สำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรเป็นการดำเนินงานภายใต้

“การทำงานร่วม Koronivia” (Koronivia Joint Work program on Agriculture) ซึ่งการเจรจามุ่งหวังให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนำความรู้ต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ อาทิ ที่ดินเพื่อการเกษตร การจัดการมูลสัตว์ ความมั่นคงด้านอาหาร และภาวะเศรษฐกิจสังคมที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตาม Roadmap ภายในปี ค.ศ.2020

ด้านประเทศไทยและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ได้เน้นความต้องการให้ประเทศภาคีตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อระบบการเกษตรซึ่งเป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูง โดยเน้นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมีมาตรการช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านประเทศพัฒนาแล้วในรูปแบบศูนย์ข้อมูลกลาง การดำเนินการร่วมกันขององค์กรภายใต้ UNFCCC และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองทุนสภาพภูมิอากาศสีเขียว หรือ Green Climate Fund เพื่อรับมือและบรรเทา ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อภาคการเกษตร

ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภาคการเกษตร อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบและข้อสรุปที่ได้จากการเจรจาฯ โดยเตรียมจัดทำเป็นท่าทีในการเจรจาตามแนวปฏิบัติของประเทศภายใต้คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติภายใต้กลุ่ม 77 และจีน (G77 and China) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป โดยขณะนี้ สศก. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนภูมิอากาศด้านการเกษตร ที่เน้นการปรับตัวและผลประโยชน์ร่วมซึ่งสามารถส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกภาคเกษตร โดยตามรายงานฉบับ 2 ปี ของประเทศไทย พบว่า ภาคการเกษตรปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases หรือ GHGs) ร้อยละ 17.32 ในปี 2015 ลดเหลือร้อยละ 15.98 ในปี 2017

หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ โดยมีสาระสำคัญคือ ให้กัญชาและกระท่อม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในยาเสพติด ประเภท 5 ให้สามารถนำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และนำไปใช้รักษาโรคภายใต้การดูแลของแพทย์ ในขณะที่มูลนิธิชีววิถี หรือ ไบโอไทย ออกมาวิตกว่า แม้กฎหมายผ่าน แต่ความเป็นจริงยังติดที่คำขอสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติ ที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาบอกว่า ยกเลิกไปแล้ว 3 ตัว จาก 10 ตัว ที่น่าจะมีปัญหาผิด พ.ร.บ. สิทธิบัตรฯ แต่ปรากฏว่าไม่มีการยกเลิก จนทำให้ ไบโอไทย เตรียมหารือเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย

สิทธิบัตรกัญชา-ความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม นพ. โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ตามที่ สนช. ผ่านร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ภาพใหญ่ถือว่ามีประโยชน์ที่จะได้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ขอย้ำว่า การคลายล็อกครั้งนี้ไม่ใช่เสรี มีการควบคุมเช่นเดิม เพียงแต่เปิดทางให้ใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์ได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังวลในเรื่องปัญหาสิทธิบัตร ที่ต่างชาติมายื่นคำขอและก่อนหน้านี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เคยให้ข่าวว่า จะมีการยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่เข้าข่ายขัด พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แต่ปรากฏว่า ไบโอไทยมีการตรวจสอบและเปิดเผยว่า ไม่มีการยกเลิกแต่อย่างไร เรื่องนี้จึงเกิดคำถามว่า ตกลงคืออะไรกันแน่

“ขณะนี้ได้มอบให้ทาง นพ. วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ระดมทีมนักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิบัตรกัญชาของ อภ. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาหารือร่วมกันว่า สรุปแล้วเมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ยกเลิกสิทธิบัตรที่มีปัญหา เราก็ต้องหาข้อมูลเพื่อหาทางออกให้ได้ เพราะเรามองว่าขัดต่อกฎหมายสิทธิบัตร เพราะกฎหมายระบุว่าห้ามยื่นจดว่ารักษาโรค

