สหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ ส่งเสริมสมาชิกทำเกษตร

ผสมผสานตามแนวทฤษฎีใหม่ รักษาพื้นที่การเกษตรในเขตทุ่งครุพื้นที่เขตทุ่งครุของกรุงเทพมหานครแต่เดิมเป็นพื้นที่ทำการเกษตร ทำนา ทำสวนผลไม้ ปัจจุบันสภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป หมู่บ้านจัดสรรและอาคารพาณิชย์เริ่มรุกเข้ามา มีห้างสรรพสินค้าผุดขึ้นในพื้นที่เกษตรเดิม ระบบการจัดการของท้องถิ่นเริ่มเปลี่ยนไป คนนอกพื้นที่หลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่เพิ่มมากขึ้น

ประชากรในเขตทุ่งครุมีประมาณ 120,000 คน และส่วนหนึ่งเป็นชุมชนของชาวมุสลิมอาศัยอยู่ราว 60,000 คน ต่อมาในปี 2554 ได้มีการรวมกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ จำกัด เพื่อระดมเงินทุนช่วยเหลือพี่น้องชาวมุสลิม ซึ่งระบบสหกรณ์นั้นถูกกับหลักศาสนาอิสลามและถูกต้องตามกฎหมาย ปัจจุบันมีสมาชิก 600 คน และสมาชิกส่วนหนึ่งประมาณ 30% ยังคงยึดอาชีพการเกษตรและยังเก็บรักษาที่ดิน ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ และยังมีบางรายที่ไม่พัฒนาที่ดินต่อ ทำให้เกิดที่รกร้างว่างเปล่า มีบางส่วนรอขายที่ดินเพื่อทำหมู่บ้านจัดสรรเนื่องจากที่ดินมีราคาสูงขึ้น ทำให้วิถีชีวิตในแบบเกษตรกรรมได้ถูกกลืนหายไปอย่างน่าใจหาย

นายเปี่ยม อารีฮูเซ็น ประธานสหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ จำกัด กล่าวว่า สหกรณ์ได้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาพื้นที่การเกษตรในเขตทุ่งครุให้ดำรงอยู่ถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จึงได้ทำโครงการแปลงเกษตรตัวอย่าง เพื่อสนับสนุนให้สมาชิกนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้แนะนำแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

ที่ได้พระราชทานไว้ ให้สมาชิกได้น้อมนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ ขณะเดียวกัน สหกรณ์ได้สร้างแปลงเกษตรตัวอย่างโดยได้ขอเช่าที่ดินของสมาชิกจำนวน 1 ไร่ มาปรับปรุงและพัฒนาให้เป็นแปลงเกษตรผสมผสาน เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้สมาชิกได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำกลับไปปรับใช้กับที่ดินของตนเอง

ภายในแปลงเกษตรตัวอย่าง ได้แบ่งพื้นที่ประมาณ 25% เป็นบ่อปลา เลี้ยงปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล และปลากด พื้นที่อีก 30% ปลูกผลไม้ มะม่วง ทุเรียน กล้วย ส่วนหนึ่งปลูกผักสวนครัว และมีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงแปรรูปสินค้า ใช้เงินลงทุนไปประมาณ 150,000 บาท และค่อยๆ ลงมือปลูกพืชผักขยายต่อยอดและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อต่อยอดความสำเร็จให้เพิ่มขึ้น และตั้งแต่เริ่มลงมือทำแปลงเกษตรในเดือนตุลาคม 2561 จนถึงเดือนมกราคม 2562 สหกรณ์ได้จับปลาชุดแรกไปแล้ว 30% ของปลาที่ลงทุนไปทั้งหมด ได้กำไรจากการจับปลาล็อตแรก 20-30% ของเงินลงทุน และในเดือนเมษายนนี้ก็จะจับปลาที่เหลืออีก 70% พร้อมกับทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งกล้วย มะม่วงจำหน่ายภายในชุมชน ซึ่งจะมีรายได้กลับคืนมาเท่ากับเงินที่ลงทุนไป

