สวทช. ร่วมกับ TMA ขอเชิญผู้บริหาร-ผู้ประกอบและสตาร์ทอัพ

ด้านอาหารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) และ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ขอเชิญผู้บริหาร ผู้ประกอบการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงนักวิจัย และนัก R & D หรือนวัตกรรมของบริษัทด้านอาหาร ตลอดจนสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงาน Food Innopolis International Symposium (FIIS) 2019 ภายใต้หัวข้อ “From Traditional to Innovation: The Art & Science of Food”

ระหว่างวันที่ 9-14 พฤศจิกายน 2019 โดยจะมีงานเปิดตัวและประชุมหลัก (12-13 พฤศจิกายน) ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทลแบงค็อกฯ กรุงเทพฯ เพื่อเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายนวัตกรรมอาหารทั่วโลก ทั้งในอาเซียน เอเชียแปซิฟิก ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นเวทีสำหรับมืออาชีพในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ เพื่อแสดงและแบ่งปันเทคโนโลยีพร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจ ตลอดจนพบกับกูรูด้านนวัตกรรมอาหารจากทั่วโลกที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ เช่น อเมริกา อิสราเอล อินโดนีเซีย อิตาลี และสหราชอาณาจักร เป็นต้น

หม่อมเจ้าประภาพันธุ์ (ภานุพันธุ์) กรโกสียกาจ ประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณ “บุคคลคุณภาพแห่งปี 2019” (QUALITY PERSONS OF THE YEAR 2019) จัดโดย มูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.) พร้อมประทานโล่เกียรติยศให้ นายสุขสันต์ เจียมใจสว่างฤกษ์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ในฐานะ “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่ง ปี 2019” ด้วยผลงานการดำเนินธุรกิจที่โดดเด่นและการทำความดีเพื่อสังคม ณ ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถนนวิภาวดี-รังสิต กรุงเทพฯ

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยพายุโพดุล (ช่วงเกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม ถึง 3 กันยายน 2562) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยพบว่า (ข้อมูล ณ 21 ตุลาคม 2562) มีพื้นที่เสียหาย 23 อำเภอ โดย ด้านพืช ได้รับความเสียหายรวม 371,853 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย 25,425 ตัว และ ด้านประมง บ่อปลาและกระชัง ได้รับความเสียหาย 5,569.80 ไร่ 5,854 ตารางแมตร

ผลการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ภาพรวมคิดเป็นมูลค่า 2,027.20 ล้านบาท จำแนกเป็น ด้านพืช ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง ยางพารา และอื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 1,885.53 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่ เป็ด และอื่นๆ 2.04 ล้านบาท และ ด้านประมง ได้แก่ ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดินและสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง คิดเป็นมูลค่า 139.63 ล้านบาท

รัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท และดำเนินกิจกรรม “โครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” โดยจัดหน่วยเคลื่อนที่สำรวจความเสียหาย ช่วยเหลือให้คำแนะนำ การฟื้นฟู แจกเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 576.287 ล้านบาท ให้สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก ขณะที่ ครม. ได้อนุมัติงบให้กระทรวงมหาดไทย ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 29 จังหวัด วงเงิน 7,642 ล้านบาท ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงอัตราการชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาประกอบอาชีพได้อย่างรวดเร็ว โดยสนับสนุนให้ปลูกพืชสำหรับบริโภคในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ระหว่างรอทำนาในฤดูนาปรังที่จะถึงในอีกประมาณ 2 เดือนพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้นประมาณ 45 วัน ที่ให้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) ต่อไร่ ต่อรอบการผลิต ค่อนข้างดีและมีตลาดรองรับแน่นอน คือ ขึ้นฉ่าย ผลตอบแทนสุทธิ 33,670 บาท ต่อไร่ คะน้า ผลตอบแทนสุทธิ 23,249 บาท ต่อไร่ และ ผักบุ้ง ผลตอบแทนสุทธิ 6,711 บาท ต่อไร่ สำหรับพืชทางเลือกอื่นที่ต้องใช้ระยะเวลาเพาะปลูกยาวขึ้น เหมาะสำหรับการเพาะปลูกก่อนฤดูทำนาปี (พฤษภาคม) และให้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ต่อรอบดี คือ ถั่วฝักยาว 41,641 บาท ต่อไร่ แตงกวา 8,958 บาท ต่อไร่ พริก 117,549 บาท ต่อไร่ ผักชีฝรั่ง 10,883 บาท ต่อไร่ และ แคนตาลูป 36,030 บาท ต่อไร่ เกษตรกรสามารถขายสินค้าให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นรับซื้อที่สวน หรือที่ตลาดวารินเจริญศรี (แหล่งขายส่งพืชผัก) และตลาดเทศบาลวารินชำราบ และสามารถขอคำปรึกษา คำแนะนำในการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้หลังน้ำลด ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของพืชทางเลือก เพื่อเป็นข้อมูลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตตามนโยบายบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เช่น มันสำปะหลังอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ทำนาปลูกได้ด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ภาคเอกชนต้องการรับซื้อผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ยังผลิตได้ไม่เพียงพอ โดยภายในปี 2565 ภาคเอกชนต้องการขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้ประมาณ 80,000 ไร่ แต่ปัจจุบัน ปี 2562 เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพียง 2,000 ไร่ เท่านั้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน เช่น สร้างพื้นที่แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก และการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำจะท่วม

