สำหรับ Fabrication Lab นั้น สวทช. ได้จัดหาอุปกรณ์พื้นฐาน

ในการออกแบบชิ้นงาน ที่นักเรียนสามารถจินตนาการและจัดทำชิ้นงานในรูปแบบ 3 มิติ คือ 3D printer ที่รองรับโปรแกรมออกแบบที่เป็น open source อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เช่น กล้องจุลทรรศน์ เครื่องวัดแสง เครื่องมือพื้นฐานทางวิศวกรรม รวมทั้งเครื่องตัดแบบ laser และบอร์ดสมองกลฝังตัว และอุปกรณ์ตรวจวัด หรือ sensor ให้สถานศึกษาของรัฐที่เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา

วิทยาลัยเทคนิค และวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ และจัตุรัสวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ที่เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งสิ้น 150 แห่ง โดยมีบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. เป็นศูนย์กลางการอบรมครูและนักเรียน ให้กับสถานศึกษาทั่วประเทศ ไม่จำกัดทั้งภาครัฐและเอกชน โดยตั้งเป้าหมายให้มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 15,000 คน ครู 1,000 คน มีวิศวกรพี่เลี้ยงประจำสถานศึกษา 150 คน ได้ชิ้นงานที่ใช้งานได้จริง 150 ชิ้นงาน และชิ้นงานที่ส่งประกวดในระดับภูมิภาค ระดับชาติ และนานาชาติ 300 ชิ้นงาน เกิดการสร้าง Makers Club ในสถานศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการ

จากการดำเนินกิจกรรม ทั้ง 2 โครงการ ช่วยสร้างโอกาสให้เยาวชนเข้าถึงวิทยาศาสตร์ได้ง่าย และได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง นับจากนี้ ในแต่ละปีจะมีนักเรียนมากกว่า 1.5 ล้านคน เข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย มีโอกาสใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมที่ครบครัน และช่วยให้เยาวชนเหล่านี้มีความมั่นใจ กล้าคิด กล้าลงมือทำ พร้อมก้าวสู่การเป็นนักพัฒนา นวัตกรที่สร้างสรรค์ และเป็นรากฐานสำคัญที่จะนำพาประเทศสู่ “Makers Nation” กุญแจสำคัญที่จะสร้างเศรษฐกิจชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมในศตวรรษที่ 21 ผลักดัน “ประเทศไทย 4.0” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสร้างชาติให้เข้มแข็งด้วยนวัตกรรมอย่างแท้จริง

สตูล – นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา รองผวจ.สตูล กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดอาคารด่านพรมแดน วังประจัน ตำบลวังประจัน อำเภอควนโดน ว่า ในส่วนของอาคารได้งบประมาณก่อสร้าง 7 ล้านกว่าบาท เสร็จสมบูรณ์ 100% พร้อมใช้งาน ในส่วนของบุคลากรก็พร้อมทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ตม. ด่านกักกันพืช ด่านกักกันสัตว์ ด่านศุลกากร ยืนยันว่าพี่น้องประชาชนจะได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เป็นด่านขนาดเล็ก การเข้าออกก็ค่อนข้างจะลำบาก

ตอนนี้ขยายใหญ่ รถเล็กรถใหญ่ ผ่านได้หมด ส่งผลต่อการค้าชายแดนที่จะมีปริมาณมากขึ้น ในส่วนของปริมาณทางการค้าชายแดนที่ผ่านมาตัวเลขก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จากปีที่แล้ว 200 ล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าเป็น 300 ล้านบาท ซึ่งเวลานี้ตัวเลขของครึ่งปี 200 กว่าล้านบาทแล้วคิดว่าน่าจะทะลุเป้า

ด่านตรงนี้เป็นจุดสำคัญที่ผ่านเข้าออก อาจเป็นโอกาสดีของสตูลที่ว่า ด่านสะเดาการจราจรค่อนข้างคับคั่ง พี่น้องจากมาเลเซียก็จะเลือกใช้เส้นทางนี้ในการผ่านเข้าออก ที่สำคัญตอนนี้สตูลได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีโลก ทำให้พี่น้องจากประเทศอื่นจะเลือกใช้ช่องทางนี้ผ่านเข้ามาสตูลได้ง่ายขึ้น จะเป็นประตูสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสู่จังหวัดสตูลได้มากขึ้น

