สารคามติวเกษตรกรรู้ทันเล่ห์พ่อค้าโกงตาชั่งพาณิชย์จังหวัด

มหาสารคามจับมือศูนย์ชั่งตวงวัดขอนแก่น ติวเข้มกฎหมายชั่งตวงวัด หวังให้เกษตรกรรู้ทันกลโกงพ่อค้าหัวใส เผยมีเครื่องชั่งไฟฟ้าที่ใช้รับซื้อข้าวเปลือก ยางพารา แอบใช้รีโมตกำหนดน้ำหนักเองได้ กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 300 เครื่อง ระบาดหนักสุดในภาคอีสาน
ปัญหาใหญ่ที่เกษตรกรชาวไร่ชาวนาประสบอยู่ทุกปีเมื่อนำพืชผลการเกษตรไปขายให้พ่อค้าคือ การถูกโกงตาชั่ง เนื่องจากเกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายชั่งตวงวัดรวมทั้งไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของพ่อค้าว่าถูกโกงตาชั่งอย่างไร

กรณีดังกล่าว ทางศูนย์ชั่งตวงวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ขอนแก่น) ได้ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมหาสารคาม จัดฝึกอบรมโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยกฎหมายชั่ง ตวง วัด เพื่อให้เกษตรกรรู้ทัน รู้ราคา รู้รายได้ ไม่ถูกโกง โดยผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมในครั้งนี้ ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา จาก 13 อำเภอ ในจังหวัดมหาสารคาม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองประจำพื้นที่

นายสุชาติ สินรัตน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า โครงการอบรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรด้วยกฎหมายชั่งตวงวัด มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ เทคนิคการใช้เครื่องชั่ง ตวง วัด ในการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกร เช่น เครื่องชั่งสปริง เครื่องชั่งรถยนต์ เครื่องชั่งความชื้นข้าวเปลือก เครื่องชั่งวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันสำปะหลัง เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้ทราบถึงลักษณะเทคนิคการใช้ที่ไม่ถูกต้อง และมีการเอารัดเอาเปรียบ การฝึกอบรมประกอบด้วยการบรรยายและการสาธิตด้วยเครื่องชั่งตวงวัด ของจริงที่พบการกระทำผิดในคดีมาสาธิต แสดงให้เห็นถึงวิธีการแก้ไขน้ำหนัก การหักความชื้น และสิ่งเจือปนเพื่อเอาเปรียบ คาดหวังว่าเมื่อเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเทคนิคการโกงตาชั่งแล้ว จะทำให้ปัญหาการโกงตาชั่งลดน้อยลงไป

ผู้สื่อข่าวรายงานพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้มีการแนะนำตัวอย่างเครื่องชั่งที่นิยมใช้ในปัจจุบัน อาทิ เครื่องชั่งสปริงที่นิยมใช้ในตลาดสด ร้านขายของทั่วไป ซึ่งเครื่องชั่งแบบนี้ตามกฎหมายกำหนดให้มีสองหน้าปัด หากเป็นแบบหน้าปัดเดียว

หรือเครื่องชั่งทำจากพลาสติกห้ามใช้ชั่งซื้อขาย และสิ่งที่ผู้บริโภคต้องดูคือที่หน้าปัดสองด้าน เข็มต้องชี้เลขศูนย์ ปลายเข็มต้องไม่หัก หรือนำสินค้ามาวางบังหน้าปัด และจะต้องดูว่ามีเครื่องหมายเป็นรูปขอบนอกตราครุฑจากพนักงานเจ้าหน้าที่

แต่ที่น่าห่วงมากที่สุดคือ เครื่องชั่งไฟฟ้าที่ใช้สำหรับรับซื้อพืชผลการเกษตร อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา โดยแอบใช้รีโมตบังคับ ซึ่งจะกำหนดน้ำหนักเท่าไรก็ได้ ขณะนี้พบว่ากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 300 เครื่อง สามารถตามจับได้ประมาณ 5-6 เครื่องเท่านั้น ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน เนื่องจากเกษตรกรอีสานส่วนใหญ่ยังไม่รู้เทคนิคการโกง

