สวนดุสิต โชว์นวัตกรรมปุ๋ยมันสำปะหลัง ช่วยพืชทนโรคทนแมลง

มันสำปะหลัง เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย ทนแล้ง ทนทานต่อโรคแมลง แถมขายผลผลิตได้ทุกส่วน ตั้งแต่หัวมัน ลำต้น ใบมันสำปะหลัง ปัจจุบันเกษตรกรมีอาชีพปลูกมันสำปะหลังไม่ต่ำกว่า 570,000 ครอบครัว ที่ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูง ผลผลิตต่อไร่ต่ำ

“ปุ๋ยมันสำปะหลัง” นวัตกรรมใหม่ จาก “สวนดุสิต” ผศ.ดร. ณัฐบดี วิริยาวัฒน์ และ ผศ.ดร. สุรชาติ สินวรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้พัฒนานวัตกรรมปุ๋ย คือ ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดกำจัดพาราควอท (Suan Dusit Green Fertilizer) และปุ๋ยสวนดุสิตนาโนซิลิคอน (Suan Dusit Nano Silicon Fertilizer) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับลดต้นทุนการผลิต เพื่อยกระดับรายได้และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังของไทย ผลงานทั้งสองชิ้นได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และได้รับรางวัลพิเศษ honorable mention ในงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ครั้งที่ 45 เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดกำจัดพาราควอท

สารพาราควอท (Paraquat) หรือชื่อทางการค้าคือ กรัมม็อกโซน (Gramoxone) เป็นสารกำจัดวัชพืชที่นิยมใช้ในการเกษตรกรรม โดยเฉพาะในแปลงมันสำปะหลังจะพบสารพาราควอทตกค้างในพื้นที่มากที่สุด สารพาราควอทก่อให้เกิดพิษต่อมนุษย์ทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรัง และสารพาราควอทยังมีความเป็นพิษต่อพืชอื่น รวมถึงมันสำปะหลังเองด้วย โดยมันสำปะหลังที่ได้รับสารพาราควอทจะแสดงอาการไหม้ เกิดจุดตาย (Necrotic) บนใบ และใบแห้งตาย หากพ่นโดนส่วนยอดอ่อน จะทำให้ยอดแห้งตาย (กรมส่งเสริมการเกษตร, 2557)

“ สารพาราควอท (Paraquat) เป็นยาฆ่าวัชพืชที่นิยมใช้ที่สุดในประเทศไทย เมื่อนำไปใช้งานจะตกค้างในเนื้อดินนานประมาณ 8-9เดือนก่อนจะสลายตัวตามธรรมชาติ สาเหตุที่สารพาราควอทสลายตัวได้ช้าเพราะซึมลงเนื้อดิน ทำให้ไม่โดนแสง ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมลง เพราะสภาพดินที่แข็งและเหนียว ทำให้ต้นมันสำปะหลังไม่สามารถขยายหัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด คือ “การใช้หลักธรรมชาติบำบัดธรรมชาติ” ผศ.ดร. สุรชาติ กล่าว

ปี 2557 คณะผู้วิจัยได้คัดเลือกสายพันธุ์แบคทีเรียที่มีความสามารถในการย่อยสลายสารพาราควอทที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยแยกแบคทีเรียจากดินในแปลงมันสำปะหลัง ที่ปนเปื้อนสารพาราควอท จากการศึกษาพบว่า สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในย่อยสลายพาราควอทมากที่สุด คือ Aeromonas veronii (GenBank accession number JN880412) จึงนำแบคทีเรียดังกล่าวไปจดทะเบียนรับรองเชื้อพันธุกรรมกับธนาคารเชื้อพันธุ์พืชและจุลินทรีย์ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ กรมวิชาการเกษตร

