สสว. และ มทร.ธัญบุรี สานต่อความสำเร็จปีที่ 3 เครือข่ายสมุนไพร

ผศ.ดร.มโน สุวรรณคำ ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) และในฐานะผู้ดูแลกิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2562 พร้อมด้วยทีมวิทยากรจาก มทร.ธัญบุรี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาศักยภาพในการดำเนินงานของคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร” เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการและเกษตรด้านสมุนไพร ที่ศูนย์โอท็อป สระบุรี (พุแค) ตำบลพุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี โดยมีสมาชิกคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร ทีมวิทยากรจาก มทร.ธัญบุรี คณะกรรมการคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร พร้อมด้วยหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคลัสเตอร์เข้าร่วมการอบรม

สสว. ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ ร่วมกับ มทร.ธัญบุรี ในปี 2562 โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คลัสเตอร์สมุนไพร ซึ่งเป็นการดำเนินต่อเนื่อง มุ่งเน้นให้มีการรวมกลุ่มผู้ประกอบการในกลุ่มคลัสเตอร์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำไป จนถึงปลายน้ำ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกัน ระหว่างผู้ประกอบการจากฐานล่างถึงระดับบนให้เป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็ง การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐาน เพื่อการนำสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และกลุ่มที่ 2 คลัสเตอร์เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ซึ่งเป็นการดำเนินงานในปีแรก เน้นไปในเรื่องการรวมกลุ่ม การทำแผนยุทธศาสตร์ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพความเข้มแข็งตามความต้องการของกลุ่มคลัสเตอร์

เนื้อหาในการอบรมให้กับคลัสเตอร์ภูมิพรรณไพร จะทบทวนแนวคิดการบริหารแบบคลัสเตอร์ ระบบการจัดการคลังสินค้า การพัฒนาตลาดในรูปแบบการตลาดออนไลน์ รวมถึงการทบทวนแผนกลยุทธ์/ยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนาคลัสเตอร์ในปี 2562 ให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเน้นจะเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาเป็นแนวทางหลัก เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนต่อไป โดยมี ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวชี้แจงรายละเอียดโครงการและเปิดการอบรม

“กิจกรรมพัฒนาเครือข่ายสมุนไพรและเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร ภายใต้โครงการสนับสนุน SME ปี 2562 จะทำให้เครือข่าย SME ที่ได้รับการพัฒนามีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ มีแนวทางที่สามารถลดต้นทุน และที่สำคัญมีการสนับสนุนการนำนวัตกรรมและงานวิจัยมาพัฒนาสินค้า ผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ทำให้เกิดการพัฒนาที่สูงขึ้น ที่จะสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศต่อไปได้” ผศ.ดร.กรวินท์วิชญ์ กล่าว

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กฤษณา ไพฑูรย์

ทุกปีเมื่อถึงหน้าฤดูไม้ผลสำคัญอย่างทุเรียน ระหว่างช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนในภาคตะวันออก และภาคใต้ที่ผลผลิตจะออกตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม-กลางเดือนสิงหาคม มักได้ยินข่าวปัญหาวิกฤตการส่งออกทุเรียนสดมากมาย ตั้งแต่การตรวจพบสารเคมีตกค้าง โรคแมลง การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการบรรจุสินค้าส่งออก การขาดแรงงานเก็บผลไม้ แรงงานต่างด้าวข้ามเขตไม่ได้ ฯลฯ

ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหา “ซ้ำซาก” ที่เกิดมาต่อเนื่องมาเนิ่นนานหลายปี แต่ไม่สามารถหาทางออก ! ได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกปีหน่วยราชการยื่นมือเข้ามาแก้ปัญหากันแบบ “เฉพาะหน้า” !

