สามพรานโมเดล ร่วมกับ จังหวัดนครปฐม การท่องเที่ยวแห่ง

ประเทศไทยสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการองค์กรมหาชน หรือ ทีเส็บ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล กรมการค้าภายใน บริษัท แล็บอาหารยั่งยืน ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และภาคีเครือข่ายส่งเสริมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์จากทั่วประทศ ร่วมกันจัดงานสังคมสุขใจ ครั้งที่ 6 ขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์สู่ชีวิตที่สมดุล ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ช็อปเปลี่ยนโลก” ระหว่าง วันที่ 13-15 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ณ สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม

ไฮไลต์สำคัญของงานสังคมสุขใจในปีนี้คือ การเปิดตัวแอปพลิเคชั่น Thai Organic Platform เชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือเกษตรกรอินทรีย์ กลางน้ำ คือผู้ประกอบการ และปลายน้ำ คือผู้บริโภค ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ โดยเริ่มเปิดใช้เป็นครั้งแรกในงานครั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงเกษตรกรอินทรีย์ ทราบถึงกิจกรรมการท่องเที่ยว การประชุมกลุ่ม การตรวจแปลง เข้าถึงความรู้การทำเกษตรอินทรีย์และการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม ฯลฯ

แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรตัวจริง

ยอดขายที่เพิ่มขึ้นทุกปีของตลาดสุขใจ สะท้อนการเติบโตของสังคมอินทรีย์ โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการวัตถุดิบอินทรีย์และการเรียนรู้เรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันสะท้อนความต้องการของผู้ประกอบการ องค์กร ที่ต้องการมาเรียนรู้วิถีการดำเนินธุรกิจเกื้อกูลสังคม หรือสามพรานโมเดล ที่มีการเชื่อมโยงห่วงโซ่ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของสวนสามพราน นำไปสู่การเปิดตลาดสุขใจ การขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

“ในอดีตเกษตรกรผู้ปลูกสินค้าเกษตรอินทรีย์ส่วนใหญ่ เน้นผลิตผัก ผลไม้ เพียงไม่กี่ชนิด ป้อนตลาดส่งออกเป็นหลัก ภายหลังจากเปิดตลาดสุขใจ ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสนำเสนอสินค้าผลไม้พืชผักพื้นบ้านให้แก่ผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้น และมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ต่ำกว่าปีละ 20% จึงอยากเชิญชวนให้เกษตรกร ประชาชนผู้สนใจเข้าร่วมงานสังคมสุขใจ เพื่อเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรตัวจริง เพื่อขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ สู่ชีวิตที่สมดุล ภายใต้แนวคิด ‘ช็อปเปลี่ยนโลก’ ระหว่าง วันที่ 13-15 ธันวาคม 2562” คุณอรุษ นวราช ผู้ริเริ่มการขับเคลื่อนสามพรานโมเดล กล่าว

ทุกวันนี้ ตลาดสุขใจ กลายเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกรเครือข่ายสามพรานโมเดล จำนวน 16 กลุ่ม 180 ครอบครัว เกษตรกรในจังหวัดนครปฐมและจังหวัดต่างๆ เช่น

กลุ่มเครือข่ายพี่น้อง 2 ตำบล ชุมชนแห่งนี้ปลูกผักผลไม้ผสมผสานกว่า 20 ชนิด เอาผลไม้ลงก่อน ตั้งให้เป็นแนว ใส่ผักระหว่างแนวต้นไม้ ถัดไปปลูกกล้วย ในดงกล้วยก็ทำเลี้ยงไก่อารมณ์ดี แบบธรรมชาติไว้เก็บไข่ขาย ขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำนา พื้นที่ว่างรอบคันนาก็ปลูกบวบไปด้วย และใช้พื้นที่ว่างรอบบ้านใช้เพาะพืชต้นอ่อนไว้ขาย ผลิตปุ๋ยใช้เอง เช่น ปุ๋ยมูลใส้เดือน ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากมูลวัว มูลสุกร เป็นต้น

