สำหรับเงินสนับสนุนไร่ละ 1 หมื่นบาท แบ่งจ่ายเงิน 2 งวด งวดที่

4,000 บาท หลังจากโค่นต้นยางและจัดทำแผนพัฒนาอาชีพการเกษตรรายคนแล้วเสร็จ ทั้งนี้ การโค่นมีหลายรูปแบบทั้งโค่นเป็นผืน หรือโค่นบางส่วน จ่ายงวดที่ 2 ไร่ละ 6,000 บาท เมื่อเข้ารับการอบรมตามแผนพัฒนา

รศ.ดร. สุเพชร จิรขจรกุล รองคณบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และพัฒนาองค์กร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า ทีมนักวิจัยคิดค้นและพัฒนาเรือสำรวจขนาดพกพา นวัตกรรมเรือบังคับวิทยุพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับวัดระดับความลึกท้องน้ำ เพื่อคำนวณความสามารถของแม่น้ำ หรือคูคลอง

ในการรองรับปริมาณน้ำ และสามารถใช้งานกรณีเกิดอุทกภัยและกรณีฝนทิ้งช่วง พร้อมแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์บนสมาร์ตโฟน โดยสามารถทำงานได้ต่อเนื่องกว่า 3 ชั่วโมง ในระยะทางควบคุม 500 เมตร มีค่าความผิดพลาดระดับความลึกโดยเฉลี่ย 3 เซนติเมตร ที่ระดับความลึกสูงสุดที่ได้ทดลองใช้งาน 20 เมตร โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการบูรณาการองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างระบบอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิง และการจัดทำแผนที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS) เข้าด้วยกัน

รศ.ดร. สุเพชร กล่าวต่อว่า การทำงานของนวัตกรรมดังกล่าว มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1. อุปกรณ์ระบบโซนาร์วัดความลึกจากผิวน้ำ พร้อมอุปกรณ์จีพีเอสที่ช่วยระบุตำแหน่งของเรือบังคับ 2. อุปกรณ์วัดค่าคุณภาพน้ำในระดับพื้นฐาน ได้แก่ ค่าอุณหภูมิ ค่าความเป็นกรดด่าง และค่าออกซิเจนละลายในน้ำ และ 3. อุปกรณ์ชุดอินเตอร์เน็ต ออฟ ธิง เพื่อบันทึกค่า และส่งข้อมูลไปยัง Cloud Server โดย “การวัดระดับความลึกท้องน้ำ” ใช้อุปกรณ์ระบบโซนาร์ วัดความลึกจากท้องเรือลงไปถึงพื้นคลองหรือร่องน้ำ และสามารถแสดงผลข้อมูล เรียลไทม์บนสมาร์ตโฟน ทีมวิจัยสามารถประมวลผลข้อมูลระยะความลึกที่ได้มาเทียบกับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง และจัดทำแผนที่ระดับความตื้น-ลึกของแหล่งน้ำในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ช่วยเพิ่มพลังงานให้กับแบตเตอรี่ในระหว่างการสำรวจในแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มระยะเวลาการสำรวจได้นานขึ้น

“นวัตกรรมดังกล่าวสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากมิติ อาทิ การสำรวจคุณภาพน้ำ เพื่อทดสอบคุณภาพของน้ำว่าเหมาะแก่การใช้งานในภาคการเกษตรหรือไม่ การเป็นข้อมูลในการติดตามความตื้น-ลึกคูคลอง เพื่อวางแผนขุดลอกคูคลองรองรับปริมาณน้ำ แม้ในกรณีอุทกภัยสามารถใช้สำรวจพื้นที่น้ำท่วม และหาเส้นทางเข้าช่วยเหลือ ผู้ประสบภัย โดยทีมวิจัยทดสอบประสิทธิภาพบริเวณแหล่งน้ำในพื้นที่ตัวอย่าง จังหวัดนครสวรรค์ และปราจีนบุรี และสระเก็บน้ำ ในแปลงเกษตรทดลองของมธ. นวัตกรรมนี้จะช่วยลดข้อจำกัดดังกล่าวได้และยังเพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อสนับสนุนงานวิจัยด้านแหล่งน้ำในอนาคต”

“นวัตกรรม เรือสำรวจขนาดพกพาเป็นผลงานวิจัยร่วมกับ ผศ.ดร. ธนิท เรืองรุ่งชัยกุล, ผศ.ดร. ธเนศ วีระศิริ และ อาจารย์ณัฐพล จันทร์แก้ว อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ขณะนี้กำลังยื่นจดอนุสิทธิบัตร โดยล่าสุดได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศจากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์”
ด้าน รศ.ดร. สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ฯ เล็งเห็นถึงปัญหาของสังคมในด้านต่างๆ จึงมีนโยบายสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยของคณาจารย์ในทุกมิติให้เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาสังคมได้