ปีต่อปี ให้ผ่านพ้นช่วงฤดูไม้ผลไป ทั้งที่ “ทุเรียน” ส่งไปขายตลาดจีน เป็นไม้ผลทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

ซ้ำร้ายมาปีนี้ปัญหาหลายเรื่องกลับหนักหน่วงกว่าทุกปี อย่างที่ปรากฏตั้งแต่ช่วงสงกรานต์เดือนเมษายนต่อเนื่องมาถึงเดือนพฤษภาคม คือทุเรียนไทยที่ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งไปทางบกกว่า 1,000 ตู้ และทางเรือกว่า 2,000 ตู้ ถูกตรวจสอบเข้มจากทางการจีน 100% จากเดิมเพียง “สุ่มตรวจ” ไม่กี่ตู้ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า รถต้องจอดรอเข้าคิวค้างที่ด่านลางเซิน ประเทศเวียดนาม เพื่อรอผ่านด่านโหย่วอี้กวน มณฑลกว่างซี ประเทศจีน

ความล่าช้ากว่า 3 สัปดาห์ของปัญหาที่เกิดขึ้น ประกอบกับทางการจีนได้เปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในการตรวจสอบสินค้าที่ด่านใหม่ ทำให้เพิ่มความล่าช้าจาก 2-3 วัน เป็น 7-8 วัน ส่งผลต่อการควบคุมอุณหภูมิของตู้ค่อนข้างมีปัญหา ทุเรียนสุก แตกเสียหายจำนวนมาก

เมื่อรถผ่านด่านไปส่งให้ลูกค้าจากที่ตกลงซื้อขาย 1 ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำหนัก 18 ตัน ราคาเฉลี่ยตู้ละ 2-2.5 ล้านบาท ถูกกดราคารับซื้อลงกว่าครึ่ง ขณะที่การขนส่งทางเรือที่ล่าช้าทำให้อุณหภูมิความร้อนสูงเกินกว่าที่จีนกำหนด

จีนตีกลับไม่ให้ขนสินค้าขึ้นท่าเรือ กว่าที่รัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์จะ “ยื่นมือ” เข้ามาแก้ปัญหา…ทุกอย่างบานปลาย เสียหาย ถูกกดราคา ต้นทุนพุ่งกันไปแล้ว

หากย้อนมาดูสาเหตุที่จีนเพิ่ม “ความเข้มงวด” คงเป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2561 ทางการจีนตรวจพบ “แมลงศัตรูพืช” ในทุเรียน (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเมล็ด) และ “สารตกค้าง” ต่าง ๆ เกินมาตรฐาน ! ถึง 1,700 ครั้ง !

ครั้นจะว่า “จีนเล่นเกม” เพื่อเป็นข้ออ้าง “กดราคา” ทุเรียนไทยคงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำ เหตุเพราะโรงคัดบรรจุจำนวนมาก “ไม่ได้มาตรฐาน” หลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) ขณะที่สวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อส่งออกยังไม่ได้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) อีกจำนวนมากเช่นกัน

แถมผู้ส่งออกหลายรายใช้วิธี “สวมสิทธิ์” ของสวนผลไม้ที่ได้มาตรฐาน GAP และ “สวมสิทธิ์” โรงคัดแยกที่ได้มาตรฐาน GMP ไปกรอกข้อมูลในใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC) ทำให้เมื่อตรวจพบสารตกค้าง ฝ่ายราชการของไทยที่เกี่ยวข้องถึงอึ้ง เพราะไม่สามารถ “ตรวจสอบย้อนกลับ” ได้ ทำให้เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2561 จีนจี้มาชัดเจนว่า จะเข้มงวดกับผลผลิตในปี 2562 !

ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมาหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้เร่ง “ล้อมคอก” ระดมข้าราชการจากต่างพื้นที่มาช่วยกันทำงานแบบ “ฝุ่นตลบ” เพื่อนับถอยหลังก่อนผลไม้ฤดูกาลนี้ออกมา

แต่ดูเหมือนว่าจะทำงานไม่ทันกับเวลา เพราะมี “ล้งรายเล็กหน้าใหม่” เกิดขึ้นมาอีกนับ 100 ราย ด้วยเพราะความต้องการของตลาดจีนที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาทุเรียนพุ่งสูงตาม หลายคนจึงหันเข้ามาสู่อาชีพนี้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้อีกไม่ถึง 10 วัน ปัญหาทั้งหมดอาจจะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง เพราะทุเรียนลอตใหม่ในภาคตะวันออกกำลังจะออกมาอีกระลอก ขณะที่ทุเรียนในภาคใต้จะเริ่มทยอยออกผลผลิตในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไปและมีจุดพีกที่ผลผลิตออกมาจำนวนมาก บรรดาล้งทั้งหลายกังวลใจจะเกิด “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” ภาคตะวันออก ซึ่งแนวทางออกคงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย ทั้งหน่วยราชการ ล้ง และชาวสวนเองต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ปรับปรุงมาตรฐาน แก้ปัญหาข้อผิดพลาดที่ผ่านมา เพื่อไม่ให้จีนมีข้ออ้างเล่นงานไทยได้

อย่างไรก็ตาม การส่งออกทุเรียนสด หลายคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องง่าย ได้กำไรงาม จึงก้าวกันเข้ามาแบบ “ไร้มาตรฐานคุณภาพ” ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย แถมทำลายชื่อเสียงทุเรียนไทย ขณะที่ฝ่ายภาครัฐหากมัวชักช้าไม่เข้มงวด เด็ดขาด มีหวังถูกทุเรียนสดของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และกัมพูชา ที่กำลังเร่ง “พัฒนาสายพันธุ์” เข้าไปขายเสียบตลาดจีนแทนแน่ ๆ

ที่สำคัญหนทางออกที่ดีที่สุดทุกฝ่ายควรเร่งวิจัยและพัฒนา “นวัตกรรมทุเรียน” เพิ่มมูลค่าผลผลิตมากกว่าการส่งออก “ทุเรียนสด” ที่อนาคตไทยจะสู้เรื่อง “ต้นทุน” กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าไม่ได้

กระต่าย สัตว์เลี้ยงตัวเล็กน่ารักของใครหลายคน มีมากมายหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีความโดดเด่นที่แตกต่างและเหมือนกันอยู่ก็มาก แต่ใครจะเลี้ยงสายพันธุ์ใดก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้เลี้ยง เช่น คุณวานิตย์ บุญภาย หรือน้องเจ เด็กหนุ่มที่เพิ่งจบการศึกษาด้านสาธารณสุขศาสตร์ หลงใหลการเลี้ยงกระต่าย ถึงขั้นมีจำนวนมากจนต้องทำเป็นฟาร์มกระต่ายเล็กๆ ไว้รองรับ

ก่อนหน้าคุณวานิตย์ ทำฟาร์มสุนัขปอมเมอเรเนียนและและพันธุ์ชิวาวา กระทั่งได้งานทำในเมือง ทำให้ไม่มีเวลาดูแล จึงต้องเลิกกิจการไปโดยถาวร เมื่อมีโอกาสจึงกลับมาเลี้ยงสัตว์ตามความถนัดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้เลือกเลี้ยงกระต่าย

“ผมเลือกพันธุ์เท็ดดี้แบร์ และ พันธุ์วู้ดดี้ทอย เพราะน่ารักดี ทั้งสองสายพันธุ์ขนยาวและตัวไม่ใหญ่มาก ตั้งใจเลี้ยงไว้เป็นเพื่อนเล่น แต่เห็นความน่ารักของทั้งสองสายพันธุ์จึงอยากลองเอามาผสมเข้าด้วยกันดู คิดว่าน่าจะได้ลูกกระต่ายที่น่ารักแน่ๆ”

