สูตรก้อนเชื้อเห็ดของคุณวิวัฒน์ มีวัตถุดิบที่ไม่แตกต่างจากแหล่งอื่น

คือ ปูนขาว ยิปซัม เกลือ รำละเอียด แต่ที่แตกต่างก็คือ ขี้เลื่อยไม้ยางพารา ที่ต้องสั่งตรงมาจากโรงเลื่อยไม้ที่ภาคใต้ และคุณวิวัฒน์เชื่อว่า ขี้เลื่อยไม้ยางพารานี่แหละ คือวัตถุดิบที่ทำให้ก้อนเชื้อเห็ดเพาะเห็ดได้อย่างมีคุณภาพ

เริ่มต้นการเพาะเห็ด จากเห็ดนางฟ้า และเริ่มพัฒนาเพาะเห็ดหูหนู เห็ดกระด้าง เห็ดนางรม เห็ดขอน และเห็ดโคนญี่ปุ่น

จากโรงเรือนเพียงโรงเดียว เมื่อเก็บผลผลิตได้และนำไปขายที่ตลาดชุมชน ก็ทำให้มีรายได้เข้าครัวเรือนเกือบทุกวัน ทำให้ต้องเพิ่มจำนวนโรงเรือนมากขึ้น โดยคุณวิวัฒน์เพิ่มขนาดของโรงเรือนยาวต่อเนื่องกัน ขนาดความยาว 50 เมตร กว้าง 8 เมตร

เมื่อถามถึงความชื้นภายในโรงเรือน อุณหภูมิภายในโรงเรือนมีความจำเป็นมากเพียงใด คุณวิวัฒน์ ตอบด้วยท่าทีสบายว่า ไม่จำเป็นต้องวัดอุณหภูมิหรือความชื้นภายในโรงเรือนด้วยอุปกรณ์การวัดใดๆ ให้ใช้ตัวเองเป็นหลัก หากคนเดินเข้าไปในโรงเรือนแล้ว ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่ร้อน ไม่อบอ้าว นั่นหมายถึง อุณหภูมิภายในโรงเรือนใช้ได้ และเห็ดก็สามารถเจริญเติบโตในอุณหภูมิเช่นนั้นได้เช่นกัน กรณีที่อากาศร้อนอบอ้าวมากๆ อาจเปิดมินิสปริงเกลอร์ที่ติดไว้ด้านบนของโรงเรือน เพื่อช่วยระบายความร้อนภายในโรงเรือนออกไป

กิจกรรมในแต่ละวันของการเพาะเห็ด ทุกเช้าจะต้องเข้ามาเก็บเห็ดก่อน เพื่อนำดอกเห็ดที่แก่เก็บไปขาย จากนั้นรดน้ำเห็ด โดยเปิดสปริงเกลอร์รดให้เปียกเห็ดทุกก้อน ใช้เวลาประมาณ 50 นาที หรือเปิดน้ำจากสายยางเดินรดน้ำเห็ดไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเพียง 15 นาที เท่านั้น ค่าใช้จ่ายจากการรดน้ำเห็ดต่อเดือน ประมาณ 400 บาท จากนั้นเปิดดอกในก้อนเพาะเชื้อเห็ดที่มีความพร้อม โดยปกติหลังเก็บเห็ด จำเป็นต้องพักก้อนเชื้อเห็ด 10-15 วัน จึงจะเปิดดอกเห็ดรอบต่อไป

เวลาว่างหลังจากนั้น จึงเพิ่มมูลค่าด้วยการ “แปรรูป” เมื่อเริ่มก่อตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนฯ คุณวิวัฒน์ จึงให้บริการสมาชิกด้วยการรับซื้อเห็ดนางฟ้า เพื่อรวบรวมนำไปขายทั้งขายส่งและขายปลีก วันละประมาณ 100-120 กิโลกรัม และประกันราคาให้กับสมาชิกที่นำมาส่งให้กับวิสาหกิจชุมชนฯ ในราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 50 บาท

“การเพาะเห็ด ไม่จำเป็นต้องให้ปุ๋ย สำคัญตรงที่การควบคุมความชื้นให้ได้ และโรงเรือนไม่จำเป็นต้องมืด แค่พอมีแสงรางๆ ก็พอ หากมืดเกินไป จะทำให้เห็ดมีสีซีดจาง”

