สินค้าที่รับมาขายส่วนมากก็จะปรับเปลี่ยนไปตามกลุ่มลูกค้า

และสถานที่ตั้งของร้าน เนื่องจากลูกค้าแต่ละกลุ่มนั้นมีความต้องการต่างกัน เราจึงต้องพยายามหาสินค้าที่หลากหลาย โดยส่วนมากสินค้าที่รับมาขายก็จะมีอินทผลัม ลูกเกด พุทราจีนอบแห้ง กล้วยตาก มะม่วงกวน รวมถึงพวกบ๊วย อย่างบ๊วยเนื้อหรือบ๊วยซากุระ และมะขามสามรสด้วย

การเลือกสินค้า เจาะตลาดคนรักสุขภาพ

จุดเด่นของสินค้าที่รับมาขายนั้น แน่นอนว่าต้องอยู่ที่คุณประโยชน์ของสินค้า อย่างอินทผลัม เหตุผลหนึ่งที่นำมาขาย เพราะไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบการย่อยและช่วยดูดซึมสารอาหารด้วย

ส่วนพวกลูกเกด ลุกพรุน ก็ช่วยในเรื่องบำรุงกระดูก ทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานปกติ ทั้งยังมีสารอาหารที่ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแร่ธาตุต่างๆ ได้ดี นอกจากนี้ กล้วยตากก็ช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย และลดอัตราการเสี่ยงโรคหัวใจวายด้วย

“อีกสิ่งที่ผมและภรรยาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือเรื่องของคุณภาพสินค้า ส่วนหนึ่งเพราะหน้าร้านของเราเน้นขายตามโรงพยาบาล ทำให้กลุ่มลูกค้าส่วนมากเป็นกลุ่มคนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพและประโยชน์ของสินค้ามาก นอกจากนี้ เรายังยึดมั่นในเรื่องของจรรยาบรรณในการขายของ เพราะฉะนั้น สินค้าทุกประเภทที่เราขายจะต้องสด ใหม่ สะอาด และมีคุณภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่นและทำมาตลอด เพื่อให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นในร้านและสินค้าของเรา” คุณเค บอก

สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อสินค้าสามารถซื้อจากร้านประจำที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลแพทย์รังสิต ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี หรือสามารถติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ (081) 810-7479, (093) 529-9266 และ (081) 512-8751

มาได้จังหวะถูกที่ถูกเวลา เมื่อภาครัฐและเอกชน คือ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันผลิตหลักสูตร “การพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” ออกมาสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นหลักสูตรกลางในการเลี้ยงโคนมของไทย หลังจากที่ก่อนหน้านั้นต่างฝ่ายต่างผลิตหลักสูตรในการเลี้ยงโคนมเพื่อใช้ในการผลิตนมของเกษตรกรในสังกัด

เท่ากับว่าในอนาคต ไทยสามารถประยุกต์นำข้อดีของการเลี้ยงโคนมของประเทศเดนมาร์ก ที่ อ.ส.ค.มีความเชี่ยวชาญมานาน มาผสมกับข้อดีของการเลี้ยงโคนมของประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ฟรีสแลนด์คัมพิน่าเชี่ยวชาญ รวมทั้งด้านการบริหารจัดการฟาร์ม โรคระบาดในโคนมที่ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เชี่ยวชาญได้ดียิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเสริมความแข็งแกร่งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมของไทย ให้สู้กับนมผงจากต่างประเทศที่ไทยจะต้องยกเลิกการเก็บภาษีในปี 2568 จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทยกับประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ เพราะทุกวันนี้ผู้เลี้ยงโคนมของไทยลดจำนวนลงไปมาก จาก 3 หมื่นกว่ารายลงมาเหลือ 1.6 หมื่นรายเท่านั้น

จุดเด่นของหลักสูตรกลางนี้ ชูแนวคิด “ลดต้นทุน เพิ่มรายได้และผลผลิต” แบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 หัวข้อใหญ่ ครอบคลุมทุกองค์ความรู้ที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปรับใช้ได้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในปัจจุบัน หรือเกษตรกรรายใหม่ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม โดยเป็นการปรับพื้นฐานและเพิ่มเทคนิคต่าง ๆ รวมถึงการสร้างระบบการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการนำไปใช้อบรมเจ้าหน้าที่ภาครัฐ หรือบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรโคนม

สอดรับกับนโยบายรัฐบาลชุดนี้ในการขับเคลื่อน ไทยแลนด์ 4.0 ด้านการเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต้องการให้คนไทยกินดีอยู่ดี มีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถพึ่งตนเองได้ ในส่วนเกษตรกรสามารถผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบมาเป็นผู้ประกอบการทางเกษตรสมัยใหม่ หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ได้มีการบริหารจัดการที่ดี มีต้นทุนการผลิตต่ำ

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ อ.ส.ค. กล่าวว่า การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมให้เป็นอาชีพที่มั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรไทย ถือเป็นพันธกิจหลักของ อ.ส.ค. โดยล่าสุด อ.ส.ค.ได้จัดทำแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม 4.0 รองรับ ยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม พ.ศ. 2560-2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนพัฒนายกระดับประสิทธิภาพการผลิตน้ำนมดิบให้ได้มาตรฐาน พร้อมวิจัยพัฒนาเผยแพร่องค์ความรู้การเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันยังมุ่งพัฒนาเจ้าหน้าที่ ส่งเสริมให้เป็นมืออาชีพ ตลอดจนส่งเสริมเกษตรกรสมาชิกให้มีความมั่นคง และเติบโตในอาชีพการเลี้ยงโคนม “หลักสูตรการพัฒนาคุณภาพโคนมแห่งชาติ” ที่เสร็จสมบูรณ์ จึงเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เกษตรกรโคนมไทยตื่นตัวกับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ในฐานะการเป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนมไทยสู่ระดับสากล

ดร.โอฬาร โชควิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า กล่าวว่า ความสำเร็จในการจัดทำหลักสูตรการพัฒนาโคนมแห่งชาติ จะเป็นการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรโคนมให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ด้วยการนำองค์ความรู้จากการดำเนินโครงการพัฒนาโคนมและคุณภาพน้ำนม ซึ่งเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้กว่า 140 ปี ในการจัดการฟาร์มโคนม การพัฒนาคุณภาพน้ำนมและผลิตภัณฑ์นม จากเกษตรกรโคนมจากเนเธอร์แลนด์สู่เกษตรกรชาวไทย

ขณะที่ ผศ.ดร.สุดเขตต์ นาคะเสถียร คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า จุดเด่นของหลักสูตรนี้ คือ ความสมบูรณ์ของเนื้อหาที่มาจากการบูรณาการองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ เป็นหลักสูตรที่ปรับให้เหมาะสมกับการทำเกษตรโคนมในไทย โดยสามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในปัจจุบันและเกษตรกรผู้เลี้ยงรายใหม่ เพื่อสร้างมาตรฐานในการเลี้ยงโคนมที่มีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มพูนความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมด้วยทางด้าน นายสมสวัสดิ์ ตันตระกูล ที่ปรึกษาบริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่าผู้เชี่ยวชาญการเลี้ยงโคนมทั้งในรูปแบบของเดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า การผลิตหลักสูตรนี้จะช่วยเกษตรกรโคนมไทยได้มาก หากมีการเปิดเสรีนำเข้านมผงไม่มีการเก็บภาษีในปี 2568 เกษตรกรไทย 50% สู้ได้ อีก 25% ต้องปรับตัวด้านองค์ความรู้ และการเพิ่มปริมาณโคนมขึ้นเป็นฟาร์มขนาดกลาง อีก 25% ที่เหลือเป็นรายเล็ก มีต้นทุนการเลี้ยงสูงจะอยู่ลำบาก หากรัฐจะช่วยเหลือคงช่วยไม่ได้ทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ฟาร์มขนาด 30-35 แม่โคที่รีดนมได้ มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละแสนบาท สามารถสู้ศึกการนำเข้านมผงเสรีได้ ที่น่าเป็นห่วงกลับเป็นเรื่องโรคระบาดทั้งปากและเท้าเปื่อยที่รุนแรงเกือบทุกเดือน เมื่อก่อนโคนมเป็นโรคนี้ยังกลับมาให้นมได้ แต่เดี๋ยวนี้เชื้อระบาดลงถึงเต้านมโค ทำให้ไม่มีน้ำนม หรือมีน้อยจนไม่คุ้มทุนในการเลี้ยง ซึ่งมาจากความบกพร่องของทุกฝ่าย และเชื้อโรครุนแรงขึ้น รวมทั้งโรคปอดอักเสบทำให้โคนมตายเฉียบพลัน ต้องผลักดันโคนมฝูงใหม่มาทดแทนโคเหล่านี้ที่ไม่ให้น้ำนมหนักขึ้น

ฝนถล่มสวนแตงโมนาทับ น้ำท่วม ต้นแห้งเหี่ยวเฉา เสียหายยับเยิน ทั้งที่กำลังเตรียมเก็บผลขาย ขาดทุนหมดตัว เจ้าหน้าที่เกษตร ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายเพื่อเร่งหาทางช่วยเหลือเป็นการด่วน

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ รายงานข่าวจากสงขลาว่าจากสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของ จ.สงขลเมื่วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสวนแตงของเกษตรกรบ้านนาทับ ต.นาทับ อ.จะนะ สวนแตงโมประมาณ300 ไร่ หรือ 1ใน 3 ของสวนแตงที่ปลูกไว้ทั้งหมดจมน้ำ ทั้งๆที่กำลังเก็บผลขายในอีก 7 วัน และมีพ่อค้าแม่ค้าสั่งจองแตงโมซื้อเหมาทั้งแปลงเอาไว้แล้ว ในราคา กก.ละ 9 บาท

นางฟาติเมาะห์ นุ้ยสมัน อายุ 58 ปี ต.นาทับกล่าวว่าตนปลูกแตงโมไว้ในพื้นที่ 3 ไร่ แบบยกร่องใช้ระบบน้ำหยดทางสายยาง แต่ขณะนี้อยู่ในสภาพที่เหี่ยวเฉาตายและลูกแตงโมก็ไม่สามารถเก็บขายได้ เพราะเสียรสชาติ ลงทุนไปประมาณ2หมื่นบาทต้องประสบกับการขาดทุนและ กำไรที่คาดว่าจะได้หลายหมื่นบาทจากการขายแตงโม ก็หายไปในพริบตา

นายปิยะบุตร ศิตพงศ์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ อ.จะนะ กล่าวว่าตนได้ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายของสวนแตงโมที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมด เพื่อเตรียมให้การช่วยเหลือเรื่องเงินเยียวยากับเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อนโดยด่วนแล้ว

สสว.-สกว. ร่วมเปิดตัว “โครงการสร้างศักยภาพในการแข่งขันของ SME ไทยด้วยนวัตกรรมและการตลาด” หวังผลิตผู้ประกอบการไทยก้าวสู่มืออาชีพ ตั้งเป้าหมายส่งผู้ประกอบการให้ถึงฝั่ง 300 ราย หรือสร้างมูลค่าให้แก่ระบบเศรษฐกิจ 600 ล้านบาท ภายใน 3 ปี

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
ในโครงการ “สร้างศักยภาพในการแข่งขันของ SME ไทยด้วยนวัตกรรมและการตลาด (TOMMI :
TRF-OSMEP Marketing Meets Innovation)” เมื่อวันนี้ (23 ก.พ. 61) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไทยอย่างเป็นระบบและครบวงจร โดยตั้งเป้าหมายจะยกระดับ SME
ให้เป็นมืออาชีพไม่น้อยกว่า 300 ราย ซึ่งจะสร้างมูลค่าให้ระบบเศรษฐกิจประมาณ 600 ล้านบาท ในระยะเวลา 3 ปี

ภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ยุค “Thailand 4.0” โดยใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ เช่นเดียวกับนโยบายของ สสว. พยายามสนับสนุน SME ต่อยอดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกิจการ
เพื่อให้ SME ไทยสามารถประกอบกิจการอย่างมืออาชีพ (Smart SME) นอกจากนี้ ปัจจุบันงานวิจัยสนับสนุนผู้ประกอบการมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มอาหารแปรรูป เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้จะเน้นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ นับเป็นจุดแข็งประเทศไทยและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก

ความร่วมมือระหว่าง สสว. และ สกว. ถือเป็นครั้งแรก ซึ่งจะดึงจุดเด่น ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรของแต่ละฝ่ายมาช่วยต่อยอด SME ของทั้งสองฝ่าย โดย สสว. จะคัดเลือก SME ในโครงการต่าง ๆ ที่มีศักยภาพส่งต่อให้ สกว. เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สกว. ก็จะคัดเลือก SME ที่มีผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการวิจัยและเทคโนโลยีมาแล้วส่งต่อให้ สสว. ช่วยสร้างองค์ความรู้ ให้คำปรึกษาในการบริหารจัดการธุรกิจ สนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมถึงสร้างช่องทางการตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตลาดของผู้ประกอบการให้หลากหลายขึ้น

“จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจาก สกว. ประสานงานมายัง สสว. โดยเห็นว่า สสว. เป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยดูแลและสนับสนุน SME ไทยในหลากหลายมิติ จึงสามารถต่อยอดบริษัทต่าง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการวิจัยจาก สกว.แล้วให้สามารถพัฒนาสินค้าจนไปสู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้จริง ขณะที่ สสว. ก็จะส่ง SME ของโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ มาพัฒนาสินค้าด้วยการใช้นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีให้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น การส่งต่อผู้ประกอบการ SME ระหว่างกัน จึงเป็นการต่อเติมเรื่องที่ขาดและเป็นการช่วยเหลือให้ SME ไทยไปถึงฝั่ง”ผู้อำนวยการ สสว. กล่าว

ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย“นวัตกรรม” จำเป็นต้องพัฒนายกระดับผู้ประกอบการ SME ซึ่งถือเป็นหัวหอกสำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ให้เติบโตอย่างมีศักยภาพ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมและนำมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขันได้ โดยไม่ต้องแข่งขันด้านราคาและแรงงานเพียงอย่างเดียว ซึ่ง ดังนั้น โดยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและเกิดการลงทุนวิจัยตามความเหมาะสม เกิดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของ SME ให้เพิ่มขึ้น และมีกลไกที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน เพื่อให้ SME เป็นกำลังสำคัญในการสร้างแรงขับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ความร่วมมือในครั้งนี้ สกว. จะสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อช่วยยกระดับผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพให้ได้รับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีการผลิต ผ่านกระบวนการสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนวัตกรรมที่ได้จะไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนไปสู่การจำหน่ายได้จริงในเชิงพาณิชย์ และ สกว.จะร่วมกับ สสว. ในการพัฒนาผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์แล้ว ให้ได้รับการเสริมทักษะที่จำเป็นทางธุรกิจ นอกจากนี้ผู้ประกอบการ SME จาก สสว.ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการผลิต สกว. ก็จะพิจารณาการสนับสนุนการวิจัยตามหลักเกณฑ์ที่ สกว. กำหนด ซึ่งจะเป็นการบูรณาการความร่วมมือในการช่วยผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการ SME อย่างครบวงจร เพื่อให้ SME สามารถเติบโตและแข่งขันได้ อันจะส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม นำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศอย่างแท้จริง

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จังหวัดน่าน เข้าร่วมกิจกรรม “จอบแรกเปลี่ยนน่าน เอามื้อเอาแฮง” ที่แปลงเกษตรของนางบัวรอง ปะทิ บ้านยู้ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้นำทีมลงจอบแรก ขุดคันคู เว้นระยะเพื่อปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างคลองไส้ไก่ ต่อจากหนองน้ำ ปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำรองรับการฟื้นฟูพื้นที่

ซึ่งเป็นการดำเนินการในพื้นที่ สปก. ซึ่งเป็นการนำร่องหยุดยั้งพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 4,000,000 ไร่ ในพื้นที่ 13 จังหวัดภาคเหนือ ตามยุทธศาสตร์ฟื้นป่าต้นน้ำตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แก้ปัญหาเขาหัวโล้นตามศาสตร์พระราชา โดยโมเดลนี้จะขยายผลไปแก้ไขปัญหาเขาหัวโล้น สภาพดินเสื่อมโทรม ป้องกันหน้าดินถูกชะล้างทั่วประเทศ โดยครั้งที่ 2 จะนำโมเดลนี้ไปใช้ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้มีกลไกทุกจากภาคส่วนมาทำให้เกิดผลจริง การแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศจะเกิดขึ้นได้ เพราะสามัคคีคือพลังค้ำคุ้นแผ่นดินไทยตามกระแสพระราชดำรัสในหลวง รัชกาลที่ 9

ทส.เดินหน้าแก้ไขปัญหาหมอกควัน-ไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมเน้นการนำเทคโนโลยี 4.0 เพิ่มประสิทธิภาพดับไฟ-ลดควัน ใต้แนวคิด “ไทยนิยม สู้ไฟ ปลอดควันไฟ ยั่งยืน”

เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวเปิดงานวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ประจำปี 2561 ภายใต้แนวคิด “ไทยนิยม สู้ไฟ ปลอดควันไฟ ยั่งยืน” มีเครือข่ายชาวบ้านกลุ่มต่างๆ อ.แม่สอด จ.ตาก ชาวพม่า ชนเผ่ากะเหรี่ยงมาร่วมงานประมาณ 3,000 คน

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในช่วง ฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนธันวาคม – เดือนเมษายนของทุกปี พบปัญหาหมอกควันไฟป่า มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นของฝุ่นละอองในพื้นที่ จนส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ทั้งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งทำให้เกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน บดบังทัศนวิสัย และเป็นอุปสรรคในการคมนาคมและขนส่ง การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศป่าไม้รวมทั้งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ที่เป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญของพื้นที่ ซึ่งความรุนแรงของปัญหาปรากฏชัดเจนในช่วงฤดูแล้ง เดือนธันวาคม – เมษายนของทุกปี ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากการกระทำของมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน และจังหวัดตาก ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่าเป็นประจำทุกปี

พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า จากสถิติหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 พฤษภาคม 2560 ตรวจพบจุดความร้อนสะสม หรือ จุด ฮอตสปอต จำนวน 18,601 จุด พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจำนวน 4,294 จุด คิดเป็นร้อยละ 23 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 3,311 จุด คิดเป็นร้อยละ 18 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด และพื้นที่เกษตรกรรม 10,996 จุด คิดเป็นร้อยละ 59 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด พบมากที่สุดที่ จ.ตาก 562 จุด จ.แม่ฮ่องสอน 506 จุด และ เชียงใหม่ 396 จุด โดยพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในการดูแลของกรมป่าไม้เกิดไฟป่า 1,126 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 37,714 ไร่ ส่วนพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เกิดไฟป่า 91 ครั้ง พื้นที่เสียหาย 420 ไร่ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2556 พบว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

นายอรรคพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2561 ตรวจพบจุดความร้อนสะสม 7,540 จุด พบในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 1,139 จุด คิดเป็นร้อยละ 15 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 580 จุด คิดเป็นร้อยละ 8 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด และพื้นที่เกษตรกรรม 5821 จุด คิดเป็นร้อยละ 77 ของจุดความร้อนสะสมทั้งหมด ซึ่งพบมากที่สุดในจังหวัดตาก 274 จุด จังหวัดเชียงใหม่ 168 จุด และจังหวัดเชียงราย 92 จุด

“สำหรับการจัดงานในปีนี้ ทส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์ และมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าประกอบด้วย ยุทธศาสตร์การประชาสัมพันธ์ ยุทธศาสตร์การป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ยุทธศาสตร์การจัดการเชื้อเพลิง ยุทธศาสตร์การ มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาไฟป่า และยุทธศาสตร์การดับไฟป่า พร้อมนำเทคโนโลยี 4.0 มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและควบคุมไฟป่า โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมกิจกรรมทั้งจากหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทหาร ตำรวจ เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่จำนวนกว่า 3,000 คน

โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ให้กับผู้ร่วมงาน ปล่อยขบวนยุทธการดับไฟป่าในการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้วยเทคโนโลยี 4.0 พร้อมเดินรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การจัดทำแนวกันไฟ รวมทั้งกิจกรรมการลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยนำกิ่งไม้ ใบไม้ หรือวัชพืช มาทำปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยหมัก และส่งเสริมการจัดตั้งโครงการธนาคารกิ่งไม้ใบไม้ในพื้นที่ ซึ่งในช่วง1-2 เดือนที่ผ่านมา ทส.ได้ประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันกำจัดเชื้อเพลิงก่อนถึงฤดูไฟป่า ด้วยมาตรการชิงเผาพื้นที่ที่ล่อแหลมต่อการเกิดไฟป่าทุกปี

โดยเฉพาะพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ และมาตรการการนำเชื้อเพลิงในป่ามา”นายอรรคพล กล่าว และว่า ขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ให้ช่วยกันเฝ้าระวัง งดการเผาในพื้นที่ป่า พื้นที่โล่ง และพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดความรุนแรง และแก้ไขปัญหาไฟป่าวิกฤติมลพิษหมอกควันในภาคเหนือ ให้ประสบผลสำเร็จ หากพบเห็นไฟป่าสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่สายด่วนไฟป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดนครราชสีมารายงานว่าพบอุโบสถแปลก ประดับตกแต่งด้วยซากเขาวัว เขาควาย สร้างอยู่กลางสระน้ำ ในวัดบ้านเขว้า หมู่ที่ 3 ต.กระทุ่มราย อ.ประทาย จ.นครราชสีมา โดยภายนอกอุโบสถ ประดับตกแต่งไปด้วยซากเขาวัว เขาควาย ที่เสียชีวิตแล้ว นำมาทาสี เขียนลวดลายไทยสวยงาม นับร้อยชิ้น รอบอุโบสถ อีกทั้งประตูอุโบสถ ยังนำพระสมเด็จ พระเครื่องนับหมื่นชิ้น มาติดบนประตูทางเข้าอุโบสถ ส่วนภายในมีพระพุทธรูปปางประทานพร เหมือนกับอุโบสถวัดทั่วไป ส่วนภายนอกอุโบสถ ใช้ก้อนหินจากทุ่งนา สร้างเป็นฝาผนังโบสถ์ ใช้งบประมาณ ในการสร้างเพียง 1 แสนบาท ใช้ระยะเวลาในการสร้างเพียง 9 เดือน

จากการสอบถาม พระครูโกวิทย์ ธรรมประยุต เจ้าอาวาสวัดบ้านเขว้า กล่าวว่า การออกแบบในการสร้างอุโบสถหลังนี้ ตนเป็นคนออกแบบเอง เนื่องจากต้องการนำเสนอเรื่องราวประวัติของพุทธศาสนาในอดีต บาปบุญคุณโทษ โดยเฉพาะการรับบริจาคซากหัววัว และหัวควาย จากชาวบ้านในละแวกรอบวัด แล้วนำมาแกะสลัก ทาสี ประดับด้วยพลอยสีต่างๆ อย่างสวยงาม ก่อนนำมาประดับตกแต่งไว้รอบอุโบสถ เพื่อเป็นการแสดงถึง สัตว์ที่มีบุญคุณต่อมนุษย์ เนื่องจากในอดีตชาวบ้านก็ใช้วัว ควาย ในการทำไร่ ไถนา เป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัว ในเมื่อพวกมันเสียชีวิตแล้ว จึงต้องการนำซากของสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ มาไว้เป็นคติเตือนใจมนุษย์ ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เนื่องจากพระสอนคนทางคำพูดไม่ได้