สำหรับกระต่ายพันธุ์เท็ดดี้แบร์ เป็นกระต่ายทีพัฒนาขึ้นโดยคนไทยจนมีสายพันธุ์นิ่ง และสามารถถ่ายทอดลูกออกมาเช่นเดียวกับพ่อแม่ ไม่เป็นหมัน ไม่มียีนแคระ และมีขนยาวที่สวยงาม ตอนเล็กๆกระต่ายสายพันธุ์นี้ขนจะยังไม่ยาวมากนัก เมื่ออายุ 2 เดือนจะเริ่มเห็นขนยาวฟูที่ชัดเจน และจะฟูเต็มที่เมื่ออายุ 5-8 เดือน ขนาดตัวไม่โตมากนัก น้ำหนักประมาณ 1.8 กิโลกรัม อาจมีจนที่หูหรือไม่มีก็ได้ แต่ความยาวขนเมื่อโตเต็มที่ต้องมากกว่า 3 นิ้ว จึงจะได้รับการยอมรับ

ออกลูกครั้งละ 3-6 ตัว ขนขึ้นฟูเห็นชัดเจนเมื่ออายุประมาณ 20 วัน บางตัวขนอาจไม่ฟูเมื่อายุน้อย และจะฟูขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น ผลัดขนทุกปี ปีละ 1-2 ครั้ง

กระต่ายสายพันธุ์นี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากหน้าตาน่ารัก ขนฟูฟ่อง สามารถพาไปไหนมาไหนได้ง่าย และราคาไม่สูงมากนัก มีสีมากมายหลายสีส่วนกระต่ายพันธุ์วู้ดดี้ทอย มีลักษณะคล้ายพันธุ์เท็ดดี้แบร์ เพราะเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ต่อจากพันธุเท็ดดี้แบร์ โดยทำให้มีขนาดเล็กลงไปอีก แต่ไม่มียีนแคระ

พันธุ์วู้ดดี้ทอย เป็นกระต่ายขนาดค่อนข้างเล็ก มีขนนุ่มฟูกระจายไปทั่วตัว คล้ายๆ เท็ดดี้แบร์ แต่จะตัวเล็กกว่า มีหลายสี ขนมีสองชั้น คือ ขนชั้นในและขนชั้นนอก ขนชั้นนอกควรยาวกว่าขนชั้นใน ขนมีลักษณะตกทิ้งลงข้างลำตัว ขนไม่พันกัน ความยาวของขนไม่ควรต่ำกว่า 2 นิ้ว เพศผู้หนักประมาณ 0.8-1.1 กิโลกรัม เพศเมียหนักประมาณ 0.9-1.2 กิโลกรัม

เมื่อโตเต็มที่แล้วหน้าจะเหมือนพันธุ์เท็ดดี้แบร์ แต่หูสั้นกว่า มองเห็นคล้ายรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า หากนำมาเทียบกับพันธุ์เท็ดดี้แบร์ พันธุ์วู้ดดี้ทอยตัวจะเล็กกว่าเกือบครึ่งเลยทีเดียว

ด้วยความคล้ายกัน ทำให้คุณวานิตย์ ตั้งใจนำมาผสมกัน และเรียกว่าวู้ดดีทอยผสมเท็ดดี้แบร์

ลูกกระต่ายที่ออกมา บ้างขนยาว บ้างขนสั้น บ้างตัวเล็ก บางตัวโต เช่นคอกแรกที่ได้เป็นลูกกระต่าย 4 ตัว ทุกตัวไม่มีความเหมือนกันเลย

หลังจากได้กระต่ายคอกแรก คุณวานิตย์ หาพ่อพันธุ์มาเพิ่ม เมื่อได้ลูกกระต่ายคอกถัดมา จึงนำออกสู่ตลาดด้วยการนำไปฝากขายไว้กับร้านสัตว์เลี้ยงในจังหวัดอำนาจเจริญ ผลตอบรับค่อนข้างดี ลูกกระต่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว เพราะความใหม่ของกระต่ายลูกผสม

