สำหรับรายละเอียดที่น่าสนใจภายในเว็บไซต์ มีข้อมูลด้านการ

เพาะปลูกเช่น การทำนาดำ การปลูกอ้อยข้ามแล้ง และการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งจะแสดงระยะเวลาการเพาะปลูกพืชในรูปแบบปฏิทินการเพาะปลูก (Crop Calendar) ทำให้เกษตรกรเข้าใจง่าย และยังมีข้อมูลที่รวบรวมจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษา เช่น กรมการข้าว สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มูลนิธิสถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีความรู้และเทคนิคเรื่องพืชที่สยามคูโบต้าได้ศึกษามาโดยตลอด และพร้อมที่จะนำมาเผยแพร่ให้เกษตรกรได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันได้นำเสนอไปแล้วมากมาย เช่น หัวข้อการปลูกอ้อยให้ได้กำไรสูงสุด โดยจะอธิบายวิธีการเพิ่มผลผลิตอ้อยให้ได้คุณภาพ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังมีหัวข้อวิธีการไถตอซัง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยปรับปรุงและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยตรง อันจะเป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว และหัวข้อการปลูกยางพาราไม่กลัวแล้ง โดยแนะนำการปลูกและการบำรุงรักษาต้นยางพาราให้ทนแล้ง ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับเกษตรกรที่เผชิญปัญหาต้นยางพาราตายในหน้าแล้ง เป็นต้น

ภายในเว็บไซต์ยังมีห้วข้อความรู้อื่นๆ อีกมากมาย เกษตรกรและประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปค้นคว้าข้อมูลด้านการเกษตร พร้อมสมัครสมาชิกได้ที่เว็บไซต์ www.kubotasolutions.com ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย อาทิ ดาวน์โหลดเอกสารความรู้เรื่องพืช สะสมคะแนนเพื่อรับของที่ระลึก รวมทั้งมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่สยามคูโบต้าจัดขึ้นด้วย

นายศรัน จิรังสี อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเกาะช้าง อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด และเจ้าของสวนทุเรียน กล่าวว่า ต้นทุเรียนในเกาะช้างส่วนใหญ่เป็นต้นทุเรียนเดิม อายุกว่า 50 ปี ได้รับความนิยมทั้งทุเรียนชะนี หมอนทอง และพันธุ์อื่น ต่อมา นายมานพ ทองศรีสมบูรณ์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเกาะช้าง นำทุเรียนชะนีเกาะช้างไปตรวจสอบทางโภชนาการ พบสารไอโอดีนทำให้เนื้อทุเรียนมีสีเหลือง และมีวิตามินอี สามารถชะลอความแก่ ทำให้ผู้บริโภคสนใจและสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการพัฒนาคุณภาพและประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ยิ่งทำให้ได้รับความนิยมสูงขึ้น แต่มีจำนวนไม่มาก ต้องสั่งจองกันเป็นปี

“วันนี้ราคาทุเรียนสูงขึ้นมาก เดิมกิโลกรัมละ 30-40 บาท วันนี้ราคาในสวนกว่า 150 บาท หากขายปลีก 200-250 บาท ล่าสุด ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับบริษัทประชารัฐผลักดันขึ้นห้างใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งได้รับการตอบสนองดี มีการสั่งซื้อเพิ่มขึ้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรนิยมปลูกลิ้นจี่ในพื้นที่ ตำบลขามเฒ่า อำเภอเมือง มากกว่า 200 ไร่ โดยเฉพาะบ้านนาโดน หมู่ที่ 2, 4, 11 กำลังเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค เนื่องจากลูกโตน้องๆ ไข่ไก่ มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ขณะที่มีพ่อค้าชาวจีนมาทำสัญญาจองซื้อทั้งสวน อีกทั้งริมทางหลวงมีแม่ค้า พ่อค้า แห่มาตั้งเพิงร้าน กว่า 20 แห่ง คึกคัก ส่งผลให้มีเงินสะพัดวันละหลายแสนบาท

