สหกรณ์พังงา มอบเงินพัฒนา โครงการพัฒนากลุ่มอาชีพ

กรมส่งเสริมสหกรณ์สนับสนุนเงินงบประมาณ 144,000 บาท เพื่อจัดโครงการพัฒนากลุ่มอาชีพ กลุ่มสตรีเพื่อการส่งเสริมอาชีพบ้านโคกไคร และกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน จังหวัดพังงา โดย นางปาริชาต สุธาประดิษฐ นักวิชาการสหกรณ์ชำนาญการ รักษาการสหกรณ์จังหวัดพังงา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน มอบเงินสนับสนุนงบประมาณ ตามโครงการพัฒนากลุ่มอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มในสถาบันการเกษตรกรปี 2560 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ สนับสนุนเงินงบประมาณ เป็นจำนวนเงิน 144,000 บาท โดยให้สำนักงานสหกรณ์ จังหวัดพังงา ดำเนินการให้กลุ่มอาชีพ ในสังกัดสหกรณ์ จังหวัดพังงา ในการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ ในการผลิต 2 กลุ่ม

ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน สังกัดสหกรณ์การเกษตรทับปุด จำกัด จำนวนเงิน 72,000 บาท โดยมี นางปรีดา ทวีรส ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านเขาตำหนอน และสมาชิกเป็นผู้รับมอบ ณ บ้านเขาตำหนอน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา และกลุ่มสตรีเพื่อการส่งเสริมอาชีพบ้านโคกไคร สังกัดสหกรณ์การเกษตรทับปุด จำกัด เป็นจำนวนเงิน 72,000 บาท โดยมี นางพวงเพชร คาหาปะนะ ประธานกลุ่มสตรีเพื่อการส่งเสริมอาชีพบ้านโคกไคร และสมาชิกเป็นผู้รับมอบ ณ บ้านโคกไคร ตำบลมะลุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา เพื่อกลุ่มได้นำไปซื้อเครื่องกวนเครื่องแกง จำนวน 1 เครื่อง และบรรจุภัณฑ์

นางพวงเพชร กล่าวว่า กลุ่มสตรีเพื่อการส่งเสริมอาชีพบ้านโคกไคร หรือกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโคกไคร ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2543 จำนวนสมาชิก 50 คน เริ่มที่จะผลิต “กุ้งย่าง” เป็นผลิตภัณฑ์หลักของกลุ่มเพราะเห็นว่าตลาดมีความต้องการ ราคาสูง ทั้งยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบในชุมชน

ต่อมาได้มีการพัฒนากระบวนการผลิตมาอย่างต่อเนื่อง สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าโอท็อป ระดับห้าดาวได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อว่า ผลิตภัณฑ์กุ้งย่างตราทรัพย์สมุทร และมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง เช่น การผลิตเครื่องแกง เครื่องแกงที่ผลิตด้วยกัน 3 อย่าง คือ เครื่องแกงพริก เครื่องแกงกะทิ และเครื่องแกงส้ม จากเดิมผลิตเครื่องแกงด้วยวิธีตำด้วยมือ โดยใช้ครกหินผลิตเครื่องแกงได้ครั้งละ ประมาณ 30-60 กิโลกรัม ไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า ต่อมาทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพังงา ได้งบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้งบสนับสนุนในการซื้อเครื่องกวนเครื่องแกง ทางกลุ่มสามารถผลิตได้ถึงครั้งละ 300-400 กิโลกรัม ต่อครั้ง ทำให้กลุ่มมีกำลังในการผลิตเพิ่มมากขึ้นเพียงพอกับความต้องการของลูกค้า สำหรับตลาด ทางกลุ่มส่งขายให้กับกลุ่มร้านค้าภายในหมู่บ้านและจังหวัดใกล้เคียงซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมให้กลุ่มสมาชิกเดือนละ 5,000-6,000 บาท ต่อคน ซึ่งเป็นรายได้เสริมของกลุ่ม

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรฯ รอรับการตรวจรับรองมาตรฐานฯ เป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อลดระยะเวลาการรอคอย กระทรวงเกษตรฯ จึงปรับลดขั้นตอนการตรวจรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรับรองให้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยการขอตราออร์แกนิคไทยแลนด์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะทยอยถ่ายโอนภารกิจการตรวจสอบให้เอกชนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ผู้ผลิตที่ได้รับการรับรอง
มาตฐานเกษตรอินทรีย์สากล แล้วแต่ประสงค์จะได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของไทย
ตราออร์แกนิคไทยแลนด์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะตรวจเพิ่มเติมอีกเพียง 5 รายการแทนการตรวจใหม่ทั้งหมด 15 รายการ

