยนิยมยั่งยืน ไปยังสหกรณ์จังหวัดทั่วประเทศ เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวพร้อมเพรียงกัน ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับการจัดสรรงบกลางปี วงเงิน 1,791.5341 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร 302 สหกรณ์ในพื้นที่ 67 จังหวัด ดำเนินการจัดสร้างอุปกรณ์การตลาดและแปรรูปผลผลิตการเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ซึ่งประกอบด้วย 4 โครงการหลัก ได้แก่

โครงการพัฒนาสถาบันเกษตรกรจัดเก็บพืชผลทางการเกษตร จำนวน 146 สหกรณ์ วงเงิน 1,017.9172 ล้านบาท จัดสร้างฉาง ลานตาก โกดัง สำหรับรวบรวมและชะลอผลผลิตข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ไม่น้อยกว่า 7 แสนตัน โครงการรวบรวมและแปรรูปยางพารา วงเงิน 340.4299 ล้านบาท รวบรวมยางพารา 150,000 ตัน โครงการแปรรูปผลผลิตการเกษตร วงเงิน 410.6206 ล้านบาท เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าการเกษตร 56,000 ตัน และโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร วงเงิน 22.2789 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไม่น้อยกว่า 10,320 ราย และสนับสนุนการดำเนินธุรกิจการวบรวมและการแปรรูปผลผลิตให้กับสหกรณ์พื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด

ขณะนี้การดำเนินโครงการอยู่ในขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งสหกรณ์สรรหาผู้รับจ้างได้แล้ว กว่า 91% โดยได้เน้นย้ำให้ทุกสหกรณ์ดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเคร่งครัด และให้มีความรอบคอบ และเมื่อได้ผู้รับจ้างแล้ว ต้องตรวจดูร่างสัญญาก่อนจะลงนามในสัญญาจ้างและมีการกำหนดแบ่งจ่ายเงินเป็นงวดโดยดูความสมเหตุสมผล ซึ่งได้สั่งการให้ทุกจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่ลงไปกำกับดูแลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดเป็นรายสหกรณ์ว่าถูกต้องตามแบบหรือไม่ และให้รายงานผล แบบ Real Time

พร้อมทั้งให้ส่งข้อมูลวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์การตลาดที่ได้รับการสนับสนุนเป็นรายสหกรณ์ ภายใน วันที่ 8 มิถุนายน 2561 นี้ เพื่อให้มั่นใจว่าสหกรณ์จะมีการใช้ประโยชน์จริงและส่งผลต่อการรองรับผลผลิตจากเกษตรกรที่เป็นสมาชิก และให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ภายใต้ “ความถูกต้อง เป็นธรรม ได้ประโยชน์” ซึ่งการก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือแปรรูปผลผลิตการเกษตร กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 และในระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2561 จะจัดอบรมถ่ายทอดความรู้ในการใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่ถูกต้องให้กับฝ่ายจัดการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ เพื่อใช้สำหรับการรวบรวมผลผลิต เก็บรักษา รอจำหน่าย การแปรรูป การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ และขยายช่องทางตลาด และคาดว่าอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือต่างๆ จะเสร็จทันรองรับฤดูกาลผลผลิตตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

แม็คโคร จับมือจังหวัดสงขลา สำนักงานประมงจังหวัดสงขลา สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสงขลา เร่งช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา จากราคาสินค้าตกต่ำ จัดโครงการนำร่อง พร้อมเปิดเทศกาล “แม็คโครชวนกินกุ้งไทย ต่อลมหายใจเกษตกร” จำหน่ายกุ้งคุณภาพดี สด ส่งตรงจากฟาร์ม

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการตลาด บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ตลอดระยะเวลากว่า 29 ปี ที่ลูกค้าผู้ประกอบการได้ให้ความไว้วางใจในสินค้ากลุ่มอาหารของแม็คโครมาโดยตลอด เราให้ความสำคัญอย่างสูงสุดในด้านคุณภาพ ความสด สะอาด และความปลอดภัย ตามมาตฐานของกฎหมาย และหลักปฏิบัติสากล ทั้งนี้ เพื่อที่จะบรรลุวิสัยทัศน์ “มุ่งเป็นที่หนึ่งเรื่องการจัดหาสินค้าเพื่อธุรกิจอาหารแบบครบวงจรสำหรับผู้ประกอบการมืออาชีพ” โดยแม็คโครได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานราชการ เครือข่ายภาคเอกชน มหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาและให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างบูรณาการ ตั้งแต่แหล่งผลิต จนถึงแหล่งจำหน่าย เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้ามีความปลอดภัย”

“ไม่เพียงแต่การคัดสรรคุณภาพอย่างเข้มข้นเท่านั้น แม็คโครยังมีความมุ่งมั่นในการร่วมมือพัฒนาและยกระดับคุณภาพผลิตผลทางการเกษตร อันก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการเป็นช่องทางการตลาดและกระจายสินค้าเกษตรทั้งในยามปกติและภาวะสินค้าล้นตลาดหรือราคาตกต่ำ สู่ประชาชน และผู้บริโภคผ่านแม็คโคร 123 สาขาทั่วประเทศไทย”