ทั้งนี้เมื่อนำสินค้าขึ้นวางบนตาชั่งก็จะใช้รีโมตกดตัวเลขกำหนดว่าได้กี่กิโลทันที แต่เมื่อยกของลง ตัวเลขจะต้องเป็นศูนย์ให้เกษตรกรสังเกตตรงนี้ หากตัวเลขค้าง แสดงว่ามีการใช้รีโมตบังคับ หรือก่อนขายจะต้องตรวจสอบแท่นรับน้ำหนักตรงกันรวม 5 จุดว่าน้ำหนักตรงกันหรือไม่ เมื่อชั่งเสร็จก่อนรับใบสั่งจะต้องดูตัวเลขน้ำหนักตรงกับหน้าจอหรือไม่ เกษตรกรจะต้องรักษาผลประโยชน์ตัวเอง จะต้องสังเกตว่ามีความผิดปกติหรือไม่

นอกจากนั้น เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกทุกเครื่องก็ต้องมีเครื่องหมายรับรองจากกรมการค้าภายใน ต้องมั่นใจว่าเป็นเครื่องวัดความชื้นเฉพาะข้าวเปลือก และต้องวัดซ้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง จึงจะหาค่าเฉลี่ยเพื่อความเที่ยงตรง หรืออาจจะสอบเทียบความชื้นจากรายอื่นก่อน
ส่วนเครื่องชั่งวัดเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมัน ใช้กำหนดราคาซื้อขายหัวมันสำปะหลัง เครื่องวัดต้องได้ระดับไม่เอียง ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย จะต้องเลือกหัวมันฝ่ายละเท่าๆ กัน อย่าให้พ่อค้าเลือกฝ่ายเดียวและต้องทำความสะอาดหัวมันออกให้หมด และหากพบการทุจริตฉ้อโกงก็ขอให้แจ้งข้อมูลมายังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หรือโทร.สายด่วน 1569

นายธนากร อึ้งจิตรไพศาล ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เปิดเผยว่า จังหวัดหนองบัวลำภู มีประวัติความเป็นมาไม่น้อยกว่า 900 ปี มีการถ่ายทอดทางมรดกทางวัฒนธรรมจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมทอผ้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ด้านลวดลาย สีสัน ความประณีต และสวยงาม เคยได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศในการประกวดผ้า ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทำให้ผ้าจังหวัดหนองบัวลำภูเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

“ล่าสุด ได้จัดงาน แสดงและจำหน่ายสินค้า “แพรพรรณลุ่มภูสู่สากล 2017” ที่ศูนย์ราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อให้ผู้ประกอบการด้านผ้า และประชาชน ตระหนักถึงแนวทางการสร้างนวัตกรรมจากผ้าหนองบัวลำภู ผ่านกระบวนการแปรรูปผ้าที่มีความหลากหลายสามารถสร้างรายได้ ให้ผู้ประกอบการ และชุมชน เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มั่นคง ยั่งยืน มีกลุ่มแม่บ้าน ร้านจำหน่ายเสื้อผ้าทอของชาวบ้านหลายหลายรูปแบบร่วมออกร้าน ตลอดจนสินค้า OTOP 150 บูท นิทรรศการผลงานออกแบบนวัตกรรมจากผ้า 214 ผลงาน และนิทรรศการแสดงผลงานการวิจัยหัตถกรรมผ้า และการเกษตร”

วว. ผนึกกำลังสมาคมเพื่อนชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มุ่งยกระดับผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดระยองด้วย วทน.