ในส่วนของการจัดระเบียบร้านค้าในพื้นที่พรมแดนนี้ มีแนวทางไว้แล้ว นอกจากนี้ยังมีโครงการปรับปรุงด่านอีกต่อไป ซึ่งจะต้องพูดคุยกันเพื่อจัดระเบียบบริเวณด่านให้พื้นที่กว้างขึ้น การจอดรถจะสะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้าน นายศิวกฤษฏ์ เจนวิพิชย์ นายด่านศุลกากรวังประจัน กล่าวว่า เดิมนั้นด่านนี้มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เนื่องจากใช้งานมาเป็นเวลานานหลายปี อีกทั้งยังคับแคบ เนื่องจาก นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้าออกก็เพิ่มขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องขยายพื้นที่ให้บริการและปรับปรุงอาคารด่านพรมแดนให้กว้างขวางทันสมัยและมีภาพลักษณ์ที่ดี

ขอนแก่น – นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนคร (ทน.) ขอนแก่น กล่าวภายหลังนำ จนท.สาธารณสุขลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารพาณิชย์ เลขที่ 45/56 ถนนพิมพสุต ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่ได้รับร้องเรียนกรณีเลี้ยงนกนางแอ่น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงว่า จากการตรวจสอบพบว่าเจ้าของอาคารเดิมย้ายไปเปิดกิจการที่ จังหวัดร้อยเอ็ด และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้ลักลอบใช้อาคารเป็นที่เลี้ยงนกนางแอ่น จากนั้นมีชาวบ้านร้องเรียน ต่อมาทาง ทน.ขอนแก่นได้แจ้งให้หยุดเลี้ยงแล้ว แต่ทางเจ้าของยังลักลอบแอบเลี้ยงมาโดยตลอด

นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการติดตั้งลำโพง เพื่อใช้ในการเรียกนกให้กลับมารัง ซึ่งทน.ขอนแก่นได้แก้ไขปัญหาแล้ว 3 มาตรการ มาตรการแรกให้เจ้าของตึกเข้ามารับแจ้งเกี่ยวกับการกระทำผิด เข้าข่ายสร้างความเดือดร้อนรำคาญเพื่อมาชำระค่าปรับ มาตรการต่อไปจะประสานไปยัง สนง.ปศุสัตว์ จังหวัดขอนแก่น และกรมอุทยานฯ เข้ามาตรวจสอบ เพราะนกนางแอ่นถือว่าเป็นสัตว์คุ้มครอง

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมจะใช้โอกาสช่วงที่กระทรวงพาณิชย์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคมนี้ เปิดพื้นที่ให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าฮาลาล นำผลิตภัณฑ์มาจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า สำหรับการประชุมระหว่างประเทศในเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ การประชุมคณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน ไทย-สหภาพยุโรป วันที่ 2-3 กรกฎาคม

การประชุมคณะกรรมการอำนวยการร่วม (JSC) ด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงด้านอาหาร ไทย-บาห์เรน วันที่ 3-6 กรกฎาคม และการประชุมคณะกรรมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ครั้งที่ 23 วันที่ 17-27 กรกฎาคม โดยเฉพาะการประชุม RCEP จะมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 800 คน จาก 10 ประเทศอาเซียน และ 6 ประเทศคู่เจรจา ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ทั้งนี้ การนำสินค้าเกษตรกรมาจัดโชว์และจำหน่าย จะเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าเกษตร หัตถกรรม และสินค้าฮาลาลของไทย ให้นานาประเทศทั่วโลกได้เห็นศักยภาพสินค้าไทย และกรมจะได้หยิบยกเรื่องการเปิดตลาดสินค้าเหล่านี้ขึ้นหารือในการประชุม เพื่อหาลู่ทางและขยายช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ สู่ตลาดโลกในอนาคต

จีไอทีเตรียมร่วมมือสถาบันอัญมณีจีนทำมาตรฐานตรวจสอบพลอยสี สกัดของปลอม เพิ่มความน่าเชื่อถือ หนุนนักท่องเที่ยวจีนซื้อกลับประเทศ เดินหน้ายกระดับขายผ่านเว็บไซต์ไป่ตู้-ทีมอล เครือ อาลีบาบา หวังยอดขายพุ่งเหมือนทุเรียน จับมือ ททท.ดันเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่แหล่งผลิต

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ จีไอที เปิดเผยว่า ขณะนี้กำลังจัดทำรายละเอียดความร่วมมือระหว่างสถาบันจีไอทีกับสถาบันอัญมณีของจีน และ CGICP ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเอกสารปลอมแปลงแห่งชาติของจีน เพื่อทำมาตรฐานคู่ระหว่าง 2 ประเทศในการตรวจสอบพลอยสี และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับทั้ง 2 ประเทศ เช่น เฉดสีของพลอยสีแต่ละชนิด การเรียกชื่อที่ตรงกัน เป็นต้น แล้วออกเป็นใบรับรองให้กับ ผู้ผลิตและผู้ค้าได้ใช้เป็นมาตรฐานอ้างอิง ซึ่งกำหนดจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในเดือนกรกฎาคมนี้

นางดวงกมล กล่าวว่า ความร่วมมือนี้จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการตรวจสอบและป้องกันปัญหาการปลอมแปลง หรือเกิดปัญหาระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขาย สร้างความน่าเชื่อถือให้มากขึ้น และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าตลาดอัญมณีและพลอยสีของไทย เนื่องจากชาวจีนนิยมซื้อเครื่องประดับไทยที่ทำมาจากไพลินและทับทิม และผลิตในไทย โดยจะมีความร่วมมือสร้างมาตรฐานคู่จะทำกับประเทศอื่นๆ ต่อไป เช่น ญี่ปุ่น ทั้งนี้การที่เริ่มจับมือกับจีนก่อน เพราะจากตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยต่อปีกว่า 10 ล้านคน พบว่าเป้าหมายที่มาท่องเที่ยวไทย อันดับแรกคือ

มารับประทานอาหารไทย ซื้อเครื่องสำอางไทย และซื้อเครื่องประดับและอัญมณีไทย นางดวงกมล กล่าวว่า จะร่วมมือกับแหล่งจำหน่ายพลอยสีของไทย เช่น จันทบุรี เพื่อเปิดเป็นศูนย์กลางประมูลและซื้อขายพลอยสีรวมถึงกำลังหารือให้เป็นพื้นที่ได้สิทธิประโยชน์หากมีการเข้าซื้อขายในพื้นที่นี้ และพื้นที่ผลิตเครื่องประดับในจังหวัดต่างๆ เพื่อต่อยอดการทำธุรกิจในประเทศและส่งออก เน้นให้ความรู้ถึงแนวโน้มความต้องการของตลาด ควบคู่กับการจัดทำรับรองบาย วิท คอนฟิเด้นซ์ (Buy with Confidence) เช่น สุโขทัย ตราด นครศรีธรรมราช เป็นต้น ซึ่งได้ลงพื้นที่มาต่อเนื่อง และมีเป้าหมาย 15 จังหวัด

“จากนี้จะยกระดับการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยกำลังเจรจานำสินค้าไทยเข้าซื้อขายบนอินเตอร์เน็ต ไป่ตู้ (Baidu) เว็บไซต์ของจีน ที่คนใช้มากที่สุดอันดับ 4 ของโลก รวมถึงซื้อขายบนเว็บไซต์ ทีมอล เครืออาลีบาบา เหมือนที่ประสบความสำเร็จแล้วกับการขายทุเรียนหมอนทอง ข้าว และสินค้า โอท็อป” นางดวงกมล กล่าวและว่า ในปีงบประมาณ 2562 คาดว่าจะใช้งบประมาณ 140 ล้านบาท ส่วนหนึ่งจะใช้กับการเพิ่มการสร้างช่างเทคนิคในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ อีกแผนงานรองรับการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกตามนโยบายรัฐบาลภายในปี 2565

ด้าน นายราเชนทร์ พจนสุนทร ประธานบริหารสถาบันจีไอที กล่าวว่า จีไอทีได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ผลักดันให้เกิดเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิต เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวไทยปีละกว่า 35 ล้านคน จะผลักดันให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่ามาเที่ยวเมืองไทยต้องซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเป็นของใช้ของฝาก เหมือนกับไปฝรั่งเศสต้องซื้อน้ำหอม หรือไปอิตาลี ต้องซื้อเครื่องหนัง เป็นต้น

นายสุวิทย์ คำดี ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาสับปะรดล้นตลาด และราคาตกต่ำ ที่ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา

นายสุวิทย์ กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันสับปะรดมีราคาตกต่ำ เพราะมีการปลูกสับปะรดมากเกินความต้องการของตลาด จึงได้หาแนวทางจัดการและแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา ปลูกสับปะรดทั้งหมด รวม 10,753 ไร่ มีผลผลิตสับปะรดทั้งหมด 43,938 ตัน การแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้น จังหวัดฉะเชิงเทรา ประสานให้เกษตรกรนำสับปะรดมาจำหน่าย 14 จุด และประชาสัมพันธ์แนวทางช่วยเหลือผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งจากการประสานดังกล่าวเกษตรกรสามารถนำมาจำหน่ายตามจุดต่างๆ แล้ว จำนวน 35,702 ตัน ยังคงเหลือ 8,166 ตันที่ยังค้างอยู่

“วันนี้จึงได้เชิญประชุมทุกภาคส่วนเพื่อร่วมหารือแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจะเร่งระบายผลผลิตให้เร็วที่สุด โดยผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอ ทั้งหน่วยงานราชการ และท้องถิ่น หากมีการจัดประชุมอบรม สัมมนา ให้นำสับปะรดไปประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลืออีกทางหนึ่ง คาดว่าปลายเดือนนี้ปัญหาการล้นตลาดจะคลี่คลายลง” นายสุวิทย์ กล่าว

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกความเห็นเพื่อมาปรับปรุงร่างกฎหมาย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนผ่านการประชุมแบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยังสหกรณ์จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการส่งเสริมและกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ. …ซึ่งถือเป็นกฎหมายหลักที่จะเข้ามาดูแลสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ ทั้งที่เป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ที่มีทุนการดำเนินงานตั้งแต่ 5,000 ล้านบาท ขึ้นไป โดยยืนยันว่า รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะสร้างความมั่นคงทางด้านการเงินให้กับขบวนการสหกรณ์

สำหรับการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา เนื่องจากเห็นว่าสหกรณ์มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันสหกรณ์เป็นองค์กรที่มีส่วนช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ปริมาณธุรกิจในภาพรวมของสหกรณ์ทั่วประเทศ มีประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท และในสหกรณ์บางแห่งมีเงินฝากอยู่จำนวนมาก หากไม่มีแนวทางในการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ดังนั้น จึงคิดว่าขณะนี้มีความเหมาะสมที่รัฐบาลต้องวางกรอบของการขับเคลื่อนสหกรณ์ไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมากำกับดูแลสหกรณ์

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย กำหนดให้มีองค์กรเฉพาะที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ ซึ่งอาจตั้งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นอิสระ คล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มีคณะกรรมการเข้ามาทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับการประกอบกิจการและสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก เพื่อคุ้มครองเงินฝากของผู้ฝากเงินในสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่อีกด้วย

“ขณะนี้รัฐบาลต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับสหกรณ์ขนาดใหญ่ และมีความจำเป็นต้องดูแลเนื่องจากในปัจจุบันสหกรณ์มีความซับซ้อนทางการเงินมากกว่าในอดีต เพื่อให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยต่อสมาชิก ซึ่งการจัดทำกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา ไม่ใช่เรื่องของการออกเกณฑ์มากำกับเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องดูแลและพัฒนาให้สหกรณ์สามารถเติบโตได้ในระยะยาวด้วย ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการผลักดันกฎหมายฉบับนี้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้ว จากนี้ไปจะรวบรวมความคิดเห็น เพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด นำมาผนวกรวมกับร่างกฎหมายให้เกิดความสมบูรณ์ โดยกระบวนการทำกฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลเปิดโอกาสให้สหกรณ์ต่างๆ ได้แสดงความเห็นอย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องการให้ทุกสหกรณ์มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายนี้ร่วมกัน เพื่อช่วยยกระดับสหกรณ์ของตัวเองขึ้นมาและเป็นองค์กรที่จะช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

อย่างไรก็ตาม จากการเปิดรับฟังความคิดเห็น พบว่า ผู้แทนสหกรณ์บางรายมีความคิดเห็นต่าง และไม่ต้องการให้ออกกฎหมายฉบันนี้ และอยากให้ใช้กฎหมายฉบับเดิมกำกับดูแล เพราะเกรงว่าจะเกิดปัญหาการซับซ้อน ซึ่งไม่อยากให้สหกรณ์ต่างๆ เกิดความกังวลใจ และยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังปัญหา และพยายามหาทางช่วยพัฒนาสหกรณ์ให้เติบโตร่วมกัน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เชิญชวนเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั้ง 77 จังหวัด ทั่วประเทศ สมัครเข้าร่วมประกวด “เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น” ตั้งเป้าหนุนเครือข่ายดีเด่นเป็นธุรกิจต้นแบบ พร้อมส่งเสริมพัฒนาเป็นเครือข่ายผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการเชื่อมโยงธุรกิจ ผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโต สร้างรายได้ที่ยั่งยืน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ

โดยเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club นับเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น (Local Economy) เป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำธุรกิจในลักษณะพี่สอนน้องให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย หรือ Micro SMEs รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจให้เกิดพันธมิตรทางการค้าที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

วัตถุประสงค์ของการจัดประกวด “เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น” เป็นไปเพื่อส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งและยกย่องให้กำลังใจกับเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดที่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม มีผลงานที่โดดเด่นจุดประกายให้เห็นช่องทางการต่อยอด สร้างรายได้และโอกาสทางธุรกิจแก่กลุ่มผู้ประกอบการฐานราก โดยมีต้นแบบเครือข่ายธุรกิจที่ดี

สิ่งสำคัญคือ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกเครือข่าย MOC Biz Club ในการบริหารจัดการเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่ง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน วางรากฐานสู่การเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในระดับสากล

รวมทั้งส่งเสริมคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากสมาชิกเครือข่าย MOC Biz Club ให้เป็นที่ยอมรับแก่ประชาชนทั่วไป นอกเหนือไปจากการเป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อันจะนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนรวม การเชื่อมโยงองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องในชุมชน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันได้แก่ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และส่งเสริมธุรกิจชุมชนสู่ระดับสากลในอนาคต

ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญของการวางรากฐานและกำหนดทิศทางในการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง รางวัลนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นรางวัลอันทรงเกียรติและควรค่าแก่ทุกความวิริยะอุตสาหะของผู้ประกอบการในแต่ละเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

โดยการประกวดเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club จังหวัดดีเด่น จะแบ่งเป็น 10 สาขารางวัล ประกอบด้วย 1. ด้านการตลาดชุมชน : ส่งเสริมพัฒนาตลาด สร้างโอกาสและรายได้แก่ชุมชนอย่างชัดเจน

ด้านการตลาดออนไลน์ : โดดเด่นการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ต่อยอดธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ

3. ด้านการตลาดสร้างสรรค์ : สร้างสรรค์การตลาดใหม่ๆ เพื่อประโยชน์แก่เครือข่ายและชุมชน

4. ด้านการตลาดสู่สากล : เพิ่มศักยภาพทางการค้า เชื่อมโยงสู่ตลาดสากลอย่างเป็นรูปธรรม

5. ด้านการบริหารจัดการ : มีเป้าหมายและแผนบริการจัดการเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านการพัฒนาสมาชิก : สร้างความเข้มแข็ง และประโยชน์แก่สมาชิกอย่างชัดเจน

7. ด้านนวัตกรรมการค้า : สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

8. ด้านการประสานและแบ่งปัน : ร่วมมือร่วมใจ เชื่อมโยงพันธมิตรที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน

9. ด้านการมีส่วนร่วมและขับเคลื่อนนโยบาย : บูรณาการการทำงาน และขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม

10. ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม : มีส่วนร่วมเกื้อกูลพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

เครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทุกจังหวัดที่สนใจสมัครเข้าร่วมการประกวดสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th และ www.bizthai.org

ซึ่งเครือข่ายธุรกิจที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้เข้ารับมอบโล่รางวัลและใบประกาศนียบัตรจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในพิธีมอบรางวัล ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ในเดือนสิงหาคมศกนี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย วันที่ 27 มิถุนายน 2561 ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี สังเกตด้วยตาเปล่าชัดเจนตั้งแต่หัวค่ำทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว กำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็วงแหวนหลักได้อย่างชัดเจน

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ดาวเสาร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์อยู่ในตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุด ระยะห่างประมาณ 1,353 ล้านกิโลเมตร เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการสังเกตการณ์ เนื่องจากสามารถมองเห็นได้ตลอดคืนและมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย มีค่าความสว่างปรากฏประมาณ 0.1 (ความสว่างปรากฏดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6)

ดร. ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในวันที่ 27 มิถุนายน 2561 สามารถสังเกตดาวเสาร์ด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ตั้งแต่ดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนยิงธนู ต่ำกว่าดวงจันทร์ลงมาเล็กน้อย (วันดังกล่าวดวงจันทร์อยู่ในช่วงข้างขึ้น 14 ค่ำ) หากสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดหน้ากล้องตั้งแต่ 4 นิ้ว และมีกำลังขยาย 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นวงแหวนหลักของดาวเสาร์ได้ชัดเจน รวมถึงช่องว่างแคสสินีและดวงจันทร์บริวารบางดวง วงแหวนดาวเสาร์ที่มองเห็นผ่านกล้องโทรทรรศน์มีความกว้างกว่า 80,000 กิโลเมตร เศษวัตถุในวงแหวนยังสะท้อนแสงได้ดีอีกด้วย

“ดาวเสาร์เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนขนาดใหญ่และสวยงามมาก ได้รับการขนานนามว่า เป็นราชาแห่งวงแหวน นับเป็นโอกาสดีที่โรงเรียนจะจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ ให้นักเรียนได้ชมวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ และเรียนรู้ประสบการณ์จริงผ่านปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์แก่เยาวชนไทยได้เป็นอย่างดีอีกด้วย และหลังจากนี้ดาวเสาร์ยังจะปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนยาวนานไปจนถึงประมาณสิ้นเดือนตุลาคม” ดร.ศรัณย์ กล่าว

สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ “ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในวันพุธที่ 27 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น. เชิญชวนประชาชนร่วมสัมผัสความสวยงามของวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด เชียงใหม่ นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สงขลา และเครือข่ายโรงเรียนอีกกว่า 360 แห่งทั่วประเทศ (ตรวจสอบรายละเอียดได้ทาง www.facebook.com/NARITpage)

จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่

เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โทร. (081) 885-4353
นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา โทร. (086) 429-1489
ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา โทร. (084) 088-2264
สงขลา : ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โทร. (095) 145-0411

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพการสัมมนาเชิงปฏิบัติการด้านประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทาน (Towards Supply-Chain Efficiency) ภายใต้การดำเนินงานของสมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ (Association of Natural Rubber Producing Countries : ANRPC) ซึ่งมีประเทศสมาชิกผู้ผลิตยางจากทั่วโลกเข้าร่วมงานทั้งหมด 9 ประเทศ จาก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย เวียดนาม บังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และศรีลังกา

เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการหาแนวทางและการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ ซึ่งจะช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตในระดับที่พึงพอใจ อย่างไรก็ตาม การทบทวนระบบห่วงโซ่อุปทานยางพาราของแต่ละประเทศสมาชิก จะนำไปสู่การพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพ พัฒนากระบวนการทำงานของตลาดยางพารา ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกจะมีรูปแบบแตกต่างกันในการดำเนินงานของด้านตลาด คาดว่า จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับตลาดยางพาราและอุตสาหกรรมยางพาราต่อไป