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ล่าสุด ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์ผึ้งจันทบุรี) ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้านการเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจ ได้รับโล่รับรองมาตรฐาน การท่องเที่ยวไทย ปี 2562 จากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ได้มาตรฐาน จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนและผู้ที่สนใจมาเที่ยวชมได้ทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือนำคณะมาศึกษาดูงานด้านการเกษตรได้โดยแจ้งและประสาน/ล่วงหน้า ซึ่งศูนย์ผึ้งจันทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 188/2 หมู่ที่ 1 ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี 22150 โทรศัพท์ (039) 389-244 ภายในศูนย์ผึ้งจันทบุรี

มีฐานเรียนรู้หลากหลายแบบธรรมชาติ สามารถสัมผัสได้จริงด้วยตนเองการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ผึ้งโพรง ผึ้งชันโรง จิ้งหรีด และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งและผึ้งชันโรง รวมถึงจุดเรียนรู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง การเพาะเห็ดนางฟ้าและเห็ดในขอนไม้ การปลูกพืชผักอินทรีย์แบบยกแคร่/ระบบให้น้ำแบบทันสมัย (IT) วิธีปลูกผักในภาชนะ การปักชำมะนาวแบบควบแน่น และอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย และพบกับเครื่อข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง : ผัก : ผลไม้ ภาคตะวันออก ในสโลแกน “Bee Keeping เที่ยวได้ทุกวันที่จันทบุรี”

นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ศูนย์ผึ้งจันทบุรี เป็นหน่วยงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ให้บริการความรู้ และฝึกอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและแหล่งศึกษาดูงานด้านการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้งและผึ้งชันโรง และการเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีจุดเรียนรู้ต่างๆ ภายในศูนย์ ได้แก่ 1) จุดเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ : เปิดรังผึ้ง ชมผึ้ง และสัมผัสตัวผึ้งจริงๆ 2) จุดเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งโพรง : ชมรังล่อผึ้งโพรง 3) จุดเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งชันโรง : ชมผึ้งชันโรง การเลี้ยงรูปแบบต่างๆ 4) จุดเรียนรู้การเลี้ยงจิ้งหรีด : ชมบ่อจิ้งหรีด การเลี้ยงและการจัดการ 5) จุดเรียนรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้งและผึ้งชันโรง : ชิมน้ำผึ้ง ชาน้ำผึ้งมะนาว และสอนแปรรูปต่างๆ 6) จุดเรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง : การปลูกพืชผักอินทรีย์แบบยกแคร่ การปักชำมะนาวแบบควบแน่น และการเพาะเห็ดนางฟ้า เป็นต้น ให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมได้

