สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดกิจกรรมสื่อสัญจร

“ความปลอดภัยในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และไม้เท้าเลเซอร์ (รุ่นใหม่) สำหรับผู้สูงอายุที่เดินติดขัด” ณ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ ตึก สธ. โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยมี ศ.นพ.รุ่งโรจน์ พิทยศิริ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ และ ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล อาจารย์ประจำ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและสาธิตการใช้งานไม้เท้าเลเซอร์และรถพาร์กินสันติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะในการประเมินการขับขี่รถยนต์

ศ.นพ.รุ่งโรจน์ กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้พัฒนาไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินอย่างต่อเนื่องร่วมกับผู้ใช้งานตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนและสภากาชาดไทย ปัจจุบันเป็นรุ่นที่ 8 ซึ่งผู้ป่วยสามารถบีบที่หัวไม้เท้าให้มีแสงเลเซอร์ออกมาเพื่อเป็นตัวกระตุ้นสายตาให้เริ่มเดินหรือก้าวเท้าต่อไปได้ และใช้ได้ทั้งในที่ร่มและนอกอาคาร มีน้ำหนักเบาเพียง 450 กรัม

ใช้แหล่งพลังงานจากแบตเตอรี่ลิเธียมชนิดก้อน 1 ก้อน ชาร์จไฟฟ้าหรือเครื่องสำรองไฟได้ รวมถึงออกแบบฐานให้กว้างขึ้น ไม้เท้าตั้งได้อย่างมั่นคง และมีความโค้งในส่วนล่างสำหรับผู้มีปัญหาข้อเข่าให้ก้าวเดินได้สะดวก ทั้งนี้ การออกแบบไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินในระดับอุตสาหกรรมจะเป็นภาพสามมิติ และได้มีการวาดภาพการประกอบไม้เท้าเลเซอร์ช่วยเดินบนโปรแกรมสำเร็จรูปสำหรับการผลิตในโรงงาน และมีแผนงานในการขึ้นทะเบียนมาตรฐานอาหารและยาสำหรับการผลิตไม้เท้าเลเซอร์ด้วย

“งานวิจัยนี้ได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้วและอยู่ในระดับพร้อมถ่ายทอด ซึ่งเราต้องการผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาพัฒนาต่อยอดร่วมกันก่อนผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ โดยจะวางแผนหาเครือข่ายทั่วประเทศผ่านสภากาชาดไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยกว่า 1 แสนรายทั่วประเทศ ร้อยละ 80 อยู่ในต่างจังหวัด และมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา ไม้เท้าเลเซอร์นี้จะเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีปัญหาการเดินติดขัดลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ หกล้ม อันนำไปสู่การบาดเจ็บที่รุนแรงต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดสภาวะพึ่งพาคนในครอบครัว สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

ด้าน พญ.อรอนงค์ กล่าวว่า ในระยะแรกนักวิจัยได้ศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยกับอาสาสมัครปกติ โดยประเมินอัตราการตอบสนองด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดอัตราการตอบสนองแบบสามมิติ แล้วนำข้อมูลทั่วไปและค่าที่ตรวจได้จากอุปกรณ์ทั้งหมดมาวิเคราะห์ทางสถิติ โดยผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยจะมีเวลาการตอบสนองที่ช้าลงกว่ากลุ่มอาสาสมัครปกติอย่างชัดเจน และมีโอกาสเกิดความผิดพลาดมากกว่า ต่อมาในระยะที่ 2 นักวิจัยได้ศึกษาการตรวจสอบประสิทธิภาพการขับขี่รถยนต์บนท้องถนนจริง

โดยประเมินจากรถยนต์ที่ติดตั้งอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับประเมินการขับขี่หรือรถยนต์พาร์กินสัน ประกอบด้วย กล้องวิดีโอ ระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดการขับรถ ความเร็วของรถ ระยะเวลาในการเหยียบคันเร่ง ระยะเวลาในการเหยียบเบรก การตรวจการเคลื่อนไหวของพวงมาลัย การประเมินตำแหน่งของรถด้วยระบบ GPS และการประเมินระยะห่างของตัวรถกับสิ่งกีดขวาง เป็นต้น โดยจะทดสอบที่สนามฝึกขับขี่ที่เป็นมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกด้วยวิธีการเดียวกับการทดสอบเพื่อการขอรับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ผลการศึกษาพบว่าผู้ป่วยมีระยะเวลาในการเหยียบเบรกมากกว่า และแรงกดเท้าขณะเหยียบเบรกเบากว่าอาสาสมัครปกติอย่างชัดเจน ขณะที่การประเมินท่าทางการขับขี่ตามระเบียบการขอรับใบขับขี่ พบว่าผู้ป่วยมีจำนวนครั้งของความพยายามในการถอยหลังเข้าซองมากกว่าอาสาสมัครปกติอย่างชัดเจน