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายวริทธิ์ นามวงษ์ อุปนายกสมาคมเพื่อนชุมชน และประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปฏิบัติการเพื่อความเป็นเลิศ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศและยกระดับผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่นกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากจังหวัดระยอง ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี วว. เทคโนธานี จังหวัดปทุมธานี

ความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของทั้งสองฝ่ายในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยและพัฒนาทาง วทน. และเป็นองค์ความรู้ทางวิชาการในการนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2.ส่งเสริมและสนับสนุนการนำงานวิจัยไปใช้ในการพัฒนา เพื่อขับเคลื่อนมาบตาพุดสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ อยู่ร่วมกับชุมชนด้วยความผาสุกและยั่งยืน 3.ส่งเสริมยกระดับวิสาหกิจชุมชนต้นแบบ เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชน ท้องถิ่น พื้นที่มาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน และ 4.พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า บริการ และบรรจุภัณฑ์ เพิ่มขีดความสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดในระดับสากลได้

อนึ่ง สมาคมเพื่อนชุมชน เกิดจากความร่วมมือในการก่อตั้งของ 5 ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด ได้แก่ กลุ่มปตท. เอสซีจี บริษัทบีแอลซีพีเพาเวอร์จำกัด กลุ่มบริษัทดาวประเทศไทย และกลุ่มบริษัทโกลว์ มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อดูแลพัฒนาอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นแก้ปัญหาร่วมกันด้วยการถ่ายทอดความรู้ แบ่งปันประสบการณ์และตรวจสอบดูแลกันเอง รวมทั้งส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ที่บริเวณสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาด ลูกค้า ธ.ก.ส. นครพนม จำกัด (สกต.) ตำบลนาทราย อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายจาตุรันต์ สมิทธ์ภินันท์ สหกรณ์จังหวัดนครพนม พร้อมประธานกรรมการ ผู้จัดการ ทีมงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับนายประทีป ฤทธิกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ที่ลงพื้นที่ตรวจติดตามการเตรียมความพร้อม ก่อนการเปิดตลาดนัดรับซื้อข้าวเปลือก ฤดูกาลผลิต 2560/61 ของจังหวัดนครพนม สำหรับสถาบันเกษตรกรในสังกัดสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครพนม ที่เข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มในสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต ๒๕๖๐/๖๑ ทั้งหมด ๘ แห่ง มีแผนรวบรวมข้าว ๓๒,๑๕๐ ตัน ขอกู้เงิน ธกส. ๒๔๐ ล้านบาท

ขณะนี้มีสหกรณ์ที่ได้รับอนุมัติเงิน กู้ ธกส.จำนวน ๔ แห่ง เป็นเงิน ๑๕๖ ล้านบาท ผลรวบรวมข้าว ณ วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ รวม ๑,๑๙๑.๔๕ ตัน มูลค่า ๑๒.๐๘ ล้านบาท ได้แก่

สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.นครพนม จำกัด ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธกส. ๔๐ ล้านบาท ผลรวบรวมข้าว ๕๖๐ ตัน มูลค่า ๕.๕๗ ล้านบาท ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิความชื้นไม่เกิน ๑๕ % ๑๒,๕๐๐ บาท ราคาโรงสีใกล้เคียง ๑๒,๐๐๐ บาท ซึ่งสหกรณ์ฯมีแผนเข้าร่วมโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี การผลิต ๒๕๖๐/๖๑ โดยจะรวบรวมข้าวหอมมะลิ ๘,๐๐๐ ตัน ข้าวเหนียว ๑,๐๐๐ ตัน เพื่อดูดซับปริมาณข้าวที่จะออกมาปริมาณมากของเกษตรกรในจังหวัดนครพนม

สหกรณ์การเกษตรศรีสงคราม จำกัด ได้รับอนุมัติเงินกู้จากธกส. ๓๖ ล้านบาท ผลรวบรวม ๔๔๐ ตัน มูลค่า ๔.๕๐ ล้านบาท ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิความชื้นเกิน ๑๕ % (ข้าวสด) ๑๐,๓๗๔ บาท ซึ่งสหกรณ์การเกษตรศรีสงคราม จำกัด รวบรวมข้าวส่งให้โรงสีเกาะแก้วเจริญธัญญา โดยโรงสีรับซื้อราคานำตลาดกิโลกรัมละ ๒๕ สตางค์

