สำหรับเพนกวินฮัมโบลด์มีการดัดแปลงอวัยวะที่ใช้ในการบิน

เพื่อการว่ายน้ำ มีหน้าอกและท้องสีขาว หลังมีสีดำ ส่วนหัวสีดำ มีลายเส้นสีขาวคาดจากฐานปาก ผ่านด้านข้างหัวลงมาถึงคอ อาศัยในเขตร้อนทางหมู่เกาะกูโน และชายฝั่งทะเลของเปรู และชิลี ทวีปอเมริกาใต้ อุณหภูมิที่ต้องการ 22-30 องศาเซลเซียส ในฤดูผสมพันธุ์นกชนิดนี้จะอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ อยู่ตามน้ำหรือขุดโพรงอยู่ตามพุ่มหญ้าสูงในป่าใกล้กับชายฝั่งทะเล วางไข่ ฟักไข่ ปีละ 1 ครั้งในฤดูใบไม้ผลิ สร้างรังด้วยก้อนหิน กิ่งไม้ ใบหญ้า วางไข่ครั้งละ 1 – 3 ฟอง ใช้เวลาฟักไข่ 39 วัน โดยตัวผู้เป็นผู้ฟักไข่

คร. แจงคลิปข่าวหมึกสายวงน้ำเงินเป็นข่าวเก่า หากพบเห็นไม่ควรซื้อมารับประทาน

เมื่อวันที่ 24 มกราคม นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวถึงกรณีในโซเซียลมีการส่งต่อคลิปข่าวเกี่ยวกับหมึกสายวงน้ำเงินหรือหมึกบลูริงที่พบในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง นั้น กรมควบคุมโรค ขอชี้แจงว่า คลิปข่าวดังกล่าวเป็นข่าวเก่าเมื่อต้นปี 2559 ที่ผ่านมา และขอให้ประชาชนตรวจสอบที่มาก่อนจะมีการส่งต่อในโซเซียลต่างๆ เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในประเทศไทยไม่เคยมีรายงานว่าใครโดนกัดหรือได้รับพิษจากหมึกชนิดนี้

สำหรับปลาหมึกสายวงน้ำเงินหรือหมึกบลูริง ไม่นิยมนํามารับประทาน ส่วนต่อมพิษของหมึกชนิดนี้จะอยู่ที่ปาก ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นเกิดจากการถูกกัดเท่านั้น โดยพิษของหมึกชนิดนี้จะไม่สลายเมื่อถูกความร้อน หากนําไปปรุงอาหารจนสุก แล้วรับประทานเข้าไป ก็เสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้เช่นกัน แนะนำหากประชาชนพบเห็น ไม่ควรซื้อมาปรุงเป็นอาหารรับประทานเด็ดขาด

นายแพทย์สุวรรณชัยให้ข้อมูลอีกว่า พิษของหมึกสายวงน้ำเงินนั้น เรียกว่า Tetrodotoxin (TTX) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า พิษชนิดนี้ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท โดยจะเข้าไปขัดขวางการสั่งงานของสมอง คนที่ถูกพิษจะมีอาการคล้ายเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก เนื่องจากกล้ามเนื้อกระบังลมและหน้าอกไม่ทํางาน ทําให้ไม่สามารถนําอากาศเข้าสู่ปอดได้ เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต โดยขอให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นโดยนำอากาศเข้าสู่ปอด เช่น เป่าปาก เป็นต้น จากนั้นต้องรีบนําส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพื่อใช้เครื่องช่วยหายใจ ต่อไป หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ฮิวแมนไรท์วอทช์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์แรงงานในอุตสาหกรรมประมงไทยต่อรัฐสภายุโรป โดยระบุว่ายังคงมีการใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติไม่ชอบในด้านสิทธิอื่นๆ อย่างกว้างขวางในฝูงเรือประมงไทย แม้ว่ารัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะระบุว่าได้ทำการปฏิรูปอย่างรอบด้านแล้วก็ตาม