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านหลายจังหวัดในภาคอีสานยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ที่จังหวัดหนองคาย ระดับน้ำโขงวัดที่ส่วนอุทกวิทยาหนองคาย มีระดับอยู่ที่ 11.22 เมตร ทำสถิติสูงสุดในรอบปี 61 ต่ำกว่าตลิ่งเพียง 98 เซนติเมตร ทำให้น้ำเริ่มไหลเข้าปากท่อระบายน้ำภายในเทศบาลเมืองหนองคาย โดยทางเทศบาลได้ทำการปิดปากท่อระบายน้ำเกือบทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ น้ำในแม่น้ำโขงยังได้หนุนเข้าลำห้วยสาขาเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดชลประทานจังหวัดหนองคายได้ปิดประตูระบายน้ำของลำห้วยหลวงทั้ง 3 บาน

เพื่อไม่ให้น้ำโขงไหลเข้าในลำห้วยไปท่วมพื้นที่การเกษตรทั้งใน 1 อำเภอ ของจังหวัดหนองคาย และ 6 อำเภอ ของจังหวัดอุดรธานี ทั้งนี้ ชลประทานจังหวัดหนองคายยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 10 นิ้ว และ 12 นิ้ว จำนวน 10 เครื่อง เร่งสูบน้ำจากลำห้วยหลวงลงในแม่น้ำโขงแทน โดยจะทำการสูบต่อเนื่องวันละ 22 ชั่วโมง ที่จังหวัดมุกดาหาร ระดับน้ำโขงเริ่มไหลเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนประชาชนที่ตั้งอยู่ริมตลิ่งใน อำเภอเมือง อำเภอหว้านใหญ่ และ อำเภอดอนตาล รวมทั้งบริเวณตลาดอินโดจีน เขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร โดยในส่วนของตลาดอินโดจีนชั้นใต้ดินน้ำได้เริ่มเอ่อล้นเข้ามาในพื้นตลาดตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 31 กรกฎาคม

นายไพฑูรย์ รักษ์ประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า น้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นเกินระดับวิกฤตนั้น ทางจังหวัดโดยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดมุกดาหาร ได้ออกประกาศแจ้งเตือนประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยที่อยู่ติดกับริมแม่น้ำโขงให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์การเกิดอุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน เอ่อล้นตลิ่ง

ที่ จังหวัดนครพนม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พลตรีสมชาย ครรภาฉาย ผบ.มทบ. สั่งการให้ บก.ควบคุม กกล.รส.จังหวัดนครพนม จัดกำลังพลเข้าร่วมประชุม เพื่อติดตามและแก้ปัญหา กรณีน้ำโขงหนุนเข้าทางประตูระบายน้ำห้วยแคน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรและกำลังจะเข้าชุมชนที่อยู่ลำน้ำห้วยแคน ที่ประชุมได้ข้อสรุปให้ปิดประตูน้ำตามลำห้วยสาขาทุกบานที่น้ำไหลเข้าเขตชุมชน ประสานขอรับการสนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำ ที่สำนักงานจังหวัดขอนแก่น มาติดตั้งโดยด่วน เพื่อระบายน้ำออกทางหน้าเขื่อน และทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เพื่อขออนุญาตขยายเขตไฟฟ้าเข้าพื้นที่ห้วยแคนในการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำโดยด่วนหลังจากที่น้ำโขงมีระดับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เอ่อท่วมบ้านเรือนราษฎรที่บริเวณบ้านน้ำก่ำ หมู่ 17 ตำบลน้ำก่ำ อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำก่ำจุดที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง ซึ่งน้ำได้เอ่อท่วมบ้านเรือนจนเกือบถึงชั้นสอง

นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวภายหลังเรียกประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ว่าที่ประชุมมีมติระบายน้ำออกจากเขื่อนลำปาว จากเดิมวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็นวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม เนื่องจากขณะนี้ฝนหยุดตกทำให้สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำเริ่มคลี่คลาย

เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่าในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลายจังหวัดมีฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่องกันหลายวัน ขณะที่แม่น้ำหลายสายเริ่มมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีภาวะเสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม สำหรับคลื่นลมบริเวณอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2- 4 เมตร