สหกรณ์การเกษตรเรณูนคร จำกัด ได้รับอนุมัติเงินกู้จาก ธกส. ๔๐ ล้านบาท ผลรวบรวมข้าว ๑๙๑.๔๒ ตัน มูลค่า ๒.๐๑ ล้านบาท ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิความชื้นเกิน ๑๕ % (ข้าวสด) ๑๐,๕๔๐ บาท

และสหกรณ์การเกษตรบ้านแพง จำกัด ได้รับอนุมัติเงินกู้จาก ธกส. ๔๐ ล้านบาท จะเปิดจุดรวบรวมข้าว วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ส่วนสหกรณ์อื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ อยู่ระหว่างดำเนินการ

สถานการณ์ข้าว ณ ปัจจุบัน คาดว่าภายในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ๒๕๖๐ จะมีปริมาณข้าวออกมาปริมาณมาก และสหกรณ์ได้เตรียมความพร้อมในการรองรับข้าวเปลือกจากสมาชิกและเกษตรกร โดยสหกรณ์มีอุปกรณ์การตลาดที่ทันสมัย เครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรอง มีการบริการที่ดี และราคารับซื้อที่นำตลาด ทำให้สมาชิก/เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่น และพึงพอใจในด้านการบริการ ด้านราคา อีกทั้งกำไรจากการดำเนินธุรกิจรวบรวมข้าวของสหกรณ์ จะมีการปันผลคืนสมาชิกในรูปเงินเฉลี่ยคืนจากส่วนธุรกิจและเงินปันผลจากหุ้นเมื่อสิ้นปี อันจะนำมาซึ่งความเข้มแข็งและความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต

ท่องเที่ยวไทยสัมผัสเสน่ห์แห่งวิถีชีวิต และเรื่องราวน่ารักในชุมชนสทิงพระ กับฝรั่งยิ้มกว้าง “แดเนียล เฟรเซอร์” ลองใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เก็บน้ำโตนด ลองทำน้ำตาลแว่น เรียนรู้วิธีแปรรูปถนอมอาหาร ร่วมกิจกรรมสนุกแข่งกินลูกตาล พร้อมชมผ้าบาติคลวดลายท้องถิ่น และแลนด์มาร์คแห่ง อ.สทิงพระ จ.สงขลา

“แดเนียล” ฝรั่งหัวใจไทย พาสัมผัสวิถีชีวิตปีนต้นตาล เพื่อเก็บน้ำตาลโตนด แล้ไปแข่งกินลูกตาล กิจกรรมสนุกๆ ระหว่างทีมงานหลงรักยิ้ม และชาวบ้านสทิงพระ จากนั้นไปเรียนรู้วิธีแปรรูปถนอมอาหาร ลองทำน้ำตาลแว่น พร้อมสัมผัสงานหัตถกรรมชุมชนดอนขัน อย่างผ้าบาติค ลวดลายเอกลักษณ์เกิดจากวัสดุท้องถิ่น อย่าง ใบตาล และแวะถ่ายรูปแลนด์มาร์คแห่ง อ.สทิงพระ ทุ่มกังหันลม การแปรผันจากพลังงานลมกลายเป็นพลังงานไฟฟ้า (PEA)

ติดตามชมรายการหลงรักยิ้ม วันอาทิตย์ ที่ 19 พฤศจิกายน 2560 เวลา 16.30 น. ทางช่อง 28 (3SD) พร้อมอัพเดทความเคลื่อนไหวต่างๆ ของฝรั่งยิ้มกว้าง “แดเนียล เฟรเซอร์” ได้ที่ Facebook:

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. 2522 มาตรา 9 ได้กำหนดภารกิจของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ตามข้อ (2) ศึกษาและวิเคราะห์การวางแผนการผลิตทางการเกษตรแหล่งการเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ให้สอดคล้องกับสภาพดินฟ้าอากาศ