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมศูนย์ผึ้งจันทบุรี สามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ โดยร่วมปฏิบัติได้จริง (active learning) เช่น ชม การเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ ชิม น้ำผึ้ง ช็อป ผลิตภัณฑ์และสินค้าแปรรูปของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นคือผลิตภัณฑ์และสินค้าแปรรูปจากผึ้งและผึ้งชันโรง แชะ การเลี้ยงผึ้ง การปลูกพืชผักอินทรีย์ และทุ่งดอกดาวกระจาย ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และยังสามารถเดินทางต่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นและสำคัญของจังหวัดจันทบุรีได้อีกด้วย เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระยะทาง 48 กิโลเมตร สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 จันทบุรี ระยะทาง 25 กิโลเมตร ศูนย์พัฒนาไม้ผลตามพระราชดำริจังหวัด จันทบุรี ระยะทาง 24 กิโลเมตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี (ทุ่งเพล) ระยะทาง 21 กิโลเมตร และศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านปัถวี ระยะทาง 5 กิโลเมตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง ตั้งแต่ปี 2523 โดยจัดตั้งฝ่ายส่งเสริมและอนุรักษ์ผึ้งในสายงานการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช โดยเริ่มจากฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในหลักสูตรการเลี้ยงผึ้งพันธุ์และให้ดูงานส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งเรื่อยมา จนปี 2524 จึงให้ศึกษาทดสอบการเลี้ยงและขยายพันธุ์ผึ้ง พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์ผึ้งขึ้นในส่วนภูมิภาครวม 5 ศูนย์ คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น พิษณุโลก จันทบุรี และชุมพร โดยมีสำนักงานชั่วคราวอยู่ในหน่วยป้องกันและกำจัดศัตรูพืชแต่ละจังหวัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น

“ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ผึ้ง)” ภายใต้สำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จังหวัดระยอง มีหน้าที่ให้บริการและให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ (ผึ้งชันโรง) ที่มีประโยชน์ ใช้การช่วยผสมเกสรเพื่อเพิ่มผลผลิตพืช (POLLINATOR) โดยไม่ต้องขยายพื้นที่การเกษตร เสริมรายได้ต่อครัวเรือนโดยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสินค้าแปรรูปจากผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ จึงเกิดโครงการส่งเสริมอาชีพเฉพาะด้านผึ้งและแมลงเศรษฐกิจขึ้น โดยผลิตขยายพันธุ์ผึ้ง

ใช้ผึ้งเพื่อผสมเกสร เลี้ยงชันโรงเพื่อการเกษตร (การค้า) แปรรูปผลิตภัณฑ์ผึ้งและชันโรง เลี้ยงจึ้งหรีดเสริมรายได้ ตลอดจนจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยในปี พ.ศ. 2557 กรมส่งเสริมการเกษตร จัดให้ศูนย์ผึ้งจันทบุรีเป็นศูนย์ สหวิชา รวบรวมองค์ความรู้ “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” มาประยุกต์ ศึกษาทางวิชาการด้านการเกษตรได้ หลากหลายสาขา เพื่อให้บริการแก่เกษตรกร หน่วยงาน ประชาชน หรือผู้ที่สนใจ กระทั่งล่าสุดได้รับโล่รับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในปี 2562 นี้

ทั้งนี้ จึงขอเชิญชวนประชาชนและผู้สนใจมาเที่ยวชมศูนย์ผึ้งจันทบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 188/2 หมู่ที่ 1 ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี 22150 ได้ทุกวันโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเยี่ยมชมได้ทั้งแบบรายบุคคล และศึกษาดูงานเป็นรายคณะซึ่งต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบล่วงหน้า สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ (039) 389-244

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ร่วมกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB) จัดกิจกรรม “ค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์” ปีที่ 6 เพื่อให้เป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมนักเรียนที่มีศักยภาพสูง ให้ได้รับโอกาสบ่มเพาะเรียนรู้ เปิดโลกวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมตามแนวทางสะเต็มศึกษา พร้อมฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ปูเส้นทางสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต โดยมีน้องๆ นักเรียนที่ได้รับคัดเลือกจาก สสวท. จำนวน 35 คนจาก 13 โรงเรียนทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ดร. อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช. โดยงานส่งเสริมและพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีศักยภาพสูง (JSTP) ฝ่ายพัฒนาบุคลากรวิจัย ได้รับการสนับสนุนจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในการจัดกิจกรรมถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ ปีที่ 6 เพื่อบ่มเพาะให้เยาวชนตั้งแต่ชั้นระดับวัยเยาว์ ได้มีโอกาสเรียนรู้ เปิดโลกทางวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางสะเต็มศึกษา (STEM Education) เพื่อฝึกกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์และพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) โดยอาศัยความร่วมมือจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการคัดเลือกเยาวชนที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับเหรียญรางวัลในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ประจำปี 2561 ที่กำลังศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งมีเยาวชนได้รับคัดเลือกจำนวน 35 คน เป็นเด็กชาย 27 คน และเด็กหญิง 8 คน จากโรงเรียนทั้งสิ้น 13 แห่งทั่วประเทศ