ด้วยปีนี้เป็นปีแห่งการยกระดับมาตรฐานการเกษตรฯ หนึ่งในมาตรการเพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานการเกษตรของประเทศคือส่งเสริมให้เกษตรกรทำการผลิตตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์และเข้าสู่กระบวนรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าเกษตรอินทรีย์จริง ดังนั้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะขอรับการรับรอง กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งรัดการปรับปรุงกระบวนการตรวจรับรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการลดขั้นตอนการทำงาน และถ่ายโอนภารกิจตรวจรับรองให้ภาคเอกชนดำเนินการมากขึ้น เช่นเดียวกับการเร่งรัดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ให้เกิดผลเชิงรูปธรรม โดยตั้งเป้าภายในระยะเวลา 5 ปีจะต้องมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว รวมถึงผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ขอรับการรับรองให้มากขึ้น

นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่าเดิมขั้นตอนการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ และให้เครื่องหมายรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ (Organic Thailand) สำหรับเกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากลหรือมาตรฐานของประเทศอื่น เมื่อประสงค์จะขอรับตราออร์แกนิคไทยแลนด์ จะต้องเริ่มต้นนับ 1 เข้าสู่กระบวนการตรวจรับรอง เหมือนการขอรับการตรวจรับรองใหม่ แต่นับแต่นี้เป็นต้นไปจะไม่ต้องเริ่มต้นนับ 1 ด้วยการตรวจครบทั้ง 15 รายการแล้ว แต่กระทรวงเกษตรฯ จะตรวจเพิ่มเติมอีกเพียง 5 รายการ เท่านั้น ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนและประหยัดเวลาลงได้มาก

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเพิ่มเติม เรื่อง 1) เอกสารสิทธิ์ ทุกแปลงที่ขอการรับรองจากทางราชการต้องมีเอกสารหรือหลักฐานยืนยันว่าทำการเพาะปลูกบนพื้นที่ที่ถูกกฎหมาย ไม่บุกรุกป่าหรือพื้นที่สาธารณะ 2) การทำแนวกันชนกรณีพื้นที่ข้างเคียงใช้สารเคมี เช่น การปลูกพืชที่มีความสูงกั้นสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจปลิวมาจากแปลงข้างเคียง หรือทำคันดิน กั้นสิ่งปนเปื้อนที่อาจมากับน้ำหรือวิธีการอื่นๆ ที่สามารถป้องกันสารเคมี หรือสิ่งปนเปื้อนที่อาจมาทางน้ำ ทางอากาศได้ 3) ตรวจน้ำใช้หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน จะตรวจวิธีการในการลดการปนเปื้อนสารเคมี/ โลหะหนักที่อาจปนเปื้อนมา 4) ตรวจสอบให้มั่นใจว่าปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารอินทรีย์อื่นที่นำเข้ามาใช้ในฟาร์ม เป็นอินทรีย์จริง และสุดท้าย ตรวจสอบว่าไม่มีการนำของเสียจากมนุษย์มาใช้ในการผลิต โดยมาตรการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2560 สำหรับการขอตราออร์แกนิคไทยแลนด์ จะเร่งรัดกระบวนการตรวจรับรองให้กระชับและรวดเร็วขึ้น

รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวต่อไปว่า “ผู้ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกษ.9000) ของกระทรวงเกษตรฯ จะสามารถแสดง เครื่องหมายรับรอง ออร์แกนิคไทยแลนด์ ซึ่งแสดงถึงคุณภาพของสินค้าว่าได้รับการรับรองตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สร้างความมั่นใจและเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ได้เลือกซื้อสินค้าตามคุณภาพที่ตนเองต้องการ ซึ่งเกษตรกร ที่ต้องการขอรับการรับรองสามารถขอรับการตรวจรับรองได้จากกรมวิชาการเกษตร หรือ หน่วยตรวจรับรองเอกชน (CB) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)”

สำหรับการเพิ่มความสามารถในการตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ให้รวดเร็วและทันกับความต้องการนั้น ขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการอยู่ โดยทยอยถ่ายโอนภารกิจให้หน่วยตรวจรับรองเอกชนเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งกำลังศึกษารูปแบบการบริหารจัดการ การสนับสนุนงบประมาณการตรวจรับรองที่เหมาะสมที่จะขับเคลื่อนภารกิจการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำ ให้บริการการฝึกอบรม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้ รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ประเทศไทยถือเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิคที่มีศักยภาพของภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานแล้วกว่า 300,000 ไร่ และมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรอินทรีย์ปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท ได้แก่ข้าวอินทรีย์ พืชผัก ผลไม้ พืชสมุนไพร ชา กาแฟ เครื่องเทศ สัตว์น้ำ และปศุสัตว์อินทรีย์

คุณชัชพงศ์ เอมะสุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งกำกับดูแลงานด้านเกษตรกรรมของจังหวัด กล่าวถึงศักยภาพในภาพรวมของจังหวัด ว่า มีจุดแข็งที่มีแม่น้ำหลายสายไหลมาสมทบกันที่จังหวัด ทั้งแม่น้ำมูล แม่น้ำชี และแม่น้ำโขง รวมทั้งยังมีเขื่อนสำคัญให้เก็บกักน้ำไว้ในในฤดูแล้ง เช่น เขื่อนสิรินธร เขื่อนปากมูล ซึ่งทั้งสองเขื่อนเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ จึงมีน้ำต้นทุนเก็บไว้มาก และยังมีอ่างขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ

ในแต่ละปี จึงสามารถเพาะปลูกพืชไร่ พืชสวน และปลูกข้าวในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ แต่ที่จะเน้นคือ การให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะเป็นการทำเกษตรที่ยั่งยืน เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตไปเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว แทนการทำเกษตรแบบสารเคมีที่ทำให้มีต้นทุนสูง และได้ผลตอบแทนกลับมาต่ำ

ซึ่งหากสามารถสนับสนุนให้กับเกษตรกรมาใช้แนวความคิดนี้ จะเป็นตัวแก้ปัญหาด้านหนี้สินของเกษตรที่เป็นอยู่ได้ เพราะปัจจุบันรัฐบาลมีการกระจายเงินทุนใช้ประกอบอาชีพมาให้กับเกษตรกรในรูปแบบของเงินกองทุนต่างๆ หลายโครงการ และยังมีการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทำให้ปัจจุบันจังหวัดมีกลุ่มวิสาหกิจที่มีความเข้มแข็งกระจายอยู่ใน 25 อำเภอของจังหวัด มีสมาชิกกว่า 2,000 ราย

นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแปลงเกษตร โดยทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีแปลงของเกษตรกรที่เป็นแบบนี้เกิดขึ้นในหลายอำเภอ ทั้งสวนมะขามหวาน ลำไย มะละกอ หรือแปลงปลูกไม้ดอก

ซึ่งกลุ่มเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งนี้ จะเป็นตัวขับเคลื่อนสร้างมูลค่าการค้าขายด้านการเกษตรให้กับจังหวัด สำหรับการใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรความจำเป็นในระดับหนึ่ง แต่การสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรมีความจำเป็นมากกว่า เพราะเมื่อเกษตรกรมีองค์ความรู้มีความเข้าใจ ไม่มีใครที่จะทำนาได้เก่งกว่าตัวเกษตรกรเอง ดังนั้น ต้องให้เกษตรกรดึงเอาองค์ความรู้ที่มีมาตั้งแต่บรรพบุรุษออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับตัวเกษตรกรเอง

ส่วนจุดแข็งอีกประการของจังหวัดคือ มีชายแดนติดต่อค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านถึง 2 ประเทศ คือ ลาวและกัมพูชา โดยมีมูลค่าการค้าขายทั้งผลิตภัณฑ์การเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ มูลค่าเดือนละกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยเป็นผู้ได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด และในพื้นที่ยังมีโรงงานผลิตเอทานอลที่มีความต้องการมันสำปะหลังป้อนเข้าสู่โรงงานจำนวนมาก การทำไร่มันที่มีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ มีผลผลิต 2 ล้านตัน ต่อปี ปัจจุบัน ส่งเข้าโรงงานแห่งนี้เกือบ 100% จนบางช่วงต้องมีการนำเข้ามันสำปะหลังจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริม

ส่วนการค้าผลผลิตการเกษตรกร ปัจจุบัน จังหวัดมีการส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายกับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ไม่รวมถึงการส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดค้าส่งกลางที่มีอยู่ในภูมิภาคต่างๆ เพราะจังหวัดมีการเจรจาการค้าขายผ่านกลุ่มจังหวัดและต่างประเทศ

ปัจจุบัน ประเทศจีนได้มาสั่งซื้อข้าวอินทรีย์หอมมะลิอุบล ซึ่งเป็นข้าวหอมมะลิชนิดเดียวที่ปลูกได้แต่ในจังหวัดปีละกว่า 3 แสนตัน โดยมีการทำฉลากรับรองคุณภาพของสินค้า ทำให้ประเทศที่มาสั่งซื้อมีความมั่นใจในคุณภาพของข้าวชนิดนี้

สิ่งที่ต้องเร่งรัดทำให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้คือ จะมีการจัดทำฉลากรับรองคุณภาพสินค้าเกษตรกรในกลุ่มผัก ผลไม้ ของจังหวัดเพิ่มเติมจากที่มีการรับรองด้านคุณภาพของข้าวไปแล้ว โดยจะมีการเชิญนักวิชาการมาเป็นคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมาตรฐานในการส่งสินค้าไปขายในภูมิภาคอื่น หรือในต่างประเทศ เมื่อผู้บริโภคเห็นฉลากก็จะเกิดความมั่นใจในเรื่องคุณภาพของสินค้าได้ทันที ซึ่งจะสร้างมูลค่าทางการค้าพืชผลทางการเกษตรของจังหวัดได้อย่างดี

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา เจ้าหน้าที่ประมงอำเภอ และตัวแทนจากสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาเห็บน้ำระบาดหนักในทะเลสาบสงขลา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของปลากะพงขาวที่เกษตรกรเลี้ยงเอาไว้ในกระชัง ในพื้นที่ ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา อย่างหนัก โดยขณะนี้มีเกษตรกรกว่า 20 ราย ที่เดือดร้อนปลากะพงตายยกกระชัง

โดยนางสีดา ส้มตั้น ผู้เลี้ยงปลากะพงขาว กล่าวว่า ปีนี้มีเห็บน้ำระบาดหนักในรอบไม่น้อยกว่า 10 ปี สาเหตุนั้นคาดว่าเป็นเพราะในปีนี้ฝนตกมาก มีน้ำท่วมเหนือทะเลสาบสงขลาหลายครั้ง ทำให้มีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาในปริมาณมาก ทำให้เห็บน้ำเติบโตได้ดี ถือเป็นภาวะที่ผิดปกติ โดยเห็บน้ำจะอยู่ในน้ำ ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถมองเห็นได้ จะทราบก็ต่อเมื่อปลามีอาการกระวนกระวาย ว่ายน้ำไปมาผิดปกติ ซึ่งเป็นเพราะมีเห็บน้ำเกาะ ดูดเลือดในทุกส่วนของลำตัว ทำให้ปลาไม่สามารถหายใจได้ และแม้จะนำปลาไปขายทั้งที่ยังไม่ตาย แต่เมื่อชำแหละกลับพบว่า ปลามีสภาพเหมือนตายมานาน ไม่มีเลือด เนื้อซีด ทำให้ขายไม่ได้ ประสบปัญหาขาดทุนทันที