การบริหารจัดการภายในแปลงเกษตรตัวอย่าง ใช้วัสดุที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ อาหารปลาได้จากเศษอาหารที่ยังไม่เน่าเสียมาผสมกับน้ำหญ้าหวานซึ่งมีโปรตีนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ และมีแหนมาผสมด้วยส่วนหนึ่ง เพื่อลดต้นทุน ซึ่งต้นทุนอาหารปลากิโลกรัมละ 5 บาท เมื่อเลี้ยงได้ 4 เดือน ปลาตัวโตได้ขนาด สหกรณ์จะจับส่งขายสะพานปลาและส่วนหนึ่งขายให้คนในชุมชน ซึ่งขายถูกกว่าราคาตลาดประมาณ 20% เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้แก่ชาวบ้าน ขณะนี้ได้ทดลองแปรรูปปลาแดดเดียวขาย และจำหน่ายได้ราคามากกว่าปลาสดประมาณ 150%

และในอนาคตสหกรณ์จะขยายการส่งเสริมอาชีพเลี้ยงปลาให้กับสมาชิก โดยสหกรณ์จะร่วมลงทุนเพิ่มอีก 3 บ่อ และสหกรณ์จะนำปลาบึกมาอนุบาลก่อนจะขายให้สมาชิกไปเลี้ยงต่อเพื่อขยายพันธุ์ และจะพัฒนาให้บ่อปลาของสหกรณ์กลายเป็นแหล่งเลี้ยงปลาเศรษฐกิจในเขตทุ่งครุและจะเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมปลาส่งตลาด ซึ่งสหกรณ์จะพัฒนาระบบน้ำเพื่อที่จะเพาะพันธุ์ปลาเอง และจะถ่ายทอดเทคโนโลยีวิธีการเลี้ยงปลาเพื่อให้เข้ากับระบบบ่อของสมาชิกแต่ละราย

ในบ่อเลี้ยงปลาจะมีการนำน้ำหมักชีวภาพผสมลงไป และเมื่อเวลาผ่านไปจะมีการขุดลอกเลนใต้บ่อปลาขึ้นมาบนดิน ทำให้พื้นที่ในแปลงเกษตรได้รับธาตุอาหาร ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดี ที่ดินเลยถูกทิ้งร้างจะสามารถทำประโยชน์ได้มูลค่าเกิน 10 ล้านบาท และในวันข้างหน้าสหกรณ์จะขยายแปลงเกษตรออกไปเรื่อยๆ รวมถึงจะพัฒนาการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะกล้วยน้ำว้า

ปกติขายกล้วยสดหวีละประมาณ 20-30 บาท แต่ถ้ามีการแปรรูปเป็นกล้วยตาก สามารถขายส่งได้ 80 บาท ซึ่งสหกรณ์วางแผนในอนาคตทำเป็นแหล่งแปรรูปกล้วยและเชื่อมโยงเครือข่ายกับสหกรณ์ในพื้นที่อื่นๆ เพื่อส่งวัตถุดิบให้ และสหกรณ์จะพัฒนาแปลงเกษตรของสหกรณ์ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษของคนในเขตทุ่งครุและพื้นที่ใกล้เคียง ตอบสนองผู้บริโภคที่ต้องการปลา ต้องการอาหาร ต้องการผลผลิตทางการเกษตร สามารถมาซื้อจากสหกรณ์ได้ทุกวัน

ประธานสหกรณ์บริการอิสลามเนียะมะตุลลอฮ์ จำกัด ได้ฝากถึงเกษตรกรที่มีที่ดินทำการเกษตรว่า อยากให้ช่วยกันรักษาไว้ เพราะนับวันคนจะทำการเกษตรลดน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าอาชีพเกษตรกรรมนั้นยังมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้ ซึ่งจะต้องมีความตั้งใจจริง พัฒนาที่ดินไม่ให้รกร้างว่างเปล่า นำมาทำให้เกิดประโยชน์ โดยการเลี้ยงปลา ปลูกผักปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์

และเริ่มจากเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัวเราก่อน และขยายสู่การเป็นอาหารให้กับคนข้างเคียงหรือเป็นการแลกเปลี่ยนอาหารกัน วิถีเก่าๆ ที่มีการเอื้ออาทรต่อกันก็น่าจะกลับมา จากนั้นจึงค่อยต่อยอดไปถึงการรวมกลุ่มเหมือนเช่นที่สหกรณ์ทำอยู่ตอนนี้ และที่สำคัญไปกว่านั้น คือหากเราทำแปลงเกษตรได้เอง เราจะสามารถควบคุมกระบวนการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ หรือเลี้ยงปลา ไม่ให้มีสารเคมีมาปนเปื้อนได้

