สศก. ลงพื้นที่ 3 จังหวัด เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ลพบุรี สำรวจ

แหล่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดเพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และลพบุรี ซึ่งนับเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แหล่งใหญ่ของประเทศ (เพชรบูรณ์ แหล่งผลิตลำดับที่ 1 นครสวรรค์ ลำดับที่ 5 และ ลพบุรี ลำดับที่ 7 ของประเทศ) ซึ่ง สศก. โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร ได้ลงพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด เมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2565 พบว่า ฤดูการผลิตปี 2565/66 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ฤดูฝน) รวมประมาณ 1.41 ล้านไร่ (เพชรบูรณ์ 696,536 ไร่ นครสวรรค์ 332,957 ไร่ และลพบุรี 382,817 ไร่) หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ลดลงจากปี 2564/65 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูกรวมประมาณ 1.42 ล้านไร่ หรือลดลงร้อยละ 0.67

สำหรับภาพรวมเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และนครสวรรค์ มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากราคาปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงขึ้น เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกมันสำปะหลังที่มีต้นทุนต่ำและให้ผลตอบแทนดีกว่า ขณะที่เนื้อที่เพาะปลูกจังหวัดลพบุรี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงปลายปี 2564 พื้นที่บางส่วนประสบอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้เนื้อที่เพาะปลูกมันสำปะหลังได้รับความเสียหาย เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทน

ด้านผลผลิตภาพรวมทั้ง 3 จังหวัด มีผลผลิตรวมประมาณ 1.04 ล้านตัน (เพชรบูรณ์ 522,153 ตัน นครสวรรค์ 246,572 ตัน และลพบุรี 269,713 ตัน) คิดเป็นร้อยละ 23 ของผลผลิตทั้งประเทศ ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ที่มีผลผลิตรวมประมาณ 1.03 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.68 เนื่องจากคาดว่าจะมีปริมาณน้ำฝนเหมาะสมและเพียงพอต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเกษตรกรมีความชำนาญในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น หนอนกระทู้มากขึ้น โดยผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รุ่น 1 (ฤดูฝน) ในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัด จะทยอยออกสู่ตลาดในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นไป และคาดว่าจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน 2565

ด้านราคา คาดว่า ในปี 2565 ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ ความชื้นไม่เกิน 14.5% จะสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบอาหารสัตว์อื่นๆ มีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 9.30 บาท สูงขึ้นจากกิโลกรัมละ 8.03 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2564 หรือร้อยละ 16

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนปรนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์) โดยผ่อนปรนมาตรการการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราว ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศยังออกสู่ตลาดไม่มาก เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาภายในประเทศ พร้อมทั้งผ่อนปรนการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภายใต้กรอบ WTO ในโควตา ซึ่งจากเดิมให้เฉพาะองค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าแต่เพียงผู้เดียว ในอัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณ 57,000 ตัน ได้ปรับใหม่ โดยให้ อคส. และผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าได้ ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณไม่เกิน 600,000 ตัน ซึ่งหากมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นต้นมา รวมทุกช่องทางปริมาณเกินกว่า 1.20 ล้านตัน ให้สิ้นสุดการผ่อนปรนและกลับไปใช้มาตรการเดิม

ระบบวนเกษตร หมายถึง การทำเกษตรในพื้นที่ป่า เช่น ปลูกพืชเกษตรแซมในพื้นที่ป่าธรรมชาติ หรือการนำสัตว์ไปเลี้ยงในป่า การเก็บผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการใช้พื้นที่ป่าทำการเพาะปลูกในบางช่วงเวลา สลับกับการปล่อยให้ฟื้นคืนสภาพกลับไปเป็นป่า รวมถึงการสร้างระบบเกษตรให้มีลักษณะเลียนแบบระบบนิเวศป่าธรรมชาติ คือมีไม้ยืนต้นหนาแน่นเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ระบบมีร่มไม้ปกคลุมและมีความชุ่มชื้นสูง บางพื้นที่มีชื่อเรียกเฉพาะตามลักษณะความโดดเด่นของระบบนั้นๆ