กลุ่มบางช้าง มีจุดเด่นด้านพืชสมุนไพร ผลไม้อินทรีย์ คุณประหยัด ปานเจริญ หัวหน้ากลุ่มเกษตรอินทรีย์บางช้าง ผู้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการทำสวนผลไม้อินทรีย์ โดยใช้เวลานานกว่า 10 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม พาครอบครัวหลุดพ้นวงจรเคมีสู่วิถีอินทรีย์ยั่งยืน สามารถปลดหนี้ และได้โฉนดคืน อีกทั้งยกระดับตัวเองสู่เกษตรกรอินทรีย์ต้นแบบหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายสามพรานโมเดล

กลุ่มคลองโยง ผลิตข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวหอมนิล พืชผักอินทรีย์ ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM ที่นี่ปลูกพืชแบบยกร่องรอบแปลงเพื่อกักน้ำและป้องกันน้ำที่ปนเปื้อนสารเคมี โดยรูปแบบแปลงจะวางแนวไปตามตะวัน เพื่อให้แสงแดดช่วยพืชปรุงอาหารและช่วยฆ่าเชื้อโรคไปในตัว ที่นี่ปลูกพืชผักอินทรีย์กว่า 20 ชนิดโดยปลูกแบบหมุนเวียนกันไป ได้แก่ ตะไคร้ ข่า พริก คะน้า ผักชีฝรั่ง กวางตุ้ง กล้วย โหระพา ถั่วพู ผักบุ้งจีน ผักสลัด ฝรั่ง ฯลฯ

ก่อนปลูกเกษตรกรจะเก็บตัวอย่างดินไปวิเคราะห์ปริมาณธาตุอาหาร และปรับปรุงโครงการสร้างดินด้วยปุ๋ยคอกที่ได้จากมูลสัตว์ ทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองโดยนำเศษใบไม้ในพื้นที่ผสมกับแกลบเผา รำข้าวและมูลสัตว์มาหมักกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ส่วนน้ำหมักก็จะใช้เศษปลา เศษผักหมักกับน้ำตาลทรายแดงกับสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ไว้ฉีดเพื่อสร้างความร่วนซุยให้พืช ส่วนเมล็ดพันธุ์ผักที่ใช้ปลูกต้องนำไปล้างน้ำร้อนอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส นาน 30 นาทีก่อนจึงนำขึ้นมาคลุกกับกากสะเดาก่อนแล้วนำไปหว่านลงแปลง

นอกจากนี้ รอบแปลงจะมีการปลูกพืชสมุนไพรที่ช่วยกันแมลง เช่น พริก ข่า ตะไคร้ กะเพรา โหระพา มะกรูด ฯลฯ พืชสมุนไพรพื้นบ้านจะถูกนำมาหมักด้วยสารเร่งซุปเปอร์พด.7 เพื่อใช้เป็นสมุนไพรไล่แมลงในแปลงเพาะปลูกพืชต่อไป

กลุ่มหอมเกร็ด ภายใต้การนำของ ลุงอุบล การะเวก ชุมชนแห่งนี้มีชื่อเสียงในฐานะแหล่งผลิตส้มโออินทรีย์ และเชี่ยวชาญด้านผลิตกิ่งชำพันธุ์ไม้ เช่น มะพร้าว มะนาว กล้วยหักมุก กล้วยนาก ฯลฯ สวนส้มโอระบบอินทรีย์ในชุมชนแห่งนี้ หลังเลิกใช้ปุ๋ยเคมีสามารถ ลดต้นทุนได้ราว 80- 90% เกษตรกรบำรุงต้นส้มโอโดยใช้ปุ๋ยน้ำหมักมูลสุกรที่ผลิตจากมูลสุกรแห้ง 1 กก.ต่อน้ำ 7 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 วัน 1 คืน แล้วตักตะกอนขึ้นมาเก็บไปใส่โคนต้นส้มโอต่อ หลังจากนั้น ทิ้งน้ำหมักไว้ 1 เดือน เพื่อให้หมดก๊าซ จากนั้นนำไปผสมน้ำ 20 ลิตร เพื่อใช้รดโคนต้นส้มโอทุกๆ 15 วัน และใช้สารชีวภาพฉีดป้องกันเพลี้ยไฟแดง โดยผสมรวมกันกับน้ำหมักมูลสุกรฉีดพ่นเพื่อประหยัดแรงงาน