ด้านนายชัชวาลย์ อินทรมนตรี นักวิชาการประมงชำนาญพิเศษ ศูนย์วิจัยสุขภาพสัตว์น้ำสงขลา กล่าวว่า ในปีนี้ถือว่ามีเห็บน้ำระบาดอย่างหนัก เนื่องจากสภาพน้ำที่จืดลง ทำให้เห็บน้ำเติบโตได้ดีกว่าปกติ ซึ่งปกตินั้นปลาจะมีเมือกป้องกันตัวเองจากเห็บน้ำได้ แต่ขณะนี้พบว่ามีเห็บน้ำเกาะอยู่จำนวนมากในปลาแต่ละตัว ประกอบกับปลามีความอ่อนแอจากสภาพน้ำที่จืดลงอยู่แล้ว ทำให้ตายในที่สุด ส่วนแนวทางแก้ปัญหานั้นได้แนะนำให้เคลื่อนย้ายปลามาอยู่ในกระชังในบ่อดินแทนหากสามารถทำได้ รอจนกว่าเห็บจะหายไปตามธรรมชาติ แล้วค่อยนำกลับลงทะเลสาบสงขลา เมื่อสภาพน้ำกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว ประธานสมาพันธ์เกษตรกรจังหวัดสงขลากล่าวว่า เตรียมเข้ายื่นเรื่องร้องเรียนและขอให้ จ.สงขลา เข้ามาเยียวยาและหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเห็บน้ำในเร็วๆ นี้ เพื่อขอให้เร่งรัดแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบเพราะถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น โดยชาวบ้านบอกว่าปัญหานี้ไม่เคยเกิดขึ้นมานานแล้ว จะพบเห็บน้ำ หรือปลิงใส บ้างแต่ก็ไม่มากนัก ไม่เหมือนปีนี้ ที่พบเห็บน้ำจำนวนมากจนทำให้ปลากะพงตายลง จนผู้เลี้ยงขาดทุน

วันที่ 8 พฤษภาคม นายจัตุรงค์ สุวรรณะ นายก อบต. แม่สุก อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เผยว่า ในพื้นที่มีเกษตรกรชาวสวนลิ้นจี่มากกว่า 30 ราย แต่ละปีจะมีผลผลิตลิ้นจี่จำนวนมาก อบต. แม่สุก จึงกำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรด้วยการขายผ่านทางระบบออนไลน์ ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/Lychee.maesuk มีรายละเอียดเจ้าของสวน อีไลน์ชัดเจน เป็นการสั่งซื้อแบบพรีออเดอร์ สินค้าคัดเกรดพีเมียม ส่งผ่านระบบไปรษณีย์หรือคาร์โก ติดต่อโดยตรงกับลูกค้าทุกราย รับประกันความพอใจ

ลิ้นจี่ที่เปิดให้มีการพรีออเดอร์ มี 2 เกรด คือ 1. เกรด เอเอ ห่อ กิโลกรัมละ 170 บาท และ 2. เกรด เอเอ ไม่ห่อ กิโลกรัมละ 130 บาท บรรจุกล่องละ 5 กิโลกรัม ราคาดังกล่าวรวมค่าบรรจุภัณฑ์และขนส่ง ขณะนี้มียอดออเดอร์มาแล้วประมาณ 1 ต้น ลูกค้าจะทยอยได้รับผลผลิตภายในเดือนพฤษภาคม จากระบบการขายทางออนไลน์ดังกล่าวเป็นปีแรกที่ดำเนินการ มีชาวสวนเข้าร่วม 25 สวน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจเพราะได้ราคาที่เกษตรกรพอใจ ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องพ่อค้าคนกลาง

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม รศ.สุชนา ชวนิชย์ นักวิจัยภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า คณะผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาปะการัง ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศด้วยการผสมเทียม โดยจะนำไข่และสเปิร์มของปะการังที่มีการปล่อยปี 1 ละครั้ง มาผสมในโรงเพาะฟัก หลังจากการทำการผสมเทียมแล้วจะอนุบาลปะการังในระบบเลี้ยงเป็นเวลาประมาณ 2 ปี ก่อนนำกลับคืนสู่ทะเล

รศ.สุชนา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันชนิดพันธุ์ของปะการังที่นำมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์ด้วยวิธีดังกล่าวมีมากกว่า 10 ชนิด ประกอบด้วย ปะการังกิ่ง และปะการังก้อน ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปะการังที่ได้จากการเพาะผสมเทียมแบบอาศัยเพศมีความสามารถในการผลิตปะการังรุ่นหลานได้ด้วยตนเอง รวมทั้งพบว่าปะการังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี

“ผลงานวิจัยนี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูแนวปะการังในประเทศไทย และสามารถนำไปใช้เป็นทางเลือกใหม่ในการวางแผนการจัดการตลอดจนการฟื้นฟูแนวปะการังที่เสื่อมโทรมของประเทศ ที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รวมทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดโครงการความร่วมมือในการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ปะการังและการฟื้นฟูแนวปะการัง จ.ชลบุรี ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกปะการังที่นำไปฟื้นฟูในทะเลสามารถเติบโตแข็งแรงและทนต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ปะการังได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถเพาะและเลี้ยงปะการังได้อย่างครบวงจร” รศ.สุชนา กล่าวและว่า ล่าสุดได้เผยแพร่วิธีการเพาะขยายพันธุ์ปะการังแบบอาศัยเพศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และผลงานวิจัยนี้ได้รับรางวัลการเผยแพร่ผลงานวิจัยดีเด่นด้านการนำไปใช้ประโยชน์ต่อสังคมและอุตสาหกรรม สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี จากจุฬาฯ ในพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติบุคลากรแห่งจุฬาฯ ประจำปีนี้ด้วย

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัด โครงการฝึกอบรมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและมลพิษจากขยะระดับกลางน้ำให้แก่ผู้นำชุมชนตำบลตาลเดี่ยว ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และ อสม. จำนวน 100 คน ภายใต้โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการบูรณาการอย่างยั่งยืน หวังกระตุ้นให้ชุมชนนำแนวคิด/ความรู้ไปประยุกต์และปรับใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนตำบลตาลเดี่ยว เกิดเป็นชุมชนปลอดขยะในอนาคต

โดยมีเป้าหมาย เพื่อคัดเลือกและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านต้นแบบสีเขียว เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร เพิ่มมูลค่า สร้างรายได้และการนำไปใช้ประโยชน์ วว.ได้นำองค์ความรู้ด้านการวิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ โดยนักวิจัยเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยี มาเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากขยะ เมื่อได้ต้นแบบหมู่บ้านสีเขียว จำนวน 1 แห่ง แล้ว วว. ผนึกกำลังกับจังหวัด, ท้องถิ่นจังหวัดสระบุรี, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี, อปท.ในพื้นที่ และหน่วยงานเครือข่าย บริษัทภาคเอกชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ จัดทำขยายผลเป็นหมู่บ้านต้นแบบสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม (วันที่ 8 พฤษภาคม 2560 ณ ห้องประชุมสวนริมเขา จังหวัดสระบุรี)

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า นับว่าเป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ วว. จังหวัดสระบุรี และองค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว ได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการจัดการขยะและมลพิษจากขยะ ความร่วมมือเชิงบูรณาการของทั้งสามหน่วยงานในการจัดโครงการฝึกอบรมในครั้งนี้ จะสร้างความตระหนักในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชน ให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะชุมชน และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกระบวนการจัดการขยะที่ยั่งยืน ทั้งด้านการจัดทำศูนย์รวบรวมขยะภายในชุมชน การสร้างมูลค่าเพิ่มขยะชุมชนแต่ละประเภทนำไปสู่การจัดการขยะชุมชนอย่างยั่งยืนในที่สุด

“…การบูรณาการดำเนินงานนี้ถือเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนที่ถูกต้อง และเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ดีให้แก่ผู้นำชุมชน ที่ถือเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการจัดการขยะที่ต้นทางให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ กำหนดให้มีการควบคุมมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำเสีย และขยะที่เกิดจากการผลิตและบริโภค เพื่อสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีให้แก่ประชาชน โดยศึกษาแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน โดยใช้หลักการ 3Rs และขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาดให้เกิดเป็นรูปธรรม…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นายบัณฑิต เทวีทิวารักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า จังหวัดสระบุรีเป็นพื้นที่หนึ่งในอีกหลายๆ พื้นที่เป้าหมายของรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาขยะชุมชนทั้งขยะเก่าสะสมและขยะใหม่ ซึ่งมีปัญหาสำคัญคือการจัดการขยะชุมชนแบบไม่ถูกวิธี โดยการกองทิ้งกลางแจ้ง หนึ่งในบริบทนโยบายจังหวัดสะอาด 3Rs ประชารัฐ ต้องมีการจัดการขยะชุมชนโดยการมีส่วนร่วมจากหมู่บ้านหรือชุมชน โดยการคัดแยกขยะที่ต้นทางด้วยหลักการ 3Rs โดยเน้นเป้าหมาย คือ สามารถลดปริมาณขยะมูลฝอยชุมชนที่เข้าระบบการจัดการขยะ ทุกภาคส่วนในชุมชนมีการคัดแยกขยะที่ต้นทางอย่างถูกวิธี และมีการจัดตั้งจุดรวมขยะอันตราย ดังนั้นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาด 3Rs คือ การใช้องค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อลดปริมาณขยะเก่าและขยะใหม่ เพิ่มสัดส่วนขยะรีไซเคิล และสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนให้การฝึกอบรมในครั้งนี้เกิดเป็นรูปธรรม

