สูตรอาหารเลี้ยงสัตว์ลดต้นทุนมี ดังนี้อาหารปลา นำเศษอาหาร

ที่เหลือมาผสมกับรำคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วปั้นเป็นก้อนขนาดเท่าลูกเปตอง เพราะต้องการให้ก้อนอาหารจมลงไปใต้บ่อเหมือนอาหารกุ้ง แล้วปลาจะกินไปเรื่อยๆ ช่วยประหยัดเวลาการให้อาหาร 3 วัน ให้ 1 ครั้ง หรือทำเป็นแซนด์วิชให้เกิดหนอนแดงไรแดงขึ้นเอง ปลาที่นี่จะเลี้ยงแบบธรรมชาติ เลี้ยงเป็น 2 ระบบ

บ่อดิน
เลี้ยงในบ่อปูนซีเมนต์ ใช้โซล่าร์เซลล์ โดยการให้น้ำหมุนเวียนตลอดเวลา อาหารไก่ ตอนเช้าใช้วิธีการถอนหญ้า และวัชพืชต่างๆ มาให้เป็ดให้ไก่กิน ช่วงบ่ายจะหุงข้าวผสมกับรำและข้าวเปลือกคลุกเคล้าเป็นอาหารอีกมื้อ หรือถ้าวันไหนขยันจะสับต้นกล้วยผสมลงไปด้วย และยังมีน้ำหมักเศษอาหารไว้จนได้ที่ก็จะเกิดหนอน ซึ่งเป็นหนอนที่มีโปรตีนก็จะมาจับให้เป็ดให้ไก่กิน

ไม้ผล ใช้น้ำหมักชีวภาพ ลงทุนซื้อเครื่องที่ใช้ฉีดพ่นสารเคมีมาฉีดพ่นดูแล ทุกๆ 15 วัน จะฉีดน้ำหมักไล่แมลงและบำรุงฉีดไปพร้อมกันเลย สัดส่วนการทำน้ำหมัก 3:1:1:10 อัตราส่วนจะคล้ายกันหมด ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าจะใช้ไล่แมลงหรือบำรุงต้นไม้ และขึ้นอยู่กับสมุนไพรที่จะใช้หมัก เช่น วันนี้อยากไล่แมลง ให้นำยาเส้นและใบสาบเสือทุบรวมกัน 3 กิโลกรัม ผสมกับสารให้ความหวาน 1 ส่วน หัวเชื้อ 1 ส่วน น้ำสะอาด 10 ส่วน ทิ้งไว้ 3 เดือน ใช้ได้ แต่ถ้าเร่งรัดหนอนลงแรงมาก รอ 3 เดือน ไม่ไหว ให้นำข่ามาตำหรือทุบแช่น้ำไว้แล้วต้มทิ้งไว้ 1 วัน แล้วนำมาพ่นไล่หนอนไล่แมลง และสารชีวภาพพวกนี้ให้ทำสูตรใช้สลับกันไป อย่าใช้ซ้ำ ไม่อย่างนั้นแมลงจะชินใช้ไม่ได้ผล

สวนเป็นระบบ รายจ่ายแทบไม่มี มีแต่รายรับ
คุณเมย์ สามารถจัดสรรพื้นที่ทุกตารางนิ้วให้กลายเป็นเงินได้อย่างน่าทึ่ง รายจ่ายภายในสวนจึงแทบไม่มี จะมีแต่เพียงค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต เพียงเท่านั้น เจ้าของบอกว่า ถ้าเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการทำสวน จะมีแค่เพียงค่าข้าวที่นำมาหุงเลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ เดือนละ 3,500 บาท เพราะยังไม่ได้ปลูกข้าวไว้กินเอง แต่ตอนนี้กำลังวางแผนปลูกข้าวเพิ่มแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นแทบไม่มี เพราะปุ๋ยก็เป็นปุ๋ยที่ทำเอง โดยการนำเศษทุเรียนที่เหลือทิ้งจากคนในพื้นที่มาทำปุ๋ยหมักและแปลงเป็นเงิน อย่างปีที่แล้วทำได้เยอะกว่า 200 ตัน ทำเป็นวัสดุปลูกไว้ใช้ในสวน เมื่อเหลือก็ทำขายตักใส่ถุง 5 กิโลกรัม ราคาถุงละ 20 บาท นี่คือ รายได้ส่วนที่หนึ่ง