การเกษตรรูปแบบนี้ส่วนใหญ่พบในชุมชนที่อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ เกษตรกรจะผลิตโดยไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ป่าเดิม เช่น ไม่โค่นไม้ป่า หรือการนำผลผลิตจากป่ามาใช้ประโยชน์โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ “วนเกษตร” เป็นแนวคิดและทางเลือกปฏิบัติทางการเกษตรแบบหนึ่ง ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยสามารถแบ่งเป็นหลายประเภท ดังนี้

1. วนเกษตรแบบบ้านสวน มีต้นไม้และพืชผลหลายชั้นความสูง โดยปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น สมุนไพร และพืชผักสวนครัวในบริเวณบ้าน

2. วนเกษตรที่มีต้นไม้แทรกในไร่นาหรือทุ่งหญ้า เหมาะกับพื้นที่สูงๆ ต่ำๆ โดยการปลูกต้นไม้เสริมในที่ไม่เหมาะสมกับพืชผัก เช่น ที่เนินหรือที่ลุ่มน้ำขัง และปลูกพืชในที่ราบหรือที่สม่ำเสมอ

3. วนเกษตรที่มีต้นไม้ล้อมนาไร่ เหมาะกับพื้นที่ไร่นา ซึ่งมีลมแรงพืชผลที่ได้รับความเสียหายจากพายุเสมอ จึงต้องปลูกต้นไม้เพิ่มความชุ่มชื้น บังแดด บังลม ให้กับพืชผลที่ต้องการร่มเงาและความชื้น

4. วนเกษตรที่มีแถบต้นไม้และพืชผลสลับกัน เหมาะกับพื้นที่มีความลาดชันเป็นแนวยาว น้ำไหลเซาะหน้าดินมาก แถวต้นไม้ซึ่งปลูกไว้ 2-3 แถว สลับกับพืชผักเป็นช่วงๆ ขวางทางลาดชัน จะช่วยรักษาหน้าดินเอาไว้

5. วนเกษตรใช้พื้นที่หมุนเวียนปลูกไม้ยืนต้น พืชผลและเลี้ยงสัตว์ เหมาะกับพื้นที่ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่ที่จะปลูกเป็นแปลงหมุนเวียน โดยมีต้นไม้ยืนต้นร่วมกับการเลี้ยงสัตว์และหมุนเวียนเพื่อฟื้นฟูดิน

คุณวิมล รวดเร็ว อยู่บ้านเลขที่ 161/2 หมู่ที่ 1 ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นหนึ่งในเกษตรกรที่รักการทำไร่ทำสวน ปลูกพืชผักร่วมกันหลากหลายมาร่วม 10 ปี ปลูกพืชผักแบบธรรมชาติจริงๆ โดยเน้นเกษตรผสมผสาน ในพื้นที่ 5 ไร่ ทำการเกษตรอินทรีย์ จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ฮอร์โมน คำนึงถึงการสงวนรักษาอินทรียวัตถุในดินด้วยการปลูกพืชหมุนเวียน การปลูกพืชคลุมดิน ใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใช้เศษอินทรียวัตถุจากในสวน มุ่งสร้างความแข็งแกร่งให้แก่พืชด้วยการบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์

ผลผลิตที่ได้จะอยู่ในรูปแบบของการปลอดสารพิษ เป็นระบบการเกษตรที่มีวิธีการผลิตที่ปลอดสาร การเกษตรอินทรีย์ เป็นการเกษตรที่เน้นการสร้างความสมบูรณ์ให้กับดิน โดยการใช้วิธีทางธรรมชาติ เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ มีการควบคุมและกำจัดพืชโดยวิธีกายภาพและอินทรีย์เคมี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรที่ทำให้มีสารพิษตกค้างในผลผลิต ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพของ ผู้บริโภค อีกทั้งปัญหาการเสื่อมโทรมของดิน

คุณวิมล จึงหันมาทดลองทำการเกษตรแบบเรียบง่าย ใช้แรงกายขุดดินถากถาง อาศัยธรรมชาติดูแลให้เกิดความสมดุลกันเอง และความพยายามในการพึ่งพิงระบบนิเวศในไร่สวน ไม่รบกวนธรรมชาติ ไม่ไถพรวน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี เน้นปุ๋ยพืชสด ไม่กำจัดวัชพืช แต่เน้นการคุลมดิน ปลูกพืชตระกูลถั่ว พืชผัก พืชเศรษฐกิจอื่นๆ ก่อนหลังฤดูกาล นับว่าได้ผลเกินคาดจริงๆ ทดลองผิดถูกเข้าใจในความคิดของตัวเอง จนได้รับใบประกาศดีเด่น ระดับจังหวัดมาแล้ว

