สิ่งที่ต้องจำไว้เสมอสำหรับมะม่วงปลูกใหม่ก็คือขาดน้ำโดยเด็ด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงแตกใบอ่อนหากขาดน้ำต้นมะม่วงอาจตายได้และต้นมะม่วงที่ได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอจะมีอัตราการเจริญเติบโตดีกว่าต้นมะม่วงที่ขาดน้ำอย่างเห็นได้ชัดการใส่ปุ๋ย หลังจากปลูกมะม่วงไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน หรือสังเกตเห็นว่ามะม่วงเริ่มแตกใบอ่อน ให้ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 16-16-16 อัตราต้นละประมาณ 1 ช้อนแกง โดยใส่กระจายให้ทั่วต้นแล้วรดน้ำจนปุ๋ยละลายและให้ใส่ซ้ำทุก 2 เดือน เพื่อให้ต้นมะม่วงมีอัตราการเจริญเติบโตที่ต่อเนื่อง ส่วนปุ๋ยคอกนั้นให้ใส่อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จากประสบการณ์ผู้เขียนเคยพบแปลงมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ได้รับการใส่ปุ๋ยดูแลอย่างดี อายุต้นประมาณ 3 ปี แต่มีขนาดทรงต้นใหญ่กว่ามะม่วงทั่วไป สามารถให้ผลผลิตได้เร็วกว่า

การฉีดพ่นสารเคมี เป็นเรื่องจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยสำหรับการปลูกมะม่วงแบบการค้าคือ การใช้สารเคมี เพราะโรคแมลงนั้นร้ายกาจรุนแรงกว่าที่จะใช้วิธีทางชีวภาพ ดังนั้น การใช้สารเคมีจึงเป็นทางเลือกที่เกษตรกรชาวสวนมะม่วงส่วนใหญ่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูของมะม่วง มะม่วงปลูกใหม่ชาวสวนจะฉีดพ่นโคนต้นด้วยสารฟิโปรนิลเพื่อป้องกันปลวกมากัดกินขุยมะพร้าวที่อยู่บริเวณราก ซึ่งจะทำให้รากมะม่วงไม่มีที่ยึดเกาะ กิ่งจะแห้งตายได้ ที่สำคัญปลวกยังชอบเข้ามากัดทำลายหลักค้ำยันต้นทำให้ต้นมะม่วงโค่นล้มได้ง่าย

ใบอ่อนแตกใหม่ ถ้าจะให้เจริญเติบโตดีต้องฉีดพ่นสารเคมีเพื่อป้องกันโรคแมลงโดยทั่วไปแล้วเกษตรกรจะยึดหลักดังนี้1.ฉีดปุ๋ยทางใบ เพื่อให้ใบอ่อนสมบูรณ์ ที่ใช้กันมากคือ ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 21-21-21 หรือ 20-20-20 หรือ 18-6-6 อัตราตามคำแนะนำข้างฉลาก

2.ฉีดยาฆ่าแมลง เพราะช่วงใบอ่อนมักมีแมลงมาทำลายที่พบบ่อยๆ ก็คือ เพลี้ยไฟ, หนอนกัดกินใบ, แมลงค่อมทอง, ด้วงกรีดใบ ฯลฯ ศัตรูเหล่านี้กำจัดไม่ยากหากเราหมั่นตรวจแปลงบ่อยๆ จะสามารถแก้ไขได้ทัน

แต่สำหรับเกษตรกรแล้วจะใช้วิธีฉีดป้องกันดีกว่า เรียกได้ว่ายังไม่เห็นตัวแมลงก็ฉีดกันแล้ว ยากลุ่มที่ใช้กันมากที่สุด ได้แก่ ไซเปอร์เมทริน (เช่นโกลน็อค), เซฟวิน-85 ฯลฯ หลายครั้งที่เกษตรกรลืมดูแลมะม่วงช่วงแตกใบอ่อนแมลงเหล่านี้ก็จะเข้ามาทำลายทำให้ต้นมะม่วงโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น