รายได้ส่วนที่ 2 รายได้จากสวนปาล์มทุก 20 วัน มีรายได้ 15,000-20,000 บาท

รายได้ส่วนที่ 3 เก็บไข่ไก่ ไข่เป็ด ขายให้พนักงานโรงพยาบาลหลังสวนทุก 4 วัน ราคาไข่เป็ด ฟองละ 4 บาท ไข่ไก่ฟองละ 3.50 บาท รายได้ส่วนที่ 4 รายได้จากการขายผลไม้พื้นถิ่น มะเม่า กระท้อน หม่อน ชมพู่น้ำดอกไม้ เก็บส่งไปให้พี่สาวรับซื้อกิโลกรัมละ 50 บาท เพื่อไปแปรรูปทำไอศกรีม

รายได้ส่วนที่ 5 รายได้จากการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะเฟือง ทำเป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดใบหน้าจากมะเฟือง (โทนเนอร์)

รายได้ส่วนที่ 6 รายได้จากการเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านงานเกษตร และ

ส่วนสุดท้าย ไม่ได้เป็นเงินตรา แต่ได้อิ่มท้องและสุขใจ ได้แบ่งให้เพื่อนบ้านกินด้วย ปลาที่บ้านตัวใหญ่ น้ำหนักตัวละ 5 กิโลกรัม ปลาสวาย น้ำหนัก 20 กิโลกรัม ต่อตัว เชื่อในสิ่งที่ทำ แล้วความสำเร็จจะมาเอง
“หลายคนอยากทำเกษตร แต่ยังมีความกังวล คิดว่าตัวเองไม่มีความรู้ แล้วจะทำได้อย่างไร อยากบอกว่าให้เชื่อในสิ่งที่ตัวเองเลือกและทำให้ดีที่สุด ทำอย่างตั้งใจ อย่างตัวเธอเอง เธอก็ไม่มีความรู้มากมายอะไร อาศัยจากการเรียนรู้ อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น และให้ยึดหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้ง 5 ข้อ

ความอดทน
ไม่พูดมาก ไม่อวดรู้
ไม่ทะเลาะกัน
มีความเพียร
อย่าใจร้อน
การทำเกษตรใจร้อนไม่ได้ ถ้าเร่งจะเอาแต่เงินก็พัง ถ้าทุกคนยึดหลักเหล่านี้ได้ เชื่อว่าทุกคนจะประสบผลสำเร็จแน่นอน เพราะตัวเธอเองก็ไม่ได้มีเงินทองมากมาย เริ่มจากครอบครัวติดหนี้ แต่ทุกวันนี้ปลดหนี้ได้หมด และมีเงินซื้อที่เพิ่ม เพราะยึดศาสตร์พระราชาเป็นแบบอย่าง” คุณเมย์ กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับท่านที่สนใจปรึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือต้องการเข้าเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้บ้านน้อย กลางป่าใหญ่ ติดต่อเบอร์โทร. 084-745-2180

แมลงดานาเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ ตลาดมีความต้องการสูง ทั้งยังมีราคาดี ทว่าผู้เลี้ยงต้องทำอยู่บนพื้นฐานความคุ้มค่าด้วย ไม่ควรลงทุนมากเกินไป สำหรับตลาดแมลงดานา ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านปีละหลายแสนตัว ถือเป็นตลาดที่ใหญ่มาก จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าหากจะเลี้ยงเองหรือจับเอาตามธรรมชาติจะไปขายที่ไหน เพราะเชื่อว่ามีเท่าไรก็ไม่พอ รวมถึงตลาดต่างประเทศ ตามร้านอาหารไทยในที่ต่างๆ ล้วนมีความต้องการแมลงดานากันทั้งนั้น

คุณวิรัตน์ โนนกลาง หรือ พี่อ็อฟ บ้านเลขที่ 44/2 หมู่ที่ 8 ตำบลชีวาน อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ใช้เวลาว่างหลังทำนา สร้างอาชีพเสริมจากสิ่งใกล้ตัวด้วยการจับแมลงดานาตามทุ่งนา มาแปรรูปสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวและสร้างเงินหมุนเวียนให้คนในชุมชนได้เป็นอย่างดี