การเลี้ยงดูกระต่าย ไม่ใช่เรื่องยาก แม้ว่าจะเคยได้ยินว่ากระต่ายเป็นสัตว์ขี้ตกใจ และอาจตายได้ถ้าได้ยินเสียงดังเกินไป เรื่องนี้ คุณวานิตย์ ให้ข้อมูลว่า แท้จริงแล้วกระต่ายโดยทั่วไปมีนิสัยขี้กลัว ขี้ตกใจ อะไรแปลกๆ ก็ตกใจ แต่ถ้าคลุกคลีใกล้ชิดจะรู้ว่า กระต่ายเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อง มีความนุ่มนวล และนิ่งเมื่ออยู่กับเจ้าของ นอกจากนี้ยังขึ้นกับการเลี้ยงดู หากเลี้ยงกระต่ายไว้ในที่สงบเงียบมากเกินไป เมื่อเกิดเสียงดังที่ทำให้กระต่ายเกิดความกลัวมาก โอกาสที่กระต่ายจะช็อคตายจากความตกใจกลัวก็เกิดขึ้นได้

“ผมทำเฉพาะกระต่ายลูกผสมวู้ดดี้ทอยผสมเท็ดดี้แบร์ การให้ลูกไม่เกิน 5 ตัว ที่ผ่านมา การผสมจะเน้นที่ความพร้อมของกระต่าย ไม่ได้ต้องการจำนวนเพื่อขายในเชิงพาณิชย์” การผสม เพศเมียควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 8 เดือน หรือ ดูจากอวัยวะเพศที่มีความสมบูรณ์พร้อมผสมพันธุ์ เช่น แดง บวม ก็สามารถผสมได้เช่นกัน หรือ ลูบหลังกระต่ายแล้วกระต่ายหันหลังให้พร้อมกับยกก้นขึ้น แสดงว่ามีความพร้อมในการผสมพันธุ์

ในการผสมสามารถทำโดย นำเพศผู้ไปใส่ในกรงเพศเมีย หรือนำเพศเมียไปใส่ในกรงของเพศผู้ ได้เช่นกัน รอให้ผสมก่อน เมื่อผสมแล้วให้จับแยกออกมาพักไว้ 10-15 นาที จากนั้นนำเข้ากรงเพื่อให้ผสมใหม่ ทำเช่นนี้จนกว่าจะผสมได้ 3 ครั้ง จึงแยกทั้งคู่

แม้ว่าจะสังเกตการผสมตลอดเวลาก็ตาม แต่การผสมที่ผ่านมา อัตราการติดลูกอยู่ที่ 70 เปอร์เซนต์เท่านั้น โดยปัจจัยที่ทำให้ติดลูกมากน้อยขึ้นกับกระต่ายเพศเมีย หากสมบูรณ์หรืออ้วนเกินไป เปอร์เซนต์ติดลูกค่อนข้างน้อย

หลังการผสม 15 วัน ควรคลำท้องแม่กระต่ายเบาๆ สัมผัสดูว่ามีก้อนๆ ภายในท้องหรือไม่ หากมีนั่นหมายถึงมีลูกกระต่ายที่ได้รับการผสมแล้วอยู่ หรือ สังเกตจากรูปร่างลักษณะของแม่กระต่าย ที่เริ่มอ้วนหรือมีเนื้อมากขึ้น และท้องเริ่มขยาย น้ำหนักเพิ่มขึ้น ระยะเวลาการตั้งท้อง 30-35 วัน หลังแน่ใจว่ากระต่ายตั้งท้อง ควรแยกออกจากฝูงไว้ในกรงส่วนตัว ควรทำรังคลอดไว้ให้ คล้ายที่นอน และใส่ฟางลงไปในกรง เพื่อให้กระต่ายคุ้นเคยกับธรรมชาติ ควรระวังไม่ให้กระต่ายคลุกดิน เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย

ก่อนคลอด กระต่ายจะเริ่มกัดขนตัวเองไปไว้ในรังนอนที่ทำไว้ให้ กรณีที่กระต่ายไม่กัดขนตัวเอง โอกาสที่ลูกคลอดออกมาแล้วตายมีสูง เพราะจะไม่มีช่องให้ลูกกินนม ซึ่งลูกกระต่ายหากไม่ได้กินนมนานเกินไปจะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำตาล และตายในที่สุด

