สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ อยากได้ราคามากกว่า

ที่กำหนดไว้ในปีที่ผ่านมา ที่ให้ผู้ประกอบการรับซื้อ กิโลกรัมละ 8 บาท ทุกพื้นที่จากผลผลิตคาดว่าจะออกสู่ตลาดประมาณ 4 ล้านตัน แต่การกำหนดราคาดังกล่าวต้องพิจารณาถึงผลกระทบด้านการแข่งขันของสินค้าปศุสัตว์ เช่น ไก่เนื้อ สุกร ที่ใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์ ด้วย ดังนั้น ทีม Mr.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ต้องหาระดับราคาที่พอดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ส่วนมันสำปะหลัง ปัจจุบันเกษตรกรเริ่มขุดผลผลิตเพื่อจำหน่ายกันบ้างแล้ว แต่เนื่องจากราคาอยู่ในระดับที่สูงอยู่ และต่างประเทศยังต้องการ ดังนั้นปัญหาด้านราคาจะมีน้อย โดยผลผลิตทั้งปีคาดว่าจะอยู่ที่ 27 ล้านตัน

กนอ. เผยนิคมฯ ยางพารา คืบหน้ากว่า 80% พร้อมเตรียมอัดโปรโมชั่นเอาใจ เอสเอ็มอี เช่าพื้นที่โรงงานราคาพิเศษ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือรับเบอร์ ซิตี้ (Rubber City) ว่าการดำเนินงานคืบหน้าไปแล้วกว่า 80% โดยนิคมฯ มีการให้บริการในรูปแบบให้เช่าพื้นที่โรงงานมาตรฐานสำเร็จรูปเพื่อรองรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนกว่า 25 ไร่ ในราคาพิเศษ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ได้เข้ามาเช่าโรงงานแล้วจำนวน 6 ราย คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 140 ล้านบาท คาดว่า เมื่อมีผู้เช่าครบเต็มจำนวน จะทำให้มูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 1,000 คน

โดย กนอ.ได้แบ่งพื้นที่ของนิคมฯ ยางพารา จำนวน 25 ไร่ เพื่อพัฒนาอาคารโรงงานมาตรฐานให้เช่า รองรับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เช่าโรงงานแบบสำเร็จรูปในราคาเท่าทุน พร้อมระบบสาธารณูปโภคที่ครบวงจร ผู้ประกอบการสามารถเข้าประกอบกิจการได้ทันที โดยมีแบบโรงงานให้เลือกจำนวน 3 แบบ ได้แก่ 1. แบบ A ขนาดพื้นที่ 500 ตร.ม. จำนวน 6 หลัง 2. แบบ B ขนาด 750 ตร.ม. จำนวน 1 หลัง และ 3. แบบ C ขนาด 1,000 ตร.ม. จำนวน 14 หลัง

ทั้งนี้ คาดว่าหากนิคมฯ ยางพาราแล้วเสร็จ จะสามารถรองรับอุตสาหกรรมคลัสเตอร์ยางพาราขั้นกลางน้ำและปลายน้ำได้ คาดว่า จะมีความต้องการใช้ยางพาราในพื้นที่เพิ่มขึ้นจาก 30,000 ตัน ต่อปี เป็น 200,000 ตัน ต่อปี ทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการศึกษา วิจัย พัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ยางพารา เป็นนิคมฯ แปรรูปยางพาราแบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุด บนพื้นที่ 1,218 ไร่ ภายในนิคมฯ ภาคใต้ จ.สงขลา และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในระเบียงเศรษฐกิจด้านยางพารา (รับเบอร์ คอร์ริดอร์) ภายใต้ความร่วมมือเศรษฐกิจสามฝ่าย IMT – GT (Indonesia – Malaysia – Thailand Growth Triangle) ซึ่งจะเป็นประตูสู่ประชาคมอาเซียน และระดับโลกต่อไป

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายในได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวสวนยางว่า ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราในพื้นที่ จ.นครพนม และ จ.ตราด จึงส่งนายตรวจชั่งตวงวัดตรวจสอบเรื่องร้องเรียนดังกล่าว โดยเมื่อ วันที่ 5 ก.พ. 2561 ตรวจสอบผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราที่ถูกร้องเรียนใน ต.โพนแพง อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

และอีกหนึ่งรายเมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2561 ตรวจสอบผู้ประกอบการรับซื้อยางพาราที่ถูกร้องเรียนใน ต.บางปิด อ.แหลมงอบ จ.ตราด พบผู้ประกอบการมีพฤติกรรมใช้เครื่องชั่งสปริงพิกัด 60 กิโลกรัม ที่ถูกดัดแปลงแก้ไขเครื่องชั่งเพื่อเอาเปรียบเกษตรกร

จึงจับกุมดำเนินคดีและนำตัวผู้กระทำผิดส่งพนักงานสอบสวน สภ.หลักศิลา จ.นครพนม และ สภ.แหลมงอบ จ.ตราด เพื่อดำเนินคดีในข้อหาใช้เครื่องชั่งที่มีการทำลายเครื่องหมายคำรับรอง แล้วกระทำการใดๆ ทำให้เครื่องชั่งแสดงน้ำหนักผิด เกินกฎหมายกำหนด โทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสองหมื่นบาท

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอฝากเตือนเกษตรกรชาวสวนยางและผลิตสินค้าเกษตรให้ชั่งทดสอบน้ำหนักสินค้าก่อนขาย โดยสังเกตป้ายเครื่องหมายโครงการเครื่องชั่งกลางของกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ถ้าพบเห็นการเอารัดเอาเปรียบหรือสงสัยว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้แจ้งศูนย์ชั่งตวงวัดและสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดทั่ว

จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาที่เลื่องชื่อ ยังเป็นแหล่งปลูกพุทราส่งขายมากในช่วงเดือนตุลาคมจนถึงเดือนมีนาคม ซึ่งพุทราบ้านโพน อำเภอคำม่วง เกษตรกรปลูกพุทราแบบกางมุ้ง รสชาติดีปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่สำคัญหอมกลิ่นนม สามารถเด็ดกินได้จากต้น

คุณวิสัย ภูจันหา เกษตรกรผู้ปลูกพุทรา เล่าให้ฟังว่า ในบ้านโพน อำเภอคำม่วง จัดตั้งเป็นกลุ่มผู้ปลูกพุทรา พื้นที่ปลูกของสมาชิกราว 1,600 ไร่ ปลูกพุทราพันธุ์จัมโบ้นมสด และพวงทองหรือสามรส ได้มาตรฐาน GAP หรือมาตรฐานอาหารปลอดภัย

สำหรับพุทราบ้านโพนนั้น ใช้วิธีปลูกแบบกางมุ้ง เพื่อป้องกันแมลงวันทอง และไม่ต้องฉีดยาฆ่าแมลง 1 ไร่ จะใช้มุ้ง 7 ม้วน ราคาม้วนละ 4,300 บาท มุ้งสามารถใช้ได้ 5-6 ปี ปัจจุบันมี 1,600 ไร่ กางมุ้งไปเกือบ 50% แล้ว

เกษตรกรในพื้นที่ บอกว่า พุทราในแบบบ้านโพน ใส่นมสดซื้อจากฟาร์ม ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท เอามาผสมน้ำฉีด มีส่วนผสมอัตรา น้ำ 200 ลิตร ใส่นม 10 ลิตร ฉีดพอประมาณไม่ต้องให้ชุ่ม จะต้องฉีดทุกต้น ฉีดเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่ง “นม” จะทำให้พุทรากรอบและหอมขึ้น ผลผลิตพุทราต่อต้น ราว 200-250 กิโลกรัม

และเมื่อปี 2560 ไปรษณีย์ไทยได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เข้ามาสนับสนุนช่องทางการตลาด โดยคัดพุทราเกรดพรีเมี่ยมนำเข้าสู่ระบบของไปรษณีย์ไทย ในบริการ “อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์”

พร้อมทั้งจัดจำหน่าย ณ ที่ทำการไปรษณีย์ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ช่วยให้เกษตรกรในชุมชนมีรายได้ที่ดีขึ้น

“หลังจากที่ไปรษณีย์เพิ่มสุขเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางขาย ยอดสั่งซื้อก็เข้ามาเรื่อยๆ ทางกลุ่มจะเก็บพุทราตอนเช้า และจัดส่งในตอนเย็น ทางไปรษณีย์รับซื้อในกิโลกรัมละ 40 บาท” เกษตรกรผู้ปลูกให้ข้อมูล

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายโชติ เงินแท่ง ประธานกลุ่มเกษตรกรชาวสวนมะพร้าว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์หน้าจะเดินทางเข้าพบ นายพัลลภ สิงหเสนี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังจากเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวในจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกมากที่สุดในประเทศ โดยเฉพาะชาวสวนในอำเภอทับสะแก แหล่งปลูกมะพร้าวคุณภาพดี สอบถามความคืบหน้าการจัดซื้อสารเคมีฉีดพ่นต้นมะพร้าวที่มีความสูงต่ำกว่า 12 เมตร เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างหนักของแมลงดำหนาม ซึ่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีการระบาดมากที่สุด

หลังจากเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ว่าจ้างเอกชนเจาะลำต้นฉีดสารเคมีต้นมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร ได้เพียง 70% ของความเสียหายทั้งหมด โดยอ้างว่างบประมาณไม่เพียงพอ แต่ล่าสุดทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ส่งยาฉีดพ่นทางใบเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย ทำให้มีแมลงระบาดดำหนามระบาดเพิ่มในต้นมะพร้าวที่ต่ำกว่า 12 เมตร เป็นบริเวณกว้างในช่วงฤดูแล้ง ขณะที่ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ทำเครื่องหมายที่ต้นมะพร้าวที่ถูกแมลง กัดกินทั้งจังหวัดกว่า 3.2 ล้านต้น

“ผมไม่มั่นใจว่ากระทรวงเกษตรจะสนใจแก้ไขปัญหาแมลงดำหนามตามนโยบายเร่งด่วนจริงหรือไม่ จากการทำโครงการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว ด้วยวิธีผสมผสานแบบครอบคลุมพื้นที่ หลังจากรัฐบาลจัดสรรงบ 289 ล้านบาท ให้พื้นที่ระบาด 29 จังหวัดทั่วประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดซื้อสารเคมีเจาะลำต้น กระทรวงเกษตรดำเนินการจัดซื้อล่าช้านาน 6 เดือน อ้างว่ามีปัญหาจากการจัดซื้อสารเคมีด้วยวิธีพิเศษ ขณะที่การใช้สารเคมีฉีดพ่นทางใบควรทำพร้อมกับการเจาะลำต้น แต่ขณะนี้ล่าช้าไปกว่า 2 เดือน สอบถามเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดก็ไม่มีความคืบหน้า

ส่วนแตนเบียนที่มีการใช้งบเพาะเลี้ยงก็ยังไม่นำมาแจก ปัจจุบันนอกจากปัญหาแมลงระบาดทำให้ผลผลิตลดลง มะพร้าวราคาตกเหลือผลละ 13 บาท จากเดิม 23-25 บาท ส่วนมะพร้าวขาวสำหรับผลิตกะทิจากเดิมกิโลกรัมละ 42 บาท เหลือ 26-27 บาทเท่านั้น เป็นผลมาจากการอนุญาตให้นำมะพร้าวจากต่างประเทศเข้ามาผลิตในระบบอุตสาหกรรมส่งออก และ ในบางพื้นที่มีการลักลอบนำมะพร้าวเถื่อนเข้ามาทุบราคาในประเทศ” นายโชติ กล่าว

มาท่าน้ำวังหิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต้องไม่พลาดลิ้มลอง “ไก่กระบอก”

นายธนภัทร ชีระจินต์ ผู้สื่อข่าว ข่าวสด สุราษฎร์ธานี พาไปชิมเมนูนี้จากฝีมือ นายเอกราช ราชรักษ์ อายุ 29 ปี นายเอกราช ผู้คิดค้นเมนูประยุกต์เล่าว่า เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สีแดง เป็นที่ตั้งของค่ายคอมมิวนิสต์ 357 ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์จึงปรับเปลี่ยนการอาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่ยังคงมีการสืบทอดการปรุงอาหารด้วยกระบอกไม้ไผ่มาจนถึงปัจจุบัน

จึงมองว่าควรนำของที่มีในชุมชนมาสร้างประโยชน์เพิ่มในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ประกอบกับในพื้นที่มีไม้ไผ่อยู่จำนวนมาก จึงเกิดเมนูไก่กระบอก ให้คนภายนอกได้ลิ้มรสชาติและเอกลักษณ์หนึ่งของพื้นที่แห่งนี้

ขั้นตอนการผลิต นำเนื้อไก่ชิ้นคลุกเครื่องเทศและเครื่องแกง บรรจุใส่ลงไปในกระบอกไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว เคาะให้แน่นแล้วอุดด้วยใยมะพร้าว ก่อนนำไปย่างด้วยเตาถ่านอ่อน

รสชาติคล้ายห่อหมกผสมคั่วกลิ้ง เมื่อกินจะได้กลิ่นหอมของเครื่องเทศและใบมะกรูด เสิร์ฟพร้อมข้าวเหนียวร้อนๆ และน้ำมะพร้าวใส่กระบอกไม้ไผ่ กินใต้ร่มไม้ริมลำธารที่แม่ค้าจัดเตรียมไว้ให้ ช่วยเสริมสร้างบรรยากาศในการพักผ่อนของครอบครัว

นักท่องเที่ยวสามารถกินไก่กระบอกได้ที่จุดเล่นน้ำ ท่าน้ำวังหิน หมู่ที่ 17 บ้านสวนกล้วย ตำบลบ้านส้อง อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราคากระบอกละ 40 บาท

ดร. ณัฏฐ์ ดิษเจริญ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ศูนย์พี่เลี้ยง ม.อุบลฯ เปิดเผยถึงกิจกรรมการนำเสนอผลงานโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “ทรานส์ฟอร์เมทีฟ เลิร์นนิ่ง-เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ศูนย์พี่เลี้ยง ม.อุบลฯ ดำเนินการต่อเนื่องมาถึงปีนี้เป็นปีที่ 5 เป็น 1 ในทั้งหมด 8 ศูนย์ทั่วประเทศที่มีหน้าที่รับผิดชอบการอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มทักษะของครูในการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานบนฐานวิจัย ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะ เน้นการสร้างโจทย์จากการทำโครงงานที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติการค้นหาคำตอบจริงที่สอดคล้องกับการเรียนรู้และทักษะที่พึงมีในศตวรรษที่ 21

หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ม.อุบลฯ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ศูนย์พี่เลี้ยง ม.อุบลฯ ติดตามการดำเนินโครงการฐานวิจัยของโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 6 โรงเรียน จังหวัดยโสธร จำนวน 3 โรงเรียน รวม 9 โรงเรียน และศูนย์พี่เลี้ยงมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษที่ได้ร่วมจัดงานในครั้งนี้ รับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 10 โรงเรียน และจังหวัดสุรินทร์ จำนวน 1 โรงเรียน รวม 11 โรงเรียน ซึ่งในวันนี้มีโรงเรียนรวมทั้งสิ้น 20 โรงเรียน มีครูและนักเรียน รวมทั้งสิ้น 841 คน ร่วมนำเสนอผลงาน

“กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลสำเร็จของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาในรอบ 5 ปี แก่ ผู้บริหารจังหวัด และฝ่ายปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและนักเรียน เพื่อให้มีส่วนร่วมช่วยผลักดันให้เกิดการขยายผลสำเร็จของโครงการ ซึ่งเกิดขึ้นกับนักเรียนและครูไปยังโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครูและนักเรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน” หัวหน้าโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ม.อุบลฯ กล่าว

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายสิโรจน์ ชมใจ ประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ (อช.) ภูซาง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องการลักลอบตัดต้นไม้สนสองใบสามใบ ในเขตป่าอนุรักษ์ในความรับผิดชอบของ อช.ภูซาง เนื่องจากไม้สนดังกล่าวเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ใช้ก่อไฟแบบพื้นบ้าน หรือเรียกว่า ไม้เกี๊ยะ เพราะติดไฟได้ง่าย ซึ่งพบว่ามีไม้สนนำมาวางขายกันทั่วไปตามตลาดสดของอำเภอภูซาง และอำเภออื่นๆ ทั้งนี้ พบว่าไม้สนที่นำมาขาย ประมาณร้อยละ 90 ถูกลักลอบตัดในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของ อช.ภูซาง

นายสิโรจน์ กล่าวต่อว่า จึงขอความร่วมมือผ็นำทุกพื้นที่ในอำเภอภูซาง แจ้งให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน ตลอดจนตามตลาดสด ห้ามไม่ให้มีการซื้อ-ขายไม้สน และไม่ให้มีการนำไม้สนมาวางขายโดยเด็ดขาด เพราะ ไม้สนดังกล่าวเป็นไม้ในเขตป่าอนุรักษ์ รวมทั้งจะป้องกันไม่ให้มีการลักลอบตัดต้นไม้ในเขตป่าด้วย

ด้าน นายบันทม สมสุวรรณ หน.อช.ภูซาง กล่าวว่า เพื่อเป็นการรักษาผืนป่า โดยเฉพาะไม้สนสองใบสามใบ เป็นต้นไม้ที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ส่วนใหญ่ไม้สนจะขึ้นและเติบโตในพื้นที่สูงจนถึงสูงชัน การตัดต้นสนเพื่อให้ได้ส่วนที่เป็นไม้น้ำมันสนจะต้องโค่นทั้งต้น ซึ่งเป็นการทำลายต้นไม้อย่างน่าเสียดายอย่างยิ่ง ดังนั้น การขอความร่วมมือไปยังประชาชนทั้งผู้ซื้อและผู้ขายช่วยกันตระหนักถึงความสำคัญของต้นสนและผืนป่าที่สมบูรณ์ด้วยการลด ละ เลิกการตัด ซื้อ-ขาย และไม่ใช้ไม้สนเป็นเชื้อไฟอีก ต่อไป

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2561 อย่างเป็นทางการ

โดยมี นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ ทหารบก ทหารเรือ และตำรวจแห่งชาติ คณะผู้แทนหน่วยงานและองค์กรต่างๆ คณะอาสาสมัครฝนหลวงร่วมในพิธี ที่สนามบินนครสวรรค์ ทั้งนี้สำหรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 31 ตุลาคม พร้อมตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 7 หน่วยปฏิบัติการ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศ

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมเจ้าหน้าที่ชุดจับนกเงือกจากกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำโดย นายพิชัย สายวิเศษ รองหัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าภาคกลาง จังหวัดนครนายก เดินทางมาจับนกเงือกขนาดใหญ่ หลังจากมีรายงานว่าพบนกเงือกบินมาเกาะกินลูกไทรข้างบ้านพักพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ ในเกาะเมืองกรุงเก่า อำเภอพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีนักเรียนเห็นมานานกว่า 6 สัปดาห์ แล้ว จึงหวั่นเกรงว่าจะถูกยิงตาย และเป็นนกที่หายาก จึงได้ประสานงานไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจสอบพร้อมติดตามความเคลื่อนไหวมา 4 วันแล้ว พบว่าเป็นนกเงือกขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 6 กิโลกรัม

ทั้งนี้ นายสัตวแพทย์ เบญจรงค์ สังขรักษ์ นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้นำยากล่อมปราสาทผสมกับเนื้อมะละกอสุกที่นกเงือกชอบกิน วางไว้บนระเบียงอาคารพนักงานอัยการชั้น 4 หากนกเข้ามากินไม่เกิน 15 นาทีจะหลับ หากเกาะอยู่บนต้นไม้สูงก็อาจร่วงลงมาจึงต้อง เตรียมตาข่ายรับตัวนกที่มีน้ำหนักมาก เพื่อป้องกันการบาดเจ็บ รอจนกระทั่งนกบินมากินมะละกอสุกที่ระเบียงอาคาร พบว่านกเริ่มมีอาการอ้าปากเหมือนหาวนอน คอตก ปีกห่อ แล้วร่วงลงมาจากต้นโพธิ์ เจ้าหน้าที่จึงกางตาข่ายรองรับ จากนั้นจับใส่กรงพลาสติกที่เตรียมไว้อย่างรวดเร็วเพื่อนำไปอภิบาลที่ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่า ภาคกลาง จังหวัดนครนายก ต่อไป

นายพิชัย เปิดเผยว่า ดูจากลักษณะของนกคาดว่าจะเป็นนกเลี้ยงที่คนเลี้ยงเกรงกลัวความผิดปล่อยออกมา จึงมีนิสัยเชื่องผิดกับนกป่า ที่จะยอมให้เราเข้าใกล้หรือกินเหยื่ออาหารที่วางล่อไว้

“กฤษฎา” เตรียมชงพาณิชย์ตั้งคณะกรรมการยางพารา ควบคุมการผลิต-ราคายางพารา พร้อมเรียกประเทศผู้ผลิตยางหารือแนวทางลดกรีดยาง ไอเดียบรรเจิดอีก เล็งเสนอกรีดยางวันเว้นวัน หรือกรีด 15 วัน ต่อเดือน หรืออีกแนวทางหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นเวลา 3 เดือน

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการยางพารา ประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ เอกชน และชาวสวนยางพารา เนื่องจากอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ปี 2542 ซึ่งกำหนดให้ยางพาราเป็นสินค้าควบคุม และกระทรวงพาณิชย์ต้องเข้ามาดูกลไกราคายางพารา โดยคณะกรรมการนี้จะมีอำนาจหน้าที่ในการไปดูต้นทุนยางพารา ดูการผลิตยางว่าราคาไหนเหมาะสมกับการรับซื้อ ราคาไหนเหมาะสมกับการส่งออก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร

นอกจากนี้ หากสามารถตกลงเรื่องข้อกฎหมายกับกระทรวงพาณิชย์ได้ ก็เตรียมนำเรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อที่จะเสนอในที่ประชุม นอกจาแนวทางการหยุดกรีดยาง 3 เดือน ในการประชุมวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ เชิญประเทศผู้ผลิตยางพาราส่งออก อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย มาร่วมหารือด้วย และทุกประเทศตอบรับคำเชิญเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงแต่ประเทศอินเดีย เนื่องจากพบว่าประเทศอินเดียเริ่มส่งออกยางและขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอีกรายหนึ่ง ถ้าทุกประเทศเห็นชอบด้วยจะทำให้เกษตรกรทุกประเทศได้รับความเป็นธรรมในการขายสินค้า

สำหรับมาตรการหยุดกรีดยาง ขณะนี้มี 2 แนวทางคือ 1. หยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2561 2. หยุดกรีดยางทุกไร่ แต่กรีดแบบวันเว้นวัน หรือกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีดยาง 15 วัน เพื่อลดปริมาณยางในตลาด กำลังหาแนวทางที่ชัดเจน รวมถึงเรื่องงบประมาณที่จะใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ระหว่างชะลอการกรีดยางหรือหยุดกรีดยาง ต้องไม่ให้เป็นภาระกับงบประมาณหลวง

นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ยังได้ส่งหนังสือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.) ทุกจังหวัด ให้เร่งรัดการใช้ยางในประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา อบจ.หลายแห่งไม่กล้าดำเนินการเพราะติดขัดเรื่องระเบียบอยู่ ส่วนเรื่องงบประมาณกระทรวงมหาดไทย ให้อบจ.ใช้งบประมาณได้ 2 ทาง คือ งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และงบประมาณสำรองจ่าย 25%

พิษณุโลก– พลโทวิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาค ที่ 3 เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความ ร่วมมือ ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการน้ำ บางระกำโมเดล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เพื่อให้ทุกภาคส่วนบูรณาการแผนงานให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในพื้นที่ ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะ การแก้ไขปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ การจัดทำประตูน้ำ คลองผันน้ำ การเก็บน้ำลงดิน การพิจารณาพื้นที่เนินเขาเป็นพื้นที่รับน้ำ ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง ทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำร่วมกันอย่างเป็นระบบ ในโครงการบางระกำโมเดล 60

ดังนั้น ในปีนี้ กองทัพภาคที่ 3 จึงจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการน้ำ “บางระกำ 61” การบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวนาปี พื้นที่ลุ่มต่ำ ในเขต ชลประทาน ปี 2561 ขึ้น โดยมีหน่วยงานภาครัฐสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และตัวแทนภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อบริหารจัดการน้ำ “บางระกำ 61” ครอบคลุมพื้นที่ 382,000 ไร่ ก่อนที่จะเริ่มปล่อยน้ำนอนคลอง ในวันที่ 15 มีนาคม นี้

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ จัดทำขึ้นเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้มีการบูรณาการแผนงาน โครงการและงบประมาณ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในขอบเขตพื้นที่ของโครงการ แบบชุมชนมีส่วนร่วมตามแผนงาน อีกทั้งยังส่งผลให้ประชาชนมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นอกจากนี้ยังจะขยายผลความสำเร็จ โดยเป็นต้นแบบให้กับหน่วย งานอื่นๆ ได้นำไปพิจารณาใช้ประโยชน์ ในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำอื่นๆ ของประเทศได้อีกด้วย