โดยในรายงานที่มีความยาว 134 หน้าระบุว่า แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านของไทยมักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานภาคประมง พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากนี้แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า แม้รัฐบาลจะดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อทำให้เกิดการปรับปรุงอย่างสำคัญต่อแรงงานประมง แต่ก็ยังมีข้อบกพร่องมากมายในการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาล และการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูป

ปัญหาต่างๆ ยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ เพราะยังมีช่องว่างอย่างใหญ่หลวงในการบังคับใช้กฎหมายกับการป้องปราม ขณะที่ในบ้างด้านสถานการณ์กลับยิ่งเลวร้ายลง อาทิ การขึ้นทะเบียนบัตรชมพูเพื่อลดแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร แต่กลับเป็นช่องทางให้เกิดการบังคับขืนใจและการล่อลวง

“การขาดพันธกิจของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระเบียบ และมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง เราไม่ควรหลงกลกับกฎระเบียบที่ดูดีแค่เพียงในเอกสาร แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง สหภาพยุโรป และสหรัฐต้องเพิ่มแรงกดดันโดยทันที เพื่อให้ประเทศไทยคุ้มครองสิทธิ สุขภาพ และความปลอดภัยของแรงงานประมง”นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

เกษตรฯ จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ชวนเที่ยวงานวันเกษตรแห่งชาติและงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี 2561 พบนวัตกรรมการเกษตรใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ และสินค้าทางการเกษตรทั้งสดและแปรรูปที่น่าสนใจมากมาย ด้าน สศก. ร่วมจัดนิทรรศการน้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพสารสนเทศการเกษตร สาธิตแอพพลิเคชั่นกระดานเศรษฐีชวนเกษตรกรวางแผนการผลิตด้วยตนเอง

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงการจัดงานวันเกษตรแห่งชาติ ประจำปี 2561 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 3 กุมภาพันธ์ 2561 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน ภายใต้แนวคิด “ร่วมกันก้าวไป เกษตรไทย 4.0” ภายในงานจะพบกับนวัตกรรมการเกษตร ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการเกษตร การแปรรูปอาหารและของใช้ รวมถึงร้านค้าและร้านอาหาร รวมกว่า 10 โซน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชา พัฒนาเกษตรไทย 4.0” ณ บริเวณโซนตรงข้ามกรมการข้าว

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดงานวันเกษตรภาคอีสานประจำปี2561ภายใต้แนวคิดเอกลักษณ์ “เกษตรอีสาน สืบสานพระราชปณิธานของพ่อ”ระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2561 ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นซึ่งในงานมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือในการจัดงานบนพื้นที่กว่า 60ไร่ประกอบด้วยนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการพระราชดำริต่าง ๆ นิทรรศการด้านการเกษตรของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ การจำหน่ายพันธุ์ไม้ การเสวนาวิชาการทางการเกษตร การฝึกอบรมอาชีพการเกษตรให้นักเรียนนักศึกษาและประชาชนทั่วไปเพื่อให้เห็นความสำคัญของอาชีพการเกษตร ซึ่งแต่ละปีมีผู้เข้าเยี่ยมชมงานกว่า 500,000 คน ในการนี้ สศก. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น (สศท.4) ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการด้วย

ทั้งนี้ สศก.ได้ร่วมออกบูธนิทรรศการในหัวข้อ “พระอัจฉริยภาพด้านสารสนเทศการเกษตร”โดยจัดแสดงเนื้อหาและให้ความรู้เกี่ยวกับพระอัจฉริยภาพด้านสารสนเทศการเกษตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสาธิตแอปพลิเคชั่น “กระดานเศรษฐี” หรือ “OAE RCMO”ซึ่งคว้าแชมป์ในการประกวดโครงการ Thailand ICT Awards (TICTA) 2016 หรือ โครงการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์แห่งชาติ ประเภท E-Government & Services ให้เกษตรกรหรือผู้ที่เข้าชมงานเรียนรู้การคำนวณต้นทุนการผลิตพืช ปศุสัตว์และประมงเบื้องต้น ผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนทั้งในระบบปฏิบัติการ IOS และ Androidด้วยตนเองรวมถึงการให้ความรู้และข้อมูลสารสนเทศการเกษตรผ่านตู้ประชาสัมพันธ์ Kiosk และเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจการเกษตรที่น่าสนใจได้ทั้งสองงาน

โอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนเกษตรกรและผู้ที่สนใจเที่ยวชมงานวันเกษตรแห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และงานวันเกษตรภาคอีสานณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตรมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อร่วมกันอุดหนุนสินค้าเกษตรไทยและเรียนรู้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ ตลอดจนนิทรรศการต่างๆที่น่าสนใจมากมาย และอย่าลืมแวะบูธจัดแสดงนิทรรศการของ สศก.ที่พร้อมให้บริการข้อมูลด้านเศรษฐกิจการเกษตรแก่เกษตรกรและผู้เข้าชมงานในครั้งนี้ตลอดระยะเวลาการจัดงาน

จากการเข้าร่วมงานมาตรการ เสริมแกร่ง เพิ่มทุน ครอบคลุมทุกกลุ่ม SMEs เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2561 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ SME Bank นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรฯ ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(SME Bank ) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงเป็นตัวกลางประสานหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมเกษตรกรทั่วประเทศให้มีรายได้สูงขึ้น และเติบโตอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

ด้วยการยกระดับอาชีพจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมสู่การใช้ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลผลิต และตรงตามความต้องการของตลาด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุนด้านความรู้ ขณะที่ SME Bank เติมเต็มด้านเงินทุน โดยนำร่องที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ซึ่งมีการส่งเสริมให้ปลูกไผ่ และต่อยอดด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถ่านเชื้อเพลิง ไผ่สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม เฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ และบ้านจากไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะขยายผลไปทั่วประเทศ ตั้งเป้าว่าจะต้องเกิดผู้ประกอบการเอสเอ็มอีภาคเกษตรครอบคลุมอย่างน้อยทุกอำเภอทั่วประเทศ

เกษตรกรนั้นมีแนวคิดเรื่องการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าตัวเองอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่ติดขัดในเรื่องเงินทุน ซึ่งทาง SME Bank ยืนยันมีทุนเพียงพอและสามารถอุดหนุนได้ในวงเงิน 1 ล้านบาทต่อ 1 ผู้ประกอบการ โดยใช้ดอกเบี้ยเงินกู้เพียง 1% จัดเป็นสิทธิพิเศษมาก เบื้องต้นนั้นภายในปี 2561 คาดหวังจะผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ อย่างน้อยอำเภอละ 1 ผู้ประกอบการ 800 รายก่อน ปี 2562 ค่อยขยับขยายเป็นตำบลละ 1 ผู้ประกอบการ 8,000 รายต่อไป เกษตรกรที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นเป็นบุคคลธรรมดาหรือรวมกลุ่มกัน แต่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทต่างๆก่อน เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด , บริษัทจำกัด , กลุ่มเกษตรกร , สหกรณ์ ทาง SME Bank จะดูตัวโครงการ บุคลากร เงินทุน ผู้บริหารองค์กร ผู้บริหารโครงการเป็นหลัก หลักทรัพย์เป็นรอง เกษตรกรจึงโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า โดยเฉพาะภาวะแรกเริ่มธุรกิจ เพื่อนำสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรเป็นเจ้าของบริษัทธุรกิจเกษตร

ทั้งนี้ สภาเกษตรกรแห่งชาติจะทำหนังสือถึงสภาเกษตรกรจังหวัดให้รับทราบเบื้องต้นก่อน จากนั้นจะลงพื้นที่ในจังหวัดเป้าหมาย เช่น ภาคเหนือจัดที่ จ.ลำปาง ภาคอีสาน จ.ขอนแก่นหรืออุดรธานี ภาคใต้ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น เกษตรกรที่มีความพร้อมทำการแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรม พันธุกรรมท้องถิ่น ภูมิปัญญา แหล่งท่องเที่ยวสวยงาม ความรู้ต่างๆ ขอให้นำเรื่องเหล่านี้พูดคุยกับเครือข่ายของตนแล้วนำไปหารือกับสภาเกษตรกรจังหวัดได้ทุกจังหวัด เพื่อจะทำเป็นโครงการขึ้นมา เมื่อสภาเกษตรกรฯและเจ้าหน้าที่ SME Bank ลงพื้นที่สามารถนำเสนอโครงการ เมื่อผ่านทุกขั้นตอนก็จะสามารถอนุมัติวงเงินกู้ได้ทันที

กรมทางหลวง ศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจฯ โครงข่ายสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง คาดออกแบบแล้วเสร็จ ก.ค.นี้

นายประมณฑ์ สถาพรนานนท์ วิศวกรใหญ่ด้านสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง(ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทางหลวงได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงข่ายสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี – สาละวัน) เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน สปป.ลาว มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 50 และคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2561

พื้นที่ศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาตาล อำเภอเขมราฐ โดยแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกและเหมาะสมของโครงการ มีจุดเริ่มต้นที่ กม.23+350 (บ้านโนนตาล ต.นาตาล อ.นาตาล) จุดสิ้นสุดที่ กม.546+800 (เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน) รวมความยาวโดยประมาณ 25.8 กิโลเมตร

สำหรับรูปแบบของสะพานจะเป็นสะพานโค้ง ARCH ซึ่งเป็นระบบ Tied Arch คานสะพานเป็นคอนกรีตหรือผสมระหว่างเหล็กกับคอนกรีต ทำให้โครงสร้างสะพานมีความแข็งแรง มีความโดดเด่นด้วยเส้นนอน

ปัจจุบันการส่งออกสินค้าจากประเทศไทยไปเมืองละครเพ็ง แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีการขนส่งทางเรือผ่านด่านพรมแดนบ้านปากแซง จ.อุบลราชธานี ทำให้ขนส่งสินค้าได้จำนวนน้อยและ ไม่สะดวกในการเดินทาง

ซึ่งจากการประชุมเรื่องการพัฒนาร่วมกันเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ระหว่างฝ่ายไทยกับฝ่ายสปป.ลาว จึงเห็นควรให้มีการจัดทำโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงบริเวณนี้ โดยการศึกษาต้องพิจารณาถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการพัฒนาทางหลวงให้สอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียนต่อไป

อีกทั้ง โครงข่ายสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 6 จะช่วยให้ประชาชนเดินทางระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน สปป.ลาว ได้สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทาง รวมทั้ง ส่งเสริมภาคธุรกิจขนส่งและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์ www.6thkongriverbridge.com สำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง โทร. 0 2354 1027 และสายด่วน กรมทางหลวง 1586 (โทรฟรีทุกเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง)

เมื่อวันที่ 23 มกราคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2561 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ระบุว่าตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560 เรื่อง การกำหนด สินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560 กำหนดสินค้าควบคุม 42 รายการ และบริการควบคุม 5 รายการ ไปแล้ว นั้น

โดยที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับเพียงหนึ่งปี และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ ได้พิจารณาทบทวนการใช้อำนาจดังกล่าวแล้ว เห็นควรปรับเพิ่มรายละเอียดรายการสินค้าและเพิ่มรายการสินค้าควบคุมบางรายการ เพื่อดูแลป้องกันการกำหนดราคาซื้อ ราคาจำหน่ายหรือ การกำหนดเงื่อนไขและวิธีปฏิบัติทางการค้าอันไม่เป็นธรรม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (1) และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ พ.ศ. 2542

คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการด้วยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรี จึงออกประกาศ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับเป็นระยะเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1พ.ศ. 2560 เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2560

ข้อ 3 ให้สินค้าและบริการ ดังต่อไปนี้เป็นสินค้าและบริการควบคุม หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์(1) กระดาษทำลูกฟูก กระดาษเหนียว (2) กระดาษพิมพ์และเขียน (3) เยื่อกระดาษ หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง (4) แบตเตอรี่รถยนต์ (5) ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ (6) รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก หมวดปัจจัยทางการเกษตร (7) เครื่องสูบน้ำ

(8) ปุ๋ย (9) ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช (10) รถเกี่ยวข้าว (11) รถไถนา (12) หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ , หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม(13) ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (14) น้ำมันเชื้อเพลิง (15) เม็ดพลาสติก , หมวดยารักษาโรค(16) ยารักษาโรค

หมวดวัสดุก่อสร้าง (17) ท่อพีวีซี (18) ปูนซีเมนต์ (19) สายไฟฟ้า (20) เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น เหล็กเส้น

หมวดสินค้าเกษตรที่สำคัญ (21) ข้าวเปลือก ข้าวสาร (22) ข้าวสาลี (23) ข้าวโพด (24) ผลปาล์มน้ำมัน (25) มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ (26) ยางพารา ได้แก่ น้ำยางสด ยางก้อน เศษยาง น้ำยางข้น ยางแผ่น ยางแท่ง ยางเครพ

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (27) กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า (28) แชมพู (29) น้ำยาปรับผ้านุ่ม (30) ผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก (31) ผลิตภัณฑ์ล้างจาน (32) ผ้าอนามัย (33) ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเด็กและผู้ใหญ่ (34) สบู่ก้อน สบู่เหลว หมวดอาหาร (35) กระเทียม (36) ไข่ไก่ (37) ครีมเทียมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน (38) ทุเรียน (39) นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว ไม่รวมถึงนมเปรี้ยว(40) น้ำตาลทราย (41) น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ (42) แป้งสาลี (43) มังคุด (44) ลำไย (45) สุกร เนื้อสุกร (46) อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก (47) อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท , หมวดอื่น ๆ (48) เครื่องแบบนักเรียน

หมวดบริการ (49) การให้สิทธิในการเผยแพร่งานลิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า (50) บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ (51) บริการทางการเกษตร(52) บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ (53) บริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า

ทั้งนี้ประกาศ ณ วันที่ 22มกราคม พ.ศ. 2561 ลงนามโดยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า พส.เตรียมนำร่องศูนย์พัฒนาชาวเขาใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ตาก อุทัยธานี พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงภูมิวัฒนธรรม

โดยได้ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้มาแนะนำเพื่อพัฒนาระบบให้เหมาะสมตามบริบทของพื้นที่ และต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมองว่าที่ผ่านมาเราได้พัฒนาชาวเขาจนมีสุขภาพพลานามัยดีขึ้นแล้ว จากนี้ทำอย่างไรที่จะพัฒนาชาวเขาให้สามารถใช้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมของตัวเอง สร้างอาชีพและสร้างรายได้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะขายผลิตภัณฑ์ เปิดการแสดง จากที่ผ่านมาอาจทำอยู่บ้างแล้ว ก็ทำให้ชัดเจนและเหมาะสมกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ก็น่าจะดีขึ้น

เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่จากเทศบาลนครขอนแก่นและเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 8 ขอนแก่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าปรับพื้นที่และจัดเตรียมดินในการปลูกต้นดาวเรืองและปอเทืองรอบที่ 2 ซึ่งได้กำหนดจัดสร้างขึ้นบริเวณภายในสวนสาธารณะบึงทุ่งสร้างเขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อเป็นการปรับสภาพพื้นดินและดินโดยรอบบริเวณบึงทุ่งสร้าง เนื่องจากมีสภาพดินเค็มและไม่ได้ถูกใช้งาน เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น (ทน.) กล่าวว่า พื้นที่โดยรอบของสวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง มีพื้นที่ไม่ได้ใช้งานรวมกว่า 120 ไร่ ในจำนวนนี้ 80 ไร่ คณะทำงานที่มีมติร่วมกันในการปรับสภาพดินในจุดดังกล่าวให้เหมาะต่อการเพาะปลูกหรือนำไปใช้ประโยชน์เชิงอนุรักษ์ โดยมีแนวคิดในการต่อยอดจากการทดลองปลูกต้นทานตะวันในปีที่ผ่านมา ที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวอย่างมาก แม้ว่าจะเป็นช่วงระยะเวลาไม่นานนักของการทดลองเพาะปลูก จึงกลายมาเป็นแนวคิดในการต่อยอดทางวิชาการและการเกษตรในการรักษาผิวดินด้วยการปรับสภาพดินตามหลักวิธีที่ถูกต้อง จึงได้กำหนดพื้นที่จากทั้งหมดที่มี 120 ไร่ ให้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 40 ไร่ ปลูกดอกทานตะวัน 40 ไร่ปลูกปอเทือง และอีก 40 ไร่เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำ

“ขณะนี้ได้มีการไถกลบและปรับสภาพพื้นที่ ชุดแรก 40 ไร่แล้วเสร็จ โดยใช้พื้นที่แปลงทานตะวันในปีที่ผ่านมาเป็นจุดเดิมของการปลูกดอกทานตะวันในระยะที่ 2 โดยขณะนี้การปรับสภาพดิน ทั้งระบบยังคงดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องตามหลักวิชาการและวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดการต่อยอดของการใช้ดินในพื้นที่แห่งนี้ทางการเกษตรแบบผสมผสานตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง และอีก 40 ไร่ ที่อยู่ติดกัน จะเข้าสู่ขั้นตอนของการกำหนดแบบ และเทคนิควิธีของการปลูกปอเทือง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินงานคู่กันแบบคู่ขนานโดย เข้าสู่หน้าฝนปีนี้ การปลูกก็จะเริ่มขึ้น ซึ่งต้นทานตะวัน และ ปอเทือง จะออกดอกสวยงามสะพรั่ง เหลืออร่าม ไปทั่วทั้งบริเวณสวนสาธารณะบึงทุ่งสร้าง นับจากวันนี้ไปอีก 6 เดือน”นายธีระศักดิ์กล่าว

นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า ขอนแก่น จะมีพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ที่มีความสวยงาม เหลืออร่ามไปทั่วทั้งบริเวณแห่งใหม่ที่สมบูรณ์ที่สุดและสวยที่สุดในภาคอีสาน บนพื้นที่รวมกว่า 80 ไร่ ที่นักท่องเที่ยวสามารถที่จะมาเรียนรู้ขึ้นตอนของการเพาะปลูกไปจนถึงการแปรสภาพหรือการต่อยอดจากวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ การมาร่วมเก็บภาพแห่งความประทับใจสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ใจกลางเมืองขอนแก่น และที่สำคัญ ไร่ทานตะวันและไร่ปอเทืองแห่งนี้ จะสวยงามต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี 2561 หรือช่วงฤดูหนาวของปีที่เทศบาลฯได้กำหนดจัดงานพรรณไม้อีกด้วย

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกยางพารารายใหญ่ของโลก ร่วมกับประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางทั้งมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ในการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราในช่วงเดือนม.ค. – มี.ค. 2561 คิดเป็นจำนวนรวมประมาณ 350,000 ตัน เป็นการลดปริมาณยางพาราในตลาดโลกลงอย่างเฉียบพลัน โดยทั้ง 3 ประเทศจะใช้กฎหมายในการดำเนินการของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างจริงจัง

อย่างกรณีประเทศไทย ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 เรื่อง กำหนดปริมาณจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ. 2561 โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมยาง พ.ศ. 2542

ด้านประเทศมาเลเซียจะดำเนินการภายใต้ Malaysia Rubber Board ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการส่งออกเช่นเดียวกับประเทศไทย

และประเทศอินโดนีเซียดำเนินการโดย Gabungan Perusahaan Karet Indonesia Rubber Association of Indonesia: GAPKINDO ร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ

ทั้งนี้ แต่ละประเทศจะมีสัดส่วนในการควบคุมการส่งออกซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณพื้นที่ปลูกและผลิตของแต่ละประเทศ สำหรับไทยจะลดสัดส่วนการส่งออกยางอยู่ที่ประมาณ 2.3 แสนตัน ทั้ง 3 ประเทศจะดำเนินการอย่างจริงจังภายใต้กฎหมายในการควบคุมที่ใช้มาตรการดังกล่าวของแต่ละประเทศ