นอกจากนี้ เกษตรกรยังใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาป้องกันรากเน่าโคนเน่าในสวนส้มโอ โดยนำมาเพาะเชื้อเองให้อาหารเป็นรำข้าว จากเชื้อราเพียงน้อยนิดเมื่อได้รำข้าวจะแพร่กระจายไปได้เร็ว นำมาผสมน้ำฉีดจะฉีดก่อนเข้าช่วงหน้าฝน ผสมกับน้ำมูลสุกรเช่นกันรดไปทีเดียว สารชีวภาพเหล่านี้ไม่ได้ทำให้แมลงตาย แต่จะทำหน้าที่ควบคุมแมลงศัตรูพืชไม่ให้ขยายพันธุ์ ที่คุมได้อยู่คือเพลี้ยไฟ ไรแดง ส่วนปัญหาโรคหนอนชอนใบใช้เชื้อราบิวเวอเรีย การเลือกใช้ธรรมชาติมาดูแลต้นส้มโอ ตั้งแต่เริ่มต้นปลูกทำให้อายุของต้นส้มโอยืนยาว สมุนไพรที่ทำน้ำหมักชีวภาพต่างๆ ก็ทำได้เองราคาไม่สูง หักค่าน้ำมัน ค่าไฟแล้ว เงินที่เหลือก็คือ กำไรก้อนโตนั่นเอง

“ไม่มีความจนในหมู่คนขยัน” คำพังเพยที่มีมานาน เพื่อปลุกเร้าอารมณ์กระตุ้นเพื่อให้กำลังใจ ของคนที่พบชะตากรรมความลำบาก ยากเข็ญ ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความอยู่รอดไปวันต่อไป

ประสบการณ์ในชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จขึ้นมา มีบางรายที่เคยยากจน อดมื้อกินมื้อมาตั้งแต่เด็กจนเคยชิน พวกเขาสำนึกถึงโชคชะตาที่ผ่านพ้นมาอย่างน่าทุรนทุราย กว่าจะมีวันนี้ได้แทบเลือดตากระเด็น
เมื่อหวนรำลึกถึงในอดีต กว่า 70 ปี ที่เขาจำความได้อย่างแม่นยำเลยทีเดียว ฟังเขารำลึกถึงความหลังของลูกผู้ชายชื่อดำ “ผมเกิดมาเป็นลูกคนจน พ่อแม่ฐานะยากจน ผมต้องออกจากโรงเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อมารับจ้างเก็บผลไม้เพื่อประทังชีวิต และความอยู่รอดของครอบครัว จากรายได้ค่าแรงเก็บผลไม้”

น้ำเสียงของ “ดำ น้ำหยด” หรือ คุณจรวย พงษ์ชีพ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อกว่า 30 ปี หลังจากเขาประสบความสำเร็จในการใช้ระบบน้ำหยด เมื่อ 40 ปีก่อน ที่จังหวัดจันทบุรี แหล่งผลิตผลไม้ที่ลือชื่อมาช้านาน

จวบจนเมื่อปีที่ประสบวิกฤติภัยแล้ง ต้นผลไม้ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเงาะ ทุเรียน ลองกอง หรือมังคุด ต่างขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง น้ำที่เคยมีเก็บไว้ก็แห้งขอด สัตว์เลี้ยงยังมีตายตามต้นไม้ด้วย จนทางราชการต้องขนน้ำไปช่วยราษฎรไว้บริโภคดื่มกินอย่างน่าอเนจอนาถแต่ก็มีบางส่วนที่เล็ดลอดจากความหายนะ แห้งแล้งก็มีบ้าง และรอดตายอย่างหวุดหวิดก็เกิดขึ้นจากสมองมนุษย์ที่เคยยากจน ไม่มีเงินเรียนหนังสือ หนทางการแก้ไขความวิกฤติครั้งนี้ เขาล่ะ คุณจรวย พงษ์ชีพ ที่พยายามแก้ไขสวนผลไม้ที่กำลังจะโรยราจากเพื่อนตายพร้อมๆ กัน กล่าวคือ“เพราะต้นไม้ขาดน้ำไม่ได้ฉันใด ชีวิตก็คงมอดม้วย”