หรือสารที่มาจากธรรมชาติ ทำไม่ได้ แต่เมื่อไม่มีการดำเนินการ จะส่งผลต่อการเดินหน้าพัฒนาสารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ของ อภ. หรือไม่ ตรงนี้ต้องชัดเจน เนื่องจากบอร์ด อภ. มีมติเดินหน้าผลิตสารสกัดกัญชาเพื่อทางการแพทย์ไปแล้วด้วยงบประมาณระยะสั้น 10 ล้านบาท เพื่อปลูกกัญชาใช้ทางการแพทย์เอง ซึ่งคาดว่าจะปลูกได้ครั้งแรกก่อนวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ เพราะตามโรดแมปต้องผลิตสารสกัด ซึ่งเป็นน้ำมันกัญชาออกมาได้ประมาณเดือนพฤษภาคม 2562″ นพ. โสภณ กล่าว และว่า เมื่อผลิตน้ำมันกัญชาได้ ตามโรดแมปของ อภ. ก็จะเดินหน้าสร้างโรงงานกึ่งอุตสาหกรรม 130 ล้านบาท ต่อไป

ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเรื่องการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาหุ้นร่วมกับภาครัฐได้ เพราะมองว่าต้องอาศัยเทคโนโลยีจากต่างประเทศนั้น ที่ผ่านมาทาง อภ. ไม่เห็นด้วย ถ้าต่างชาติเข้ามาหุ้นก็จะมีผลประโยชน์ไปตลอด ซึ่งแตกต่างจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี ต่างชาติเองจ้องจะเข้ามาในประเทศไทยอยู่แล้ว แม้แต่ อภ. ต่างชาติก็ต้องการเข้ามาเหมือนกัน มีเรื่องผลประโยชน์เยอะ อยู่ที่คนอนุญาตว่าจะเขียนกติกาอย่างไร แล้วกฎหมายก็ออกมาแบบนี้ ส่วนจะมีความเชื่อมโยงกับกรณีที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้มีการยกเลิกคำขอสิทธิบัตรของต่างชาติเลยสักคำขอเดียวหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ เพราะที่ผ่านมา อภ. สอบถามอะไรไปก็ไม่เคยตอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากอนาคตร่วมทุนต่างชาติ ทาง อภ. ต้องทบทวนการเดินหน้าสร้างโรงงานสกัดน้ำมันกัญชาหรือไม่ นพ. โสภณ กล่าวว่า หากมีการเปิดร่วมทุนต่างชาติจริงๆ ซึ่งมีเงินทุน มีเทคโนโลยีเข้ามา ฝั่งต่างชาติก็จะได้เปรียบ เพราะเขาวิ่งไปก่อนหน้าไทยนานแล้ว ถ้าร่วมเอกชนก็จะไปได้ไว ขณะที่ อภ. จะเดินหน้าอะไรต้องเป็นไปตามระเบียบที่มีความล่าช้า

กว่าจะสร้างโรงงานอุตสาหกรรม การพัฒนาสายพันธุ์ก็เสียเปรียบแล้ว แต่คิดว่าคงไม่ถึงขั้นล้มเลิกโครงการที่ทำอยู่ แต่ต้องทบทวนเรื่องขนาดว่าจะทำแค่ไหน เพื่อรองรับความต้องการใช้ในเมืองไทยกี่เปอร์เซ็นต์ จะเริ่มต้นอย่างไร หากดูแลคนครึ่งหนึ่ง ก็ลงทุนระดับหนึ่ง หากดูแลแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องทำขนาดไหน เรื่องนี้ลำบาก เพราะคนอื่นเขาวิ่งนำ แล้วเราวิ่งตาม เพราฉะนั้นจะลดขนาดจากแผนเดิมหรือไม่ก็ต้องไปศึกษาความต้องการ และความเป็นไปได้อีกครั้ง แต่ต้องทำให้เร็วเป็นหลัก

ผศ.ดร. วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะผู้วิจัยพัฒนาสายพันธุ์กัญชาทางการแพทย์ให้แก่ อภ. กล่าวว่า การที่ต่างชาติมายื่นจดสิทธิบัตรกัญชานั้นไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติด ส่วนเรื่องโรคที่จะมีการจดครอบคลุมเรื่องของมะเร็ง ก็ถือว่ามีความผิดตาม มาตรา 9 (4) อยู่แล้ว และหากปล่อยให้ต่างชาติจดสิทธิบัตร ไทยก็ไม่สามารถเดินหน้าทำอะไรได้ และโดยส่วนตัวไม่เข้าใจว่าทำไมถึงยากเย็นนักในการที่จะถอนการขอจดสิทธิบัตร ทั้งที่เห็นชัดในเรื่องขอกฎหมายแล้ว การที่กรมทรัพย์สินทางปัญญายิ่งล่าช้ายิ่งทำให้ผลการพัฒนายาให้ผู้ป่วยยิ่งล่าช้าและลำบาก

เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 61 เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา จัดประชุมติดตามผลการดำเนินงานสนับสนุนงานวิจัยต่อยอดการผลิตและแปรรูปยางพาราของไทย เพื่อสร้างนวัตกรรมยางพาราในรูปแบบต่างๆ ณ ห้องประชุมรัษฎา การยางแห่งประเทศไทย พร้อมศึกษาดูงานโรงงานผลิต NR Preblend สำหรับงานก่อนสร้างถนน para soil cement

นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยาง เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา มีการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศว.พว.)

ร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางและแนวโน้มในเรื่องเทคโนโลยีด้านยางพารา และรายงานความคืบหน้าในการดำเนินโครงการวิจัย กิจกรรมของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบตามที่ระบุในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เช่น โครงการ In house training ซึ่งเป็นการจัดทำและอบรมหลักสูตรเทคโนโลยียางเบื้องต้น ให้กับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม โครงการ Coaching โดยการเข้าไปดูแลผู้ประกอบกิจการยาง ให้คำปรึกษา ข้อแนะนำ พัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ่านการพัฒนาบุคลากร

การพัฒนาหุ่น CPR ทั้งระดับพื้นฐานและระดับขั้นสูง ซึ่งมูลนิธิสอนช่วยชีวิต และคณะกรรมการมาตรฐานการช่วยชีวิต สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำผลิตภัณฑ์จากการพัฒนาทั้งหมดไปเผยแพร่และใช้ในการเรียนการสอน สำหรับเครื่อง AED และ Anti-Choke ที่ใช้ในการเรียนการสอน ขณะนี้ ส.อ.ท. ได้นำหุ่นไปเสนอเพื่อจำหน่ายแล้ว สำหรับการร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงานเป็นเครือข่ายนวัตกรรมยางพารา นับเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งที่ผ่านมาโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่ร่วมมือกันได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามบันทึกข้อตกลงที่กำหนด จึงเป็นการช่วยส่งเสริมองค์ความรู้ สนับสนุนให้เกิดเป็นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการยางพารา ซึ่งจะสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในวงการยางพาราไทย ตลอดจนประเทศชาติต่อไป

นางณพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการประชุมพูดคุยในเรื่องดังกล่าว คณะกรรมการได้เดินทางศึกษาดูงานขั้นตอนการผลิต NR Preblend ซึ่งเป็นน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มสำหรับงานดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ สำหรับใช้ในงานก่อสร้างถนนทั้งที่เป็นพื้นทางและผิวทางแบบ Para Soil Cement เพื่อให้หน่วยงงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการก่อสร้างทาง

เชิญชวนขบวนการสหกรณ์และผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสิ่งของและอุปกรณ์การเรียนให้เด็กในถิ่นทุรกันดาร

กรมส่งเสริมสหกรณ์ เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคทุนทรัพย์ เครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของอุปกรณ์เครื่องนุ่งห่มคลายหนาว อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และของใช้ที่จำเป็น ภายใต้โครงการ “สหกรณ์ร่วมใจ คลายหนาวให้น้องน้อยบนที่สูง ครั้งที่ 7” โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดตาก จัดโครงการสหกรณ์ร่วมใจ คลายหนาวให้น้องน้อยบนดอยสูง ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 11-13 มกราคม 2562 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหม่อมราชวงศ์เฉลิมลักษณ์ จันทรเสน บ้านเลอตอ

หมู่ 13 ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ซึ่งเป็นโรงเรียนภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนจำนวน 207 คน ครูผู้สอน 16 คน และมีชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่โดยรอบโรงเรียนประมาณ 561 คน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ทุรกันดาร การคมนาคมมีความยากลำบาก ห่างไกล และขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็น ทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค อีกทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน และในแต่ละปีเมื่อถึงฤดูหนาว ชาวบ้านยังประสบปัญหาภัยหนาวอย่างหนักและขาดแคลนเครื่องนุ่งห่มอีกจำนวนมาก

สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคทุนทรัพย์ สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค อุปกรณ์คลายหนาว อุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และของใช้ที่จำเป็น อาทิ ผ้าห่ม เสื้อผ้ากันหนาว สำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 4 มกราคม 2562 ซึ่งในส่วนกลางสามารถรวบรวมสิ่งของและนำมาจัดส่งให้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ หรือที่สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 เขตมีนบุรี หรือโอนเงินบริจาคเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเทเวศร์ ชื่อบัญชี “สำนักบริหารเงินทุน” บัญชีเลขที่ 070-0-14562-1 และส่งหลักฐานการโอนเงินมาที่ฝ่ายบริหารทั่วไป สำนักงานส่งเสริมสหกรณ์กรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ทางโทรสาร (02) 540-7203

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะมีพิธีมอบสนามเด็กเล่น ซึ่งขบวนการสหกรณ์ทั่วประเทศได้รวบรวมเงินจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องเล่นของเด็กให้กับทางโรงเรียน รวมทั้งจัดกิจกรรมงานวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2562 กิจกรรมนันทนาการสร้างความสัมพันธ์ จัดเลี้ยงอาหารกลางวัน และจะมอบสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นที่ได้รับจากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธาให้กับเด็กนักเรียน คณะครู และประชาชนในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนหม่อมราชวงศ์เฉลิมลักษณ์ จันทรเสน บ้านเลอตอ อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ในวันที่ 11-13 มกราคม 2562 นี้

บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) โดย นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ พร้อมคณะผู้บริหาร เข้าเยี่ยมชมกิจกรรม พร้อมมอบเงินบริจาคและของใช้ที่จำเป็น แก่มูลนิธิสงเคราะห์ เด็กพัทยา โดยมีผู้แทนของมูลนิธิฯ เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านการสนับสนุนดูแลเด็กๆ ในมูลนิธิฯ ต่อไป ณ มูลนิธิสงเคราะห์เด็ก พัทยา จังหวัดชลบุรี เมื่อเร็วๆ นี้

“เพราะน้ำคือชีวิตของทุกสรรพสิ่ง ที่ใดมีน้ำที่นั่นย่อมมีชีวิต…” เอสซีจี จึงได้เดินอยู่บนเส้นทางแห่งการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนและภาคีเครือข่ายมากว่า 10 ปี

♦ จุดเริ่มต้นเส้นทางสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งเเวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่

เอสซีจี ได้น้อมนำเเนวพระราชดำริ “จากภูผาสู่มหานที” ผสานเเนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาต่อยอดโครงการ “รักษ์น้ำเพื่ออนาคต” ที่ดำเนินมากว่า 10 ปี ด้วยโครงการ “รักษ์น้ำจากภูผาสู่มหานที” ในปี 2561 เพื่อขยายผลการดูแลจัดการน้ำให้เหมาะสมกับเเต่ละพื้นที่ สร้างต้นน้ำที่ดี กลางน้ำที่สมบูรณ์ สู่ปลายน้ำที่ยั่งยืน ผ่านกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน ให้เข้าใจการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตนเองอย่างแท้จริง ตลอดจนเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในท้องถิ่น จิตอาสา เเละพนักงาน เพื่อสร้างพลังเเละเชื่อมความรู้การจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ

♦ “ฝายชะลอน้ำ” ต้นแบบการพลิกฟื้นพื้นที่ต้นน้ำ

เริ่มต้นจากพื้นที่ต้นน้ำ อ.เเม่ทะ จ.ลำปาง ต้นแบบการพลิกฟื้นพื้นที่ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาน้ำแล้งในฤดูเเล้ง น้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก เเละป้องกันไฟไหม้ป่า ก่อนขยายไปยังพื้นที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง เมื่อฝายชะลอน้ำช่วยให้น้ำกลับคืนมาสู่พื้นที่ จึงนำไปสู่การสร้างสระพวงเชิงเขา วิธีการกักเก็บน้ำที่ใช้การเชื่อมต่อสระน้ำเป็นพวง ทำให้มีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ไม่อุ้มน้ำ ชุมชนสามารถเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์พืชแบบใช้น้ำน้อย เช่น ฟักทอง บวบ ถั่วฝักยาว มะระขี้นก ได้มากถึง 7 ครั้ง ต่อปี เกิดรายได้รวมในชุมชนถึง 18 ล้านบาท ต่อปี และยังใช้วิธีการกระจายน้ำในพื้นราบด้วยระบบแก้มลิง ทำให้เกษตรกรนำน้ำไปใช้ในพื้นที่กว่า 500 ไร่ สร้างรายได้กว่า 100,000 บาท ต่อครัวเรือน ต่อปี ช่วยให้ชุมชนมีแหล่งน้ำสำรองในฤดูแล้งอีกประมาณ 134,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มระบบและพัฒนาต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างอาชีพ เสริมรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน

ไม่เฉพาะภาคเหนือ แต่แนวคิดการสร้างฝายชะลอน้ำยังได้ขยายผลสู่ ต.ถ้ำใหญ่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ที่ชุมชน ภาคีเครือข่าย และเอสซีจี ได้ร่วมสร้างฝายเพื่อรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำของลำน้ำสาขาจากเทือกเขานครศรีธรรมราช อันเป็นต้นน้ำของลุ่มน้ำตรัง ขณะเดียวกัน ก็ได้ส่งต่อแนวคิดไปสู่พื้นที่ อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่ประสบปัญหาพื้นที่แห้งแล้งจากการแผ้วถางป่าสำหรับขยายพื้นที่ทำกิน และหน้าดินที่ถูกชะล้างซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ชุมชน ฝายชะลอน้ำจึงถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือช่วยชะลอน้ำและฟื้นคืนสภาพพื้นที่ให้เป็นแหล่งอาหารและสร้างรายได้ให้กับชุมชน

“ฝายช่วยคืนความสมดุลให้ป่า และป่ายังเปรียบเสมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ชุมชนสามารถเข้าไปหาของป่าสำหรับนำมาใช้ทำอาหารให้ครอบครัวและแบ่งขายสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ไม่น่าเชื่อว่าเพราะการที่ชุมชนช่วยกันลงแรงร่วมใจกันสร้างฝายชะลอน้ำ จะทำให้ชุมชนของเรามีโอกาสพูดคุย เข้าใจกัน และรักสามัคคีกันมากขึ้น” ผู้ใหญ่ครุฑ นายเต้นยิ้ว วชิรพันธ์วิชาญ ประธานป่าชุมชนบ้านบ้านยางโทน กล่าว

สำหรับพื้นที่กลางน้ำ เอสซีจีได้ร่วมกับชุมชนป่าภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ต้นแบบชุมชนบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ขยายการดำเนินงานการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนสู่บ้านโนนเขวา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น โดยจัดทำ “แก้มลิง” แหล่งสำรองน้ำจากการขุดลอกหนองน้ำเดิม เพื่อเชื่อมต่อจากแม่น้ำชีไปสู่หนองน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของชุมชน สำหรับเก็บกักน้ำ ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมพื้นที่เกษตรได้กว่า 250 ไร่ อีกทั้งยังใช้เป็นแหล่งเลี้ยงปลาเพิ่มรายได้ให้ชุมชนอย่างน้อยปีละ 30,000 บาท และบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคในครัวเรือน

♦ “บ้านปลาเอสซีจี” ผลสำเร็จในพื้นที่ปลายน้ำ

ทอดยาวไปยังพื้นที่ปลายน้ำ เอสซีจีได้นำท่อ PE100 ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงานมาใช้ประกอบเป็นบ้านปลา เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ระบบนิเวศชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เพิ่มที่อยู่อาศัยและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลขนาดเล็ก คืนความสมบูรณ์สู่ท้องทะเลไทย โดยปัจจุบันได้วางบ้านปลาลงสู่ใต้ท้องทะเลไปแล้ว 1,600 หลัง ใน จ.ระยอง ชลบุรี และจันทบุรี คิดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลกว่า 40 ตารางกิโลเมตร เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลของสัตว์น้ำเศรษฐกิจและปลาสวยงามกว่า 172 ชนิด

“หัวใจสำคัญของโครงการตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา คือ ความเข้มแข็งของชุมชนประมงพื้นบ้านที่ช่วยกันสร้างบ้านปลา และดูแลพื้นที่อนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงพลังของจิตอาสาที่ร่วมกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันกว่า 11,500 คน และขณะนี้ เอสซีจียังทดลองนำขยะพลาสติกจากทะเล และชุมชนมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อนำมาผลิตเป็นท่อสำหรับสร้างบ้านปลาตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอีกด้วย” นายชลณัฐ ญาณารณพ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการการพัฒนาอย่างยั่งยืน เอสซีจี กล่าว

นอกจากนี้ ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ชาวประมงพื้นบ้านบ้านมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งประสบปัญหาจากการไม่สามารถออกหาปลาในทะเลช่วงมรสุมได้ เมื่อจะใช้คลองที่อยู่ใกล้ชุมชนเป็นที่ทำกินก็พบว่า ปลามีจำนวนน้อยเพราะขาดแหล่งที่อยู่อาศัยอันอุดมสมบูรณ์ เอสซีจีจึงเข้าไปร่วมกับชุมชนพัฒนาแหล่งที่อยู่อาศัยใต้ทะเลที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยนำนวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี มาหล่อเป็นบ้านปลาในลักษณะวงกลมที่มีช่องขนาดหลากหลาย เพื่อให้ปลาสามารถว่ายผ่านไปมาได้และสามารถใช้หลบภัยได้เป็นอย่างดี รวมถึงการปลูกป่าโกงกาง และหญ้าทะเล สำหรับช่วยเหลือพะยูนและสัตว์ทะเลใกล้สูญพันธุ์ด้วย

เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชนด้วยนวัตกรรมเพื่อสังคม

ด้วยความเชี่ยวชาญของเอสซีจี เเละประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการน้ำร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เอสซีจีมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ จึงได้นำ “นวัตกรรมผ้าใบคอนกรีต” ของธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ที่ผสมผสานเทคโนโลยีซีเมนต์เเละเทคโนโลยีสังเคราะห์ซึ่งมีความเเข็งเเรงและปรับรูปแบบได้ตามต้องการ มาใช้สร้างสระพวงสำหรับกักเก็บน้ำที่บ้านสาแพะ จ.ลำปาง เพื่อแก้ปัญหาดินทรายไม่อุ้มน้ำ

นอกจากนั้น ยังได้มีการใช้ “นวัตกรรมปูนงานโครงสร้างทนทานพิเศษ เอสซีจี” ที่ทนซัลเฟตและคลอไรด์ในน้ำทะเลได้นานกว่าปูนธรรมดา มาหล่อเป็นบ้านปลาสำหรับเป็นแหล่งพักพิงของสัตว์ทะเลในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังแข็งแรงทนทาน ไม่มีส่วนประกอบที่สามารถแตกหักเสียหายกลายเป็นขยะใต้น้ำได้

ขณะเดียวกัน ก็ได้นำ “นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE100” ที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกของธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยในการขนส่งน้ำ มาออกแบบสร้างเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเลในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งพบปัญหาจำนวนปลาใกล้ชายฝั่งลดน้อยลง

♦ เครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ จิตอาสาเพื่อความยั่งยืน

ทุกๆ กิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดทั้งปี 2561 ไม่เพียงแต่จะมีชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และพนักงานเอสซีจี ร่วมเป็นจิตอาสาสร้างฝายชะลอน้ำและประกอบบ้านปลาเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่ม Young รักษ์น้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่จากหลากหลายสถาบันการศึกษากว่า 80 คน ร่วมเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ร่วมกับเอสซีจีในทุกทริป เพื่อมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดด้านการบริหารจัดการน้ำ และได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ไปชมผลสำเร็จของบริหารจัดการน้ำ ด้วยเชื่อว่าพลังจากคนรุ่นใหม่จะช่วยสืบสาน รักษา และต่อยอดการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริให้คงอยู่สืบไป