เพื่อให้สมาชิกของกลุ่มมีรายได้ จึงเริ่มผลิตก้อนเชื้อเห็ดเพื่อจำหน่ายเอง โดยก้อนเชื้อเห็ดที่ผลิตต้องรอให้เดินเส้นใยเห็ดแล้ว 1 เดือน จึงจะจำหน่ายออก แต่เพราะก้อนเชื้อที่ได้คุณภาพ ทำให้มีลูกค้าจำนวนมากออเดอร์ก้อนเชื้อเข้ามา แต่ความสามารถในการผลิตก้อนเชื้อต่อวัน ทำได้เพียงวันละ 1,000 ก้อน เท่านั้น ทำให้มียอดจองก้อนเชื้อยาวไปล่วงหน้า 2 เดือน ราคาก้อนเชื้อก็ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค จำหน่ายในราคา ก้อนละ 8.50 บาท กรณีรับด้วยตนเอง แต่ถ้าส่งถึงที่ คิดราคาก้อนละ 9 บาท

สมาชิกที่เข้ามาลงมือผลิตก้อนเชื้อ จะได้ค่าแรง วันละ 250 บาท ส่วนสมาชิกที่ไม่ได้เข้ามาทำงาน ก็รอรับปันผลรายปี

เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนหนึ่ง แนวคิดเรื่องการแปรรูปจึงเกิดขึ้น

ในการดูแลโรงเรือนเห็ด การทำก้อนเชื้อ และการแปรรูป คุณวิวัฒน์มีผู้ช่วยมือฉกาจที่มีมุมมองและแนวคิดในการเพาะเห็ดที่เก่ง คือ คุณวิมล ฟักทอง ภรรยา ที่เริ่มฟูมฟักช่วยกันมาตั้งแต่เริ่มต้น จนปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ได้รับการยอมรับให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. โดยมี คุณวิวัฒน์ เป็นประธานศูนย์ฯ

ในส่วนการแปรรูป คุณวิวัฒน์ บอกว่า โดยทั่วไปการแปรรูปเห็ดจะเน้นไปที่กลุ่มคนรักสุขภาพ จึงมองตลาดที่ไปตรงกับผู้ประกอบการอื่น เริ่มจากการทำสแน็กเห็ด และมองหาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์คนรักสุขภาพ โดยไม่ซ้ำกับผู้ผลิตรายอื่น ทำให้แนวคิดมาจบที่เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากเห็ดหูหนู ซึ่งปกติจะผลิตจากเห็ดหลินจือ หรือเห็ดที่มีคุณค่าทางสารอาหารสูง โดยมองข้ามเห็ดหูหนูไป แต่เนื่องจากกลุ่มมองว่าเห็ดหูหนูมีคุณลักษณะเป็นวุ้น เมื่อทำให้เนื้อเห็ดหูหนูละเอียด รับประทานแล้วก็ยังมีความนุ่ม กรุบ ความรู้สึกเหมือนรับประทานวุ้นหรือรังนก

ผลิตภัณฑ์ที่นำเห็ดหูหนูมาแปรรูป ประกอบด้วย น้ำเห็ดหูหนูขาวพร้อมดื่ม น้ำเห็ดหูหนูดำพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเห็ดหูหนูขาวผสมวิตามินซี และอนาคตมีแนวคิดจะผลิตเจลเพิ่มพลังงานจากเห็ด สำหรับผู้ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถซื้อได้ตามร้านค้าชุมชนใกล้เคียง หรือค้นหาสินค้าในเว็บขายสินค้าออนไลน์สำเร็จรูปหลายแห่ง

สำหรับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง เป็น ศพก. ของพื้นที่ และมี คุณวิวัฒน์ ฟักทอง เป็นประธานศูนย์ฯ จึงยินดีให้ความรู้สำหรับผู้ที่สนใจงานเกษตร ติดต่อสอบถามเข้ามาได้ที่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดบ้านท่าช้าง หมู่ที่ 2 ตำบลท่าช้าง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก หรือโทรศัพท์ 084-622-5879 นัดหมายก่อนล่วงหน้า ยินดีให้การต้อนรับ

คุณธัญญรัตน์ ชาญยงค์ อยู่บ้านเลขที่ 127 หมู่ที่ 2 ตำบลไม้เค็ด อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ได้ทำสวนทุเรียนปลูกอยู่รอบบริเวณบ้านรวมกับพันธุ์ไม้อื่นๆ เมื่อถึงหน้าฤดูกาลทุเรียนออกผลก็จะดูแลอย่างดี ส่งผลให้ผลผลิตที่ได้มีรสชาติดี ผลผลิตได้คุณภาพ เป็นที่ต้องการของลูกค้า และเมื่อทุเรียนหมดฤดูกาลไปก็จะได้ผลผลิตจากไม้อื่นทำรายได้แทน เธอจึงมีรายได้จากพืชหลากหลายชนิดทำรายได้ตลอดทั้งปี

คุณธัญญรัตน์ เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่เธอจำความได้ ตั้งแต่สมัยเด็กครอบครัวของเธอก็มีสวนไม้ผลอยู่รอบบริเวณบ้าน โดยเน้นเป็นทุเรียนพันธุ์โบราณเป็นหลัก แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ทุเรียนเหล่านั้นตายไปจนหมดสวน ครอบครัวของเธอจึงได้หาต้นทุเรียนใหม่ๆ เข้ามาปลูกเพิ่มในพื้นที่บริเวณที่ตายไป พร้อมทั้งปลูกไม้ชนิดอื่นๆ เข้ามาแซมเป็นการเพิ่มผลผลิตให้มีหลากหลายมากขึ้น

“พื้นที่รอบบ้านมีเนื้อที่อยู่ประมาณ 12 ไร่ จะปลูกทุเรียนอยู่ที่ 500 ต้น โดยทำเป็นสวนแบบผสมผสาน แต่ทุเรียนเป็นผลผลิตหลักของสวน ซึ่งผลผลิตทุเรียนทำเงินรายปี พืชผักพลูกินใบเป็นรายได้รายวันและรายเดือน จึงทำให้ในแต่ละปีถึงไม่มีผลผลิตจากทุเรียน เราก็ยังมีผลผลิตชนิดอื่นที่สามารถสร้างรายได้อีกหลายๆ ช่องทาง ซึ่งอายุทุเรียนของสวนมากสุดอยู่ที่ 20 ปีขึ้น พอต้นไหนที่ตายเราก็จะหาต้นใหม่เข้ามาปลูกอยู่เสมอ จึงทำให้ทุเรียนในสวนมีหลากหลายอายุ ปลูกเต็มทั่วทุกพื้นที่ที่จะจัดการได้” คุณธัญญรัตน์ บอก

ทุเรียนที่ปลูกภายในสวนทั้งหมด คุณธัญญรัตน์ บอกว่า จะให้มีระยะห่างระหว่างต้นอยู่ที่ 6-7 เมตร สายพันธุ์หลักที่นำมาปลูกจะมีทุเรียนพันธุ์หมอนทอง พันธุ์ก้านยาว และพันธุ์ชะนี หากเป็นต้นที่นำมาปลูกใหม่ๆ จะดูแลรดน้ำป้องกันโรคและแมลงให้เป็นอย่างดี ดูแลใช้เวลาประมาณ 4 ปี ต้นทุเรียนก็จะเริ่มให้ผลผลิตจำหน่ายได้

โดยทุเรียนที่เก็บผลผลิตจำหน่ายจนหมดปลายสิ้นเดือนมิถุนายนแล้ว หลังจากนั้นจะบำรุงต้นให้มีความสมบูรณ์ด้วยการใส่ปุ๋ยคอกและใส่ปุ๋ยสูตรเสมอสลับกัน พร้อมทั้งตัดแต่งกิ่งต้นทุเรียนภายในสวนทั้งหมด ดูแลไปเรื่อยๆ ต้นทุเรียนจะเริ่มออกดอกอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคม เมื่อเข้าสู่เดือนมกราคมดอกจะเริ่มบาน ดูแลรดน้ำให้กับต้นทุเรียนตามปกติพร้อมทั้งใส่ปุ๋ยคอกเสริมเข้าไป หลังจากนั้นไม่นานก็จะได้ผลผลิตที่สามารถเก็บจำหน่ายได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม

“ผลทุเรียนที่เราไว้ต่อต้นก็จะประมาณ 20-30 ผล จะไม่เน้นให้มีผลมาก เพราะต้องการให้แต่ละผลมีคุณภาพ ผลที่เราเห็นว่าไม่ดีไม่สมบูรณ์ก็จะเด็ดผลออกทันที ในช่วงที่ต้นมีผลแล้วก็จะดูแลป้องกันแมลงศัตรูพืชเป็นระยะ เพื่อไม่ให้ผลเกิดความเสียหาย โดยในอนาคตมองไว้ว่า จะปรับเปลี่ยนทำสวนทุเรียนให้เป็นระบบอินทรีย์มากขึ้น จะไม่ใช้สารเคมีในการผลิต ก็จะยิ่งช่วยให้ผลผลิตมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น” คุณธัญญรัตน์ บอก

ในเรื่องของการทำตลาดเพื่อจำหน่ายทุเรียนภายในสวนนั้น คุณธัญญรัตน์ บอกว่า จังหวัดปราจีนบุรี มีการจัดงานเกษตรของจังหวัดขึ้นทุกปี เมื่อผลผลิตภายในสวนมีก็จะนำไปออกร้านจำหน่ายภายในงาน จึงทำให้ลูกค้าที่มาเที่ยวงานได้ลองชิมและติดใจในรสชาติ เมื่อแต่ละปีทุเรียนในสวนเริ่มมีผลผลิตลูกค้าก็จะมาติดต่อสั่งจองถึงหน้าสวน จึงทำให้ผลผลิตในสวนจำหน่ายได้หมดโดยไม่ต้องออกร้านเหมือนเช่นสมัยก่อน

“ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีการพัฒนามากขึ้น เราก็จะทำช่องทางการขายออนไลน์ด้วย ให้ลูกค้าที่ติดตามสวนเรา ได้รู้ว่าช่วงนี้เรามีสินค้าอะไรบ้าง เราก็จะโพสต์อยู่เสมอๆ พอเขาสนใจก็จะสั่งจองเข้ามาและมารับถึงที่สวน พร้อมทั้งเดินท่องเที่ยวสวนไปด้วย ได้รับทั้งความรู้และทานทุเรียนจากสวนโดยตรง ซึ่งทุเรียนหมอนทองขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 150 บาท ทุเรียนก้านยาวกิโลกรัมละ 250 บาท และทุเรียนชะนีขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ผลผลิตเฉลี่ยต่อปีรวมๆ กันก็อยู่ที่ 1.5 ตัน ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่อยู่ได้ เป็นสวนที่เราทำเองและใช้แรงงานในครอบครัวเป็นหลัก” คุณธัญญรัตน์ บอก

สำหรับการทำเกษตรให้ประสบผลสำเร็จโดยเฉพาะการปลูกทุเรียน คุณธัญญรัตน์ แนะนำว่า สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมเป็นอย่างมากคือเรื่องของใจรัก เพราะการทำเกษตรไม่ได้เห็นผลในระยะสั้นๆ แต่ต้องดูแลและใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควร ดังนั้น ต้องมีการทำให้ผสมผสานหลากหลายมีพืชหลายๆ ชนิดอยู่ด้วยกัน เพื่อให้มีเงินนำมาหมุนเวียนใช้จ่ายในครัวเรือน ในช่วงที่รอผลผลิตจากทุเรียนภายในสวน

แคนตาลูปเป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและกว้างมากขึ้น สิ่งที่ทำให้ผู้ผลิตหลายคนสนใจพืชชนิดนี้เพราะราคาขายน่าพอใจ ตลาดซื้อ-ขายแคนตาลูปมีความชัดเจนมากกว่าเมล่อนเพราะผลผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

ทว่าพืชชนิดนี้มีข้อจำกัดการปลูกส่วนใหญ่อยู่กับกลุ่มเกษตรกรเดิมที่มีความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ ส่วนรายใหม่ที่ยังขาดความรู้ทั้งด้านผลิตและการตลาด จึงยังไม่กล้าที่จะเข้ามาเป็นผู้ผลิตเต็มตัว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เกษตรกรทั่วทุกภูมิภาคให้ความสนใจปรับพื้นที่จากทำนา ทำไร่ แล้วเปลี่ยนมาปลูกแคนตาลูปกันมากขึ้นทั้งรายเล็ก รายใหญ่ เพราะเป็นพืชระยะสั้นที่ให้ผลตอบแทนเร็วแล้วมีรายได้ดีกว่า

คุณสมิตานันท์ มะโน หรือ คุณปู บ้านเลขที่ 15 หมู่ที่ 4 บ้านหัวถิน ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ (091) 810-2776 ก็เช่นเดียวกันที่ได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาบางส่วนมาปลูกแคนตาลูปเนื่องจากประสบปัญหาราคาข้าว โดยคุณปูเลือกทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานคือปลูกข้าว และผักชนิดต่างๆ สลับไป-มาหมุนเวียน แล้วทดลองปลูกแคนตาลูปบริเวณขอบคันนาก่อน ได้ผลดีมีคุณภาพ ทำให้ต้องขยายพื้นที่ปลูกทดแทนพื้นที่นา แล้วปรับวิธีปลูกจากแบบหยอดเมล็ดมาเป็นแบบใช้ผ้าพลาสติก ช่วยลดแรงงาน ลดปัญหาวัชพืช ทำให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพ จำหน่ายทั้งแบบปลีกและส่ง สร้างรายได้เป็นอย่างดี

คุณปูใช้พื้นที่ปลูกแคนตาลูปจำนวนรวม 4 ไร่ เดิมปลูกแบบหยอดเมล็ด แต่ต้องคอยหมั่นกำจัดวัชพืชออก เพราะมิเช่นนั้นจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยที่ใส่ทำให้ผลผลิตด้อยลง ขณะเดียวกัน เมื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกมากขึ้นจะมาคอยกำจัดวัชพืชก็คงไม่ไหวเพราะต้องเสียเวลา จึงเปลี่ยนวิธีด้วยการใช้พลาสติกคลุม ซึ่งไปเห็นวิธีปลูกแตงโมก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นแนวทางเดียวกัน แม้จะต้องลงทุนเพิ่ม แต่ข้อดีของการใช้พลาสติกคลุมจะช่วยประหยัดเวลาและแรงงาน ป้องกันการเกิดวัชพืช ช่วยให้พืชได้รับปุ๋ยที่ใส่อย่างเต็มที่ เพิ่มคุณภาพผลผลิตมีความสมบูรณ์มาก ลดความยุ่งยาก ทำให้มีเวลาเหลือไปทำอย่างอื่นได้อีก

วิธีปลูกเริ่มจากการปรับปรุงดินด้วยการไถกลบ 1 รอบ แล้วหว่านปุ๋ยคอก อย่างมูลแพะ มูลวัว มูลเป็ด สลับกันตามความเหมาะสมในอัตรา 1 ไร่ ต่อ 10 กระสอบ ให้ตากดินไว้ 7 วัน แล้วไถอีก 1 รอบ ทิ้งไว้ 3 วันจึงนำพลาสติกคลุมดินเจาะรูมาปู ขณะเดียวกัน แยกเพาะต้นกล้าไว้ในถาดเพาะประมาณ 10 วันจึงย้ายลงปลูกในแปลง

หลังจากนำต้นกล้าลงหลุม รดน้ำผ่านสายน้ำหยดใช้เวลา 15 นาที ต่อครั้ง ต่อร่อง เฉพาะช่วงเช้าเพื่อไม่ต้องการให้ดินแฉะมากอันเกิดเชื้อรา จากนั้นใส่ปุ๋ยหลังจากปลูก 15 วันใช้ปุ๋ยค้างคาวเม็ดละลายน้ำอัตรา 2 กระสอบ หรือ 50 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตรพ่นฮอร์โมนทางใบในช่วง 7 วันแรก เมื่ออายุ 20 วันเริ่มมีดอกจะใช้ฮอร์โมนไข่ที่หมักไว้เองในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นเพื่อเร่งให้ดอกโตและสร้างผลพร้อมเพิ่มความหวาน

หลังจากนั้น ประมาณ 2 สัปดาห์ดอกจะเปลี่ยนเป็นผลอ่อน ก็ใช้ฮอร์โมนไข่ฉีดพ่นทุก 5-7 วัน แล้วอีก 15 วันให้ใส่ปุ๋ยมูลค้างคาวอีกรอบ โดยวิธีนี้ทำไปเรื่อยจนอายุครบ 60 วันจึงเริ่มเก็บผลผลิต ทั้งนี้ ก่อนเก็บผลผลิตต้องหยุดการให้น้ำล่วงหน้า 10 วัน แนวทางนี้ทำให้ผลผลิตแคนตาลูปของคุณปูมีคุณภาพทั้งขนาด รสชาติ พร้อมกับยังได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอีก

เนื่องจากสภาพภูมิอากาศทำให้คุณปูปลูกแคนตาลูปเพียงปีละครั้งในช่วงราวเดือนธันวาคมแล้วเก็บผลผลิตราวเดือนมีนาคม หลังจากหมดสิ้นฤดูแคนตาลูปแล้ว จะพักหน้าดินประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อเตรียมปลูกพืชผักอย่างอื่นสลับ ไม่ว่าจะเป็นแตงกวา ข้าวโพดหวาน และอื่นๆ ตามที่ตลาดต้องการ

แม้พลาสติกจะช่วยลดปัญหาวัชพืชลงได้ แต่ยังเจอปัญหาจากโรค/แมลงศัตรู โดยเฉพาะหนอนและแมลงสีส้ม ซึ่งป้องกันโดยใช้น้ำหมักสะเดาที่ทำไว้ฉีดพ่นในช่วงก่อนแตกใบจริงหรือประมาณ 10 วันหลังปลูกในอัตรา 2 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 20 ลิตร

คุณปูนับเป็นรายแรกที่นำร่องใช้พลาสติกคลุมดินปลูกแคนตาลูป ประโยชน์ของพลาสติกยังทำให้ขนาดน้ำหนักมีหลายรุ่นตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป จนถึง 2.5 กิโลกรัม ผลผลิตที่เก็บได้ทั้งหมดประมาณ 2 ตัน นับเป็นแคนตาลูปที่ได้คุณภาพมาก อย่างไรก็ตาม พลาสติกคลุมไม่เพียงใช้กับแคนตาลูปที่ปลูกได้ปีละครั้ง แต่ยังใช้ได้กับพืชอื่นๆ ที่ปลูกสลับหมุนเวียนจึงมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน

คุณปูปลูกและจำหน่ายแคนตาลูปขายทั้งแบบส่งและปลีก โดยนำไปขายตามหน่วยงานราชการ และตลาดท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ยังมีออเดอร์ล่วงหน้าจากขาประจำอีก เธอชี้ว่าปลูกแคนตาลูปมีรายได้ดีกว่าทำนา เพราะราคาดี ตลาดยังต้องการ อีกทั้งปลูกไม่ยาก ใช้เวลาปลูกสั้น เก็บขายได้

จากการประเมินของศูนย์ภัยพิบัติและแก้ปัญหาด้านการเกษตร ระบุว่า ปี 2563 สถานการณ์ภัยแล้งจะทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากฤดูฝนปีที่ผ่านมา มีปริมาณน้ำฝนตกเฉลี่ยเพียง ร้อยละ 12 ปริมาณน้ำใช้ในอ่างเก็บน้ำมีเพียง ร้อยละ 22 ของความจุรวมทั้งหมด ทำให้พื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนน้ำ เฉพาะพื้นที่ปลูกไม้ผลนอกเขตชลประทาน เสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่ 30 จังหวัด คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 370,000 ไร่

พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม เป็น 1 ใน 21 อำเภอ ของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งอย่างหนัก ตัวเลขการประเมินสถานการณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีเกษตรกรที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบเกือบ 40,000 ราย ในจังหวัดเชียงใหม่ พื้นที่การเกษตรอีกกว่า 200,000 ไร่

คุณมนตรี ภาสกรวงค์ อดีตพ่อหลวง ชาวตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ผู้นำชุมชนสู้ภัยแล้งต้นแบบในโครงการ “เอสซีจีร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่กับการรับจ้างในสังคมเมือง ไม่เคยหยิบจับการเกษตรมาก่อน แม้ว่าพื้นฐานครอบครัวจะทำการเกษตรมาโดยตลอดก็ตาม เมื่อแต่งงาน ก็ต้องการความมั่นคงให้ครอบครัว คุณมนตรี จึงลาจากสังคมรับจ้างในเมืองกลับสู่ภูมิลำเนา

และเริ่มต้นการทำงานในหน้าที่ “พ่อหลวง” หรือ “ผู้ใหญ่บ้าน” จากนั้นก็ยุติบทบาทภายในระยะเวลา 9 ปี เพื่อเปลี่ยนถ่ายให้ผู้มีความเหมาะสมเข้ามาดำเนินการต่อ และมุ่งสู่การทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน ตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ได้ไปเรียนรู้จากมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. โดยมีเครือข่ายแม่ละอุป และมูลนิธิรักษ์ไทย ช่วยเป็นพี่เลี้ยง และพยายามผลักดันการทำการเกษตรอย่างยั่งยืนในชุมชน แต่กลับไม่ได้รับการตอบสนอง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว

จุดนั้นเอง ทำให้ คุณมนตรี บอกตัวเองว่า ถึงเวลาแล้วที่ตนเองต้องทำการเกษตรเต็มตัว และต้องเป็นเกษตรกรรมที่มีความมั่นคง ไม่ใช่เพียงเพื่อเลี้ยงตัว แต่ต้องเลี้ยงครอบครัว คืนประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยเป็นผู้ริเริ่มรายแรก แม้จะเริ่มต้นด้วยการไม่ได้รับการยอมรับก็ตาม

พื้นที่ 27 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรแบ่งปันมาจากพ่อแม่ ซึ่งเดิมไม่ได้รับการเหลียวแล เพราะอดีตคุณมนตรีให้ความสำคัญกับสังคมเมือง และการทำงานกับผู้คนในตำแหน่ง “พ่อหลวง” มาโดยตลอด ทำให้ถูกทิ้งไว้เป็นพื้นที่รกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดินบริเวณดังกล่าวเป็นดินไม่สมบูรณ์ ขาดแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืช และไม่กักเก็บน้ำ หากต้องทำการเกษตร “น้ำ” เป็นปัจจัยสำคัญหลัก ดังนั้น จะทำการเกษตรได้อย่างไร เมื่อสภาพที่คุณมนตรีเห็นเป็นสภาพที่ดินทำกินแบบ “เขาหัวโล้น”

นั่นคือ วันแรกที่คุณมนตรีเอ่ยความรู้สึกให้ฟัง แต่วันนี้ ภาพที่เห็นในพื้นที่ 27 ไร่ ของคุณมนตรี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นแล้ว จากมุมสูง พอให้เห็นภาพได้ว่า สภาพเขาหัวโล้นยังหลงเหลืออยู่บางส่วน เนินเขาส่วนหนึ่งถูกปรับสภาพดินไว้รอพืชลงปลูก สีน้ำตาลจากซากต้นไม้ที่แห้งแล้งเพราะแดดเผาบริเวณพื้นที่ลุ่ม เปลี่ยนเป็นสีเขียวชะอุ่ม สะท้อนความชุ่มชื้นได้อย่างสดชื่น และมีบ่อน้ำที่มีน้ำกักเก็บไว้อย่างสมบูรณ์ถึง 2 บ่อ

“ที่เห็นนี่ ผมทำไป 3 ปีกว่าเท่านั้น ต้นไม้ผมยังลงไม่หมดเลยครับ ค่อยๆ ขยายพื้นที่ไปทีละส่วน ทำเท่าที่มีเงินลงทุน เพราะผมเริ่มจากไม่มีเงินทุน ก็ต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามที่คนอื่นทำ เพื่อให้ได้ต้นทุนนำมาต่อยอดลงทุนอย่างอื่น”

ด้วยสภาพปัญหาภัยแล้งที่กำลังคุกคามอย่างต่อเนื่อง ปัญหาแหล่งน้ำสำคัญมากสำหรับการทำการเกษตร ปัญหาเงินทุนที่เริ่มต้นจากศูนย์ ปัญหาสภาพดินที่เป็นเรื่องยากต่อการแก้ไข ทำให้ชาวบ้านพื้นที่ใกล้เคียง เลือกปลูกเฉพาะพืชไร่ที่ให้ผลผลิตพอจะเก็บเกี่ยวจำหน่ายเป็นรายได้ หากจะปลูกพืชชนิดอื่น โอกาสขาดทุนจะสูงกว่า

การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นสิ่งที่คุณมนตรียึดถือมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้จากการไปฝึกอบรมโดยหน่วยงานที่มีความชำนาญ หรือเข้าศึกษายังพื้นที่ต้นแบบ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นต้น ทำให้คุณมนตรีเรียนรู้จนถ่องแท้แล้วว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทำการเกษตร เป็นสิ่งที่ต้องมีและขาดไม่ได้ หากต้องการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

เมื่อแหล่งน้ำจำเป็นมากในการทำการเกษตร การกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งจึงจำเป็นอย่างยิ่ง

คุณมนตรี จึงเริ่มต้นด้วยการขุดบ่อ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และพร้อมรับภัยแล้งที่กำลังคืบคลานมา แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดินไม่กักเก็บน้ำ การนำประสบการณ์เมื่อครั้งเป็นพ่อหลวงและเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่การเกษตรมาใช้จึงจำเป็น

บ่อเล็กๆ ถูกขุดขยายพื้นที่ เป็นขนาด 15×25 เมตร ลึก 3 เมตร จำนวน 2 บ่อใหญ่ คุณมนตรี นำปูนซีเมนต์เทก้นบ่อ เกลี่ยให้ทั่วบ่อ ผลที่ได้คือ ปริมาณน้ำในบ่อเพิ่มมากขึ้น และด้วยพื้นที่ที่เคยเป็นร่องภูเขาไฟมาก่อน ทำให้สภาพน้ำที่ได้เป็นน้ำปูน ไม่เหมาะสำหรับทำการเกษตร แต่คุณมนตรีก็ใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้มาปรับสภาพน้ำ โดยการนำอินทรียวัตถุ ปุ๋ยยูเรีย เทลงบ่อ เพื่อให้น้ำปรับสภาพ ใช้ประสบการณ์วัดค่าน้ำ เมื่อเห็นว่าเหมาะสมจึงซื้อลูกปลากินพืชหลายชนิดมาปล่อย เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลายี่สก ปลาไน มาปล่อยไว้ จำนวน 30,000 ตัว ต่อบ่อ ระยะแรกปลาที่ปล่อยเลี้ยงไว้ตายไปเกินกว่าครึ่ง เพราะสภาพน้ำยังไม่ดีพอ อีกทั้งมีงู นก นาก ที่คอยจับปลากิน แต่คุณมนตรี บอกว่า เป็นเรื่องดี เพราะทำให้เรารู้ว่า ปลาชนิดไหน เหมาะสำหรับแหล่งน้ำที่เรามีอยู่

“ผมสังเกต ปลาลอยขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำจำนวนมาก หมายถึง ออกซิเจนในน้ำน้อย ถ้าแบบนั้นไม่นานคงทยอยตาย จึงใช้ท่อ ขนาด 4 นิ้ว ทำระบบน้ำหมุนเวียนเติมลงในบ่อ เมื่อน้ำกระเพื่อมก็เท่ากับเป็นการเติมออกซิเจนเข้าบ่อ เมื่อปลามีออกซิเจนหายใจ ปลาก็ไม่ตาย”

แนวคิดเรื่องการวางระบบน้ำแบบหยด ถูกนำมาใช้เพิ่มเติม คุณมนตรี บอกว่า เมื่อดินที่นี่ขาดแร่ธาตุ จึงจำเป็นต้องปรับสภาพดินก่อนลงปลูกพืช ดังนั้น จึงเตรียมแปลงโดยการนำมูลสัตว์เท่าที่หาได้ในพื้นที่มาเติมลงดิน เพิ่มสารอินทรีย์ให้ดิน ก่อนจะลงปลูกพืชที่ต้องการ ส่วนระบบน้ำที่ใช้ในระยะแรก เริ่มจากระบบน้ำหยด เพื่อให้น้ำซึมไปตามร่องดินที่เก็บน้ำไม่อยู่ผ่านไปสู่พืช และให้มีน้ำหล่อเลี้ยงพืชได้ตลอดเวลา และมองระยะไกลถึงการติดตั้งสปริงเกลอร์ ให้พืชได้รับน้ำอย่างทั่วถึง ไม่เช่นนั้นภัยแล้งที่กำลังคุกคามจะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกไว้ไม่รอด จึงถือเป็นการเตรียมรับมือภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นภาพชัด

จากนั้น คุณมนตรี ได้เริ่มติดตั้งแทงก์เก็บน้ำไว้ที่สูง สมัครจีคลับ สำหรับเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และเป็นระบบการจัดการน้ำในพื้นที่ โดยใช้แรงดันน้ำดันให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เมื่อเปิดให้ระบบน้ำหยด แต่การดึงน้ำไปเก็บยังแทงก์ทำได้เพียงการใช้เครื่องสูบน้ำ ทำให้ต้นทุนการทำการเกษตรสูง เนื่องจากเครื่องสูบน้ำต้องใช้น้ำมันใช้การเดินเครื่อง

“คงเป็นความโชคดีของผม เมื่อสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ทราบว่า ผมกำลังพยายามปรับพื้นที่แห้งแล้งให้มีความชุ่มชื้น แต่ประสบปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ จึงนำโซล่าร์เซลล์มาติดตั้งให้ ซึ่งช่วยผมได้มาก ทำให้ประหยัดต้นทุนการใช้น้ำ ผมไม่ต้องหมดเงินไปกับน้ำมันของเครื่องสูบน้ำ แต่โซล่าร์เซลล์เป็นต้นกำเนิดของพลังงานและนวัตกรรมที่ช่วยให้ระบบน้ำที่ผมออกแบบไว้ดำเนินไปได้ด้วยดี”

สภาพพื้นที่ถูกปรับให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ขยับไปทีละส่วน จนเริ่มเพาะปลูกได้ โดยลำดับการปลูกพืชในใจของคุณมนตรี คือ การปลูกผักใบ เพราะแร่ธาตุในดินบริเวณที่ดินทำกิน เป็นแร่ธาตุที่ให้การเจริญเติบโตของลำต้นและใบดี นอกจากนี้ ยังตั้งใจปลูกไม้ผลอีกหลายชนิดตามมา และเลี้ยงสัตว์ ตามสัดส่วนของพื้นที่

แต่ด้วยปัจจัยต้นทุนที่มีน้อย ทำให้คุณมนตรี ไม่สามารถทำไปพร้อมกันทั้งหมด 27 ไร่ ได้ แต่ละพื้นที่จึงลงปลูกพืชไม่พร้อมกัน ปัจจุบัน มีพืชผักสวนครัวชนิดใบ ปลูกหมุนเวียนไป เช่น ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง ถั่วฝักยาว เป็นต้น ผักต่างๆ เหล่านี้ใช้ระยะเวลาปลูกสั้น เมื่อเก็บเกี่ยวนำไปจำหน่ายทำให้มีรายได้ระยะสั้นเข้ามาตามลำดับที่คุณมนตรีวางไว้

ระยะสั้น เป็นการปลูกผักสวนครัวชนิดใบ เก็บจำหน่ายได้เงินเป็นรายเดือน เมื่อหมุนเวียนผัก จะทำให้มีรายได้ต่อเนื่องตลอด ระยะกลาง เป็นการปลูกไม้ผล เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะละกอ เสาวรส มะพร้าว เป็นต้น ซึ่งไม้ผลจะมีรอบการผลิตปีต่อปี รายได้รายปีจึงเกิดจากไม้ผลส่วนใหญ่

ระยะยาว เป็นการปลูกไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก ไม้มะค่า ไม้มะฮอกกานี หรือไม้ยืนต้นชนิดอื่นที่ใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโต

“ในขณะที่ชุมชนโดยรอบ เลือกทำการเกษตรโดยปลูกพืชไร่ เหตุผลเพราะสภาพดินไม่เหมาะแก่การปลูกพืชชนิดอื่น แต่สำหรับคุณมนตรีแล้ว พืชไร่ที่เกษตรกรทั่วไปปลูกเป็นเพียงพืชที่ช่วยสร้างเงินต้นทุน เพื่อนำมาต่อยอดในการปลูกพืชชนิดอื่น”