ความเสียดายและกลัวว่าจะหมดอาชีพการทำสวนผลไม้ คุณจรวยบอกพรรคพวกที่รอน้ำอยู่ในสวน ให้หากระป๋อง หรือภาชนะที่รองน้ำได้ หรือขวดน้ำที่เป็นพลาสติก นำมาเจาะรูทุกขวดเพื่อบรรจุน้ำที่มีเพียงนิดน้อย เพราะความแล้ง ต้องประหยัด ถ้าหากขืนใส่กระป๋องรดจนหมด ต้นไม้ก็ได้น้ำไปไม่ทั่วถึง อาจล้มตายเกือบหมดสวนก็ว่าได้

เขาใช้วิธีเจาะรูที่ภาชนะเพื่อให้น้ำหยดออกมาเพื่อประทังความหิวของต้นไม้ เพื่อให้น้ำไหลหยดออกมาครั้งละนิด แต่ออกทั้งหมดไม่ได้ เพื่อรักษาความชื้นของดินไม่ให้แดดเผามากไป ชาวสวนช่วยกันคนละไม้คนละมือเพื่อหาขวดน้ำหรือภาชนะไปไว้อย่างละต้น ต้นใหญ่ๆ ก็ใส่น้ำขวดมากหน่อย เฉลี่ยกันไป เพื่อไม่ให้ต้นไม้ยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ และต้องมาเสียเวลามาปลูกใหม่

การใช้น้ำที่มีอยู่น้อยและใช้อย่างประหยัดจนเกิดผลดีกับต้นไม้และเจ้าของสวนผลไม้ที่กอบกู้สวนไม่ให้ยืนต้นตายอย่างที่เกิดขึ้นกับสวนทั่วไป กระทั่งในที่สุด ความคิดอันแยบยลของคุณจรวย พงษ์ชีพ จึงสำเร็จขึ้นมา ทุกคนที่ปฏิบัติตามเขาบอกเล่า ต่างรอดตายและพ้นวิกฤติลงได้ และเสียหายน้อยที่สุด ความสำเร็จครั้งนี้ทำให้ชาวสวนหลายรายยกย่องเขาให้เป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่” ทันที ในแถบอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

นี่คือที่มาของ “ดำ น้ำหยด” ชื่อเดิมเป็นชื่อ ดำ หรือ นายดำ ทำน้ำหยดของต้นไม้รอดมาได้ ทุกคนขนานนานว่า “ดำ น้ำหยด” หรือบางคนก็เรียกว่า พี่ดำ หรือ ลุงดำ ตามอัธยาศัย

นับตั้งแต่นั้นมา เขาเริ่มคิดค้นทำระบบน้ำชลประทาน โดยวิธีทำท่อน้ำพีวีซี มาดัดแปลงทำหัวน้ำเหวี่ยง มีแรงดันน้ำโดยจำลองระบบหัวสปริงเกลอร์เพื่อกระจายน้ำไปรอบๆ ตัว แบบอย่างต่างประเทศ ที่อิสราเอล เพื่อศึกษาค้นคว้าจนประสบความสำเร็จ เขาเริ่มสร้างหัวเหวี่ยงระบบน้ำแล้วฝังท่อน้ำ พีวีซี ติดหัวสปริงเกลอร์ติดตั้งระบบน้ำชลประทาน นำออกมาจำหน่าย

โดยตั้งโรงงานอยู่ที่บ้าน สมัยแรกๆ ทำแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน จนสามารถเก็บเงินทุนมาได้เพื่อสร้างโรงงานระบบน้ำชลประทานหัวสปริงเกลอร์ สร้างแบบไทยทำ ไทยใช้ เป็นที่นิยมสำหรับชาวสวนทั่วไป พร้อมรับติดตั้งให้ด้วย คุณภาพ แข็งแรง ทนทาน และราคาถูกกว่าของต่างประเทศ นี่คือผลงานของพี่ดำ น้ำหยด ราชาระบบน้ำ

ความโด่งดังของคนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ความรู้เท่านี้สามารถช่วยเหลือให้ชาวสวน ชาวไร่ หันมานิยมใช้ระบบน้ำชลประทานของ ดำ น้ำหยด จนมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วไทย ต่อมาเขาได้รับพระราชทานรางวัลจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2533 “คนไทยตัวอย่าง”!!ในรุ่นนี้ มีอดีตนายตำรวจใหญ่ได้รับด้วย พล.ต.อ. เสรี เตมียเวส ได้รับรางวัลด้วยในฐานะคนไทยตัวอย่าง ขณะนั้นยังเป็นตำรวจตำแหน่งยศ พ.ต.ท.