พี่อ็อฟ เล่าถึงจุดเริ่มต้นการแปรรูปแมลงดานาขายว่า เกิดจากที่ตนเองมีอาชีพหลักคือการทำนา ประกอบกับพื้นที่บริเวณแถบนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร ทำนาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวทำให้บริเวณพื้นที่ของตนเองจะมีแมลงดานาจากธรรมชาติค่อนข้างเยอะ จนเกิดเป็นไอเดียขึ้นมาได้ว่าจะจับแมลงดาที่หาได้จากนาตนเองมาแปรรูปสร้างรายได้ รวมถึงการผันตัวเองมาเป็นพ่อค้ารับซื้อแมลงดานาจากชาวบ้านเพื่อนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นความภูมิใจที่นอกจากจะสามารถสร้างรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี ยังรวมถึงการช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนให้คนในชุมชนมีเงินใช้จ่ายในครอบครัวได้ดีกว่าเดิม มานานกว่า 4-5 ปีแล้ว ถือเป็นอาชีพเสริมที่ดีมากๆ

“แมลงดานา” อาชีพเสริมสร้างเงิน
ลงทุนไม่มาก จับขายราคาดี ตัวละ 5-20 บาท
เจ้าของบอกว่า สำหรับแมลงดาที่นำมาแปรรูป จะเป็นแมลงดาที่หาจับได้ตามท้องทุ่งนา ไม่ใช่แมลงดาเลี้ยง ดังนั้น ปัจจัยทางด้านสภาพภูมิอากาศจะส่งผลถึงราคาแมลงดาเช่นกัน คือถ้าฝนตกแมลงดาจะออกมาให้จับน้อยราคาจะสูงขึ้น แต่ถ้าสภาพอากาศท้องฟ้ามืดครึ้ม แมลงดาจะออกมาให้จับเยอะราคาก็จะถูกลงมาเหลือตัวละ 10-15 บาท ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ด้วย แต่หากเทียบกับการลงทุนก็ยังคุ้มค่ามากๆ อยู่ดี

และสำหรับวิธีการจับแมลงดาตามธรรมชาติของที่นี่จะเริ่มจับในช่วงเดือนพฤศจิกายนไปจนถึงปลายเดือนมกราคม จับด้วยวิธีการใช้หลอดไฟล่อแมลง เป็นการใช้หลอดไฟสีม่วง เริ่มเปิดตั้งแต่ 1 ทุ่ม เพื่อล่อให้แมลงดานาบินมาหาไฟ และตกลงอ่างที่ใส่น้ำไว้รองรับด้านล่างหลอดไฟ วิธีนี้จะจับแมลงดานาได้มาก และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด

ส่วนราคารับซื้อแมลงดาจากชาวบ้าน จะมีการจำแนกราคาตัวผู้กับตัวเมียรับซื้อในราคาไม่เท่ากัน ในส่วนของตัวผู้จะมีความฉุนซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า มีราคาตัวละ 10-20 บาท ในขณะตัวเมียมีความฉุนน้อยกว่า มีราคาตัวละ 5-17 บาท ซึ่งส่วนใหญ่แล้วขั้นต่ำต่อคนที่เก็บได้จะไม่ต่ำกว่าคนละ 100 ตัวขึ้นไป

“แปรรูปแมลงดานาพร้อมรับประทาน”
ให้หลากหลาย ตามความต้องการลูกค้า

สำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแมลงดานา พี่อ็อฟ บอกว่า ตอนนี้หลักๆ มีอยู่ 3 อย่างด้วยกันคือ 1. น้ำพริกแมลงดา มีจุดเด่นตรงที่มีความฉุนของแมลงดาที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ใช้สารสังเคราะห์เรียนแบบที่ให้กลิ่นเหมือนกลิ่นแมลงดานา รับประทานแล้วได้อรรถรส 2. แมลงดาดองน้ำปลา ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเก็บรักษาได้นาน และ 3. แมลงดานึ่งโรยเกลือซีลสุญญากาศ เหมาะสำหรับลูกค้าที่นำไปประกอบอาหารต่อ และสามารถเลือกได้ว่าต้องการตัวผู้หรือตัวเมีย และต้องการกี่ตัว ถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า หรือบางคนให้ทอดก็ทำได้ แล้วแพ็กสุญญากาศ เมื่อถึงมือลูกค้าสามารถแกะรับประทานได้เลย

โดยมีขั้นตอนการแปรรูปเบื้องต้น ดังนี้

1. สำหรับแมลงดาที่เหมาะสมกับการนำมาแปรรูป ตัวผู้จะต้องมีกลิ่นฉุน สด ใหม่ ส่วนตัวเมียต้องตัวใหญ่ มัน เพื่อเวลานำไปทอดจะได้อร่อย ทั้งนี้ การที่จะให้ได้ลักษณะแมลงดาตามที่ตลาดต้องการ ปัจจัยทางธรรมชาติมีผลเป็นอย่างมาก เพราะปริมาณแมลงดามีมากหรือน้อยสามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ได้ ซึ่งหากพื้นที่ไหนมีแมลงดามากก็แปลว่าพื้นที่นั้นค่อนข้างปลอดภัยจากสารเคมี และมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า นี่คือสิ่งสำคัญ

2. หลังจากคัดแมลงดาได้ตามความต้องการแล้ว นำมาทำความสะอาดโดยการแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้เศษหญ้าและฝุ่นละอองหลุดออกไป

3. นำไปนึ่ง ใช้เวลาในการนึ่งประมาณ 20 นาที โดยขั้นตอนนี้จะแยกตัวผู้กับตัวเมียจากกัน

4. หลังจากนึ่งเสร็จ นำไปผึ่งแดดให้แห้ง

5. นำไปสู่ขั้นตอนการแพ็กใส่ถุงแช่ช่องฟรีซ แยกตัวผู้กับตัวเมีย เพื่อเก็บรักษาสภาพและกลิ่นไว้คงเดิม

6. หากต้องการนำมาแปรรูปทำน้ำพริกหรือดองน้ำปลา ก็จะนำแมลงดาออกจากช่องฟรีซมาแช่ละลายน้ำแข็งไว้ประมาณ 5-10 นาที จากนั้นก็สามารถนำไปแปรรูปอาหารได้ตามความต้องการ

ซึ่งในส่วนของการสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น 1. น้ำพริกแมลงดาในอัตราน้ำพริก 1 กิโลกรัมจะใส่แมลงดาลงไป 10 ตัว ขายในราคากิโลกรัมละ 300 บาท 2. แมลงดาดองน้ำปลา 10 ตัว ขายในราคา 200 บาท 3. แบบซีลสุญญากาศขายเป็นตัว ตัวเมียราคา 10 บาท ตัวผู้ 20 บาท สามารถเลือกได้ว่าต้องการตัวผู้หรือตัวเมีย ต้องการกี่ตัวสามารถระบุได้ตามความต้องการ

โดยมีตลาดหลักเป็นออนไลน์ ตามกลุ่มต่างๆ ทำให้มียอดการสั่งซื้อทุกวัน สามารถสร้างยอดขายไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 บาทต่อเดือน ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่ดีมากๆ แต่หลายคนมองข้าม และยังเป็นอาชีพเสริมที่สร้างความประทับใจให้กับตนเองได้หลายอย่าง

ทั้งในด้านของการมีรายได้เข้ามาจุนเจือคนในครอบครัวได้มากขึ้น ทั้งในส่วนที่สามารถทำให้คนในชุมชนเกิดรายได้หลังจากการทำนา และสุดท้ายถือเป็นการได้โปรโมตออกไปให้คนในอำเภอและจังหวัดใกล้เคียงได้รับรู้ถึงข้อดี และรู้ว่าในหมู่บ้านเรามีแมลงดาคุณภาพขายด้วย ซึ่งสำหรับเกษตรกรที่ได้อ่านและอยากทำตามบ้างก็แนะนำให้ศึกษาข้อมูลการตลาดควบคู่ไปด้วย หรือถ้าพื้นที่ใครไม่มีแมลงดา อยากแนะนำให้เริ่มหาทำจากสิ่งใกล้ตัว ทำจากของที่หาได้ในสวน ในนาของตัวเอง พี่อ็อฟ กล่าวทิ้งท้าย

ต่อจากฉบับที่แล้ว ที่ได้มาแชร์ถึงประสบการณ์การขออนุญาตปลูกกัญชงของไร่สาสุขกันไปแล้ว แบบพอหอมปากหอมคอ ในฉบับนี้ก็จะมาต่อกันในเรื่องของเทคนิคการปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ ปลูกอย่างไร ขายอย่างไร ลงทุนเท่าไหร่ หาตลาดอย่างไร มาฝากท่านผู้อ่านกันอีกครั้ง

สำหรับขั้นตอนเทคนิคการปลูกกัญชง ทนพ. ปิยะวิทย์ สาสุข หรือ พี่เนป อยู่ที่ 121 หมู่ที่ 3 บ้านลำภูพาน ตำบลผาตั้ง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เกษตรกรเจ้าของไร่สาสุข อธิบายขั้นตอนเริ่มต้นว่า ต้องเริ่มจากการเลือกสายพันธุ์ที่ดี โดยที่ไร่เลือกปลูกสายพันธุ์รับรอง RPF3 จากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง จังหวัดเชียงใหม่ จุดประสงค์เพื่อต้องการเมล็ดไปแปรรูปใช้ทำอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งสายพันธุ์ RPF3 ตอบโจทย์ความต้องการตรงที่จะมี THC ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ ตรงกับกฎข้อบังคับสำหรับสกัดแปรรูปนำไปทำอาหาร

ทีนี้มารู้จักประเภทของกัญชงเบื้องต้นจะมีหลักๆ อยู่ 2 ประเภท คือ 1. โฟโต้ พีเรียด (Photo–period) โฟโต้ ที่แปลว่า แสง แสดงว่าพวกนี้อ่อนไหวง่ายกับแสง จะออกดอกตามชั่วโมงแสง ถ้าแสงชั่วโมงเยอะก็จะเป็นใบอย่างเดียว ถ้าลดชั่วโมงแสงลงได้ ก็จะออกดอก สามารถชำกิ่งได้ อายุการเก็บเกี่ยวของสายพันธุ์นี้ ตั้งแต่ 5-9 เดือน ขึ้นอยู่กับชั่วโมงแสง 2. ออโต้ ฟลาวเวอร์ (Auto flowering) ก็คือ รูเดอราลิส ไปผสมกับ ซาติวา หรืออินดิกา จะได้สายพันธุ์ต้นที่เตี้ยลง ข้อดีของสายพันธุ์นี้ก็คือ ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับชั่วโมงแสง จะให้แสง 20-24 ชั่วโมง ก็ได้ ดอกก็ยังคงออกเหมือนเดิม อายุการเก็บเกี่ยวประมาณเพียงแค่ 2 เดือนครึ่ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิต แต่สายพันธุ์นี้ต้องได้จากเมล็ดเท่านั้น

การเตรียมดิน ที่ไร่จะปลูกแบบกลางแจ้ง (Out door) ปลูกโดยการเพาะเมล็ดเป็นหลัก โดยขั้นตอนการเพาะก็จะมีการบ่มแช่น้ำผสมไตรโคเดอร์มาไว้ 1 คืน หลังจากแช่น้ำเสร็จแล้ว ให้นำเมล็ดมาบ่มไว้ในทิชชูต่ออีก 1 คืน เมื่อรากเริ่มงอก จะนำเมล็ดที่มีรากลงไปเพาะในถาดไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยมีวัสดุเพาะคือแกลบเผาผสมกับปุ๋ยมูลไส้เดือน จากนั้นย้ายมาขยายลงถุงดำ เลี้ยงไปอีก 1 เดือน หรือได้คู่ใบสัก 4-5 คู่ ก็ให้นำลงดินปลูกได้เลย

การปลูก ยกร่องปลูก ในระยะห่างระหว่างต้น 1×1 เมตร แต่เนื่องด้วยที่สวนปลูกโดยการเพาะเมล็ด จะไม่สามารถควบคุม หรือแยกเพศได้ จึงจำเป็นต้องปลูกในระยะที่ห่าง แต่พอหลังจากที่ต้นตัวผู้แสดงเพศแล้วจึงค่อยเด็ดออก ให้เหลือตัวผู้ไว้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ต่อตัวเมีย เพราะว่าถ้าปลูกในระยะที่แน่นไปจะได้ผลผลิตน้อยลง

ระบบน้ำ เป็นระบบน้ำหยด โดยการให้น้ำสังเกตจากดินเป็นหลัก ซึ่งโดยทั่วไปที่ไร่จะรดน้ำอย่างน้อยวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า ดินแต่ละดินมีความอุ้มน้ำต่างกัน พื้นที่ไร่เป็นดินทรายก็จะให้น้ำบ่อยกว่าสภาพพื้นดินอย่างอื่นหน่อย

ปุ๋ย แบ่งใส่เป็น 2 ช่วงหลักๆ คือในช่วงทำใบ จะเน้นใส่ปุ๋ยไนโตรเจน (N) เป็นหลัก คือ ขี้วัว และปุ๋ยมูลไส้เดือน ส่วนในช่วงติดดอก จะเริ่มให้ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) คือปุ๋ยขี้ไก่ มูลค้างคาว ฮอร์โมนไข่ รวมถึงน้ำหมักปลาทะเลด้วย

ระยะเลี้ยงใบ​ 4-12​ สัปดาห์ ​(กัญ​ชง)​ ระยะนี้มีศัตรูที่ต้องระวังอะไรบ้าง? ช่วงทำใบเริ่มต้นจะเจอ 1. เพลี้ยกระโดด จะกำจัดง่ายหน่อย เพียงใช้น้ำส้มควันไม้​ 2. แมลงหวี่ขาว จะเจอบริเวณใต้ใบ เมื่อเปิดที่ใต้ใบจะเจอแมลงหวี่จับอยู่ใต้ใบ ตอนฉีดยาก็ต้องฉีดใต้ใบ 3. ไรแดง เจอหนักในช่วงทำดอก วิธีดูคือถ้าบนใบมีจุดขาวๆ ให้พลิก​ใบดูข้างล่าง จะเจอตัวเล็กๆ เหมือนแมงมุม​ ไรแดงจะกำจัดยากต้องเอาต้นที่มีไรแดงออกไปกำจัดที่อื่น กัญชงเป็นพืชที่ปลูกไม่ยาก แต่ดูแลยากสักหน่อย

ระยะทำดอก (Flowering) กัญชงสายพันธุ์​ที่​ปลูก​เป็น​สายพันธุ์ โฟโต้ พีเรียด (Photo–period) เมื่อมีแสงน้อยกว่า​ 12​ ชั่วโมง​ ต่อ​วัน ​(ฤดูหนาว) ​ต้นจะเริ่มทำดอก​ไม่ว่าต้นกัญ​ชง​จะต้นเล็กต้นใหญ่​ก็จะออกดอก​ เราจึงควรคำนวณเวลาปลูก​ของกัญชงให้โตก่อนเข้าฤดู​หนาว ​(3-4​ เดือนก่อนเข้าฤดู​หนาว)​

“ในช่วงระยะทำดอกกัญชง ต้องการคนดูแลเอาใจใส่ หากเจอตัวผู้เมื่อไรให้ตัดออกเมื่อนั้น​ ถ้าหาก​ปลูก​เพื่อเอาดอกอย่าไปเก็บดอกตัวผู้ไว้​ แต่ถ้าปลูกเพื่อเก็บเกี่ยวเมล็ด​ แบบของที่ไร่ต้องเหลือดอกตัวผู้​ไว้บางส่วนเพื่อผสมกับดอกตัวเมียให้ติดเมล็ด​ โดยระยะนี้จะต้องให้ปุ๋ยที่เป็นโพแทสเซียม ฟอสฟอรัส มากขึ้น (ขี้ไก่, ขี้ค้างคาว)​ แนะนำให้มีการพ่นฮอร์โมนไข่ ให้สาหร่ายแดง สาหร่ายสกัดทะเลลงไป แต่อย่าฉีดพ่นที่ดอก เพราะมันจะมีความชื้น ทำให้เกิดราเทา”

เทคนิคให้ได้ผลผลิตดี
Topping & Fimming
หากต้องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น พี่เนปเผยเคล็ดลับว่าอยู่ที่การเทรนด์นิ่ง Topping เป็นเทคนิคเพิ่มผลผลิตให้กับกัญชา​ และกัญ​ชง​ โดยจะเป็นการตัดยอดด้านบนออก เทคนิคนี้จะทำให้เราได้รับผลผลิตมากขึ้น​ ถือว่าเป็นการช่วยให้เกิดการแตกยอด และแบ่งสารอาหารไปเลี้ยงลำต้นได้มากขึ้นแทนการที่จะปล่อยให้ลำต้นโตขึ้นโดยมีการเจริญเติบโตอยู่ที่ยอดเดียว

“สำหรับการ Topping ห้าม Top ในต้นที่ยังเล็กเพราะจะทำให้ต้นกัญชานั้นเครียด และการเจริญเติบโตช้าลงอย่างมาก ทางที่ดีคือ รอจนกว่าต้นจะมีอย่างน้อย 5 Node (คู่ใบของยอด)​ หรือต้นอายุ​ 1​ เดือน โดยสามารถทำ Topping ได้ในช่วงทำใบ (Vegetative stage) หลังจากนั้นต้องให้เวลากัญชงหรือกัญ​ชา​ของเราฟื้นตัว 1-2 สัปดาห์​ ถึงจะสามารถ​ทำ​ Topping​ ครั้งต่อไปได้ และอย่าทำการ Topping ในช่วงทำดอก (Flowering stage) เพราะมันไม่เกิดประโยชน์​แล้ว”

ส่วน Fimming คือการตัดตรงยอดเลยสองวิธี ทำเพื่อไม่ให้ต้นสูง แต่จะทำให้ต้นออกข้างๆ ยอดไปเสียบชำได้ โดยการ Fimming 1 ครั้ง จะได้ยอดใหม่ 4-8 ยอด แต่การ Fimming จะทำให้พืชเจ็บเยอะกว่า และใช้เวลาฟื้นตัวที่ยาวนานกว่าการ Topping ทำให้ระยะเวลาการปลูกอาจจะช้ากว่าปกติ ฉะนั้นส่วนใหญ่จึงนิยมการ Topping มากกว่า

ซึ่งถ้าปลูกกัญชง หรือกัญชา​สายพันธุ์​ไทย ​(sativa) ​ให้เติบโตตามธรรมชาติ จะมีลักษณะ​ต้นคล้าย “ต้นคริสต์มาส” ซึ่งจะมีแค่ 1-2 Colas ช่อดอกส่วนยอดถูกสร้างขึ้นในส่วนที่สูงที่สุดของต้น​​ หรือช่อดอกที่ใหญ่ที่สุดของต้น แต่กัญชงหรือกัญ​ชา​ ที่ได้ทำการ Topping มาจะทำให้ได้ผลผลิต Colas เยอะขึ้นมากตามที่เราต้องการได้ไม่ใช่แค่​ 1-2​ Colas​ ต่อต้น สำหรับระยะเวลาในการปลูกถึงเก็บเกี่ยวของที่ไร่ ณ ตอนนี้ปลูกมาแล้วกว่า 5 เดือน ซึ่งได้มีการคาดการณ์ไว้ว่าอีกประมาณ 15 วันข้างหน้า จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในรอบแรก โดยตามข้อมูลของพันธุ์ผลผลิตจะได้ปริมาณอยู่ที่ 300-600 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่ของที่ไร่ในปีแรกคาดการณ์ผลผลิตไว้จะได้ประมาณ 300 กิโลกรัม ต่อไร่

โดยที่สวนจะเก็บใบขายทั้งสดและแห้ง เว็บพนันออนไลน์ ในราคาใบสด กิโลกรัมละ 5,000 บาท ใบแห้ง กิโลกรัมละ 7,000 บาท แต่เป็นเพียงจุดประสงค์รองเท่านั้น ซึ่งจุดประสงค์หลักจริงๆ คือการปลูกเพื่อเอาเมล็ดโดยเฉพาะ ซึ่งราคาของเมล็ดจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 2,500 บาท และมีการคาดการณ์ไว้เล่นๆ ว่าถ้าหากวันข้างหน้าที่ไร่สามารถทำผลผลิตได้สูงสุดของสายพันธุ์ RPF คือ 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ก็เท่ากับว่าจะสามารถทำรายได้ถึงหลักล้านบาทต่อไร่

ต้นทุนปลูกกัญชงไม่แพงอย่างที่คิด
มีเงิน 20,000 บาท ก็ปลูกได้
พี่เนป บอกว่า ที่ผ่านมามีหลายคนมาปรึกษาที่​ไร่สา​สุข​เกี่ยวกับ​เรื่องการปลูกกัญ​ชง และมักจะพูด​ว่า​ไม่มีเงินลงทุน​ การปลูก​กัญ​ชง​คงต้องใช้เงินลงทุนสูงมากๆ​ แน่เลย​ ซึ่ง​ความเป็นจริง​การปลูก​กัญ​ชง​ใช้เงินลงทุน​ไม่ต่างจากการปลูก​พืชทั่วไป ​สำหรับไร่ของตนนั้นใช้เงินลงทุนไม่เกิน​ 20,000​ บาท ต่อไร่​ แล้วถ้าปลูก​น้อยกว่า​ 1​ ไร่ ต้นทุนก็จะถูกลงไปอีก

โดยต้นทุนของการปลูกกัญชง​ 1.​ การทำรั้วสามารถใช้เศษไม้ทำได้ที่ค่อนข้างแข็ง สามารถหาได้ทั่วแถวบ้าน โดยให้มีความสูงประมาณ​ 2​ เมตร​ และมีลวดหนาม​ 5​ เส้น​ ในส่วนของประตูไม่จำเป็นต้องเป็นเหล็ก​อย่างเดียว​ เพียงแค่ทำให้เปิดปิดป้องกันคนเข้าออกได้

หลายท่านสงสัยและเข้าใจผิดคิดไปว่าการปลูกกัญชงจะต้องติดกล้องวงจรปิด ระบบความปลอดภัยที่อลังการแต่ในหลักความเป็นจริงแล้ว ต้นทุนการปลูกทั้งหมดอยู่ที่ค่าปุ๋ย ค่าระบบน้ำหยด (พื้นที่น้อยกว่า​ 1​ ไร่​ ไม่ต้องทำก็ได้)​ และค่ารั้ว
เรื่องการขออนุญาต ​ใช้เงินไม่เกิน​ 500​ บาท​
เมล็ด​ที่ใช้ในการเพาะปลูก​ก็ประมาณ​ 600​ บาท ต่อ​กิโลกรัม​ ซึ่ง​ถ้าปลูก​เพื่อเอา​เมล็ด​​ 1​ กิโล​กรัม​ ถือว่ามากเกินพอ สรุปแล้วการปลูกกัญชงใช้เงินลงทุนไม่เกิน 20,000 บาท ต่อไร่

“กัญชง” อนาคตพืชเศรษฐกิจ
หาตลาดได้ที่ไหน อย่างไร
สำหรับตลาดกัญชงของที่ไร่ สืบเนื่องมาจากขั้นตอนการขออนุญาตว่าจำเป็นต้องมีการทำสัญญาการซื้อขายกันก่อน หรือถ้าพูดให้เข้าใจง่ายคือผู้ปลูกต้องมีแหล่งรับซื้อไว้รองรับก่อนปลูกแล้ว โดยในส่วนของที่ไร่ได้มีการทำสัญญาการซื้อขายไว้หลักๆ 3 ราย ส่วนการเริ่มต้นหาตลาดตนเริ่มต้นจากเล็กๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้ลักษณะการทำงานจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพอยู่แล้ว ทำให้พอทราบถึงข้อมูลกัญชงมาพอสมควร ว่าสามารถนำไปทำประโยชน์อะไรได้บ้าง จึงได้มีการตั้งเป้ากลุ่มลูกค้าในช่วงแรกคือนำไปทำเป็นครีม และน้ำดื่ม หลังจากนั้นก็ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันไว้ และอีกกลุ่มที่เป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ มาจากการทำการตลาดในเชิงให้ความรู้และสร้างตัวตนในแพลตฟอร์มออนไลน์ สร้างความน่าเชื่อถือส่งผลให้กลุ่มลูกค้าใหญ่ๆ เดินเข้ามาหาเอง ก็เท่ากับว่าตอนนี้ที่ลูกค้าที่เข้ามามีทั้งไทยและต่างประเทศ

โมเดลส่งเสริมการปลูก
เริ่มต้นจากคนที่มีรายได้น้อย
กว่า 4,500 ต่อเดือน
“หากใครที่สนใจอยากปลูกกัญชงสร้างรายได้ ตอนนี้ผมได้เริ่มมีการทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง โดยเบื้องต้นได้มีการตั้งกฎกติกาไว้ว่า สำหรับใครที่อยากปลูกกัญชงกับผม จะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 4,500 บาทต่อเดือน และจะต้องสมัครใจทำตามบททดสอบที่ผมให้ไว้คือ จะให้เริ่มต้นจากการเลี้ยงไส้เดือน เพราะถ้าหากเลี้ยงไส้เดือนที่เป็นงานไม่ยากมาก แต่ยังทำไม่ได้ ก็จะยังไม่ให้ผ่านไปถึงขั้นปลูกกัญชง โดยตอนนี้มีสมาชิกที่ดูแลกว่า 70 คน ซึ่งในอนาคตผมได้มีการวางแผนการปลูกว่าจะต้องผลิตเมล็ดกัญชงจำหน่ายให้ได้เดือนละ 100 กิโลกรัม” พี่เนป กล่าวทิ้งท้าย