ทีมนักวิจัยได้นำผลงานวิจัยดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดในรูปปุ๋ยชีวภาพ อัดเม็ดเคลือบแบคทีเรีย เพื่อช่วยย่อยสารพาราควอท ที่ตกค้างในดิน ปุ๋ยชนิดนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีสัดส่วนของธาตุอาหาร NPK 15-7-28 ที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของมันสำปะหลัง

คณะวิจัยได้นำปุ๋ยชีวภาพดังกล่าวไปประยุกต์ใช้แหล่งปลูกมันสำปะหลัง เริ่มจากการขยายเชื้อแบคทีเรียโดยนำปุ๋ยสวนดุสิตไบโอกรีน 25 กิโลกรัม มาผสมกับปุ๋ยอินทรีย์ที่ขายตามท้องตลาด 25 กิโลกรัม ในถังพลาสติกที่มีฝาปิด (ควรใส่ถุงมือทุกครั้งก่อนสัมผัสปุ๋ยและล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสปุ๋ยข้างต้น) หลังจากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม คลุกเคล้าให้เข้ากัน โดยใช้ช้อนปลูกหรือส้อมพรวน ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่ม เป็นเวลา 3 วัน ก่อนนำออกมาผึ่งลมในที่ร่ม จนแห้ง จึงนำไปใช้ได้

วิธีใช้กับแปลงปลูกมันสำปะหลัง จะหว่านปุ๋ยชีวภาพ ในอัตรา 30 -50 กิโลกรัมต่อไร่ โดยใส่ที่ระยะ 1.5 เดือน (45 วัน) และระยะ 5.5 เดือน( 165 วัน )หลังปลูกมันสำปะหลัง และใส่เป็นสารปรับปรุงดินก่อนปลูกมันสำปะหลังในอัตราส่วน 10 กิโลกรัมต่อไร่ เพื่อปรับสภาพดินในแปลงให้เหมาะสม

“ ผลการทดลองพบว่า แบคทีเรียสามารถย่อยสลายพาราควอทที่ตกค้างอยู่ในแปลงปลูกมันสำปะหลัง ได้หมดภายในระยะเวลา 3 เดือน ช่วยฟื้นฟูสภาพดินให้นุ่มขึ้น หัวมันสำปะหลังขยายตัวได้ง่ายขึ้น และได้ผลผลิตสูงขึ้นเป็นเท่าตัว จากเดิมไร่ละ 3 ตันก็เพิ่มขึ้นเป็น 6 ตัน หากมีการดูแลจัดการแปลงที่ดี มีแหล่งน้ำสมบูรณ์ จะได้ผลผลิตเพิ่มสูงถึงไร่ละ 9 ตัน แถมได้เปอร์เซนต์แป้งเพิ่มขึ้นอีก 30% ช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ” ผศ.ดร.สุรชาติกล่าว

ปุ๋ยสวนดุสิตนาโนซิลิคอนเพลี้ยแป้งสำปะหลังสีชมพูเป็นแมลงปากดูดที่ระบาดในพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในประเทศไทย มีความรุนแรงมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการสูญเสียทางผลผลิตและเศรษฐกิจค่อนข้างสูง การใช้สารกำจัดศัตรูพืชในการกำจัดเพลี้ยแป้งมิได้ผลดีนัก เนื่องจากเพลี้ยแป้งสามารถอพยพย้ายหนีบริเวณที่มีฉีดสารกำจัดศัตรูพืชได้ แล้วย้อนกลับมาใหม่เมื่อสารกำจัดศัตรูพืชหมดฤทธิ์