หลังจากนั้น นอกจากจะทำธุรกิจระบบน้ำชลประทานที่มอบให้ลูกชายทำเป็นธุรกิจ ตั้งโรงงานอยู่ที่อำเภอขลุง ส่วนตัวเองต้องดูแลสวนผลไม้ เพราะความคิดของลุงดำ ตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยชรา 84 ปี ความคิดความอ่านยังโลดแล่นไม่แพ้ชายวัยรุ่น

พูดง่ายๆ ว่า เขาเห็นขยะเป็นทองไปหมด เขารู้คุณค่าของมันเป็นอย่างดี สวนทุเรียน มังคุด เงาะ เขาใช้ปุ๋ยจากกิ่งไม้ ใบไม้ เศษหญ้า เขาซื้อเครื่องบดกิ่งไม้ เอามาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เศษกิ่งไม้ในสวนเขาเก็บมาหมด เพื่อนำมาใช้เป็นปุ๋ย

ต้นไม้ในสวนเขาจะปลูกต้นกาแฟในที่ที่ห่างกัน ใช้ต้นโกโก้และกาแฟมาแซมปลูกเป็นรายได้เสริมให้ลูกจ้าง แม้ราคาไม่สูงแต่ก็ทำเงินได้ไม่น้อยทีเดียว บริเวณที่ในสวนเขาขุดบ่อน้ำเป็นแหล่งเก็บน้ำในยามแล้ง เลี้ยงปลา กุ้งฝอย ให้ลูกจ้างจับกินเป็นอาหาร

ความมีชื่อเสียงและเถรตรง เขาจะไปบรรยายให้เกษตรกรฟังจากประสบการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต ความเป็นพิธีกรจากชาวสวนอาชีพ ความรู้น้อย แต่หารู้ไม่ว่า นักวิชาการระดับจบมาจากต่างประเทศ เจอแล้วจะทึ่งเพราะสิ่งที่นำมาเล่าและพบมาเป็นสิ่งที่เกิดจริง จะมาขัดแย้งเขายากมาก จนบางครั้งลุงดำสอนมวยไปก็มี

ความเป็นห่วงใยเกษตรกรที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองก็จะเล่าให้เกษตรกรฟัง ผลผลิตน้อย เสียเวลา อย่างพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ต้น “ฟักข้าว” เขานำมาจากเวียดนาม ลูกใหญ่ มาเพาะเมล็ดแล้วขยายพันธุ์ให้เกษตรกรรายภาคนำไปปลูก เพราะของไทยผลเล็กกว่ามาก เมื่อส่งไปให้ผู้นำเกษตรกรแล้วต่างพอใจเมื่อปลูกแล้ว

ความเป็นปรัชญาชาวสวน เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ลุงดำได้ซื้อรีสอร์ตที่เกาะช้าง จังหวัดตราด ราคาหลายล้านบาท พอซื้อมาได้ มีเจ้าของบริษัทการบินแห่งหนึ่งของไทยขอซื้อต่อโดยให้ราคาเป็นสองเท่าตัว ลุงดำคอยปฏิเสธไปเพราะต้องการให้ลูกสาวที่เรียนจบมาจากต่างประเทศเข้ามาบริหาร เพราะเรียนมาโดยตรง

เมื่อมาพัฒนารีสอร์ต ที่ชื่อ “เกาะช้าง พาราไดซ์รีสอร์ต” ได้ไม่นาน มีปัญหาพื้นล่างบริเวณห้องน้ำที่ไหลลงข้างล่าง ไหลเฉอะแฉะจนน้ำเจิ่งนองบนพื้นล่างที่เป็นดิน ต้องให้วิศวกรมาแก้ไข หมดไปหลายช่าง จนหมดปัญญาที่จะแก้ไขให้หายลงได้