นางรัตนาพร นอริสาร วัย 41 ปี กล่าวว่า ตนมีเนื้อที่ข้างบ้าน 2 ไร่ จึงปลูกลิ้นจี่พันธุ์ น.พ.1 ไว้ประมาณ 60 ต้น ปลูกมาได้ 7 ปี จึงได้ทยอยเริ่มเก็บผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 50 กิโลกรัม ทยอยออกเป็นรุ่นได้ผลผลิตปีนี้ 2-3 ตัน มีพ่อค้าจากตลาดไทมาเหมาซื้อครั้งละ 300-400 กิโลกรัม ช่วงต้นฤดูกาลใหม่ราคาพุ่งกิโลกรัมละ 100 บาท

“ช่วงต้นเดือนเม.ย.มารับซื้อถึงสวน กิโลกรัมละ 80 บาท จำนวน 300 กิโลกรัม ได้เงินเข้ากระเป๋า วันละ 24,000 บาท หลังจากให้ลูกที่ปิดเทอมมาช่วยตัดส่ง 3 วัน มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาท ส่งเสียบุตรสาว 3 คนได้สบายๆ”

ขณะที่ คุณยายฮวน นันทพัฒนา อายุ 73 ปี กล่าวว่า ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ น.พ.1 ไว้ 3 ไร่ จำนวน 60 ต้น ปีนี้ผลผลิตออกน้อย เฉลี่ยแค่ 70% ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี ลิ้นจี่อยู่ช่วงที่กำลังติดดอก หากปีไหนอากาศหนาวเย็นผลจะติดง่าย หากอากาศร้อนดอกจะร่วงหล่นหมด โชดดีปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวย คาดว่าผลผลิตที่สวนจะได้ 2-3 ตัน โดยมีพ่อค้าชาวจีนมาทำสัญญาซื้อล่วงหน้า 5 ปี ในกิโลกรัมละ 70 บาท คาดว่าปีนี้จะทำเงินเข้ากระเป๋าประมาณ 2 แสนบาท

ด้าน นายวีระเดช ซามาตย์ นายก อบต. ขามเฒ่า กล่าวว่า ในปี 2558 เกษตรกรปลูกลิ้นจี่พันธุ์ น.พ.1 จำนวน 143 ราย ใน 245 ไร่ มีผลผลิต 500 ตัน ทำเงินเข้าพื้นที่ 350 ล้านบาท แต่ปีที่ผ่านมาผลผลิตแทบไม่ออก เพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ติดตามข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยอันตรายจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต , คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เห็นว่าเป็นสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อเกษตรกร และผู้บริโภค รวมถึงประชาชนทั่วไป

โดยพาราควอตมีฤทธิ์กัดผิวผนังและเนื้อเยื่อส่งผลทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย สามารถก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันถึงขั้นไตวาย ตับวาย ปอดวาย และเสียชีวิต โดยยังไม่มียาถอนพิษ ขณะนี้มี 47 ประเทศทั่วโลกยกเลิกการใช้แล้ว

ส่วนคลอร์ไพริฟอส ซึ่งใช้ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช รวมถึงการใช้ในบ้านเรือนเพื่อกำจัดมด ปลวก เห็บ แมลงสาบ จะก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียนอ่อนเพลีย กล้ามเนื้อหดตัว แน่นหน้าอก อาเจียน ท้องเสีย จนถึงขั้นหมดสติและหยุดหายใจ รวมทั้งมีผลทำให้เกิดความผิดปกติด้านการพัฒนาสมอง ทำให้ไอคิวเด็กลดลง สมาธิสั้น หลายประเทศห้ามใช้ในบ้านเรือน ผักและผลไม้

สำหรับไกลโฟเสต จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อดีเอ็นเออันเป็นสาเหตุของการกลายพันธุ์ เป็นอันตรายต่อเซลสืบพันธุ์และการพัฒนาของตัวอ่อน สถาบันวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ องค์การอนามัยโลก ระบุเป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้ความหลากหลายของสัตว์และสมดุลในธรรมชาติสูญเสียไป