3.ฉีดยาป้องกันกำจัดเชื้อรา ในช่วงใบอ่อน นอกจากแมลงจะเข้าทำลายแล้ว โรคที่พบมากที่สุดก็คือ โรคแอนแทรคโนสทำลายใบอ่อน ทำให้ใบเสียหายต้นชะงักการเจริญเติบโต ควรป้องกันโดยการฉีดพ่นยาเชื้อรา เช่น อโรไซด์, แอนทราโคล ฯลฯ

ผลไม้เศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่สูงทางภาคเหนือมีหลากหลายชนิด ซึ่งพลับเป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่เกษตรกรบนพื้นที่สูงนิยมปลูก ดังเช่น บ้านแม่แฮ ต.แม่นาจร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เพื่อสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ เริ่มมีการปลูกพลับมาตั้งแต่ ประมาณ พ.ศ. 2470 แต่การปลูกพลับเป็นการค้านั้น เริ่มจากมูลนิธิโครงการหลวง ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นำพลับพันธุ์ต่างๆ มาทดลองปลูกและศึกษาวิจัยเมื่อ พ.ศ. 2512 ที่สถานีวิจัยดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ และส่งเสริมให้เกษตรกรชาวเขาปลูกเป็นอาชีพทดแทนการปลูกฝิ่น ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ปลูกพลับส่วนใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในพื้นที่โครงการหลวง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยส้มป่อย ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งหลวง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ และศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำขุ่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง จ.เชียงราย

พันธุ์พลับที่ปลูกในประเทศไทย มีทั้งชนิดพลับฝาด ผลจะมีรสฝาด ตั้งแต่ระยะผลพลับยังอ่อนจนถึงผลแก่แต่ยังไม่สุกนิ่มเพราะมีสารแทนนินชนิดละลายน้ำได้ เป็นส่วนประกอบอยู่ โดยปกติผลพลับฝาดจะมีปริมาณแทนนิน อยู่ 0.80-1.94 เปอร์เซ็นต์ ของน้ำหนักผล เมื่อรับประทานดิบๆ จะทำให้เซลล์ของแทนนินแตกเกิดรสฝาดและเหนียวติดปาก ในทางการค้าจะนำไปผ่านกระบวนการขจัดความฝากในขณะที่ผลแก่แต่ยังไม่สุกนิ่มเพื่อทำให้สารแทนนินเปลี่ยนไปอยู่ในรูปไม่ละลายน้ำและบริโภคได้ในขณะที่ผลยังแข็งอยู่ ปริมาณสารแทนนินนี้จะมีมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละพันธุ์ พันธุ์พลับฝาด ได้แก่ พันธุ์ซือโจ หรือพี 2 พันธุ์ฮาชิยา และโทเนวาเซ่ เป็นต้น

พลับหวาน ผลจะมีรสหวาน ไม่มีรสฝาด ถึงแม้ว่าผลจะยังไม่สุกนิ่ม เมื่อผลแก่สามารถเก็บจากต้นมารับประทานได้เลย โดยไม่ต้องใช้วิธีการขจัดความฝาด พันธุ์พลับหวาน ได้แก่ พันธุ์ฟูยู พันธุ์จิดร พันธุ์อิซึ และเฮียะคุมะ เป็นต้น

นอกจากพลับจะแบ่งเป็นพลับฝาดและพลับหวาน ยังแบ่งตามชนิดสีเนื้อคงที่ เป็นพลับที่สีของเนื้อคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีการผสมเกสรจนติดเมล็ดหรือไม่ก็ตาม แต่จะสังเกตเห็นจุดสีเข้มเป็นจุดเล็กๆ ในบางพันธุ์ พลับหวานชนิดสีเนื้อคงที่สามารถรับประทานได้ในขณะที่ผลยังแข็ง

ส่วนพลับชนิดเนื้อสีเปลี่ยนแปลง สีเนื้อของผลจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการผสมเกสร จนเกิดเมล็ดโดยเนื้อผลจะเปลี่ยนจากสีเหลืองอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดงบริเวณรอบๆ เมล็ดที่เกิดขึ้น แต่ถ้าการผสมเกสรไม่ดี วนที่ไม่ได้รับการผสมจะไม่มีเมล็ดและเนื้อผลบริเวณนั้นจะมีสีเหลืองอ่อนหรือหากมีเพียงเมล็ดเดียวที่ได้รับการผสมก็จะปรากฏสีน้ำตาลแดงให้เห็นเฉพาะรอบๆ บริเวณเมล็ดเท่านั้น

สำหรับพันธุ์ที่มูลนิธิโครงการหลวงส่งเสริมให้เป็นพันธุ์การค้า คือ พลับฝาด พันธุ์ซือโจ หรือ พี 2 เป็นพลับฝาดชนิดสีของเนื้อคงที่ นำเข้าจากประเทศไต้หวัน สามารถเจริญเติบโตได้ดีในประเทศไทยต้องการความหนาวเย็นไม่ยายนานนัก ปลูกเป็นการค้าได้ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 900 เมตรขึ้นไป ใบแก่ก่อนร่วงจะมีสีส้มแดง ผลมีลักษณะทรงสีเหลี่ยมค่อนข้างแบน เนื้อผลสีเหลืองอ่อน น้ำหนักผลประมาณ 80-140 กรัม ไม่ค่อยมีเมล็ด ติดผลค่อนข้างดก ผลผลิตมีคุณภาพดีมากซึ่งมีสีเหลืองสม่ำเสมอทั้งผลในขณะที่ผลยังแข็งอยู่และหลังขจัดความฝาดแล้วเนื้อผลยังรักษาความกรอบได้ดี ความหวานประมาณ 17 องศาบริกซ์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกมากที่สุด ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด

พลับหวาน พันธุ์ฟูยู เป็นพลับหวานชนิดสีเนื้อคงที่ พันธุ์ที่โครงการหลวงส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มีการนำพันธุ์เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา นิยมปลูกเป็นการค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก แต่ในประเทศไทยยังมีการปลูกและมีผลผลิตน้อยมาก เพราะเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตช้ามาก และต้องการอากาศที่หนาวเย็น พื้นที่ที่เหมาะสำหรับปลูกพันธุ์นี้จะต้องมีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,200 เมตรขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีปัญหาขั้วแตก ผลผลิตจึงเสียหายมากเมื่อโดนน้ำฝน ใบพลับพันธุ์ฟูยูมีสีเขียวเข้ม ฐานใบมน ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ดอกไม่สมบูรณ์เพศ มีทั้งดอกตัวผู้และตัวเมีย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นดอกตัวเมีย สามารถติดผลได้โดยไม่ต้องผสมเกสร ดอกตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกตัวผู้ กลีบดอกสีเขียวอ่อน มองเห็นรังไข่ได้อย่างชัดเจน ผลมีลักษณะกลมแบนเล็กน้อยมี 4 พู มีเมล็ด 2-4 เมล็ด เมื่อสุกผลมีสีเหลืองสดจนถึงอมส้ม รสหวาน เนื้อกรอบ ออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ และเก็บเกี่ยวได้ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ถึงต้นเดือนกันยายน พลับพันธุ์ฟูยูในประเทศไทยมีน้ำหนักผล ประมาณ 150-200 กรัม

และพลับหวาน พันธุ์เฮียยะคูเมะ เป็นพลับหวานชนิดสีเนื้อของผลเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันมีการปลูกน้อยเช่นกัน เพราะยังติดผลได้ไม่ดีนัก ลักษณะผลค่อนข้างยาวคล้ายรูปหัวใจ และขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักประมาณ 150-200 กรัม ผลมีสีเหลืองแต่ก้นผลจะมีรอยเส้นเป็นขีดสีดำทำให้ดูไม่สวยงาม แต่คุณภาพในการรับประทานสดดี เมื่อดอกได้รับการผสมเกสรหรือติดเมล็ด สีของเนื้อใกล้ๆ บริเวณที่ติดเมล็ดจะมีน้ำตาลแดงและไม่มีรสฝาด แต่บริเวณที่ไม่มีเมล็ดเนื้อผลจะมีสีเหลืองอ่อนและมีรสฝาดมาก ซึ่งถ้าดอกได้รับการผสมเกสรไม่ทั่วถึงจะมีการติดเมล็ดน้อย ในผลนั้นจะมีส่วนที่มีรสหวานและรสฝาดอยู่ด้วยกัน ซึ่งลักษณะนี้เมื่อสังเกตจากภายนอกจะไม่ทราบ ดังนั้นก่อนที่จะนำผลมารับประทานหรือจำหน่าย ต้องนำไปขจัดความฝาด เพื่อความแน่ใจโดยการบ่มด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาทั้งพลับหวาน และพลับฝาด อีกหลายสายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ไจแอนท์ฟูยู จิโร อั้งไส ไนติงแกล จากประเทศญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อนำมาปลูกในประเทศไทย

ศูนย์พัฒนาโครงการแม่แฮ ต.แม่นาจร อ.แม่เจ่ม จ.เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า การปลูกเริ่มต้นจากการเตรียมต้นตอพลับเต้าซื่อหรือต้นที่มีความทนทานโรคและหาอาหารเก่ง อายุประมาณ 6-12 เดือน ขุดหลุมปลูกลึกประมาณ 12 นิ้ว ความกว้างระหว่างแปลงประมาณ 8-10 เมตร ต่อไร่จะปลูกได้ต้นพลับได้ประมาณ 45 ต้น หลังจากที่ขุดหลุมเรียบร้อยแล้วนำปุ๋ยคอกรองก้นหลุมแล้วนำต้นเต้าซื่อที่เตรียมไว้มาปลูก ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี สามารถเปลี่ยนยอด โดยนำยอดพลับที่คัดเลือกคุณภาพมาแล้วมาเสียบ หลังจากเสียบยอดอีกประมาณ 2-3 ปี พลับจะให้ผลผลิต แต่ในปีแรกผลผลิตที่ได้ยังมีจำนวนน้อย

ส่วนการตกแต่งกิ่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ใส่ปุ๋ยคอกรอบต้น ล้างแปลงด้วยปิโตรเลียมออยล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดเพลี้ยหอย สารเคมี หลังจากนั้น ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ต้นพลับจะเริ่มแตกใบออกพร้อมติดผล มีการฉีดพ่นสารป้องกันเพลี้ยไฟ และใส่ปุ๋ยคอกอีกรอบ จากนั้นจะใส่ปุ๋ยอีกประมาณ 2 ครั้ง ก่อนเก็บเกี่ยวผลผลิต

ตั้งแต่ติดผลจนถึงเก็บเกี่ยวผลใช้ระยะเวลา 5-6 เดือน ประมาณเดือนสิงหาคม – กันยายน โดยแต่ละต้นเก็บได้ 3 รุ่น แต่ละรุ่นประมาณ 50 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้วต่อต้นในหนึ่งฤดูกาลจะเก็บได้ประมาณ 150-200 กิโลกรัม ภายหลังที่เก็บเกี่ยวแล้วจะคัดขนาดและสีผิวให้ได้คุณภาพที่ดีใส่ถุงพลาสติกใสแล้วอัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถนำมาจำหน่ายได้ โดยการบ่ม จะใช้เวลา 4-6 วัน หลังจากที่ใส่ก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ สามารถรับประทานได้ ซึ่งจะไม่มีรสชาติฝาด ในกรณีที่พลับยังฝาดอยู่เนื่องจากว่าการเปิดถุงพลับเพื่อรับประทานอาจจะเปิดก่อนกำหนดที่ความฝาดจะหมด สำหรับราคาพลับประมาณกิโลกรัมละ 20-25 บาท

นอกจากที่ทางศูนย์ฯ จะทำการวิจัยและปลูกภายในศูนย์ฯ ยังส่งเสริมให้กับเกษตรกร โดยจัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เกษตรกรที่สนใจได้เข้ามาศึกษา ซึ่งทำให้เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกพลับ ที่สามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ต่อยอดจากศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮได้อีกส่วนหนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรที่สนใจจากที่อื่นๆ มาศึกษาเรียนรู้ต่อไป

ผู้สนใจ ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ มูลนิธิโครงการหลวง โทร.0-5381-0765–8 โทรสาร 0-5332-4000 หรือ อีเมล์ pr@royalprojectthailand.com

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เตรียมอบรมผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคเหนือ 16 อำเภอ 17,760 คน ในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน หวังกระตุ้นพัฒนาท้องถิ่นตามแนวพระราชดำริ สกัดปัญหายาเสพติด ซึ่งการอบรมผู้นำท้องถิ่นเกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่จะดำเนินการเร่งด่วนตามสถานการณ์ยาเสพติดที่มีความรุนแรงโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน

นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมนี้ ได้แก่ การขยายผลความรู้จากการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้ประชาชนตามแนวชายแดนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

“เรามีตัวอย่างที่โครงการพัฒนาดอยตุงที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันยาเสพติด จึงเป็นอีกทางหนึ่งของการสืบสานแนวพระราชดำริที่ปิดทองหลังพระฯ เข้ามามีส่วนร่วมในด้านการ ส่งเสริมความรู้และประสบการณ์ โดยมีมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ นำประสบการณ์มาเป็นผู้ถ่ายทอดหลัก”

โครงการฝึกอบรมนี้ จะดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ใช้งบประมาณ 53 ล้านบาท และมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายองค์กรท้องถิ่นตามแนวชายแดนทั้งที่เป็นทางผ่านยาเสพติด และที่มีผู้เสพติดเพิ่มมาก ได้แก่แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงรายที่จะมีผู้ร่วมอบรมรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 17,760 คน

ในช่วงการอบรม ผู้นำท้องถิ่นจะได้รับรู้และศึกษาจากประสบการณ์การพัฒนาจริง ทั้งในด้านการวางแผนชุมชน การกระตุ้นการมีส่วนร่วม การพัฒนาเศรษฐกิจฯ เพื่อนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนตามความ เหมาะสมโดยจะมีศูนย์การอบรมที่ศูนย์ปฏิบัติการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

จากรายงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พบว่า ร้อยละ 76.1 ของผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเป็นแรงงานเกษตรกรและผู้ว่างงาน โดยร้อยละ 40 เป็นผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี ซึ่งผู้ติดยาเสพติดในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน มีสัดส่วนสูงสุดในกลุ่มอายุเกิน 39 ปี ตามด้วยผู้มีอายุระหว่าง 20-24 ปี และมีแนวโน้มที่ผู้เสพยาเสพติดอายุน้อยจะมีเพิ่มขึ้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรได้จัดทำยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตรระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

เพื่อติดตามความคืบหน้า และเป็นข้อมูลวิเคราะห์ประกอบการกำหนดนโยบายของไทยในการรองรับปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ซึ่งเมื่อวันที่ 1-5 ตุลาคมที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ โดย สศก. กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโรม ได้ร่วมประชุมคณะกรรมการด้านการเกษตร (Committee on Agriculture : COAG) ครั้งที่ 26 ณ สำนักงานใหญ่ FAO กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี โดยมีประเทศสมาชิก FAO เข้าร่วมจำนวน 111 ประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ 9 องค์กร และองค์กรเอกชน 16 องค์กร เข้าร่วมประชุม

นางสาวจริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในเรื่องดังกล่าวว่า คณะกรรมการด้านการเกษตร มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับนโยบายด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ความปลอดภัยด้านอาหาร การพัฒนาชนบท และการจัดการทรัพยากร ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการด้านการเกษตรครั้งนี้ ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านเกษตรและอาหารตามยุทธศาสตร์และแผนงานของ FAO เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่

1. ความคืบหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ FAO 2. แนวทางการจัดการอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน 3. การดำเนินงานด้านปศุสัตว์ รวมถึงข้อเสนอการจัดตั้งอนุกรรมการด้านปศุสัตว์ 4. ระบบอาหารยั่งยืน 5. การฟื้นฟูพื้นที่ชนบทสำหรับเยาวชน 6. นิเวศเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 7. กรอบการดำเนินงานระดับโลกด้านการขาดแคลนน้ำในภาคเกษตร 8. ความคืบหน้าด้านความร่วมมือดินโลกรวมถึงแนวทางปฏิบัติระหว่างชาติสำหรับการใช้และการจัดการปุ๋ย9. แนวทางดำเนินงานภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ของ FAO ปี พ.ศ. 2561-2564 10. ระบบมรดกทางการเกษตรที่สำคัญของโลก 11. ข้อเสนอให้ปี พ.ศ. 2566 เป็นปีแห่งผักและผลไม้สากล และให้วันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็นวันแห่งการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสูญเสียและความเสียหายของอาหารสากล และ 12. การคัดเลือกผู้แทนจากภูมิภาคต่างๆ เพื่อปฏิบัติงานในสำนักงาน (Bureau) ของ COAG ระหว่างปี พ.ศ. 2562-2563 ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนจากภูมิภาคเอเชีย โดยมีผู้แทนจากอิหร่านเป็นประธาน และมีออสเตรเลีย คิวบา แคนาดา โมร็อกโก และอาร์เมเนีย ร่วมเป็นผู้แทน

ในการนี้ ผู้แทน สศก. ได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ความคืบหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ FAO โดยกล่าวขอบคุณ FAO สำหรับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ การสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ “Supporting the Integration of Agricultural Sector into National Adaptation Plans) การทำการเกษตรแบบเท่าทันภูมิอากาศ (Climate Smart Agriculture : CSA) ที่มีความคล้ายคลึงและสอดคล้องกับเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโครงการภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ช่วยให้เกิดความยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหารในครัวเรือน ชุมชน และประเทศ และเสนอให้ FAO ดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสอดคล้องกับด้านความมั่นคงทางอาหาร

รวมทั้งได้กล่าวถึงแนวทางการจัดการอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญของไทยในการบูรณาการและการใช้นวัตกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารและการเกษตรตลอดจนความสำคัญของการจัดการทรัพยากรดินและน้ำซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ FAO จัดทำข้อมูลเฉพาะระดับประเทศให้มากขึ้น เพื่อนำไปจัดทำตัวชี้วัดสำหรับวัดผลการดำเนินงานในแต่ละประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ สศก. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดทำนโยบายด้านการเกษตร ของประเทศ จะนำข้อมูลจากการประชุมมาพิจารณาเพื่อประกอบการกำหนดนโยบายหรือแผนการพัฒนาการเกษตรของไทยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร ให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนานาประเทศ โดยคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของเกษตรกรและผลประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ

นายสำราญ สาราบรรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ เร่งสำรวจพื้นที่และความต้องการของเกษตรกรที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในพื้นที่ 33 จังหวัด พื้นที่ 2.8 ล้านไร่ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร รวม 5 ทหารเสือ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวและปรับสมดุลการปลูกพืชให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด ประกอบกับการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ ที่จะมีปริมาณลดลง ดังนั้น จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมสมัครเข้าร่วมโครงการภายในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ และจะเริ่มดำเนินการเพาะปลูกได้ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจความต้องการเบื้องต้นของเกษตรกรและการบันทึกข้อมูลในระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2561 พบว่า ขณะนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8 หมื่นราย พื้นที่เป้าหมายซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทานกว่า 7.5 แสนไร่ โดยมีพื้นที่ 9 จังหวัดที่เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการมากที่สุด ดังนี้ 1. อุบลราชธานี 2. เพชรบูรณ์ 3. ศรีสะเกษ 4.อุตรดิตถ์ 5. อุทัยธานี 6. หนองบัวลำภู 7. สุโขทัย 8. สกลนคร และ 9. หนองคาย โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีและเพชรบูรณ์ เกษตรกรตอบรับเข้าร่วมโครงการพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ นอกจากนี้ ยังได้ระดมสรรพกำลังเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอและเกษตรกรผู้นำทั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) และสมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรเกี่ยวกับโครงการและมาตรการจากภาครัฐ เพื่อช่วยสร้างการรับรู้และถ่ายทอดความรู้เรื่องการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาตามหลักวิชาการที่ถูกต้องอย่างเต็มที่

สำหรับการดำเนินการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในปีที่ผ่านมา อาจมีอุปสรรคบ้างเกี่ยวกับจุดจำหน่ายและการรับซื้อผลผลิต แต่ปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ปรับระบบใหม่เพื่อลดปัญหาความเสี่ยง และดูแลเกษตรกรให้มากที่สุดทั้งการถ่ายทอดความรู้ ระบบประกันภัย การให้สินเชื่อ และจัดหาตลาด โดยการนำสหกรณ์การเกษตรและสถาบันเกษตรกรมากำหนดจุดรับซื้อเพื่ออำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรในการขาย และได้ประสานกับภาคเอกชนในการวางระบบการรับซื้อก่อนเริ่มโครงการ โดยซื้อขายกับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทุกราย

จึงขอให้เกษตรกรเชื่อมั่นและวางใจว่าเมื่อปลูกข้าวโพดแล้วไม่มีปัญหาด้านราคาอย่างแน่นอน พร้อมทั้งกำชับให้ผู้บริหารทุกหน่วยงานลงพื้นที่ติดตามการดำเนินการโครงการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนบูรณาการการทำงานในพื้นที่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงพาณิชย์ ไปพร้อมกัน ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม แม้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกข้าวของเกษตรกรจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกหน่วยงานก็ได้พยายามกันสุดกำลัง เพื่อรองรับกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงทั้งสภาพแวดล้อม ปริมาณน้ำ และความต้องการของตลาด

คุณตาวัย 77 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน นักอนุรักษ์การจักสานตะกร้าและชะลอมจากทางปาล์มน้ำมันลดมลพิษและภาวะโลกร้อน มีรายได้จุนเจือครอบครัว มีลูกค้าทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด สั่งซื้อเพื่อนำบรรจุสิ่งของและเพื่อการจำหน่าย ตลอดจนเป็นจิตอาสาด้านวิทยากร

ณ บ้านเลขที่ 35/3 หมู่ที่ 1 ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มี คุณตาสามารถ วรรณะพรหม วัย 77 ปี ปราชญ์ชาวบ้าน อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เป็นนักอนุรักษ์การจักสานตะกร้าและชะลอมจากทางปาล์มน้ำมัน เพื่อใช้บรรจุสิ่งของ แทนถุงพลาสติก ลดภาวะ มลพิษ และภาวะโลกร้อน มีรายได้จุนเจือครอบครัว เดือนละไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท

คุณตาสามารถ บอกว่า ตนเองมีความถนัดในการจักสานตะกร้าและชะลอม มายาวนานกว่า 15 ปี หลังจากย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดระนอง มาอยู่ในที่อยู่ปัจจุบัน ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ได้เห็นทางปาล์มน้ำมันในสวนใกล้ๆ บ้านซึ่งเป็นของชาวบ้านหรือเอกชนซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งทางเจ้าของสวนจะมีการตัดแต่งทางปาล์มของต้นปาล์มน้ำมัน เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต ทางปาล์มที่ถูกตัดจะถูกนำมากองไว้ใกล้โคนต้น ตนเองจึงได้ความคิดในการเอาแกนกลางของทางปาล์มน้ำมันที่ตัดสดๆ มาจักสานเป็นตะกร้าและชะลอม โดยการผ่าเอาแกนกลางของทางปาล์มน้ำมันออกเป็นแผ่นบางๆ ตามความยาวที่ต้องการและนำมาเข้าขั้นตอน การนำแกนกลางมาผ่าด้วยเครื่องมือที่จัดทำขึ้นเอง แบบบ้านๆ ทำการผ่าออกเป็นขนาดเล็กใหญ่ตามความต้องการ ที่จะทำตะกร้าหรือชะลอม

จากนั้นก็นำมาจักสานชะลอม ด้วยรูปตามแบบที่จัดเตรียมไว้ส่วนตะกร้า จะเพิ่มการใช้หวาย ทำเป็นหูหิ้ว เพื่อความแข็งแรงการสานตะกร้า จะใช้เวลา 20 นาที ต่อ 1 ใบ ส่วนชะลอม ขนาดใหญ่ใช้เวลา 10 นาที ขนาดเล็ก ใช้เวลา 5 นาที

ส่วนการจำหน่าย…ราคาขายส่ง ตะกร้าใบละ 70 บาท ชะลอมขนาดใหญ่ ใบละ 15 บาท ชะลอมลูกเล็ก ใบละ 4 บาทคุณตาสามารถ ยังกล่าวอีกว่า มีรายได้จากการจำหน่ายโดยมีลูกค้าทั้งในชุมชน ในอำเภอ และจังหวัดกระบี่ ตลอดจนจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสุราษฎร์ธานี และใกล้เคียงที่สั่งซื้อ เพื่อนำไปบรรจุ สิ่งของ เช่น ไข่เค็ม ผลไม้ และอื่นๆ และเพื่อการนำไปวางจำหน่าย โดยทางตนเองจะมีรายได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท และมีรายได้เพิ่มจากการขายกล้วยหอม มะนาว และพืชผักกินได้ที่ปลูกไว้ในพื้นที่ รอบบ้าน เดือนละไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท โดยมีภรรยาในวัยไล่เลี่ยกันเป็นคู่คิด และช่วยกันทำมาหากิน

นอกจากนี้ ตนเองจะใช้เวลาว่างไปเป็นวิทยากรให้กับชุมชนกับหน่วยงานราชการ แก่กลุ่มผู้สนใจและสถานศึกษา เพื่อสืบสานการจักสานตามวิถีชีวิตชุมชน และให้ได้เล็งเห็นคุณค่าจากเศษวัสดุในธรรมชาติมาใช้ทำประโยชน์ ทำเป็นชิ้นงาน ใช้บรรจุสิ่งของ แทนถุงพลาสติก ช่วยลดมลพิษ และภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย

ด้าน คุณชัยยุทธ ศิลป์พยุทธ อยู่บ้านเลขที่ 5/1 หมู่ที่ 6 ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกับภรรยา จัดตั้ง กลุ่มแม่บ้านจักสาน หมู่ที่ 6 ตำบลอ่าวลึกน้อย ก็ได้ให้คุณตาสามารถเป็นวิทยากร ด้านการจักสานตะกร้าและชะลอม เพื่อเป็นรายได้ของกลุ่มแม่บ้าน ที่เพิ่งจัดตั้งกลุ่ม ได้ประมาณ 1 เดือนเศษ มีสมาชิก 10-15 คน ขณะที่ยังไม่มีชิ้นงานออกมาเพื่อการจำหน่ายของกลุ่ม ก็จะรับสินค้ามาจากคุณตาสามารถเพื่อนำมาวางจำหน่ายในงานต่างๆ ของชุมชนอำเภอและจังหวัดกระบี่ เพื่อสร้างรายได้แก่กลุ่มและแก่ครอบครัวคุณตาสามารถอีกทางหนึ่งด้วย