กระทั่งพอลุงดำได้ข่าวมาจากลูกสาวก็รีบไปดูปัญหาจริง จะแก้ไขอย่างไร ความคิดของคนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ได้นึกถึงต้นปาล์มทันที เพราะปาล์มน้ำมันต้นใหญ่ๆ มันดูดน้ำเก่ง จึงตัดสินใจให้พรรคพวกที่ภาคใต้ขนส่งต้นปาล์มน้ำมันต้นใหญ่ นำมาปลูกต่อทันทีโดยไม่ต้องรอให้ต้นโตแบบเรียนลัด เพื่อช่วยดูดน้ำที่ขังไว้ใกล้หมด

เพียงลงต้นไม่กี่เดือน พอต้นปาล์มตั้งตัวได้มันจะดูดน้ำใต้ดินจนแห้งขอด ด้วยวิธีใช้ปาล์มน้ำมันดูดน้ำบริเวณที่กักขังพื้นน้ำท่วมแฉะจนแห้งสนิท นี่คือปรัชญาชาวสวน หนามทิ่มต้องใช้หนามบ่ง ขืนรอให้ช่างวิศวะมาแก้ไข ลูกค้าคงไม่มาพักแน่

เกร็ดความรู้ของลุงดำมีรอบตัว เหมือนพจนานุกรมต้นไม้ที่หยั่งรู้วิธีของมัน จะว่าเช่นปราชญ์ต้นไม้ก็ว่าใช่นะ ด้วยวัย 84 ปี ที่ผ่านโลกมานานในการอยู่กับเกษตรไม้ผลมาตั้งแต่เด็ก

ผู้เขียนเคยเข้าไปในสวนผลไม้ ลุงดำพาไปหาต้นเงาะ เพียงเพื่อจะบอกว่าต้นเงาะสีแดง เขาเปลี่ยนพันธุ์มาใช้เป็นเงาะสีเหลืองได้ เขาเคยขนมาขายที่กรุงเทพฯ ได้ไม่กี่ครั้ง เพราะสีเหลืองของเงาะมันจืดตากว่าเงาะสีแดง ผู้บริโภคเลยหันมาหาสีแดงกันใหม่ ด้วยความเคยชิน ใหม่ๆ เงาะสีเหลืองจะเป็นของแปลกตา

ว่ากันไปแล้ว ลุงดำ หรือ คุณจรวย พงษ์ชีพ เป็นคนพูดตรง บางครั้งเราเรียกว่าขวานผ่าซาก ในวงการราชการหรือข้าราชการทำอะไรได้โปร่งใส แม้แต่ในท้องถิ่น ลุงดำจะตำหนิอย่างรุนแรง เพราะความเถรตรงในนิสัยของตัวที่เกลียดระบบการคอร์รัปชั่นที่ไม่โปร่งใส

ความไม่เกรงกลัวอิทธิพลใดๆ ของใคร ถ้าไม่ผิดลุงดำจะสู้หลังชนฝาเลยทีเดียว จนเป็นที่เกรงอกเกรงใจของคนในท้องถิ่นจนถึงข้าราชการ
ถ้าพูดเรื่องผลไม้ทุเรียน ลุงดำคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก รับจ้างเขาเก็บมาเป็นค่าขนม เขาชำนาญการเก็บมาตั้งแต่ยังเล็กๆ

ในสมัยก่อนเขาสนใจต้นสะละ เคยไปดูงานที่ประเทศอินโดนีเซีย ความดังของสะละอินโด มีชื่อเสียง เขารวบรวมพันธุ์จากอินโดนีเซีย เรื่องที่จะเล่าให้ฟังความอยากได้สะละที่หอม หวาน เขาได้พันธุ์มาปลูก และขายได้ราคาดี แต่ได้ไม่นานสิ่งที่ดีที่สุดคือสะละของไทย ลุงดำ บอกว่า “สะละเนินวง” ของเราดีที่สุด หอม หวาน เป็นเรื่องเล่าสู่กันฟังจนเป็นตำนาน

ยามวัยชรา พี่ดำ หรือลุงดำ ยังแข็งแรง และกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ทรัพยากรธรรมชาติของชาติเราถูกพวกเราทำลายไม่มีอะไรจะเหลือ พวกเราเกิดมาทั้งทีก็จะต้องช่วยกันดูแลรักษาผืนแผ่นดินไว้ และต้องหวงแหนเอาไว้ และช่วยกันปลูกทดแทนป่าไม้ที่ถูกทำลายลงให้ชนรุ่นหลังไว้พักอาศัย และศึกษาค้นคว้าก่อนมันจะไม่มีอะไรที่เหลือให้ดูต่อไป