วันที่ 30 พ.ค. นายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยหลังจากนำทีมผู้บริหาร และสื่อมวลชน ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี และ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 25 – 27 พ.ค.ที่ผ่านมา ตามโครงการ “พช.สัมพันธ์สัญจร” ครั้งที่ 2 เพื่อดูความคืบหน้างาน “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัติวิถี” ว่าโครงการดังกล่าวถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของพช. ในการปลุกการท่องเที่ยวระดับชุมชน ที่เรียกว่า “แอ่งเล็ก” ให้เกิดการรวมตัวขึ้นมาสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

และสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง โดยใช้นวัตกรรมบวกกับวิถีชีวิตของชุมชน สร้างความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับหมู่บ้าน สำหรับพื้นที่เป้าหมายใน จ.เพชรบุรี คือ พื้นที่ บ.ดอนใน ต.แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหมู่บ้าน และชุมชน ในหลายมิติ ในส่วน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปดูงานที่ บ.โคนมพัฒนา ม.6 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชุมชนท่องเที่ยวซึ่งเริ่มได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว

เพราะมีธรรมชาติที่งดงามของป่าละอู รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น ทุเรียนป่าละอู ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือเม็ดลีบเล็ก เนื้อมาก รสหวาน หอม อร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งมีกิจการโฮมเสตย์ และกิจกรรมการเลี้ยงโคนม อาหารพื้นบ้านของชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยง การทอผ้าพื้นเมือง เป็นต้น

นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้จากโครงการพัฒนาชุมชนโอท็อปนวัตวิถี มีหลายประการ คือ ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ทุกหมู่บ้านต้องลุกขึ้นมาพัฒนาพื้นที่ให้สะอาด น่าอยู่ ดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยว รวมถึงรายได้ในชุมชนหมู่บ้านจะเริ่มเปลี่ยนไป จะมีการกระจายไปสู่ทุกคนในชุมชน

ส่วนข้อแตกต่างของความเป็นโอท็อปชุมชน แบบดั้งเดิมกับ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี คือ ชุมชนโอท็อปแบบดั้งเดิมนั้นรัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยชุมชนในทุกๆด้าน แต่ถ้าเป็นแบบนวัตวิถี คนในชุมชนต้องลุกขึ้นมาทำงานร่วมกัน นำภูมิปัญญา เสน่ห์พื้นบ้านมาหลอมรวมสร้างสรรค์จุดขายให้แก่นักท่องเที่ยว และร่วมกันหาวิธีสร้างความประทับใจเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับไปเที่ยวซ้ำๆ และเป็นการกระจายรายได้ให้คนทุกอาชีพในชุมชนได้อย่างทั่วถึง

เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว ฝนที่ตกอย่างต่อเนื่องทำให้หลายพื้นที่มีสภาพอากาศที่เย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคหลายชนิด นำไปสู่การเจ็บป่วยได้ง่ายและรวดเร็ว หน้าฝนนี้มีหลายโรคสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชน จึงออกมาเตือนให้ระมัดระวัง 7 โรคฮิตที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เนื่องจากขณะนี้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว สภาพอากาศที่เริ่มเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น เอื้ออำนวยต่อการเกิดโรคได้ง่ายและรวดเร็ว จึงขอเตือนประชาชนหากใครไม่อยากเจ็บป่วยก็ต้องหมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง และให้ระมัดระวังป้องกันตัวเองจาก 7 โรคฮิตที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนได้แก่

1. โรคระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบวกกับเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศชื้นช่วงฤดูฝนจะเป็นพาหะของโรคระบบทางเดินหายใจ มีการแพร่กระจายของเชื้อโรคง่ายและเร็ว เพียงแค่ไอ จาม หรือสัมผัสกับน้ำมูกที่ปนเปื้อนเชื้อก็ทำให้เกิดโรคได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการติดเชื้อควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกเมื่อเวลาไอ จาม หรือจะสวมหน้ากากอนามัยหมั่นล้างมือบ่อย ๆ เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่เราอาจจะไปสัมผัสมา หรือป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย เพื่อป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย

และที่สำคัญขอแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลด้วย ได้แก่ 1.หญิงตั้งครรภ์ 2.เด็กอายุ 6 เดือน – 2 ปี 3.ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง (ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมองไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน) 4.บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง(รวมผู้ติดเชื้อ HIVที่มีอาการ) และ 7.ผู้ที่มีโรคอ้วน (น้ำหนัก >100 กิโลกรัม หรือ BMI >35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)