โดยในสวนนั้นปลูกทั้งมะขาม มะม่วง มะขามเทศ ไม้ไผ่รวก ส่วนพืชผักจะปลูกข้าวโพด อ้อย พริก มะเขือ ชะอม เผือก กล้วย การปลูกพืชผสมผสานที่มีไม้ผล ไม้ยืนต้นหลากหลายอย่างตามฤดูกาล ยังปลูกพืชสมุนไพรหลากหลายชนิดใต้โคนต้น เช่น ตะไคร้ กระชาย ขิง ข่า ว่านต่างๆ สมุนไพรที่ผลิตใช้เองในสวนเพื่อไล่แมลง 5 ชนิด

1. สมุนไพรรสขม ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและป้องกันแมลง เช่น ฟ้าทลายโจร บอระเพ็ด สะเดา โทงเทง

2. สมุนไพรรสฝาด ใช้ป้องกันเชื้อราและโรคพืช เช่น เปลือกแค เปลือกมังคุด เปลือกสีเสียด ใบฝรั่ง ใบทับทิม ขมิ้น

3. สมุนไพรรสเปรี้ยว ใช้ไล่แมลงทำให้แสบร้อน เช่น มะกรูด เปลือกส้ม น้ำมะขาม น้ำมะนาว

4. สมุนไพรรสเบื่อเมา ใช้ฆ่าหนอน เพลี้ย และแมลงอื่นๆ เช่น หางไหล ยาสูบ หนอนตายอยาก ใบน้อยหน่า สลัดได พญาไร้ใบ เป็นต้น

5. สมุนไพรมีกลิ่นหอมระเหย ใช้ไล่แมลงให้แสบร้อน เปลี่ยนกลิ่นต้นพืช เช่น ตะไคร้ โหระพา กะเพรา ผักชี สาบเสือ สาบแร้ง สาบกา ข่า เป็นต้น

ที่กล่าวมานี้ ในสวนของคุณวิมลมีพร้อม สามารถนำมาใช้ได้เลย นับว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ แม้จะไม่ได้รวมถึงการเลี้ยงสัตว์ด้วย แต่ก็สามารถทำได้จริง ซึ่งมีไส้เดือนอยู่ใต้ดินอยู่มาก นั่นหมายความว่า ดินในไร่สวนนั้นยังอุดมสมบูรณ์ดีอยู่ ปรับอีกนิดหน่อยให้ดีขึ้นคงไม่ใช่เรื่องยาก

คุณวิมล บอกว่า การทำเกษตรพอเพียงไม่จำเป็นต้องเลียนแบบใคร พึ่งตัวเอง เลือกปลูกพืชที่พอหาได้ ปลูกทุกอย่างที่มี ค่อยเพิ่มเติมในบางครั้งแล้วจะมีครบทุกอย่าง อยู่แบบเรียบง่าย ยึดหลักกินง่ายอยู่ง่าย แบ่งกิน แบ่งใช้ ให้เป็น ชีวิตก็อยู่ได้อย่างสบาย มีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ ไม่เคยเป็นหนี้ใคร อยู่แบบพอมีพอกินมาครึ่งคนแล้ว ชีวิตก็มีความสุขเหมือนกับคนอื่นๆ ยิ้มก็ยิ้มอย่างมีความสุขจากใจ ไม่เคยมีทุกข์ในใจ นับว่าเป็นเกษตรกรอีกคนหนึ่งที่น่าจะเอาอย่าง มีพร้อมทุกอย่าง แม้สิ่งที่ทำอยู่จะไม่ดีนัก แต่ก็อยู่ได้อย่างสบาย หาได้ยากยิ่งนัก ในสวนยังปลูกจำพวกดอกกระเจียว ดอกอุ้มน้อง มะเดื่อฝรั่ง ผักหวานป่า ไผ่รวก ไผ้เลี้ยง ไผ่หวาน