แหล่งน้ำ ประเภทของเกษตรกรรม รายได้หลักของเกษตรกร และความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม สศก. จึงได้จัดทำโครงการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสำหรับสินค้าเกษตรที่สำคัญ โดยใช้แผนที่ Agri-Map เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ เพื่อจัดทำทางเลือกประกอบการตัดสินใจของเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม โดยเลือกพื้นที่นำร่อง ใน 6 ภูมิภาค 6 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ชัยภูมิ สุราษฎร์ธานี สงขลา ชัยนาท และจันทบุรี

สศก. ได้ใช้ข้อมูลจากแผนที่ Agri-Map ที่จำแนกพื้นที่ความเหมาะสม เป็นพื้นที่เหมาะสมมาก (S1) เหมาะสมปานกลาง (S2) เหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านกายภาพ ควบคู่ ไปกับศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจในการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญแต่ละจังหวัด เป็นการนำเสนอหลักการคิดในการบริหารจัดการพื้นที่ เน้นการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายยกกระดาษ A4 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยมีกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต/ผลตอบแทนของสินค้าเกษตรสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจการเกษตรของจังหวัดมากที่สุด 4 ชนิด เปรียบเทียบกันระหว่างการผลิตในพื้นที่เหมาะสม (S1,S2) กับพื้นที่ไม่เหมาะสม (S3,N) รวมทั้ง ศึกษาวิเคราะห์ อุปสงค์ อุปทาน และวิถีการตลาด ของสินค้าเกษตรดังกล่าว แล้วนำมาวิเคราะห์ แนวทางการบริหารจัดการพื้นที่ เบื้องต้นเสนอทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับปลูกข้าว เพื่อลดผลผลิตข้าวให้สมดุลกับความต้องการของตลาด โดยปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าทางเลือกอื่น มีเกณฑ์การพิจารณาสินค้าทางเลือก

1) เป็นสินค้าที่มีความเหมาะสมทางด้านกายภาพในพื้นที่ที่จะปรับเปลี่ยน 2) ให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากว่าสินค้าเดิม 3) มีตลาดรองรับและสอดคล้องกับความต้องการ อาทิ ตลาดในประเทศ ตลาดส่งออก และโรงงาน แปรรูป ทั้งนี้ ได้นำผลการศึกษาเบื้องต้นนำเสนอในที่ประชุมร่วมระหว่าง เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำเกษตรกร และผู้แทนจากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาปรับปรุงผลการศึกษาให้สอดคล้องกับข้อเท็จในพื้นที่ให้มากที่สุด กล่าวได้ว่าเป็นผลการศึกษาแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ ดังนี้

จังหวัดพิษณุโลก (ภาคเหนือ) billspayroll.com เสนอให้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมที่มีอยู่จำนวนมากในอำเภอ นครไทย บางระกำ ชาติตระการ พรหมพิราม และวังทอง ไปเป็นพืชทางเลือกอื่น เช่น อ้อยโรงงาน (มีต้นทุนการผลิต 9,857 บาท/ไร่ และผลตอบแทนสุทธิ 272 บาท/ไร่) ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากว่าปลูกข้าว และมีโรงงานในพื้นที่ภาคเหนือรองรับผลผลิตมากถึง 9 โรง มะม่วงน้ำดอกไม้ส่งออก (มีต้นทุนการผลิตตั้งแต่ปลูกจนถึงให้ผลผลิต 14,280 บาท/ไร่และผลตอบแทนสุทธิ 20,220 บาท/ไร่) ยังเป็นที่ต้องการของตลาดในแถบเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ มาเลเซีย และตลาดโซนยุโรป และ กล้วยน้ำว้า (อายุ 2-3 ปี มีต้นทุนการผลิต 2,515 บาท/ไร่ และผลตอบแทนสุทธิ 8,015 บาท/ไร่) เป็นสินค้าที่สร้างชื่อของจังหวัด ซึ่งมีโรงงานแปรรูปและ กลุ่มการผลิตที่เข้มแข็ง