“กระต่ายที่นี่จะปล่อยให้คลอดธรรมชาติเอง คอยสังเกตอยู่ห่างๆ ซึ่งที่ผ่านมา การเลี้ยงกระต่ายพยายามให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุด ทำให้กระต่ายที่นี่สามารถคลอดเองและเลี้ยงลูกเองได้ โดยไม่ต้องเข้าไปช่วย”

ลูกกระต่ายหลังคลอด ประมาณ 15 วัน จะเริ่มเห็นพัฒนาการการเจริญเติบโตของลูกกระต่าย ประมาณ 20 วัน ลูกกระต่ายจะเริ่มออกจากรังคลอด และเริ่มกินอาหารเม็ดตามแม่กระต่ายได้

อาหารที่ให้เป็นอาหารเม็ดสำเร็จรูปทั่วไป และเสริมด้วยหญ้า ซึ่งบริเวณโดยรอบเป็นทุ่งนาและปลอดสารเคมี การเก็บหญ้าจากธรรมชาติและปลอดสารเคมีมาให้กระต่ายกิน ก็เป็นอาหารเสริมที่ดีอย่างหนึ่ง

โรคที่อาจเกิดขึ้นในกระต่าย คุณวานิตย์ บอกว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระต่ายป่วยได้ง่าย คือ ลูกกระต่ายไม่ได้กินนมแม่ เพราะนมแม่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในลูกกระต่ายได้ดีเหมือนคน และถ้าแยกลูกกระต่ายจากแม่ก่อนอายุ 45 วัน อาจทำให้ลูกกระต่ายช็อคตายโดยไม่รู้สาเหตุได้ นอกจากนี้ โรคที่อาจพบได้ในกระต่าย คือ โรคแท้งในกระต่าย ซึ่งเกิดจากการป่วยในช่วงที่กระต่ายท้อง เมื่อแท้ง โอกาสที่กระต่ายตายก็พบได้สูง รวมถึงโรคแขนขาอ่อนแรง ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นกับกระต่ายตัวใด อีกทั้งอาการจะแสดงออกต่อเมื่อกระต่ายโตเต็มวัย ซึ่งสามารถรักษาโรคนี้ได้แต่ไม่หายขาด ดังนั้น การเลี้ยงกระต่ายให้คุ้นชินกับธรรมชาติ ดูแลความเป็นอยู่ให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติที่สุด จึงเป็นเรื่องดี

ปัจจุบัน คุณวานิตย์ มีพ่อพันธุ์กระต่ายจำนวน 5 ตัว และแม่พันธุ์กระต่ายอีก 15 ตัว

ช่วงระยะเวลา 2 ปีที่เปิดเป็นฟาร์มกระต่ายเล็กๆ คุณวานิตย์ มีกระต่ายส่งไปยังบ้านลูกค้าแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ตัว ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่มาก เพราะการผสมโดยไม่เน้นเชิงพาณิชย์ แต่ต้องการคุณภาพของลูกกระต่ายที่ได้มากกว่า

ตลาดกระต่ายเป็นตลาดที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยกระต่ายสีล้วน เช่น ดำ เทา ขาว เป็นสีของกระต่ายที่ลูกค้าต้องการมาก สำหรับราคาซื้อขาย คุณวานิตย์ บอกว่า ราคาจำหน่ายลูกกระต่ายผสมอยู่ที่ตัวละ 250 บาท ขึ้นกับฟอร์ม อายุ และสี ของกระต่าย แต่ทั้งนี้ การซื้อขายไม่มีส่งทางโลจิสติกส์ใดๆ ยกเว้นนัดรับหรือนำไปส่งให้ในจังหวัดใกล้เคียง เช่น อุบลราชธานี ยโสธร ทำให้ข้อจำกัดทางการตลาดไม่กว้างเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม คุณวานิตย์ ไม่กังวล เพราะต้องการให้กระต่ายได้รับความปลอดภัยในการเดินทางไปยังลูกค้าจริงๆ