สำหรับเมืองไทยล่าสุดคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ในคราวการประชุม ครั้งที่ 4/2560 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2560 ณ กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 และให้จำกัดการใช้ไกลโฟเสตอย่างเข้มงวด สภาเกษตรกรแห่งชาติ ได้ประชุมพิจารณาหารือเรื่องดังกล่าวในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2560 และมีมติขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งพิจารณาศึกษาหาสารทดแทนและยกเลิกการผลิต นำเข้า และการใช้สารเคมีอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยเร็ว

นายพิสิฐ รังสฤษฎ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวถึงผลการประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติกำหนดมาตรฐานบังคับ (มอก.) ผลิตภัณฑ์ยางล้อ เป็น มอก.2721 โดยอ้างอิงมาตรฐานสากล ยูเอ็นอาร์ 117 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นความปลอดภัย ประหยัดพลังงาน

นายพิสิฐ กล่าวว่า ผลจากการประกาศมาตรฐานดังกล่าวจะมีส่วนช่วยดูดซับยางพาราในตลาดมากขึ้น และยกระดับรายได้เกษตรกร เพราะหากผู้ประกอบการได้ มอก.ดังกล่าวจะสามารถผลิตยางล้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถส่งออกยางล้อไปจำหน่ายได้ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของไทย คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการตามขั้นตอนคือ เสนอคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศใช้ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี หรือปี 2561

“มาตรฐาน มอก.2721 จัดทำขึ้นเพื่อยกระดับประเทศไทยในการผลิตยางล้อมาตรฐานสากล โดยหน่วยทดสอบมาตรฐาน่จะเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ กรอบวงเงิน 3,705 ล้านบาท พื้นที่ 1,234 ไร่ เขตสวนป่าลาดกระทิง ตำบลลาดกระทิง อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฟสแรกศูนย์ทดสอบมาตรฐานยางล้อยูเอ็นอาร์ 117 จะเสร็จปี 2561 สอดรับกับ มอก.ที่จะออกมา” นายพิสิฐ กล่าวและว่า ปัจจุบัน มีบริษัทต่างชาติและบริษัทไทยลงทุนและผลิตยางล้อตามมาตรฐาน สมอ. รวม 21 ราย คิดเป็นน้ำยางพารา 400,000 ตัน ต่อปี และเร็วๆ นี้ บริษัทต่างชาติยื่นขอส่งเสริมการลงทุนผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพิ่มอีก 3 ราย คาดว่าจะมีการลงทุนจริงภายใน 1-2 ปีนี้

นายพิสิฐ กล่าวว่า นอกจากนี้ กมอ.ได้พิจารณาปรับปรุงมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์เหล็กให้เป็นไปตามมาตรฐานปัจจุบัน จำนวน 5 ชนิด ประกอบด้วย มอก.1390 เข็มพีดเหล็กกล้ารีดร้อน มอก.2140 เหล็กกล้ารีดเย็นแผ่นม้วน แผ่นแถบ และแผ่นตัด สำหรับงานรถยนต์ มอก.1999 เหล็กกล้ารีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา และแผ่นบาง สำหรับงานโครงสร้างรถยนต์ และ มอก.2060 เหล็กกล้าคาร์บอนรีดร้อนแผ่นม้วน แผ่นแถบ แผ่นหนา และแผ่นบาง สำหรับงานทั่วไปและงานถังก๊าซ รวมทั้งเห็นชอบร่างมาตรฐานตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 34 เรื่อง เพื่อเตรียมประกาศใช้ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จำนวน 8 เรื่อง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 6 เรื่อง อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ จำนวน 8 เรื่อง อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร จำนวน 6 เรื่อง และอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวน 6 เรื่อง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 28 เมษายน ด้วยอากาศร้อนมาก ทำให้ลิงที่วัดถ้ำเขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จะออกหากินน้ำเพื่อแก้ความกระหาย หลายตัวได้ออกไปหากินและหาน้ำกินนอกเขตพื้นที่วัดถ้ำเขาฉกรรจ์สร้างความเดือดร้อนให้กับคนในท้องที่ ใกล้เคียงอย่างมาก