“ค่ายถนนนักวิจัยรุ่นเยาว์ปีนี้นี้ มีกิจกรรมให้น้องๆ ได้ทดลองลงมือทำเพื่อเสริมความรู้และทักษะในด้านสะเต็มอย่างหลากหลาย ทั้งกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เช่น การเรียนรู้ปัญหาเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา การรับฟังบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Jobs in 2030” โดยผู้อำนวยการโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ และหัวข้อ “A Day in the Life of a Surgeon” โดยกุมารศัลยแพทย์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รวมถึงการทัศนศึกษานอกสถานที่ ตลอดจนกิจกรรมการทำจรวด นำโดยรุ่นพี่ JSTP รุ่น 6 และอาจารย์จากสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก เป็นต้น” ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

หนึ่งในวิทยากร คุณยิ่งยศ ฐาปนกุลศักดิ์ Mind Director บริษัท มาร์เก็ต เซิร์ฟ จำกัด เล่าให้ฟังถึงกิจกรรมที่นำมาให้น้องๆ ได้ทดลองลงมือทำว่า “ในการออกแบบกิจกรรมจะมองที่ตัวเด็กเป็นหลัก เพราะในปัจจุบัน เด็กจะอยู่กับดิจิตอล หรือสมาร์ทโฟนเสียมาก อาจทำให้ทักษะการคิดแบบเป็นระบบหรือการคิดแบบรับผิดชอบ รวมถึงทักษะในศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการทำงานเป็นทีม การเป็นผู้นำ หรือการคิดเชิงระบบ เป็นต้น ขาดหายไป ฉะนั้น ในการออกแบบ Workshop อย่างกิจกรรม ‘พละ 5’ ในวันแรกของค่าย ได้สร้างกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ใช้พละกำลังของตนเองเพื่อให้รู้ว่าตนเองมีกำลังมากน้อยแค่ไหน เพื่อสร้างพลังใจและพลังความคิด แล้วจึงประยุกต์เข้าสู่เนื้อหาเรื่องของพลังงาน ซึ่งในส่วนเนื้อหาเด็กๆ จะได้เรียนรู้กระบวนการคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยคาดหวังให้เด็กๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้และประยุกต์ได้กับสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน”

อีกหนึ่งวิทยากร อาจารย์สังคม สัพโส อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก กับกิจกรรมจรวด เล่าให้ฟังว่า “กิจกรรมการทำ ‘จรวด’ เป็นกิจกรรมด้านการออกแบบเชิงวิศวกรรม เพื่อเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และทักษะการแก้ปัญหา ด้วยการแนะนำให้น้องๆ ศึกษาทำงานวิจัยในเรื่องการของยิงจรวด ให้ทดลองออกแบบจรวด ติดตั้งปีก และจุดระเบิดโดยใช้แอลกอฮอล์เป็นตัวจุดระเบิด โดยเริ่มต้นจากให้เขาเห็นว่าจรวดที่ไม่ได้ติดตั้งปีก และทำการจุดระเบิดเป็นขวดเปล่าๆ เป็นอย่างไร จากนั้นจึงอธิบายให้น้องๆ ฟังถึงทฤษฎีว่ามีหลักการทำงานอย่างไร มีจุดลอยตัว จุด CP (ศูนย์กลางแรงดัน) จุด CG (จุดศูนย์ถ่วง)