หากสนใจการเลี้ยงกระต่ายท่ามกลางธรรมชาติ สามารถติดต่อขอเข้าไปเยี่ยมชมการเลี้ยงได้ที่ คุณวานิตย์ บุญภาย โทรศัพท์ 097-192-0572 หรือติดตามผ่านเฟสบุ๊กเพจ ฟาร์มกระต่ายอำนาจเจริญ ยโสธร จำหน่ายลูกกระต่าย ได้ตลอดเวลา

แม้บรรพบุรุษจะทำการเกษตรมาก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะสืบทอดกันได้ทางสายเลือด เพราะต้องมีการเรียนรู้ ฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ทั้งยังต้องมีความคิดต่อยอด นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแปลงเกษตรที่ทำอยู่

เช่นเดียวกับ จ.ส.อ. นิกร บุญชัย อดีตข้าราชการทหาร ที่มีพ่อและแม่ทำสวนลำไย พันธุ์อีดอ ที่ตำบลเจดีย์หลวง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เห็นครอบครัวทำสวนลำไยมานานหลายสิบปี แต่ไม่เคยจับงานเกษตรในสวนลำไยแม้แต่น้อย กระทั่งปี 2546 ลาออกจากข้าราชการทหาร กลับมาเริ่มต้นจับสวนลำไยสืบทอดงานเกษตรกรรมต่อจากพ่อและแม่ ทั้งที่ไม่มีความรู้ในงานเกษตรเลย โดยเฉพาะในรุ่นของพ่อและแม่ทำสวนลำไย ก็ไม่ได้มีเทคนิคใดๆ ปล่อยให้ธรรมชาติดูแล และให้น้ำบ้างตามความต้องการของพืชอย่างลำไย ผลผลิตที่ได้จึงได้มากน้อยตามสภาพดินฟ้าอากาศของแต่ละปี ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้ราคาลำไยแปรผันตามปริมาณลำไยที่ออกสู่ตลาดในแต่ละปี

เมื่อ จ.ส.อ. นิกร กลับมา เขาจึงเริ่มตั้งใจอย่างจริงจัง ศึกษา จดบันทึก และปรับปรุง เพื่อให้มีเทคนิคใหม่ๆ เข้ามาใช้ในสวนของครอบครัว

“ประมาณปี 2555 กว่าผมจะทำได้” จ.ส.อ. นิกร บอกว่า สิ่งสำคัญของการทำการเกษตร คือ การจดบันทึก เพื่อเห็นข้อดี ข้อเสีย นำไปปรับปรุงแก้ไขและพัฒนา ให้เกิดที่ดีและเหมาะสมสำหรับแต่ละสวน รวมถึงการนำดินไปตรวจหาค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อทราบว่า พื้นที่เกษตรกรรมของเราขาดเหลือธาตุชนิดใด และพืชที่ปลูกต้องการธาตุชนิดใดมาก เพื่อไม่สิ้นเปลืองต้นทุนการผลิตในเรื่องของปุ๋ย หรือแร่ธาตุที่ต้องเติมให้กับดินและพืช หากมี 2 สิ่งนี้ การทำการเกษตรก็จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป สิ่งแรกที่ จ.ส.อ. นิกร ปรับเปลี่ยนในพื้นที่สวน คือการสร้างแหล่งน้ำเพิ่มขึ้น เพราะเดิมอาศัยน้ำฝนตามฤดูกาล เมื่อเข้าสู่ระบบการบริหารจัดการเต็มรูปแบบ แหล่งน้ำจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการทำสวนผลไม้

เริ่มต้นจากการทำสวนลำไย พื้นที่เพียง 20 ไร่ ปัจจุบันขยายพื้นที่ปลูกออกไป ประมาณ 104 ไร่ แปลงปลูกมี 2 แปลง