เพราะว่าปลาหรืออาหารที่เราไปซื้อจากตลาดหรือฟาสต์ฟู้ดต่างๆ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าของที่เราซื้อมานั้นมีสารเคมีที่บริโภคเข้าไปแล้วจะเกิดโทษต่อร่างกายหรือไม่ แต่ถ้าเราปลูกเองเลี้ยงเองเพื่อนำมาบริโภค เราสามารถควบคุมทุกอย่างได้ นี่คือสิ่งที่สหกรณ์พยายามจะถ่ายทอดให้สมาชิกและชาวบ้านในชุมชนเขตทุ่งครุได้ตระหนักและเรียนรู้ และเห็นถึงความสำคัญของการนำที่ดินที่มีอยู่มาสร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าให้กับที่ดิน โดยทำการเกษตรแบบผสมผสานและยึดแนวทางทฤษฎีใหม่มาใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต ซึ่งจะทำให้ทุกคนอยู่รอดและมีความยั่งยืนในที่สุด

เปิดตัวอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำระดับโลกงานแรกของปีนี้ กับงานแสดงสินค้านานาชาติอันดับหนึ่ง VIV Asia 2019 (วิฟ เอเชีย) ที่มีการแสดงเทคโนโลยีและสัมมนาสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์และสัตว์น้ำระดับโลก ที่ฉลองครบรอบ 33 ปี ด้วยพื้นที่การจัดงานที่ใหญ่ที่สุด ครอบคลุมปศุสัตว์และสัตว์น้ำครบวงจร ภายใต้แนวคิด “From Feed to Food” โดยปีนี้มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตอาหารสัตว์จนถึงการแปรรูปอาหารเพื่อผู้บริโภค มาจัดแสดงเต็มพื้นที่จัดงาน 30,000 ตารางเมตร

ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ ภายในงานมีบริษัทชั้นนำระดับโลก 1,245 ราย จาก 62 ประเทศในเอเชียและทั่วโลก นำสุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาโชว์แก่ผู้ร่วมงานกว่า 50,000 คน ปีนี้ยังมุ่งเน้นเรื่องขั้นตอนการเลี้ยงและการแปรรูปเนื้อสุกร รวมไปถึงด้านวิศวกรรมการผลิตอาหาร (Food Engineering business) ตลอดการจัดงานคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 18,000,000,000 บาท

ด้าน นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ และ นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้เข้าร่วมชมงาน VIV Asia 2019 ต่างชื่นชมการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นงานแสดงที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง ทั้งจากพื้นที่จัดงานที่เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนถึง ร้อยละ 30 และยังมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และความก้าวหน้าของการผลิตอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์

จนถึงการผลิตอาหาร ที่บริษัทระดับโลกนำมาจัดแสดงมากมาย อาทิ ซีพีเอฟ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาด้านปศุสัตว์และสัตว์น้ำที่ทุกหัวข้อต่างมีผู้เข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง ที่สำคัญยังสามารถนำไปสู่การต่อยอดความรู้เพื่อนำไปพัฒนาธุรกิจปศุสัตว์ได้ นอกจากนี้ มีหลายหัวข้อที่มุ่งสู่การยกระดับการเกษตรไทยผ่านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนมุ่งถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิผล ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาปรับใช้ในการจัดการฟาร์มมากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจของงาน VIV Asia 2019

หลายปีมานี้ หลายภาคส่วนต่างหันมาให้ความสำคัญเรื่อง “ขยะ” กันมากขึ้น แนวทางหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในระดับสากลว่าเป็นทางออกสำคัญที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนคือ การจัดการขยะตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แต่การที่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องมีการจัดการและเเยกขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง เพื่อให้ง่ายสำหรับการนำไปผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ดังเช่นที่ภาคประชาชนในหลายชุมชนได้ตื่นตัวและลุกขึ้นมาจัดการ “ขยะต้นทาง” อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์

ความร่วมมือของเครือข่าย “บวร : บ้าน วัด โรงเรียน” เพื่อปลูกฝังจิตสำนึก และสร้างพฤติกรรมนำขยะมาหมุนเวียนต่อยอดคุณค่า คือจุดเริ่มต้นของต้นแบบ Circular Community “โรงเรียนมีนโยบายเป็นโรงเรียนปลอดขยะ โดยร่วมกับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีที่ระยอง ปลูกฝังจิตสำนึก และสอดแทรกปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการส่งเสริมให้เด็กๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 รู้จักการซ่อมแซมของใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องตัดหญ้า คอมพิวเตอร์ เพื่อลดนิสัยบริโภคนิยม หยุดใช้โฟม ลดการใช้ถุงพลาสติก และรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าเพื่อลดขยะต้นทาง นอกจากนั้น ยังได้ร่วมกับวัดและชุมชน สร้างคุณค่าให้ขยะชุมชน เช่น ถังขยะในโรงเรียนทุกใบมาจากถังสังฆทาน