จากการทำเกษตรพอเพียงที่ผ่านมา ไม่เคยประสบปัญหาสักครั้ง เน้นทำเอง ขายเอง มาโดยตลอด หากเกษตรกรทำได้อย่างนี้จะไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน ระดับครัวเรือน ยึดหลักปรัญาของเศรษฐกิจพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ตามกำลังและศักยภาพที่ตนมีอยู่ เน้นพึ่งตนเองในทุกๆ ด้าน อาศัยแรงกายเสมอ ทุกอย่างก็จะเกิดผลและมีความสุข รักษาสถานะของมาตรฐานการครองชีพโดยการพึ่งตนเอง เพื่อสามารถยังชีพอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการกู้ยืมเงิน หรือซื้อปัจจัยในการดำรงชีวิตด้วยเงินสดราคาแพง ความพอเพียงนี้มิได้หมายถึง สังคมเกษตรกรเท่านั้น แต่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีจะให้ทุกคนในประเทศ ทุกสาขาอาชีพ ยึดเป็นแนวปฏิบัติดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าและยั่งยืน ตอนกิ่งพันธุ์ไม้ ก็มีความสุขมากแล้ว

ประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่การยุติการระบาดใหญ่เป็นโรคประจำถิ่น กลายเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะห่วงโซ่การผลิตภาคการเกษตร ขณะเดียวกัน ก็ต้องพบกับความท้าทายในรูปแบบใหม่ อย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการพัฒนาการขนส่งระบบใหม่ คือรถไฟลาว-จีน ที่จะเป็นเกตเวย์การส่งออกสำคัญของไทย และเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างไรกับภาคการเกษตรบ้าง? และต้องเตรียมพร้อมการรับมืออย่างไร? หาคำตอบได้ในเวทีเสวนา Next Step เกษตรไทย : ก้าวต่อไปธุรกิจเกษตรรับมืออย่างไร? หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น โดย “เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์”

ร่วมเสวนาในประเด็น
🟢 Next Normal : ธุรกิจเกษตรต้องปรับตัวอย่างไร? หลังโควิดสู่โรคประจำถิ่น
โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

🟢 Next Scenario : อีสานเกตเวย์ “รถไฟจีน-ลาว” โอกาสและความท้าทายที่เกษตรกรเผชิญหลังยุคโควิด-19
โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

🟢 Next Trends : เกษตรติดเทรนด์ ปิดจุดอ่อน เสริมจุดแข็ง พร้อมรับทุกการเปลี่ยนแปลง
– คุณถวิลย์ อินต๊ะขัน ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจ Integration บริษัท เจียไต๋ จำกัด

– ดร.ปวิตพล ไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษากองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

– นางสาวรัฐรินทร์ สว่างสาลีรัฐ จ.สระแก้ว สมาร์ทฟาร์มเมอร์ทำเกษตรผสมผสาน-ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ผลผลิตและการแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “ไร่ดีต่อใจ”

รายละเอียดงาน
📆 วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 13.00น. เป็นต้นไป
📍 หอประชุมข่าวสด
📱 ติดตาม Live เวทีเสวนา ได้ทางเพจเทคโนโลยีชาวบ้าน/มติชน/ข่าวสด/เส้นทางเศรษฐีออนไลน์/FEED/LINE@ข่าวสด

ของที่ระลึกประกอบด้วย

1. กระท้อนอินทรีย์ จาก “ไร่ดีต่อใจ” ส่งตรงจาก จ.สระแก้ว รับประกัน ทานแล้วสบายใจ ปลอดภัย มาตรฐาน GAP และอินทรีย์ SDGSPGS

2. เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง จัดเต็มพืชยอดฮิตอย่างข้าวโพดเทียน 3 สีลูกผสม “เทียนหมื่นฝัก”, ฟักทองบัตเตอร์นัท “ถุงทอง”, ผักกาดขาวปลี “โชกุน”, ถั่วฝักยาว “นาคมณี”, แตงกวา “หอมใบเตย” (ขอสงวนสิทธิ์ในการเลือกชนิดพืช)