ปภ. จึงได้ประสาน 41 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ แยกเป็น ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พะเยา แพร่ น่าน เพชรบูรณ์ ตาก กำแพงเพชร และพิจิตร ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี นครนายก สระแก้ว ชลบุรี และระยอง ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และราชบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีสะเกษ ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ สตูล ตรัง และภูเก็ต รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฝ้าระวังและติดตามปริมาณน้ำฝนรายวัน ปริมาณน้ำฝนสะสม ระดับน้ำในลำน้ำ และพื้นที่ลาดเชิงเขาอย่างใกล้ชิด ส่วนพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ให้เฝ้าระวังอันตรายจาก คลื่นลมแรง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งอย่างเด็ดขาด

ที่จังหวัดเชียงราย นายนิวัฒน์ งามธุระ นายอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงเหตุน้ำเซาะถนนทางขึ้นภูชี้ฟ้าพังถล่ม ว่า ได้ขอให้รื้อร้านค้าในบริเวณดินถล่มออกไปทั้งหมด เพื่อทำการซ่อมถนนห้กลับมาใช้ได้ตามเดิมในไม่เกิน 5วัน วิธีการคือถมตรงช่องว่างที่ทรุดหายไป จัดทำท่อเพื่อเป็นทางไหลของนำใต้ดิน จากนั้นจะประเมินการดำเนินการต่อไป

วันเดียวกัน นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า แขวงทางหลวงเพชรบูรณ์ที่ 1 ได้ซ่อมแซมผิวทางหลวงหมายเลข 2331 ตอน โจ๊ะโหว-อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ที่ถูกน้ำกัดเซาะแล้ว อย่างไรก็ตามขณะนี้ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางขึ้นภูทับเบิก(จาก ทล.2372) โดยให้ใช้ทล. 12 ไป ทล.2013 บ้านแยง-นครไทย แทน

วันเดียวกัน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ช่วงกลางเดือนสิงหาคมนี้จะเกิดร่องมรสุมพาดผ่านประเทศไทย จะทำให้ฝนตกหนักในภาคเหนือและอีสานยาวต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม ที่เป็นช่วงฝนปกติคาดมีพายุเข้าเพิ่มอีก 2 ลูก ในขณะที่ภาคตะวันตกที่ผ่านมาฝนตกหนัก ส่งผลกระทบต่ออ่างเก็บน้ำของหลายแห่งที่มีปริมาณน้ำเกินระดับการระบายสูงสุด จึงเตรียม 3 แผนงานคือ แผนการระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงนี้เพื่อรับน้ำฝน แผนเตรียมรับมือภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ และแผนแจ้งเตือนประชาชน

นายสมเกียรติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันพบว่ามีอ่างเก็บน้ำปริมาณน้ำเกินความจุ 100% เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 50 อ่าง และอ่างเก็บน้ำเฝ้าระวัง คือ 80-100% ของความจุ เป็นอ่างขนาดใหญ่ 5 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำน้ำอูน 92% เขื่อนแก่งกระจาน 91% เขื่อนศรีนครินทร์ 85% และเขื่อนปราณบุรี 81% เขื่อน วชิราลงกรณ 81% และเป็นอ่างขนาดกลาง 50 แห่ง

วันที่ 1 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนชาวประมงใน 22 จังหวัดทั่วประเทศได้ยื่นหนังสือในนามสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีผ่านผู้ว่าฯ โดยชาวประมงมีมติ คัดค้านการกรณีรัฐบาลจะไปให้สัตยาบันเพื่อรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 (C.188) พร้อมยื่นเงื่อนไข 7 ข้อ ประกอบด้วย 1. ปัญหาการขาดแคลนแรงงานภาคประมง 2. การซื้อเรือประมงคืนยังไม่ครอบคลุม 3. กฎระเบียบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สร้างปัญหาให้กับผู้ประกอบการประมง 4. เงื่อนไขการออกใบสำคัญรับรองการตรวจจเรือบางข้อไม่เป็นปัจจุบัน 5. ทบทวนพ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 ที่มีบทลงโทษรุนแรงเกินไป 6. การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมเรือเข้าออกให้แต่ละศูนย์ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน และ 7. ภาระค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ VMS ในช่วงเรือจอด ส่งผลให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

ที่จังหวัดสงขลา ตัวแทนชาวประมงกว่า 500 คน นำทีมโดย นายพิชัย บูรณวัฒน์ และ นายนิวัฒน์ บิลด้วน รองนายกสมาคมประมงจังหวัดสงขลา เดินทางมายังศาลากลางจังหวัดยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าว ผ่าน นายดลเดช พัฒนรัฐ ผู้ว่าฯ สงขลา

นายนิวัฒน์ กล่าวว่า กฎระเบียบต่างๆ ที่แต่ละหน่วยงานออกมาไม่คำนึงถึงวิถีการทำประมง ทำให้ผู้ประกอบการเดือดร้อนต่อเนื่องจนเรือประมงไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ต้องหยุดทำการประมงหลังเข้ายื่นหนังสือวันนี้แล้วจะรอผลการแก้ไขภายใน 7 วัน หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขจะนำเรือประมงกลับเข้าฝั่ง หยุดทำการประมงพร้อมกัน 22 จังหวัด เพื่อกดดันรัฐบาลและให้เวลาอีก 7 วัน แต่หลังจากนั้นหากยังไม่ชัดเจนก็จำเป็นต้องเคลื่อนไหวแนวทางสุดท้ายคือยื่นเรื่องถวายฎีกา

นายพิชัย กล่าวว่า นอกจากกฎระเบียบที่ไม่คำนึงถึงวิถีชาวประมง เจ้าหน้าที่จากหลายภาคส่วนไม่ได้บูรณาการร่วมกันทำให้เกิดการเข้าใจผิดพลาดระหว่างผู้ปฏิบัติงาน แต่ส่งผลให้ชาวประมงเป็นผู้รับความผิด การตรวจจับกุมไม่ได้มุ้งเน้นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย แต่กลับเน้นตรวจตราการจดบันทึกเอกสาร เช่น แบบบันทึก เวลาพักงาน สัญญาจ้างแรงงาน เอกสารการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งมีอัตราโทษความผิดที่ร้ายแรง

ที่ลานศิลปวัฒนธรรม อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี นายชิต ศรีกล่ำ รองนายกสมาคมการประมงปัตตานี พร้อมผู้ประกอบการเรือประมง นายจ้าง และลูกเรือประมงกว่า 300 คน รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือผ่าน นายวีรนันทน์ เพ็งจันทร์ ผู้ว่าฯ ปัตตานี โดยระบุว่าหากไม่ได้รับการแก้ไขชาวประมงทั่วประเทศจะนัดหยุดเรือประมงวันที่ 8 สิงหาคม

จากนโยบายของ พ.ต.อ. อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ปักหมุดให้ปี 2561 เป็น ปีแห่งการคุ้มครองสมาชิกประกันสังคม จึงเห็นทุกหน่วยงานของสำนักงานประกันสังคม ทำงานเชิงรุกเพื่อเผยแพร่การรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ที่แรงงานอิสระจะได้รับ เมื่อเข้ามาอยู่ในระบบประกันสังคม

ขณะเดียวกันคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษา (ชุดที่ 13) ก็ปรับปรุงผู้ประกันตนไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะการส่งเงินมาสมทบภาคสมัครใจ มาตรา 40 ทั้ง 3 ทางเลือก ที่ได้รับการตอบรับสมัครเข้ามาอยู่ในระบบจำนวนมาก เพราะจ่ายเงินน้อยขั้นต่ำเพียง 3 บาท ต่อวัน แต่สิทธิประโยชน์ที่ประกันสังคมให้เกินคุ้ม สมัครง่าย ใข้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว และมีอายุตั้งแต่ 15-60 ปีบริบูรณ์ แถมยังไม่ต้องตรวจสุขภาพ สนใจสมัครได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทุกแห่งทั่วประเทศ

สามารถสมัครด้วยตนเองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ได้ที่ http://www.sso.go.th /section40_regist/ หรือผ่านทาง QR code รวดเร็วทันใจ

ยิ่งไปกว่านั้น เงินสมทบที่จ่ายสำหรับ มาตรา 40 นี้ สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ และผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่ถูกตัดสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และใช้เสริมกับสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานของรัฐบาลได้ด้วย แรงงานอิสระ ที่ยังไม่สมัครมาตรา 40 อย่างรอช้า ดีและคุ้มค่าอย่างนี้

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าผลักดันสินค้าเกษตรแปรรูป ผ่านโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรในภูมิภาค OPOAI 4.0 ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน กว่า 10 ปีแล้วที่โครงการโอปอยเข้าไปช่วยพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ SMEs ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 200 ล้านบาท ผ่านแผนงานของโครงการ 7 แผนงาน ซึ่งในแต่ละแผนงานมุ่งหวังให้สถานประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการโอปอย จะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทีมงานที่ปรึกษา และสถานประกอบการที่จะต้องผสานความร่วมมือกันในการดำเนินโครงการ โดย สอจ. จะทำหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือ ติดตาม และประสานงาน ส่วนทีมงานที่ปรึกษาจะเป็นผู้ที่เข้าไปให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบการ สำหรับสถานประกอบการมีหน้าที่ให้รายละเอียดแก่ทีมงานที่ปรึกษา และร่วมกันแก้ไข ดำเนินการปรับปรุงตามคำแนะนำของที่ปรึกษา รวมทั้ง ทีมที่ปรึกษายังได้จัดทำแผนการดำเนินงาน ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้สถานประกอบการนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดได้ด้วยตนเอง

10 ปีที่ผ่านมา โครงการสามารถลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้สถานประกอบการคิดเป็นมูลค่ากว่า 4,914 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรวมทั้งหมดที่ได้รับ 394.60 ล้านบาท ให้ผลประโยชน์มากถึง 12.45 เท่าของวงเงินงบประมาณ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการโอปอยจำนวนกว่า 1,505 ราย เฉลี่ยได้แล้วแต่ละรายสามารถลดต้นทุนเพิ่มรายได้ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้เฉลี่ยรายละ 3.27 ล้านบาท ซึ่งหากผู้ประกอบการแต่ละรายยังคงดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง หรือนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดก็จะสามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ในแต่ละปีให้กับสถานประกอบการได้มากทีเดียว

กระทรวงอุตสาหกรรม หวังว่าโครงการโอปอยจะเป็นหนึ่งในโครงการเล็กๆ ที่จะช่วยผลักดันให้สินค้าเกษตรแปรรูปของไทยก้าวสู่ Industry 4.0 และผู้ประกอบการยังสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ค้าภายใน จับมือ กระทรวงเกษตรฯ หาช่องทางการจำหน่ายลำไย ผ่านไปรษณีย์ไทย หวังที่จะช่วยผู้ปลูกลำไยมีช่องทางระบายสินค้า พร้อมเชิญชวนประชาชนช่วยกันซื้อ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร อีกทั้ง จะขยายการสั่งซื้อไปยังผลไม้ชนิดอื่นด้วย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมมือกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์และกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดหาช่องทางการจัดจำหน่ายลำไยให้เกษตรกรเพิ่มขึ้นด้วยระบบที่ทันสมัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ด้วยการกระจายผลผลิตลำไยผ่านทางไปรษณีย์ไทย เพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้รับประทานลำไยสด รสชาติดี มีคุณภาพ ซึ่งเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไยที่ผลผลิตกำลังออกสู่ตลาด

ทั้งนี้ แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย กรมส่งเสริมการเกษตร จะช่วยแนะนำผลผลิตจากสวนของเกษตรกร ฟาร์มแปลงใหญ่, กลุ่มวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตรจังหวัดต่างๆ, เกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ในขณะที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จะทำหน้าที่พี่เลี้ยงให้กับสหกรณ์และคัดสรรสหกรณ์ที่มีศักยภาพเพื่อเข้าร่วมโครงการ ส่วนกรมจะทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ เพื่อขยายช่องทางการตลาด ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลผลิตลำไยที่จะส่งตรงถึงมือท่าน มีการคัดเกรดให้เทียบเท่ากับผลผลิตลำไยส่งออก แต่ราคาย่อมเยาเพื่อคนไทย

ขณะที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเลือกเฉพาะผลผลิตจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ ปลอดภัย และจัดช่องทางการจำหน่ายที่สะดวกมากขึ้น ผ่านช่องทางออนไลน์ (เว็บไซต์ www.thailandpostmart.com) และออฟไลน์ที่ทำการไปรษณีย์และบุรุษไปรษณีย์

“การที่คนไทยช่วยสั่งซื้อสินค้าลำไยผ่านไปรษณีย์ไทย จะเป็นการรวมพลังผู้บริโภคไทย เพื่อช่วยเกษตรกรไทยให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตได้เพิ่มขึ้น และสร้างรายได้สู่เกษตรกรไทยและเศรษฐกิจโดยรวม โดยในอนาคตจะขยายไปสู่ผลไม้อื่นๆ ด้วย”

“ออฟฟิศซินโดรม” โรคยอดฮิตของคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนทำงานออฟฟิศ (ตามชื่อโรค) สาเหตุคร่าวๆ กว้างๆ เกิดจากการที่ร่างกายเสียสมดุล อยู่ในโครงสร้างที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน อาการกลุ่มโรคที่เรียกว่า “ออฟฟิศซินโดรม” นั้น เกิดได้ทั้งกับระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน ตาและการมองเห็น

อาการ “ออฟฟิศซินโดรม” ที่เรารู้จักและพบมากทั่วไปเป็นอาการเจ็บปวดที่ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งอาการนี้สามารถรักษาได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด (physical therapy)

มนัสวี สามสี นักกายภาพบำบัดประจำคลินิกกายภาพบำบัด K&K Balance ให้ข้อมูลว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพ ที่เรียกว่า “ออฟฟิศซินโดรม” ส่วนมากเกิดอาการที่คอและบ่า เพราะนั่งทำงานนาน ไม่มีการลุกขึ้นเหยียดตัว ร่างกาย คอ บ่า จึงตกลงตามแรงโน้มถ่วง อีกทั้งเวลานั่งคนเราจะไม่ใช้กล้ามเนื้อหลัง กล้ามเนื้อหลังจึงสบายที่ไม่ต้องทำงาน แต่เมื่อกล้ามเนื้อส่วนนั้นสบายเป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อจะเริ่มเปลี่ยนช่วงความยาว เป็นความยาวที่ไม่เหมาะสม และการหดตัว-คลายตัว ไม่ปกติ

กล้ามเนื้อที่สำคัญมากและมีส่วนอย่างมากกับอาการออฟฟิศซินโดรมคือ “สะบัก” สาเหตุที่คนส่วนใหญ่เจ็บแขน คอ และบ่าไหล่ เพราะสะบักเป็นเหมือนสมองของแขน เมื่อแขนเคลื่อนไหว สะบักจำเป็นต้องอยู่นิ่งและเคลื่อนไหวล้อตามกันไป แต่ถ้าสะบักสูญเสียการทำงาน หรือสะบักเคลื่อนที่ กล้ามเนื้อที่อยู่รอบๆ ก็จะต้องยืดออก ทำให้รู้สึกตึงและมีอาการเจ็บปวด

“สะบัก เปรียบเหมือนแผ่นเหล็ก 1 แผ่น ที่มีเชือกโยงอยู่ ซึ่งเชือกที่โยงอยู่ ก็คือ กล้ามเนื้อรอบๆ ที่เกาะจากสะบักไปกระดูกสันหลัง คอ และแขน เมื่อไรที่สะบักมีความบิดเพี้ยน แสดงว่ากล้ามเนื้อที่เกาะอยู่โดยรอบมีการเกร็งตัว หรือกล้ามเนื้ออีกมัดยืดออกมากเกิน หรืออีกมัดอาจจะมีแรงไม่พอที่จะดึงสะบักไว้ เมื่อกล้ามเนื้อมีการเปลี่ยนแปลง และต้องทำงานซ้ำๆ กล้ามเนื้อจะเกิดการบาดเจ็บ เพราะช่วงการทำงานไม่เหมาะสม”

นอกจากนั้น นักกายภาพบำบัด บอกว่า ยังมีความเจ็บปวดกล้ามเนื้อที่เป็นผลมาจากกระดูกสันหลังคดด้วย ซึ่งปัญหากระดูกสันหลังมีทั้งแบบที่คดมาตั้งแต่กำเนิด และปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม การนั่ง การออกกำลังกาย รวมถึงเป็นผลมาจากอุบัติเหตุ

เมื่อกระดูกสันหลังคดบิดเป็นรูปตัวเอส กล้ามเนื้อซึ่งเกาะอยู่กับกระดูกจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วงความยาวของกล้ามเนื้อบางมัดจะเพิ่มขึ้น (ยืดยาวออก) กล้ามเนื้อบางมัดจะหดตัวสั้นลง เมื่อกล้ามเนื้อเสียสมดุล ไม่อยู่ในช่วงความยาวและตำแหน่งปกติ จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวด

นักกายภาพบำบัด ประจำ K&K Balance บอกว่า อาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ รักษาได้ด้วยศาสตร์กายภาพบำบัด (physical therapy) เป็นการรักษาโดยการปรับสรีระโครงสร้างร่างกายให้กลับเข้าสู่สมดุล ซึ่งเป็นการปรับเข้าสู่ตำแหน่งและหน้าที่ที่เหมาะสม เป็นกระบวนการรักษาที่ตรงจุดและไม่ใช้ยา โดยใช้หลักการและกระบวนการทางฟิสิกส์ร่วมกับความรู้ด้านกายวิภาคศาสตร์ (anatomy)