ต่อมาได้มีชาวบ้านนำกระถางใส่น้ำวางไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้ลิงดูดกิน แก้กระหายน้ำเป็นการแก้ปัญหาไม่ให้ลิงออกไปหาน้ำนอกวัด ในขณะเดียวกันในช่วงนี้ได้เกิดวิกฤติอากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้น และเพื่อให้ลิงลงมาหากินน้ำและให้ลิงคลายร้อน จึงมีชาวบ้านนำน้ำแข็งก้อน ไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ให้ลิงได้ดูดกิน

นางสาวธันวาภรณ์ กิติธีรานุรักษ์ กล่าวว่า ตนได้เดินทางมาดูลิงที่วัดถ้ำเขาฉกรรจ์รู้สึกว่าอากาศร้อนมาก จึงนึกสงสารลิงคงจะร้อนเช่นกัน จึงได้ออกไปในตลาด เพื่อซื้อน้ำแข็งก้อนมาให้ลิงได้ดูดกิน และนำน้ำแข็งก้อนไปวางไว้ตามจุดต่างๆ ให้ลิงได้ดูดกิน เมื่อลิงเห็นน้ำแข็งก็ลงมากิน เมื่ออิ่มแล้วก็จะเดินจากไป จากนั้นจะมีลิงตัวอื่นเข้ามาดูดกินต่อ แต่มีลิงบางตัวคาดว่าเป็นจ่าฝูง เมื่อดูดกินแล้ว ไม่ยอมไปไหนยังจับและกอดน้ำแข็งอยู่ ตัวอื่นจะไม่กล้าเข้าใกล้จนกว่า จ่าฝูงจะเดินออกไป ตัวอื่นจึงเข้ามาดูดน้ำจากน้ำแข็งต่อ

ทั้งนี้ ที่วัดถ้ำเขาฉกรรจ์ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว มีลิงป่าเข้ามาอาศัยอยู่ออกลูกออกหลาน จำนวนมาก ปัจจุบันมีลิงป่าจำนวน 5 กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีประมาณ 10,000 ตัว เมื่อปี 2557 มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพบมีลิง รวมทั้งหมดประมาณ 70,000 ตัว

เมื่อเร็วๆ นี้ เครือเบทาโกร จัดงาน Grand Opening โรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง บริษัท เพ็ท โฟกัส จำกัด ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพ ด้วยวัตถุดิบที่ดี เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นบ้านที่อบอุ่นให้แก่ “คุณจร” สุนัขผู้ซื่อสัตย์ กตัญญู จากภาพยนตร์แอนิเมชั่น คุณทองแดง ดิ อินสไปเรชั่นส์ ตัวแทนสัตว์เลี้ยงแสนรักที่เปรียบเสมือนสมาชิกในครอบครัว และเป็นแลนด์มาร์คในการถ่ายภาพและต้อนรับสำหรับผู้มาเยี่ยมชม ณ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

เดิมทีเครือเบทาโกรไม่มีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงโดยตรง แต่ไปใช้โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ ทำการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแทน เนื่องจากผู้ซื้อในประเทศและต่างประเทศมีความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นมาก และมาตรฐานการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงสูงขึ้น เครือเบทาโกรจึงทุ่มงบฯ 1,200 ล้านบาท สร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งนี้ขึ้นมา โดยใช้มาตรฐาน BRC ของยุโรป ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตอาหารคน

คุณวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร กล่าวว่า ปัจจุบัน ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะอาหารสุนัขและแมว มีมูลค่าประมาณ 25,000 ล้านบาท ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยเติบโตปีละ 10-15% มีปริมาณความต้องการอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด เฉลี่ยเดือนละ 14,800 ตัน แบ่งเป็นอาหารสุนัข 70% และอาหารแมว 30% แต่คาดว่าสัดส่วนตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปในไม่ช้า โดยอาหารแมวขยับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50% และอาหารสุนัข 50% เพราะปัญหาข้อจำกัดเรื่องที่อยู่อาศัย ทำให้คนไทยหันมาเลี้ยงแมวมากขึ้น เพราะใช้พื้นที่การเลี้ยงน้อยกว่าการเลี้ยงสุนัขนั่นเอง

สิ่งที่น่าจับตามองต่อไปก็คือ การเติบโตของตลาดสัตว์เลี้ยงในอนาคตจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” เป็นสังคมเดี่ยว/โสด เพิ่มมากขึ้น การมีสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หรือกระต่าย อาจจะเป็นสิ่งจําเป็นสําหรับผู้สูงอายุ เพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา ทำให้สัตว์เลี้ยงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกครอบครัว

ดังนั้น สินค้า ผลิตภัณฑ์ และบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงย่อมมีโอกาสเติบโตสูงเช่นกัน ไม่เฉพาะเมืองไทยเท่านั้น แต่เพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ก็ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นเดียวกัน ดังนั้น “ตลาดสัตว์เลี้ยง” จึงเป็นช่องทางตลาดที่สําคัญในอนาคต นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความพร้อมที่จะก้าวเป็น “Trended Center” ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงในอาเซียนได้ ประกอบกับไทยมีพื้นฐานอุตสาหกรรมปลาทูน่ารายใหญ่ของโลก มีการนำชิ้นส่วนของปลาทูน่ามาแปรรูปเป็นอาหารแมว ทำให้ไทยเป็นผู้ผลิตอาหารแมวรายใหญ่ที่สุดในโลกอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ไทยมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชํานาญและเชี่ยวชาญ และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ดีและทันสมัย พร้อมที่จะสร้างความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจในการดูแลรักษาสัตว์ที่แสนรักได้เป็นอย่างดี ดังนั้น ธุรกิจสัตว์เลี้ยง จึงมีช่องทางและ “โอกาส” ให้กับผู้ที่มี “ใจรัก” และพร้อมที่จะลงทุน เรียกว่า ใครลงทุนก่อน มีโอกาสรวยก่อนได้เลย

ไทยนำเข้าสารเคมีในปี 2559 ที่ผ่านมา 154,568 ตัน คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ในขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)ย้ำว่าปี 2559 ประเทศไทยมีพื้นที่ภาคเกษตรประมาณ 149 ล้านไร่ มีแรงงานอยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และยังสามารถทำรายได้จากการส่งออกถึงปีละ 1.22 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์(ไม่ใช้สารเคมี)เพียง 3 แสนไร่ หรือคิดเป็น 0.17 เปอร์เซ็นต์ของพื้นทีทั้งหมดหรือ 148.7 ล้านไร่ที่มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช เพราะ “ภาคการเกษตร” คืออู่ข้าวอู่น้ำ ปากท้องของชนชั้นการผลิตของประเทศไทย

แต่ทันทีที่นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงแถลงความคืบหน้าของการทำงานพร้อมระบุว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ตัวคือพาราควอต กับ คลอร์ไพริฟอส โดยให้จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้ไม่อนุญาตขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธันวาคม 2562 จากวันนั้น สร้างความสับสนให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก รวมถึงผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเกษตรว่า อำนาจในการสั่งแบนมิใช่อยู่ในบทบาทของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้วล่ะหรือ

ที่สุดเวทีการประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอต ,คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสท ก็เกิดขึ้นโดยเจ้าภาพส่งเทียบเชิญเป็นของกรมวิชาการเกษตร ถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่เกษตรกร นักวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชนเครือข่ายเตือนภัยเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการนำเข้า จัดจำหน่าย มารับฟังแลกเปลี่ยนร่วมกันข้อมูลทางวิชาการถึงข้อกังวลด้านสุขภาพ โดยนายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นั่งหัวโต๊ะแจ้งให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมรับทราบว่าผลจากการประชุมครั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลประกอบการควบคุมวัตถุอันตรายยังไม่ใช่ประชาพิจารณ์

บรรยากาศภายในล้วนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการอันเกี่ยวข้องกับความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่กรมกองต่างๆ ส่งตัวแทนเข้ามาให้ความรู้แบบสร้างสรรค์ ทั้งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมควบคุมมูลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่ามกลางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น อาทิ สมาพันธ์ชาวสวนยาง สมาพันธ์ชาวนา,ชาวไร่อ้อย ,ชาวไร่มัน ,ชาวสวนปาล์มน้ำมัน ,ชาวนาไทย รวมถึงเครือข่ายเตือนภัยสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช,มูลนิธิชีววิถี,มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนสมาคมผู้ประกอบการสารเคมี เข้าร่วมกว่า 80 ชีวิต ข้อมูลยังคงวนเวียนเรื่องความเป็นพิษต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมซึ่งทุกคนรู้อยู่แล้ว แต่คำถามคือความชัดเจนเรื่องการแบนหรือไม่สำหรับสารเคมีทั้งสองตัวจากแง่มุมของผู้ใช้