“จากการวิจัยของทีมงานที่ได้ทำการทดสอบการขับขี่ที่ใช้ข้อกำหนดตามมาตรฐานการสอบภาคปฏิบัติของกรมขนส่งทางบก พบว่าผู้สูงอายุร้อยละ 10 และผู้ป่วยพาร์กินสันร้อยละ 70 สอบตกภาคปฏิบัติ โดยผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีความสามารถในการขับขี่รถยนต์ที่ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้สูงอายุ ทั้งด้านการควบคุมการขับขี่รถ และด้านการตัดสินใจระหว่างการขับรถ

ทำให้ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพในการขับขี่ที่ลดลงในสถานการณ์การขับขี่ในชีวิตจริง งานวิจัยของเราจึงมีส่วนสำคัญในการช่วยประเมินความพร้อมในการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาศัยเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ระดับสูงมาช่วยในการวิเคราะห์ โดยทีมงานผู้วิจัยมุ่งหวังให้ผลงานชิ้นนี้ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนขับขี่รถยนต์อย่างปลอดภัย

และอาจจะนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินความพร้อมในการขับขี่รถยนต์สำหรับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มผู้สูงวัยที่อาจจะมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนน เพื่อความปลอดภัยของทั้งตัวผู้ขับขี่และผู้ร่วมใช้รถใช้ถนน โดยอุปกรณ์ของเรามีความน่าเชื่อถือสูง และเป็นแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบอัจฉริยะในการตรวจวัดหรือคัดกรองการขับขี่รถยนต์ของผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน”

ขณะที่ รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สกว. และผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม ระบุว่า สกว.สนับสนุนให้มีการผลักดันให้เกิดผลกระทบจากงานวิจัยดังเช่นนวัตกรรมสำหรับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เพื่อสร้าง “นวัตกร” และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลในการทำวิจัยร่วมกับเครือข่ายวิจัยนานาชาติ ให้เกิดการพัฒนาอย่างเข้มแข็งและก้าวกระโดด รวมถึงหวังให้เกิดการขยายผลในภาคเอกชนที่สนใจทำธุรกิจเพื่อสังคม หรือเข้าบัญชีนวัตกรรมเพื่อให้โรงพยาบาลรัฐสามารถจัดซื้ออุปกรณ์อย่างไม้เท้าเลเซอร์ได้ในราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ สมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัขแห่งประเทศไทย ขอเชิญชมงานแสดงและประกวดสัตว์เลี้ยง ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562 ภายใต้หัวข้อ “สัตวแพทย์เกษตรนำไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีกิจกรรมประกอบด้วย

นิทรรศการ “ใต้ร่มพระบารมี” ระหว่างวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2562 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน พบกับ
* นิทรรศการสุนัขทรงเลี้ยง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

บริการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า…ฟรี!!! ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2562 โดยให้บริการ ดังนี้
วันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 13.00-13.30 น. ณ ด้านข้างอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ (แจกคูปองฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 500 ใบ)

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2562 ตั้งแต่ เวลา 07.00 น. เป็นต้นไป ณ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน

กิจกรรมการแสดงและประกวดสัตว์เลี้ยง ณ ลานจอดรดด้านข้าง (ฝั่ง ศร.4) ของอาคารจักรพันธ์ เพ็ญศิริ ดังนี้
* วันศุกร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562

เวลา 13.00-14.00 น. การแสดงของกองพันสุนัขทหารหนองสาหร่าย กรมการสัตว์ทหารบก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เวลา 16.30-18.30 น. Talk Show จากเพจ “Ninja And The Gang”