ฉะนั้นการพัฒนาความแข็งแรงให้กับต้นมันสำปะหลังจึงเป็นแนวทางหนึ่งเพื่อป้องกันเชิงรับในการบรรเทาความรุนแรงของการทำลายผลผลิตมันสำปะหลังลงได้ โดยให้ธาตุบางชนิดเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นมันสำปะหลัง ซึ่งซิลิคอนเป็นธาตุที่มันสำปะหลังมีความต้องการในการช่วยการเติบโตและช่วยทำให้ผนังเซลล์ของมันสำปะหลังแข็งแรง ลดการทำลายของเพลี้ยแป้งลงได้ นอกจากนี้ยังส่งเสริมกระบวนการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างแป้งที่หัว (ราก) ของต้นมันสำปะหลัง โดยการสร้างคลอโรฟิลล์เพิ่มขึ้นที่ใบ ทำให้กระบวนการสังเคราะห์แสงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แป้งที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพสูง

ผศ.ดร.ณัฐบดี วิริยาวัฒน์ ได้ศึกษาวิธีสกัดสารซิลิคอนจากวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตรพัฒนาเป็นปุ๋ยนาโนซิลิคอน เพื่อใช้เป็นสารเสริมการเติบโต แก้ปัญหาเพลี้ยแป้งสำปะหลังสีชมพู เนื่องด้วยพื้นที่เขตเกษตรกรรมมันสำปะหลังตำบลห้วยบง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรหลายชนิด เป็นจำนวนมาก อาทิ แกลบข้าว ฟางข้าว ชานอ้อย ข้าวโพด ไผ่ หญ้าคา เป็นต้น

วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเหล่านี้ สามารถนำมาพัฒนาเป็นปุ๋ยนาโนซิลิคอนได้ เนื่องจากมีปริมาณซิลิกาสูง และปุ๋ยซิลิคอนที่มีอนุภาคเล็กระดับนาโน จะช่วยให้มันสำปะหลังดูดซึมซิลิคอนเข้าไปสะสมที่ใบอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดผลึกของกรดซิลิเกต (silicate) เคลือบเป็นเกล็ดแข็งที่ผิวใบ ทำให้แมลงศัตรูพืช เช่น เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูไม่สามารถเจาะดูดกินน้ำเลี้ยงได้

ผู้วิจัยได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยนาโนซิลิคอนในชุมชน โดยใช้เตาเผาที่ทำจากถังน้ำมันเก่า ขนาด 200 ลิตร และใช้วิธีการบด เพื่อให้มีต้นทุนผลิตต่ำ ลดการซื้อปุ๋ยซิลิคอนที่ขายตามท้องตลาดซึ่งมีราคาแพง ทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น จากผลผลิตมันสำปะหลังที่สูงขึ้นและต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง เป็นการลดปัจจัยการผลิตจากการใช้สารเพิ่มผลผลิตมันสำปะหลังประเภทซิลิคอนลงได้ถึง 950-1,250 บาทต่อไร่ (ใช้ 50 กิโลกรัมต่อไร่) สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืชอื่น ที่ต้องการเสริมความแข็งแรงให้กับต้นและใบ อาทิเช่น อ้อย ข้าว ได้ด้วย จึงนับเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการพึ่งพาตนเองของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยนาโนซิลิคอน

เกษตรกรที่สนใจสามารถผลิตปุ๋ยนาโนซิลิคอนได้ตัวเอง เริ่มจากล้างทำความสะอาดวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร แล้วตากแดดให้แห้งสนิท นำมาเผาในเตาเผาถ่านแกลบชนิด semi-oxidize ขนาด 200 ลิตร โดยใส่วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรลงในถัง เกลี่ยให้เรียบเสมอ จนระดับผิวบนของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อยู่ต่ำกว่าท่ออากาศออกด้านบน ประมาณ 3 เซนติเมตร

