สำหรับเงื่อนไขกองทุนฯ และรายละเอียดต่างๆ จะสามารถสรุป

ได้ประมาณ 2 เดือน จากนี้ แต่ในเรื่องสวัสดิการเกษตรกร ต้องดำเนินการให้รอบคอบ เพราะมันไปซ้ำซ้อนกับกองทุนอื่น อาทิ เรื่องบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตร 30 บาท) กฎหมายของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีการกำหนดการดูแลสวัสดิการไว้ แต่เป็นเงินจ่ายขาด หากมีการจัดตั้งกองทุนดูแสสวัสดิการเกษตรกร จะต้องนำเกษตรกรชาวสวนยางเข้ามาดูแลด้วย แต่การดำเนินการเรื่องนี้ ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายอย่าง ต้องดูในข้อกฎหมายในเรื่องงบประมาณในการตั้งกองทุนและงบบริหารว่าขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังหรือไม่ ต้องดูเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร พ.ศ. 2554 และ พ.ร.บ. เศรษฐกิจการเกษตร ปี 2522 หรือไม่ต้องนำมาปรับถ้อยคำเพิ่มเติมบางมาตราเพื่อให้คุ้มครองการทำเกษตรกรรม

“ตั้งใจทำเรื่องสวัสดิการเกษตรกรให้เกิดในรัฐบาลนี้ ระหว่างนี้กระทรวงเกษตรฯ กำลังทำหลักการให้ชัดเจน ไม่ให้ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) หรือวินัยทางการคลังที่กำหนดการใช้เงินของภาครัฐไว้ แต่ทุกสาขาอาชีพเกษตรกรต้องมีสวัสดิการดูแลทั้งหมด และได้รับกองทุนคุ้มครอง ซึ่งชาวนาประกอบอาชีพสุจริตมาตลอดชีวิต น่าจะมีสวัสดิการคุ้มครองแล้ว จนวันที่เสียชีวิตต้องได้รับเงินชดเชยเหมือนอาชีพอื่นๆ”

นายกฤษฎา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรรมโดยลดการปลูกข้าว ไปปลูกพืชอื่น อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น หากชาวนาสนใจเข้าร่วมโครงการจะต้องไปลงทะเบียนกับ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยรัฐบาลจะชดเชยเงินสำหรับการเปลี่ยนอาชีพ 2,000 บาท/ไร่ โดยสามารถลงทะเบียนได้ไม่เกิน 30 ก.ย. นี้ ซึ่งการเปลี่ยนชาวนาให้ไปประกอบอาชีพอื่น เพื่อเป็นการลดปริมาณข้าวที่อาจมีมากเกินความจำเป็นส่งผลให้ราคาตกต่ำ

ทั้งนี้ แผนการดำเนินการปลูกข้าวครบวงจร ปีนี้กำหนดพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ ขณะนี้เพิ่งปลูกเพียง 3 ล้านไร่ มั่นใจว่าผลผลิตข้าวจะไปตามแผนแน่นอน เพราะปัจุจบันเกษตรกรมีการเรียนรู้แล้วว่า ถ้าปลูกข้าวจำนวนมากจะได้ไม่คุ้มเสีย ส่วนพื้นที่ที่เคยปลูกเกินนั้น รัฐมีมาตรการจูงใจในการปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กำลังส่งเสริมชาวนาให้รวมกลุ่มทำนาข้าวแปลงใหญ่ จากเป้าหมายพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ 58 ล้านไร่ โดยในปี 2564 จะต้องมีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ 30% หรือ 19 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม 2 ปีที่เริ่มโครงการแปลงใหญ่เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิตไปได้ถึง 20% และเกษตรกรมีความสนใจมาก จึงคาดว่าแปลงใหญ่จะได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แน่นอน ส่วนในพื้นที่ภาคอีสาน ปัจจุบันมีแปลงใหญ่ข้าวจำนวนทั้งหมด 1,700 แปลง ซึ่งกรมการข้าวจะคัดแปลงข้าวที่ดีที่สุด 20 แปลง มาเป็นต้นแบบผลิตข้าวระดับพรีเมี่ยม โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มประสิทธิภาพการทำนา

นอกจากตัวเลข จีดีพี สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความสามารถของแต่ละประเทศแล้ว
อีกหนึ่งตัวเลขที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการทำลาย ทรัพยากรธรรมชาติในขณะที่เราดำรงชีวิตอยู่
เร็วๆ นี้ จะถึง วันสิ่งแวดล้อมโลก, วันอนุรักษ์ท้องทะเล ฯลฯ ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญ
ประเทศไทย มีพื้นที่ทางทะเลรวม 323,488.32 ตารางกิโลเมตร คิดเป็น 60% ของพื้นที่ทางบก ความยาวชายฝั่งทะเล เท่ากับ 3,151.13 กิโลเมตร ขณะที่สุขภาพของทะเลไทย ตอนนี้อยู่ในขั้นโคม่า เพราะติด อันดับ 6 เรื่องปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรมากที่สุด
เรามีประชากรเพียง 65 ล้านคน แต่ขยะกลับเยอะ แซงหน้าอินเดีย, อเมริกา ฯลฯ ที่มีประชากรกว่าพันล้านคน
มีแก้ปัญหา ต้นทาง กลางทาง แต่ที่สุดแล้วต้องขอร้อง ปลายทาง ให้ช่วยกัน ท้องทะเลที่สมบูรณ์จะได้ไม่กลายเป็นแค่ตำนาน
“พลาสติก” คือ “เพชรฆาต” ของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล หลังผ่าพิสูจน์พบเศษพลาสติกในท้องของมันจำนวนมาก (คร่าชีวิต “เต่าทะเล” ไปแล้วหลายร้อยตัว ทั้งที่พวกมันอาจมีวงจรชีวิตยืนยาวถึง 150 ปี)

ออกทะเล-ของดีมีอยู่ที่ด้ามขวาน

ทะเลและมหาสมุทรกินพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกถึง 2 ใน 3 ครอบคลุมพื้นที่โลก ประมาณ 71% เป็นส่วนประกอบหลักของอุทกภาคของโลก ดังนั้น มหาสมุทรจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด เป็นส่วนหนึ่งในวัฏจักรคาร์บอน และมีอิทธิพลต่อภูมิอากาศและลมฟ้าอากาศ มหาสมุทรเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตกว่า 230,000 สปีชีส์

ท้องทะเลอาเซียนถูกจัดอันดับให้มีความสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งสมาชิกในประชาคมอาเซียนทั้ง 9 ชาติ ล้วนมีชายฝั่งติดทะเล คิดเป็นระยะทางรวมกัน ประมาณ 110,000 กิโลเมตร ยาวกว่าเส้นรอบวงโลกเกือบ 3 เท่า ในจำนวนนี้ ประเทศอินโดนีเซียมีชายฝั่งยาวไกลมากที่สุด (55,000 กิโลเมตร ถือเป็น อันดับ 2 ของโลก) รองลงมาคือ ประเทศฟิลิปปินส์ (36,000 กิโลเมตร อันดับ 4) ประเทศมาเลเซีย (4,675 กิโลเมตร อันดับ 29) ประเทศเวียดนาม (3,400 กิโลเมตร อันดับ 33) ประเทศไทย (3,200 กิโลเมตร อันดับ 34)

และประเทศเมียนมา (1,900 กิโลเมตร อันดับ 54) ตามหลักทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ทะเลเขตร้อนเป็นบริเวณที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตสูงกว่าทะเลเขตอบอุ่นและทะเลเขตหนาวเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ทะเลอาเซียนยังอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “เขตอินโด-แปซิฟิก” หรือเขตเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า ทะเลเขตนี้มีความหลากหลายสูงที่สุดในโลก สูงกว่าทะเลเขตร้อนในภูมิภาคอื่นใด ทำให้ทะเลของอาเซียนไม่เพียงใหญ่โตมโหฬาร ที่นี่ยังเป็นทะเลที่อุดมสมบูรณ์เป็น อันดับ 1

“ประเทศไทย มีขยะในทะเลมากเป็น อันดับ 6 ของโลก โดยมีการปล่อยขยะลงสู่ท้องทะเลถึงกว่า 1 ล้านตัน ต่อปี ส่งผลต่อระบบนิเวศอย่างมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ที่ผ่านมามีเต่าทะเลกว่า 100 ตัว ต้องตายลงเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป เวลานี้จะเห็นแมงกะพรุนจำนวนมากในหลายพื้นที่ เพราะเต่าทะเลเป็นสัตว์เพียงไม่กี่ชนิดที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหาร” ข้อมูลจาก นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ให้สัมภาษณ์ก่อนหาแนวทางกำจัดขยะกว่า 80% ที่ไหลลงทะเล การแก้ปัญหาแยกเป็นสามส่วน ต้นทาง ผู้ผลิต ผู้นำเข้า, กลางทาง การจัดการ ภาครัฐบาล เอกชน ภาคองค์กรส่วนท้องถิ่น, ปลายทาง การจัดการขยะ เช่น ฝังกลบ นำไปสู่การทำเป็นพลังงาน ฯลฯ ซึ่งยอมรับปัจจุบันยังไม่มีความสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ท้ายที่สุดแล้วถ้าจะดีขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของคนทุกคน ต้องตระหนักว่าท้องทะเลเป็นของคนทุกคนในโลกนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง เราทุกคนต้องช่วยกัน

ขยะพลาสติกที่หลุดออกสู่สิ่งแวดล้อม สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล สถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนของประเทศไทย ปี 2559 ขยะมูลฝอยชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศ 27.06 ล้านตัน, เราสร้างขยะ 1.14 กิโลกรัม ต่อคน ต่อวัน, คิดเป็น 74,130 ตัน ต่อวัน จำนวนมากถึง 43% (11.68 ล้านตัน ต่อปี) รวมกับที่ขยะที่ยังตกค้างอยู่ในพื้นที่อีกจำนวนมาก ซึ่งขยะเหล่านี้มีโอกาสสูงมากที่จะไปปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม และก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขอนามัย เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีการย่อยสลายในธรรมชาติได้ช้ามากๆ อาจต้องใช้เวลาหลายร้อยปี ในการย่อยสลาย

การจัดการขยะมูลฝอยตกค้าง ปี 2559 ขยะมูลฝอยตกค้าง 30.49 ล้านตัน จัดการแล้ว 20.36 ล้านตันเหลือขยะมูลฝอยตกค้าง 10.13 ล้านตัน ขยะที่เหลือไปไหน ??? สถานการณ์ขยะและขยะพลาสติกประเทศไทย…ปัญหาขยะได้ถูกบรรจุไว้ในแผนชาติ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ปี 2559 : ขยะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งประเทศไทยมีทั้งหมดประมาณ 2.83 ล้านตัน จำนวน 339,600 ตัน เป็นขยะพลาสติก 15% เป็นขยะที่ยังไม่มีการจัดการที่ถูกต้อง ขยะพลาสติก 51,000 ตัน ถูกปล่อยลงสู่พื้นที่ชายฝั่ง ระบบการจัดการขยะที่ไม่มีประสิทธิภาพเป็นสาเหตุหลักสาเหตุหนึ่งของปัญหาขยะทะเล

สถานการณ์ขยะพลาสติกในทะเล-อันดับที่น่าอับอาย

ประเทศไทย ติดอันดับ 6 ของโลกที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเล และเป็น 8 ประเทศ ในเอเชียติดอยู่ใน 10 อันดับแรก ทำไม ประเทศไทยถึงติดอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดของโลก ????? ก็เนื่องด้วยประเทศไทยยังมีขยะจำนวนมากที่ยังมีการบริหารจัดการไม่ดี มีขยะตกค้างจำนวนมาก และปล่อยให้เกิดการปนเปื้อนออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยแหล่งที่มาของขยะทะเล 1.กิจกรรมบนฝั่ง (80%) ชุมชน, แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง, บริเวณท่าเรือ, การท่องเที่ยวชายหาด 2. กิจกรรมในทะเล (20%) การขนส่งทางทะเล, การประมง, การท่องเที่ยวทางทะเล ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาทางทะเล

ขยะพลาสติกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีขยะพลาสติกเกิดขึ้นมากประมาณ 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน สามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้ปีละ 0.5 ล้านตัน ขวดพลาสติกน้ำดื่ม ประมาณ 4,400 ล้านขวด ต่อปี โดยมีสัดส่วนการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap seal) ร้อยละ 60 หรือประมาณ 2,600 ล้านขวด ขยะพลาสติกหุ้มฝาขวด (Cap seal) 2,600 ล้านชิ้น ต่อปี คิดเป็น 520 ตัน ต่อปี (ความยาว 260,000 กม. หรือคิดเป็นความยาวรอบโลก 6.5 รอบ) ถุงพลาสติกหูหิ้ว 45,000 ล้านใบ ต่อปี

นอกจากผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยแล้ว ที่จัดการไม่ได้ ไหลลงทะเล โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศ ผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก จากการกินแล้วเกยตื้น, จากการพันยึดภายนอก ทั้ง เต่าทะเล, โลมา และวาฬ,พะยูน ฯลฯ รวมทั้งหมดแล้วกว่า 518 ตัว (ข้อมูล สรุปจำนวนสัตว์ทะเลหายากในที่ได้รับผลกระทบจากขยะทะเล (2559 – 2560)

เสียงครวญจากท้องทะเล เหล่าเพชรฆาตดาวรุ่ง “ไมโครพลาสติก-นาโนพลาสติก” ซ้ำอ่วม

นอกจากขยะมูลฝอยที่เห็นในรูปของสสารทั่วไป จับต้องได้ เช่น กระป๋อง, ถุงก็อบแก๊บ แล้ว ปัจจุบัน ท้องทะเลไทยยังมากมายไปด้วยพร็อพที่ไม่ได้รับเชิญอย่าง พลาสติกขนาดเล็ก (เล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) หรือ ไมโครพลาสติก ซึ่ง

แหล่งที่มา 1. ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น ยาสีฟัน สครัปหน้า ยากันแดด โฟมอาบน้ำ และผงซักฟอก เป็นต้น (ปัจจุบัน ได้ห้ามใช้ในหลายๆ ประเทศ) 2. เกิดมาจากการย่อยสลายหรือแตกตัวของพลาสติกขนาดใหญ่พลาสติกที่มีขนาดใหญ่เมื่อไหลลงสู่แม่น้ำและทะเลแล้ว จะเกิดการสลายตัวหรือการแตกเป็นชิ้นเล็กเกิดขึ้นเมื่อได้รับอิทธิพลจากแสงอุลตราไวโอเล็ต และอุณหภูมิที่สูงจากดวงอาทิตย์ทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีกับออกซิเจนทำให้เกิดการเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของพลาสติก และเกิดการแตกตัวเกิดขึ้น

พบการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกที่ไหนบ้างในทะเล 1. ในชายหาดและตะกอนดินพื้นที่ (มีพบทั่วโลก) 2. ทะเลอันดามัน (ฤดูแล้ง) 3. ค่าเฉลี่ยไมโครพลาสติกที่พบในชายหาด: บริเวณน้ำขึ้นสูงสุด (High tide) = 1,860 ±533.84 บริเวณเขตน้ำขึ้นและลง (Intertidal) = 1,842 ±587.57 (จำนวนชิ้น ต่อตารางเมตร) 4. พบในทะเลลึก ไมโครพลาสติกมีการพบไปทุกพื้นที่ของทะเลและมหาสมุทร พบไมโครพลาสติกในสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกที่มีความลึกมาก 10 กิโลเมตร (By Stephanie Pappas, Live Science Contributor | November 16, 2017 01:31pm ET)

ถามว่า ไมโครพลาสติกมีผลกระทบอย่างไรต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล?? พลาสติกมีส่วนผสมทางเคมีที่ใช้ในการกำหนดคุณสมบัติ (additive chemicals) ที่จะถูกปล่อยออกมาเมื่อเกิดการย่อยสลาย ที่อาจสะสมและเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตที่รับไมโครพลาสติกเข้าไป ซึ่งจากการศึกษาในสัตว์หลายชนิด พบมีการสะสมของสารพิษที่มาจากพลาสติกเกือบทั่วโลก, พื้นที่ผิวของไมโครพลาสติกจะเป็นพื้นที่ให้สารมลพิษหรือแบคทีเรียมายึดเกาะและสะสมได้ เมื่อสิ่งมีชีวิตรับเข้าไปจะส่งผลกระทบได้ต่อสิ่งมีชีวิตนั้น, ไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อทางกายภาพ หรือทางชีววิทยาต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การพบว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของแพลงตอนสัตว์บางชนิด รวมทั้งมีผลกระทบที่อาจเกิดกับมนุษย์ที่เป็นผู้บริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์จากทะเล

ถ้ามองทุกอย่างเป็น วงกลม, วงจร ฯลฯ นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป และถ้ามองตามหลักศาสนา เรากำลังได้รับผลกระทบนี้จากการกระทำของเราเองแล้ว

ปลายทางต้องช่วยกัน

ปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รับผิดชอบดูแลทรัพยากรทางทะเลได้ร่วมดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการบริหารจัดการและลดปริมาณขยะทะเล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต และการปนเปื้อนในอาหารทะเล โดยกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุ ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติ ในการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างรายได้ระดับสูง เป็นประเทศพัฒนาแล้ว และสร้างความสุขของคนไทย สังคมมีความมั่นคง เสมอภาคและเป็นธรรม ประเทศสามารถแข่งขันได้ในระบบเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมาทำโครงการ ประชารัฐขจัดขยะทะเล หลักการ 3Rs-ประชารัฐ Reduce – การลดปริมาณการผลิตขยะจากการบริโภคน้อยลง Reuse-การใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่า Recycle – การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความยั่งยืน ยึดหลักการการมีส่วนร่วมตามการดำเนินงานแบบ “ประชารัฐ” ได้แก่ ภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคศาสนา ภาคประชาชน/ประชาสังคม ลด คัดแยก ใช้ประโยชน์ขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง

พร้อมทั้ง การจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ ด้วย ทุ่นกักเก็บขยะ ดำเนินโครงการศึกษาปริมาณขยะลอยน้บริเวณปากแม่น้ำอ่าวไทยตอนบนโดยทุ่นกักขยะ ใน 2 พื้นที่ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน โดยสถานีติดตั้งอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยประเด็นปัญหาขยะมูลฝอยจากแผ่นดินจะเป็นแหล่งกำเนิดของขยะลงสู่ทะเลผ่านทางแม่น้ำ การศึกษาปริมาณขยะใน 5 ปากแม่น้ำอ่าวไทยตอนบน ในปี 58-60 พบขยะทะเลลอยน้ำช่วงน้ำลงรวม 79,427 ชิ้น (1,308 กก.) และช่วงน้ำขึ้นรวม 55,824 ชิ้น (737 กก.) แสดงให้เห็นถึงบริเวณปากแม่น้ำเป็นทางออกของมวลขยะส่วนหนึ่งลงสู่ทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบกับทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งได้

การจัดเก็บขยะตกค้างในระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญ เทศบาลทะเล เพื่อการบูรณาการความร่วมมือในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการมีส่วนร่วมและความยั่งยืนในการบริหารจัดการขยะในพื้นที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพโดยดำเนินการในพื้นที่ 24 จังหวัด ชายฝั่งทะเลไปแล้ว กว่า 40 ครั้ง และยังมีแผนดำเนินการต่อเนื่อง

แต่เนื่องด้วยขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีอายุการย่อยสลายนานถึงหลายร้อยปี จึงสามารถที่จะตกค้างอยู่ในทะเลได้เป็นระยะเวลานาน รวมถึงการแตกตัวเป็นพลาสติกขนาดเล็กหรือที่เรียกว่าไมโครพลาสติก โดยในระยะแรกนั้นพลาสติกส่วนใหญ่จะมีความหนาแน่นที่น้อยกว่าน้ำทะเลสามารถร่องลอยไปกับกระแสน้ำได้ จะทำให้ขยะทะเลสามารถเคลื่อนย้ายจากน่านน้ำประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ การบริหารจัดการขยะทะเลจึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระดับนานาชาติในภูมิภาค และระดับโลก

8 มิ.ย. วันทะเลโลก

นายจตุพร กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 8 มิ.ย. เป็นวันทะเลโลก ปี 2018 (2561) ซึ่งทั่วโลกตระหนักให้ความสำคัญกับทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลที่ช่วยรักษาสมดุลของธรรมชาติ นับเป็นภารกิจร่วมกัน (โลกใบนี้ มีพื้นที่ทะเลมากกว่าผืนดินหลายเท่านัก) ของคนยุคนี้ ในการรักษาและส่งต่อท้องทะเลที่สมบูรณ์ให้กับคนรุ่นหลัง

กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มีพันธกิจในเรื่องดังกล่าว พร้อมถือโอกาสงานวันทะเลโลกจัดงานแถลงข่าวเพื่อสร้างการรับรู้ พร้อมจัดทำภาพยนตร์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย ภายใต้คอนเซ็ปต์ (Healthy Oceans Healthy Lives : ทะเลดี ชีวีมีสุข) สู่สาธารณะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาพยนตร์ชุดดังกล่าว จะสร้างจิตสำนึกในการหวงแหน และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เป็นสำคัญ โดยหลังจากนี้สามารถติดตามภาพยนตร์และกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทะเลได้ที่เว็บไซด์ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง www.dmcr.go.th

รู้จักยัยตัวร้าย : พลาสติกผลิตมาจากอะไร ?

วัตถุดิบที่สำคัญ ที่ใช้สำหรับการผลิตพลาสติกคือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่ธาตุต่างๆ เป็น ส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจผลิตจากน้ำมันพืช และส่วนต่าง ๆ ของพืช(เซลลูโลส เชลแล็ก และกรดไขมันต่างๆ) ย้อนกลับไป พลาสติกผลิตขึ้นมาใช้ในโลกครั้งแรก ปี พ.ศ. 2450 นักเคมีชื่อ นายลีโอ เบคแลนด์ (Leo Baekeland) ได้ค้นพบวิธีการผลิตเบคเคอไลต์ Bekelite ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพลาสติกสังเคราะห์ชนิดแรกของโลกขึ้นเป็นครั้งแรกจากสารอินทรีย์โมเลกุลเล็กๆ ซึ่งเกิดจากการกระทำปฏิกิริยาระหว่างฟอร์มัลดีไฮด์และฟีนอล เบคเคอไลต์ เป็นพลาสติกแข็ง ทนความร้อนได้ดี และสามารถขึ้นรูปให้มีรูปร่างต่าง ๆ ได้ตามแม่พิมพ์โดยใช้ความร้อน ทำให้มีสีสันสวยงามได้และมีราคาไม่แพง ในช่วงแรกเบเคอไลต์ถูกนำมาทำเป็นฉนวนเคลือบสายไฟและชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ต่อมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน ของใช้ และเครื่องประดับต่างๆ มากมายที่มีสีสันสวย

การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกในประเทศไทย

พ.ศ. 2500 ในระยะแรกมีการนำเข้าพลาสติกเรซินจากต่างประเทศ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกกันประปราย

พ.ศ. 2506 ได้มีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงต้องนำเข้าเรซินจากต่างประเทศ

พ.ศ. 2514 ประเทศไทยจึงสามารถผลิตพลาสติกเรซินคือ พีวีซี ได้เองเป็นชนิดแรก ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถผลิตพลาสติกได้อีกหลายชนิด เช่น พอลิเอทิลีน พอลิโพรไพลีน พอลิสไตรีน และพอลิเอสเทอร์

มูลค่าทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ

มูลค่าจากผลผลิตภัณฑ์พลาสติกมีผลต่อเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ คือ สร้างรายได้ จ้างงาน ผลิตภัณพ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

ปริมาณพลาสติกทั้งที่ผลิตได้ในประเทศไทย รวมกับที่นำเข้าและส่งออกแล้ว ได้ใช้เป็นพลาสติกในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 4.6 ล้านตัน (ข้อมูลในปี 2558)

แนวโน้มการผลิต การส่ง และการบริโภคในประเทศจะมากขึ้น ในขณะที่การนำเข้ามีแนวโน้มคงที่ ประเทศไทยจึงมีแนวโน้มที่มีกำลังผลิตเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตของโลกที่การพยากรณ์ว่าจะมีการผลิตเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ เปิดเผยว่า กรมออกประกาศเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ปริมาณ 1.49 ล้านตัน และเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ปริมาณ 0.54 ล้านตัน

ส่วนเงื่อนไขการประมูลเช่นเดียวกับการเปิดประมูลข้าวที่ผ่านมา ซึ่งหากปรากฏภายหลังว่า ผู้เสนอซื้อรายใดขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามที่ประกาศกำหนดจะถือว่าผู้เสนอซื้อรายนั้นขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น และไม่สามารถยื่นเสนอซื้อข้าวในสต๊อกของรัฐได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้มงวดในการเปิดประมูลในทุกขั้นตอนไม่ให้รั่วไหลไปใช้ผิดประเภท

สำหรับสถานการณ์ราคาข้าวจนถึง วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา สามารถระบายได้ 4.8 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 8.6% มูลค่า 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.57% คิดเป็นมูลค่าในรูปแบบดอลลาร์สหรัฐ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นบวก 29.05%

ทั้งนี้ การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐเปิดประมูลข้าวสารในสต๊อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.49 ล้านตัน กำหนดวัน เวลา และสถานที่ยื่นซอง ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 3 อาคารกองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก กรมการค้าต่างประเทศ ยื่นซองเอกสารคุณสมบัติ วันที่ 11 มิ.ย. 2561 เวลา 09.00-12.00 น. ประกาศรายชื่อผู้เสนอซื้อที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นครบถ้วน วันที่ 14 มิ.ย. 2561 เวลา 09.00 น. ตั้งแต่ เวลา 09.00 ถึง 12.00 น. ยื่นซองเสนอซื้อตั้งแต่ เวลา 12.30 น. เปิดซองเสนอซื้อต่อหน้าสาธารณชน และสื่อมวลชน ส่วนการประมูลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 0.54 ล้านตัน ปิดให้ผู้สนใจเข้าดูสภาพข้าวในคลังสินค้า วันที่ 4-8 มิ.ย. 2561 เวลา 09.00-16.00 น.