สำหรับเป็นถังขยะ 4 ประเภท ได้แก่ ไม้ พลาสติก กล่องนม และกระดาษ โดยเด็กๆ จะแยกขยะตั้งแต่ในห้องเรียน เพื่อให้สามารถนำมารีไซเคิลเป็นของใช้ได้อย่างสะดวก โดยกล่องนมนำมาแปรรูปเป็นโต๊ะเก้าอี้ของนักเรียนอนุบาล หมวก และพัด ส่วนไม้ไอศกรีมนำมาทำสื่อการเรียน และกระดาษจะนำมาปั่นแล้วทำเปเปอร์มาเช่เป็นหมวกเทวดา แล้วนำกลับไปถวายวัด เพื่อใช้ในเทศกาลต่างๆ หรือแม้แต่การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ย สำหรับปลูกต้นไม้ในโรงเรียนและชุมชน” คุณบุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโขดหินมิตรภาพที่ 42 จังหวัดระยอง กล่าว

การเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ไม่ง่ายสำหรับชุมชน แต่เมื่อเห็นประโยชน์ว่าทำแล้วช่วยลดปัญหาสุขภาพของชุมชนได้จริง จึงนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างยั่งยืน

“ที่ชุมชนมีขยะเยอะ ถังขยะจึงเยอะมากเช่นกัน และนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก ในปี 2556 ที่ผ่านมา ชุมชนจึงเริ่มขับเคลื่อนโครงการขยะร่วมกับบริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ในธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง เอสซีจี กองสาธารณสุขสิ่งแวดล้อมภาค 8 และกองสาธารณสุขของเทศบาลตำบลกรับใหญ่ ในช่วงแรกก็มีการต่อต้านจากชุมชน เพราะมีความคิดเห็นต่างกัน แต่เมื่อทำแล้วเห็นประโยชน์ จึงเกิดความร่วมมือทั้งหมู่บ้านกว่า 300 ครัวเรือน โดยแต่ละครัวเรือนจะแยกขยะเพื่อนำไปทำประโยชน์ต่อ เช่น นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักเพื่อปลูกผักปลอดภัย

และส่งจำหน่ายในชุมชนใกล้เคียงช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชน ส่วนกล่องนม ถุงน้ำยาปรับผ้านุ่ม นำไปทำหมวก แก้วน้ำและขวดพลาสติก นำไปใช้ปลูกต้นไม้ ทำให้เป็นต้นแบบของชุมชนขนาดใหญ่ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการเข้าประกวดโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ทุกวันนี้ ชุมชนของเราอยู่กันอย่างมีความสุข ไร้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและโรคไข้เลือดออก” คุณสนั่น เตชะดี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านรางพลับ ตำบลกรับใหญ่ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี กล่าว

เพราะเชื่อว่าการเริ่มต้นด้วยการทิ้งอย่างถูกต้อง ขยะจะถูกนำไปสร้างคุณค่าได้ใหม่ จึงส่งเสริมให้ชุมชนแยกขยะ “เพราะขยะคือทองคำ”

“ที่บ้านแป้นโป่งชัยไม่มีการทิ้งขยะแล้ว เพราะได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่เชียงใหม่ด้านการจัดการขยะ จึงกลับมาสร้างความเข้าใจกับชุมชนว่า การจัดการขยะไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ทุกคนต้องช่วยกันรับผิดชอบ และไม่ใช่เพียงผู้นำหรือเทศบาลเท่านั้นที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหา จากวันนั้น ชุมชนได้ลงมติให้มีการคัดแยกขยะครัวเรือนผ่านโครงการธนาคารขยะรีไซเคิล ของเทศบาลตำบลบ้านสา และเอสซีจี เพื่อให้เหลือขยะสำหรับทิ้งน้อยที่สุด ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น เศษอาหาร ใบไม้ ใบหญ้า จะไม่เผา เพื่อลดมลพิษ