หลังจากนั้น ใส่ฟางข้าวหนาประมาณ 10 เซนติเมตร ลงไปบนวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการเผา เมื่อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไหม้จนหมด ให้ปิดฝาท่ออากาศเข้าด้านล่างและปล่องควัน รอให้เตาเย็นลง (ใช้เวลา 7-8 ชม.) หรือทิ้งไว้ข้ามคืน เปิดฝาถังนำซิลิคอนออกกองไว้ในที่โล่งแจ้งเพื่อให้ แน่ใจว่าไฟดับสนิทแล้ว จึงบรรจุใส่กระสอบ นำซิลิคอนมาบดหรือตำให้ละเอียดด้วยครก แล้วนำมาร่อนผ่านตะแกรงขนาด 60 เมช นำผงที่ร่อนผ่านตะแกรงไปใช้ได้ เมื่อต้องการใช้งาน ให้นำปุ๋ยไปฝังกลบ ในอัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ ที่ระยะ 1.5 (45 วัน) และระยะ 5.5 เดือน( 165 วัน )หลังปลูก และสามารถใช้เป็นสารปรับปรุงดินในการเตรียมแปลงปลูกมันสำปะหลังได้

“ในช่วงฤดูแล้งที่มีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง ภาครัฐมักแนะนำให้เกษตรกรใช้ตัวห้ำ ตัวเบียน รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการจัดการระบบน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีต้นทุนค่าจัดการค่อนข้างสูง วิธีแก้ไขปัญหาที่ง่ายที่สุด คือ ใช้ปุ๋ยนาโนซิลิคอนบำรุงต้นมันสำปะหลังให้เติบโตแข็งแรงเพื่อให้แมลงศัตรูพืชกัดกินลำต้นและใบได้ยากขึ้นแล้ว ยังลดปัญหาอาการใบร่วง ใบมีขนาดใหญ่ สังเคราะห์แสงได้มากขึ้น เปอร์เซนต์แป้งก็สูงขึ้นตามไปแล้ว” ผศ.ดร. ณัฐบดี กล่าว

ผศ.ดร.สุรชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นวัตกรรมปุ๋ยมันสำปะหลังของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 500 บาท ถือว่ามีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับแม่ปุ๋ยยูเรียที่ขายในราคากิโลกรัมละ 900 บาท ดังนั้นหากเกษตรกรเปลี่ยนมาใช้นวัตกรรมปุ๋ยสำหรับมันสำปะหลัง จะช่วยให้มีต้นทุนการผลิตต่อไร่ลดลง และได้ผลผลิตคุณภาพดี ในสัดส่วนที่มากขึ้นด้วย ล่าสุดผลงานวิจัยดังกล่าว กำลังถูกผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ขอซื้ออนุสิทธิบัตร เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ อดใจรออีกสักนิด เกษตรกรไทยจะมีโอกาสทดลองใช้นวัตกรรมปุ๋ยใหม่นี้ในไม่ช้า

หากใครสนใจผลงานนวัตกรรมนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร. จิระ จิตสุภา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เลขที่ 295 ถนนนครราชสีมา เขตดุสิต กทม. เบอร์โทร. 02-244-5280-2 หรือทางอีเมล์

ปัจจุบัน กระแสความนิยมบริโภคไก่พื้นเมือง เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองรุ่นใหม่ที่มีการเติบโต แข็งแรง ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และฮอร์โมน ตลอดกระบวนการเลี้ยง เพราะปล่อยให้ไก่เติบโตธรรมชาติ ในลักษณะ “ไก่อินทรีย์ปลอดสารพิษ” เนื้อไก่มีรสชาติอร่อย เนื้อนุ่ม หวาน หอม นำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู สร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรจำนวนมาก

“ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ความจริง “ไก่ตะเภาทอง” เป็นที่รู้จักในหมู่เกษตรกรไทยมานานกว่า 200 ปีแล้ว โดยไก่สายพันธุ์นี้ มีต้นกำเนิดมาจาก “ไก่พันธุ์เซี่ยงไฮ้” ซึ่งเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองของจีน คาดว่า พ่อค้าจีนเลี้ยงไก่พันธุ์นี้ไว้บนเรือสำเภาเพื่อเป็นอาหารระหว่างการเดินทางมาค้าขายกับประเทศไทย ต่อมามีการกระจายพันธุ์ไก่สู่เกษตรกรไทยที่พักพักอาศัยแถบชายฝั่งทะเล โดยเกษตรกรไทยเรียกไก่กันติดปากว่า “ ไก่ตะเภา ”