2. โรคเลปโตสไปโรซิส หรือฉี่หนู โรคนี้มีหนูและสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข สุกร โค กระบือ รวมทั้งสัตว์ป่า สัตว์ที่มีฟันแทะทั้งหลายเป็นพาหะ เชื้อเหล่านี้จะปะปนอยู่ในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง และจะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ผ่านทางบาดแผล รอยขีดข่วน เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา เยื่อบุในช่องปาก อาการเด่นๆของโรคนี้คือ หลังได้รับเชื้อประมาณ 1-2 อาทิตย์ จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่อง โคนขาอย่างรุนแรง ตาแดง คอแข็ง สลับกับไข้ลด ในกรณีที่เป็นมากอาจมีจุดเลือดออกที่เพดานปาก หรือตามผิวหนัง จนกระทั่งตับวาย ไตวายได้

สำหรับผู้ที่มีไข้ไม่สูงมาก ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล แต่ห้ามใช้แอสไพรินเด็ดขาด ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรหรือชาวสวนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนที่ชื้นแฉะ หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรสวมรองเท้าบูทป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำหรือดินโดยตรง หากเดินย่ำน้ำที่ท่วมขัง หรือน้ำสกปรก ต้องรีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง

3. โรคน้ำกัดเท้า เกิดจากการเดินลุยน้ำสกปรกนานๆ หรือการพักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังต้องลุยน้ำช่วงฝนตก เชื้อราจะทำให้ผิวหนังซอกนิ้วเท้าแดง ขอบนูนเป็นวงกลม คัน เมื่อเกาแผลจะแตกและมีน้ำเหลืองเยิ้มออกมา จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินในที่ที่มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมสูง แต่หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำ ควรต้องหารองเท้าบูทมาสวมใส่ รีบล้างเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้ง หากผิวหนังเริ่มเปื่อย เกิดตุ่มคัน ซอกนิ้วเท้าแดง มีขอบนูน หรือมีบาดแผล ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการดังกล่าวก่อนที่จะลุกลามจนทำให้เกิดโรแทรกซ้อน

4. โรคไข้เลือดออก โรคที่มียุงลายเป็นพาหะ หากถูกยุงกัดและได้รับเชื้อประมาณ 5-8 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง (38.5-41 องศาเซลเซียส) ติดต่อกัน 2-7 วัน หน้าแดง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก บางรายเบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน จากนั้นจะมีจุดแดงเล็กๆ ขึ้นตามลำตัว ในรายที่มีอาการรุนแรงจะเกิดภาวะช็อกหลังไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ตัวเย็น ปากเขียว บางรายมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ถ่ายเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายใน 12-24 ชั่วโมง ดังนั้นเมื่อพบว่ามีอาการไข้ขึ้นสูง ห้ามทานยาแอสไพรินเด็ดขาด เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น หมั่นเช็ดตัวและดื่มน้ำเพื่อลดไข้ หากไข้ยังสูงอยู่ควรรีบไปพบแพทย์ ที่สำคัญควรกำจัดแหล่งเพาะพันธ์ยุงอย่างถูกวิธีด้วย

5. โรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่ลำไส้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้ นอกจากนี้เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และบี ยังสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียนประชาชนจึงควรเลือกรับประทานอาหารที่สุกใหม่ สะอาด และใช้ช้อนกลาง

6. โรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือตาแดง เกิดจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ทำให้เยื่อแผ่นบางๆ ที่ครอบคลุมส่วนตาขาว ผลิตเมือกเพื่อเคลือบและหล่อเลี้ยงผิวของดวงตา เกิดการระคายเคือง เส้นเลือดบริเวณนั้นก็จะบวม เกิดการอักเสบ และทำให้ตาค่อยๆ แดงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้น้ำตาลดลงซึ่งจะมีอาการประมาณ 1-2 สัปดาห์ สำหรับคำแนะนำ ให้ระวังอย่าให้น้ำสกปรกกระเด็นเข้าตา หากมีน้ำสกปรกกระเด็นเข้าตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดทันที อย่าใช้มือ แขน หรือผ้าที่สกปรกขยี้ตา หรือเช็ดตา อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่เป็นโรคตาแดง หรือเยื่อตาอักเสบ

7 .โรคที่ได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ ในช่วงฝนตกน้ำท่วม อาจมีสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง หนีน้ำท่วมเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือน ซึ่งหากไม่ทันระวังก็อาจจะเป็นเหยื่อ และถูกสัตว์เหล่านี้กัด หรือต่อยได้ ฉะนั้นต้องคอยดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้าน จัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อไม่ให้สัตว์มีพิษมาอยู่อาศัย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตามเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานและสามารถรับมือกับโรคต่างๆ ที่มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝน ประชาชนควรหมั่นดูแลสุขภาพตนเอง รู้จักออกกำลังกาย รักษาร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรงอยู่เสมอ และเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากประชาชนมีข้อสงสัย หรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422