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย นับเป็นปัญหาสำคัญและทวีความรุนแรง จากปัญหาดังกล่าวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. จึงได้อนุมัติแผนที่นำทางการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย รวมถึงระเบียบปฏิบัติในการจัดการขยะในประเทศไทย โดยเริ่มด้วยการจัดการขยะตกค้างสะสมหรือขยะเก่า นอกจากนี้กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการกำจัดขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกต้องและตกค้างสะสมในพื้นที่วิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ใน ๖ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม สระบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ และได้มีการกำหนดแผนงานลงสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อคัดแยกขยะที่ต้นทาง ในรูปแบบการขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาด

ทั้งนี้ วว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจหลักในการผลักดันงานด้าน bing-vs-google.com วทน. ไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยปัญหาขยะชุมชนจัดเป็นปัญหาหนึ่งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต่อการแก้ไขและลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม วว. ได้เสนอโครงการ “การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกในชุมชนเพื่อการ บูรณาการอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นโครงการขยายผลในการดำเนินงานทุกด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยีและการฝึกอบรม ทั้งนี้การขับเคลื่อนโครงการให้สามารถประสบความสำเร็จได้ดีต้องมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และสร้างความตระหนักต่อการคัดแยกขยะชุมชนที่ต้นทางโดยใช้ หลักการ 3Rs เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะชุมชน และขับเคลื่อนนโยบายจังหวัดสะอาดให้เกิดเป็นรูปธรรม แนวทางหนึ่งในการส่งเสริมผลสำเร็จของโครงการร่วมกับความเชี่ยวชาญด้านการถ่ายทอดงานวิจัยสู่ชุมชน เปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร เพื่อเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้ประโยชน์

โครงการฝึกอบรมเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและมลพิษจากขยะระดับกลางน้ำให้แก่ผู้นำชุมชนตำบลตาลเดี่ยว จำนวน 100 คน ดังกล่าว ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้รับการถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก วว. และเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ในหัวข้อต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ยิ่ง ได้แก่ 1.ความท้าท้ายในการเปลี่ยนขยะเป็นทรัพยากร 2.นโยบายการขับเคลื่อนจังหวัดสะอาดและการจัดการขยะที่ต้นทางโดยท้องถิ่นด้วยหลักการ 3Rs 3.สถานการณ์ขยะชุมชนและปัญหามลพิษจากขยะ 4.ธนาคารขยะและการรับทราบปัญหาและแนวทางการจัดการขยะชุมชนระดับหมู่บ้าน 5.การเพิ่มมูลค่าขยะโดยใช้ วทน. ในมิติต่างๆ เช่น การจัดการขยะชุมชนด้วยนวัตกรรม การทำถ่านหอมและเปลือกไข่ไล่มดและยุง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตก๊าซชีวภาพจากเศษอาหาร เป็นต้น

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์หรือสินค้าออร์แกนิกได้รับความนิยมมากในตลาดต่างประเทศ กระทรวงจึงปรับลดขั้นตอนการตรวจรองรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ในรูปแบบเดิม 15 รายการ เป็นตรวจเพิ่มอีกเพียง 5 รายการ โดยเกษตรกรสามารถขอรับการตรวจรับรองได้จากกรมวิชาการเกษตรหรือหน่วยตรวจรับรองเอกชน (ซีบี) ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

“นอกจากลดขั้นตอนการขอตรวจรับรองแล้ว จะขยายซีบีให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 โดยตั้งเป้าว่าจะมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ประมาณ 1 ล้านไร่ ภายใน 5 ปี” นางชุติมา กล่าวและว่า กระทรวงเกษตรฯ มีแนวคิดจะให้เงินสนับสนุนไร่ละ 2,000 บาท ในปีแรก เพิ่มเป็นไร่ละ 3,000 บาท ในปีที่ 2 และไร่ละ 4,000 บาท ในปีที่ 3 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรอินทรีย์มากขึ้น คาดว่าจะเข้าไปสนับสนุนการทำข้าวออร์แกนิกเป็นรายการแรก