ถึงแม้จะเข้าสู่วัย 84 ปี ลุงดำยังกระชุ่มกระชวยออกไปตรวจงานที่สวนเสมออย่างคนมีความสุข โรงงานทำระบบน้ำชลประทาน มีลูกชายควบคุมดูแล และจำหน่าย ส่วนรีสอร์ตเกาะช้าง พาราไดซ์ ก็มีลูกสาวเป็นผู้จัดการ นานๆ ลุงดำก็จะไปเยี่ยมดูสักครั้ง ต้นไม้ประดับในรีสอร์ตมีเนิร์สเซอรี่เก็บต้นไม้ไว้ทดแทนใช้ในรีสอร์ต โดยฝีมือลุงดำ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปซื้อที่ตลาดนัดจตุจักรให้เปลืองเงินและแพงด้วย เรามาขยายพันธุ์ไว้พอเพียง ถ้าไม่ใช่ “ปรัชญาชาวสวน” ระดับขั้นเทพ แล้วจะเรียกว่าอะไร เมื่อเห็นขยะเป็นทองขึ้นมา ทุกอย่างใช้ได้เป็นประโยชน์หมด นี่คือสัญลักษณ์ของคนจนมาก่อน ย่อมจะรู้ว่าเป็นอย่างไร

ใครสนใจระบบน้ำ หรือสวนไม้ผล อยากปรึกษากับลุงดำ ติดต่อได้ที่ คุณจรวจ พงษ์ชีพ หรือ ดำ น้ำหยด เลขที่ 25 ถนนเทศบาลสาย 7 ตำบลขลุง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี 22110 โทร. (039) 441-194 ร้าน (039) 441-868

“สับปะรด โดยทั่วไปจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่ายปีละครั้ง แต่ผมสามารถทำสับปะรดนอกฤดู ขายผลสดคุณภาพ ออกสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี” เป็นความภาคภูมิใจของ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สับปะรด) จังหวัดลำปาง

เคล็ดลับการทำสับปะรดนอกฤดู
เกษตรกรโดยทั่วไปที่ปลูกสับปะรด จะเริ่มปลูกลงหน่อพร้อมกันทั้งแปลง และอีกประมาณ 12-16 เดือน ก็จะเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายสู่ตลาดพร้อมกัน ทำให้ผลผลิตมาก ราคาไม่ดี ถึงแม้จะนำไปแปรรูปก็ไม่ทัน เกิดการเน่าเสีย เป็นปัญหาและความเสี่ยงของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ทำอย่างไร จะทำให้สับปะรดกระจายออกสู่ตลาด ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้ตลอดทั้งปี ไม่กระจุกออกพร้อมกัน เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับ คุณเอก หรือ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ วัย 42 ปี และหลังจากการทดลองทดสอบอยู่ 3 ปี ก็ได้คำตอบคือ การทำสับปะรดนอกฤดู โดยทยอยปลูก ทยอยเก็บ สำหรับเคล็ดลับการทำสับปะรดนอกฤดู มีวิธีการดังนี้

การเตรียมดิน จะไถกลบ 2-3 รอบ สังเกตถ้าหญ้าหรือวัชพืชขึ้น แสดงว่าดินดี ที่ตรงไหนหญ้าหรือวัชพืชไม่ขึ้น แสดงว่าดินไม่ดี ต้องเติมปุ๋ยหรือธาตุอาหาร เพื่อปรับปรุงดินให้สมบูรณ์ จากนั้นก็ตีแปลง ขนาด 2 เมตร เว้นระยะระหว่างแปลงเป็นทางเดิน 100 เซนติเมตร (ใช้แผ่นไวนิลเก่าปูทางเดิน จะช่วยคลุมวัชพืชได้เป็นอย่างดี) และคลุมแปลงด้วยพลาสติกดำ ความหนา 70 ไมครอน เพื่อเก็บความชื้นในดินและป้องกันวัชพืชในแปลง พลาสติกสามารถใช้ได้นานถึง 5 ปี