3. กล้ามะเขือเสียบยอด โดยคุณทวีศักดิ์ กลิ่นคง ผู้บุกเบิกการผลิตกล้ามะเขือเสียบตอมะเขือพวงรายแรกของประเทศไทย โดยกล้าเสียบยอดนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมทางเลือกที่ช่วยต้านทานโรคเหี่ยวเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมให้ผลผลิตเร็ว ทันต่อความต้องการของตลาด ที่สำคัญมีอายุเก็บเกี่ยวยาวนาน คุ้มค่ากับการลงทุน

4. ดินผสมใบก้ามปูแบรนด์ “ดินคุณตา” ดินถุงพร้อมปลูกสูตรเพิ่มใบก้ามปูเรียกว่า ‘สูตรก้ามปู’ ใช้หน้าดินบึง หรือที่เรียกว่า ‘ฮิวมัส’มีประโยชน์ต่อพืช เวลาปลูกอะไรก็ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยในปริมาณมาก

5. ขุยมะพร้าวอัดก้อน แบรนด์ “โคโค่แพลน” เป็นขุยมะพร้าวแบบสั้น ยาว และ ผง ผสมอย่างลงตัว เก็บความชุ่มชื้น และ ระบายน้ำได้ดีสะดวกในการใช้งาน เพียงแค่แช่น้ำปริมาณ 2 ลิตร ขุยมะพร้าวจะขยายตัว 6 เท่าตัว ปราศจากเชื้อราและแมลง ใช้เพาะเมล็ด-เพาะกล้าแทนดิน หรือผสมเป็นวัสดุปลูกได้ทันที

ว่าไปแล้ว บ้านเราปลูก อะโวกาโด มานานหลายสิบปีแล้ว แต่ความที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้ชมชอบเจ้าผลไม้ชนิดนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะไม่รู้จักด้วย ที่ผ่านมาเกษตรกรจึงไม่นิยมปลูกกันมากนัก อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อะโวกาโด ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะใช่ว่าจะรับประทานได้เพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาแปรรูปทำผลิตภัณฑ์เสริมความงามและอาหารเสริมได้ด้วย จึงถือเป็นผลไม้ที่มีอนาคตสดใส

“คุณวรเชษฐ์ วังพลากร” เจ้าของสวนวังพลากร howlerband.com ในเนื้อที่ 19 ไร่ อยู่ที่ ตำบลรวมไทย อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องอะโวกาโดคนหนึ่งของเมืองไทย และน่าจะเป็นรายใหญ่ด้วย โดยมีต้นอะโวกาโดพันกว่าต้น ประมาณ 98% ส่วนที่เหลือปลูกเงาะและทุเรียนไว้รับประทานเอง จากที่ก่อนหน้านี้เคยปลูกส้มมาก่อน แต่เจอปัญหาโรครุมเร้าจนขาดทุน ต้องปรับมาปลูกอะโวกาโดแทน และยังขยายไปปลูกอะโวกาโดอีกแปลง ในเนื้อที่ 80 กว่าไร่ พร้อมกันนั้นยังชักชวนเกษตรกรมาร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อส่งผลผลิตให้ นอกจากนี้ ยังไปปลูกที่เมืองตองยี ประเทศเมียนมาด้วยจำนวนกว่าหมื่นต้น

ในอดีตปลูกตามหัวไร่ปลายนา
คุณวรเชษฐ์ เล่าที่มาที่ไปของสวนแห่งนี้ว่า สมัยก่อนเห็นเกษตรกรที่อำเภอพบพระ ปลูกอะโวกาโดตามหัวไร่ปลายนาเต็มไปหมด และมักจะนำไปให้หมูกิน กระทั่งได้ไปดูงานที่ประเทศนิวซีแลนด์ และได้ไปสวน อะโวกาโดที่นั่น จึงได้ซื้อยอดพันธุ์แฮสนิวซีแลนด์มาเสียบ 80 กว่ายอด แต่เสียบติดเพียง 14-15 ต้น สุดท้ายเหลือ 10 ต้น เลยนำมาลองปลูกที่ อำเภอพบพระ ช่วงปลายปี 2552 เพราะตอนนั้นทำอาชีพเป็นโบรคเกอร์หามันฝรั่งป้อนให้บริษัทเลย์ฯ อยู่ที่นี่ด้วย พอปีที่ 3 ก็ออกดอก