** วันเสาร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562

เวลา 09.30 น. การประกวดสุนัขทุกสายพันธุ์แบบทั่วไป (Open Show) All breed Thailand Dog Show แบ่งเป็น 6 รุ่น คือ รุ่น baby รวมเพศ อายุ 3-6 เดือน รุ่น minor puppy แยกเพศ อายุ 6-12 เดือน รุ่น puppy แยกเพศ อายุ 9-12 เดือน รุ่น minor junior แยกเพศ อายุ 12-15 เดือน รุ่น junior แยกเพศ อายุ 15-18 เดือน และ รุ่น open แยกเพศ อายุ 18 เดือน ขึ้นไป

เวลา 13.30-14.00 น. การแสดงความสามารถพิเศษของสุนัขตำรวจ เวลา 14.00-14.30 น. การประกวดสุนัขสุขภาพดี ไม่จำกัด เพศและสายพันธุ์ แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ รุ่นอายุน้อยกว่า 1 ปี รุ่นอายุ 1-5 ปี และ รุ่นอายุ 5 ปี ขึ้นไป

เวลา 14.30-15.00 น. การประกวดสุนัขแฟนซี (แฟชั่นโชว์) ไม่จำกัด เพศและสายพันธุ์ โดยจะมุ่งเน้นที่ความบันเทิงแสดงออกออกถึงการแต่งแฟนซี ระหว่างเจ้าของและสุนัข

เวลา 15.00-15.30 น. การประกวดสุนัขความสามารถพิเศษ ไม่จำกัด เพศและสายพันธุ์ จะมุ่งเน้นที่ความบันเทิง แสดงออกถึงความสามารถพิเศษ และความน่ารักของสุนัข

เวลา 15.30-16.30 น. การแสดงความสามารถพิเศษของสุนัขหลวง และสุนัขทรงเลี้ยง

ผู้สนใจนำสุนัขเข้าประกวด สมัครออนไลน์ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 27 มกราคม 2562 ค่าสมัคร 500 บาท ต่อตัว ต่อรายการ ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.vet.ku.ac.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณชุติมา นาน้อย โทรศัพท์ (02) 797–1900 ต่อ 1203

นอกจากนี้ ยังมีการประกวดภาพถ่ายภายในงานแสดงและประกวดสัตว์เลี้ยง ประจำปี 2562 อีกด้วย โดยผลงานที่ส่งเข้าประกวด ต้องเป็นภาพกิจกรรมงานแสดงและประกวดสัตว์เลี้ยงในวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2562 เท่านั้น และส่งภาพในรูปแบบไฟล์ Jpeg ไม่เกิน 3 mbs มาที่ fvettnr@ku.ac.th และที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มก. ภายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ประกาศผลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณธันย์ชนก เรืองศรี และ คุณเสาวลักษณ์ สีงาน โทรศัพท์ (02) 797-1900 ต่อ 1205 และ 1203มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ขอเชิญเกษตรกรและผู้สนใจ ส่งผลไม้เข้าประกวดในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2562 ในวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562 ณ โถงชั้นล่าง อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยจัดประกวดผลไม้ 18 ประเภท ดังนี้

ขนุน ไม่จำกัดพันธุ์ ผลสุกพร้อมรับประทาน ชมพู่ทับทิมจันท์ ฝรั่งพันธุ์กิมจู ฝรั่งมีเมล็ด ไม่จำกัดพันธุ์ กล้วยหอมทอง กล้วยไข่ กล้วยน้ำหว้า มะม่วงผลสุก ไม่จำกัดพันธุ์ มะม่วงผลดิบ ไม่จำกัดพันธุ์ มะละกอ

ผลสุก ไม่จำกัดพันธุ์ ละมุด ผลสุกพร้อมรับประทาน ส้มโอเนื้อสีชมพู/แดง มีขั้วติด ส้มโอเนื้อ สีขาว/เหลือง มีขั้วติด ส้มเปลือกล่อน มีขั้วติด ส้มแก้ว ผลโต มีขั้วติด องุ่น พันธุ์ไวท์มาละกา มีช่อติดกิ่ง องุ่นไร้เมล็ด

มีช่อติดกิ่ง และมะพร้าวน้ำหอม

ผู้สนใจสามารถส่งผลไม้เข้าประกวดได้ในวันที่ 25 มกราคม 2562 เวลา 09.00-12.00 น. ตัดสินการประกวดเวลา 13.30-16.00 น. ณ โถงชั้นล่าง อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผศ.ดร. เจนจิรา ชุมภูคำ โทรศัพท์ (089) 631-7987 และ ดร. อารยา อาจเจริญ เทียนหอม โทรศัพท์ (081) 684-6894 และ อาจารย์รัฐพล ฉัตรบรรยงค์ โทรศัพท์ (062) 381-7880 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม

โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งหวังจะใช้เป็นโมเดลในการปฏิรูปภาคการเกษตร โดยการสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวเป็นการปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เพื่อสร้างโอกาสให้เกษตรกรสมาชิกมีรายได้จากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่สูงขึ้น ซึ่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทางเลือกที่ใช้น้ำน้อยและแนวโน้มตลาดในประเทศยังมีความต้องการสูง โครงการนี้จึงเป็นการประสานความร่วมมือ 5 หน่วยงานหลัก

ได้แก่ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทานและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการ พร้อมกับมาตรการจูงใจเกษตรกร ทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อนำไปลงทุนซื้อหาปัจจัยการผลิตและเตรียมพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพด การประกันภัยผลผลิตเพื่อป้องกันความเสี่ยงหากพื้นที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ และประสานกับบริษัทเอกชนที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามารับซื้อข้าวโพดผ่านสหกรณ์การเกษตร ซึ่งเป็นตัวกลางในการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดทั้งหมดจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ

จังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังนา และเลือกพื้นที่อำเภอพรหมพิรามเป็นเป้าหมายแรก โดยมีสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด รับเป็นแม่งาน เชิญชวนสมาชิกสหกรณ์ให้ลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังและหันมาปลูกข้าวโพด มีสมาชิกสหกรณ์เข้าร่วมโครงการนำร่อง 83 ราย พื้นที่ 1,181 ไร่ ซึ่งมีทั้งพื้นที่เขตชลประทานและบางพื้นที่ใช้น้ำบาดาล เกษตรกรเริ่มลงมือปลูกข้าวโพดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งสหกรณ์ได้ช่วยดูแลสมาชิกตั้งแต่การสนับสนุนเงินทุนเพื่อปลูกข้าวโพด

โดยขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ จำนวน 5 ล้านบาท เพื่อนำมาให้สมาชิกกู้ยืม รายละ 3,000 บาท ต่อไร่ คิดอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 1 พร้อมทั้งจัดหาปัจจัยการผลิต ทั้งเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ดูแลสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูก การเก็บเกี่ยว การรวบรวมผลผลิต และจัดหาตลาดมารับซื้อ ซึ่งขณะนี้ผลผลิตข้าวโพดในพื้นที่นำร่องเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว สหกรณ์จึงเปิดจุดรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกในพื้นที่โครงการแล้ว จำนวน 13 ราย ได้ปริมาณผลผลิต 74.43 ตัน ซึ่งผลผลิตต่อไร่ เฉลี่ย 1,200-1,500 กิโลกรัม และในบางพื้นที่ได้ผลผลิตสูงถึง 2,000 กิโลกรัม ซึ่งสหกรณ์กำหนดราคารับซื้อข้าวโพดความชื้นเฉลี่ย 30% ในราคากิโลกรัมละ 7 บาท และคาดว่าผลผลิตในพื้นที่นำร่องจะเก็บเกี่ยวได้หมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562

นายผิน ถือแก้ว ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาสหกรณ์ยังไม่เคยทำธุรกิจรวบรวมข้าวโพด เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก และปลูกข้าวปีละ 2 รอบ แต่รายได้ยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากผลผลิตข้าวต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 800 กิโลกรัม ต้นทุนการปลูกข้าวประมาณ ไร่ละ 4,500 บาท ขณะที่ราคาข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ ตันละ 6,000 บาท เท่านั้น

สหกรณ์จึงต้องหาอาชีพอื่นมาเป็นทางเลือกให้กับสมาชิก จนกระทั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ทางสหกรณ์จึงยินดีที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ และพยายามชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาชิกเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและหันมาปลูกข้าวโพดทดแทนการทำนาปรัง ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ดีกว่า และเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3,280 บาท ต่อไร่ เกษตรกรจะมีกำไรจากการปลูกข้าวโพด ไร่ละประมาณ 5,000 บาท

สหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด เป็นสหกรณ์ที่มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การตลาด ทั้งโกดัง ฉาง ลานตาก ที่จะรองรับผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรในพื้นที่นำร่อง ซึ่งข้าวโพดที่รับซื้อจากสมาชิกจะนำมาอบลดความชื้น และแยกสิ่งเจือปน เพื่อให้ได้ข้าวโพดที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และจะนำข้าวโพดที่ปรับสภาพลดความชื้นแล้ว ส่งขายให้โรงงานผลิตอาหารสัตว์ของ