การปลูก แปลงละ 5 แถว ระยะระหว่างแถว 40 เซนติเมตร ระยะระหว่างต้น 30 เซนติเมตร ใช้เครื่องมือที่ประยุกต์ใช้เองเจาะพลาสติกที่คลุมแปลงเป็นหลุม พร้อมกับให้น้ำ แล้วนำหน่อสับปะรดลงปลูก ลักษณะแบบหลังเต่า โดยใช้หน่อที่สูงปลูกแถวกลาง หน่อที่ต่ำกว่าปลูกไล่ลงไปทั้ง 2 ข้างของแปลง พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ 15 แถว แถวละ 665 ต้น รวมทั้งหมดปลูกได้ 9,975 ต้น ต่อไร่

การปลูกแบบนี้จะตั้งตัวได้เร็ว สมัครยูฟ่าเบท เพราะได้น้ำตั้งแต่ปลูกและได้รับแสงแดดสม่ำเสมอทั่วแปลงทุกต้น ทำให้สับปะรดเจริญเติบโตรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะระบบสังเคราะห์แสงเพื่อปรุงอาหารของพืชมีประสิทธิภาพสูง เมื่อปลูกแบบนี้ไปแล้ว 6 เดือน สามารถใช้สารแคลเซียมคาร์ไบด์กระตุ้นการออกดอกได้ และอีก 6 เดือน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจำหน่าย จากหลักการนี้เมื่อนำมาวางแผนการผลิต ทยอยปลูกแถวเว้นแถว หรือแปลงเว้นแปลง ก็สามารถกระจายผลผลิตให้ออกตลอดทั้งปี หรือทำสับปะรดนอกฤดูได้ แต่ต้องมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ

การดูแลรักษาและทำคุณภาพ ระบบให้น้ำ จะใช้สปริงเกลอร์พร้อมกับปุ๋ยน้ำหมักนมสดที่ผสมกับเนื้อสับปะรด ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา และแรงงาน ในระยะที่ติดผลได้ประมาณ 2 เดือน จะใช้แผ่นไวนิล ขนาด 12×12 นิ้ว เจาะรูตรงกลาง สวมใส่เป็นหมวกให้สับปะรด โดยให้จุกโผล่รับแสงแดดเพื่อสังเคราะห์แสงเพิ่มธาตุอาหารบำรุงผลให้มีความหวานหอมนุ่มลิ้นตลอดทั้งลูก และทำให้ผิวสวยงาม ตาเต่งทุกตา ผลโตสม่ำเสมอ ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่น้ำหนัก ขนาด 1-1.5 กิโลกรัม ต่อผล และที่สำคัญสามารถเก็บไว้ได้นานเกือบ 1 เดือน

วิธีการนี้จะแตกต่างจากเกษตรกรทั่วไป ที่นิยมรวบใบมัดห่อผลสับปะรด ทำให้ความหวานไม่สม่ำเสมอทั้งลูกเพราะระบบการสังเคราะห์แสงไม่ทั่วถึง อีกทั้งเสียเวลาและค่าแรงงาน

การตลาด ราคาผลผลิตที่จำหน่าย เฉลี่ยลูกละ 25 บาท จำหน่ายโดยตรงที่สวนและร้านค้าของตนเอง ทั้งปลีกและส่ง ทางห้างสรรพสินค้าและตลาดออนไลน์ โดยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรูปตลาดประชารัฐ

ว่าที่ร้อยตรี ดร. สมสวย ปัญญาสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สับปะรดของคุณเอก “ผิวสวย ตางาม อกเต่ง เนื้อเต็ม หอมหวาน นุ่มลิ้น” ใครที่ได้ชิมลิ้มลองแล้วจะติดใจในรสชาติ ซึ่งแตกต่างจากสับปะรดทั่วไปคือ มีรสชาตินมสดและแตงโม

เกษตรกรที่สนใจทำสับปะรดนอกฤดูหรือสับปะรดคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณกฤษณะ สิทธิหาญ เกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer ผู้ปลูกสับปะรด เจ้าของแปลงเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (สับปะรด) บ้านวังเลียบ หมู่ที่ 5 ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โทร. (084) 042-9847 หรือ (084) 772-9190 ทางศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) แห่งนี้ พร้อมที่จะให้ความรู้ และขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นในยุคไทยแลนด์ 4.0