จังหวัดชัยภูมิ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) สินค้าทางเลือกที่ทดแทนการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ส้มโอ (ขาวแตงกวา) (มีต้นทุนการผลิตตั้งแต่ปลูกจนถึงให้ผลผลิต 10,600 บาท/ไร่ และผลตอบแทนสุทธิ 24,950 บาท/ไร่) เน้นการผลิตคุณภาพเพื่อการส่งออก ของเกษตรกรในอำเภอบ้านแท่น ที่มีราคาจำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 – 45 บาท และ กล้วยหอมทอง (อายุ 2-3 ปี มีต้นทุนการผลิต 16,645 บาท/ไร่ และผลตอบแทนสุทธิ 6,124 บาท/ไร่) เน้นคุณภาพเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกัน แหล่งผลิตที่สำคัญคือ ตำบลถ้ำวัวแดง อำเภอหนองบัวแดง ตลาดส่งออกที่สำคัญ เช่น เวียดนาม และจีนเป็นต้น

จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ภาคใต้) การผลิตยางพาราทั้งในพื้นที่เหมาะสม (S1) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ให้ผลตอบแทนสุทธิต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผลตอบแทนสุทธิการผลิตปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และ มะพร้าว ทั้งในพื้นที่เหมาะสม (S1) และพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) จึงเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนการผลิตยางพารา ไปเป็นปาล์มน้ำมัน ทุเรียน มะพร้าว และเสนอกิจกรรมเสริมในกรณีไม่ปรับเปลี่ยนการผลิตยางพารา โดยปลูกพืชร่วมยางและพืชแซมยาง เช่น

ผักเหลียง มีผลผลิตประมาณ 500-1,100 กก./ไร่ ต้นทุน 9,000 บาท/ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 25,000-54,000 บาท/ไร่ สละ มีผลผลิตประมาณ 1,700 กก./ไร่ ต้นทุน 28,000 บาท/ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 59,500 บาท/ไร่ ไม้ตัดดอก (หน้าวัว) มีผลผลิตประมาณ 16,000-22,000 ดอก/ไร่/ปี ต้นทุน 44,400-51,700 บาท/ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 68,750-80,000 บาท/ไร่ กล้วยหอมทอง มีผลผลิตประมาณ 2,000-3,600 กก./ไร่ ต้นทุน 10,000-15,000 บาท/ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 20,000-36,000 บาท/ไร่ และ สมุนไพร (กระชาย) มีผลผลิตประมาณ 3-4 ตัน/ไร่ ต้นทุน 30,000 บาท/ไร่ เกษตรกรจะมีรายได้ 45,000-60,000 บาท/ไร่ โดยมีตลาดในพื้นที่ และตลาดในกรุงเทพฯ รวมทั้งตลาดในแถบจังหวัดภาคกลางรองรับผลผลิตดังกล่าว

จังหวัดสงขลา (ภาคใต้ชายแดน) เสนอแนวทางการบริหารจัดการทางเลือกกิจกรรมการเพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ภายใต้สถานการณ์ยางพาราราคาตกต่ำ เกษตรกรควรหันมาพึ่งพาตนเองให้มากขึ้น ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยหันมาปลูกพืชแซมยาง เช่น มะละกอ มีต้นทุน 15,000-20,000 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทน 60,000-80,000 บาท/ไร่ และกล้วยหอมทอง มีต้นทุน 10,000-15,000 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทน 20,000-36,000 บาท/ไร่

ปลูกพืชร่วมยาง เช่น ผักเหลียง มีต้นทุน 9,000 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทน 25,000-54,000 บาท/ไร่ และดอกหน้าวัว มีต้นทุน 44,400-51,700 บาท/ไร่ ให้ผลตอบแทน 68,750-80,000 บาท/ไร่ เป็นต้น หรือประกอบอาชีพเสริมรายได้ในสวนยาง พร้อมทั้งน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