นายสุกรรณ สังข์วรรณะ เกษตรกรดีเด่นจังหวัดสุพรรณบุรี howlerband.com ปราชญ์ชาวบ้าน และเป็นประธานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้พร้อมคำถาม และคำชี้แจงในฐานะเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีโดยตรงว่า จากข่าวการแบนสารพาราควอตและคลอริไพริฟอสนั้น ขณะนี้เกษตรกรมีความห่วงกังวลถึงการบริหารจัดการวัชพืชในไร่น่าของเกษตรกรในอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือเกษตรกรต้องหันไปใช้วิธีถอนหญ้าด้วยมือหรืออุปกรณ์กำจัดวัชพืชแบบดั้งเดิม ซึ่งหากเป็นรูปแบบดังกล่าวเขาได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากต้องการจะถอนหญ้าในแปลงขนาด 1 ไร่ใน 1 วัน แรงงาน 1 คนสามารถถอนหญ้าได้ 16 ตร.ม./ชม. ถ้าต้องถอน 1 ไร่ต้องใช้แรงงาน 14 คน มีต้นทุนค่าแรงอยู่ที่ เฉลี่ย 300 บาท ดังนั้นหากต้องการถอนหญ้าในแปลงจะมีต้นทุนอยู่ที่ 4,200 บาท ต่อไร่ ในขณะที่ใช้สารเคมีจะมีต้นทุนอยู่ที่ 100 บาทต่อไร่ เกษตรกรใช้สารดังกล่าวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สุกรรณยังได้พูดถึง กลูโฟซิเนท ที่ฝ่ายเรียกร้องให้แบนได้เสนอเพื่อใช้เป็นสารทดแทนว่า เป็นสารตัวใหม่ที่เกษตรกรยังไม่คุ้นเคย และมีต้นทุนสูงกว่าสารตัวเดิมถึง 7.5 เท่า ในขณะที่ประสิทธิภาพด้อยกว่า วันนี้หากพูดว่าจะสั่งแบนสารดังกล่าว ในความเป็นจริงกรมฯ ได้สั่งแบนแล้วหลายตัว แต่ปรากฏว่าสารดังกล่าวเกษตรกรก็ยังสามารถหาซื้อได้จากหลังร้าน

“การสั่งแบนจึงไม่ใช่คำตอบเพราะสารเหล่านี้มีความจำเป็นในภาคการผลิต เกษตรกรต้องหามาใช้ให้ได้ ไม่มีหน้าร้านก็หาได้จากหลังร้าน วันนี้ถ้ารัฐสั่งแบนแล้ว สารเหล่านี้จะลงใต้ดิน จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ เป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา วันนี้ 17 ล้านครัวเรือนเป็นภาคการเกษตร นอกจากเป็นผู้ผลิตที่สัมผัสสารเคมีโดยตรงแล้ว ยังเป็นผู้บริโภคเช่นเดียวกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงอื่นตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ออกมาอ้าง ดังนั้นปัญหาน่าจะอยู่ที่วิธีการบริหารจัดการสารเคมีมากกว่าความเป็นพิษ วันนี้ผมเองรู้สึกดีใจที่กระทรวงเกษตรฯ ยังเป็นของพี่น้องเกษตรกรไทยที่รับฟังพวกเราบ้างว่า เราคิดเห็นอย่างไร ไม่ใช่รับฟังข้อมูลจากคนที่เขาไม่ได้ใช้แต่มาสั่งว่าห้ามใช้” สุกรรณ กล่าว

