สำหรับต้นทุนการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกสหกรณ์

ในพื้นที่อำเภอพิชัย เฉลี่ยที่ 3,769 บาท ต่อไร่ สมาชิกที่ปลูกคาดว่าจะได้ผลิตผลิตเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ คาดการณ์ว่าจะสามารถขายข้าวโพดได้ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท ความชื้น 30% ซึ่งสมาชิกจะมีรายได้ประมาณไร่ละ 7,500 บาท เป็นอย่างต่ำ ทำให้เกษตรกรมีกำไรต่อไร ไม่ต่ำกว่า 3,731 บาท ต่อไร่ ซึ่งในปัจจุบันถือว่ามีรายได้มากกว่าการปลูกข้าวซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ส่วนการดำเนินงานในจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ผ่านมากรมได้มอบหมายให้สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ จัดหาพื้นที่เป้าหมายและเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการปรับเปลี่ยนการทำนาข้าวมาเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และจะยกระดับให้เป็นพื้นที่นำร่องภายใต้ชื่อ “อุตรดิตถ์โมเดล” ในเขตพื้นที่อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ โดยกรมได้เตรียมการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ให้สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการกู้ยืมไปใช้เป็นเงินทุนสำหรับการรวบรวมผลผลิตข้าวโพดจากสมาชิกและเกษตรกรในพื้นที่ และส่วนหนึ่งนำไปให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อใช้เป็นทุนเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เฉลี่ยรายละ 3,700 บาท ต่อไร่ โดยได้เน้นย้ำให้เกษตรกรสมาชิกควบคุมดูแลคุณภาพผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น

จากนั้น นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พบปะให้กำลังใจแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลังนา โดยกิจกรรมที่ดำเนินการ ได้แก่ การมอบเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ให้แก่สหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสมาชิกเป็นทุนสำหรับการเพาะปลูก การเยี่ยมชมนิทรรศการให้ความรู้ทางวิชาการในการปลูกข้าวโพด การสาธิตการหยอดข้าวโพด และตรวจเยี่ยมจุดรวบรวมข้าวโพดของเครือข่ายสหกรณ์ผู้ผลิตข้าวโพดในจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ ตลาดกลางรวบรวมและรับซื้อข้าวโพดของสหกรณ์การเกษตรเมืองตรอน จำกัด ติดถนนหมายเลข 11 ตำบลน้ำอ่าง อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์

กิจกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมการปลูกพืชหลังนา เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยกลไกสหกรณ์ในครั้งนี้ จะช่วยให้สมาชิกสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ เกิดความมั่นใจในการประกอบอาชีพ การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาได้อย่างมีคุณภาพ มีระบบการบริหารจัดการ การส่งเสริมการผลิตและการตลาดโดยใช้กลไกสหกรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกและครอบครัวได้อย่างมั่นคง

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ยื่นหนังสือเสนอ 8 มาตรการ ช่วยชาวสวนยาง “รับจำนำยาง” เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
รับจำนำยาง / 4 ก.ย. 61 ที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยียางเพื่อชุมชน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง นายประทบ สุขสนาน รองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ ได้ยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (บอร์ด กยท.) เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ยื่นหนังสือ เสนอ 8 มาตรการ ช่วยชาวสวนยาง “รับจำนำยาง” เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
“ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางเป็นอย่างมาก เกษตรกรมีรายได้ไม่พอกับการเลี้ยงชีพ มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัว เครือข่ายชาวสวนยางภาคใต้ได้จัดประชุมที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 61 มีตัวแทนจากหลายจังหวัดเข้าร่วมประชุม”

รายงานข่าวว่า ได้ข้อสรุปนำเสนอต่อประธานกรรมการ การยางแห่งประเทศไทย ให้เร่งดำเนินการปรับปรุง และนำมาปฏิบัติ 8 ข้อ 1 ให้เร่งโครงการการใช้ยางในหน่วยงานภาครัฐ สนับสนุนให้หน่วยธุรกิจการยาง กลับมาดำเนินการ พร้อมดูแลตลาด เปิดตลาดไทยคอมฯ ประมูลวันละ 2 ครั้ง เร่งเข้ามาปรับปรุงตลาดกลางและเชื่อมโยงตลาดเครือข่ายของตลาดกลาง และสร้างโรงงานล้อยางแห่งชาติโดยใช้งบกลาง

รายงานข่าวว่า พื้นที่ปลูกยางที่เคยได้รับการสงเคราะห์ปลูกแทน หรือบัตรสีชมพู ให้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ ที่ควรจะได้จากการจัดสรรเงินเซส การรับปุ๋ยโดยวิธีโอนสิทธิ์ผ่านการประมูลหรือให้สถาบัน หรือให้สถาบันเกษตรกรจัดการ โดยมีกติกา เช่น เข้าร่วมโครงการเป็นจุดจ่ายปุ๋ยโดยมีระเบียบรองรับ การจ่ายเงินเข้าสมุดบัญชีเจ้าของสวนยางต้องมีเงื่อนไขกติกา เช่น ใบเสร็จที่นำส่ง พสย. ต้องเป็นไปตามระเบียบ และต้องตั้งกรรมการสุ่มตรวจทุกสาขา การออกหนังสือยุติการประกาศการจัดซื้อปุ๋ยผ่านระบบ Ebriding ขอให้คณะกรรมการยกร่าง ทีโออาร์ ชี้แจงเจตนารมณ์ในข้อ 2.14

รายงานข่าวว่า การบริหารงานของรักษาการผู้ว่าการการยางเหมือนขายฝัน พูดมากกว่าทำ ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กระจายอำนาจ เช่น การสั่งหยุดโรงงาน 4,5,6 ผลผลิตเข้าสู่บริษัทไหน ทำไมไม่ขายยางแล้วซื้อยางก้อน ยางถ้วย เพื่อเป็นการค้านอำนาจตลาดผูกขาด และการสั่งหยุดกิจการจนไม่มีการซื้อขายใดๆ นั้นทำให้เป็นอัมพาตกันหมด

รายงานข่าวว่า การตั้งที่ปรึกษาของรักษาการผู้ว่าการการยาง ที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับที่มาของหลายคน ขอแก้ไขผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับยางทั่วประเทศ โดยให้ตรวจสอบดูที่บริษัทใหญ่ ได้ขออนุญาตก่อนปี 58 แต่ยังไม่ก่อสร้างมีจำนวนเท่าไร เพราะบริษัทเหล่านี้เอาเปรียบผู้อื่น ให้มีการชดเชยรายได้ให้ชาวสวนยาง และ ข้อ 8. การจำนำยาง

ทางด้าน พล.อ. ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยในบางส่วนแล้ว และขณะนี้ปัญหาต่างๆ ที่ตัวแทนชาวสวนยางยื่นเสนอทางบอร์ด กยท. มีแผนในการแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งพร้อมจะดำเนินการต่อไป ขณะเดียวกันทางผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองรับทราบมาโดยตลอด

“วิธีการแก้ไขไม่สามารถเปิดเผยได้ สำหรับแนวโน้มราคายางพาราที่ผ่านมา ราคาไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่รัฐบาลพยายามแก้ไข และพูดคุยกับส่วนที่เกี่ยวข้อง คิดว่าในอนาคต ราคายางพารา น่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในที่สุด” พล.อ. ฉัตรเฉลิม กล่าว

ชีวิตที่หรูหรา-มีคุณภาพครบถ้วน ทั้งปัจจัย 4 ไม่ได้มีเฉพาะคนที่อยู่ในใจกลางเมือง ที่เต็มไปด้วยความเจริญทั้งด้านเทคโนโลยี แสงสี และความสมบูรณ์พร้อมด้านสาธารณูปโภค

หากว่า ชีวิตครอบครัวของ “สันติชัย จงเกียรติขจร” เกษตรกร ที่เชิงเขาสันกาลาคีรี อ.เบตง จ.ยะลา นั้นหรูหรา มีระดับ ที่คนในเมืองต้องอิจฉา เขาตื่นมา “กดเงิน” จากต้นมังคุด ด้วยออเดอร์ทางโทรศัพท์ ได้เงินสดๆ ก่อนเที่ยงวัน 4,000 บาท

ตามด้วย “ตักเงิน” จากปลานิลในบ่อหลังบ้าน 100 กิโลกรัม รับเงินสดม้วนกลม-มัดด้วยหนังสติ๊ก อีก 9,500 บาท ลูกๆ และภรรยาของ “สันติชัย” เชี่ยวชาญในการรับแขก ทั้งที่เป็นลูกค้า และข้าราชการ ที่มาดูงานอย่างต่อเนื่อง

อาหารเที่ยงที่ทำจากปลา ขนมหวาน และผลไม้ ที่ถูกจัดขึ้นโต๊ะรับแขกที่มาจาก หน้าบ้าน ทุกจาน-ทุกอย่าง “สด” จากสวนหลังบ้าน

“สันติชัย” เล่าอย่างถ่อมตนว่า เขามีหนี้เล็กน้อย ราว 2 ล้านบาท จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขณะที่รายได้หลักของเขามาจาก “บ่อปลานิล” แทนอาชีพกรีดยางอันเป็นมรดกคลาสสิกจากรุ่นพ่อ ที่เขามุ่งมั่นทำมากว่า 20 ปี “เดิมกรีดยาง มีรายได้ปีละกว่า 75,000 บาท แต่เลี้ยงปลานิล 2-3 บ่อ ในระยะเวลา 4-5 เดือน จับขายได้ ทำให้มีรายได้ประมาณ 450,000 บาท หากนับเงินหมุน ตามจำนวนปลา และรอบของการเลี้ยงปลา อาจกล่าวได้ว่า รายได้น่าจะแตะที่ 1.1 ล้านบาท ต่อปี” สันติชัย กล่าวตัวเลขกลมๆ ที่ไม่นับรายได้เสริมจากผลิตผลรอบๆ บ้านอีกหลายชนิด

ผังฟาร์มของ “สันติชัย” ในเนื้อที่ 40 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่บ่อเลี้ยงปลา 3 ไร่, ยางพารา 18 ไร่, สวนผลไม้ 15 ไร่, พื้นที่ป่า 2 ไร่ และบ้านพัก 2 ไร่

เขาคำนวณคร่าวๆ ว่า การเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพหลัก บนพื้นที่ 2 ไร่ มีรายได้เท่ากับปลูกยางพาราในพื้นที่ 100 ไร่ เลยทีเดียว ดังนั้น ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งราคายางตกต่ำอย่างหนัก ทำให้ “สันติชัย” แทบจะลืมวิชากรีดยางไปเลย เขาใช้วิธีการจ้างเพื่อนบ้านทำแทน และ “ยาง” กลายเป็นอาชีพเสริม เพราะเขาบอกว่า “ในระยะหลัง ผมไม่สนใจราคายางพารามากนัก”

ขณะเดียวกัน เราได้สัมภาษณ์ “ชนธัญ นฤเศวตตานนท์” ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลบ้านบ่อน้ำร้อน อ.เบตง จ.ยะลา เขาบอกว่า “จุดแข็งของปลานิล เบตง คือ เลี้ยงในระบบน้ำไหลจากเทือกเขาสันกาลาคีรี เป็นวิธีทางธรรมชาติ ทำให้ปลาแข็งแรง และน้ำที่ไหลมามีแร่ธาตุที่อุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้ำบริเวณป่าต้นน้ำที่ใสสะอาด และมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส ทำให้ปลานิลมีเนื้อที่ดี สมบูรณ์ ไม่มีกลิ่นสาบดิน หรือกลิ่นโคลน เหมือนกับปลาที่เลี้ยงในบ่อธรรมดา”

เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมในคณะเดินทาง ร่วมให้ข้อมูลว่า จุดเปลี่ยนของ “ปลานิล” ใน อ.เบตง คือ เมื่อ ปี 2546 เกิดน้ำป่าในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาสายพันธุ์ต่างๆ ในบ่อ รวมทั้งสวนยางพารา สวนผลไม้ ทุเรียน มังคุด และเงาะ ได้รับความเสียหาย จึงคิดเริ่มต้นอาชีพใหม่ๆ

กลุ่มเกษตรกรจึงหันมาเลี้ยงปลานิล ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานให้แก่เกษตรกรเมื่อปี 2509 เพื่อเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย โดยเริ่มแรกมีการใช้บ่อเลี้ยงภายในโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา จากนั้นได้พระราชทานพันธุ์ปลานิล ให้กับกรมประมงเพาะขยายพันธุ์ แจกจ่ายให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ

สำหรับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลานิล บ้านบ่อน้ำร้อน มีสมาชิก 11 ราย ส่งปลาขายตรงให้กับร้านอาหารใน อ.เบตง จ.ยะลา และพื้นที่ใกล้เคียง ในราคากิโลกรัมละ 95 บาท ในแต่ละเดือนร้านหารต่างๆ ต้องการปลานิล ประมาณ 400-500 กิโลกรัม เกษตรกรในกลุ่มมีรายได้รวมกันในปี 2560 ที่ผ่านมากว่า 10 ล้านบาท

ด้วยความพิเศษของปลานิล ในระบบน้ำไหลของ อ.เบตง ที่มีลักษณะแตกต่างจากปลานิลที่เลี้ยงในพื้นที่อื่นๆ ทางกลุ่มผู้เลี้ยงปลานิล จึงปรึกษากับตัวแทนกระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำเสนอให้ “ปลานิล-เบตง” ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เพื่อให้ปลานิลในพื้นที่เชิงเขาสันกาลาคีรี เป็นที่รู้จักในระดับโลกต่อไป

สศก. ร่วมเวทีคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ-เอกชน หรือ FTA Pro-Active รุกแนวทางการค้าเสรีเชิงยุทธศาสตร์ หวังขยายการค้าและการลงทุนของไทย เผย ปัจจุบันไทย มีความตกลงการค้าเสรีที่มี ผลบังคับใช้แล้วรวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ เตรียมขยายผลเจรจาในกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าการค้าสูง เช่น สหภาพยุโรป หวังขยายตลาดสินค้าเกษตร สร้างโอกาสการค้าและเศรษฐกิจของประเทศ

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานคณะทำงานร่วมระหว่างรัฐ-เอกชน (FTA Pro-Active) ซึ่งเป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยคณะทำงานได้มีการประชุมเพื่อร่วมกันปรับปรุงความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ที่ไทยได้จัดทำแล้ว การเสนอแนะแนวทางในการพิจารณาจัดทำ FTA ของไทยในอนาคต หารือแนวทางการค้าเสรีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อขยายการค้าและการลงทุนของไทยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ตลอดจนหารือถึงอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการค้าเสรีที่ผ่านมา ภายใต้ความตกลงต่างๆ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไข เช่น เรื่องกฎถิ่นกำเนิดสินค้า การปรับโอนพิกัดศุลกากร เพื่อให้ไทยได้รับผลประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีเพิ่มมากขึ้น เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ณ กระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทย มีความตกลงการค้าเสรีที่มีผลบังคับใช้แล้วรวม 13 ฉบับ 18 ประเทศ ประกอบด้วยไทยกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ไทย-ออสเตรเลีย ไทย-นิวซีแลนด์ ไทย-ญี่ปุ่น ไทย-อินเดีย ไทย-ชิลี ไทย-เปรู และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อาเซียน อาเซียน-จีน อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และอาเซียน-ฮ่องกง โดยปี 2560 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรกับประเทศต่างๆ ดังนี้ อาเซียน 439,129 ล้านบาท จีน 290,943 ล้านบาท ญี่ปุ่น 172,711 ล้านบาท ออสเตรเลีย 46,040 ล้านบาท เกาหลีใต้ 41,723 ล้านบาท อินเดีย 32,979 ล้านบาท นิวซีแลนด์ 20,438 ล้านบาท ชิลี 8,143 ล้านบาท และเปรู 4,425 ล้านบาท

สำหรับความตกลงที่อยู่ระหว่างเจรจา ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่ง ปี 2560 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 1,043,062 ล้านบาท ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) มูลค่า 100,313 ล้านบาท ไทย-ตุรกี มูลค่า 6,520 ล้านบาท ไทย-ปากีสถาน มูลค่า 6,001 ล้านบาท และไทย-ศรีลังกา มูลค่า 5,192 ล้านบาท ซึ่งหากไทยสามารถบรรลุข้อตกลงดังกล่าวได้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยและประเทศคู่เจรจาได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนเจรจาในอนาคตกับกลุ่มประเทศที่ไทยมีมูลค่าการค้าค่อนข้างสูง ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งปี 2560 ไทยมีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตร 160,865 ล้านบาท สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) มูลค่า 11,526 ล้านบาท บังกลาเทศ มูลค่า 9,823 ล้านบาท และ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (EAEU) มูลค่า 7,589 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ไทยจะสามารถขยายตลาดใหม่ เพื่อสร้างโอกาสในการค้า ของไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยในภาพรวมยิ่งขึ้น

กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ได้คัดเลือกเกษตรกรคนเก่ง ภายใต้โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” จำนวน 40 ราย เข้าชมนิทรรศการ Agritechnica Asia 2018 งานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรทางการเกษตรและเครื่องจักรนวัตกรรมจากต่างประเทศ เปิดโอกาสให้เกษตรกรได้เข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรในระดับโลก เพื่อยกระดับเกษตรกรไทยให้เป็นเกษตรกร 4.0 เพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน สนับสนุนให้เกษตรกรคนเก่งเกิดการรวมกลุ่ม นำไปสู่การเพาะปลูก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบแปลงใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และพัฒนาคุณภาพข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มุ่งสู่การเพาะปลูกที่ได้มาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับสากล

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังจัดให้เกษตรกรเข้ารับฟังการบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ “เทคโนโลยีเครื่องจักรสมัยใหม่เพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดแปลงใหญ่และมาตรฐานการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน” โดยมี คุณวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ปัจจุบัน เครื่องผลิตปุ๋ยที่ใช้ในท้องตลาด หรือตามชุมชนส่วนใหญ่ จะมีการผลิตแบบแยกเครื่อง คือ เครื่องผสม เครื่องอัดเม็ด ซึ่งการผลิตไม่มีความต่อเนื่องในสายการผลิต แต่มักจะมีเฉพาะในโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดใหญ่เท่านั้น หากเกษตรกรต้องการใช้ปุ๋ยต้องนำวัตถุดิบมาเข้าเครื่องผสม ซึ่งจะเพิ่มขั้นตอนในการผลิตและใช้กำลังคนเข้ามาช่วย อีกทั้งต้องรอให้เครื่องผสมปุ๋ยเสร็จก่อนแล้วนำไปเข้าเครื่องอัดเม็ด

จากเหตุผลข้างต้น อาจารย์วรพงค์ บุญช่วยแทน อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ได้ประดิษฐ์เครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด โดยการออกแบบเครื่องผสม เครื่องอัดเม็ด และเครื่องอบให้อยู่ในสายการผลิตเดียวกัน ซึ่งจะลดเวลาและขั้นตอนในการผลิตปุ๋ย

ลักษณะด้านมิติของตัวเครื่อง มีความกว้าง 1.4 เมตร ยาว 1.80 เมตร และสูง 1.20 เมตร เครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก โดยมีลูกล้ออยู่ที่ฐานของเครื่องจักร ส่วนประกอบของเครื่องประกอบไปด้วย

1) ฐานเครื่องจักรและระบบส่งกำลัง ซึ่งประกอบไปด้วย เพลากำลังส่ง มอเตอร์ไฟฟ้า กระแสสลับ 220 โวลต์ 30HP สายพาน และล้อสายพาน แบริ่ง

2) ถังผสม ซึ่งประกอบไปด้วย แกนหมุด ใบกวาดและชุดเกียร์ทด อัตราในการทด 60:1 ลักษณะของถังผสมและแกนหมุนใบกวาด การทำงานจะอาศัยกำลังของเกียร์ทดในการทำหน้าที่ขับแกนหมุน โดยที่แกนหมุนจะต่อกับใบกวาดเพื่อกวาดและผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกัน

3) ชุดอัดเม็ด ซึ่งประกอบไปด้วย ใบกวาด ชุดอัดเม็ด และตัวประคองเม็ดปุ๋ย ในส่วนของการอัดเม็ดปุ๋ยจะอาศัยการกวาดของใบกวาดเป็นตัวลำเลียงส่วนผสมที่ผสมแล้วเข้าสู่ชุดอัดเม็ด

4) ระบบลำเลียงเม็ดปุ๋ยเข้าถังอบ ซึ่งประกอบไปด้วย สายพานลำเลียงกะพ้อ จำนวน 10 ลูก ขนาด 6×4 เซนติเมตร 5) ถังอบปุ๋ย ซึ่งประกอบไปด้วย สายพานลำเลียง เพลากำลังส่ง มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ 220 โวลต์ 1/4 HP สายพาน ล้อสายพาน แบริ่ง และฮีตเตอร์อินฟาเรด DW-1 300 W E 27 ชุดเกียร์ทด ที่มีอัตราการทดที่ 40 :1

6) ระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ประกอบไปด้วย อุปกรณ์เหนี่ยวนำแม่เหล็ก สวิตช์ตัดวงจรอัตโนมัติ สวิตช์เปิด-ปิด อุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ กล่องควบคุม

การทำงานของเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด

เริ่มจากการนำส่วนผสมใส่ลงในถังผสมที่บรรจุส่วนผสม ประมาณ 10-15 กิโลกรัม และเปิดสวิตช์ที่เครื่อง หลังจากนั้น สังเกตดูส่วนผสมให้เข้ากัน เมื่อส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันแล้ว ดึงคันโยกที่ถังผสมแล้ว ใบกวาดจะกวาดส่วนผสมทั้งหมดเข้าสู่ชุดอัดเม็ด หลังจากนั้นเครื่องจะลำเลียงปุ๋ยที่ผ่านชุดอัดเม็ดปุ๋ย วิ่งผ่านสายพานที่มีกะพ้อ ตักไปสู่ถังอบ ซึ่งได้ปุ๋ยอัดเม็ดที่สำเร็จแล้ว จำนวน 8-12 กิโลกรัม

คุณสมบัติของเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด จะช่วยลดระยะเวลาในการผลิต โดยปกติหลังจากการผสมส่วนผสมต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ต้องนำปุ๋ยไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน และแรงงานคน 8-10 คน ด้วยความสามารถของเครื่องผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด จะช่วยลดระยะเวลาในการผลิตลง เหลือเพียงแค่ 30 นาที และแรงงานคนเหลือเพียง 2 คน โดยวิธีการอบ เพราะได้ออกแบบมาเป็นพิเศษที่ไม่เหมือนกับในท้องตลาด ที่แยกการทำงานของเครื่องออกจากกัน ช่วยให้เกษตรกรลดระยะเวลา ค่าใช้จ่ายและลดขั้นตอนวิธีการทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสามารถนำไปใช้งานได้จริง

ต้นทุนในการประกอบเครื่อง ประมาณ 70,000 บาท สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา โทรศัพท์ 08-1569-7303

แม้จะเลยฤดูการให้ลูกของเจ้าหนูจิงโจ้มาแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ที่จะนำความน่ารักมาเขียนถึงในตอนนี้ เพราะเชื่อว่า อาจมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งที่สนใจพฤติกรรมและนิยมชมชอบเจ้าหนูจิงโจ้ไปเสาะแสวงหามาเลี้ยง ซึ่งแม้จะเลยฤดูการให้ลูกมาแล้ว ก็ยังคงหลงเหลือหนูจิงโจ้จำนวนหนึ่งให้ได้จับจองกัน

หากให้นึกภาพตามชื่อของ “หนูจิงโจ้” สัตว์เลี้ยงสวยงามชนิดนี้ คงได้ภาพที่ไม่ผิดแผกจากความเป็นจริง เพราะขนาดของรูปร่างที่กะทัดรัดเหมือนหนู แต่มีขาหลังยาวและใช้การกระโดดแทนการเดินเหมือนจิงโจ้ ทั้งที่จริง หนูจิงโจ้ ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับจิงโจ้แม้แต่น้อย