บริษัท ซีพี ที่ตั้งอยู่อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งถือว่ามีความสะดวกและประหยัดค่าขนส่ง ขณะนี้ทางโรงงานผลิตอาหารสัตว์รับซื้อข้าวโพดความชื้น 14.5% ราคาเฉลี่ย 9 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งจากการประเมินผลการดำเนินโครงการนี้ สมาชิกส่วนใหญ่มีความพึงพอใจในรายได้ที่ดีกว่าการทำนาเพียงอย่างเดียว และเห็นถึงประโยชน์ของการปลูกข้าวโพดทดแทนการทำนาปรัง และได้วางแผนที่จะปลูกในปีต่อๆ ไป ซึ่งสหกรณ์ได้ตั้งเป้าที่จะขยายการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดให้สมาชิกมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมทั้งอำเภอพรหมพิรามและอาจจะเชื่อมโยงกับสหกรณ์ในอำเภอใกล้เคีย งเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก และจะรับซื้อผลผลิตจากสหกรณ์ข้างเคียงเพื่อนำมาปรับปรุงคุณภาพส่งจำหน่ายให้กับทางโรงงานอาหารสัตว์ต่อไป

ด้าน นายทองอยู่ ดีคำ ซึ่งเป็น 1 ในสมาชิกสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในพื้นที่นำร่อง เล่าถึงสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดในครั้งนี้ว่า แต่เดิมยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ปีที่ผ่านมาได้ปลูกข้าวในพื้นที่ 15 ไร่ แต่ต้องประสบปัญหาขาดทุนกว่า 30,000 บาท เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ต่ำ และต้องใช้เงินลงทุนปลูกข้าว ไร่ละเกือบ 5,000 บาท จึงได้หันมาทดลองปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง และมีความเชื่อมั่นในโครงการนี้เพราะส่วนราชการได้เข้ามาให้คำแนะนำและมีมาตรการจูงใจให้เข้าร่วมโครงการจนเกิดความมั่นใจ

ขณะเดียวกันทางสหกรณ์ก็ได้เข้ามาส่งเสริมและรับประกันว่าจะรับซื้อผลผลิตจากสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด จึงตัดสินใจปรับพื้นที่นา 20 ไร่ ให้กลายเป็นไร่ข้าวโพด เริ่มลงมือปลูกตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 ซึ่งจากการทดลองปลูกข้าวโพดครั้งแรก พบว่า ข้าวโพดมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าข้าว และใช้น้ำน้อยกว่า การดูแลแปลงข้าวโพดง่ายกว่าการปลูกข้าว หากทำตามคำแนะนำของเกษตรอำเภอและคอยระวังเรื่องแมลงศัตรูพืช จะทำให้ข้าวโพดมีความสมบูรณ์และให้ผลผลิตดี เฉลี่ยผลผลิตต่อไร่ 1,200-1,500 กิโลกรัม

ขณะนี้ นายทองอยู่ ได้ทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตแปลงแรก จำนวน 7 ไร่ ส่งขายให้กับสหกรณ์การเกษตรพรหมพิราม จำกัด เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในมาตรฐานการชั่งน้ำหนัก การวัดความชื้นและการกำหนดราคารับซื้อที่เป็นธรรม ซึ่งผลผลิตข้าวโพด 7 ไร่ ที่รวบรวมส่งขายให้สหกรณ์ได้ปริมาณ 8,860 กิโลกรัม หรือเฉลี่ย 1,200 กิโลกรัม ต่อไร่ สหกรณ์รับซื้อข้าวโพดความชื้นเฉลี่ย 30% ในราคา 7 บาท ต่อกิโลกรัม

ทำให้มีรายได้รวม 62,020 บาท เมื่อหักต้นทุนแล้ว คาดว่าจะมีกำไรเหลือประมาณ 34,000 บาท และหากเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งหมดครบ 20 ไร่ จะมีกำไรจากการปลูกข้าวโพดภายในระยะเวลา 4 เดือน เป็นเงินเกือบ 100,000 บาท ซึ่งนายทองอยู่ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงโครงการนี้ว่าเป็นโครงการที่ดีที่ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา และอยากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สานต่อโครงการนี้ในปีต่อๆ ไป

ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทย ซึ่งผลิตและส่งออกทำรายได้มูลค่ามากกว่าแสนล้านบาท ในปี 2553-2555 เกษตรกรขายยางพาราได้ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกยางพารานับล้านไร่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยไม่มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก

ในช่วงปี 2557-2561 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา ยุโรปฯลฯ จึงหันไปใช้ยางสังเคราะห์ที่มีราคาถูกเพื่อลดต้นทุน ทำให้ราคายางพาราในช่วง 5 ปีหลังปรับตัวลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับปริมาณผลผลิตยางพาราภายในประเทศของไทยที่มีจำนวนมากขึ้น

ปัญหาราคายางตกต่ำส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนยางพาราจำนวนมาก รัฐบาลจึงออกมาตรการต่างๆ มาช่วยเหลือเยียวยาชาวสวนยางพร้อมสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ หันมาใช้ยางพาราเพิ่มมากขึ้น

สร้างถนนยางทุกหมู่บ้านทั่วไทย

เดือนธันวาคม 2561 รัฐบาลประกาศเดินหน้า “โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร” โดยสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำน้ำยางพาราไปใช้สร้างถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ทั่วประเทศ จำนวน 75,032 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 75,032 กิโลเมตร คาดว่ามาตรการนี้จะช่วยดูดซับน้ำยางออกจากตลาดได้จำนวนมาก ช่วยยกระดับเสถียรภาพราคายางพาราให้ปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว

โครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ดำเนินงานโดยองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เน้นปรับปรุงถนนภายในหมู่บ้าน โดยนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนยางพาราที่มีความหนา 15 เซนติเมตร กว้าง 6 เมตร โดยคาดว่า โครงการถนนยางพาราจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศมากขึ้น เพราะใช้วัตถุดิบคือ น้ำยางสด 1,440,614.4 ตัน หรือคิดเป็นน้ำยางข้น 720,320.2 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 16,326.9600 ล้านบาท วงเงิน92,327.4320 บาท

นวัตกรรมถนนยางพารา ผลงาน “มจพ.”

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมงานวิจัย “ถนนยางพาราดินซีเมนต์” (Para Rubber Soil Cement) ตั้งแต่ปลายปี 2556 เปิดตัวผลงานวิจัยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในงานวันยางพาราบึงกาฬ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ ได้แรงบันดาลใจจาก นวัตกรรมการทำถนนของ สถาบัน Asian Institute of Technology โดย Prof. Dennes T. Bregado,Director, Asian Center of Soil Improvement and Geosynthetics (ACSIG) ประเทศเยอรมนี ที่นำสารโพลิเมอร์สังเคราะห์มาใช้รักษาคุณภาพถนนที่มีความชื้นสูง เรียกว่า “ถนนโพลีเมอร์ซอยล์ซีเมนต์”

เนื่องจากสารโพลิเมอร์สังเคราะห์ เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและมีราคาแพง ผศ.ดร. ระพีพันธ์ จึงประยุกต์ใช้น้ำยางธรรมชาติมาผสมรวมกับสารเคมีมาสร้างถนนจากน้ำยางพาราสายแรกของประเทศไทย ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี

ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ระยะทาง 1 กิโลเมตร สามารถใช้น้ำยางพาราสด (DRC 30%) จำนวน 12,000 กิโลกรัม หรือน้ำยางพาราข้น 6,000 กิโลกรัม การทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับถนนดินลูกรังตามชนบทแบบไร้ผิวทางหรือถนนแบบมีผิวทางเป็นคอนกรีตหรือลาดยางมะตอยก็ได้ ที่ผ่านมา มจพ. ได้นำผลงานนวัตกรรมดังกล่าวไปจดอนุสิทธิบัตร เลขที่ 11828 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559

ข้อดีของถนนยางพาราดินซีเมนต์ คือช่วยเพิ่มความทนทานต่อแรงกดอัด เพิ่มความทนทานต่อแรงดึงและแรงฉีกขาด สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ดี ลดการเกิดฝุ่นในดินและซีเมนต์แล้ว ยังสร้างผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างถนนจะเข้ามาช่วยพัฒนาให้อุตสาหกรรมยางพาราขับเคลื่อนไปได้อย่างต่อเนื่อง และสร้างผลดีต่อสังคม เพราะการทำถนนยางพาราทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ขนส่งสินค้าเกษตรสู่ตลาดได้อย่างราบรื่น สร้างความเจริญมาสู่สังคมชนบทที่ห่างไกลได้