โดยเขายังได้นำเสนอทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีไม่ถูกต้องว่า วันนี้รูปแบบการใช้สารเคมีของภาคการเกษตรเปลี่ยนไป คนใช้จริงสัมผัสกับสารโดยตรงกลายเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างฉีดพ่นหากกรมฯ สามารถจัดหลักสูตรอบรมสอนการฉีดพ่นการใช้สารอย่างถูกต้อง พร้อมออกใบรับรองให้สามารถทำงานรับจ้างฉีดพ่นได้อย่างถูกกฎหมาย ปัญหาความเป็นพิษจากการสัมผัสจะลดลงไป ในขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรจะช่วยคัดกรองการซื้อสารเคมีจากร้านค้าที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ จะช่วยให้ปัญหาการรับพิษ หรือเฝ้าระวังการนำไปใช้ไม่ถูกประเภทลดลงไปได้

สอดคล้องกับนายธรรมนูญ ยิ่งยืน เกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง และข้าวโพดในพื้นที่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ที่เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ได้สะท้อนข้อคิดเห็นว่า นับเป็นเรื่องดีที่กรมวิชาการเกษตรได้จัดเวทีประชุมนี้ขึ้น แต่อยากให้กรมฯ รับฟังให้รอบด้านจากผลกระทบทั้งหมด วันนี้เป็นผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังไม่มีข้อมูลถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม ในขณะที่ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมยังเป็นข้อมูลที่เก็บตัวอย่างมาจากโรงพยาบาล ซึ่งต้องมีผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาอย่างแน่นอน ยังไม่สามารถนำเป็นข้อมูลชัดเจนถึงสาเหตุความเจ็บป่วยได้ อยากให้ไปเก็บตัวอย่างจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ที่มีความหลากหลายของการผลิตการเกษตรแต่ละชนิด มีโอกาสใช้สารเคมีปัจจัยทางการผลิตจริงนำมาเปรียบเทียบจึงจะทำให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์ขึ้น ส่วนข้อมูลในด้านอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเศรษฐกิจต้องออกมาพูดกันว่าวันนี้ภาคการเกษตรเราสามารถทำรายได้ให้ประเทศได้เท่าไหร่ มีการลงทุนด้านไหนไปบ้างอย่างไร

“ผมทำพืชไร่มีทั้งมันสำปะหลังกับข้าวโพด 2 ตัวนี้ต้องใช้สารเคมีอย่างเดียวในการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สูงและมีคุณภาพ ในสถานการณ์ที่ดินฟ้าอากาศไม่อำนวย สารเคมีเหล่านี้ช่วยได้มาก ทั้งเรื่องคุมวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งเกษตรกรในอุตสาหกรรมเกษตรใช้ตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ใช้เป็นช่วงเวลาไม่ใช่ตลอดเวลา หากต้องมีการแบนจริง สารตัวใหม่ที่ใช้ทดแทนราคาไม่ได้ถูกกว่า ในขณะที่ต้นทุนส่วนอื่นสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำสวนทางลงกว่า 20% จากที่รัฐกำหนดราคารับซื้อไว้ ผมมองว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นพิษของมัน แต่อยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ คือใครเป็นคนใช้ จัดเก็บอย่างไร ใครเป็นคนขาย ทุกคนต้องมีความรู้ที่จะนำไปใช้ ข้อมูลวันนี้อยากให้ภาครัฐนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อกำหนดมาตรการการบริหารจัดการให้ชัดเจน”

ทางด้านนายกิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับกรณีความสับสนที่เกิดขึ้นกับการเผยแพร่ข่าวการแบนสารเคมีดังกล่าวว่า ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะหลักเกณฑ์ ความชัดเจนในระบบบริหารจัดการการใช้สารเคมีในเมืองไทย สารเคมีเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายหากใช้ผิดประเภท หรือเกินคำแนะนำเป็นข้อมูลที่ทุกคนทราบ แต่ไม่มีหน่วยงานทางวิชาการของภาคการเกษตรออกมาพูดถึงตัวเลขสากลที่รับได้ในค่ามาตรฐานให้สังคมคลายกังวล กลับปล่อยให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านสุขภาพของคนมาให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว จนทำให้สังคมเกิดคล้อยตามข้อมูลด้านสุขภาพ จนลืมไปว่าในข้อมูลด้านมหภาคทางเศรษฐกิจมีเหตุผลอย่างไรในการนำเข้าสารเคมีดังกล่าวเข้ามาใช้