จากนั้นเลยลองตัดยอดมาเสียบ ลองผิดลองถูกในการขยายพันธุ์ ซึ่งเวลานั้นค่อนข้างยาก ไม่เหมือนในปัจจุบันที่รู้เทคนิคต่างๆ เนื่องจากร่วมมือกับทางนิวซีแลนด์ ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็สนใจ โดย ดร. ฐิติพรรณ ฉิมสุข ทำวิจัยเรื่องสารสกัดน้ำมันจากอะโวกาโด ซึ่งต่อยอดไปถึงผลิตภัณฑ์ ทำเป็นตัวเซรั่ม เพราะมีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ต้านอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวหน้าตึง ชะลอริ้วรอย และได้รางวัลเหรียญทองแดงกลับมาจากการประกวดที่เกาหลีใต้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

หลังจากเห็นว่าปลูกอะโวกาโดที่นี่ได้ผล เลยเลิกอาชีพโบรคเกอร์มันฝรั่ง และหันมาปลูกอะโวกาโดอย่างจริงจัง เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยลงทุนเรื่องระบบน้ำ และนำสายพันธุ์ต่างๆ มาเสียบยอด

คุณวรเชษฐ์ ให้ข้อมูลว่า ในการปลูกนั้นไปได้ดี แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ติดปัญหาเรื่องการหาตลาดค่อนข้างยาก เพราะคนไทยไม่ค่อยนิยมกัน ซึ่งช่วงแรกผลผลิตยังน้อย มีแค่ 5-6 ตะกร้า แต่แม่ค้าบอกไม่รู้จักพันธุ์แฮส ที่มีลักษณะผิวขรุขระไม่สวย แข็ง เมื่อไหร่สุกก็ไม่รู้ และคงไม่อร่อยแน่นอน แม่ค้าต้องการลูกใหญ่ๆ สุดท้ายใช้วิธีฝากขาย ซึ่งก็ขายได้โดยคนกรุงเทพฯ มาซื้อ และถามว่ามีอีกไหม ทำให้รู้ว่ามีคนเริ่มรู้จักพันธุ์นี้แล้ว จึงขยายพันธุ์เพิ่มอีก

ในสวนวังพลากรนั้น มีอะโวกาโดหลากหลายสายพันธุ์ อาทิ บัคคาเนีย แฮส ปีเตอร์สัน และสายพันธุ์พื้นเมือง พบพระ 08 และ พบพระ 14 ซึ่งแต่ละพันธุ์มีจุดเด่นแตกต่างกัน อย่างที่เจ้าของสวนรายนี้ระบุว่า อย่าง พันธุ์แฮส จะมีความหอมลึกๆ มีความเหนียว และไม่ฉ่ำน้ำ ในส่วนรองลงมา เป็นพวกที่ตลาดล่างและตลาดกลางต้องการมากที่สุด คือ บัคคาเนีย รูปทรงจะใหญ่ ผลผลิตสูง ต่อต้นประมาณ 300 กิโลกรัม เมื่อปลูกได้ 5-6 ปี

สำหรับ พิงเคอร์ตัน รูปทรงเหมือนแฮส แต่ใหญ่กว่า คล้ายๆ ลูกแพร ค่อนข้างจะสวยแต่ก้านกับขั้วก้านเล็ก เวลาเชื้อราเข้าทำลายจะร่วงเลย ไม่ค่อยทนทาน สายพันธุ์พบพระ 08 และ พบพระ14 ทนต่อโรค
คุณวรเชษฐ์ อธิบายถึง สายพันธุ์พบพระ 08 และ พบพระ 14 ว่า เป็นพันธุ์พื้นเมือง ที่คัดแล้วว่า

1. ทนต่อโรค โดยเฉพาะโรคไฟท็อปทอร่า หรือโรคใบไหม้ ซึ่งเป็นเชื้อราที่ทำลายตั้งแต่ยอดลงระบบราก แล้วทำให้รากเน่าโคนเน่า

2. ให้ผลผลิตสูง

3. เนื้อคุณภาพดี เนื้อเหนียวแห้ง ไม่ฉ่ำน้ำเหมือนพันธุ์พื้นเมืองทั่วๆ ไป