ซึ่งก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ แต่นำมาทิ้งลงใน “เสวียน” คอกรอบต้นไม้ที่สานด้วยไม้ไผ่ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำให้ได้ปุ๋ยหมักธรรมชาติ ช่วยให้ดินมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอด ไม่ต้องรดน้ำ และช่วยให้ผลไม้มีรสชาติหวานขึ้น ส่วนขยะรีไซเคิลที่คัดแยกไว้ ก็สามารถนำมาทำเป็นตะกร้า พัด หมวก เพิ่มมูลค่าให้เศษขยะ หรือขายเป็นรายได้เสริม

โดยปีที่ผ่านมาทั้งหมู่บ้านสามารถขายขยะได้รวมกันกว่า 63,000 บาท ส่วนขยะอันตรายจะนำไปแลกไข่ไก่กับเทศบาลตำบลบ้านสา ความร่วมมือนี้ทำให้บ้านแป้นโป่งชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศการคัดแยกขยะ 4 ปีซ้อนจากเทศบาลตำบลบ้านสา เดี๋ยวนี้ชาวบ้านขี่รถไปเจอขวดแก้ว พลาสติกที่ไหน ต้องหยุดเก็บ เพราะขยะเหล่านี้เป็นขยะทองคำทั้งนั้น” คุณวินัย สายแปง ผู้ใหญ่บ้านแป้นโป่งชัย หมู่ที่ 9 อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง กล่าว

เพราะขยะเป็นปัญหาระดับประเทศ การแก้ไขให้ได้ประโยชน์และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจว่าปัญหาต่างๆ เป็นปัญหาส่วนรวม และต้องเกิดจากทำงานอย่างจริงจัง

“เทศบาลส่งเสริมให้ชุมชนแยกขยะเพราะมองว่าขยะมีคุณค่า แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องให้ความรู้ชุมชนต่อว่าการขายขยะโดยไม่คัดแยกจะทำให้ถูกกดราคาลง เช่น ขวดแก้ว 12 ขวด สามารถขายได้ 4 บาท แต่ถ้ามีการคัดแยกจะสามารถขายได้ 8 บาท เรียกว่ามากกว่า 1 เท่า ชุมชนจึงเริ่มเห็นคุณค่าของการแยกขยะ โดยเทศบาลส่งเสริมให้คัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย ขยะอินทรีย์ และขยะทั่วไป อีกทั้งยังได้ร่วมกับเอสซีจี จัดตั้งโรงแยกขยะ “ศูนย์จัดการวัสดุที่ไม่ใช้อย่างมีส่วนร่วมของเทศบาลตำบลบ้านสา”

เพื่อนำขยะที่ชุมชนไม่สามารถนำไปหมุนเวียนใช้ประโยชน์ได้ ไปทำเป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตของเอสซีจี นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย” คุณนภปนนท์ สุรินทร์โท ปลัดเทศบาลตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง กล่าว

เอสซีจี ยังคงเดินหน้าสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางตามแนวปฏิบัติ SCG Circular Way โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดวงจรการจัดการขยะที่สมบูรณ์ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนความยั่งยืนให้ประเทศ และสร้างโลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเวทีส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจ และต่อยอดผลการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประชาคม อาเซียนกับงาน ASAEN Next 2019

วันที่ 18 มีนาคม 2562 รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานเปิดการจัดงาน “ASEAN Next 2019 : STI Leading towards Community Happiness” โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่เจรจาเข้าร่วมงานฯ การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ระหว่างอาเซียนกับประเทศญี่ปุ่น และร่วมกันจัดทำแผนกิจกรรมความร่วมมือรายสาขาที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของประชาคม รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ในสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาคมทั้งในเชิงเศรษฐกิจที่สามารถเพิ่มรายได้ และเชิงสังคมที่ใช้ทักษะในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประชาคมได้ ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะสามารถนำไปสู่ความสุขที่ยั่งยืนในประชาคมอาเซียนต่อไป

รศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม กล่าวถึงความสำคัญของการจัดงานครั้งนี้ว่า ASEAN Next 2019 เป็นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ได้ริเริ่มและดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2017 หรือ พ.ศ. 2560 โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่างาน ASEAN Next ของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย จากประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ให้การตอบรับและเข้าร่วมจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นแรงผลักดันให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดกิจกรรม ASEAN Next 2019 ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและต่อยอดความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา

ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะผู้แทนไทยในการดำเนินความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) กับอาเซียน ได้พยายามผลักดันความร่วมมือผ่านกิจกรรม/โครงการ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นข้อริเริ่มที่เรียกว่า ASEAN STI Partnership Contribution ซึ่งให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมที่ส่งเสริมการนำ วทน. ไปใช้ประโยชน์ในวงเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปีที่ผ่านมาได้มีประเทศสมาชิกร่วมลงทุนเพิ่มอีกประเทศละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการนำ วทน. เข้ามาเป็นกลไกพื้นฐานในการนำ อาเซียนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือกิจกรรมอื่นๆ

ที่เราให้การสนับสนุนและผลักดันเสมอมา และในปี 2019 หรือ พ.ศ. 2562 นี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้รับโอกาสให้ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนหรือ ASEAN Thailand Chairmanship ในทุกๆ บริบท กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้เสนอการจัดทำแผนที่นำทาง ด้านนวัตกรรมของอาเซียน หรือ ASEAN Innovation Roadmap 2019-2025 ซึ่งเราจะใช้ Roadmap ระดับภูมิภาคนี้กำหนดแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของอาเซียน ให้ครอบคลุมทั้งระบบ การสร้างเครือข่ายรวมทั้งการเข้าถึงประชาชน และสร้างศักยภาพในการรองรับการเปลี่ยนแปลงด้าน วทน.

สำหรับการจัดงาน ASEAN Next 2019 ในครั้งนี้มีกิจกรรมที่หลากหลาย และมีหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญ ดังนี้

การจัด Forum ในสาขาด้าน วทน. ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ในการจัดทำแผนงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น ภายใต้หัวข้อ

การปฏิรูปความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.)
โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพเพื่อการเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมและศักยภาพทางการแข่งขัน โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.)
เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อนวัตกรรมทางวัตถุ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.)
เครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นกรณีศึกษาว่าด้วยผลกระทบของศักยภาพด้านนวัตกรรมไทย-ญี่ปุ่น โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.)
นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ การฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน วทน. ของ อาเซียน ได้แก่

Quality Audit for Personal Dosimetry for Individual Monitoring Service Laboratory in Southeast Asia โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)
Enhancement of capacity building for FCM testing laboratories among ASEAN member states โดย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
ASEAN Sustainable and Environmental Materials Workshop โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC)
ASEAN Workshop on Green Construction Material for Community and MSMEs โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
Railway technology for track and Rolling stock maintenance โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)
International Workshop Bioresource Centre: Connecting the Nature, Creating the Future โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)

การจัดงานในครั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีความตั้งใจและมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ระหว่างอาเซียน และกับประเทศคู่เจรจา ซึ่งในปีนี้คือประเทศญี่ปุ่น ที่จะนำไปสู่การขยายเครือข่ายความร่วมมือด้าน วทน. ร่วมกันในอนาคต รวมถึงพัฒนาบุคลากรด้าน วทน. ของอาเซียนให้ก้าวไกลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเติบโตทางเศรษฐกิจใน อาเซียนโดยไทยเป็นผู้มีบทบาทนำ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คัดเลือก 7 สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติปี 2562 และกลุ่มเกษตรกรทำนาและทำสวนดีเด่น 2 แห่ง เข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เนื่องในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ ท้องสนามหลวง พร้อมยกย่องเกียรติคุณ-เผยแพร่ผลงานดีเด่นของสหกรณ์ หวังสร้างเป็นสหกรณ์ต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วไป

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการคัดเลือกสหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2562 ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานโล่รางวัล เนื่องในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ พลับพลาที่ประทับมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 นี้ มีจำนวน 7 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรคณฑีพัฒนา จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร สหกรณ์โคนมนครปฐม จำกัด จังหวัดนครปฐม สหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด จังหวัดระยอง สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลพัทลุง จำกัด จังหวัดพัทลุง ร้านสหกรณ์โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จำกัด จังหวัดนครราชสีมา สหกรณ์เดินรถแม่สอด จำกัด จังหวัดตาก และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนโพธิ์ลอยพัฒนา จำกัด จังหวัดเพชรบุรี ส่วนกลุ่มเกษตรกรดีเด่นระดับชาติมี 2 แห่ง ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำนาเทพนคร จังหวัดกำแพงเพชร และกลุ่มเกษตรกรทำสวนบ้านนาปรังพัฒนา จำกัด จังหวัดสงขลา