แปลงพื้นที่ 26 ไร่ ปลูกลำไยระยะชิด 3×4 เมตร สำหรับทำลำไยนอกฤดู

พื้นที่เหลือทั้งหมด ปลูกลำไย ระยะ 8×8 เมตร สำหรับทำลำไยเหลื่อมฤดู

การดูแลแปลงลำไย ทั้ง 2 ระยะ เหมือนกัน แตกต่างกันตรงระยะการราดสาร การปลูกลำไยเหลื่อมฤดู ทำดังนี้

ท่อพีวีซีเทปูนไว้ด้านใน ใช้แทนไม้ สำหรับค้ำกิ่งลำไย ต้นทุนลำละ 70 บาท
ตัดแต่งต้นลำไยทรงฝาชีหงาย ให้ตัดตรงกิ่งกระโดงออก ทำให้ต้นเตี้ย
ฉีดพ่นยาฆ่าแมลง ยากำจัดเชื้อรา
เมื่อใบชุดแรกผลิออกมา ให้เริ่มสะสมอาหารทางดิน โดยให้ปุ๋ย 46-0-0 ผสมกับปุ๋ย 5-15-15 อัตราส่วน 2 : 1 ปริมาณ 2-3 กำมือ ต่อต้น แล้วให้น้ำตาม ทำเช่นนี้ทุกๆ 10 วัน จนกว่าจะเห็นใบชุดที่สองเริ่มกาง
เมื่อใบชุดที่สองเริ่มกาง ให้เริ่มสะสมอาหารทางใบ โดยให้ปุ๋ย 0-52-34 ผสมน้ำในอัตรา 300 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ เมื่อใบแก่ ใช้ปุ๋ยตามเดิม อัตราส่วนเป็นปุ๋ย 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่ว ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ
ระหว่างนี้ให้สังเกตแมลง เชื้อรา หากพบก็ให้ฉีดยาฆ่าแมลง กำจัดเชื้อรา แต่ถ้าไม่พบให้เลี่ยง
หลังสะสมอาหารแล้วเสร็จ ประมาณเดือนธันวาคม ลำไยจะเริ่มแทงช่อดอกออกมา ยังคงฉีดพ่นสะสมอาหารไปเรื่อยๆ ให้สังเกตว่า ช่อดอกแทงออกมาแล้ว จึงหยุด
7.ประมาณกลางเดือนมกราคม นำสารโพแทสเซียมคลอเรต ปริมาณ 10 กิโลกรัม และปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 ผสมเข้ากับน้ำ 200 ลิตร ใช้เครื่องฉีดพ่นห่างโคนต้น 1 ศอก ให้ทั่วทรงพุ่ม จากนั้นให้น้ำตาม

หลังจากนั้น 7 วัน ใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต 10 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นทางใบ เว้นอีก 7 วัน สูตรเดียวกันฉีดพ่นซ้ำ และให้น้ำตาม
เมื่อใบลำไยเริ่มเฉา จะเริ่มเปิดตาดอก โดยใช้ไทโอยูเรีย 300 กรัม ปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 ปริมาณ 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร, สาหร่ายสำหรับเปิดตาดอก 300 ซีซี น้ำตาลทางด่วน 200 ซีซี โบรอนเดี่ยว 50 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร ใช้ฉีดพ่นให้ทั่ว
หมั่นสังเกตว่าลำไยเริ่มแทงดอกหรือยัง ภายใน 5-7 วัน หากยังไม่แทงดอก ให้ฉีดพ่นด้วยสารตัวเดิม ปริมาณเท่าเดิม แต่ถ้าเริ่มแทงดอกออกมาแล้ว ให้บำรุงช่อดอกด้วยการให้สารตัวเดียวกับเปิดตาดอก แต่ตัดไทโอยูเรียออก เมื่อราดสารและฉีดพ่นสารครั้งสุดท้ายเสร็จ ให้หยุดน้ำไว้ก่อน รอให้ใบกระทบอากาศหนาว จนแทงช่อดอกชัด จึงเริ่มให้น้ำใหม่
การให้น้ำลำไย ใช้มินิสปริงเกลอร์สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที