สูตรของคุณชาตรี เป็นการหมักจำนวนถึง 200 ลิตร

ใช้ถังสีฟ้า ขนาด 200 ลิตร โดยมีวัสดุหมักดังนี้ ปลา หรือไส้ปลา หรือหอยเชอรี่ (สับหรือบด) จำนวน 30 กิโลกรัม ไข่ไก่หรือไข่เป็ด 50 ฟอง นมสดให้ซื้อตามห้างที่หมดอายุแล้วจะได้ของราคาถูก หรือเอานมโรงเรียนเด็กมาก็ได้ แล้วหาอย่างอื่นให้เด็กกินแทน จำนวน 20 ลิตร กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม กรณีมีกลิ่นเพิ่มกากน้ำตาลได้ และผลไม้ที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น ฝรั่ง มะละกอ กล้วย หน่อกล้วย ไส้กล้วย ส่วนผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น สับปะรด มะม่วง มะยม ใช้ไม่ได้ จำนวน 50 กิโลกรัม พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดินจำนวน 2 ซอง

หั่นวัสดุทั้งหมดเอาแค่หยาบๆ ก็พอ ใส่ลงในถังหมักปากกว้าง แต่ควรมีฝาปิด ส่วนไข่ต่อยให้แตกใส่ลงไปทั้งเปลือก ใส่น้ำประมาณ 30 ลิตร หรือพอท่วมวัสดุ สำหรับของคุณชาตรีทำไว้ใช้ในสวน ใช้น้ำหมักจากต้นกล้วยมาแทนน้ำเปล่า จะทำให้มีธาตุอาหารเพิ่มขึ้น แล้วคนให้เข้ากัน 2 หรือ 3 วัน ค่อยมาคนกลับวัสดุในถัง ส่วนฝาจะปิดไว้อย่าให้มิด เพื่อเป็นการระบายแก๊ส ถังหมักน้ำชีวภาพควรเก็บไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแดด ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือสังเกตว่าฟองอากาศที่เคยขึ้นมาตอนคนจะหายไป ก็กรองแล้วนำมาใช้ได้ ส่วนเศษวัสดุที่เป็นส่วนผสมยังคงย่อยไม่หมด แต่จะค่อยๆ ย่อยไปได้เรื่อยๆ น้ำหมักชีวภาพจะจำหน่ายลิตรละ 50 บาท

การใช้น้ำหมักชีวภาพของสวนยางคุณชาตรี จะใช้เป็น 2 แบบ อันแรกจะใช้รดที่โคนต้น จะใช้อัตราส่วนครึ่งลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร ด้วยเครื่องพ่นสะพายหลัง อันที่สอง ถ้าฉีดพ่นทางใบเป็นฮอร์โมนพืชก็จะใช้อัตราส่วนที่เจือจางกว่าลงครึ่งหนึ่ง ในส่วนนี้สามารถใช้ปรับสภาพในบ่อปลา ผสมน้ำให้สัตว์เลี้ยงกินก็ได้ ได้ลองให้น้ำหมักชีวภาพแก่เกษตรกรที่ปลูกเมล่อน ปรากฏว่าใช้ได้ผลจึงมาซื้อไปใช้ในการปลูกคราวละหลายสิบลิตร นอกจากนี้สามารถนำไปคลุกกับขุยมะพร้าวที่ใช้ในการตอนพืชจะทำให้รากพืชเจริญเติบโตได้เร็วและแข็งแรงมาก และน้ำหมักนี้คุณชาตรีก็ใช้ในสวนยางอย่างสม่ำเสมอ

ปุ๋ยหมักเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้หมัก คือมูลวัวหรือมูลสัตว์อื่นๆ ประมาณ 500 กิโลกรัม เศษพืชผักหรือผลไม้ต่างๆ ในสวน ในกรณีนี้ผลไม้เปรี้ยวใช้ได้ จำนวน 500 กิโลกรัม เช่นกัน น้ำหมักชีวภาพที่ทำไว้แล้ว 30 ลิตร กระดูกวัวเผา 200 กิโลกรัม ถ้าไม่มีใช้แร่ฟอสเฟสแทนก็ได้ พด.1 จำนวน 1-2 ซอง การหมักปุ๋ยจะต้องอยู่ในโรงเรือน แบ่งวัสดุหลักคือ มูลสัตว์และพืชผักเป็นอย่างละ 3 ส่วน

ครั้งแรกโรยมูลสัตว์ลงไปก่อนแล้วทับด้วยเศษพืชผัก ใส่กระดูกวัวเผาหรือแร่ฟอสเฟสลงไป รดด้วยน้ำหมักชีวภาพแบบเข้มข้นไม่ต้องผสมน้ำ 10 ลิตร ผสม พด.1 ลงไปด้วย ทำแบบนี้อีก 4 ชั้น เราก็จะมีกองปุ๋ยหมักที่มีพืชผักอยู่บนสุด แต่อย่าลืมใส่ท่อพีวีซี หรือใช้ไม้ไผ่มาทะลวงเป็นท่อก็ได้ สัก 9 อัน 10 อัน ประมาณ 15 วัน ควรกลับกองปุ๋ยหมักเพื่อให้จุลินทรีย์ทำงานอย่างทั่วถึง ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือหมดกลิ่น หรือกองปุ๋ยหมักมีอุณหภูมิปกติก็ใช้ได้ แต่ก่อนที่จะนำมาใช้จะนำมาบดให้ละเอียดก่อน ปัจจุบัน คุณชาตรีได้ใช้ปุ๋ยภายในสวนเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องปุ๋ย จะมีเหลือขายอยู่จำนวนไม่มากนัก

สรุปความ สวนยางของคุณชาตรีใช้วิธีการเสริมราก จะทำให้ต้นยางพาราเติบโตได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งจะรวมถึงการใช้ปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพที่ทำใช้เองเสริมเข้าไปด้วย จึงทำให้ต้นยางพาราเจริญเติบโตได้เร็วยิ่งขึ้น เป็นวิธีที่ไม่ยากสำหรับเกษตรกรอาชีพโดยทั่วไป เนื่องจากได้มีโอกาสไปดูงานในที่ต่างๆ จึงนำความคิดนั้นมาต่อยอดหรือดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง

เกษตรกรผู้มีความสำเร็จ คุณประคอง คงมูล และ คุณคำพันธ์ คงมูล บ้านเลขที่ 84 หมู่ที่ 7 บ้านโพนทอง ตำบลโพนทอง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000 โทร. (085) 448-2360 พื้นที่ 1 ไร่ แปลงต้นแบบ โครงการ 1 ไร่ 1 แสน ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดกาฬสินธุ์ (โครงการกาฬสินธุ์คนดี สุขภาพดี รายได้ดี ปี 2557) ประจำตำบลโพนทอง อำเภอเมืองกาฬสินธุ์

พื้นที่ 1 ไร่ แบ่งออกเป็นสัดส่วน โรงเรือนสุกร จำนวน 19 ตัว ได้โรงงานปุ๋ยชั้นดี น้ำล้างคอกหมู ปล่อยลงแปลงนา ข้าวสวยงามมาก ปล่อยลงบ่อเก็บน้ำทิ้ง ตักมาผสมน้ำ 1:1 รดพืชผัก ผลไม้ เขียวขึ้นภายใน 1-2 วัน เป็นรายได้รายปี ไก่พื้นเมือง 100 ตัว จับขายรายสัปดาห์ ไก่ไข่ 10 ตัว ได้ไข่รับประทานในครัวเรือน ทุกวัน เหลือขาย บ่อปลา 1 บ่อ มะนาว 7 ต้น กล้วย 10 กอ มะพร้าว 6 ต้น ตะไคร้ 5 กอ ข่า 10 กอ มะกรูด 2 ต้น พริก มะเขือ สระแหน่ ยี่หร่า พืชสวนครัวครบ เป็นพืชผักเกษตรอินทรีย์ล้วน เราอยู่อย่าง “ได้แสนสุข” คิดเป็นมูลค่าไม่ได้ แต่คุณค่าสูงยิ่ง ตลอดทั้งปี มีเงินแสน

คุณประคอง กล่าวว่า ตนเองปฏิบัติจากการศึกษา ค้นคว้า มี คุณพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ และมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะนำเรื่องการใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า หรือราเขียวป้องกันเชื้อรา เชื้อสาเหตุของโรคโคนเน่า รากเน่า ของพืชผัก ตนเองนำมาหมักผสมกับน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย ผสมกับมูลสุกร ใช้ฉีดพ่นพืชผัก ปล่อยน้ำตามร่องพืชผักสวนครัว เจริญเติบโตงอกงาม ให้ผลผลิตที่มีความเป็นอินทรีย์อย่างดียิ่ง

คุณประคอง กล่าวว่า แล้งนี้ ตนเองนำมะเขือเทศเล็ก หรือมะเขือเครือ ที่ใส่กับส้มตำอร่อยมากที่สุด ลูกเล็กขนาดลูกแก้วตาแมวหรือเล็กกว่า ตอนแรกไปซื้อมาจากตลาดร้านค้าเมล็ดพันธุ์ ซองละ 10 บาท จากนั้นตนเองเก็บคัดเลือกพันธุ์เอง โดยเน้นลูกเล็ก จะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ลูกโตไม่เอา เพราะจะกลายพันธุ์แล้ว จากแมลงบินมาผสมเกสร เพาะกล้ามะเขือเทศ ต้นเดือนพฤศจิกายน หากมีฝนตกต้องทำหลังคาให้แปลงกล้าด้วย เมื่อต้นกล้า 20-25 วัน แยกลงแปลงปลูกที่เตรียมดินไว้ ขนาด 1 เมตร ความยาวตามร่องแปลง

ผสมปุ๋ยคอกบางๆ อย่าใส่มากจะเค็ม ต้นกล้าเน่าตาย เวลา 10-15 วัน ต้นกล้าฟื้นตัว ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากหน่อกล้วย แบบฉีดฝอยบางๆ 7-10 วัน ต่อครั้ง ปล่อยน้ำผสมน้ำสกัดชีวภาพตามร่องปลูก มะเขือเทศเจริญเติบโตงดงามมาก อายุ 65 วัน เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต ตลาดมีความต้องการสูงมาก ขายส่งราคา 25 บาท ต่อกิโลกรัม ขายปลีก 30 บาท ต่อกิโลกรัม ระยะเวลาการเก็บผลผลิต 45 วัน วันละ 50-100 กิโลกรัม เป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยที่สุด ราคาแล้งนี้ 1 ไร่ ได้เงินกว่า 50,000 บาท เป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส นำพืชที่มีในท้องถิ่น ขายให้คนในท้องถิ่นรับประทานอย่างปลอดภัย

ทางด้าน คุณพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า การผลิตพืชผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ หรือการเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) ก้าวเข้าสู่การเกษตรอินทรีย์ ให้การสนับสนุนวิชาการด้านการใช้สารชีวภัณฑ์ เรื่องวิทยาศาสตร์ใกล้ตัวเกษตรกร เช่น การใช้เชื้อรากำจัดเชื้อรา เชื้อสาเหตุของโรครากเน่า โรคโคนเน่า เชื้อบิวเวอเรีย กำจัดแมลง การป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน พืชสมุนไพรป้องกันกำจัดและขับไล่แมลง สู่พืชอาหารปลอดภัย เกษตรกรสามารถขอรับข้อมูลจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรได้จาก สำนักงานเกษตรอำเภอหรือสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้านท่านได้ครับ

พริก กับคนไทยเป็นของคู่กันมาช้านาน ในสำรับกับข้าวของคนไทยจึงไม่เคยขาดอาหารจานเผ็ด ไม่ว่าจะเป็น ต้ม ผัด แกง แม้แต่ของทอดยังต้องมีน้ำจิ้มรสเผ็ดเป็นของคู่กัน แต่ในวันนี้วันที่คนกินหวาดหวั่นพรั่นพรึงกับสารเคมีที่ปะปนอยู่กับผลผลิตเกษตร

ที่กาญจนบุรี สวนพริกที่นี่พยายามจะใช้สารอินทรีย์ชีวภาพให้มากขึ้น ลดสารเคมีให้น้อยลง อยู่ในระดับที่สมดุลเพื่อไม่ให้ตกค้างมาถึงคนกินอย่างเราท่าน เกษตรกรผู้ปลูกพริกที่นี่มีดีอย่างไร

คุณสมยศ นิลเขียว เกษตรกรผู้ปลูกพริกที่บ้านโป่งกะอิฐ ตำบลหนองขาว อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี คุณสมยศ เล่าว่า มีพื้นที่ปลูกพริกอยู่ 3 ไร่ ในแต่ละปีจะปลูกพืชหมุนเวียนคือ ปลูกผักชีสลับกับพริก โดยจะหว่านผักชีก่อนในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากหว่านแล้ว 45 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผักชีได้ จากนั้นจึงตัดหญ้าโดยใช้เครื่องตัดหญ้าแบบสะพาย ตัดหญ้าออกให้หมดก่อนที่จะปลูกพริกต่อไป สำหรับพริกที่คุณสมยศปลูกจะใช้พริกพันธุ์ดวงมณี ซึ่งเป็นพริกพันธุ์เบา ข้อดีของพริกพันธุ์นี้คือ ออกผลผลิตได้ก่อนพันธุ์อื่นๆ มีต้นเตี้ย แต่มีปัญหาอยู่บ้างคือ พริกพันธุ์นี้ไม่ค่อยทนต่อโรค คุณสมยศ บอกว่า การปลูกพริกของเกษตรกรในเขตนี้จะอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก โดยจะเริ่มต้นปลูกพริกช่วงเดือนเมษายน เกษตรกรจะใช้ต้นกล้าพริกที่เพาะไว้ ซึ่งมีอายุประมาณ 1 เดือน ปลูกเป็นแถว ระยะห่างประมาณ 30×30 เซนติเมตร หลังจากปลูกแล้วจะให้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่มีสูตร ขี้หมู น้ำหมักหมู (ขี้หมู ผสมน้ำแช่เศษผัก 1 คืน) ฉีดพ่น ในส่วนวัชพืช หญ้าต่างๆ ก็จะใช้วิธีถอนเอา แทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดวัชพืช

คุณสมยศ เล่าต่อไปว่า ผมพยายามเรียนรู้และสนับสนุนให้เกษตรกรในเขตนี้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพให้มากขึ้น โดยตัวของผมเองได้พยายามนำมาใช้ก่อน เพื่อให้คนอื่นๆ เห็นผล ใช้อินทรีย์ชีวภาพผสมกับปุ๋ยเคมีซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

วิธีการดูแลแปลงพริกของคุณสมยศมีดังนี้ ก่อนพริกออกดอกจะให้ปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอก็ได้ ให้ในอัตรา ไร่ละ 5 กิโลกรัม โดยโรยปุ๋ยใต้ทรงพุ่มพริก ส่วนสารเคมีฆ่าหญ้า กำจัดวัชพืชนั้น คุณสมยศจะไม่ใช้ แต่ใช้การถอนเป็นหลัก พริกที่ปลูกคุณสมยศจะเก็บครั้งแรกหลังจากปลูกไปได้ประมาณ 3 เดือน ก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในช่วงเดือนกรกฎาคม และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตไปได้จนถึง 7 เดือน คือสิ้นสุดที่เดือนธันวาคม ผลผลิตก็จะลดลงจนไม่คุ้มค่าจ้างเก็บเกี่ยว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝนด้วย หากปีไหนฝนดีก็อาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานกว่านั้นด้วย

คุณสมยศ บอกว่า ในช่วงเริ่มต้นเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเก็บได้น้อยหน่อย แต่หลังจากนั้นผลผลิตจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การเก็บเกี่ยวจะเลือกเก็บเฉพาะพริกเมล็ดแดง หรือแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า มันปู หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตครั้งแรกแล้วก็จะเก็บเกี่ยวได้อีกทุกสัปดาห์ ปริมาณผลผลิตที่เก็บได้คือ ครั้งละประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อไร่ ในช่วงที่พริกให้ผลผลิตคุณสมยศจะฉีดน้ำหมักหมูทุกสัปดาห์ และจะต้องหมั่นตรวจสอบโรคระบาดในแปลงพริกอย่างสม่ำเสมอ จะต้องคอยตรวจดูว่ามีโรคระบาดในแปลงข้างเคียงหรือไม่ ระบาดในแปลงของเราหรือไม่ หากมีโรคแอนแทรกโนสระบาดให้ใช้เคมีป้องกันกำจัด แต่คุณสมยศบอกว่าเรื่องโรคระบาดของพริกในพื้นที่โซนนี้มีไม่มากนัก โรคระบาดไม่หนัก ในส่วนแมลงศัตรูพืชก็ยังมีน้อย มีปัญหาไส้เดือนฝอยระบาดอยู่บ้าง แต่ก็แก้ไขได้โดยต้องทิ้งดินไว้สักระยะก่อนจะปลูกใหม่ ไส้เดือนฝอยก็จะหายไป ส่วนหนอนมีการระบาดบ้างแต่ยังไม่ถึงกับเสียหายมากนัก ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากมีการปลูกพืชหมุนเวียนหลายชนิดในพื้นที่ จึงทำให้ศัตรูพืชต่างๆ ยังไม่รุนแรง สำหรับปริมาณผลผลิตพริกของคุณสมยศ ตั้งแต่เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จนถึงต้นพริกตาย จะได้ผลผลิตประมาณ ไร่ละ 1 ตัน

คุณสุกัญญา อำนวย เกษตรกรผู้ปลูกพริกอีกท่านหนึ่งที่หันมาสนใจการผลิตพริกแบบอินทรีย์ชีวภาพ ควบคู่กับการใช้เคมีในแบบที่เหมาะสม

คุณสุกัญญา เล่าว่า หันมาใช้ปุ๋ยแบบอินทรีย์ชีวภาพ ควบคู่กับการใช้เคมีมาหลายปีแล้ว พบว่าปริมาณผลผลิตก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ และยังลดต้นทุนได้อย่างดี ก็เพราะเราปลูกพริกแบบอาศัยน้ำฝน หากปีใดฝนดี ผลผลิตเราก็ดีไปด้วย หากช่วงที่ฝนหมดไปยังมีความชื้นสูง พริกของเราก็ยังได้ความชื้นจากน้ำค้างมาช่วย แต่หากปีไหนฝนน้อย ความชื้นต่ำ ผลผลิตพริกก็มีน้อย ซึ่งเป็นความไม่แน่นอนของลมฟ้าอากาศที่เรากำหนดไม่ได้ แต่เรายังสามารถกำหนดต้นทุนได้จากการปรับเปลี่ยนไปใช้สารอินทรีย์ชีวภาพเพิ่มขึ้น ก็เป็นการลดต้นทุนลงได้เป็นอย่างดี

เพิ่มการใช้สารอินทรีย์ชีวภาพลดต้นทุนลงได้ 60%

คุณสมยศ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับผลผลิตพริกในเขตนี้จะมีคนซื้อคือ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะมาพร้อมคนงานเก็บผลผลิต ผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งไปที่ตลาดไทและส่งโรงงาน ราคาผลผลิตจากไร่แต่ละปีจะต่างกันไป ตั้งแต่ราคาค่อนข้างต่ำ ที่กิโลกรัมละ 25 บาท ไปจนถึงราคาสูงที่สุดที่เคยขายได้ อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท คุณสมยศนั้นปลูกพริกมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ขายผลผลิตรวมได้ไร่ละประมาณ 50,000 บาท ต่อปี ตัวเลขนี้คุณสมยศยืนยันว่ามาจากการที่พยายามใช้สารอินทรีย์ชีวภาพให้มากขึ้น ผสมผสานกับการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี เท่าที่จำเป็น

คุณสมยศ บอกว่า จากการทดลองทำอย่างนี้มาหลายปี พบว่าผลผลิตพริกที่ได้มีปริมาณไม่แตกต่างจากการผลิตแบบใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี อย่างเดียว แต่ต้นทุนการผลิตแบบใช้สารอินทรีย์ชีวภาพต่ำกว่ามาก นอกจากนั้น เมล็ดพันธุ์ที่ใช้คุณสมยศยังเลือกใช้พริกสายพันธุ์ธรรมชาติ ไม่ใช้พันธุ์ลูกผสม จึงสามารถเก็บเมล็ดตากแห้งไว้ทำพันธุ์ได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้เป็นอย่างดี

คุณอาธัญฤทธิ์ สีท้าว เกษตรกรรุ่นใหม่เจ้าของไร่ธัญฤทธิ์ อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เขาสนใจปลูกพริกไทยพันธุ์ซีลอน (ยอดขาว) ซึ่งพันธุ์ซีลอนยอดขาว ซึ่งนำมาจากประเทศศรีลังกา พริกไทยพันธุ์นี้มีลักษณะเถาอ่อน สีเขียวอ่อนเกือบขาว โดยเฉพาะที่ยอดอ่อน จึงนิยมเรียกว่าส่วนยอด ช่อผลจะยาว การเจริญเติบโตเร็วกว่าพันธุ์ซาราวัก ผลสดจะมีลักษณะโตกว่าพันธุ์ซาราวัก นิยมปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นพริกไทยสด เพื่อส่งโรงงานทำพริกไทยดอง กำลังเป็นที่นิยมปลูก เนื่องจากสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ราบหรืออากาศร้อน เพียงแต่จะต้องมีสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม มีการพรางแสงช่วย

1.การเตรียมดิน ใช้ดินในส่วนแรก หน้าดิน จำนวน 70% ผสมขุยมะพร้าว จำนวน 10% ผสมปุ๋ยคอกเก่า จำนวน 10% ผสมเศษวัสดุการเกษตร เช่น เปลือกถั่วต่างๆ ใบก้ามปู ใบไผ่ จำนวน 10% เคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน โดยเรียงลำดับชั้น โดยแต่ละชั้นจะราดน้ำยาช่วยย่อยสลายพวกปุ๋ยน้ำหมักจุลินทรีย์ลงไปเพื่อให้เกิดการย่อยสลายที่เร็วขึ้น และหมักทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ และค่อยนำมาลงหลุมปลูก หรืออาจใช้แค่ซากพืชและพรวนดินพร้อมใช้น้ำยาช่วยย่อยสลายก็ได้เช่นกัน

2.เพื่อให้แปลงปลูกมีความลาดเอียงและระบายน้ำได้ดี โดยปรับพื้นที่ให้สูงจากด้านใดด้านหนึ่งหรือการยกร่อง เพื่อป้องกันน้ำขังบริเวณโคนต้นพริกไทย เนื่องจากต้นพริกไทยชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ

หากปลูกในดินเหนียวอาจเจอปัญหาน้ำขังและแห้งช้า ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่าย ควรปลูกในดินร่วนปนทราย ซึ่งระบายน้ำได้ดี ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำขัง สำหรับช่วงหน้าร้อนอาจเปลืองน้ำสักหน่อยเพราะดินร้อนระอุเก็บน้ำไม่อยู่ ควรใช้ฟางคลุมรอบต้นพริกไทยและรดน้ำช่วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น

หากปลูกในดินลูกรังหรือดินกรวดแข็ง บริเวณหลุมปลูกพริกไทยควรขุดหลุมกว้างเพิ่มขึ้น ประมาณ 50 เซนติเมตร ลึก 30 เซนติเมตร และนำดินที่หมักไว้ในขั้นตอนแรกผสมลงไป เพราะการที่เราทำให้ระบบรากของพริกไทยนั้นเดินได้ดี จะต้องมีการปรุงดินเพื่อให้ร่วนซุย เพื่อให้มีปุ๋ยรองอยู่ที่พื้นดินและสามารถให้คุณค่าทางอาหารกับพืชได้นาน

3.การวางระบบโครงสร้าง เริ่มลงเสาโดยเสาปูน ที่ทางภาคกลางใช้จะเป็นเสาปูน 2 ชนิด คือ เสาปูนแบบธรรมดาและ เสาปูนแบบแรงอัด ซึ่งมีจุดเด่นที่แตกต่างกันคือ เสาแรงอัดมีความแข็งแรงมากกว่าและมีราคาสูงกว่า เสาหล่อปูนธรรมดาซึ่งเสี่ยงแตกหักง่าย กำหนดระยะห่างการปลูก อยู่ที่ 2×2 ถึง 2.5×2.5 เมตร

แปลงที่ใช้เสาปูนหล่อธรรมดา ควรแยกระหว่างเสาปูนและเสาซาแรน เพราะหากเกิดลมพายุพัดแรง อาจทำให้ตัวซาแรนบังแดดอาจพับ โยกค่อนข้างแรง จึงต้องแยกระหว่างเสาปลูกและเสาซาแรน ทำให้ป้องกันการหักในส่วนของเสาพริกไทยในส่วนนี้

สำหรับเสาแรงอัด สามารถใช้โครงสร้างเหล็กหรือไม้ยึดติดกับด้านบนของเสาได้เลย เพราะค่อนข้างแข็งแรง บริเวณหัวเสาจะมีเหล็กโผล่ขึ้นมา จำนวน 2-4 เส้น ไว้สำหรับพาดยอดไหลของพริกไทย โครงสร้างซาแรนบังแดดอาจใช้เป็นไม้หรือโครงเหล็กก็ได้ แล้วแต่งบประมาณของเกษตรกร การขึงซาแรนบังแดด ควรใช้ซาแรนสีดำ เบอร์ 60-70% กางบังแสงให้ต้นพริกไทยอยู่กึ่งกลางของซาแรน แต่ละผืนมีระยะห่างกันอยู่ที่ 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้มีแสงลอดผ่านบ้าง

4.การวางระบบน้ำ ควรใช้เป็นน้ำหยดหัวเสาโดยใช้สาย สมัครเล่นไฮโล พีอี ขนาด 1 นิ้ว เป็นสายเมนหลัก และใช้ท่อไมโคร ต่อเข้าไปกับท่อ พีอี ขนาด 1 นิ้ว โยงขึ้นไปบนหัวเสาพริกไทยบริเวณส่วนกลางเพื่อให้น้ำนั้นไหลได้ทั้ง 4 ทิศทางของเสา ระบบน้ำหยดไหลหัวเสาช่วยประหยัดน้ำได้ดีมาก ใช้วิธีการต่อแบบประสานกัน ให้หัวทุกหัวเชื่อมต่อถึงกันหมด เพื่อให้น้ำไหลพร้อมกันทุกหัว ไม่เปลืองน้ำและได้รับน้ำสม่ำเสมอกัน

5.การเลือกกิ่งพันธุ์ปลูก ควรใช้กิ่งพันธุ์ดี แข็งแรง จากต้นพันธุ์อายุ 10 -24 เดือนซึ่งให้ผลผลิตมามากถึง 2 รุ่นแล้ว หากใช้ต้นพันธุ์อายุมากกว่านี้ กิ่งพันธุ์จะไม่แข็งแรง ปัญหาหลักที่เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกพริกไทยแล้วตาย สาเหตุหลักมักเกิดจากต้นพันธุ์เป็นส่วนใหญ่ การขยายพันธุ์พริกไทยที่นิยมใช้ ได้แก่ กิ่งตอน ปักชำ และตอนแล้วนำมาปักชำ สำหรับการปลูกโดยใช้กิ่งพันธุ์แบบตุ้มตอนและถุงชำ ปลูกลึกลงไปแค่ครึ่งถึง 1 ฝ่ามือเท่านั้น เนื่องจากช่วงแรกต้นพริกไทยต้องการขยายราก หากปลูกลึกเกินไปอาจเกิดปัญหารากเดินได้น้อย

แบบตอน หรือตุ้มตอน สามารถแกะถุงลงปลูกได้เลย โดยใช้ตุ้มตอนที่ออกรากค่อนข้างมากแล้วเท่านั้น โดยจะใช้เวลาที่จะแตกยอดใหม่หลังจาก 2 สัปดาห์ขึ้นไป

แบบปักชำ ซึ่งนำกิ่งที่ตัดมาจากต้นมาปักชำลงในถุงชำ หรือปลูกลงไปในดินเลย และรอให้รากเดิน ทั้งนี้ การปักชำ โดยตัดออกมาจากต้นเลยเป็นวิธีที่ง่าย รวดเร็ว แต่อัตราการรอดและสมบูรณ์ของต้นมีน้อย ตัวกิ่งพันธุ์ต้องแก่และแข็งแรงถึงจะดี ตัวกิ่งชำควรชุบน้ำยากันเชื้อราก่อนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรา บางพื้นที่ ใช้วิธีนำกิ่งชำไปควบแน่น เพื่อเร่งสร้างยอดและราก ซึ่งเป็นวิธีการที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่จะทำเพื่อเร่งการเจริญเติบโตและจำหน่ายพันธุ์

พบว่า การใช้กิ่งพันธุ์แบบตอนแล้วนำไปชำ มักให้ผลดีกว่า และเปอร์เซ็นต์ต้นที่สมบูรณ์ค่อนข้างสูง เพราะนำตุ้มตอนที่ออกรากจนดีแล้วมาชำลงในถุง เพื่อให้เกิดการขยายรากเพิ่มในถุงอีก 1 ชั้น จะมีระบบราก 2 ชั้น และพอปลูกไปแล้ว มีโอกาสเติบโตเร็วมาก แต่ราคาค่อนข้างจะสูง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับงบประมาณของผู้ปลูกและความสะดวกในการบริหารจัดการ

6.ก่อนปลูกแนะนำให้รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยฟอสเฟต เพื่อเป็นธาตุอาหารให้พืชใช้ในการเติบโตระยะยาว เทดินที่หมักไว้ลงไป หลังจากนั้น ขุดหลุมให้ขนาดพอดีกับถุงชำ หรือตุ้มตอน ลึกลงไปประมาณ 1 ฝ่ามือ และกลบดินให้มิดโคนต้นและรดน้ำตามทันที ระวังอย่าให้ดินปลูกแห้งหรือแฉะน้ำมากเกินไป หลังจากนั้น ต้องรดน้ำเช้า-เย็น 5-10 นาที ตามความเหมาะสม หรือถ้ากรณีมีฝนตกน้ำชุ่มอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องรดก็ได้ และทำเช่นนี้จนกระทั่งครบ 3 เดือน จึงจะเริ่มให้ปุ๋ย สูตร 24-7-7 หลุมละ 1 กำมือ เดือนละ 1 ครั้ง และใส่ปุ๋ยมูลวัว หลุมละ 10 กิโลกรัม 3 เดือนครั้ง ตั้งแต่ 3-10 เดือน

7.การเจริญเติบโต ในช่วงแรก หรือ 1 ปีแรก เน้นการเจริญเติบโตทางลำต้นและทางใบ สามารถใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักได้อย่างต่อเนื่อง หากคุมสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมได้ พริกไทยจะเติบโตได้เร็วมาก