“ไม่น่าเชื่อว่า การเริ่มต้นทำฝายจากจุดเล็กๆ ด้วยหัวใจของพี่ๆ ในชุมชน และแรงของเพื่อนๆ นักศึกษาจิตอาสา กลับส่งผลให้ป่าทั้งป่ากลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง นึกภาพไม่ออกเลยว่าพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งและมีปัญหาน้ำท่วมเป็นอย่างไร ถ้าครั้งหน้ามีกิจกรรมนี้อีก จะขอเป็นอีกหนึ่งแรงที่ลงมือช่วยเพื่อประเทศไทยของเรา” นางสาวช่อผกา พจนาสุคนธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง หนึ่งในเยาวชนจิตอาสาคนรุ่นใหม่ Young รักษ์น้ำ

♦ ก้าวต่อไปของ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที”

เอสซีจีจะยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการ “รักษ์น้ำ จากภูผาสู่มหานที” ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ครบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในปี 2020 ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกับชุมชนและจิตอาสา สร้างฝายชะลอน้ำไปแล้วกว่า 83,200 ฝาย และจะขยายการสร้างฝายในพื้นที่ต้นน้ำให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศให้ครบ 100,000 ฝาย ขุดสระพวงเชิงเขาส่งต่อน้ำเพื่อทำการเกษตรไปแล้ว 7 สระ โดยมีเป้าหมายจะขุดสระพวงให้ครบ 20 สระ และจัดทำระบบแก้มลิงในพื้นที่กลางน้ำไปแล้ว 8 พื้นที่ โดยตั้งเป้าหมายจะทำให้ครบ 20 พื้นที่ รวมถึงวางบ้านปลาในพื้นที่ปลายน้ำไปแล้ว 1,900 หลัง โดยตั้งเป้าหมายจะวางให้ครบ 2,600 หลัง รวมทั้งเอสซีจีมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมชุมชนให้มีความสามารถในการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผลผลิตในท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพและส่งเสริมให้เกิดรายได้ตลอดทั้งปี โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.scg.com/lovewater

ด้วยเชื่อว่าการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเพื่อให้เกิดความยั่งยืน รวมถึงการสร้างเครือข่ายให้เกิดพลังที่เข้มแข็งเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างต้นน้ำที่ดี สู่ปลายน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ก่อเกิดเป็นความสมดุลที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในทุกพื้นที่ เอสซีจีจึงยังคงเดินหน้าสานต่อโครงการร่วมกับชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ พร้อมถ่ายทอดและต่อยอดแนวความคิดในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นต้นทุนสำคัญของทุกชีวิตนี้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป

สองสามี – ภรรยา ที่ชอบค้าขายและความท้าทาย เงินเดือนรวมกันเฉียดแสน ตัดสินใจโบกมือลาชีวิตมนุษย์เงินเดือนในเมืองกรุง ออกเดินทางตามความฝัน ด้วยการปักหมุดสร้างสวนไผ่แห่งความสุข 9 ไร่ ที่จังหวัดอุดรธานี เก็บหน่อไม้ขายวันละ 30 กิโลกรัม ขายกิ่งพันธุ์ร่วมด้วย รายได้เดือนละ 75,000 บาท ชีวิตแฮปปี้ ได้อยู่กับลูกชาย 2 คน ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ แถมได้กินหลากเมนูอร่อยๆ ทำจากหน่อไม้ตลอดทั้งปี

คุณเพ็ญศิริ ลลิตวิภาส หรือ คุณโบว์ ภรรยาคุณสมเจตน์ หรือ คุณสิงห์ สองสามีภรรยาเจ้าของสวนไผ่ ณ บ้านทุ่ง ที่จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า ฝ่ายสามีเคยทำงานด้านคอมพิวเตอร์ 14 ปี รับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนระบบเซิร์ฟเวอร์ ณ บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง เงินเดือนราว 60,000 บาท ส่วนตัวเองจบบัญชี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทำธุรกิจส่วนตัว ขายงานศิลปะตุ๊กตาปูนปลาสเตอร์ระบายสี และกระเป๋าผ้าลดโลกร้อน รวมรายได้ 2 คน ต่อเดือนก็เกือบ 1 แสนบาท