ลักษณะตามธรรมชาติของ “ ไก่เซี่ยงไฮ้ ”มีหงอนจักร ตัวใหญ่ ขนฟู ต่อมาเกิดการผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองของไทยหลายชั่วรุ่น จนเกิดการพัฒนาสายพันธุ์แท้ขึ้นมา โดยมีลักษณะหงอนหินเหมือนกับไก่พื้นเมืองของไทย และมีตัวใหญ่ อกกว้าง ปริมาณเนื้อมาก ขนมีสีสันที่หลากหลายเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองทั่วไป ต่อมาได้มีการคัดเลือกไก่ที่มีลักษณะดีและสีเหลืองทองทั้งตัวไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ว่า “ไก่ตะเภาทอง ” ซึ่งไก่สายพันธุ์นี้ เป็นที่นิยมบริโภคในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน เพราะมีสีทอง เป็นสีแห่งความเจริญรุ่งเรือง มั่งคั่งและร่ำรวย ทำให้ไก่ตะเภาทองเข้าข่าย “ ไก่มงคล ” ตามหลักความเชื่อของคนจีน

ต่อมาไก่ตะเภาทองกลายเป็นไก่หายาก เสี่ยงกับการสูญพันธุ์ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ และคณะนักวิจัยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมมือกันพัฒนาไก่สายพันธุ์นี้ โดยนำ ไก่ตะเภาทอง ไปผสมข้ามพันธุ์กับ ไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ซึ่งเป็นไก่พื้นเมืองจีน จนได้ “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” ซึ่งเป็นไก่ลูกผสมสองสายพันธุ์

“ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” มีรูปร่างสมส่วนสวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย มีหงอนแบบจักร และหงอนหินแบบไก่พื้นเมือง ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จะงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนโรคเช่นเดียวกับไก่พื้นเมืองของไทย และมีเนื้อนุ่ม หวานกรอบมาก เป็นเอกลักษณ์ประจำพันธุ์

อบรมอาชีพเลี้ยงไก่สู่ชุมชนต่อมา อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ และคณะนักวิจัยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จัดอบรมความรู้เรื่องการเลี้ยง “ ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ” สู่เกษตรกรผู้สนใจในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ซึ่ง กลุ่มอาชีพการเกษตร ตำบลมหาสวัสดิ์ ชุมชน 4 ภายใต้การนำของ “ คุณอนันต์ ประดิษฐ์ศร ” มีโอกาสเข้ารับการอบรมความรู้ในครั้งนี้ด้วย เพราะต้องการขยายโอกาสทางการตลาด เพราะทุกวันนี้ สมาชิกกลุ่มก็ทำอาชีพเลี้ยงไก่ชนอยู่แล้ว

คุณอนันต์ ประดิษฐ์ศร ประธานกลุ่มอาชีพการเกษตร ตำบลมหาสวัสดิ์ อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 27/3 หมู่ 1 ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เล่าให้ฟังว่า ภายหลังเข้ารับการอบรมความรู้กับ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เมื่อปลายปี 2558 ทางกลุ่มฯ ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ มาทดลองเลี้ยงจำนวน 100 ตัว พร้อมอาหารสัตว์ 60% และคุณอนันต์ลงทุนซื้อไก่ตะเภาทองเลี้ยงเองอีก 100 ตัวผลการทดลองพบว่า ไก่ตะเภาทอง สร้างรายได้ที่ดีพอเลี้ยงตัวเองได้ จึงตัดสินใจขยายการเลี้ยงไก่ตะเภาทองอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นปีที่ 3 แล้ว

“ทางกลุ่ม ฯ สามารถขายไก่สดได้ในราคา ก.ก.ละ 80 บาท ช่วงตรุษจีน ขายในลักษณะไก่ต้มสำหรับไหว้เจ้า ในราคาก.ก.ละ 90 บาท ถือว่า ได้ผลกำไรที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกกลุ่มสนใจที่จะขยายการลงทุนต่อเนื่อง โดยปี 2559 ได้ขยายจำนวนการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้นเป็น 360 ตัว” คุณอนันต์กล่าว

โครงการ 9101 ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ ในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน” เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรในชุมชน เพื่อก้าวเข้าสู่หลักการทฤษฎีพร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรต่างๆ ที่พพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานไว้ให้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศและภาคการเกษตร ขณะเดียวกันช่วยสร้างรากฐานความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชนอย่างครบวงจร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและเครือข่าย (กลุ่มสมาชิกในชุมชน) ให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาภาคการเกษตรของชุมชนให้มีส่วนร่วมแบบประชารัฐอย่างยั่งยืน โดยเน้นการลดต้นทุนเพื่อเพิ่มผลผลิตการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานและการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชน

ตำบลมหาสวัสดิ์ ชุมชน 4 เป็นหนึ่งใน 9,101 ชุมชนกลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรฯ เพื่อจัดทำโครงการ ศูนย์การเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ตะเภาทอง โดยได้รับสนับสนุนงบประมาณส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงไก่ เพื่อช่วยให้ชาวบ้านในชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีรายได้น้อยได้มีไก่เนื้อ ไข่ไก่ไว้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือก็นำไปขายสร้างรายได้เสริมในครัวเรือน เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ที่ผ่านมา มีเกษตรกรและผู้สนใจแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้อาชีพการเลี้ยงไก่ของชุมชนอย่างต่อเนื่อง

คุณอนันต์บอกว่า ภายหลังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล ทางกลุ่มฯ ได้ขยายปริมาณการเลี้ยงไก่ตะเภาทองเป็น 600-700 ตัว พร้อมเลี้ยงไก่ไข่ 300 ตัว เป็ด 800 ตัว โดยซื้อลูกไก่แรกเกิด สายพันธุ์ไก่ตะเภาทองจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในราคาตัวละ 25 บาท ขณะที่ลูกเจี๊ยบอายุ 1 เดือน ขายในราคาตัวละ 35 บาท

การเลี้ยงดูแลไก่ตะเภาทอง

คุณอนันต์ บอกว่า ไก่ตะเภาทองดูแลง่าย เหมือนกับการเลี้ยงไก่บ้านทั่วไป ทางกลุ่มฯ เลี้ยงไก่ตะเภาทองแบบปล่อยตามธรรมชาติ โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาเลี้ยงไก่ประมาณ 4 เดือน ต่อรุ่น 1 ปี สามารถเลี้ยงไก่ตะเภาทองได้ถึง 4 รุ่น โดยใช้ระยะเวลาการพักเล้าพร้อมฉีดยากำจัดโรค ครั้งละ 15 วัน จึงเริ่มต้นการเลี้ยงไก่รอบใหม่

เมื่อถามถึงวิธีการเลี้ยงดู คุณอนันต์บอกว่า ทางกลุ่มฯ ยึดหลักการดูแลจัดการฟาร์มไก่ตะเภาทอง ตามคำแนะนำของอาจารย์สุชาติเป็นหลัก โดยลูกไก่แรกเกิดต้องกกให้ความอบอุ่น ประมาณ 1- 2 สัปดาห์ ให้อาหารในปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้ดีมีความแข็งแรง และมีน้ำสะอาดให้ลูกไก่อย่างเพียงพอ

ทางกลุ่มฯ จัดพื้นที่เลี้ยงไก่ให้โรงเรือนที่เหมาะสม ทั้งนี้ พื้นที่ 3×4 เมตรขนาด 12 ตารางเมตร สามารถเลี้ยงไก่ได้ 100 ตัว ส่วนไก่มีอายุได้ 3 – 4 สัปดาห์ จะเริ่มปล่อยออกนอกโรงเรือน โดยกั้นตาข่ายไว้รั้ว เพื่อให้ไก่หากินพืชผัก ผลไม้ ใบไม้ได้เองตามธรรมชาติแล้ว สามารถให้อาหารเสริมในการเลี้ยงได้เช่น หญ้าเนเปียร์ ใบเตย ฯลฯ เพื่อบำรุงไก่ให้เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ ทั้งนี้ ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ ใช้ระยะเวลาการเลี้ยง 3 – 4 เดือน ถือว่ามีระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไป เมื่อครบอายุ สามารถจับไก่ออกขายได้น้ำหนักตัวเฉลี่ยประมาณ 2.2 ก.ก.

“ไก่ตะเภาทอง ได้รับความนิยมจากตลาดค่อนข้างดี เพราะมีจุดเด่นในเรื่องเนื้อหวาน หอม ไก่อารมณ์ดี ไม่เครียด สุขภาพแข็งแรง เติบโตดี ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสารอาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกายตามไปด้วย ไก่ตะเภาทอง จึงขายได้ราคาดี ” คุณอนันต์กล่าว

ฝาก “ แม่ไก่แจ้กกไข่ ” อัตรารอด 100%

ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการขยายพันธุ์ไก่ตะเภาทอง โดยใช้วิธีฝากเลี้ยง โดยให้ “ แม่ไก่แจ้ ” ทำหน้าที่ฟักไข่ไก่ตะเภาทองแทน โดยแม่ไก่แจ้ 1 ตัว สามารถฟักไข่ได้ 6 ฟอง ผลการทดลองพบว่า ลูกไก่ตะเภาทองแรกเกิดมีเปอร์เซ็นต์การรอด 100% เต็ม ไม่เจอไข่เสียเลย ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าตู้ฟักไข่ทั่วไปเสียอีก ( ตู้ฟักไข่ สามารถฟักไข่ได้ครั้งละ 260 ฟอง แต่มีอัตราการสูญเสียประมาณ 20-30 ฟอง )

“ โดยธรรมชาติแล้ว แม่ไก่แจ้ มีนิสัยหวงไข่ กินน้อย ตัวเล็ก แค่ลงมาหาน้ำกินชั่วครู่ชั่วยาม ก็บินกลับไปฟักไข่ต่อทันที เรียกว่า ไก่แจ้ ทำหน้าที่แม่ไก่ฟักไข่ได้เก่งกว่าแม่ไก่ตะเภาทองเสียอีก ตอนนี้ ทางกลุ่มฯ ก็เตรียมเพิ่มจำนวนแม่ไก่แจ้ เพื่อขยายปริมาณการฟักไข่ไก่ตะเภาทองให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต เมื่อได้ลูกไก่ตะเภาทองมากพอสำหรับใช้ในกลุ่มสมาชิก แทนที่จะซื้อพันธุ์จากภายนอก จะได้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง ” คุณอนันต์กล่าวในที่สุด

จากการเยี่ยมชมฟาร์มในครั้งนี้ เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ยืนยันได้ว่า “ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์” เลี้ยงง่าย ให้ผลผลิตที่ดี เหมาะสำหรับเลี้ยงเชิงการค้า ช่วยสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ดังนั้น เกษตรกรที่กำลังมองหาอาชีพเสริมรายได้ หรือคนไทยวัยเกษียณที่อยากทำอาชีพเสริมที่ใช้เงินลงทุนไม่มาก แต่ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน ควรมอง “ไก่ตะเภาทอง” เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงสำหรับเลี้ยงดูแลตัวเองและครอบครัวในอนาคต

หากผู้อ่านท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับไก่ตะเภาทอง สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนา การผลิตสัตว์ปีก สถาบันสุวรรณวาจกกสิกิจเพื่อการค้นคว้าและพัฒนาปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์สัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โทร. 034 -281078 – 9

และสามารถแวะเข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มเลี้ยงไก่ของ คุณอนันต์ ประดิษฐ์ศร ประธานกลุ่มอาชีพการเกษตร ตำบลมหาสวัสดิ์ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ได้ตลอดเวลา สอบถามเส้นทางได้ที่เบอร์โทร. 099-351-0655 และ 087-372-7887

ปัจจุบัน คนไทยจำนวนมาก ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคไขมันในเลือด ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารเป็นหลัก อยากชวนคนไทยให้หันมาเลือกกินอาหารที่ดี ไม่ใช่แค่อิ่มท้อง แต่ใส่ใจเลือกกินอาหารเป็นยา ตามคำแนะนำของ “ฮิปโปเครติส” บิดาทางการแพทย์ของชาวกรีก ที่กล่าวว่า “จงใช้อาหารเป็นยารักษาโรค” เพราะการเลือกกินอาหารที่ดี มีประโยชน์ต่อร่างกาย จะช่วยควบคุมระดับไขมันในร่างกายได้ ดั่งคำกล่าวที่ว่า “You are what you eat ” นั่นเอง

ก่อนหน้านี้ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้เคยแนะนำ “ข้าวสุขภาพดี 4 วัย” ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย “ข้าวเคลือบสมุนไพร” เป็นนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาจากภูมิปัญญาไทย ช่วยบำรุงสุขภาพคนไทยใน “4 ช่วงวัย” ได้แก่

ผู้สูงวัย ควรกินข้าวกล้องเพาะงอก ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ดูดซึมน้ำตาลน้อย มีสารกาบา เคลือบด้วย สมุนไพรประเภทบัวบก ขมิ้นชัน พริก ฟักข้าว มะเขือเทศ และน้ำมันดาวอินคา เมื่อรับประทานข้าวนี้เป็นประจำผสมกับอาหารที่มีโปรตีนจากปลา ผัก และผลไม้ จะทำให้ผู้สูงวัยลดสภาวะของโรคบางอย่างที่ติดตัวมาตั้งแต่วัยทำงาน มีสมุนไพรที่ช่วยชะลอความเสื่อม ชะลอวัย และช่วยให้มีความจำดีขึ้น

วัยรุ่น แนะนำให้กินข้าวขาวหอมมะลิ ที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เพื่อให้ได้แคลอรี่สูง ให้พลังงานสูง เพราะเป็นวัยที่มีการเคลื่อนไหวมาก ผสมสารสกัดกลูโคแมนแนน ฟักข้าวและมะเขือเทศ น้ำมันถั่วดาวอินคาและโปรตีนของถั่วอินคา

เมื่อรับประทานข้าวนี้เป็นประจำผสมกับอาหารที่มีโปรตีนที่จากปลา ผัก และผลไม้ วัยรุ่นจะได้พลังงาน ไม่หิวบ่อย เพิ่มการเสริมสร้างร่างกายและอวัยวะในทุกๆ ส่วน โดยไม่เพิ่มน้ำหนัก รวมทั้งเสริมสร้างความเจริญของทุกอวัยวะให้เข้มแข็ง

วัยทำงาน อาหารที่เหมาะสำหรับวัยนี้ คือ ข้าวกล้องเพาะงอก มีสารกาบาสูง มีผลช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันไม่ดี ลดอาการถดถอยของความจำ หลงลืมง่าย ลดน้ำหนัก ผสมสารสกัดส้มแขก เมี่ยง อัญชัน ขมิ้นชัน เมื่อรับประทานทานข้าวนี้เป็นประจำผสมกับอาหารที่มีโปรตีนจากปลา ผัก และผลไม้ ก็จะทำให้ชีวิตวัยทำงาน มีสุขภาพดี อารมณ์แจ่มใส ไม่เครียดกับการทำงานและความอ้วน ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