ให้รู้ว่าแต่ละจุดนั้นมีคุณสมบัติเช่นไร จากนั้นจึงมาสอนในเรื่องการออกแบบปีก ซึ่งแบบของปีกต่างๆ จะมีผลต่อการบินของจรวด ต่อด้วยขั้นตอนการสร้างและติดตั้งปีกให้แล้วเสร็จ ก่อนจะเข้าสู่ขั้นของการทดลองยิงจรวดจริง ซึ่งกิจกรรมนี้ประโยชน์ที่น้องๆ จะได้รับคือ ได้ฝึกความคิดในการออกแบบดีไซน์และจินตนาการ ซึ่งเป็นพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ที่ต้องมีการออกแบบก่อน ก่อนที่จะทำการทดลอง เช่น การออกแบบครีบ ครีบเฉียง ครีบปีกใหญ่ ครีบวงโค้ง ลักษณะการหมุนจะเป็นอย่างไร รวมถึงสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และคิดพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ได้ นับเป็นค่ายวิทยาศาสตร์ที่ฝึกให้นักเรียนรุ่นเยาว์มีความคิดแบบเป็นนักวิจัย เพราะสอนให้คิด วิเคราะห์ เสนอแนะ และนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง ครบทุกกระบวนการของวิทยาศาสตร์”

ด้านน้องๆ ที่เข้าร่วมค่ายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้ เด็กหญิงอิสรีย์ สังขพันธ์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา บอกว่า “ดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกมาค่ายนี้ เพราะได้ทั้งเพื่อนใหม่และประสบการณ์ ได้รับความรู้เพิ่มเติมจากที่เรียนในห้องเรียน โดยจะนำสิ่งที่ได้ไปต่อยอดในด้านการเรียน และการสอบเข้าเรียนต่อ รวมถึงเป็นการเปิดโลกกว้างที่ทำให้เรียนรู้เรื่องของการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นในสังคมได้ด้วย” ขณะที่ เด็กชายณัชพล นิมิตนนท์ นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี บอกว่า “รู้สึกสนุกและได้รับความรู้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเรื่องนวัตกรรมใหม่ของโลกที่ยังไม่เคยรู้ รวมถึงเรื่องเทรนด์อาชีพในอนาคตปี 2030 ที่จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้ ที่โรงเรียนมีการทำโครงงานวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปปรับใช้ในโครงงานให้ดีขึ้นได้ และคาดหวังว่าจะช่วยเหลือประเทศชาติให้ดีขึ้นได้ด้วย”

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำระบบการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีและการบริหารจัดการแบบครบวงจรเป็นต้นแบบเพื่อเปลี่ยนแปลงการทำฟาร์มกุ้งสู่ความยั่งยืนทั่วโลก เพื่อมุ่งบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในปี 2555 การระบาดของอาการกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome : EMS) ส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศผู้เลี้ยงกุ้งและเกษตรกรในหลายประเทศ นับเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของการทำฟาร์มกุ้ง รวมถึงธุรกิจฟาร์มกุ้งของ ซีพีเอฟ ในต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ซีพีเอฟ ได้ให้ทุนกับห้องปฏิบัติการพยาธิวิทยา มหาวิทยาลัยอริโซนา เพื่อหาต้นเหตุของโรค EMS และแนวทางป้องกันโรค ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาของบริษัทยังได้พัฒนาบ่ออนุบาลลูกกุ้ง และปรับปรุงการบริหารจัดการฟาร์มเพื่อป้องกันกุ้งจากการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้จากธรรมชาติ

จากการศึกษาและวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทค้นพบแนวทางทางชีวภาพและสามารถพัฒนาสายพันธุ์กุ้งใหม่ที่มีพันธุกรรมต้านทานโรคสูง กุ้งแข็งแรง ซึ่งกลายเป็นต้นแบบของการปรับรูปแบบการทำฟาร์มกุ้งและบ่อเลี้ยงใหม่ ที่ช่วยลดความเสี่ยงและการสูญเสีย

นายโรบินส์ แมคอินทอช รองประธานกรรมการบริหาร – สายการพัฒนาพ่อแม่พันธุ์กุ้ง ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบยั่งยืน ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบครบวงจรซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงปัจจัยการทำฟาร์มที่สำคัญได้อย่างครบถ้วน เช่น บ่ออนุบาลพ่อแม่พันธุ์กุ้ง บ่ออนุบาลกุ้งตัวอ่อนและลูกกุ้ง ตลอดจนเทคโนโลยีในการทำฟาร์มจนเข้าสู่กระบวนการผลิต ส่งผลดีต่อเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต